AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

เราเป็น ออดิโอไฟล์ หรือ มิวสิกเลิฟเวอร์ กันแน่ ?

“Are Audiophiles Really Music Lovers?” หรือ “ออดิโอไฟล์นั้นเป็นพวกมิวสิกเลิฟเวอร์ด้วยหรือเปล่า” นี่คือหัวข้อที่ The Absolute Sound นิตยสารทรงอิทธิพลรายหนึ่งในแวดวงเครื่องเสียงไฮไฟเคยเขียนถึงเอาไว้ในบทบรรณาธิการ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ในแวดวงไฮไฟได้หยิบมาถกกันอยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เวนย์ การ์เซีย ผู้เขียนบทบรรณาธิการดังกล่าวบอกว่า เขาได้ยินคำถามนี้มาตั้งแต่ที่มีการนิยามคำว่า “ออดิโอไฟล์” ขึ้นมาเลยก็ว่าได้ และไม่ว่าคำตอบจะออกไปในทางใด เขาก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่าคำตอบนั้นถูกหรือผิด

เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ก่อนอื่นเรามาดูกันนิยามกันก่อนว่าแบบไหนที่เขาเรียกว่า “ออดิโอไฟล์” แบบไหนที่เขาเรียกว่า “มิวสิกเลิฟเวอร์”

ออดิโอไฟล์
คำว่าออดิโอไฟล์หรือนักเลงเครื่องเสียงนั้นมักจะใช้เรียกผู้ที่เข้มงวดกับเรื่องคุณภาพเสียงชนิดเข้ากระดูกดำ รวมถึงยังกระหายใคร่รู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับเครื่องเสียงเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่การซื้อเครื่องเสียงมาแล้วก็ใช้ ๆ ไปจนกว่าจะพังกันไปข้างเหมือนที่เราทำกับพัดลม ตู้เย็น หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ภายในบ้าน

เรื่องที่บรรดาออดิโอไฟล์สนใจก็มีตั้งแต่การหาชั้นวางชนิดพิเศษมาใช้กับเครื่องเคราที่มีอยู่ เรื่อยไปจนถึงสิ่งละอันพันละน้อยที่นำมาปรับปรุงคุณภาพเสียงแม้กระทั่งการเปลี่ยนปลั๊กไฟหรือฟิวส์ เรียกว่าเอาใจใส่ในทุกอณูรายละเอียดที่มีผลกับคุณภาพเสียงกันเลยทีเดียว แม้ว่าสิ่งนั้นอาจถูกมองว่าเป็นเรื่อง ‘เพ้อเจ้อ’ สำหรับคนทั่วไป

การพูดถึงคุณภาพเสียงก็ไม่ได้มีแค่ เสียงทุ้มเด่น กลางชัด หรือแหลมดี แต่เจาะลึกลงไปถึงรายละเอียดหยุมหยิม มีการพูดถึงเรื่อง มิติเสียง ซาวด์สเตจ ความสงัดของเสียง ความสะอาดของเสียง ฯลฯ

การเลือกฟังดนตรี ออดิโอไฟล์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับคุณภาพเสียงเป็นหลัก ดังนั้นแผ่นซอฟต์แวร์เพลงที่มาจากสังกัดในกลุ่มออดิโอไฟล์จะได้รับการชายตาไปหาก่อน เพราะสังกัดเหล่านี้รู้ใจคนกลุ่มนี้เช่นกันจึงทำ “แผ่นออดิโอไฟล์” ที่พิถีพิถันเป็นพิเศษกับการบันทึกเสียงออกมาตอบสนอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าแผ่นเพลงทั่ว ๆ ไปหรือแผ่นที่ไม่ใช่สังกัดออดิโอไฟล์จะเสียงแย่กว่าหรือไม่ได้เรื่องเสมอไป บางแผ่นเสียงดีกว่าแผ่นออดิโอไฟล์เสียอีก ประเด็นนี้ผมเชื่อว่าออดิโอไฟล์หลายคนเข้าใจดี

มิวสิกเลิฟเวอร์
สำหรับ “มิวสิกเลิฟเวอร์” จากนิยามจะหมายถึงคนที่เลือกฟังดนตรีที่มีคุณภาพ ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระหลักของดนตรีมากกว่าเรื่องคุณภาพเสียง

การพิจารณาฟังดนตรีจะลงลึกไปถึงความเข้าใจในตัวศิลปินหรือผู้สร้างงาน ให้ความสำคัญกับเทคนิคการเล่น สามารถเป็นปลื้มหรือเกิดความเร้าใจกับลีลาการโซโลของมือกีต้าร์ระดับพระกาฬคนโปรด แม้ว่าซีดีแผ่นนั้นในมุมมองของพวกออดิโอไฟล์มันจะบันทึกเสียงมาไม่ได้เรื่องเลยก็ตาม

เครื่องเสียงของมิวสิกเลิฟเวอร์จึงมีตั้งแต่แบบง่าย ๆ อย่าง iPod จนถึงชุดเครื่องเสียงสำเร็จรูปมีทุกอย่างในชุดเดียวกัน ใช้งานสะดวก เรื่องเสียงเอาแค่พอไปวัดไปวาได้ก็ผ่านการพิจารณาของมิวสิกเลิฟเวอร์แล้ว แน่นอนว่าในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของระดับด้วยนะครับ เครื่องเสียงง่าย ๆ สำหรับมิวสิกเลิฟเวอร์แต่ราคาสูงจนถึงสูงมากก็เห็นมีอยู่ถมไปครับ

ออดิโอไฟล์ vs มิวสิกเลิฟเวอร์
คราวนี้ต้นตอของคำถามมันมาจากความขัดแย้งในความคิดบางแง่มุมของคนทั้ง 2 กลุ่ม กลุ่มออดิโอไฟล์บอกว่ามิวสิกเลิฟเวอร์จะเข้าถึงแก่นสารของดนตรีได้อย่างไรถ้าเสียงที่ฟังอยู่นั้นมันผิดเพี้ยนไม่เห็นจะเหมือนดนตรีจริงสักนิด

ไม่ว่าจะเป็นเสียงแซกโซโฟนที่แหบแห้งไร้บอดี้ เสียงกีต้าร์ที่ฟังไม่ออกว่าเป็นสายเอ็นหรือสายเหล็ก ในเมื่อเสียงมันถูกบิดเบือนให้เพี้ยนโดยเครื่องเสียงมาตั้งแต่เริ่มต้น แล้วมิวสิกเลิฟเวอร์จะทราบได้อย่างไรว่า ความเพี้ยนที่ได้ยินนั้นเกิดจากฝีมือของนักดนตรีหรือเครื่องเสียงกันแน่ ?

ในขณะที่กลุ่มมิวสิกเลิฟเวอร์ก็มองว่าพวกออดิโอไฟล์นั้นดูจะช่างเลือกมากเสียจนจำกัดตัวเองให้ฟังเพลงอยู่แค่ไม่กี่แนว มีซีดีอยู่แค่ไม่กี่แผ่น เปิดโชว์เสียงซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่เบื่อบ้างหรืออย่างไร

หรืออาจจะเกิดข้อสงสัยว่าตกลงพวกออดิโอไฟล์นั้นเขาฟังเพลงหรือฟังเครื่องกันแน่ เพราะเดี๋ยวก็หาสายสัญญาณมาเปลี่ยนแล้วบอกว่าเสียงดีขึ้น เดี๋ยวก็หาอะไรมารองใต้เครื่อง ใต้ลำโพงแล้วก็บอกว่าเสียงดีขึ้นอีกแล้ว

เครื่องเสียงหลอดก็ต้องวอร์มอัพกันหลายสิบนาทีทั้งที่เปิดมาแค่ไม่ถึงนาทีมันก็มีเสียงแล้ว แต่พวกออดิโอไฟล์บอกว่าเสียงมันแข็ง มันแห้ง ทนฟังไม่ได้ พวกออดิโอไฟล์นี่จะฟังเพลงสักทีดูเหมือนมันช่างวุ่นวายเสียเหลือเกิน

sdr

และที่สำคัญ พวกออดิโอไฟล์น่ะเคยไปนั่งฟังดนตรีสด ๆ บ้างไหม หรือว่าฟังแต่เครื่องเสียงแล้วมาทึกทักเอาเองว่าเสียงนั้นผิด เสียงนี้เพี้ยน เสียงนี้ไม่สมจริง ?

เวนย์ การ์เซีย ผู้เขียนบทความที่ผมกล่าวอ้างถึงในข้างต้น บอกว่าตลอดชีวิตของการเป็นทั้งคนขายเครื่องเสียง คนอ่านและคนเขียนบทความในฐานะของ reviewer เขาพบเห็นออดิโอไฟล์มาแล้วทุกประเภทตั้งแต่พวกที่จ้องจะจับผิดเครื่องมากกว่าฟังว่าเพลงนั้นไพเราะแค่ไหน จนถึงพวกออดิโอไฟล์ที่รู้เรื่องดนตรีดีระดับกูรู

ผมเห็นด้วยกับเขา… ออดิโอไฟล์กับมิวสิกเลิฟเวอร์นั้นแท้จริงแล้ว ไม่ได้แตกต่างกันชนิดสีขาวหรือดำ แต่เป็นสีเทาเข้มหรือเทาอ่อนต่างหาก เท่าที่ได้พบปะเจอะเจอคนเล่นเครื่องเสียงมาหลายฤดูฝน ผมเจอนักเล่น 2 ประเภทครับ เป็น 2 ประเภทที่ผมถือวิสาสะแบ่งเอาตามเส้นทางการเดินเข้ามาสู่โลกของไฮไฟ

ประเภทแรกคือพวกที่ชอบฟังเนื้อหาสาระของเพลง จนกระทั่งวันหนึ่งก็เริ่มหันมาสนใจเครื่องเสียงเพราะต้องการให้การฟังเพลงที่ตนเองชอบนั้นได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่า “หูถึง” พอสมควร เนื่องจากมีประสบการณ์ได้ฟังดนตรีจริงมามาก บางท่านเล่นดนตรีได้ แถมยังรู้เรื่องหรือร่ำเรียนทฤษฎีดนตรีติดตัวมาเสียอีก

คนกลุ่มนี้ผมให้นิยามว่าเป็นพวก “มิวสิกเลิฟเวอร์” การเข้ามาสนใจไฮไฟของมิวสิกเลิฟเวอร์โดยมากจะเริ่มจากซิสเตมพื้น ๆ ก่อน และเริ่มจ่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามดีกรีไฮไฟในสายเลือด

ประเภทที่สองนั้นคือพวกที่หลงใหลในสุ้มเสียงของชุดเครื่องเสียงมาก่อน ไม่ว่าจะได้ไปฟังตามร้านหรือซิสเตมที่บ้านเพื่อนฝูง เป็นพวกที่รู้สึกดีเวลาได้ยินเสียงทุ้ม กลาง แหลมที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ยังไม่นับรวมถึงเรื่องมิตงมิติเสียง ความหวาน ความโปร่งใส ฯลฯ

เมื่อเกิดความชื่นชอบเสียงเหล่านั้นแล้วจึงเริ่มต้นจากการเล่นเครื่องเสียงโดยพยายามค้นหาสิ่งที่เคยได้ยินในซิสเตมอื่นในซิสเตมของตัวเองบ้าง มีความสนุกกับการอัพเกรดหรือ tweak ในจุดเล็กจุดน้อยไปเรื่อยเปื่อยเพื่อให้ได้สุ้มเสียงที่ฟังดีขึ้น น่าฟังขึ้น คนกลุ่มนี้แหละครับที่ผมเรียกว่าเป็นพวก “ออดิโอไฟล์” หรือที่บางคนเรียกให้ดูเก๋าหน่อยว่า “นักเลงเครื่องเสียง”

ออดิโอไฟล์มือใหม่ส่วนมากจะมีดนตรีที่สนใจเฉพาะแนว เนื่องจากสมาธิเกือบทั้งหมดจะเพ่งอยู่ที่คุณภาพเสียงเป็นหลัก แผ่นไหนใครเขาบอกว่าเสียงดีซื้อมาฟังหมด ซื้อมาก่อนแม้ว่าจะฟังไม่ค่อยเข้าใจก็ตาม ที่สามารถบอกรายละเอียดได้เพราะตัวผมเองก็อยู่ในกลุ่มนี้ครับ

นึกย้อนกลับไปแล้วบางเรื่องก็น่าขำขันตัวเองอยู่เหมือนกันครับ แต่ก่อน ก่อนจะมาสนใจเครื่องเสียงจริงจัง ผมฟังเพลงอยู่แค่ไม่กี่แนว ไม่เพลงป็อปตลาด ๆ ทั่วไปก็เป็นแนวพวกเพลงแดนซ์โจ๊ะ ๆ ไปโน่นเลย เพราะช่วงหนึ่งในบ้านเรากระแสเพลงแนวนี้มาแรงมาก ๆ ใครอยากจะลองประสิทธิภาพเครื่องเสียงหรือลำโพงก็ชอบใช้เพลงพวกนี้เปิดโชว์เบสหนัก ๆ กัน

เวลาไปตามงานโชว์เครื่องเสียงยุคนั้นก็สังเกตได้ว่าห้องไหนเปิดแผ่นเอฟเฟ็คต์เสียงรถไฟ เสียงแก้วแตก หรือเสียงโซโล่กลองชุดโชว์เสียงทุ้มหนัก ๆ ห้องนั้นถึงจะมีคนมุงกันหนาแน่น ห้องไหนเปิดแต่เพลงแจ๊ซ เพลงคลาสสิก หรือแนวเพลงที่ฟังแล้วไม่สะดุดหู ก็ไม่ค่อยมีคนอยากนั่งฟังกันนาน ๆ

ทว่าผมมาเริ่มสนใจดนตรีคลาสสิกครั้งแรกเพราะแผ่นซีดีจากค่าย Telarc พูดถึงชื่อแผ่นนักเล่นมือเก่าต้องร้องอ๋อนั่นคือแผ่น “Round-Up” แผ่นนี้เป็นเพลงคลาสสิกแนวคาวบอยตะวันตก เล่นด้วยออเคสตร้าวงใหญ่ เพลงตัดตอนมาสั้น ๆ บรรเลงได้เร้าใจ ฟังไม่น่าเบื่อเลยแม้แต่น้อย แต่ที่สำคัญเป็นเพราะแผ่นนี้เขาบันทึกเสียงมาดีครับ

ในยุคหนึ่งพวกร้านเครื่องเสียงเลยชอบเปิดแผ่นนี้อวดกันโดยเฉพาะพวกซิสเตมที่ให้ลำโพงตัวโตอย่างพวก Infinity, Genesis หรือ Wilson Audio

หลังจากตกหลุมรักแผ่น Round-Up ผมก็เริ่มฟังเพลงคลาสสิกที่ซับซ้อนขึ้นทีละนิด ๆ โดยมีแผ่นของค่าย Telarc เป็นไกด์ นอกจาก Telarc แล้วผมยังพบว่าแผ่นของค่าย Reference Recording, Delos หรือ Mercury Living Presence ก็มีที่น่าสนใจหลายแผ่นทีเดียว

กับดนตรีแนวแจ๊ซ แต่ก่อนผมเคยไม่เข้าใจว่าแจ๊ซน่าสนใจตรงไหน ผมเคยซื้อแผ่นที่นักเล่นเครื่องเสียงหลายคนว่าดีนักหนาอย่าง Jazz at the Pawnshop ของค่าย Proprius จากสวีเดนมาเปิดฟัง แต่กลับฟังได้ไม่จบแผ่นเพราะรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่น่าเบื่อเอาการ ยอมรับว่าผิดหวังพอสมควร

แต่หลังจากที่ได้ฟังแผ่นนี้กับชุดเครื่องเสียงที่ดีมาก ๆ ผมถึงได้รับรู้ว่าแจ๊ซเป็นดนตรีที่เล่นด้วยอารมณ์ หากเครื่องเสียงคุณภาพไม่ดีพอคนที่ไม่คุ้นเคยอย่างผมจะเข้าใจมันได้ไม่ง่ายนัก

กระทั่งวันหนึ่งผมมีเครื่องเสียงที่ดีพอที่จะถ่ายทอดเสน่ห์ของดนตรีแจ๊ซออกมาได้ ผมก็เริ่มเลือกฟังเพลงแจ๊ซมากขึ้น จนบางครั้งพอที่จะคุยเรื่องแจ๊ซ ๆ กับเขาได้บ้าง ทั้งที่ยังมีความรู้เรื่องแจ๊ซแค่งู ๆ ปลา ๆ ก็ตาม

และถึงแม้ว่าความเป็นออดิโอไฟล์ของผมจะไม่ทำให้ผมเข้าใจคลาสสิก แจ๊ซ หรือดนตรีแนวอื่น ๆ ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยผมก็ยินดีกับตัวเองที่เครื่องเสียงสามารถช่วยให้ผมเปิดใจรับฟังดนตรีได้หลากหลายแนว มีความสุขกับเพลงได้เกือบทุกประเภทตั้งแต่เพลงบรรเลงจนถึงโอเปร่า

วันนี้ผมสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นมิวสิกเลิฟเวอร์คนหนึ่ง แถมเป็นมิวสิกเลิฟเวอร์ที่เรื่องมากเรื่องคุณภาพเสียงเสียด้วยสิ !

แล้วคุณล่ะครับคิดว่าตัวเองเป็น “ออดิโอไฟล์” หรือ “มิวสิกเลิฟเวอร์” กันแน่ ?

หรือว่าแท้ที่จริงแล้วเราไม่ต้องเลือกเป็นแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะในโลกความจริงเราสามารถเป็นทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน…

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ