fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

รีวิว Linn : 530

เมื่อคราวที่ได้รีวิวลำโพง Linn Exakt Akudorik ผมคิดว่า นี่แหละอนาคตของดิจิทัลไฮไฟและที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพเสียงไม่ใช่แค่เรื่องของความสะดวก

ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีเอ็กซ์แซ็คต์ ‘Exakt’ ของลินน์นั้นก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ และจากการลองฟัง Exakt Akudorik ก็เป็นการพิสูจน์แล้วว่าผลลัพธ์ของเทคโนโลยีเอ็กซ์แซ็คต์ก็น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ในเวลานั้น ผมคาดหมายว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ทางลินน์น่าจะมีวิธีทำให้เทคโนโลยีเอ็กซ์แซ็คเป็นอะไรที่จับต้องได้ง่ายขึ้น ดูไม่ไกลเกินสุดเอื้อม แถมยังมีความคุ้มค่าน่าลงทุนมากขึ้น ขณะที่ยังคงเนื้อหาสาระที่เป็น ‘แก่น’ ของเทคโนโลยีเอ็กซ์แซ็คต์เอาไว้

ทว่าเมื่อเห็นลินน์เปิดตัวลำโพง Series 5 ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมก็ทราบแล้วว่า 2-3 ปีที่ผมประเมินไว้นั้นมันน่าจะนานเกินไป

Linn Series 5 กับการคิดนอกกรอบ
ขณะที่ลำโพงไฮเทคหลาย ๆ รุ่น หรือแม้แต่รุ่นก่อนหน้าของลินน์เองมีหน้าตาดูเหมือนสินค้าที่เพิ่งหลุดออกมาจากห้อง labs ของนักออกแบบร้อนวิชา แต่ครั้งแรกที่ผมเห็นลำโพง Linn Series 5 มันเหมือนออกมาจากดีไซน์สตูดิโอที่ไหนสักแห่ง มองเผิน ๆ มันอาจจะเป็นลำโพงทรงกล่อง ๆ ธรรมดาแต่ถ้าพินิจให้ดีจะพบว่ามันเป็นลำโพงตั้งพื้นทรงทาวเวอร์ที่มีสัดส่วนดูดีเลยทีเดียว

นอกจากนั้นลินน์ยังออกแบบให้ผ้าที่ห่อหุ้มตัวลำโพงสามารถเปลี่ยนสีหรือลวดลายได้ด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นมากกว่าลำโพง กล่าวคือคุณสามารถพิจารณาให้มันเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งบ้านได้ด้วย ตรงนี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการ ‘คิดนอกกรอบ’ สำหรับสินค้าประเภทลำโพงเลยละครับ

ที่ผ่านมาคุณอาจจะเลือกสีหรือลวดลายของลำโพงได้ หรือแม้แต่จะสั่งทำสีพิเศษก็ได้ แต่คุณมีโอกาสเลือกแค่ครั้งเดียวคือก่อนจะตัดสินใจซื้อและจ่ายเงิน อาจจะมีลำโพงบางรุ่นยอมให้คุณเปลี่ยนสีของหน้ากากลำโพง หรือเปลี่ยนสีฝาผนังด้านข้างอย่างลำโพง Sonus Faber : Chameleon Series ทว่า Linn Series 5 เปิดโอกาสให้คุณทำได้มากกว่านั้น

ด้วยชุดผ้าคลุมตัวลำโพงที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ สามารถเลือกเป็นออปชันเสริมไปเปลี่ยนสีของลำโพงได้วันละสี หรือเปลี่ยนสีของลำโพงเป็นข้างละสีที่แตกต่างกันได้ตามใจชอบ โดยคุณสามารถทำการเปลี่ยนชุดผ้าคลุมนี้ได้ด้วยตัวเองภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น… ใช่ครับ มันง่ายขนาดนั้น แถมยังดูดีอีกต่างหาก

สำหรับคนที่ไม่สนใจเรื่องการเปลี่ยนสีของลำโพงหรือการใช้งานเป็นเฟอร์นิเจอร์ Linn Series 5 ยังทำให้คุณสนใจมันได้ด้วยเทคโนโลยีที่ว่ากันด้วยเรื่องของคุณภาพเสียงล้วน ๆ ซึ่งทางลินน์ภาคภูมิใจมากและให้ชื่อมันว่า เทคโนโลยีเอ็กซ์แซ็คต์ ‘Exakt’

ดังที่ได้เรียนไว้ในช่วงโหมโรงของรีวิวนี้ เทคโนโลยีเอ็กซ์แซ็คต์ทำให้ลำโพงรุ่นใหม่ ๆ ของลินน์แตกต่างไปจากลำโพงทั่วไป มันทำงานเป็นระบบแอคทีฟเต็มรูปแบบ มีวงจรภาคประมวลผลสัญญาณดิจิทัลและภาคขยายเสียงในตัว รับสัญญาณดิจิทัลจากระบบ Exakt Link เข้ามาทางขั้วต่อ RJ-45

ไดรเวอร์เสียงกลางและเสียงแหลมของ Linn 530

จากนั้นภาคประมวลผลสัญญาณในตัวลำโพงจะทำหน้าที่ตั้งแต่การจัดระเบียบสัญญาณ, จัดการกับ jitter, แยกสัญญาณออกเป็น 3 ช่วงความถี่ตั้งแต่ภาคช่วงสัญญาณดิจิทัล (เอ็กซ์แซ็คต์ดิจิทัลครอสโอเวอร์) ซึ่งทางทฤษฎีมันมีความเที่ยงตรงแม่นยำกว่าการทำในช่วงสัญญาณอะนาล็อก

จากนั้นสัญญาณดิจิทัลในแต่ละช่วงความถี่ตามจำนวนทางของลำโพง จะถูกส่งไปที่ภาคแปลงดิจิทัลเป็นอะนาล็อก (DAC) และภาคขยายเสียงแยกอิสระจากกันตามจำนวนทางของลำโพง เพื่อแยกขับไดรเวอร์แต่ละตัว

นี่คือแนวคิดที่ยึดถือตามแนวทางของระบบเสียงไฮเอนด์ทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งเรื่องของแอคทีฟครอสโอเวอร์หรือระบบแอคทีฟไบแอมป์/ไตรแอมป์

ถ้าคุณรู้จักลินน์มานานกว่า 10 ปีขึ้นไปจะทราบว่าพวกเขาพยายามทำอย่างนี้กับการออกแบบลำโพงมานานแล้ว แต่เมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ยังต้องพึ่งพาวงจรในส่วนของอะนาล็อกอยู่มาก

มาในปัจจุบันด้วยความรุดหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้สิ่งที่พวกเขาคิดไว้มีความใกล้เคียงอุดมคติมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันมันยังเพิ่มเติมด้วยสามารถอื่น ๆ เข้ามาอย่างเช่นระบบจัดการกับปัญหาอะคูสติกของห้องหรือตำแหน่งวางลำโพงในห้องที่ชื่อว่า Space Optimisation+

สรุปเบื้องต้นพอสังเขปตรงนี้ว่า นอกจากความไฮเทคแล้ว เรื่องของการออกแบบเพื่อใช้งานจริงในชีวิตประจำวันด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นมิตร โดดเด่นสะดุดตาน่าใช้งาน แถมยังเลือกสีหรือลวดลายของลำโพงได้ตามใจชอบ ก็ยังต้องยกนิ้วโป้งให้ด้วยครับ ผมนับถือไอเดียนี้จริง ๆ ที่เขาคิดแล้วทำให้มันเป็นจริงได้

Linn 530 ลำโพงแอคทีฟ 3 ทางเต็มรูปแบบและระบบไฮโซแบริก
ลำโพง Linn Series 5 ในปัจจุบันมีอยู่ 2 รุ่นด้วยกันคือรุ่น 520 และ 530 เป็นลำโพงตั้งพื้นทรงทาวเวอร์เหมือนกัน แตกต่างกันที่ขนาด, จำนวนไดรเวอร์ และระบบตู้ของไดรเวอร์เสียงทุ้ม ลำโพง 520 เป็นลำโพง 2 ทาง 2 ไดรเวอร์ ระบบตู้ลำโพงเป็นแบบเบสรีเฟล็กซ์ เรียกว่าเป็นรุ่นน้องเล็กในเวลานี้

ขณะที่รุ่น 530 ซึ่งผมกำลังรีวิวอยู่นี้ออกแบบเป็นลำโพงตั้งพื้นทรงทาวเวอร์ขนาดกลาง ระบบตู้ลำโพงเสียงทุ้มแบบไอโซแบริก (isobarik bass system) ระบบเสียงเป็นแบบ 3 ทาง 4 ไดรเวอร์ ทั้งหมดเป็นไดรเวอร์ที่ทางลินน์ได้พัฒนาและสั่งผลิตเป็นพิเศษจากประเทศเดนมาร์ค

ทวีตเตอร์ชนิดโดมผ้าไหมมีขอบเซอร์ราวด์ติดตั้งอยู่ในห้องอากาศที่ได้รับการออกแบบให้ต่อต้านการสั่นค้าง (anti-resonant chamber) ไดรเวอร์มิดเรนจ์ขนาดประมาณ 6 นิ้ว กรวยเป็นแบบเคลือบ 2 ชั้นและมีรอยบาก (doped 2-layer sliced) หน้าตาดูคล้ายไดรเวอร์ตระกูล Revelator ของยี่ห้อ Scan-Speak ผู้ผลิตไดรเวอร์ลำโพงชื่อดังของเดนมาร์ค

สำหรับส่วนของไดรเวอร์เสียงทุ้มหรือวูฟเฟอร์ในลำโพง 530 นี่พิเศษหน่อยครับ เพราะในระบบตู้ลำโพงแบบไอโซแบริกของลินน์จะมีการใช้ไดรเวอร์เสียงทุ้มถึง 2 ตัวทำงานร่วมกันอยู่ในลำโพงข้างเดียวกัน โดยในลำโพงรุ่นนี้ไดรเวอร์เสียงทุ้มทั้ง 2 ตัวจะถูกติดตั้งแบบหันหน้าเข้าหากันแต่ทำงานสลับกัน กล่าวคือเมื่อตัวหนึ่งผลักอีกตัวหนึ่งจะถอย สลับกันไปมาเช่นนี้ (out-of-phase wiring, in-phase signal)

ตำแหน่งติดตั้งวูฟเฟอร์ตัวหนึ่งสามารถมองเห็นได้ตรงบริเวณฐานล่างของตู้ลำโพง

ไดรเวอร์เสียงทุ้มทั้ง 2 ตัวในลำโพง 530 ถูกติดตั้งอยู่ในจุดที่ลับสายตาพอสมควรตามลักษณะของตู้ลำโพงระบบไอโซแบริกซึ่งใช้หลักความยืดหยุ่นเหมือนสปริงจากไดรเวอร์ 2 ตัวคอยทำหน้าที่ ‘ควบคุมแรงอัดมวลอากาศ’

ไดรเวอร์ตัวหนึ่งในลำโพง 530 สามารถมองเห็นได้บางส่วนเมื่อก้มลงไปมองที่ฐานตู้ ในขณะที่ไดรเวอร์อีกตัวแอบซ่อนอย่างมิดชิดอยู่ภายในตัวตู้ขนาด 30 ลิตร น้ำหนักรวม 30 กิโลกรัม

จุดเด่นของระบบตู้แบบไอโซแบริกตามคำกล่าวอ้างของผู้ผลิตได้ระบุเอาไว้ในเรื่องของการตอบสนองความถี่ต่ำ ระบบนี้จะทำให้ตู้ลำโพงขนาดกะทัดรัดสามารถให้เสียงทุ้มที่ต่ำลึกได้ราวกับลำโพงที่มีขนาดใหญ่กว่า

ไดรเวอร์ทั้งหมดใน Linn 530 ได้รับการสนับสนุนจากภาคขยายเสียงกำลังขับ 100 วัตต์ จำนวน 3 ชุด นั่นหมายความว่าในลำโพง Linn 530 หนึ่งข้าง มีภาคขยายเสียงในตัวกำลังขับรวมถึง 300 วัตต์ ถ้าคิดเป็นแอมป์แบบแยกชิ้น กำลังขับขนาดนี้นี่เรียกได้ว่าเป็นแอมป์พลังช้างสารได้เลยล่ะครับ

ว่าด้วยเรื่องผ้าคลุมที่ทำให้ Linn 530 เป็นมากกว่าลำโพง
เมื่อได้รับลำโพง Linn 530 ตัวจริงมา สิ่งแรกที่ผมประทับใจคือส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาได้ดีมาก ทำให้การเปิดกล่องยกลำโพงออกมาสามารถทำได้ง่ายและปลอดภัย

ลำโพงที่มาในกล่องจะยังไม่มีการหุ้มผ้าเหมือนอย่างที่ผมเห็นในรูปโบรชัวร์สินค้า แต่ว่าก็ว่าเถอะครับขนาดมาในสภาพนี้งานของเขายังดูดีเลยครับ ไม่มีตรงไหนเลยที่ทำแบบขอไปทีแล้วค่อยไปรอซ่อนเอาไว้ใต้ผ้าคลุม

นอกจากตัวไดรเวอร์ในแต่ละส่วนแล้ว ในสภาพไร้ผ้าคลุมผมยังได้เห็นส่วนของแผงครีบระบายความร้อนที่คาดว่าภายในจะเต็มไปด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ติดตั้งแบบแขวนลอยด้วยวัสดุยืดหยุ่นอยู่บริเวณด้านหลังตู้ลำโพงด้วยครับ หลักการแขวนลอยโมดูลวงจรอิเล็กทรอนิกส์นี้ผมเคยเห็นมาก่อนในลำโพง Exakt Akudorik เช่นกันครับ

แผงระบายความร้อนนี้ทีแรกผมค่อนข้างเป็นห่วงในเวลาใช้งานจริงที่มันต้องถูกผ้าคลุมเอาไว้ แต่เมื่อใช้งานจริงในห้องปรับอากาศมันก็แค่อุ่น ๆ เท่านั้นเองครับ ไม่ได้ร้อนจนน่าเป็นกังวลแต่อย่างใด ในห้องที่ไม่มีระบบปรับอากาศผมว่าก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะไม่พบคำเตือนในส่วนนี้ โดยสามัญสำนึกคิดว่าขอเพียงให้ด้านหลังลำโพงพอมีพื้นที่ระบายอากาศก็เป็นอันใช้ได้

ทางตัวแทนจำหน่ายส่งผ้าคลุมมาให้ลองใช้งาน 2 ชุด เป็นผ้าคลุมมาตรฐาน (Standard Fabrik) สีน้ำเงิน Blueberry และสีแดง Paprika นอกจากนั้นของเขายังมีเนื้อผ้าคลุมพิเศษ (Special Fabrik) ให้เลือกด้วยครับ เป็นเนื้อผ้าลวดลายพิเศษจาก designer collection ซึ่งมีให้เลือกทั้งเนื้อผ้า Harris Tweed และ Timorous Beasties

สำหรับสีและลวดลายของผ้าคลุมมาตรฐานหรือผ้าคลุมลายพิเศษคุณสามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้ในเวบไซต์ของลินน์ หรือสอบถามจากตัวแทนจำหน่ายได้โดยตรงครับ

คำแนะนำจากทางตัวแทนจำหน่ายทำให้ผมทราบในเบื้องต้นว่าการใส่หรือถอดผ้าคลุมออก มีลำดับขั้นตอนและวิธีการที่ค่อนข้างง่ายเพราะเป็นแบบรูดซิบและเก็บงานตามขอบตู้ด้วยตัวยึดแบบแถบหนามเตย (Velcro) ด้านหลังผ้าคลุมบริเวณไดรเวอร์เสียงกลางและแหลมจะมีตะแกรงหน้ากากพลาสติกเจาะรูพรุนช่วยปกป้องตัวไดรเวอร์จากการกระทบกระทั่ง

หลังจากเรียนรู้การใส่และถอดผ้าคลุมของลำโพง 530 อยู่พักหนึ่งผมก็สามารถทำได้เองโดยง่าย และใช้เวลาต่อข้างราว ๆ 2-3 นาทีเท่านั้นครับ

ข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ ฝาปิดด้านบนลำโพงที่มีโลโก้ ‘LINN’ แลดูหรูหราแถมยังมีไฟส่องจากด้านหลังในขณะที่ลำโพงกำลังทำงาน เป็นเพียงแผ่นกระจกวางไว้เท่านั้น ดังนั้นถ้าหากจะเอียงหรือยกลำโพงในแนวนอนอย่าลืมยกแผ่นกระจกออกไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยเสียก่อนนะครับเพื่อป้องกันการตกหล่นแตกเสียหาย

 

 

Live Preview ลำโพง Linn 530
#ขอเสียงคนรักLinnกดLOVE
#แชร์วนๆไป

Posted by GM 2000 on Friday, August 26, 2016

 

ผมฟังเสียงและพิจารณาใช้งานลำโพง Linn 530 อย่างไร
ผมใช้งาน Linn 530 ร่วมกับเครื่องเล่นของลินน์รุ่น Akurate DSM ซึ่งมีเทคโนโลยี Exakt อยู่ในตัว การเชื่อมต่อเริ่มจากผมเชื่อมต่อ Akurate DSM กับลำโพง 530 ทั้ง 2 ข้างด้วยสาย LAN ขั้วต่อ RJ-45 ต่อจาก Akurate DSM มาเข้ามาขั้วต่อ Exakt input บริเวณฐานตู้ลำโพงซึ่งอยู่ในจุดที่เข้าถึงลำบากพอสมควร ลำบากพอ ๆ กับขั้วต่อสายไฟ AC Inlet ของลำโพงแต่ละข้าง ยังโชคดีที่การเชื่อมต่อเหล่านี้ไม่ได้ทำกันบ่อย ๆ

ใกล้ ๆ กันยังมีขั้วต่อ Exakt output จากตัวลำโพง ซึ่งมีประโยชน์ในกรณีที่เราวางตัวเครื่องเล่น Exakt ใกล้ไปทางลำโพงข้างใดข้างหนึ่ง ลำโพงตัวที่อยู่ห่างจากตัวเครื่องเล่นมากกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องลากสายยาวไปที่ตัวเครื่องเล่น แต่สามารถต่อพ่วงสัญญาณจาก Exakt output ของลำโพงตัวที่อยู่ใกล้เครื่องเล่นมากกว่าได้เลยในลักษณะของการต่อพ่วงเป็นอนุกรมกัน (daisy chain)

ด้วยความที่เคยลองเล่นลำโพง Exakt Akudorik มาก่อน ทำให้ผมไม่รู้สึกหนักใจกับความไฮเทคของลำโพง Linn 530 เลยครับ ผมกลับรู้สึกลิงโลดด้วยซ้ำที่ได้ลองเล่นมัน และเหมือนเช่นหลาย ๆ วาระที่ได้ลองเล่นเครื่องเสียงดิจิทัลจากลินน์ หลังจากเชื่อมต่อระบบเข้ากับอินเตอร์เน็ต ระบบก็เริ่มค้นหาแล้วว่าเฟิร์มแวร์ในตัวเครื่องเล่นหรือตัวลำโพงเองเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดแล้วหรือยัง

ซอฟต์แวร์ LINN KONFIG จะทำหน้าที่คอยแจงรายละเอียดหรือโปรไฟล์ของตัวลำโพง

นอกจากซอฟต์แวร์ที่ตัวเครื่องเองแล้ว ซอฟต์แวร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับการดูแลให้อัปเดตด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ ควบคุมที่ชื่อ ‘Kazoo’ ในสมาร์ทโฟน Android/iOS หรือว่าจะเป็นแอปฯ ชื่อ ‘Konfig’ ในคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต้องใช้ตั้งค่าให้ตัวลำโพงโดยตรง

การตั้งค่าด้วยแอปฯ ‘Konfig’ ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับ Linn 530 เพราะมันทำหน้าที่ระบุว่าลำโพงข้างไหนจะเป็นลำโพงข้างขวาหรือซ้าย (โดยใช้ serial number ที่ดูได้จากใต้แผ่นกระจกด้านบนลำโพง แล้วกำหนดค่าเข้าไปในแอปฯ Konfig) หรือแม้กระทั่งการระบุว่าผ้าที่เลือกมาใช้คลุมลำโพงเป็นเนื้อผ้าชนิดใด

เนื่องจากเนื้อผ้าแต่ละแบบตามที่เขามีให้เลือกเป็นออปชันนั้นจะมีความโปร่งเสียงหรือลักษณะเนื้อผ้าที่แตกต่างกัน ทำให้มีผลทางอะคูสติกที่แตกต่างกัน ดังนั้นการตั้งค่าในส่วนนี้จึงมีผลโดยตรงต่อคุณภาพเสียงที่จะได้โดยตรง อย่าได้มองข้ามเป็นอันขาด

กำหนดแชนเนลให้ลำโพงแต่ละตัวโดยอาศัย LINN KONFIG
กำหนดประเภทของเนื้อผ้าคลุมตามความเหมาะสมโดยอาศัย LINN KONFIG

ลักษณะการลองเล่นลองฟังตลอดการรีวิวนี้ผมได้ใช้งานได้หลาย ๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสตรีมเสียงโดยตรงจาก iPhone SE ผ่านทาง ‘AirPlay’, การสตรีมไฟล์เพลงจาก UPnP media server (Minimserver Windows/Mac) หรือการเล่นแผ่นเสียงจากเทิร์นเทเบิ้ล Well Tempered Lab : Simplex ที่ติดตั้งหัวเข็ม MC – Shelter 501

โดยสัญญาณจากเอาต์พุตโทนอาร์มของ Simplex ต่อตรงเข้าไปที่อินพุต PHONO ของ Akurate DSM วงจรปรีแอมป์โฟโนใน Akurate DSM จะทำการแปลงสัญญาณอะนาล็อกเป็นดิจิทัล 24bit /192kHz ก่อนจะป้อนสัญญาณออกไปทางเอาต์พุต Exakt Link ซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับลำโพง Linn 530 อีกทอดหนึ่ง

ในรีวิวนี้ผมพบว่าแอปฯ Kazoo ที่ใช้เป็นรีโมตควบคุมเครื่องเสียงของลินน์ ณ เวอร์ชั่นปัจจุบัน ในอุปกรณ์ iOS (iPhone SE) ใช้งานได้ราบรื่นและเสถียรกว่าในอุปกรณ์แอนดรอยด์ (Huawei Mate8) นะครับ ดังนั้นถ้าคุณกำลังตัดสินใจจะเลือกสมาร์ทโฟนเพื่อมาใช้ควบคุมเครื่องเสียงของลินน์ในเวลานี้ แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ iOS ครับ

ความคุ้มค่าที่เพิ่มมากขึ้นตามเสียงเพลงและการเซ็ตอัพ
ช่วงแรกของการลองใช้งาน Linn 530 + Akurate DSM มันก็สร้างความประทับใจได้รับรู้ได้จากน้ำเสียงที่ค่อนข้างครบเครื่อง ครบรส เล่นได้ทั้งบู๊และบุ๋น แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปิดฟังด้วยระดับเสียงที่ไม่เบาบางจนเกินไป

เป็นซิสเตมที่ยิ่งฟังยิ่งได้ใจ ยิ่งฟังยิ่งอยากเร่งวอลุ่มขึ้นไปอีก เรียกว่าเร่งดังได้ในระดับที่ต้องเกรงใจเพื่อนบ้านที่ห่างไปอีก 2-3 หลังเลยทีเดียว เปิดดังกว่านี้เป็นต้องได้มีปากเสียงกันแน่ ๆ

ระบบเสียงไฮไฟในปัจจุบันเขาเชื่อมต่อกันด้วยวิธีนี้แล้ว
ขั้วต่อสายไฟเอซีและขั้วต่อสัญญาณ Exakt Link IN/OUT บริเวณฐานล่างของตู้ลำโพง

เล่นได้ดังในที่นี้ไม่ใช่สักแต่ว่าตะเบ็งหรือตะคอกออกมาเหมือนลำโพงตามงานวัดนะครับ เรียกว่าเป็นเสียงที่ยังอยู่ในมาตรฐานที่สามารถคาดหวังได้จากเครื่องเสียงของลินน์ หลายวาระที่พฤติกรรมของลำโพงคู่นี้ทำให้เข้าใจว่ามันไม่ต้องการการเอาใจใส่เรื่องของตำแหน่งวางลำโพง แต่เอาเข้าจริงแล้วพบว่ามันไม่ได้สำเร็จรูปถึงขั้นที่สามารถละเลยหรือมองข้ามไปได้

จริงอยู่ว่าในช่วงแรกที่ลองฟังโดยวางลำโพงไว้ในส่วนของพื้นที่ทำงานของกองบรรณาธิการ GM2000 ตัวลำโพงมิได้ถูกจัดวางอย่างพิถีพิถันมากนักเนื่องจากพื้นที่ไม่อำนวย เสียงจากลำโพง 530 ฟังดีในแง่ของสมดุลเสียงโดยภาพรวม แต่คาดหวังอะไรแทบไม่ได้ในเรื่องของมิติหรือเวทีเสียงโดยเฉพาะในระดับที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกขนลุก

ย้อนเวลากลับไปตอนที่รีวิวลำโพง Exakt Akudorik ผมจำได้ว่าลำโพงคู่นี้ทำให้ผมได้รับรู้ว่าลำโพงของลินน์ไม่ใช่ใช้งานได้ดีเวลาวางชิดฝาผนังเพียงอย่างเดียว

จริงอยู่ว่าหลายครั้งที่เห็นลำโพงลินน์ในภาพโฆษณาต่าง ๆ หรือแม้แต่การ demo ตามโชว์รูมเรามักจะเห็นลำโพงของลินน์วางชิดฝาหนังแบบง่าย ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะใช้งานได้เฉพาะในรูปแบบนี้นะครับ เพราะเมื่อตอนที่ผมนำลำโพง Exakt Akudorik ไปเซ็ตอัพในห้องฟังของเรา ผมพบว่ามันให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจมาก ซึ่งลำโพง Linn 530 คู่นี้ก็เช่นกัน

การเซ็ตอัพลำโพง Linn 530 ในห้องฟัง เมื่อเทียบกับเครื่องเสียงชุดอื่น ๆ ผมแทบไม่ต้องห่วงเรื่องของการแมตชิ่งเลย เพราะทางลินน์เขาจัดการแมตช์มันมาให้ตั้งแต่ตอนออกแบบแล้ว แต่เรื่องของตำแหน่งการวางลำโพงเป็นอะไรที่น่าลองครับเพราะว่าผลลัพธ์ของมันเป็นอะไรที่คุ้มค่ามาก

ผมพบว่าการหาตำแหน่งวางลำโพง Linn 530 ในห้องฟังของเราซึ่งมีการทรีตอะคูสติกอย่างดี ไม่ง่ายอย่างที่คิด ตำแหน่งวางลำโพงที่ใกล้ผนังด้านหลังให้ผลลัพธ์ไม่ดีอย่างที่คิด เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่าลำโพงของลินน์ไม่จำเป็นต้องวางชิดฝาผนังเสมอไป

ตำแหน่งวางลำโพง Linn 530 ที่ผมคิดว่าให้เสียงเป็นน่าพอใจในห้องฟังแห่งนี้คือที่ระยะห่างฝาผนังด้านหลัง 162 เซ็นติเมตร ลำโพงทั้งสองข้างห่างกัน 205 เซ็นติเมตร โดยที่ลำโพงแต่ละข้างห่างจากฝาผนังด้านข้าง 79 เซ็นติเมตร

LINN 530 เมื่อเซ็ตอัพในห้องทดสอบเสียงของเรา

ณ ตำแหน่งดังกล่าวลำโพง Linn 530 ยังคงมีสมดุลเสียงตลอดย่านความถี่ที่ยอดเยี่ยม ย่านเสียงกลางต่อขึ้นไปยังย่านความถี่สูงมีรายละเอียดเสียงที่สะอาด ราบรื่น เป็นมิตรต่อโสตประสาท

โดยภาพรวมถือว่ามีสมดุลที่ดีแล้วแต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือมิติและเวทีเสียงครับ มันดีกว่าตอนที่ผมวางง่าย ๆ ช่วงแรกเยอะเลย ลักษณะเวทีเสียงจากลำโพงคู่นี้เด่นมากในแง่ของการประคองรูปทรง ความเข้มข้นของเนื้อเสียงในชิ้นดนตรีต่าง ๆ ที่ปรากฏออกมาชัดเจน โดยเฉพาะในอัลบั้ม In Need Again (CD RIP, 16bit/44.1kHz) ของวง Repercussion Unit ในรูปแบบของเพลงบรรเลงสุดเร้าใจ

หรือในอัลบั้ม My Life Stories ของ Susan Wong (24bit/88.2kHz) ในบรรยากาศของเพลงร้องป๊อปแจ๊ซเบา ๆ ฟังเพลิน ฟังกันยาว ๆ ไม่รู้จักเบื่อ

ผมจำได้อารมณ์พีคช่วงหนึ่งในระหว่างการฟังเพื่อเขียนรีวิวลำโพงคู่นี้ได้ดี มันเป็นตอนที่ผมฟังงานชุด MOZART Violin Concertos (24bit/192kHz) ของสังกัด 2L บรรเลงโดย Marianne Thorsen (ไวโอลิน), วง TrondheimSolistene (The Trondheim Soloists) อำนวยเพลงโดย Øyvind Gimse

เสียงจากลำโพงคู่นี้อาจจะเป็นรองลำโพงไฮเอนด์ในระดับเดียวกันหรือที่ราคาสูงกว่าในแง่ของ ‘ความชัด’ เมื่อเพ่งพิจารณาเข้าไปในเสียงแต่ละเสียง โน้ตแต่ละโน้ต แต่สิ่งที่แลกคืนกลับมาใน Linn 530 คือ การรักษาบรรยากาศและรูปวงของเสียง ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นท่อนโซโล่หรือท่อนที่ดนตรีหลายชิ้นโหมขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ได้อย่างเป็นระเบียบโดยไม่มีการแตกแถว

คุณลักษณะเช่นนี้ส่วนหนึ่งอาจจะต้องยกผลประโยชน์ให้กับความเป็น Linn System ด้วยส่วนหนึ่งครับ เสียงแบบนี้เรียกว่าไฮเอนด์ได้หรือยัง?

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจคำว่าเสียงแบบไฮเอนด์กันก่อน เสียงแบบไฮเอนด์ในที่นี้หมายถึงเสียงที่มีคุณลักษณะที่ดีของเสียงอยู่ด้วยกันหลาย ๆ ด้าน เช่น มีช่วงความถี่ตอบสนองที่กว้างขวาง มีความคมชัด และมีไดนามิกเรนจ์, ไดนามิกคอนทราสต์หรือไดนามิกทรานเชียนต์ที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความพิเศษกว่าลำโพงทั่ว ๆ ไปในตลาด

เรียนตามตรงว่าทีแรกผมลังเลที่จะตอบจริง ๆ ถ้าหากมีคนถามว่าลำโพงอย่าง Linn 530 นั้น มีความเป็นลำโพงไฮเอนด์แล้วหรือยัง? ณ เวลานี้ผมเองคงไม่ฟันธง แต่จะเล่าเรื่องที่พบเจอระหว่างการลองใช้งานลำโพงคู่นี้ให้ท่านได้ทราบและเข้าใจในสิ่งที่ผมได้ยินมากที่สุดก็แล้วกันครับ

ในระหว่างที่ผมกำลังตื่นเต้นกับเสียงของ Linn 530 โดยเฉพาะเรื่องมิติเวทีเสียงซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้ยินแบบชัด ๆ จะ ๆ เช่นนี้จากเครื่องเสียงที่มีภาพลักษณ์ไปทางไลฟ์สไตล์มากกว่าไฮไฟจ๋า ผมยังทึ่งกับความ real ความสมจริงมาก ๆ ตอนที่ฟังงานชุด The Private Collection (24bit/192kHz) ของ Charlie Haden

ดนตรีชุดนี้เป็นบันทึกแสดงสดโดยสังกัด Naim Records ชุดเครื่องเสียงของลินน์สามารถนำผมเข้าไปอยู่ในบรรยากาศของการแสดงสดได้อย่างน่าทึ่ง ผมบอกไม่ถูกว่าเสียงมันดีอย่างไรบ้างเพราะมันเป็นความกลมกลืนระหว่างบรรยากาศ อารมณ์ร่วมและสุ้มเสียงที่น่าฟัง มารู้ตัวอีกก็ตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของผู้ชมคอนเสิร์ตนี้ในคืนวันนั้นแล้วครับ

แบนด์วิดธ์หรือช่วงกว้างในการตอบสนองความถี่เสียงของ Linn 530 ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เพราะว่ามันไม่มีแจ้งเอาไว้ในสเปคฯ

ย่านความถี่สูงนั้นชัดเจนว่าลำโพงคู่นี้ถูกออกแบบมาสำหรับ high-res audio มันให้ความถี่สูงที่ราบรื่น ต่อเนื่อง ไม่มีลักษณะของความกระด้าง ก้าวร้าวที่มาจากความผิดเพี้ยน แต่มันถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะของความโปร่งโล่ง ความเป็นอิสระ และไดนามิกทรานเชี้ยนต์ที่มีแรงปะทะของหัวเสียงคมชัด หนักแน่น กระชับและรวดเร็วปานสายฟาดฟ้า

โดยเฉพาะในเพลง Walton: Crown Imperial (finale) จากอัลบั้มรวมเพลงคุณภาพเสียงขั้นเทพ HRx Sampler 2011: A Classical And Jazz High Resolution Spectacular! (24bit/176.4kHz) ของสังกัด Reference Recordings

ตัวอย่างเพลงที่ Linn 530 ให้เสียงออกมาได้อย่างน่าทึ่ง
และการเล่นร่วมกับ source ที่เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงผ่าน Akurate DSM

ในอัลบั้มเดียวกันนี้ลำโพง Linn 530 ยังได้ทำให้ผมหายสงสัยว่าระบบ Isobarik Bass System ของลินน์นั้นเจ๋งแค่ไหน แค่ช่วงเริ่มต้นเพลง Liszt: Prelude on Bach ห้องฟังของ GM2000 ก็ถูกปกคลุมไปด้วยมวลเสียงแน่น ๆ ของความถี่ต่ำลึกที่พุ่งแผ่ออกมาจากออร์แกนท่อในเพลงจนท่วมเต็มทั่วห้องฟัง โอ้โฮ… ได้ยินรอบแรกทำเอาผมขนลุกเลยครับ

ความถี่ต่ำลึกขนาดนี้โดยมากลำโพงจะต้องตัวโตกว่านี้มาก หรืออย่างน้อยก็ใช้วูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้วขึ้นไป จำได้ว่าผมยังได้เร่งวอลุ่มขึ้นไปอีกเล็กน้อยเพื่อดูพฤติกรรมของลำโพง ปรากฏว่ามันยังไม่แสดงอาการแป้กหรือเสียศูนย์ใด ๆ ออกมาเลย ผมฟังซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและหูผมไม่ได้ฝาดไป มันทำได้ไง?… นั่นคือคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจ ณ ช่วงเวลานั้น

ความเห็นโดยสรุปกับ Linn 530
ผมว่าจุดเด่นของลำโพง Linn 530 นั้นชัดเจนมาก คือมันมีความเป็น ‘ศาสตร์และศิลป์’ ครบถ้วนอยู่ในตัว ความเป็น ‘ศาสตร์’ ก็คือเทคโนโลยี Linn Exakt ที่หลอมรวมทุกอย่างตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

ตั้งแต่ source ไปจนถึงลำโพง เอาไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องการแมตชิ่งระหว่างแหล่งสัญญาณ, ภาคประมวลผลดิจิทัล, ภาคขยายเสียง และตัวลำโพง เพราะมันถูกแมตช์กันมาตั้งแต่กำเนิดทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

มีเพียงแค่เรื่องของการตั้งค่าเบื้องต้น, การเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพง และคุณภาพของแหล่งสัญญาณต้นทาง (เช่น คุณภาพของไฟล์เพลง หรือคุณภาพของ source อื่น ๆ ที่มาต่อพ่วง) เท่านั้นที่เป็นตัวแปรสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียง

ด้านความเป็น ‘ศิลป์’ คือ ส่วนของ industrial design ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกตกแต่งตัวตู้ลำโพงได้เอง ทำนองเดียวกับการ wrap สติกเกอร์เปลี่ยนสีรถยนต์

แต่ในกรณีลำโพงของลินน์มันได้ง่ายและรวดเร็วกว่ากันเยอะเลย นี่เป็นอีกครั้งที่เครื่องเสียงของลินน์จากประเทศสก็อตแลนด์ได้ทำสิ่งที่ไม่เหมือนใคร สิ่งที่เป็นนวัตกรรมโดยแท้จริงสำหรับเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์

ในระหว่างการรีวิวผมได้ข้อมูลจากทางตัวแทนจำหน่ายมาว่า Linn Akurate DSM และ Linn 530 ราคาจำหน่ายในบ้านเราเวลานี้อยู่ที่ 600,000 บาท (6 แสนบาทถ้วน) พร้อมทั้งยังได้ผ้าคลุมลำโพงแบบมาตรฐานอีก 2 ชุด (4 ชิ้น) เอาไว้เลือกเปลี่ยนสีในเบื้องต้นได้ตามชอบใจ

โอ้โฮ… ผมมองว่ามันคุ้มมากนะครับ แม้ว่าจะเป็นงบประมาณที่สูงพอสมควรก็ตาม แต่สิ่งที่ได้มามันคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปจริง ๆ ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะไม่อินกับความเป็นศาสตร์และศิลป์ของลำโพงคู่นี้ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายจริง ๆ ครับ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท LINNK IT UP จำกัด
โทร. 0-2610-9708
ราคา : 600,000 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ