fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

เยือนสำนักงานใหญ่ ผ่าหูฟังรุ่นใหม่ของโซนี่ เจาะใจทีมออกแบบ

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหมาด ๆ ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดตัว SONY WF-1000XM3 หูฟังไร้สายรุ่นใหม่ของโซนี่ ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับหูฟังไร้สายที่มีระบบ noise cancelling สุดฮอตรุ่นนี้ ในเวลานี้คงมีปรากฏตามแหล่งข่าวต่าง ๆ อย่างเช่น ในข่าวนี้เว็บไซต์ AV Tech Guide เป็นตัวอย่าง

บางช่วงของกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางโซนี่ได้จัดแจงให้ทางสื่อมวลชนที่มาจากหลายประเทศ นอกจากการได้ทดลองเล่นและลองฟังตัวหูฟัง SONY WF-1000XM3 ในลักษณะของ touch & try แล้ว ผมยังมีโอกาสได้เห็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในตัวหูฟังที่เป็นของจริง เรียกว่าได้มีการผ่าตัวหูฟังจริงเอามาโชว์กันเลย

ซึ่งผมเองเห็นด้วยตาของตัวเองแล้วต้องบอกว่าทึ่งพอสมควร เพราะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนหลายสิบชิ้นจินตนาการได้ยากจริง ๆ ครับว่าไปรวมอยู่ในหูฟังขนาดเท่าปลายนิ้วโป้งเช่นนี้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเสาอากาศและวงจรภาครับสัญญาณบลูทูธ ไมโครโฟนที่ใช้ข้างละ 2 ตัว ทำงานร่วมกับภาคประมวลผลในส่วนของระบบ noise cancelling รวมทั้งแบตเตอรีแบบชาร์จไฟซ้ำได้ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า

ที่น่าสนใจคือ ตัวไดรเวอร์ขับเสียงแบบไดนามิกขนาด 6mm ที่ทำให้ผมรู้สึกแปลกใจว่าทางโซนี่เขาออกแบบระบบอะคูสติกกันอย่างไรถึงทำให้เสียงทุ้มที่ถ่ายทอดออกมามีลักษณะอิ่มลึกคล้ายหูฟังขนาดใหญ่ หรือสามารถถ่ายทอดมิติเสียงได้กว้างขวางและฟังสบายหูเช่นนี้ (ขณะที่เขียนถึงตรงนี้ ผมยังได้หยิบ WF-1000XM3 มาฟังเพื่อยืนยันว่ามันทำเช่นนั้นได้จริง ๆ และหูของผมไม่ได้ฝาดไป)

ดูกันชัด ๆ อีกทีกับตัวไดรเวอร์ 6mm (A) และไมโครโฟนตัวที่สองสำหรับ noise cancelling (B)
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากเยอรมัน ใช้งานได้ต่อเนื่อง 6 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งรอบ นานกว่าหูฟัง AirPods ที่ไม่มีระบบ noise cancelling

นอกจากนั้นสื่อมวลชนทั้งหมดยังมีโอกาสสัมภาษณ์ทีมวิศวกรผู้ที่ออกแบบหรือมีส่วนในการให้กำเนิดหูฟังรุ่นนี้ออกมา ซึ่งนี่เป็นโอกาสที่สุดยอดมาก สำหรับคนทำงานสายสื่อมวลชนที่มีพื้นฐานมาจากคนรักเครื่องเสียงอย่างผม

เพราะเราจะมีโอกาสได้คุยกับคนออกแบบโดยตรง เขามานั่งให้เห็นตัวเป็น ๆ อยู่ตรงหน้าแล้ว… ที่จริงช่วงนี้ผมเองตื่นเต้นมาก แต่ต้องเก็บอาการเอาไว้ (ฮา)

สังเกตว่าทีมวิศวกรชุดที่ออกแบบหูฟังรุ่นนี้ อายุโดยเฉลี่ยยังไม่มาก คะเนด้วยสายตาแล้วบางท่านอายุอานามน่าจะเพิ่งสามสิบกว่าหรือสี่สิบต้น ๆ เท่านั้นเอง โดยมีซือแป๋ซึ่งเป็นวิศวกรอาวุโสอย่างคุณโคจิ นาเกโนะ (ซึ่งผมมีโอกาสได้พบเจอในหลาย ๆ วาระที่เกี่ยวกับการออกแบบเครื่องเสียงของโซนี่) คอยกำกับดูแล

การใช้คนรุ่นใหม่มาออกแบบเครื่องเสียงสมัยใหม่เช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็จะมีใครรู้ใจคนรุ่นใหม่ได้ดีเท่ากับคนรุ่นใหม่เองเล่า จริงไหมล่ะครับ

คนขวาสุดที่ยืนแนะนำตัวนั่นแหละครับคุณโคจิ นาเกโนะ (Senior Acoustic Architect)
คุณฮิโรชิ โอบะ (Product Planer) กำลังอธิบายในภาพรวม
คุณเรียว สึชิยะ (Mechanical Manager) กำลังอธิบายการออกแบบตัวแบตเตอรี่เคส

หลากหลายคำถามจากสื่อมวลชนหลายประเทศก็น่าสนใจนะครับ โดยมากเป็นเรื่องของการใช้งานทั่วไป และเรื่องของบริการหลังการขาย แต่ก็มีคำถามจำนวนหนึ่งที่มุ่งเน้นไปที่การออกแบบโดยตรง ในจำนวนนั้นเป็นคำถามของผมเองที่ถามเขาไปว่า

“อะไรที่เป็นเรื่องยากที่สุดในการออกแบบหูฟังรุ่นนี้”

คำตอบที่ได้คือ การออกแบบในส่วนของการเชื่อมต่อไร้สาย โดยเฉพาะวงจรภาครับสัญญาณบลูทูธและการออกแบบเสาอากาศ…

คำตอบนี้ทำให้ผมแปลกใจเล็กน้อย เพราะโซนี่พยายามโปรโมตหูฟังรุ่นนี้ทั้งเรื่องคุณภาพเสียงและระบบ noise cancelling แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับโซนี่ไปเสียแล้ว

ที่เขาให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อไร้สายเป็นพิเศษ เป็นเพราะฟีดแบ็คส่วนหนึ่งจากผู้ใช้หูฟังรุ่นก่อนหน้า ซึ่งการเชื่อมต่อไร้สายที่ ‘ไม่ค่อย’ เสถียรนักโดยเฉพาะการเชื่อมต่อในโหมดที่เน้นคุณภาพเสียง ถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน pain point ที่ทางโซนี่ต้องการเอาชนะให้ได้ และจากที่ผมได้ลองใช้งานในหลาย ๆ สภาพแวดล้อมก็ดูเหมือนว่าพวกเขามีแววจะทำได้สำเร็จในหูฟังรุ่นใหม่นี้ด้วยครับ

คุณสึโยชิ นากามูระ (ซ้าย, Electrical Architect) และคุณเคนอิจิ โออิเดะ (ขวา, Acoustic Manager) กำลังช่วยกันอธิบายและตอบคำถามของผม

อีกหนึ่งคำถามคือ เหตุใดหูฟังรุ่นนี้จึงยังไม่รองรับ codec ที่เป็น hi-res audio อย่างเช่น aptX หรือ LDAC ของโซนี่เองเหมือนกับหูฟังรุ่นที่เป็นโอเวอร์เอียร์

จุดนี้ทางทีมวิศวกรให้เหตุผลว่า นอกจากเรื่องการเชื่อมต่อไร้สายที่เสถียรแล้ว เรื่องของแบตเตอรี่และชั่วโมงการใช้งาน เป็นเรื่องที่ทางทีมให้ความสำคัญมากกว่า

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะเป็นไปไม่ได้ สำหรับหูฟังไร้สาย True Wireless ที่เชื่อมต่อได้เสถียร แบตอึด และรองรับ codec ที่เป็น hi-res audio ด้วย เพราะว่าในเวลานี้ตัวชิปประมวลผล HD Noise Canceling รหัส QN1e ที่ใช้อยู่ใน WF-1000XM3 ก็ประมวลผลที่สัญญาณระดับ 24 บิต ได้อยู่แล้ว

ให้ความสำคัญมากครับ กับการออกแบบในส่วนของการเชื่อมต่อไร้สาย
ไมค์อีกตัวสำหรับระบบ noise cancelling (ในวงกลม) และฮาร์ดแวร์ในส่วนของระบบ touch control (Electrostatic Touch-sensor)
การจัดวางเสาอากาศภายในตัวหูฟัง

อีกหนึ่งคำถามที่ผมยิงถามไปคือ ในเวลานี้ผู้ผลิตหูฟังชื่อดังหลายยี่ห้อเปิดตัวหูฟังไร้สายสำหรับเกมเมอร์ หรือ Gaming Headphone กันไปแล้ว ทางโซนี่เองมีแผนจะทำหูฟังสำหรับเกมเมอร์ออกมาบ้างหรือไม่ ทางทีมวิศวกรของโซนี่ยิ้มรับเป็นคำตอบ แต่พวกเขาเผยข้อมูลได้เพียงว่า ตลาดหูฟังเกมเป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่ทางโซนี่ยังไม่สามารถเปิดเผยอะไรได้ชัดเจนในเวลานี้

ชิปภาครับบลูทูธ และชิปประมวลผล HD Noise Cancelling

คุณผู้อ่านคิดเหมือนผมไหมครับว่า บริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียง ที่มีเกมคอนโซลอย่าง PlayStation เป็นหน้าเป็นตาอยู่ด้วย คงไม่ปล่อยให้ตลาดนี้ตามหลังยี่ห้ออื่นนานนักหรอกครับ คาดว่าปีหน้าคงได้เห็นโซนี่เริ่มเผยไต๋อะไรออกมาบ้างอย่างแน่นอน เซฟบทความนี้ไว้แล้วรอดูได้เลยครับ

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ