Wi-Fi 7 มาตรฐานใหม่เชื่อมต่อไร้สายความเร็วสูง เหมือนหรือต่างจาก Wi-Fi อื่นอย่างไร
MediaTek เปิดตัวชิปเซ็ตรุ่นเรือธงสำหรับโทรศัพท์มือถือ 5G รุ่นใหม่ Dimensity 9200 ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชิปรุ่นใหม่นี้ไม่เพียงแต่รองรับการเชื่อมต่อเครือข่าย 5G เท่านั้น แต่ยังรองรับการเชื่อมต่อไร้สายแห่งอนาคตอย่าง Wi-Fi 7 อีกด้วย
ดังนั้นนี่คือชิปเซ็ตที่พร้อมสำหรับการใช้งาน Wi-Fi 7 ผู้ใช้งานทั่วไปอาจยังไม่ทราบว่าเทคโนโลยีใหม่นี้มีจุดเด่นอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างระหว่าง Wi-Fi 7 กับมาตรฐานก่อนหน้า ก่อนอื่นเพื่อให้เข้าใจตรงกันเราอาจจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับคำศัพท์บางคำ
โปรโตคอล Wi-Fi คืออะไร ?
ประการแรกคือ เรามีโปรโตคอล Wi-Fi ที่แตกต่างกัน สำหรับในส่วนนี้ Wi-Fi 7 มีการเปลี่ยนแปลงโปรโตคอล Wi-Fi ครั้งใหญ่ ที่ผ่านมาเราคงคุ้นเคยกับโปรโตคอลเหล่านี้ 802.11n, 802.11ac (wave1, wave2) และ 802.11ax
ที่ผ่านมาเราคงเคยเห็นคำเหล่านี้ผ่านตามาแล้วหลายครั้งแม้ว่าเราอาจไม่รู้ว่ามันคืออะไร ในปี 2018 WiFi Alliance กำหนดให้มาตรฐาน 802.11ax เป็นเทคโนโลยี Wi-Fi รุ่นที่หก นอกจากนี้ยังทำให้การตั้งชื่อโปรโตคอล Wi-Fi ง่ายขึ้นด้วย เพื่อให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าใจและจดจำได้ง่ายขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามนี้
• 11n กลายเป็น Wi-Fi 4
• 11ac กลายเป็น Wi-Fi 5
• 11ax กลายเป็น Wi-Fi 6
ดังนั้น เมื่อดูที่ชื่อโปรโตคอล Wi-Fi ผู้ใช้จะรู้ว่าชื่อใดใหม่กว่าและดีกว่าในทางทฤษฎี เราจะแนะนำข้อมูลจำเพาะที่สำคัญของโปรโตคอล Wi-Fi ที่ได้กล่าวถึง
Wi-Fi 4
Wi-Fi 4 เปิดตัวในปี 2009 โดยโปรโตคอล 802.11n (Wi-Fi 4) เป็นโปรโตคอล Wi-Fi เวอร์ชันที่ได้รับการปรับปรุงอย่างมากเมื่อเทียบกับเวอร์ชันก่อนหน้า (802.11g ซึ่งเปิดตัวในปี 2003) นอกจากนั้น Wi-Fi 4 ยังเป็นเทคโนโลยี Wi-Fi ตัวแรกที่ทำงานพร้อมกันในแถบความถี่ 2.4GHz และ 5GHz โดยมีความเร็วในการส่งข้อมูลสูงถึง 600Mbit/s
สัญญาณในแถบความถี่ 5GHz นั้นมีข้อดีหลายประการเมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ รวมถึงในแง่ของการถูกรบกวนและอัตราการส่งข้อมูลที่รวดเร็ว ทว่าในแถบความถี่ 2.4GHz ยังคง “ทะลุผ่านกำแพง” ได้ดีกว่า
ในทางตรงกันข้าม อุปกรณ์ปลายทางที่เชื่อมต่อด้วยแถบความถี่ 2.4GHz นั้นมีราคาถูกกว่า ดังนั้นเมื่อคุณต้องการเราเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ต้องการความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูง คุณก็รู้แล้วว่าควรเลือกอะไร
ความเร็วในการรับส่งข้อมูลของ Wi-Fi 4 นั้นไปถึง 600Mbit/s (600 Mbps) ความเร็วในการดาวน์โหลดของสัญญาณบรอดแบนด์คือ 600 เมกะไบต์ ซึ่งนี่คือความเร็วทางทฤษฎี ในความเป็นจริงไม่มีอุปกรณ์ Wi-Fi 4 ใดที่สามารถเข้าถึงความเร็วในระดับดังกล่าวได้
Wi-Fi 5
โปรโตคอล 802.11ac (Wi-Fi 5) เปิดตัวในปี 2013 มาพร้อมแบนด์วิดธ์ความถี่วิทยุที่กว้างขึ้น (สูงสุด 160MHz) และเทคโนโลยีการมอดูเลตคำสั่งในปริมาณที่สูงขึ้น (256-QAM) ในขณะเดียวกัน ความเร็วในการรับส่งข้อมูลนั้นขยับไปสูงถึง 1.73Gbps
ต่อมามาตรฐาน 802.11ac wave2 ได้รับการเผยแพร่ในปี 2015 โปรโตรคอลใหม่นี้ทำให้ฟังก์ชัน beamforming และ MU-MIMO เป็นที่ถูกนำมาใช้งานมากขึ้น อย่างไรก็ดี 802.11ac นั้นรองรับเฉพาะช่องทางการเชื่อมต่อในย่านความถี่ 5GHz เท่านั้น
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ โปรโตคอล Wi-Fi เวอร์ชันนี้ปรับปรุงอัตราการรับส่งข้อมูล Wi-Fi และให้ความเร็วในการดาวน์โหลดที่สูงขึ้นสำหรับผู้ใช้งานส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดีโปรดทราบว่ามันเพิ่มประสิทธิภาพเฉพาะดาวน์ลิงก์หรือการเชื่อมต่อเพื่อการดาวน์โหลดเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มให้กับฝั่งอัปลิงก์หรือการเชื่อมต่อเพื่อการอัปโหลด
Wi-Fi 6
เมื่อเทียบกับ Wi-Fi 5 แล้ว Wi-Fi 6 (802.11ax) มีแบนด์วิดธ์เครือข่ายเพิ่มขึ้น 4 เท่า และจำนวนผู้ใช้งานพร้อมกันเพิ่มขึ้น 4 เท่า นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานได้ทั้งบนแถบความถี่ 2.4GHz และ 5GHz ได้อย่างอิสระ
ในแง่ของความเร็วเครือข่ายนั้นอาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ตามบ้านโดยเฉลี่ยมากนัก เพราะว่าในเวลานี้ขีดจำกัดสูงสุดของโฮมบรอดแบนด์ในเมืองส่วนใหญ่คือ 1,000 เมกะไบต์ (กิกะบิตบรอดแบนด์) ซึ่งการใช้งาน Wi-Fi 5 ยังเพียงพอที่จะควบคุมจัดการกับความเร็วของกิกะบิตบรอดแบนด์
สำหรับจำนวนผู้ใช้พร้อมกันนั้นมีผลกับผู้ใช้ตามบ้านบ้างแต่อาจไม่มากนัก หมายความว่าประสิทธิภาพโดยรวมอาจแย่ลงได้เพียงเพราะจำนวนตัวควบคุมในบ้านอัจฉริยะ หรือจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอัจฉริยะที่อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน
หากว่าเป็นก่อนหน้านี้มีสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์พีซีเพียงไม่กี่เครื่องที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายในบ้าน ตอนนี้มีตัวควบคุมไฟในบ้านมากกว่าสิบหรือยี่สิบอุปกรณ์ แต่บ้านอัจฉริยะก็ยังไม่จำเป็นต้องใช้ Wi-Fi 6 เสมอไป
ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะจำนวนมากเชื่อมต่อกับสิ่งที่เรียกว่า “ตัวควบคุมหลัก” ซึ่งเป็นตัวเชื่อมต่อกับเครือข่ายในบ้าน หากเป็นเช่นนั้น เราเตอร์ไร้สายจะ “เห็น” อุปกรณ์เพียงเครื่องเดียวที่เชื่อมต่อโดยตรงกับเครือข่าย
แต่สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานในระดับองค์กร พวกเขาต้องการอัตราการรับส่งข้อมูลสูงและมีผู้ใช้งานพร้อมกันหลายคน องค์กรจำนวนมากมีความต้องการที่แท้จริงสำหรับเครือข่าย 10 Gigabit หรือแม้แต่เครือข่ายมาตรฐานที่สูงกว่านั้น และจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ขององค์กรนั้นสูงกว่าผู้ใช้ตามบ้านมาก ซึ่งแน่นอนว่า Wi-Fi 5 ไม่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่าในระดับนั้นได้
นอกจากโปรโตคอล Wi-Fi 6 แล้ว ยังมีโปรโตคอล Wi-Fi 6E เพิ่มมาอีกด้วย โดย Wi-Fi 6E นั้นได้เพิ่มย่านความถี่ 6GHz ซึ่ง Wi-Fi 6 ในย่านความถี่ใหม่นั้นมีสัญญาณรบกวนน้อยลงและรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น
Wi-Fi 7
โปรโตคอล 802.11be (Wi-Fi 7) นั้นยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ทว่าอุปกรณ์ “เวอร์ชันรุ่นแรก ๆ ที่รองรับ “Wi-Fi 7” นั้นบางรุ่นเริ่มถูกนำเสนอในตลาดแล้ว
เป้าหมายของโปรโตคอล Wi-Fi 7 คือการเพิ่มอัตราทรูพุตของเครือข่ายไร้สาย WLAN เป็น 30Gbps (หรืออาจไปถึง 40Gbps) และยังมีการเข้าถึงข้อมูลด้วยเวลาหน่วงแฝงที่ต่ำ (เข้าถึงได้เร็ว)
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ โปรโตคอลทั้งหมดได้ทำการเปลี่ยนแปลงในเลเยอร์ PHY และเลเยอร์ MAC เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง
โปรโตคอลนี้สามารถรองรับผู้ใช้พร้อมกันได้มากกว่า 500 คนต่อแชนเนล และให้ความเร็วในการดาวน์โหลดที่เร็วกว่า Wi-Fi 6 ถึงสองเท่า ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์ 4K Blu-ray ขนาด 25GB ได้ภายในไม่กี่วินาที
ดูเหมือนว่าผู้ใช้รายแรกของเทคโนโลยีนี้น่าจะเป็นผู้ใช้งานในระดับองค์กร สำหรับผู้ใช้ตามบ้านอาจได้ประโยชน์โดยตรงจากอัตราการส่งข้อมูลในระดับนี้เมื่อเล่นเกม VR หรือใช้แอปฯ metaverse บางตัว
ที่มา: gizchina