fbpx
KNOWLEDGE

[ชัดเว่อร์!] นำเสนอทุกเรื่องที่คุณอาจจะอยากรู้เกี่ยวกับทีวี 8K

จะว่าไปแล้วภาพที่มีความคมชัดในระดับ 8K อาจจะเข้ามาใกล้กว่าที่คุณคิด ทั้งจากทีวี 8K ไปจนถึงการออกอากาศด้วยระบบ 8K ที่เริ่มมีการผลิตรายการต่าง ๆ สำหรับผู้บริโภคมากขึ้น และเหนืออื่นใดสามารถพบกับทีวี 8K รุ่นแรกที่ได้ออกวางจำหน่ายในตลาด ณ ขณะนี้ จากรุ่น QE85Q900R ของทาง Samsung

หากย้อนกลับมาดู อาจจะพูดได้ว่าขณะนี้ทีวี 4K เข้ามาเป็นกระแสหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้งานทุกคนกำลังใช้งานทีวี 4K อยู่ทุกครัวเรือน แต่ถ้าหากผู้ใช้ต้องการจอภาพใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและต้องการรายละเอียดภาพที่ดีขึ้น ทีวี 4K ควรอยู่ในรายการของที่ต้องการสำหรับคุณ ๆ

และต้องขอขอบคุณช่องรายการต่าง ๆ ที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น Amazon Prime Video, Netflix, YouTube, Blu-ray 4K, BT Sport และ Sky Sport ที่ได้แพร่ภาพรายการต่าง ๆ อันน่าสนใจในระดับ 4K เพิ่มมากขึ้น

อย่างที่รู้กันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคทั่วไป ย่อมมีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ สำหรับความคาดหวังที่มีต่อทีวี 8K จริง ๆ นั้น มันไม่ควรจะส่งผลต่อความต้องการทีวี 4K ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

Q900R ทีวี QLED รายละเอียด 8K ของทาง Samsung จากงาน IFA 2018

สำหรับข้อมูลที่นำมาเสนอในครั้งนี้ก็เพื่อให้ทราบถึงความสามารถที่เพิ่มขึ้น และเรียนรู้ที่จะใช้งานระบบ 8K ซึ่งจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ มาเริ่มดูกันเลยว่า 8K ทำงานอย่างไร และสามารถรับชมได้จากที่ไหนกันบ้าง

8K คืออะไร?
อย่างแรกเราจะกลับไปดูข้อมูลพื้นฐานกันก่อน สิ่งที่กำลังพูดถึงคือความละเอียดของภาพ ซึ่งหมายถึงจำนวนพิกเซลในแนวนอนและแนวตั้ง ในทางทฤษฎีจำนวนพิกเซลจะเท่ากับจำนวนข้อมูล นั่นจึงหมายถึงภาพจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นตามจำนวนพิกเซล

ในกรณีของ 8K หมายถึงความละเอียดในแนวนอนเท่ากับ 7,680 พิกเซล และความละเอียดในแนวตั้งเท่ากับ 4,320 พิกเซล หรืออาจจะเรียกว่าวิดีโอมีความละเอียด 4320p

ซึ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับภาพระดับ 4K ที่ความละเอียด 2160p จำนวนพิกเซลทางด้านแนวตั้งและแนวนอนของทีวี 4K (3,840 x 2,160) จะน้อยกว่าทีวี 8K (7,680 x 4,320) อยู่ด้านละครึ่งหนึ่ง และเช่นเดียวกันกับภาพ Full HD (1080p : 1920 x 1080) ซึ่งจะมีความละเอียดน้อยกว่า 4K อยู่ด้านละครึ่งหนึ่งเช่นกัน

โดยสรุปแล้วทีวี 8K จะมีจำนวนพิกเซล มากกว่าทีวี 4K อยู่ 4 เท่า และมากกว่าทีวี Full HD อยู่ 16 เท่า

ใครเป็นผู้ผลิตเนื้อหา 8K บ้าง?
การพัฒนาวิดีโอ 8K ในปัจจุบันได้รับแรงผลักดันจากผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ออกอากาศรายการโทรทัศน์หลายราย

จากมุมมองของการตัดต่อวิดีโอ วิดีโอซึ่งมีความละเอียดที่สูงขึ้นจะเป็นผลดีกว่า ในขณะที่ผู้สร้างภาพยนตร์อาจจะยังไม่สามารถขายภาพยนตร์ที่มีความคมชัดในระดับ 8K ได้ ณ ขณะนี้ แต่ก็ยังเลือกที่จะถ่ายทำในระดับความละเอียดที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ซึ่งการทำเช่นนั้นช่วยให้สามารถเลือกตัดภาพและซูมภาพได้โดยยังคงรักษาความละเอียดของภาพให้อยู่ในระดับสูงไว้ได้ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้การถ่ายทำด้วยกล้องวิดีโอความละเอียด 6K ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเพิ่มมากขึ้นในฮอลลีวู้ด

ในขณะเดียวกันที่ญี่ปุ่น ผู้ออกอากาศรายการโทรทัศน์ ได้ทดลองออกอากาศรายการทีวี 8K มาสักระยะหนึ่งแล้ว หากย้อนกลับไปในปี 2015 บริษัทแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งประเทศญี่ปุ่น (NHK) ได้ทดลองออกอากาศซีรีส์ในแบบ 8K

และในปี 2016 ทาง NHK ได้ประกาศว่าได้การทดลองออกอากาศด้วยความคมชัดแบบ 8K ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ทาง NHK เตรียมเปิดตัวช่องรายการโทรทัศน์ 8K ช่องแรกของโลกในวันที่ 1 ธันวาคม 2018 นี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการถ่ายทอดการแข่งขัน Olympics ปี 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ

บริษัท Korean Broadcasting Corporation หรือ KBS ของเกาหลี กำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับการออกอากาศ 8K โดยได้ร่วมมือกับทาง LG ทั้งในส่วนของเนื้อหา, การทดลองออกอากาศและเป็นจอแสดงผลใช้ทดลองออกอากาศในระบบ 8K สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ที่ PyeongChang

และในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาหากผู้ชมที่อยู่ที่บราซิลอาจจะได้รับชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2018 ในแบบ 8K กันไปแล้วด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมาผู้ที่ชื่นชอบ Netflix และ YouTube ได้สัมผัสเนื้อหาแบบ 4K กันก่อนใคร ตั้งแต่เริ่มใช้งานระบบ 4K กันเลยทีเดียว และในตอนนี้เว็บสตรีมมิ่งอย่าง Vimeo ได้กระโดดไปปล่อยรายการต่าง ๆ ในระดับ 8K ให้ได้ชมกัน โดยผู้ชมจะต้องใช้จอภาพที่รองรับภาพรายละเอียด 8K และมาตรฐาน HDR เตรียมพร้อมไว้สำหรับใช้ในการรับชม…

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับทีวี 8K?
หากต้องการจะรับชมคอนเทนท์ 8K จำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้กับระบบ 8K?

ในงานแสดงสินค้าอย่าง CES และ IFA เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับผู้ผลิตทีวีเพื่อนำเทคโนโลยีล่าสุดอันแปลกใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจมาจัดแสดง ดังนั้นจึงไม่เป็นที่แปลกใจเมื่อได้เห็นจอภาพ 8K มาจัดแสดงภายในงานปีนี้ด้วย

แอลจีและซัมซุงเปิดตัวต้นแบบโทรทัศน์ 8K ในงาน CES 2015 หลังจากนั้นไม่นาน Sharp ได้นำเสนอทีวี 8K ขนาด 85 นิ้วที่ตั้งใจทำตลาดเฉพาะในญี่ปุ่น แต่ถ้าหากจะนับเฉพาะทีวีที่ผลิตออกมาจำหน่ายจริง ๆ แล้ว จะพบว่า LG เป็นผู้ผลิตทีวี 8K จำหน่ายเป็นเครื่องแรกของโลกเมื่อปี 2016

ที่กล่าวมาเป็นสินค้าที่จำหน่ายในตลาดเอเชีย แต่จริง ๆ แล้วตลาดยุโรปมีความต้องการสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างเมื่อต้นปี Sharp ได้ปล่อยจอภาพ LCD 8K รุ่น LV-70X500E (ขนาด 70 นิ้ว) ออกจำหน่ายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยราคา 10,999 ปอนด์ (เกือบ 5 แสนบาท) ซึ่งยอดขายไม่เดินเท่าไรนัก (ปัจจุบันมีขายใน Selfridges) เนื่องจากเป็นเพียงจอมอนิเตอร์ ไม่มีตัวรับสัญญาณโทรทัศน์ และมีความสามารถในการอัปสเกลภาพจากแหล่งสัญญาณต่าง ๆ ให้เป็น 8K อีกทั้งยังสนับสนุน HDR10 และ HLG พร้อมติดตั้งพอร์ต HDMI มาให้ 4 พอร์ตซึ่งรองรับสัญญาณ 8K ได้โดยตรง

ภายในงาน IFA 2018 แอลจีอ้างว่าเป็น “เจ้าแรกในโลก” ที่ปล่อยทีวี 8K ออกสู่ตลาดด้วย ทีวี OLED 8K ขนาด 88 นิ้ว

แต่อย่างไรก็ดี ไม่ต้องกลัวว่าตัวเลือกสำหรับทีวี 8K จะมีน้อยเกินไป ดังจะเห็นได้จากงาน IFA 2018 ที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่ LG, Toshiba และ TCL เท่านั้นที่นำหน้าจอ 8K มาจัดแสดง ทาง Samsung ยังได้นำทีวี 8K รุ่น Q900R Series มาเปิดตัวเป็นครั้งแรกอีกด้วย (ขนาด 65 นิ้ว, 75 นิ้ว, 82 นิ้ว และ 85 นิ้ว)

สำหรับแบรนด์อื่น ๆ อย่าง Sharp ที่เคยนำทีวี 8K ออกมาโชว์ให้เห็นกันตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบันเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 แล้ว สำหรับทีวี 8K ของ Sony นั้นเหมือนกับ LG และ Toshiba คือยังอยู่ในช่วงการพัฒนาเครื่องต้นแบบ

ในงาน CES 2018 เมื่อต้นปีโซนี่ภูมิใจนำเสนอจอ 8K ขนาด 85 นิ้ว ซึ่งขับเคลื่อนด้วยชิปโปรเซสเซอร์ภาพ X1 Ultimate รุ่นใหม่ ในการสาธิตทีวี 8K ของโซนี่ดังกล่าวเพียงช่วงสั้น ๆ นั้นสามารถแสดงให้เห็นอนาคตอันสดใสและการเติบโตของตลาดได้อย่างชัดเจน ในเวลาต่อมาตัวชิปโปรเซสเซอร์ได้ถูกนำมาใช้กับทีวี OLED 4K และ LCD TV 4K รุ่นล่าสุด

สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทีวี 8K?
เช่น เดียวกับความแพร่หลายของทีวี 4K เมื่อปล่อยทีวี 8K ออกมา ก็มักจะมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกันตามออกมาด้วยเช่น เครื่องเล่น Blu-ray, เครื่องเล่นเกมคอนโซล และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ให้ภาพความคมชัดระดับ 8K

ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ทีวี 8K เครื่องแรกที่จะได้เห็นคือ ลำโพงซาวด์บาร์ 8K ของ Sharp ซึ่งเปิดตัวภายในงาน IFA 2018 ที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้ยังไม่รู้ทราบคุณสมบัติของลำโพงซาวด์บาร์รุ่นนี้มากนัก แต่ที่แน่ ๆ คือ มีพอร์ต HDMI ซึ่งรองรับมาตรฐาน HDMI 2.1 ที่สามารถส่งผ่านสัญญาณข้อมูลที่มีความละเอียดในระดับ 8K ได้ จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่สินค้าดังกล่าวพร้อมแล้วสำหรับการรองรับการออกอากาศในแบบ 8K ที่ประเทศญี่ปุ่น

ลำโพงซาวด์บาร์ 8K ของ Sharp

นอกจากนั้นตัวลำโพงยังรองรับมาตรฐานระบบเสียง Dolby Atmos และการรองรับเสียงเซอร์ราวด์ 22.2 แชลแนล โดย NHK (เป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นที่ผลิตรายการในแบบ 8K) ได้สนับสนุนการใช้ระบบเสียงแบบ 22.2 แชนเนล เป็นมาตรฐานทางด้านเสียงที่จะถูกนำไปใช้ร่วมกับระบบภาพ ‘Super Hi-Vision’ รายละเอียดภาพระดับ 8K

เมื่อไรถึงจะสามารถรับชมภาพในระดับ 8K ได้?
ในขณะที่เราสนใจเทคโนโลยีล่าสุดอยู่เสมอ และแน่นอนว่าจะต้องตามติดความคืบหน้าล่าสุด แต่ถึงอย่างไร 8K ก็ไม่ถึงกับเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการซื้อทีวีของหลาย ๆ คนในขณะนี้หรือในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตามหากนักเล่นไม่สามารถเข้าถึงรายการทีวี 8K และการออกอากาศในระบบ 8K ของทาง NHK (ออกอากาศเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น) ได้ ก็ดูเหมือนทีวี 8K อาจยังไม่มีความสำคัญสักเท่าไรนัก

เป็นเรื่องปกติที่ทางซัมซุงจะให้เหตุผลว่า ทีวี 8K ซึ่งใช้ AI นั้น สามารถอัปสเกลความละเอียดภาพระดับ 4K (หรือแม้แต่รายละเอียดระดับ Full HD และ SD) ให้สูงขึ้นเป็น 8K ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทางซัมซุงยังมั่นใจถึงแนวโน้มที่ดีในการวางจำหน่ายสินค้า 8K ในเชิงพาณิชย์ แต่นั่นยังถือเป็นข้ออ้างหลักในการนำมาพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อไม่ได้อยู่ดี

จากที่ได้เรียนรู้ถึงวันแรก ๆ ของการใช้ทีวี 4K นั่นจึงกลายมาเป็นหลักคิดและแนวทางสำหรับผู้ที่จะใช้งานทีวี 8K ซึ่งต้องคำนึงถึงเรื่องการรองรับกับความต้องการที่จะนำอุปกรณ์อื่น ๆ มาใช้งานร่วมกันในอนาคต

อย่างไรก็ตามสำหรับในประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น อาจไม่ต้องเสียเวลารอให้นาน โอลิมปิก ณ กรุงโตเกียวปี 2020 เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการใช้งานทีวี 8K ในประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 จะมาถึงก่อนเล็กน้อย จุดสนใจยังคงไปอยู่ที่การออกอากาศระบบ 8K ของ NHK ว่าจะให้ผลออกมาเป็นอย่างไร

ดังนั้นสำหรับตอนนี้แน่นอนว่าทีวี 8K ยังห่างไกลจากคำว่าเป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่ก็จะอาจได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นได้เมื่อทุกองค์ประกอบนั้นมีความลงตัว ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งมองว่ามันจะไม่เกิด…

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ