fbpx
REVIEW

รีวิว Sony : NW-A35

ปี 2016 ต้องบันทึกเป็นสถิติอีกหนึ่งปีว่าค่าย ‘ยักษ์ตื่น’ อย่างโซนี่กลับมายืนผงาดในวงการไฮไฟอย่างภาคภูมิอีกครั้งด้วยสินค้าในกลุ่มเครื่องเสียงไฮไฟสมัยใหม่ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายกว้างขวางตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับไฮเอนด์ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่ม Personal Audio หรือเครื่องเสียงส่วนบุคคลที่โซนี่มีท่าทีจะกลับมาทวงลูกค้าของพวกเขาคืน

หลังจากเมื่อปีกลายพวกเขาส่งทัพหน้ามาและทราบมาว่าได้รับเสียงตอบรับดีเยี่ยม ล่าสุดโซนี่สร้างเซอร์ไพรซ์อีกครั้งด้วยเครื่องเสียงที่ใหม่กว่า สวยกว่า คุณภาพเสียงเหนือชั้นกว่า ในราคาที่แทบไม่ต่างไปจากเดิม อย่างเช่นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา SONY NW-A35 ที่อยู่ในมือผมในตอนนี้

ดีไซน์ใหม่ จอสัมผัส เรียบหรูเหมือนรุ่นใหญ่
NW-A35 จัดเป็นเครื่องเสียงประเภท DAP (Digital Audio Player) หรือเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่อยู่ในตระกูล NW-A30 Series ของทางโซนี่ โดยมีเพื่อนร่วมตระกูลอีกหนึ่งรุ่นคือ NW-A36 ทั้งสองรุ่นแตกต่างกันที่ความจุข้อมูลในตัว NW-A35 ให้มา 16GB ส่วน NW-A36 ให้มา 32GB

นอกจากเรื่องของความจุข้อมูลในตัวแล้ว ด้านรูปร่างหน้าตลอดจนการออกแบบทางเทคนิคอื่นๆ ของเครื่องเล่นพกพาสองรุ่นนี้ ทราบว่าไม่มีอะไรต่างกัน (อ้างอิงจาก เวบไซต์ของโซนี่) สำหรับ NW-A35 ทางโซนี่ไทยตั้งราคาเอาไว้ที่ 7,190 บาท ส่วน NW-A36 ราคาอยู่ที่ 10,990 บาท รุ่นหลังนี้จะพิเศษตรงที่มีหูฟังแถมมาให้ด้วยแต่ไม่ได้แจ้งว่าเป็นหูฟังรุ่นใด

NW-A35 เป็น DAP ที่มีดีไซน์เรียบง่ายแนวมินิมอลลิสต์คล้ายกับเครื่องรุ่นใหญ่ที่ขายกันสามหมื่นกว่าบาทของโซนี่เอง ปุ่มกดต่างๆ ถูกย้ายจากด้านหน้าไปอยู่ทางด้านข้างของเครื่องทำให้ตัวเครื่องดูดี ดูทันสมัยขึ้นมาก เป็นการเปลี่ยนดีไซน์ของเครื่องรุ่น entry level ของโซนี่ไปโดยสิ้นเชิง

หน้าจอระบบสัมผัสแบบ TFT LCD ขนาด 3.1 นิ้ว ความละเอียด 800×480 (WVGA) มีความคมชัดและมีขนาดใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ตัวเครื่อง ด้านข้างขงตัวเครื่องด้านหนึ่งยังเป็นตำแหน่งของช่องใส่การ์ด MicroSD เพื่อเพิ่มพื้นที่จุข้อมูลในตัวเครื่องได้สูงสุดอีก 128GB ทำให้ DAP รุ่นนี้มองดูเผินๆ แล้วเหมือนกับสมาร์ทโฟนขนาดย่อส่วนเลยล่ะครับ น้ำหนักที่เบาเพียงแค่ 98 กรัม ตอกย้ำถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์พกพาได้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ช่องใส่ MicroSD Card ฝาปิดใช้ปลายเล็บแงะออกมาได้เลย

ชิ้นส่วนตัวเครื่องของ NW-A35 ทำจากวัสดุประเภทโลหะและพลาสติก งานประกอบมีมาตรฐาน หน้าจอปิดด้วยแผ่นกระจกซึ่งทนทานต่อรอยขีดข่วนได้ดีกว่าพลาสติกแต่ไม่ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่าเป็นกระจกกันรอยเกรดไหน ตัวเครื่องมีสีสันให้เลือกหลากหลายตามสไตล์สินค้าใน concept ‘h.ear’ ของโซนี่ ผมว่าปัญหาเรื่องการแมตชิ่งตัวสินค้ากับบุคลิกของผู้ใช้ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่เลยครับ เพราะรุ่นนี้เขามีสีตัวเครื่องให้เลือกตั้งแต่ สีดำถ่านแบบเข้มขรึม สีน้ำเงินอมเขียวที่ดูมีสีสันขึ้นมาอีกนิด หรือจะเป็นสีที่จี๊ดจ๊าดอย่างสีเขียวมะนาว, หวานๆ แบบสีชมพูบ็อกโดซ์ หรือสีแดงแสดสุดแซ่บ

 พอร์ตขั้วต่อข้อมูล/ชาร์จไฟ ขั้วต่อหูฟัง 3.5mm
นอกจากจะกดสั่งงานได้บนหน้าจอแล้ว NW-A35 ยังมีปุ่มควบคุมที่ด้านข้างตัวเครื่อง ทำให้การใช้งานสะดวกมากขึ้นไปอีก 

พอร์ตเชื่อมต่อใน DAP รุ่นนี้โซนี่ยังคงเลือกใช้ WM-Port ซึ่งเป็นพอร์ตเชื่อมต่อเฉพาะของทางโซนี่ สามารถเชื่อมต่อได้แต่กับอุปกรณ์บางรุ่นของโซนี่เอง เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อบลูทูธที่รองรับเทคโนโลยีบลูทูธรายละเอียดสูง ‘LDAC’ ซึ่งให้เสียงดีกว่าการเชื่อมต่อบลูทูธทั่วไปแต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีใช้เฉพาะในเครื่องเสียงหรือสมาร์ทโฟนของโซนี่เท่านั้น

อีกหนึ่งความสะดวกใน DAP รุ่นนี้ก็คือการรองรับการเชื่อมต่อแบบ NFC ซึ่งตรงนี้สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์ทั่วไปที่มี NFC ไม่ได้จำกัดเฉพาะอุปกรณ์ของโซนี่

 

Live แกะกล่องลองเล่น Sony NW-A35 (รุ่น 16GB ราคา 7,190 บาท)

Posted by GM 2000 Magazine on Thursday, November 17, 2016

 

ลองใช้งานบลูทูธ LDAC ร่วมกับลำโพง Sony รุ่น SRS-ZR7
สุ้มเสียงออกมาฟังดีเลยสำหรับระบบเสียงไร้สาย

PCM 24/192, DSD และ S-Master HX
ความสามารถในการรองรับไฟล์เสียงรายละเอียดสูงหรือ Hi-Res Audio เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ทำให้ NW-A35 เป็น DAP ที่โดดเด่นขึ้นมาในระดับราคานี้ ด้วยความที่รองรับไฟล์เสียงยอดนิยมแทบทุกประเภททั้ง AAC (Non-DRM), WMA (Non-DRM), MP3, HE-AAC, FLAC (Lossless LPCM), ALAC (Apple Lossless LPCM), WAV (Uncompressed LPCM), AIFF (Apple Uncompressed LPCM) หรือแม้แต่ไฟล์ DSF ซึ่งเป็นไฟล์ฟอร์แมต DSD เหมือนกับที่บันทึกลงในแผ่น SACD

สำหรับไฟล์เสียงในกลุ่ม PCM เครื่องเล่น DAP ตัวเล็กๆ เครื่องนี้รองรับไฟล์เสียงรายละเอียดสูงไปถึงระดับ 192kHz/24bit สำหรับฟอร์แมต DSD (2.8224MHz/1bit) เข้าใจว่าเครื่องเล่นในระดับนี้น้อยรุ่นนักที่จะรองรับไฟล์เสียงประเภทนี้ ก็ไม่เสียทีที่โซนี่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกฟอร์แมตเสียงนี้มาเป็นเวลาร่วมๆ จะ 20 ปีแล้วล่ะครับ (ฟอร์แมต DSD เปิดตัวมาพร้อมกับ SACD ในปีค.ศ.1999)

รุ่นนี้รองรับไฟล์ DSD แล้ว

อย่างไรก็ดีการเล่นไฟล์ DSD ใน NW-A35 จะไม่ใช่การเล่นโดยตรงแบบ (Native DSD) เหมือนในรุ่นใหญ่อย่าง NW-WM1A หรือ NW-WM1Z ของเขาเองนะครับ แต่จะเป็นการเล่นแบบแปลง DSD เป็น PCM ก่อน (converted DSD to PCM) ซึ่งในทางทฤษฎีคงสู้การเล่นแบบ Native DSD ไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติผลลัพธ์ที่เป็นไปได้นั้นหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าระหว่างทางของกระบวนการจัดการกับสัญญาณนั้นทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งในกรณีนี้ทางโซนี่เองก็เคลมว่าแม้จะมีการแปลงสัญญาณเป็น PCM ก่อนแต่จะยังคงคุณลักษณ์ที่ดีของฟอร์แมต DSD เอาไว้ไม่ให้บกพร่อง ซึ่งเท่าที่ผมได้ลองฟังก็คิดว่าทางโซนี่ไม่ได้พูดเกินจริงแต่อย่างใด อย่าลืมว่าโซนี่เป็นผู้ให้กำเนิด DSD ดังนั้นถ้าพวกเขาจะบอกว่ารู้จักมันดีกว่าใครๆ ก็คงเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักอยู่พอสมควร

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับชิพประมวลผลต่างๆ หรือชิพ DAC ที่ใช้อยู่ในเครื่องรุ่นนี้ ณ เวลานี้ยังไม่มีข้อมูลเปิดเผยจากทางโซนี่นะครับ

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจใน NW-A35 ก็คือภาคขยายเสียงสำหรับหูฟังที่ใช้เทคโนโลยีภาคขยายเสียงแบบดิจิตอลที่มีชื่อว่า ‘S-Master HX’ ซึ่งทางโซนี่เฝ้าประคบประหงมพัฒนามาใช้ในสินค้า Hi-Res Audio รุ่นใหม่ๆ มาโดยตลอด แม้แต่เครื่องเสียงพกพาอย่างนี้ก็ยังมีการนำมาใช้ด้วยเช่นกัน

ฟังก์ชั่นที่เกี่ยวกับระบบเสียงใน DAP รุ่นนี้ยังคงถอดแบบมาจากเครื่องเสียงยุคใหม่ของโซนี่มาครบทั้ง 6 Band equalizer, ClearAudio+, Clear Phase, DC Phase Linearizer, DSEE HX, Dynamic Normalizer และ VPT (Virtualphones Technology)

ถ้าหากคุณเป็นคนฟังเพลงที่เน้นในความตรงไปตรงมา ความเป็นธรรมชาติของเสียง ก็อย่าเพิ่งเมินฟังก์ชั่นพวกนี้ไปเสียทั้งหมดนะครับ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างน้อยผมก็พบว่าเทคโนโลยี DSEE HX ของโซนี่นั้นสามารถช่วยให้ไฟล์เสียงประเภทบีบอัดข้อมูลทั้งหลายที่มักจะฟังไม่ค่อยเพลินหู มีความน่าฟังเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ระบบปฎิบัติการของ DAP รุ่นนี้เป็น OS ของทางโซนี่เอง ดังนั้นมันจึงไม่สามารถติดตั้งแอพฯ อะไรเพิ่มเติมได้เองเหมือน DAP ที่ใช้ Android OS แต่ผมว่าแบบนี้ก็มีข้อดีเหมือนกันนะครับ ทุกอย่างมันจะดูเหมาะเจาะลงตัว เพราะมาจากทางโซนี่เองทั้งหมด ที่จริงฟีเจอร์หลักๆ ที่เขาให้มาในตัวเครื่องนั้นก็ไม่ได้ถือว่าจำกัดจำเขี่ยเลยขนาดวิทยุ FM Radio ก็ยังให้มาด้วย

เปรียบเทียบ NW-A35 vs NW-A25
ตัวเครื่องที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อยของ NW-A35 เมื่อเทียบกับ NW-A25 ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้า นอกจากมันจะดูดี ดูสวยขึ้นมากแล้วยังมาพร้อมกับคุณสมบัติและความสามารถที่เพิ่มขึ้นแบบลืมของเก่าไปได้เลย อุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มาพร้อมกับตัวเครื่องไม่ต่างจากในรุ่นเก่านั่นคือมีแค่สายชาร์จ/ดาต้าที่ด้านหนึ่งสำหรับเสียบกับพอร์ตยูเอสบีมาตรฐานทั่วไปส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นขั้วต่อ WM-Port 22 พิน แต่ไม่มีอุปกรณ์ชาร์จเจอร์ให้มาด้วย

จากการใช้งานในเบื้องต้นพบว่าการตอบสนองของจอทัชกรีนใน NW-A35 ตอบสนองได้ดีพอสมควร ดีพอๆ กับสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นทั่วไป การตอบสนองพอใช้ได้ ไม่หน่วงช้าน่ารำคาญ ยกเว้นตอนกดรัวๆ อย่างไรก็ดีมันช่วยให้ระบบอินเตอร์เฟสทั้งการเข้าสู่เมนูต่างๆ เข้าถึงไฟล์เพลง ตลอดจนการควบคุมการเล่นเพลงสะดวกขึ้นมากเมื่อเทียบกับรุ่น NW-A25 ที่ต้องกดปุ่มเอาอย่างเดียว การสั่งงานสามารถทำได้ทั้งจากหน้าจอทัชสกรีนและปุ่มกดที่ด้านข้าง

ผมติเรื่องเดียวที่มันยังไม่รองรับภาษาไทย เพลงไทยทั้งหลายเลยขึ้นโชว์เป็นภาษาต่างดาว ผมคาดหวังว่าอัพเดตเฟิร์มแวร์แล้วปัญหานี้จะหายไป แต่ในขณะที่เขียนรีวิวอยู่นี้เพิ่งจะมีอัพเดทเฟิร์มแวร์ล่าสุด v1.02 ผมได้ลองอัพเดตตามแล้ว พบว่ามันก็ยังไม่รองรับภาษาไทยนะครับ (เฟิร์มแวร์ล่าสุดรองรับแล้ว)

เรื่องภาษาไทยยังคงต้องรอคอยเฟิร์มแวร์ใหม่อย่างมีความหวัง
(ปัจจุบันรองรับแล้ว)

การเสียบชาร์จ NW-A35 สามารถใช้กับชาร์จเจอร์ยูเอสบีทั่วไปได้เลย เวลาในการชาร์จจนเต็มอยู่ที่ 4 ชั่วโมง (ไม่ได้แจ้งว่าต้องใช้ชาร์จเจอร์กี่แอมป์) ใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุด 45 ชั่วโมงเมื่อฟังแต่ไฟล์ MP3 128kbps และปิดฟังก์ชั่นลดเสียงรบกวน (NC OFF) แต่จะมีใครซื้อ NW-A35 มาฟังแต่ไฟล์ MP3 ล่ะครับ…เสียของหมด

ในกรณีที่ฟังแต่ไฟล์ DSD และเปิดฟังก์ชั่นลดเสียงรบกวน (NC ON) จะใช้งานได้น้อยชั่วโมงที่สุด ซึ่งก็ยังจัดว่าเหลือเฟือเพราะตัวเลขอยู่ที่ 22 ชั่วโมงใช้งานแบบต่อเนื่องครับ แม้ว่าตัวเลขตรงนี้จะสู้รุ่นเครื่องเก่าอย่าง NW-A25 (50 และ 30 ชั่วโมง) ไม่ได้ แต่ก็เป็นรองเพียงแค่เล็กน้อย เมื่อเทียบกับความสามารถที่เพิ่มขึ้นมากเยอะมากก็ถือว่าคุ้มค่ากัน

สิ่งที่ตอกย้ำในข้อความประโยคข้างต้นก็คือเมื่อผมได้ฟังเสียงจาก NW-A35 เทียบกับ NW-A25 ที่ผมมีใช้งานอยู่ 1 เครื่อง ผมว่าเสียงมันต่างกันเยอะมากๆ เยอะจนไม่ต้องเสียเวลาเทียบให้วุ่นวาย ในรุ่นใหม่นี้ผมไม่ทราบว่าโซนี่ไปทำอะไรมาถึงทำให้ภาคถอดรหัสเสียงและภาคขยายหูฟังของ NW-A35 เสียงดีกว่ารุ่นเก่าเยอะเลยครับ

ในขณะที่เสียงของ NW-A25 ฟังดูนุ่มๆ (จนน่วมในบางครั้ง) เป็นลักษณะเสียงที่เก็บเนื้อเก็บตัว รายละเอียดบางส่วนฟังดูจมหายไปกับพื้นเสียง แต่เสียงของ NW-A35 กลับเป็นเสียงที่เปิดกระจ่าง ทะลุทะลวงม่านหมอกความนุ่มออกมา มีความสด ความชัด คมเข้ม ขณะเดียวกับยังให้เนื้อเสียงที่ลักษณะเป็นรูปเป็นทรง เป็นลักษณะของเนื้อเสียงที่แน่นไม่กลวงใน มิติเสียงก็เปิดกว้างเป็นอิสระมากกว่า

เทียบกับ NW-A25 (สีแดง) ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้า

ที่ชัดเจนเลยตั้งแต่วินาทีต้นๆ ของการฟังเปรียบเทียบก็คือภาคขยายหูฟังของ NW-A35 มีเรี่ยวแรงเกินตัวเลยล่ะครับ ตัวแค่นี้ไม่คิดว่าจะขับหูฟังฟูลไซส์หลายรุ่นได้แบบเหลือๆ ภาพรวมของเสียงเปิดกว้าง กระจ่างชัด มีการตอบสนองต่อสัญญาณในเชิงไดนามิคที่ดีเยี่ยม มีความสดใสที่สัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติของเสียงเพลงนั้นๆ ได้ฟังทีแรกยอมรับว่าแทบไม่เชื่อหูครับ… เรียกว่าเมื่อเทียบกับรุ่นเดิมสามารถพูดได้ว่าเปลี่ยนไปแบบผิดหูผิดตาเลยทีเดียว

ในขณะที่ NW-A25 ต้องยอมจำนนกับหูฟังความไวต่ำบางตัว หรือเพลงที่บันทึกมาด้วยสัญญาที่ค่อนข้างเบา เร่งเสียงจนสุดก็ยังดังไม่พอ แต่ NW-A35 ยังทำหน้าที่ขับหูฟังเหล่านั้นได้ดังขึ้นอีกราวๆ 30-40% แบบสบายๆ เท่าที่ผมได้ลองมีเพียงแค่หูฟัง AKG รุ่น K702 ที่ลองใช้กับ NW-A35 แล้วดูจะเกินกำลังความสามารถของ DAP ตัวเล็กๆ ไปสักหน่อย

โดยเฉพาะงานเพลงที่มีเกนการบันทึกเสียงค่อนข้างเบามากๆ อย่างเช่น งานเพลงของสังกัด Sheffield Labs หรือ Reference Recordings เร่งวอลุ่มของ NW-A35 จนสุดแล้วก็ยังเสียงดังไม่พอครับ แต่ถ้าเป็นกรณีของหูฟังฟูลไซส์ที่ความไวไม่ต่ำจนเกินไปเช่น Sony MDR-100AAP หรือ Shure SRH-940 จะพบเจอปัญหานี้น้อยกว่าครับ

เสียงรายละเอียดสูงในราคาเบาๆ
อ่านถึงตรงนี้ บางท่านอาจสงสัยว่าผมจะมาเคี่ยวเข็ญหรือจริงจังอะไรกับ DAP ราคาย่อมเยาอย่างนี้ เข้าใจนะครับว่าคงไม่ย่อมเยาสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนเล่นเครื่องเสียงแล้วราคานี้เผลอๆ ยังซื้อสายลำโพงหรือสายยูเอสบีเกรดไฮไฟไม่ได้เลย

คืออย่างนี้ครับ ผมลองฟัง DAP ตัวนี้แล้วพบว่าในขณะที่ใช้หูฟังอินเอียร์ตัวเล็กๆ มันเสียงดีใกล้เคียงกับ DAP ที่ราคาแพงกว่ามัน 4-5 เท่าตัว ความแตกต่างจะไปปรากฏชัดเจนขึ้นก็ต่อเมื่อเปลี่ยนไปใช้หูฟังฟูลไซส์ที่มีแบนด์วิดธ์กว้างขวาง จึงสามารถแจกแจงหรือฟ้องความแตกต่างออกมาได้มากขึ้นในแง่ของ inner detail เช่น ความลุ่มลึกของการตอบสนองต่อไดนามิกคอนทราสต์ ไดนามิกทรานเชี้ยนต์ หรือว่าการเชื่อมโยงในฮาร์มอนิกส่วนขยายของเสียงหลัก

ปรากฏการณ์เช่นนี้ในวงการเครื่องเสียงเราถือว่าไม่ได้เกิดขึ้นกันบ่อยๆ กับของดี (เกินตัว) ในราคาประหยัดอย่างนี้ เพราะเสียงอย่างนี้ถ้าเทียบกันบาทต่อบาทแล้วล่ะก็ผมบอกได้เลยว่ามันเป็น DAP ที่มีผลงานคุ้มค่าตัวชนิดหาตัวจับได้ยากนัก จะบอกว่าสุดคุ้มระดับ ‘Best Buy’ ก็คงไม่เกินความจริงนักหรอกครับ ยิ่งเมื่อได้ฟังไฟล์เพลงรายละเอียดสูง หลายวาระที่ผมแอบตั้งคำถามว่าวิศวกรโซนี่ทำได้อย่างไร?

อย่างเช่นไฟล์ 96kHz/24bit อัลบั้ม Band on the Run ของ Paul McCartney and Wings รายละเอียดที่ได้ยินจากเอาต์พุตหูฟังของ NW-A35 ทำให้ผมนึกถึงเสียงจากชุดเครื่องเสียงราคาเรือนแสนที่ผมเคยฟังเมื่อหลายปีก่อน มันเป็นรายละเอียดเสียงที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ แจกแจง เวทีเสียงกว้างขวาง ฟังสบายหู บาลานซ์ของเสียงในภาพรวมถือว่าดีมาก ทั้งหมดนี้ส่งผลให้อารมณ์ของเพลงได้รับการถ่ายทอดออกมาได้เต็มเปี่ยม ฟังแล้วคล้อยตามอารมณ์ของดนตรีได้ง่ายมาก…

พูดก็พูดเถอะครับเสียงจากเอาต์พุตหูฟังของ USB DAC ราคาหลักหมื่นหลายตัว เอาเป็นว่ากิน DAP ราคาหลักพันตัวนี้ไม่ลงก็แล้วกัน! โดยเฉพาะในเพลง ‘Mamunia’ และ ‘No Words’ ที่มีอารมณ์เพลงต่อเนื่องกันแต่สีสันของดนตรีมีการแปรเปลี่ยนไป

อัลบั้มไฮเรสฯ ชุดนี้ฟังดีสุดๆ กับ NW-A35

สำหรับไฟล์ DSD ตัวอย่างเพลงที่ผมได้ลองฟังกับ NW-A35 คืออัลบั้ม Appalachian Journey โดย Yo Yo Ma, Edgar Meyer และ Mark O’Connor งานชุดนี้บันทึกเสียงเป็น DSD ตั้งแต่ต้นเมื่อมาเปิดฟังเครื่องเล่นของโซนี่เสียงที่ได้ฟังเผินๆ แทบไม่รู้สึกเลยว่านี่ไม่ใช่การเล่นแบบ Native DSD จนกระทั่งได้ฟังโดยละเอียดเทียบกับการเล่นแบบ Native DSD จาก Questyle QP1R ที่ผมใช้งานอยู่ จึงพบว่าเสียงของ NW-A35 ขาดรายละเอียดไปบ้างในส่วนของความเป็นสามมิติของเสียง และฮาร์มอนิกในช่วงปลายๆ ความถี่เสียงทุ้มและแหลม

โดยสรุปคือมันสามารถเล่นไฟล์ DSD ได้จริงและเสียงดีพอสมควร ไม่เสียของ ไม่มีการสะดุด กระตุกหรือเสียจังหวะของดนตรี แต่ต้องยอมรับว่าสุ้มเสียงจะหย่อนลงมา มิตงมิติจะแบนลง ทว่าสำหรับ DAP ค่าตัวแค่นี้บอกเลยว่ามันสอบผ่านครับ แต่ผ่านแบบปริ่มๆ แค่พอเอาตัวรอดนะครับ

มาตรฐานใหม่ DAP ในกลุ่มราคาจับต้องได้
ถ้าพูดถึงแบรนด์ที่ใครๆ ก็รู้จักอย่างโซนี่ ต้องยอมรับว่าลูกค้าที่เป็นกลุ่มใหญ่หรือเป็นฐานพีระมิดก็คือตลาดในกลุ่ม entry level หรือระดับเริ่มต้น เมื่อปีกลายโซนี่ได้คลอดสินค้าในกลุุ่มนี้ออกมาจากห้องวิจัยหลายรุ่น แต่ละรุ่นเห็นว่าทำการบ้านมาดีถึงดีมาก ในเวลานั้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับราคาใกล้เคียงกันมันแทบจะไม่มีจุดอ่อนเลย

หนึ่งในนั้นคือเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาตระกูล NW-A20 Series เวลาผ่านมาราวๆ 1 ปี โซนี่ทำให้จุดอ่อนที่แทบไม่ปรากฏใน NW-A20 Series ถูกเปิดโปงโดยเครื่องเล่นรุ่นใหม่อย่าง NW-A30 Series ที่ให้อะไรมากกว่าในราคาที่ขยับขึ้นแบบเกรงใจ๊เกรงใจ

จากที่ได้ลองเล่นลองฟังเสียงกันมาผมคิดว่า NW-A35 คือตัวแทนใหม่โดยสมบูรณ์แบบสำหรับ DAP ระดับเริ่มต้นจากโซนี่ มันอาจจะไม่ได้มีอรรถประโยชน์อย่างสมาร์ทโฟน แต่ถ้าคุณเน้นที่เรื่องของการฟังเพลงและคุณภาพเสียงเป็นหลัก ผมไม่เห็นว่า NW-A35 จะเป็นรองสมาร์ทโฟนตัวไหนในโลกนี้

มันทำให้ผมไม่เห็นด้วยเลยที่ในเวบไซต์ของโซนี่เรียกมันว่า ‘เครื่องเล่น MP3’ การรองรับ Hi-Res Audio ของ NW-A35 ไม่ใช่แค่ ‘เล่นได้’ แต่ยัง ‘เสียงดี’ ด้วยโดยเฉพาะกับไฟล์ฟอร์แมต PCM และไม่ได้ขี้เหร่อะไรกับการเล่นไฟล์ฟอร์แมต DSD ฉะนั้นถ้าหากคุณต้องการทราบว่า Hi-Res Audio นั้นมีดีอะไร นี่อาจจะเป็นการลงทุนที่ประหยัดที่สุดแล้วก็ได้ครับ… เพราะทุกอย่างมันเบ็ดเสร็จ ง่ายและสำเร็จรูปอยู่ในเครื่องเล่นรุ่นนี้แล้ว


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด (ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์:)
โทร 0-2715-6100
โทรฟรี: 1800 231991 (เฉพาะเบอร์บ้านในต่างจังหวัด)
ราคา : 7,190 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ