fbpx
RECOMMENDEDREVIEW

รีวิว EDIFIER : STAX SPIRIT S3 “หูฟังไร้สายพลานาร์แมกเนติกที่เกิดมาเพื่อขาย (คุณภาพ) เสียง ในราคาจับต้องได้”

ส่วนตัวยอมรับว่าเมื่อก่อนผมเคยรู้สึกเฉย ๆ หรือออกจะมองข้ามผลิตภัณฑ์ในกลุ่มหูฟังของยี่ห้อ EDIFIER อาจเป็นเพราะว่าที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าแบรนด์นี้เขาไม่ได้มีสินค้าหูฟังที่โดดเด่นนัก อีกเหตุผลหนึ่งที่พอจะอธิบายได้ก็คือ ผมยังไม่เคยฟังหูฟังของยี่ห้อนี้เลย

ทว่าหลังจากที่ได้รีวิวหูฟังไร้สายรุ่น NeoBuds Pro ของ EDIFIER ไปแล้ว ผมก็รู้สึกสนใจหูฟังของยี่ห้อนี้มากขึ้น ด้วยเหตุผลนี้เมื่อทราบว่า EDIFIER เขามีหูฟังรุ่นใหม่ออกมามีชื่อรุ่นว่า ‘STAX SPIRIT S3’ เป็นหูฟังไร้สายแบบครอบหู แถมยังมีชื่อของผู้ผลิตหูฟังชื่อดังที่ผมรู้จักมาเนิ่นนานอย่างยี่ห้อ STAX ‘สแตกซ์’ และยี่ห้อ Audeze ‘ออเดซซี’ มาเกี่ยวข้องด้วย ผมจึงไม่รอช้าที่จะขอทำความรู้จักมันให้มากขึ้น

หูฟังไร้สาย + ไดรเวอร์พลานาร์แมกเนติก
หนึ่งในจุดขายหลักของ EDIFIER STAX SPIRIT S3 นั่นคือการเลือกใช้งานตัวขับเสียงหรือยูนิตไดรเวอร์แบบแผ่นฟิล์มหรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า ‘พลานาร์แมกเนติก (Planar Magnetic)’

โดยพื้นฐานแล้วไดรเวอร์ชนิดนี้ทำงานโดยอาศัยการเหนี่ยวนำของแม่เหล็กแรงสูงและตัวนำไฟฟ้าที่ฉาบอยู่บนแผ่นฟิล์มบาง ๆ มีจุดเด่นในเรื่องของการตอบสนองต่อสัญญาณเสียงได้อย่างรวดเร็ว สามารถถ่ายทอดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ออกมาได้ดีเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับไดรเวอร์แบบไดนามิกทั่วไป

ซึ่งที่อยู่ในหูฟังรุ่นนี้ทางผู้ผลิตเขาก็คุยว่ามันแอดวานซ์มากขึ้นไปอีก เพราะว่าได้พัฒนาให้เป็นไดรเวอร์พลาร์นาร์แมกเนติกที่มีความเพี้ยนต่ำ (Ultra Low Distortion Planar Magnetic Drivers) แถมยังตอบสนองไดนามิกของเสียงได้ดีด้วยในเวลาเดียวกัน โดยในหูฟังรุ่นนี้เลือกใช้ไดรเวอร์พลานาร์แมกเนติกขนาด 89mm x 70mm มีช่วงตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 10Hz~40KHz

Review EDIFIER STAX SPITIR S3 Planar Magnetic wireless headphones

ด้วยวิถีโลกสมัยใหม่ที่มีการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์เพื่อพัฒนาสินค้าที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ร่วมกัน EDIFIER เองก็ไม่ได้พัฒนาไดรเวอร์พลาร์นาร์แมกเนติกในหูฟังรุ่นนี้โดยลำพังทว่าได้ร่วมมือกับ Audeze ผู้ผลิตหูฟังพลานาร์ฯ ชื่อดังในการพัฒนาตัวไดรเวอร์มาใช้กับหูฟังไร้สายรุ่นนี้

ว่าไปตั้งแต่เรื่องของการออกแบบตัวไดอะแฟรมหรือชิ้นส่วนสำคัญที่มีหน้าผลักอากาศเพื่อให้เกิดเป็นคลื่นเสียงที่มีชื่อเรียกว่า EqualMass™ Diaphragm รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ได้รับการแบ่งปันมาจาก Audeze ไม่ว่าจะเป็น Uniforce™ Diaphragm ที่ช่วยให้เสียงที่ถ่ายทอดออกมามีความเพี้ยนต่ำ, ระบบแม่เหล็กแบบ Fluxor™ ที่ช่วยให้เสียงที่ได้มีรายละเอียดดีและตอบสนองความถี่ได้กว้าง

หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่ทาง Audeze ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบคลื่นเสียงด้านหน้าไดอะแฟรมที่เป็นระนาบแผ่นฟิล์มบาง ๆ อย่าง Fazor™ Phase Management ที่ช่วยให้ได้เสียงสะอาดมากขึ้น สามารถถ่ายทอดรายละเอียดและมิติเสียงได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับหูฟังแบบพลานาร์ทั่ว ๆ ไป ก็ยังมารวมอยู่ในไดรเวอร์ของหูฟังรุ่นนี้ด้วยเช่นกัน

Review EDIFIER STAX SPITIR S3 Planar Magnetic wireless headphones

นอกจากตัวไดรเวอร์แล้ว เทคโนโลยีเชื่อมต่อไร้สายในหูฟังรุ่นนี้ยังเป็นเทคโนโลยี Bluetooth 5.2 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเวอร์ชันที่ทันสมัยที่สุดในเวลานี้สำหรับสินค้าในกลุ่มคอนซูมเมอร์

นอกจากนั้นมันยังมาพร้อมกับเทคโนโลยี Qualcomm® Snapdragon Sound™ และ aptX Adaptive Codec ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไร้สายแบบ hi-res ด้วย รวมทั้ง Bluetooth Codec อื่น ๆ อย่าง aptX, aptX HD และ SBC

มีข้อสังเกตว่าในรายชื่อ Bluetooth Codec ข้างต้นนั้นไม่มี AAC รวมอยู่ด้วย ดังนั้นคนที่ใช้อุปกรณ์ iOS หรือ iPadOS ซึ่งปัจจุบันยังคงยึดติดอยู่กับ AAC Codec อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากหูฟังรุ่นนี้เท่าที่ควรนะครับ

เทคโนโลยีไร้สายในหูฟังรุ่นนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อ Multi-Point Connectivity อุปกรณ์ได้ 2 ตัวพร้อมกัน สามารถสลับใช้งานระหว่างสองอุปกรณ์ได้

สำหรับแบตเตอรี่ในตัวหูฟังนั้นสามารถใช้งานได้นานถึง 80 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าแบตอึดมาก ๆ สำหรับหูฟังไร้สาย นอกจากนั้นตัวหูฟังยังรองรับการชาร์จเร็ว ซึ่งใช้เวลาชาร์จเพียง 10 นาทีก็สามารถใช้งานได้นานถึง 11 ชั่วโมง

ปัจจุบัน EDIFIER STAX SPIRIT S3 มีจำหน่ายในประเทศไทยแล้วในราคา 12,900 บาท มีจำหน่ายที่ 425 Degree: https://bit.ly/3QRZjrc, Jaben: https://bit.ly/3OSZAZb และ Zoundaholic: https://bit.ly/3nMtkLX

ลองใช้งานเบื้องต้น
อุปกรณ์เสริมมาตรฐานที่ให้มาด้วยกับหูฟัง EDIFIER STAX SPIRIT S3 ประกอบไปด้วยกระเป๋าเก็บหูฟังที่มีรูปทรงและวัสดุแลดูคุ้นตามาก ๆ สำหรับผม เพราะว่ามันดูคล้ายกระเป๋าใส่หูฟัง Audeze LCD-1 จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นฝาแฝดกันเลยทีเดียว

อุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มาด้วยยังมีสายชาร์จ USB-C (ขั้วต่อ USB-A to USB-C) สายสัญญาณสำหรับเชื่อมต่อใช้งานเป็นหูฟังแบบเสียบสาย (ขั้วต่อ 3.5mm to 3.5mm ตัวสายห่อหุ้มด้วยเส้นใยถัก) และอะแดปเตอร์แปลงขั้วต่อ 3.5mm เป็น 6.3mm

นอกจากนั้นทาง EDIFIER ยังให้แผ่นรองหูหรือเอียร์แพดเสริมมาอีกคู่หนึ่งสำหรับให้เลือกเปลี่ยนใช้งาน (เอียร์แพดของหูฟังรุ่นนี้สามารถถอดเปลี่ยนได้) ตัวเอียร์แพดเสริมนั้นเป็นเอียร์แพดทที่มีผิวสัมผัสเป็นผ้าเนื้อนุ่มและระบายความร้อนได้ดีกว่าเอียร์แพดหนังแกะมาพร้อมกับตัวหูฟัง

วิธีการเปลี่ยนเอียร์แพดนั้นแค่ใช้ตัวงัด (แงะ) ที่มีหน้าตาคล้ายปิ้กกีตาร์ซึ่งมีให้มาด้วยในกล่องค่อย ๆ แงะและงัดไปที่รอบขอบเอียร์แพดส่วนที่ยึดกับตัวเอียร์คัป (กรอบของหูฟัง) เพื่อทำการปลดล็อคหมุดพลาสติกขนาดเล็กสี่ตัว

เวลาใส่กลับเข้าไปก็แค่กดหมุดให้ลงล็อคทั้งสี่จุด ไม่แนะนำให้ปลดล็อคด้วยการดึงที่ตัวเอียร์แพดโดยตรงเพราะอาจทำให้เอียร์แพดฉีกขาดหรือมีอายุใช้งานสั้นลงได้

Review EDIFIER STAX SPITIR S3 Planar Magnetic wireless headphones
อุปกรณ์มาตรฐานที่มาพร้อมกับหูฟัง (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

ตัวหูฟังมีขนาดปานกลางแต่มีน้ำหนักค่อนข้างมากคือตามสเปคฯ อยู่ที่ 329 กรัม เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวไดรเวอร์แบบพลานาร์แมกเนติก อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากแบตเตอรี่และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในตัวหูฟังเอง อย่างไรก็ดีมันยังเบากว่าหูฟังพลานาร์หลายรุ่นโดยเฉพาะหูฟังแบบไร้สายอย่าง HiFiMAN Deva ที่หนัก 360 กรัม หรือแม้แต่หูฟังไร้สายไดรเวอร์แบบไดนามิกอย่าง Apple AirPods Max ซึ่งหนักถึง 384.8 กรัม

หรือแม้แต่หูฟังไดนามิกพาสสีฟแบบเสียบสายที่ไม่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ในตัวบางรุ่นก็ยังหนักพอ ๆ กันหรือน้ำหนักมากกว่า EDIFIER STAX SPIRIT S3 อย่างเช่น Shure SRH-940 หรือ Rode NTH-100 ที่มีน้ำหนักมากถึง 320 กรัมและ 350 กรัม ตามลำดับ (ไม่รวมสายหูฟัง)

EDIFIER STAX SPIRIT S3 เป็นหูฟังไร้สายระดับพรีเมียมสมัยใหม่ที่ไม่มีระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอคทีฟ ไม่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับการสวมใส่ และมีไมโครโฟนมาให้ใช้งานแค่ตัวเดียว โดยมาพร้อมกับเทคโนโลยี Qualcomm® aptX™ Voice ที่อ้างว่าช่วยเพิ่มคุณภาพเสียงในการโทร (ลองฟังทดสอบคุณภาพเสียงได้ในคลิปวิดีโอประกอบบทความนี้)

Review EDIFIER STAX SPITIR S3 Planar Magnetic wireless headphones
ช่องเปิดเล็ก ๆ ที่ด้านบนของหูฟังทั้งสองข้าง เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจูนเสียง (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)
Review EDIFIER STAX SPITIR S3 Planar Magnetic wireless headphones
ปุ่มควบคุมและขั้วต่อสายหูฟังที่เอียร์คัปด้านขวา (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

สำหรับปุ่มควบคุมที่ตัวหูฟังนั้นก็เรียบง่ายครับ มีแค่ 3 ปุ่ม ปุ่มเพิ่มเสียง ปุ่มลดเสียง และปุ่มมัลติฟังก์ชัน แต่การใช้งานนั้นเข้าใจง่ายและสะดวกเหมือนกันครับ ถ้าเล่นหรือหยุดเพลงให้กดครั้งเดียว สำหรับการข้ามไปคอนเทนต์ถัดไปสามารถทำได้โดยการกดปุ่มลดเสียงค้างไว้ แต่ถ้าต้องการย้อนคอนเทนต์กลับหลังให้กดปุ่มเพิ่มเสียงค้างไว้ (ลองใช้จนคุ้นมือก็สะดวกดีนะ)

เช่นเดียวกับหูฟังไร้สายรุ่น NeoBuds Pro หูฟังรุ่นนี้ก็สามารถใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน Edifier Connect ในสมาร์ทโฟนได้ด้วย โดยเมื่อใช้งานเราสามารถดูระดับของพลังงานแบตเตอรี่ในตัวหูฟังได้ เราสามารถปรับชดเชยเสียงของการเปลี่ยนชนิดของเอียร์แพดได้ เลือกฟังก์ชันสำหรับการกดปุ่มมัลติฟังก์ชันสองครั้งหรือสามครั้ง ตลอดจนการตั้งค่าส่วนอื่น ๆ (ดูรายละเอียดในคลิปวิดีโอในบทความนี้)

อีกส่วนที่สำคัญเนื่องจากเกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียงโดยตรงนั่นคือการเลือกตั้งค่า Sound Effect หรือที่จริงแล้วก็มี Preset EQ เพื่อเลือกแนวเสียงให้กับตัวหูฟังนั่นเอง โดยมี 3 ตัวเลือกได้แก่ Classic, Hi-Fi และ STAX ส่วนตัวแล้วผมชอบเสียงที่ตัวเลือก Classic ซึ่งเป็นค่าดีฟอลต์มากที่สุด เพราะว่ามีสมดุลเสียงตลอดย่านความถี่ดี ฟังแล้วไม่รู้สึกขาด ๆ เกิน ๆ

สำหรับตัวเลือก Hi-Fi นั้นเสียงทั้งหมดฟังดูกระชับ มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น แต่ขาดความผ่อนปรนในลักษณะของการตอบสนองต่อไดนามิกคอนทราสต์ไปสักนิด อาจดีกับเพลงบางแนวแต่ไม่ใช่ตัวเลือกที่ผมชอบ

Review EDIFIER STAX SPITIR S3 Planar Magnetic wireless headphones
เมื่อใช้งานกับแอปฯ Edifier Connect (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

ในขณะที่โหมด STAX นั้นเข้าใจว่าทาง EDIFIER ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์ STAX ผู้ผลิตหูฟังอิเล็กโตรสแตติกระดับไฮเอนด์ชื่อดัง พยายามจะผสานความเป็น STAX เข้ามาเพื่อเพิ่มมูลค่าของหูฟังไร้สายรุ่นนี้ จึงได้เพิ่ม Preset EQ ที่พยายามเลียนเสียงของหูฟัง STAX เข้ามาด้วย ทว่าจากที่ได้ลองใช้งานผมคิดว่าน้ำเสียงในภาพรวมที่ได้มันบางไปหน่อย ทำให้ฟังเพลงได้ไม่หลากหลาย

ดังนั้นตัวเลือกนี้อาจไม่มีความไม่จำเป็นครับ เว้นเสียแต่ว่าทาง EDIFIER ต้องการหยิบยืมชื่อและบุคลิกความเป็น STAX ในบางด้าน (โปร่ง เบา พลิ้วไหว) มาใช้เป็นกิมมิคเท่านั้นเอง

สำหรับการใช้งานแบบเชื่อมต่อด้วยสายหูฟังซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถใช้งานกับอุปกรณ์เสียงที่ไม่มีเอาต์พุตเป็นระบบไร้สายได้ด้วย เช่น พวกอุปกรณ์บันทึกเสียงพกพาหรือพวกอุปกรณ์ซาวด์อินเทอร์เฟซต่าง ๆ ผมพบว่าหูฟังรุ่นนี้ไม่สามารถใช้งานในรูปแบบของหูฟังแบบพาสสีฟได้แม้ว่าจะเสียบสายหูฟังแล้ว

คือมันยังจำเป็นต้องเปิดการทำงานในส่วนของระบบแอคทีฟในตัวหูฟังด้วยครับ เท่ากับว่าในโหมดเสียบสายก็ยังต้องใช้งานในโหมดแอคทีฟ ยังมีการใช้งานภาคขยายเสียงในตัวหูฟัง มองในแง่ลบคือ ถ้าแบตเตอรี่หมดก็ใช้งานไม่ได้แม้เสียบใช้สายหูฟังแล้ว

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็พบข้อดีอยู่เหมือนกันนั่นคือ เราก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการมองหาแอมป์มาขับ เพราะหูฟังพลานาร์หลายรุ่นขึ้นชื่อว่าขับค่อนข้างยากจนถึงขับยาก บางทีถ้าเป็นอุปกรณ์พกพาตัวเล็ก ๆ หรือสมาร์ทโฟนอาจมีปัญหาขับไม่ออกได้ แต่ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับ EDIFIER STAX SPIRIT S3 อย่างแน่นอน

คุณภาพเสียงและการฟังเพลง
โดยปกติจุดเด่นของตัวขับเสียงแบบพลาร์นาร์แมกเนติกนั้นคือ การตอบสนองทรานเชียนต์ได้ดีเนื่องจากมีไดอะแฟรมหรือส่วนที่ทำหน้าที่ผลักอากาศเพื่อให้เกิดเป็นคลื่นเสียงนั้นเป็นแค่แผ่นฟิล์มบาง ๆ ไม่มีขดลวดวอยซ์คอล์ยซึ่งมีมวลมากกว่าตัวแผ่นฟิล์มเองมาคอยเพิ่มมวลที่ต้องเคลื่อนไหว (moving mass) ทำให้มันสามารถตอบสนองต่อสัญญาณเสียงได้อย่างฉับไว

ไม่ว่าจะเป็นการขยับจากจุดหยุดนิ่ง หรือการยั้งตัวจากการขยับ ทำให้เสียงที่ได้มีจุดเด่นที่ความโปร่งใส ความพลิ้ว ความกระจ่างสดใสโดยเฉพาะในย่านเสียงกลางและกลางสูงขึ้นไป ในขณะที่เสียงโดยรวมมีความกระชับ ความคมชัดเป็นจุดเด่น

Review EDIFIER STAX SPITIR S3 Planar Magnetic wireless headphones
ไดรเวอร์พลานาร์แมกเนติกตัวจริงเสียงจริงใน EDIFIER STAX SPIRIT S3 (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

ซึ่งจากที่ผมได้ลองฟัง EDIFIER STAX SPIRIT S3 หูฟังรุ่นนี้ก็มีลักษณะดังกล่าวอย่างครบถ้วนนะครับ รายละเอียดเสียงดีมาก แบนด์วิดธ์เสียงกว้างขวาง สมดุลเสียงค่อนข้างเป็นกลาง เสียงสะอาด คมชัด มิติเสียงดีเยี่ยม

ขณะที่การตอบสนองความถี่นั้นสามารถถ่ายทอดเสียงทุ้มออกมาได้กระชับแน่น ขณะที่มวลเนื้อเสียงเองก็ไม่ได้บางเบาแต่อย่างใด เรียกว่าสามารถใช้ฟังเพลงป๊อปทั่วไป ป๊อปร็อค เพลงร้อง คลาสสิก แจ๊ซหรือแนวอะคูสติก ได้สบาย ๆ ผมเองใช้งานแล้วไม่รู้สึกว่าต้องปรับตัวหรือว่าต้องทำใจยอมรับข้อบกพร่องอะไรมากมาย

หากว่าเพลงหรือดนตรีนั้นบันทึกเสียงมาได้ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย คุณลักษณะต่าง ๆ ในน้ำเสียงนั้นจะพรั่งพรูออกมาโดยไม่มีลักษณะของความรุกเร้าจนเกินควร รายละเอียดเหล่านั้นสามารถได้ยินชัดเจนเป็นพิเศษ ได้ยินโดยไม่ต้องตั้งใจฟัง (ตัวอย่างเพลงที่ผมคัดเลือกเอาไว้ในระว่างการรีวิวหูฟังรุ่นนี้ https://tidal.com/playlist/4a173905-343d-4416-b749-990148e5e573)

Review EDIFIER STAX SPITIR S3 Planar Magnetic wireless headphones

Review EDIFIER STAX SPITIR S3 Planar Magnetic wireless headphones

อย่างเช่น เสียงร้องของ Jane Monheit ในเพลง ‘Let’s Talks A Walk’ จากอัลบั้ม Come What May (TIDAL Lossless) หรือเสียงของ Tony Bennett และ Lady GaGa ในเพลง ‘Love For Sale’ ในอัลบั้มชื่อเดียวกับเพลง (TIDAL Master) รายละเอียดที่ผมได้ยินแทบมองเห็นปากของนักร้องเลยล่ะครับ เสียงเบส เสียงเปียโน เสียงกีตาร์ รวมทั้งเครื่องเป่านั้นออกมาคมชัดสดใสมาก ๆ

ในด้านของไดนามิกคอนทราสต์ซึ่งเป็นจุดเด่นของไดรเวอร์จำพวกแผ่นฟิล์มเช่นกัน ผมอยากให้ลองฟังเพลง ‘Dvořák: 8 Humoresques, Op. 101, B. 187 – No. 7 Poco Lento e grazioso’ จากอัลบั้ม Anne Sophie Mutter: Great Recordings (TIDAL Lossless) น้ำหนักอ่อน-แก่ของคันชักที่ลงน้ำหนักไปบนสายไวโอลินถูกถ่ายทอดผ่านไดรเวอร์พลานาร์แมกเนติกของหูฟังรุ่นนี้ออกมาได้น่าทึ่งมากครับ มันเหมือนภาพสีที่สามารถไล่น้ำหนักและเฉดสีออกมาได้จำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วน

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ มันเป็นหูฟังที่ให้เวทีเสียงกว้างขวางด้วยครับแม้ว่าจะเป็นหูฟังระบบปิดหลังก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นในเพลง ‘Imperial March (From “Star Wars: The Empire Strikes Back”)’ จากอัลบั้ม John Williams in Vienna และ ‘Raider’s March (From “Indiana Jones and the Raiders of the Lost Ark”)’ ที่สตรีมจาก TIDAL Master

ผมนี่เปิดดังเท่าที่หูยังสามารถรับฟังได้เลยครับ แบบว่ามันสะใจมาก อารมณ์เดียวกันเวลานั่งฟังชุดเครื่องเสียงดี ๆ รายละเอียดมันออกมาพร่างพราวไปหมด เวทีเสียงไม่มีคำว่าอุดอู้หรือทึบเลย รายละเอียดของเครื่องดนตรีต่าง ๆ ในวงซิมโฟนีออเคสตราแบบว่ามันลอยออกมาให้ฟังกันแบบจะ ๆ เลยทีเดียว อย่างใน Raider’s March นี่เครื่องเป่าจำพวกแตรฝรั่งต่าง ๆ เวลามันโหมขึ้นมานี่บอกเลยว่า ‘โคตรมัน’ ซึ่งทั้งหมดนี้บอกกันอีกทีว่าการฟังแบบไร้สายด้วยนะครับ !

ส่วนตัวผมชอบนะครับที่มันเป็นหูฟังระบบปิดหลัง เพราะนั่นหมายความว่าผมสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเสียงจะไปรบกวนคนรอบข้าง ใช้งานแบบเอาต์ดอร์ก็ไม่มีปัญหา เวลาใช้งานในโหมดเสียบสายก็สามารถใช้งานกับอุปกรณ์ประเภทซาวด์อินเทอร์เฟซได้โดยไม่ต้องกลัวว่าเสียงจากหูฟังจะรั่วไหลออกไปตีกับไมโครโฟน ดังนั้นเพื่อน ๆ พี่ ๆ หรือน้อง ๆ สามารถเอาไปใช้เป็นหูฟังตอนทำไลฟ์ ทำพอดแคสต์ หรือเอาไปใช้ประชุมออนไลน์ได้เลยครับ

สำหรับการเชื่อมต่อบลูทูธแม้ว่าการเชื่อมต่อในโหมด Codec เสียงที่ดีที่สุดอย่าง aptX Adaptive นั้น อาจจำเป็นต้องอาศัยสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์เล่นเพลงที่รองรับเทคโนโลยี Qualcomm® Snapdragon Sound™ ด้วยอย่างเช่น Xiaomi 12 Pro (ดูเพิ่มเติมหรืออัปเดตล่าสุดได้ที่นี่) ทว่าการใช้งานโหมดบลูทูธอื่น ๆ ก็ไม่ได้ส่งผลกับคุณภาพเสียงของหูฟังรุ่นนี้มากมายครับ หมายความว่าเรายังสามารถรับรู้ได้ถึงคุณภาพเสียงที่ดี และประสิทธิภาพของไดรเวอร์แบบพลานาร์อยู่อย่างครบถ้วนครับ

STAX SPIRIT S3 เหมาะกับใคร ?
ผมรู้สึกว่านี่คือหูฟังที่เกิดมาเพื่อขาย (คุณภาพ) เสียงเป็นหลัก ในมุมมองของคนเล่นเครื่องเสียงไฮไฟผมคิดว่ามันเป็นหูฟังไร้สายที่เสียงดีมาก ๆ ครับ โดยมีระบบไร้สายช่วยอำนวยความสะดวกให้เหมาะกับการใช้งานในยุคสมัยนี้มากยิ่งขึ้น

Review EDIFIER STAX SPITIR S3 Planar Magnetic wireless headphones

สำหรับคนที่กำลังมองหาหูฟังไร้สายเสียงดี (มาก) สักตัวหนึ่งไปใช้งานจริงจังหรือเพื่อความบันเทิงส่วนตัว ไม่แคร์ว่าต้องมีระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอคทีฟ ไม่แคร์ว่าจะต้องมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการสวมใส่ ไม่แคร์ว่าจะต้องมีโหมดจำลองเสียงโอบล้อมรอบทิศทาง ไม่แคร์ว่าเมื่อใช้งานในโหมดเสียบสายแล้วยังจำเป็นต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ในตัวหูฟัง (ซึ่งความจริงแบตมันอึดมาก) นี่คือ หูฟังที่คุ้มค่าการลงทุนทุกบาททุกสตางค์ครับ ผมเองรีวิวแล้วยังอยากมีไว้ใช้งานส่วนตัวเลย ! (จริงจัง)


EDIFIER STAX SPIRIT S3 ราคา 12,900 บาท มีจำหน่ายที่
✅ 425 Degree:
https://bit.ly/3QRZjrc
✅ Jaben: https://bit.ly/3OSZAZb 
✅ Zoundaholic: https://bit.ly/3nMtkLX

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ