‘WiSA’ เมื่อระบบเสียงรอบทิศทางแท้ ๆ เป็นจริงได้โดยไม่ต้องใช้สายลำโพง!
ในปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีเชื่อมต่อสัญญาณเสียงแบบไร้สาย ‘wireless audio’ ได้พัฒนามาจนถึงจุดที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพเสียง สังเกตได้จากการที่เครื่องเสียงไฮไฟบางยี่ห้อได้เริ่มนำเทคโนโลยีเชื่อมต่อแบบไร้สายเข้ามาบูรณาการกับเครื่องเสียงไฮไฟมากขึ้น และใช้งานมันในแง่มุมที่แตกต่างไปจากเดิม
เครื่องเสียงไฮไฟในทีนี้คือรุ่นที่เน้นคุณภาพเสียงด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่มุ่งหวังแค่เรื่องของความสะดวกเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น ลำโพง DALI รุ่น Callisto หรือ Wharfedale รุ่น Diamond Active A1
ที่ผ่านมาการพัฒนา wireless audio ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับระบบเสียงสเตริโอเป็นหลัก ทว่าล่าสุดเทคโนโลยี wireless audio ได้พัฒนาไปถึงระบบเสียงมัลติแชนเนลเรียบร้อบแล้วครับ
จากนี้ไปคำว่า ‘WiSA’ กำลังจะเป็นศัพท์แสงอีกคำหนึ่งที่คนชอบเครื่องเสียงอย่างเรา ๆ จะได้ยินมันบ่อยมากขึ้น เป็นเทคโนโลยี wireless audio ที่แตกต่างไปจาก Wi-Fi หรือ Bluetooth
‘WiSA’ เป็นเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา ตั้งแต่การเลือกซื้อเครื่องตลอดจนการติดตั้งใช้งานระบบเสียงมัลติแชนเนลในชุดโฮมเธียเตอร์หรือโฮมเอนเตอร์เทน
บางสิ่งที่เคยอยู่ในชุดเครื่องเสียงของเรา เช่น สายลำโพงยาวจำนวนหลายเส้นในระบบเสียงรอบทิศทาง หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบอย่างเอวีรีซีฟเวอร์ ต่อไปนี้อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป
‘WiSA’ คืออะไร… ต้องมีอะไรบ้าง… ใช้งานยังไง… คำตอบทั้งหมดจะอยู่ในเนื้อหาต่อจากนี้เป็นไปต้นไปครับ
Wireless Speaker & Audio
WiSA ย่อมาจากคำว่า Wireless Speaker & Audio เป็นการผสานกันของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และโปรแกรมซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ส่งสัญญาณเสียงดิจิทัลรายละเอียดสูงจากแหล่งกำเนิดเสียงไปยังลำโพงแอคทีฟ (ลำโพงที่มีภาคขยายเสียงในตัว) ได้สูงสุดถึง 8 ตัว โดยใช้สัญญาณดิจิทัล 24bit ที่ sample rate ระดับ 48kHz หรือ 96kHz
นอกจากนั้นมันยังรองรับการถอดรหัสระบบเสียงรอบทิศทาง รวมทั้งระบบเสียงรอบทิศทาง 3 มิติอย่าง Dolby Atmos และ DTS:X ด้วย เทคโนโลยีนี้ทำให้เราสามารถวางลำโพงในระบบเสียงโฮมเธียเตอร์ได้สะดวกมากขึ้น ขอเพียงแค่บริเวณนั้นมีปลั๊กเสียบไฟ เพราะมันไม่ต้องใช้สายลำโพง
หรือในบางกรณีมันอาจไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อย่างเอวีรีซีฟเวอร์เลยด้วยซ้ำไป แค่หาที่วางลำโพง → เสียบปลั๊ก → ตั้งค่านิดหน่อย ก็พร้อมใช้งานแล้ว… เขาว่ามันง่ายขนาดนั้นเลย
ระบบเสียงไร้สายกับความเหมือนที่แตกต่าง
แม้ว่า WiSA จะเป็นเทคโนโลยีระบบเสียงไร้สายเหมือนกับระบบเสียงไร้สายอีกหลาย ๆ แพลตฟอร์ม แต่มันไม่รองรับระบบมัลติรูม และไม่สามารถร่วมใช้งานกับระบบเสียงมัลติรูมอื่น ๆ ได้ มันถูกออกแบบมาให้ส่งสัญญาณเสียงไปยังลำโพงแต่ละตัวในระบบเสียงมัลติแชนเนลเท่านั้น
และลำโพงเหล่านั้นจะต้องมี WiSA Certified รับรองว่าสามารถใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี WiSA ได้ด้วย ลำโพงที่รองรับแค่ Bluetooth หรือ AirPlay/AirPlay 2 จะไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกับระบบ WiSA ได้
ใครที่ต้องการเทคโนโลยี WiSA
จุดเด่นที่สุดของเทคโนโลยี WiSA คือ การเชื่อมต่อที่ไม่ต้องการสายลำโพง ดังนั้นหากคุณต้องการระบบเสียงมัลติแชนเนล ระบบเสียงรอบทิศทางระบบ 5.1 หรือ 7.1 ch ที่มีลำโพงไปวางล้อมรอบตัวอยู่จริง ๆ แต่ติดขัดปัญหาในเรื่องของการเดินสายลำโพงหรือการเก็บสายลำโพงที่ระโยงระยางไปมาให้เรียบร้อย… แน่นอนว่าเทคโนโลยีนี้เกิดมาเพื่อคุณครับ!
นอกจากนั้นแล้วยังอาจตัดปัญหาเรื่องของการแมตชิ่งระหว่างภาคขยายเสียงและลำโพง เพราะลำโพงที่รองรับ WiSA นั้นจะมีภาคขยายเสียงมาในตัวอยู่แล้ว ซึ่งมันถูกออกแบบ-ปรับจูนมาด้วยกันเรียบร้อยจากโรงงานตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ปัญหาเรื่องมิสแมตชิ่งหรือความไม่เข้ากันจึงตัดทิ้งไปได้เลย
นอกจากระบบเสียงรอบทิศทางในโฮมเธียเตอร์แล้ว ในปัจจุบันเทคโนโลยี WiSA มีพันธมิตรร่วมพัฒนาเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังหลากหลายแขนงกว่า 50 ยี่ห้อ
เทคโนโลยีนี้จึงไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะใช้งานอยู่แค่ในระบบเสียงโฮมเธียเตอร์เท่านั้น หากแต่มันยังเปิดกว้างสำหรับระบบเสียงในโฮมเอนเตอร์เทนอื่น ๆ รวมทั้งการเล่นเกมด้วย
อยากใช้ WiSA ต้องทำยังไงบ้าง
หากว่าอยากใช้ WiSA อย่างน้อยก็ต้องมี source หรือแหล่งสัญญาณที่พร้อมใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี WiSA (WiSA Ready) และตัวส่งสัญญาณ WiSA (WiSA transmitter) หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้องเป็นอุปกรณ์แหล่งสัญญาณเสียงที่ได้รับ WiSA Certified โดยตรง อุปกรณ์ที่เหลือก็แค่ลำโพงแอคทีฟที่ได้รับการรับรอง WiSA Certified
อุปกรณ์ที่เป็น WiSA Ready อย่างเช่นทีวีรุ่นใหม่ปี 2019 ของ LG นั้นจะมาพร้อมกับซอฟต์แวร์สำหรับใช้ตั้งค่าและใช้ควบคุมลำโพงต่าง ๆ ในระบบ WiSA แต่ทีวีเหล่านั้นยังไม่มี WiSA transmitter มาในตัว ผู้ใช้จึงต้องซื้อตัวส่งสัญญาณ External USB WiSA Transmitter เพิ่มเติม เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์ในกลุ่ม WiSA Ready อื่น ๆ
แต่สำหรับอุปกรณ์ที่เป็น WiSA Certified อย่างเช่น Q UHD Wireless Media Center ของยี่ห้อ Axiim นั้นในตัวมันจะมีทั้งซอฟต์แวร์ WiSA และตัวส่งสัญญาณมาในตัว ผู้ใช้จึงไม่ต้องการอะไรมาต่อพ่วงเพิ่มเติม นอกจากลำโพงแอคทีฟที่ได้รับ WiSA Certified
ลำโพงแอคทีฟที่ได้รับ WiSA Certified ในปัจจุบันอย่างเช่น ลำโพง Reference WiSA รุ่นใหม่ของ Klipsch หรือลำโพง Bang & Olufsen รุ่น BeoLab 18 จะใช้งานร่วมกันได้กับแหล่งสัญญาณที่รองรับ WiSA นอกจากนั้นมันยังสามารถใช้งานร่วมกับลำโพงที่ได้รับ WiSA Certified ต่างยี่ห้อได้ด้วย
ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีเอวีรีซีฟเวอร์แล้วน่ะสิ
ใช่แล้วครับ หากคุณมีอุปกรณ์ในหัวข้อก่อนหน้านี้ครบถ้วน เอวีรีซีฟเวอร์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งานแล้ว อย่างไรก็ดีหากเรายังต้องการใช้งานเอวีรีซีฟเวอร์ร่วมกับระบบเสียง WiSA ก็สามารถทำได้ เพียงแค่เอวีรีซีฟเวอร์รุ่นนั้นจะต้องได้รับการรับรองให้เป็น WiSA Ready (พร้อมทั้งเพิ่มตัวส่งสัญญาณเข้าไป) หรือไม่ก็ต้องได้รับ WiSA Certified ให้เป็น WiSA A/V receiver
WiSA A/V receiver สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ที่เป็นตัวส่งสัญญาณ WiSA อย่างเช่นทีวีรุ่นใหม่ของ LG, คอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 10 และเครื่องเล่นเกม Xbox
ซึ่งการใช้งาน WiSA A/V receiver ยังมีข้อดีในเรื่องที่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณอินพุตจากอุปกรณ์ภายนอกอื่น ๆ ได้ด้วย นอกจากนั้นยังสามารถใช้งานลำโพงที่เป็น WiSA ร่วมกันกับระบบลำโพงแบบเดิมที่ต้องต่อสายลำโพงได้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี WiSA นั้นรองรับการเชื่อมต่อลำโพงแบบไร้สายเพียงแค่ 8 แชนเนล แต่ในระบบเสียงรอบทิศทางบางชุดเช่น ระบบเสียง Dolby Atmos 7.1.4 ch นั้นต้องการจำนวนช่องสัญญาณมากกว่า 8 แชนเนล
การใช้งาน WiSA A/V receiver เปิดโอกาสให้เราใช้ชุดลำโพงหน้าทั้ง 3 ตัว (หน้าซ้าย, หน้าขวา และเซ็นเตอร์) เป็นลำโพงแบบต่อด้วยสายลำโพงตามปกติ ลำโพซับวูฟเฟอร์ก็ต่อสายสัญญาณตามปกติ
ส่วนลำโพงที่เหลือก็เชื่อมต่อไร้สายด้วยระบบของ WiSA ได้ นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้สามารถใช้ฟังก์ชันในเอวีรีซีฟเวอร์ปรับแต่งเสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่นจุดตัดความถี่ หรือเอฟเฟ็คต์เสียงอื่น ๆ ได้ด้วย
อุปกรณ์ในระบบ WiSA อาจมีคุณสมบัติและฟังก์ชันที่ต่างกันได้
แม้ว่าพื้นฐานของเทคโนโลยีจะเปิดโอกาสให้อุปกรณ์ WiSA แต่ละยี่ห้อสามารถนำมาใช้งานร่วมกันได้ แต่อุปกรณ์แต่ละรุ่นในระบบ WiSA อาจมีคุณสมบัติและฟังก์ชันที่ต่างกันได้
ยกตัวอย่างเช่น Axiim Link อุปกรณ์ WiSA USB transmitter ที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานกับทีวี WiSA Ready ของ LG และอุปกรณ์ WiSA Ready อื่น ๆ จะมาพร้อมกับฟังก์ชันพิเศษที่เพิ่มเข้ามา
อย่างเช่น ระบบ bass management, การปรับระดับเสียงของแต่ละแชนเนล, การปรับชดเชยเสียงของแต่ละแชนเนล และการควบคุมสั่งงานที่สามารถทำได้ผ่านแอปฯ ของ Axiim ในอุปกรณ์สมาร์ทโมบาย เพื่อให้สามารถใช้งานทดแทนเอวีรีซีฟเวอร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่ว่าอุปกรณ์ WiSA USB transmitter ทุกรุ่นจะมีคุณสมบัติเหล่านี้
ส่วนสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การถอดรหัสเสียง แม้ว่าเทคโนโลยี WiSA จะเปิดกว้างสำหรับการถอดรหัสเสียงทั้ง Dolby Digital Plus, Dolby TrueHD, Dolby Atmos, DTS:X หรือ ฟอร์แมตอื่น ๆ ในอนาคต แต่อุปกรณ์ที่เราใช้จำเป็นต้องถอดรหัสเสียงรอบทิศทางเหล่านั้นได้ด้วย เพราะการได้รับ WiSA Certified ไม่ได้หมายความว่าอุปกรณ์นั้นจะถอดรหัสเสียงฟอร์แมตเหล่านั้นได้ทั้งหมด
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ WiSA นั้นเปรียบเสมือนสายลำโพงล่องหน ซึ่งทำหน้าที่เพียงแค่เชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและความสามารถอื่น ๆ ของตัวอุุปกรณ์โดยตรง
เครื่องเสียงและอุปกรณ์รุ่นเก่ามีสิทธิ์ใช้งาน WiSA หรือเปล่า
ในทางทฤษฎีต้องบอกว่า… มีความเป็นไปได้ครับ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่สามารถส่งสัญญาณเสียงออกมาทางพอร์ต USB อย่างเช่น คอมพิวเตอร์, เครื่องเล่นเกมคอนโซล หรือทีวีรุ่นใหม่ ๆ สามารถเพิ่มอุปกรณ์ประเภท USB WiSA transmitter รวมทั้งการอัปเดตเฟิร์มแวร์หรือไดรเวอร์เพื่อให้รองรับการใช้งาน WiSA ได้
โดยปกติแล้วอุปกรณ์อย่างเครื่องเล่นเกม Xbox One ของ Microsoft จะไม่สามารถส่งสัญญาณเสียงออกมาทางพอร์ต USB ได้ ดังนั้นมันจึงไม่สามารถใช้งาน USB WiSA transmitter ทั่วไปได้ แต่กับ Axiim Link WiSA USB Transmitter ซึ่งได้รับการรับรอง Xbox Certified มาโดยตรง จะทำให้ Xbox One สามารถใช้งาน WiSA ได้
นั่นหมายความว่าทางเทคนิคแล้วในอนาคต WiSA ก็น่าจะใช้งานกับเกมคอนโซลอย่างเช่น Playstation 4 หรือ 4 Pro ของ Sony ได้ด้วยเช่นกัน หากมีผู้ผลิตอุปกรณ์ USB WiSA transmitter ที่สามารถเจรจาขอสิทธิ์ในการใช้งานฮาร์ดแวร์ในส่วนนี้กับทางโซนี่ได้
WiSA มีอะไรโดดเด่นกว่าระบบเสียงไร้สายอื่น ๆ
ปัญหาหลัก 2 เรื่องที่มักจะเป็น pain point หรือจุดด้อยของระบบเสียงไร้สายก็คือ ความหน่วงช้า (latency) และการสอดประสานกันอย่างลงตัว (sync)
ปัญหาเหล่านี้หากเกิดขึ้นในระหว่างการฟังเพลง ความหน่วงช้าหรือความเหลื่อมล้ำของช่วงเวลาเพียงไม่กี่ร้อยมิลลิวินาที (ms) อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อเพลงเริ่มเล่นแล้วสัญญาณเสียงที่ส่งต่อกันมาทอด ๆ ก็จะมีความต่อเนื่องกันไปเอง
แต่ว่าถ้าหากเป็นการรับชมวิดีโอหรือภาพยนตร์แล้ว ทุกเสี้ยววินาทีนั้นมีความหมายเพราะนั่นหมายถึง ปัญหาภาพและเสียงที่ไม่ตรงกัน ปัจจุบันเทคโนโลยี WiSA ได้ลดความหน่วงช้านี้ลงเหลือเพียงแค่ 5 มิลลิวินาที ซึ่งการรับชมจะไม่สามารถรู้ได้ถึงความแตกต่างของภาพและเสียงแล้ว
นอกจากนั้นการสอดประสานกันระหว่างลำโพงแต่ละตัวก็จะมีปัญหาคล้ายคลึงกัน อย่างเช่น ถ้าลำโพงข้างซ้ายและขวา ไม่สอดประสานกันอย่างลงตัวแล้ว เราจะได้ยินเสียงที่คล้ายกับเสียงสะท้อน (เอคโค่)
เพื่อเอาชนะปัญหาเหล่านี้ เทคโนโลยี WiSA ได้เลือกใช้ช่องสัญญาณ Wi-Fi ในย่านความถี่ 5GHz ช่วงที่ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างแออัดเพื่อให้สัญญาณถูกรบกวนน้อยที่สุด แตกต่างไปจากสัญญาณ Wi-Fi ความถี่ 2.4GHz หรือ 5GHz ทั่ว ๆ ไป
ในการส่งสัญญาณอุปกรณ์ตัวส่ง จะสแกนช่องความถี่ทั้ง 24 ช่องนี้เพื่อหลีกเลี่ยงจากการรบกวนของสัญญาณ ทั้งยังสามารถย้ายช่องความถี่หนีไปโดยอัตโนมัติเมื่อช่องความถี่เดิมถูกรบกวน นอกจากนั้นแล้วการใช้ความถี่พาหะที่ 5GHz ยังมีข้อดีในเรื่องของแบรนด์วิดธ์สัญญาญทำให้ WiSA สามารถส่งสัญญาณแบบ uncompressed ระดับ 24bit ที่ sample rate สูง ๆ ได้
ข้อด้อยประการเดียวของการใช้คลื่นความถี่พาหะ 5GHz ก็คือ ความแรงของสัญญาณซึ่งทำให้มันส่งไปได้ไม่ไกลมากนักเมื่อเทียบกับความถี่ 2.4Hz ดังนั้นเพื่อให้ความสำคัญกับคุณภาพของเสียงเป็นหลัก การเชื่อมต่อระหว่างตัวส่งสัญญาณและลำโพงในระบบ WiSA จะไม่สามารถส่งกันแบบข้ามห้องได้ นอกจากนั้นการส่งสัญญาณกันภายในห้องเดียวกันก็จำกัดเอาไว้ที่ขนาดห้องไม่เกิน 30 x 30 ฟุต (9.144 x 9.144 เมตร) เท่านั้น
บทสรุปในเบื้องต้น
จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน การพิจารณาคุณภาพของระบบเสียงโฮมเธียเตอร์ที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยสายสัญญาณนั่นจะมีส่วนเกี่ยวข้องกันตั้งแต่แหล่งสัญญาณต้นทาง, ตัวเครื่องเล่น, ตัวถอดรหัสสัญญาณ, ภาคขยายเสียง และลำโพง
ดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นว่า WiSA ไม่เพียงแค่ทำให้ง่ายขึ้นเพราะไม่ต้องมีสายเชื่อมต่อแล้ว แต่ยังทำให้ภาคขยายเสียงและลำโพงรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพราะลำโพงในระบบ WiSA จำเป็นต้องเป็นลำโพงแบบแอคทีฟ ดังนั้นเรื่องความไม่เข้ากันระหว่างภาคขยายเสียงและลำโพงจึงไม่มี และนั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องไปวุ่นวายกับเรื่องแมตชิ่ง
ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป แนะนำให้ศึกษา ติดตามข่าวสารและจับตามองความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีนี้ให้ดีครับ มันมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมในไม่ช้านี้ เพราะว่าใครก็ต้องการคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น และเล่นง่ายขึ้น
หลายบ้านที่ยังลังเลกับการมีโฮมเธียเตอร์เต็มรูปแบบแต่ต้องแลกกับการมีสายลำโพงรกรุงรัง หรือเก็บซ่อนได้ยาก อาจถึงเวลาที่สามารถตัดสินใจลงทุนได้แล้วก็เป็นไปได้ครับ อย่างน้อยผมว่าเจ้า WiSA เนี่ยน่าจะทำให้คุณพ่อบ้านขออนุมัติวีซ่าซื้อเครื่องเสียงใหม่กับคุณแม่บ้านได้ง่ายขึ้นนะครับ