fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

ทำความรู้จักกับระบบเสียง Dolby Atmos

Dolby Atmos ระบบเสียงเซอร์ราวนด์รูปแบบใหม่ที่ให้สนามเสียง 3 มิติ
Dolby Labs คือผู้นำของระบบเสียงเซอร์ราวนด์เจ้าแรกที่เปิดโลกของระบบเสียงเซอร์ราวนด์แบบสามมิติ โดยใช้ในเชิงพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อปี 2012 กับเสียงในโรงภาพยนตร์ ทำให้โรงภาพยนตร์ต้องลงทุนกับการจัดตำแหน่งของลำโพงกันใหม่ โดยเปิดตัวครั้งแรกกับภาพยนตร์สารคดีของพิกซาร์ ที่ได้รับคำชมว่าทำให้ผู้ชมในโรงภาพยนตร์เหมือนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหนัง หลังจากนั้นอีกสองปีเราจึงรู้จัก Dolby Atmos ในรูปแบบของความบันเทิงในบ้าน

การที่จะนำ Dolby Atmos มาใช้ในบ้านให้ได้ผล คุณต้องการเอ/วีรีซีฟเวอร์ที่มีภาคถอดรหัส Dolby Atmos และลำโพงที่ต้องติดไว้บนเพดานอย่างน้อยหนึ่งหรือสองคู่ (ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันของมวลเสียงและตำแหน่งที่เกิดขึ้นด้วย) โดยหลักการควรจะมีลำโพง Height Speakers (แชนเนลด้านบน) อยู่ระหว่างตำแหน่งนั่งฟังกับลำโพงคู่หน้า และ Height Speakers อีกคู่ที่ระหว่างจุดนั่งฟังและลำโพงคู่หลัง

ถ้าดูตามแบบการวางลำโพง Height Channel ของ Dolby เหมือนการลากเส้นตรงระหว่างลำโพงคู่หน้ามาตั้งฉากกับผนังด้านหลัง โดยมีองศาของจุดนั่งฟังเป็นจุดหมุนหาจุดตัดของตำแหน่งลำโพงบนเพดานอีกที ด้านหน้าก็จะอยู่ประมาณ 30-50 องศาและถ้าห้องกว้างขึ้นหรือมีผู้ชมมากขึ้น ก็สามารถเพิ่มแชนเนลด้านบนให้เหมาะสมได้อีก โดยใช้เส้นตรงอันเดิมเพิ่มลำโพงด้านหลังที่อยู่คล้อยไปประมาณ 125-150 องศา

ตำแหน่งลำโพงที่ติดตั้งบนเพดานทั้งสองคู่ ที่ทำหน้าที่เป็น Height Channel

ดูเหมือน Dolby ต้องการให้คุณใช้ลำโพงบนเพดานครบ 2 คู่ แต่ก็แนะนำว่าในกรณีที่คุณไม่สามารถหาตำแหน่งของลำโพงได้ทั้งสองคู่ก็แนะนำให้เลือก Height Channel ด้านหน้าก่อน และยังมีบริษัทผู้ผลิตลำโพงที่เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคออกแบบลำโพงที่เรียกว่า Atmos Enabled Speaker วางบนลำโพงหลักคู่หน้าทำมุมกระจายเสียงให้สะท้อนเพดานลงมายังตำแหน่งนั่งฟัง ทั้งยังสามารถนำไปวางในแบบเดียวกันบนลำโพงเซอร์ราวนด์ด้านหลัง เพื่อให้จำนวนแชนเนลของ Atmos Speaker ครบ

นอกจากนั้นยังมีแบบลำโพงคู่หน้าที่ฝังลำโพง Atmos Speaker อยู่ในตู้เดียวกันเลยเป็นทางเลือกให้ด้วย ถึงแม้ว่าลำโพงที่ติดตั้งอยู่บนเพดานเป็นลำโพงที่มีข้อจำกัดเรื่องความยุ่งยากในการติดตั้ง แต่ Dolby ก็นำเสนออยากให้คุณพิจารณาความเป็นไปได้ก่อนเป็นอันดับแรก แต่ถ้าใครที่ตัดสินใจเลือกทางเลือกอื่น อย่างลำโพง Atmos Enabled Speakers สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ

1. เพดานต้องเรียบและมีพื้นผิวที่สามารถสะท้อนเสียงได้ โดยระบุไว้ด้วยถึงขนาดว่าเป็นปูนฉาบหรือผนังสำเร็จรูป
2. เพดานควรมีความสูงอยู่ระหว่าง 2.3 เมตรถึง 4.3 เมตร ถ้าเพดานบ้านของคุณเปิดโล่งกว่านั้น เสียงที่เกิดขึ้นจากลำโพงประเภทนี้ก็คงไม่ส่งผลให้คุณประทับใจเท่าไหร่

อย่าลืมว่าในทางทฤษฎีการที่ใช้ลำโพงประเภท Atmos Enabled Speakers เพื่อยิงเสียงไปกระทบเพดานแล้วสะท้อนมาจุดนั่งฟังนั้น เป็นทางเลือกที่ดีในกรณีที่ไม่สามารถติดตั้งลำโพงบนฝ้าเพดานได้ แต่นั่นเป็นเพียงแค่การประนีประนอมเท่านั้น ถ้าคุณตัดสินใจที่จะเต็มอิ่มกับระบบเสียงแบบสามมิติแบบไม่มีอะไรมาขวางกั้นแล้วละก็ ลำโพงที่ติดตั้งบนเพดานจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

การเซ็ตอัพลำโพงทั้ง 3 รูปแบบของ Dolby Atmos
1. The Essential Dolby Atmos หรือการเซ็ตอัพลำโพงสำหรับ Dolby Atmos ที่ใช้ลำโพงเพิ่มเติมสำหรับระบบเสียงด้านบนจำนวน 2 ตัว ทาง Dolby ใช้รหัสเรียกระบบนี้ว่า 5.1.2 และ 7.1.2 ตามจำนวนลำโพงเซอร์ราวนด์ที่ใช้อยู่เดิม

(A) การเซ็ตลำโพงแบบ 5.1.2 โดยใช้ Atmos Enabled Speakers จำนวน 2 ตัว
(B) การเซ็ตลำโพงแบบ 5.1.2 โดยใช้ลำโพงติดตั้งบนเพดานจำนวน 2 ตัว

 

มุมมองด้านข้างในการติดตั้งลำโพงเพดานสำหรับผังแบบ 5.1.2

 

(A) การเซ็ตลำโพงแบบ 7.1.2 โดยใช้ Atmos Enabled Speakers 2 ตัว (ด้านหน้า)
(B) การเซ็ตลำโพงแบบ 7.1.2 โดยใช้ลำโพงติดตั้งบนเพดาน 2 ตัว

 

มุมมองด้านข้างในการติดตั้งลำโพงเพดานสำหรับผังแบบ 7.1.2

2. The Reference Dolby Atmos Experience ขอเรียกว่าการเซ็ตอัพ Dolby Atmos ระดับอ้างอิงก็แล้วกัน ใช้รหัสว่า 5.1.4 และ 7.1.4 ตามรูป

(A) การเซ็ตลำโพงแบบ 5.1.4 โดยใช้ Atmos Enabled Speakers 4 ตัว (หน้า 2 / หลัง 2)
(B) การเซ็ตลำโพงแบบ 5.1.4 โดยใช้ลำโพงติดตั้งบนเพดาน 4 ตัว

 

มุมมองด้านข้างในการติดตั้งลำโพงเพดานสำหรับผังแบบ 5.1.4

 

(A) การเซ็ตลำโพงแบบ 7.1.4 โดยใช้ Atmos Enabled Speakers จำนวน 4 ตัว (หน้า 2 / หลัง 2)
(B) การเซ็ตลำโพงแบบ 7.1.4 โดยใช้ลำโพงติดตั้งบนเพดานจำนวน 4 ตัว

 

มุมมองด้านข้างในการติดตั้งลำโพงเพดานสำหรับผังแบบ 7.1.4

3. Enhanced Effects เป็นการเซ็ตอัพ Dolby Atmos ที่เหมาะสำหรับห้องขนาดใหญ่ ใช้โค้ด 9.1.2 เพิ่มลำโพง Wide Channel ด้านข้างขึ้นมาระหว่างลำโพงคู่หน้ากับลำโพงเซอร์ราวนด์ด้านข้าง

(A) การเซ็ตลำโพงแบบ 9.1.2 โดยใช้ Atmos Enabled Speakers + Wide Channel อย่างละ 2 ตัว
(B) การเซ็ตลำโพงแบบ 9.1.2 โดยใช้ลำโพงที่ติดตั้งบนเพดานจำนวน 2 ตัว + Wide Channel อีก 2 ตัว

ธนภณ พูลเจริญ

Content Contributor ที่ปรารถนาจะถ่ายทอดประสบการณ์ในแวดวงโฮมเธียเตอร์ ทีวี และระบบเสียงมัลติรูมในแง่ของความคุ้มค่าของการใช้งาน เปิดมุมมองสู่ความต้องการที่ชัดเจนให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบเทคโนโลยี