fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

Dolby Vision หรือ HDR10 เลือกแบบไหนดีกว่ากัน?

ใครก็ตามที่จะซื้อทีวี 4K UHD ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างสูง คงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกระบบ HDR (High Dynamic Range) แบบไหน ไม่ว่าคุณจะต้องการมันหรือไม่ คำแนะนำคือ หากคุณมีกำลังจ่ายควรที่จะมีมันไว้

สิ่งแรกที่จะต้องดูก็คือ คุณจะเลือก HDR ประเภทไหน HDR10 หรือ Dolby Vision หรือทั้งคู่ จากนั้นควรตรวจสอบให้แน่ใจซะก่อนว่าทีวีของคุณไม่เพียงรองรับได้แค่ระบบที่คุณต้องการเท่านั้น ควรจะดูว่ารองรับแล้วมันทำได้ดีแค่ไหน

หลังจากที่ได้ลองทดสอบเปรียบเทียบคุณภาพด้านต่างๆ ของ HDR10 กับ Dolby Vision ที่ติดอยู่ในเครื่องรับโทรทัศน์กันไปบ้างแล้วนั้น สรุปในเบื้องต้นได้ว่า Dolby Vision ให้ภาพที่ดีกว่ามาก ทั้งในส่วนของสีสันที่สมจริงยิ่งกว่า รายละเอียดบนพื้นที่สว่างและมืดของแต่ละฉากดีกว่า ไหนจะคอนทราสต์ก็ยังดีกว่าด้วย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า HDR10 นั้นไม่มีคุณค่าอะไรเลย อีกทั้งทีวีที่รองรับ Dolby Vision อย่างไรก็จะรองรับ HDR10 ด้วย อีกทั้ง HDR10 นั้นให้ภาพที่ดีกว่าสัญญาณภาพมาตรฐานทั่วไป (SDR) อย่างเห็นได้ชัดหากใช้งานอย่างเหมาะสมกับทีวีที่คุณภาพดีพอ กับทีวี QLED ของซัมซุงรวมทั้งทีวีอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีควอนตัมดอท ประเด็นนี้เห็นความแตกต่างได้ชัดมาก

Dolby Vision เป็น HDR ที่ดีที่สุดในปัจจุบันจริงหรือ?
Dolby Vision ทำงานโดยให้ทีวีของคุณสตรีมข้อมูลอ้างอิงมาเก็บไว้เพื่อเตรียมพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทีวีสามารถแสดงผลในแต่ละฉากออกมาได้ดีที่สุด

ในบางครั้งการควบคุมดังกล่าวจะปรับปรุงคุณภาพกันอย่างละเอียดลงไปจนถึงระดับเฟรมเป็นผลให้ Dolby Vision ให้ภาพที่ดีกว่า HDR10 ไม่ว่าจะเป็นในฉากกลางวัน ฉากกลางคืน และฉากอื่น ๆ

Dolby Vision จะเปิดโอกาสให้ถ่ายทอดความละเอียดของสีสันได้ถึงระดับ 12 บิต เหนือกว่า HDR10 และ HDR10+ ที่ให้ความละเอียดของสีสันได้สูงสุดเพียงแค่ 10 บิต

แต่ในขณะนี้ทีวีที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไปยังไม่รองรับสีสันระดับ 12 บิต โดยทาง Dolby ยืนยันว่า Dolby Vision สามารถลดระดับการทำงานลงมาให้อยู่ในระดับ 10 บิต แต่ก็ยังคงให้ความถูกต้องที่ดีกว่าได้

ภาพทางด้านล่างเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงคุณภาพของภาพผ่านทางช่อง HDMI ด้วยมาตรฐาน lefr (Licensing Administrator’s comparison of standard dynamic range) โดยภาพตรงกลางเป็น HDR แบบที่ใช้ข้อมูลในการเปรียบเทียบแบบคงตัว (HDR10) และภาพทางด้านขวาเป็น HDR แบบที่ใช้ข้อมูลการเปรียบเทียบแบบปรับเปลี่ยนตลอดเวลา (Dolby Vision และ HDR10+)

ลำพังเพียง Dolby Vision ไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้นมาได้ หากแต่ Dolby Labs ได้ทำงานร่วมกับบรรดาผู้ผลิตที่เลือกใช้เทคโนโลยีนี้ซึ่งทำให้ ทีวี แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่เลือกใช้เทคโนโลยีนี้ สามารถถ่ายทอดประสิทธิภาพในการทำงานออกมาได้ดีที่สุด

ทีวีที่รองรับ HDR จะให้ประสบการณ์อันยอดเยี่ยมของภาพแบบ HDR ได้เสมอไปหรือไม่?
ไม่ใช่ว่าทีวีทุกเครื่องจะมีความสามารถในการประมวลผล HDR นอกเหนือไปจากข้อมูล metadata ที่มันได้รับมา ตัวทีวีจำเป็นต้องมีกระบวนการจัดการกับสีสันและคอนทราสต์สำหรับการแสดงผลในแบบ HDR ได้อย่างถูกต้องด้วย

ไม่เพียงแค่รับสัญญาณมาแล้วแสดงบนจอภาพเท่านั้น เป็นเหตุให้เราอาจเคยเห็นทีวีที่รองรับภาพในแบบ HDR10 แต่สิ่งที่เห็นไม่มีอะไรแตกต่างไปจากมาตรฐานภาพแบบ SDR ทั่วไป

ความแตกต่างของทีวีทั่วไป (SDR) กับทีวีที่รองรับ HDR

Samsung เคยบอกว่า LED TV ต้องให้ความสว่างได้ถึง 1,000 nits ถึงจะสามารถแสดงผลแบบ HDR ออกมาได้ดี แต่ทว่าทีวี P-Series ของ Vizio มีเคล็ดลับในการจัดการกับแสงได้ดีกว่าทำให้ใช้ความสว่างเพียงแค่ 600 nits เท่านั้นอย่างน้อยก็ในส่วนของ Dolby Vision

Hisense และ Sony ทั้งคู่สามารถสร้าง HDR ที่ดีได้ด้วยความสว่างแค่ 700 nits แต่สำหรับทีวีส่วนใหญ่ที่มีความสว่างอยู่ที่ 300 ถึง 400 nits เราอาจไม่เห็นจุดเด่นใด ๆ ของ HDR เลย ในบางกรณีภาพอาจดูแย่ลงไปอีกก็เพราะพยายามปรับให้โทนสีโดยรวมมืดทึบเพื่อให้ส่วนของไฮไลต์เด่นขึ้นมา

HDR ที่ดีนั้นจะให้ภาพเป็นธรรมชาติกว่าทีวีทั่วไป ทั้งรายละเอียดในที่มืดและรายละเอียดในที่แจ้ง

HDR10 + จะมาต่อกรกับ Dolby Vision ได้ไหม?
ตอนนี้ HDR10+ ดูเหมือนจะเข้ามาเป็นแนวรุกแทนที่ HDR10 และได้กลายเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ Dolby Vision เพราะใช้เมตาดาต้าแบบไดนามิกเหมือนกันทั้งยังผลิตผลมาจาก 20th Century Fox, Panasonic และ Samsung

ขณะที่จุดเด่นของ HDR10+ คือการเปิดให้ใช้ฟรีและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ส่วน Dolby นั้นออกนำไปแล้วหลายช่วงตัว อีกทั้งชื่อของ Dolby ยังเป็นที่รู้จักแพร่หลายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แถมยังได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากทางดอลบี้

ซึ่งนั่นทำให้น่าไว้วางใจกว่าทาง HDR10+ ซึ่งการพัฒนานั้นขึ้นตรงอยู่กับกลุ่มนักพัฒนาเพียงทางเดียว มองแล้วจึงไม่ง่ายนักที่ HDR10+ จะหลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวหรือครองใจผู้บริโภคได้ในเวลาอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม Dolby จะเรียกเก็บเงินจากผู้สร้างหนัง ไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องมือในการผลิตและผู้ผลิตจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ นั่นหมายความว่าลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ Dolby Vision ก็ต้องช่วยจ่ายต้นทุนแฝงในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

แต่นั่นก็ไม่สามารถช่วยให้ HDR10+ กลับมาอยู่ในกระแสได้ มันขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้บริโภค

ถึงเวลาที่เหมาะสมในการซื้อทีวีที่รองรับ HDR แล้วหรือยัง?
สำหรับอนาคตอันใกล้นี้ดูเหมือนว่า Dolby Vision น่าจะเป็นภาพลักษณ์ของทีวีระดับพรีเมี่ยม จากเดิมที่เมื่อปีก่อนมันยังมีสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง แต่มาในปีนี้ทราบว่ามีทีวีจำนวนมากในตลาดที่รองรับ Dolby Vision

อีกทั้ง Hollywood ยังตอบรับที่จะผลิตงานที่เข้ารหัสสัญญาณแบบ Dolby Vision ด้วย ไหนจะเป็นเรื่องของคุณค่าในตัวของ Dolby Vision เองที่ทำให้บรรดาผู้ผลิตทีวียอมเสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้ทีวีของตัวเองรองรับ Dolby Vision ด้วย

ขณะที่ HDR10+ ที่ว่ากันว่าเปิดให้ใช้ฟรี ไม่มีข้อผูกมัด ก็ยังคงสร้างความน่าสนใจและอาจจะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายได้ภายในปีนี้เช่นกัน แถมยังไม่ใช่เรื่องยากที่ Hollywood หรือผู้ผลิต TV จะให้การสนับสนุน นอกจากนั้นระบบนี้ยังมีข้อดีที่ตัว metadata มีขนาดค่อนข้างเล็ก

ถ้าว่ากันเฉพาะในเวลานี้ Dolby Vision นั้นโดดเด่นมาก แต่ในอนาคตใครจะรู้ได้ เกมอาจพลิกได้เสมอ ขอให้จับตามองกันอย่างใกล้ชิด

สำหรับท่านที่กำลังจะจ่ายเงินเพื่อทีวีเครื่องใหม่แล้ว อย่าได้ตื่นตะหนกกับสิ่งที่จะเกิดต่อไป คุณควรไปที่ร้านขายทีวีแล้วมองดูความแตกต่างด้วยตาของคุณเอง ในปัจจุบันมีหนังแผ่น Blu-ray Ultra HD จำนวนมากที่สนับสนุน HDR10 และ Dolby Vision ให้ลองเล่นฉากเดียวกันด้วยทีวีเครื่องเดิม เปรียบเทียบดูความแตกต่างจากทีวีที่คุณหมายตาอยู่

ขอให้คุณโชคดีได้ทีวีที่ถูกใจ

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ