fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

“Widevine DRM” คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับคุณภาพในการสตรีมวิดีโอ

จากที่มีข่าวออกมาว่าสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์สเปคฯ ระดับบนบางรุ่นเช่น Xiaomi Pocophone F1 นั้นไม่สามารถรับชมวิดีโอ “คุณภาพระดับ HD” จากผู้ให้บริการออนไลน์วิดีโอสตรีมมิงชื่อดังอย่างเช่น Netflix, Google Play Movies, Amazon Prime ได้ จึงเป็นที่มาของข้อสงสัยที่ว่า สาเหตุนั้นเกิดจากอะไร?

และทราบหรือไม่ว่า ไม่ใช่แค่สมาร์ทโฟนเท่านั้นที่จะเกิดปัญหานี้ แต่มันอาจเกิดขึ้นได้เช่นกันกับอุปกรณ์อย่าง คอมพิวเตอร์, แล็ปท็อป ด้วยเช่นกัน

สาเหตุหลักที่ทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นถูกปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาในส่วนความละเอียดสูงระดับ HD (หรือที่สูงไปกว่านั้นอย่างเช่น HDR หรือ Dolby Vision) เพราะมันถูกกีดกันจากเทคโนโลยีป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์หรือ Digital Rights Management (DRM) นั่นเอง

เทคโนโลยี DRM ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อหาที่เป็นข้อมูลดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือวิดีโอ ถูกทำสำเนาซ้ำและเอาไปเผยแพร่อย่างผิดกฏหมาย ปัจจุบันนอกจากผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงแล้ว DRM ยังถูกนำไปใช้ในการให้บริการสตรีมมิงเพลงออนไลน์ส่วนใหญ่ด้วย

เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์แอนดรอยด์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ว่าเมื่อนำมาใช้งานมันจะปลอดภัยจากการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ให้บริการออนไลน์วิดีโอสตรีมมิงชื่อดังเหล่านี้จึงได้เลือกใช้แพลตฟอร์มป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ของ Google ที่มีชื่อว่า “Widevine DRM” เข้ามาช่วยทำการคัดกรอง

Widevine DRM ทำงานอย่างไร?
Widevine DRM ได้นำเอาระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมมาใช้ปกป้องเนื้อหาข้อมูลในขณะที่มันกำลังถูกส่งผ่านอินเทอร์เน็ตไปเล่นบนอุปกรณ์ปลายทางของผู้ใช้

กล่าวโดยสังเขปคือระบบนี้จะผสานการทำงานของการเข้ารหัสแบบ Common Encryption (CENC), การแลกเปลี่ยนรหัส licensing key ตลอดจนการปรับเปลี่ยนระดับคุณภาพในการสตรีมข้อมูล เข้ามาจัดการกับกระแสข้อมูลก่อนจะส่งเป็นสัญญาณภาพวิดีโอออกไปให้ผู้ใช้บริการได้รับชม

แนวคิดนี้เป็นการลดภาระทางด้านระบบของผู้ให้บริการ โดยอาศัยการแบ่งระดับคุณภาพสัญญาณวิดีโอตามระดับความปลอดภัยในอุปกรณ์ของผู้ใช้ อุปกรณ์ที่มีความปลอดภัยต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ในระดับต่ำก็จะได้รับชมสัญญาณวิดีโอที่มีคุณภาพต่ำตามไปด้วย เช่น สัญญาณวิดีโอที่มีคุณภาพต่ำกว่าระดับ HD เป็นต้น

ระดับความปลอดภัยของ Widevine DRM แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ โดยใช้ตัวรหัส L3, L2 และ L1 อุปกรณ์ของคุณถ้าหากต้องการสตรีมวิดีโอจาก Netflix ให้ได้ถึงคุณภาพในระดับ HD จำเป็นต้องผ่านข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในระดับ L1 เท่านั้น

การจะได้รับการรับรองความปลอดภัยในระดับ L1 การประมวลผลเนื้อหาข้อมูลทั้งหมด, การอ่านข้อมูลรหัสภาพ และการควบคุมสั่งงานจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนด Trusted Execution Environment (TEE) ของส่วนประมวลผลในตัวอุปกรณ์ เพื่อเป็นการป้องกันการปลอมแปลงและคัดลอกไฟล์ข้อมูลออกสู่ภายนอก

ชิปประมวลผล ARM Cortex-A ทุกรุ่นซึ่งมีเทคโนโลยี TrustZone อยู่แล้ว จะทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการที่ได้รับความเชื่อถือ (อย่างเช่น Android) ในการสร้าง TEE ขึ้นมาสำหรับใช้กับ DRM หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัย

ระดับความปลอดภัย L2 ต้องการเพียงแค่ การอ่านข้อมูลรหัสภาพ ระบบประมวลผลสัญญาณวิดีโอไม่ต้องทำงานอยู่ภายใต้ข้อกำหนด TEE ขณะที่ระดับความปลอดภัย L3 นั้นตัวอุปกรณ์ไม่จำเป็นต้องมี TEE หรือมีการใช้งานส่วนประมวลผลที่อยู่ภายนอกตัวอุปกรณ์

การดำเนินการตามข้อกำหนดของ Widevine DRM
โดยทั่วไปอุปกรณ์แอนดรอยด์นั้นจะสนับสนุนระดับความปลอดภัย L1 หรือ L3 โดยขึ้นอยู่กับทั้งตัวฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ หากว่าอุปกรณ์ของเราสนับสนุนเพียงแค่ L3 คุณภาพของวิดีโอที่เราได้รับชมจะมีความละเอียดต่ำว่าระดับ HD

มีเพียงอุปกรณ์ที่มีระดับความปลอดภัย L1 ซึ่งส่วนประมวลผลสัญญาณวิดีโอทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของ TEE เท่านั้น ที่สามารถเล่นวิดีโอคุณภาพระดับ HD หรือที่มีคุณภาพสูงกว่านั้นได้

เรื่องหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ การผ่านมาตรฐาน Widevine DRM ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือเงินค่าลิขสิทธิ์ในการรับรองแต่อย่างใด ดังนั้นการที่สมาร์ทโฟนสักรุ่นจะไม่รองรับมาตรฐานความปลอดภัยนี้ จึงไม่ได้มีเหตุผลในเรื่องของต้นทุนมาเกี่ยวข้อง เพราะผู้ผลิตเพียงแค่ส่งอุปกรณ์นั้น ๆ มาผ่านกระบวนการตรวจสอบรับรองเท่านั้นเอง

ซึ่งแหล่งข่าวอย่าง Android Authority ได้ให้ข้อมูลว่ากระบวนการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยดังกล่าวได้ถูกออกแบบให้อุปกรณ์รุ่นหนึ่ง ๆ สามารถผ่านการรับรองได้ค่อนข้างง่าย อีกทั้งชิปเซ็ตยอดนิยมสำหรับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ในปัจจุบันต่างก็พร้อมรองรับเทคโนโลยีนี้กันหมดแล้ว ดังนั้นการที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนมองข้ามเรื่องนี้ไปหรือไม่ได้ให้เวลากับกระบวนการตรวจสอบรับรองก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทโฟนที่มีสมรรถนะสูง

จะทราบได้อย่างไรว่าอุปกรณ์ของเราผ่านมาตรฐานความปลอดภัยในระดับใด?
โดยปกติข้อมูลเกี่ยวกับ DRM จะไม่ได้ปรากฎในสเปคฯ ทั่วไปของสมาร์ทโฟน ดังนั้นการจะทราบข้อมูลในส่วนนี้ก่อนซื้อมาใช้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่โดยเฉพาะรุ่นเรือธงมักจะสตรีมวิดีโอคุณภาพระดับ HD ได้ด้วยคุณสมบัติที่รองรับตามข้อกำหนดของ Widevine ถึงแม้ว่าสมาร์ทโฟนรุ่นนั้น ๆ จะตกรุ่นไปแล้วก็ตาม

ในทางเทคนิคสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ทั้งหมดสามารถรองรับ L1 Widevine ได้ แต่การที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ จึงอาจทำให้สมาร์ทโฟนราคาประหยัดบางรุ่น ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือมองข้ามคุณสมบัติในส่วนนี้ไป

DRM Info ใน LG V30+ แสดงชัดเจนว่าสมาร์ทโฟนรุ่นนี้เป็น Widevine DRM L1
Samsung Galaxy A9 (2018) ก็ได้ L1 เช่นกัน ดู Netflix ได้ทั้ง HD และ HDR

หากว่าเราต้องการทราบว่าอุปกรณ์ของเราผ่านมาตรฐานความปลอดภัยในระดับใด ตลอดจนการรองรับ DRM ในรูปแบบอื่น ๆ สามารถตรวจสอบได้จากแอปฯ ชื่อ “DRM Info” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีจาก Play Store เพียงแค่เปิดใช้งานแอปฯ นี้ในสมาร์ทโฟนเครื่องนั้น ข้อมูลในแอปฯ ก็จะบอกได้เลยว่าสมาร์ทโฟนนั้น ๆ รองรับ DRM ในรูปแบบหรือในระดับใดบ้าง

Xiaomi Mi Mix 3 ได้แค่ L3 ดู Netflix ไม่ได้ทั้ง HD และ HDR
Huawei nova 4 ก็ได้แค่ L3 เช่นกัน

อีกหนึ่งข้อสังเกตคือ สมาร์ทโฟนที่มีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับ L1 ในขณะที่เรากำลังรับชมวิดีโอสตรีมมิง เราจะไม่สามารถจับภาพหน้าจอของวีดีโอด้วยการทำ screenshot capture ได้ อย่างเช่นใน LG V30+ เมื่อเราทำการจับภาพหน้าจอของวิดีโอ Netlfix จะมีข้อความแจ้งว่า “Cannot take screenshot.” หรือ “ไม่สามารถจับภาพหน้าได้” ปรากฏขึ้นมา

สำหรับสมาร์ทโฟนที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงอยู่แล้วอย่างสมาร์ทโฟน iOS เมื่อเราทำการจับภาพหน้าจอวิดีโอใน Netflix จะปรากฏเพียงแค่หน้าจอสีดำเท่านั้น ไม่สามารถจับภาพหน้าจอวิดีโอใน Netflix มาได้เช่นกันเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ