fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

รีวิว Wilson Audio : Sabrina

จำได้ว่าในอดีตนานมาแล้ว ผมเคยถกกับนักออกแบบลำโพงคนหนึ่งในประเด็นที่ว่า คนออกแบบลำโพงควรจะเอา “ตู้ลำโพง” มาคิดคำนวณในการออกแบบด้วยหรือไม่.?

ซึ่งตอนนั้น ผมยอมรับว่า ผมเองก็ยังมีความเข้าใจที่ไขว้เขวกับ “ตู้ลำโพง” อยู่พอสมควร สืบเนื่องจากมีผู้ผลิตลำโพงของเดนมาร์กเจ้าหนึ่ง ยี่ห้อ System Audio ในสมัยโน้นได้เผยแพร่ข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า ตัวตู้ลำโพงที่มีมวลต่ำ (Low Mass) มีส่วนทำให้ได้เสียงที่ดี

ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็ไม่ได้ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นแนวทางออกแบบที่พยายามเอา resonance ของตัวตู้มาเสริมกับการทำงานของไดรเวอร์เพื่อ “ขยาย” ความดังของเสียงจากไดรเวอร์ให้มากขึ้น

เสียงที่ออกมาจะถูกขยายให้มีสเกลที่ใหญ่ขึ้นจนดูเกินตัวเมื่อเทียบกับขนาดของตัวตู้ที่มองเห็น ข้างต้นนั้นคือข้อดีที่ได้จากการเอาเรโซแนนซ์ของตู้มาเสริม แต่ในขณะเดียวกัน เทคนิคนี้ก็มีข้อเสียติดมาด้วย

นั่นคือทำให้ resolution ของเสียงด้อยลงโดยเฉพาะในระดับ Low Level Resolution รวมถึงไมโครไดนามิกก็แย่ลงด้วย

พูดถึงตัวตู้ อีกแนวคิดหนึ่งในอุดมคติก็คือ ต้องทำให้มีลักษณะ “ไร้ตู้” คือทำให้ตัวตู้ไม่ส่งผลหรือมีอิทธิพลต่อการทำงานของตัวไดรเวอร์ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้ได้เสียงที่ดีที่สุด เพราะเป็นเสียงที่ออกมาจากไดรเวอร์โดยตรง

Wilson Audio Sabrina
ความพิเศษเริ่มจากตัวตู้… ..แต่ก็ต้องยอมรับว่า การทำให้ตัวตู้ไร้ซึ่งอิทธิพลต่อเสียงจากการทำงานของไดรเวอร์เป็นเป้าหมายที่ฟังดูเป็นนามธรรมมาก ๆ เพราะคุณอาจจะเกิดความสงสัยว่า ถ้าตัวตู้มีปัญหา ทำไมไม่เอาตู้ออกไปเลย.?

เหมือนอย่างดีไซน์ของลำโพงแผ่นฟิล์มที่ไม่ต้องมีตู้.?? ไม่สามารถทำได้ หรือถ้าทำได้ก็เฉพาะไดรเวอร์เสียงกลางและแหลมเท่านั้นที่สามารถเอาตู้ออกไปได้

ในขณะที่วูฟเฟอร์เสียงทุ้มนั้นยังต้องการตัวตู้เข้ามาช่วยในการ “ปั๊ม” ความถี่ย่านต่ำให้มีมวลและความดังสูง ๆ ถ้าไม่มีตู้ช่วย เสียงทุ้มจะเบาและขาดพลังลงไปมาก ถ้างั้น.. โอเค จำเป็นต้องมีตู้ แล้วจะทำให้ตัวตู้ไม่ส่งผลต่อการทำงานของไดรเวอร์ได้อย่างไร.?

นี่คือคำถามที่ Dave Wilson กับทีมวิศวกรของ Wilson Audio รับรู้มาตั้งแต่แรกและใช้เป็นโจทย์ตั้งต้นในการพัฒนาตัวตู้มาโดยตลอด

ลักษณะตัวตู้ที่เรียวลู่ขึ้นด้านบน ส่งผลให้ได้มิติเสียงที่ดี
ทวีตเตอร์ซอฟท์โดมขนาด 1 นิ้วที่วิลสันตั้งชื่อเรียกมันว่า Convergent Synergy Tweeter

ซึ่งกลยุทธ์ที่เดฟ วิลสันกับทีมวิศวกรของเขานำมาใช้ในการแก้ปัญหาผลกระทบของตัวตู้ก็คือ พัฒนาวัสดุที่ใช้ทำตัวตู้ขึ้นมาเอง โดยอาศัยพื้นฐานความจริงที่ว่า วัสดุในธรรมชาติแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นไม้, อะลูมิเนียม, คอนกรีต ฯลฯ ต่างก็มี resonance structure ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมันเอง

ซึ่งส่งผลต่อคลื่นเสียงในระดับที่ไดรเวอร์สร้างขึ้นมา นักออกแบบลำโพงยุคก่อนที่ใช้วัสดุธรรมชาติเหล่านี้ทำตู้ลำโพงจะอาศัยการปรับจูนด้วยวงจรพาสซีฟครอสโอเวอร์ในช่วงท้ายของการออกแบบเพื่อ “ชดเชย” ความถี่เรโซแนนซ์ของวัสดุที่ใช้ทำตัวตู้สร้างขึ้นมา ซึ่งไป modulate กับ response curve ของไดรเวอร์จนทำให้บางความถี่เกิดเป็นหลุมหรือโด่งขึ้นมา

มิดเรนจ์ขนาด 5.75 นิ้ว ออกแบบมาใหม่ สามารถสร้างความถี่ที่ราบเรียบขึ้นไปได้ถึง 3.5kHz
 
วูฟเฟอร์ขับทุ้มขนาด 8 นิ้วตัวนี้ถูกใช้ในรุ่น Alexia เป็นครั้งแรก ได้ถูกโมดิฟายเพื่อใช้ในรุ่น Sabrina นี้

คล้ายกับต้องไปคอย “ดัด” กราฟเรสป้อนซ์ของไดรเวอร์ ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าเป็นการเข้าไปทำให้อะไร ๆ มันซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จะดีกว่ามั้ย.? ถ้าจะหาวัสดุที่เอามาทำตู้แบบที่มีเรโซแนนซ์ต่ำมาก ๆ

ความหมายก็คือ ไม่ให้ตัวตู้มันสร้างความถี่ใด ๆ ออกมานั่นเอง! นี่จึงเป็นที่มาของวัสดุผสม (composite materials) ที่ Vern Credille วิศวกรของวิลสันคิดค้นขึ้นมาและตั้งชื่อมันว่า X Material ซึ่งเป็นวัสดุที่บรรลุเป้าหมายที่วิศวกรของวิลสันตั้งเป็นโจทย์เอาไว้ นั่นคือ จะต้องมีเรโซแนนซ์ที่มีลักษณะเป็น monotonicity

คือเป็นเรโซแนนซ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มของความถี่เดียวที่ไม่แผ่ฐานกว้างมากจนเกินไป และเรโซแนนซ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องอยู่ในย่านความถี่ที่ “ไม่ตรง” กับย่านความถี่เสียงที่ไดรเวอร์สร้างขึ้นมาด้วย

ภายในตัวตู้ของ Sabrina ถูกแบ่งเป็นสองส่วน ด้านบนสำหรับมิดเร้นจ์และทวีตเตอร์ โดยมีท่อระบายเบสเล็ก ๆ

นี่คือเหตุผลทำให้ตัวตู้สำหรับไดรเวอร์แต่ละขนาดจึงมีส่วนผสมของวัสดุที่แตกต่างกัน ก่อนจะได้มาซึ่งวัสดุผสมที่ให้ชื่อว่า X Material พวกเขา (Vern Credille กับทีมของเขา) ได้ทำการทดลองวัดเรโซแนนซ์ของวัสดุประเภทต่าง ๆ เอาไว้เป็นกรณีศึกษามาหมดแล้ว เริ่มตั้งแต่ไม้แต่ละชนิดไปจนถึงอะลูมิเนียม ก่อนจะได้มาเป็น X Material ที่ว่านี้

Matching + Setup + FineTune & Listen
ขั้นตอนที่สนุกที่สุดสำหรับคนเล่นเครื่องเสียงก็คือขั้นตอนการเซ็ตอัปตำแหน่งของลำโพง ซึ่งขอบอกว่า Sabrina คู่นี้เซ็ตอัปสนุกมากเป็นพิเศษ เพราะพื้นฐานการออกแบบของลำโพงคู่นี้ถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงคุณสมบัติที่เอื้อต่อการนำเสนอ “รายละเอียดเสียง” ในระดับที่มากกว่ามาตรฐานทั่วไปอยู่แล้ว

นั่นทำให้มันเป็นลำโพงที่ใช้วัดความสามารถในการเซ็ตอัปลำโพงของคุณได้เป็นอย่างดี ถ้าฝีมือและหูของคุณถึง ยิ่งเซ็ตอัปละเอียดมากเท่าไหร่ คุณก็จะได้คุณภาพของเสียงที่ดีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

กำลังทดสอบกับแอมป์หลอดของ VTL

ในชีวิตนี้ผมเจอลำโพงลักษณะนี้มาแล้ว 2 คู่คือ Totem Acoustics รุ่น Model One กับ Thiel รุ่น CS2.4 คือต้องค่อย ๆ ขยับทีละนิดในการปรับจูนเสียง และทุกครั้งที่ขยับตัวตู้ไปจากตำแหน่งเดิมแค่ 2-3 มิลลิเมตร จะสามารถฟังออกถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับเสียงได้ทันที..

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับลำโพง Sabrina คู่นี้ก็คือว่ามันถูกออกแบบมาให้เซ็ตอัปในลักษณะที่ “ต้อง” เอียงหน้าลำโพงทั้งสองข้างให้ยิงเฉียงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังมากกว่าลำโพงทั่วไปเล็กน้อย เท่าที่ผมลองเซ็ตอัปแบบหน้าตรงดูพบว่าเสียงออกมาเละเทะมาก กระจัดกระจายและไม่มีโฟกัส

แต่ก่อนจะจับลำโพงเอียงหน้าเข้าหาตำแหน่งนั่งฟัง (ศัพท์ทางการของนักเซ็ตฯ ลำโพงคือ Toe-in) คุณต้องเริ่มด้วยการหาระยะห่างผนังด้านหลังซะก่อน ซึ่งผมพบว่า ลำโพงคู่นี้เป็นอีกหนึ่งคู่ที่ไม่ได้เดินตามกฎ “L/3 (1/3 x L)” หรือระยะห่างผนังหลังเท่ากับ “หนึ่งในสามของความยาวห้อง” เหมือนกับลำโพงส่วนใหญ่ทั่วไป

เพราะเมื่อผมลองจัดวางมันลงในตำแหน่ง L/3 พบว่า เสียงทุ้มจะบาง นำหนักของทุ้มต้น ๆ แทบจะหายไปเลย เหตุผลก็เพราะว่า ลำโพงคู่นี้ถูกปรับจูนตัวตู้มาให้ปลอดจากเรโซแนนซ์ในระดับที่แทบจะพูดได้ว่า “โดยสิ้นเชิง” ซึ่งจะส่งผลต่อการเซ็ตอัปตำแหน่งใน 2 ลักษณะ ดังนี้

1: ขับด้วยแอมป์ที่มีกำลังสำรองไม่เยอะ > กรณีนี้คุณต้องดันลำโพงทั้งสองข้างลงไปใกล้กับผนังหลังมากหน่อย เพื่อให้ผนังหลังช่วยผลักดันเสียงทุ้มออกมา

2: ขับด้วยแอมป์ที่มีกำลังสูงพอ > กรณีนี้คุณสามารถขยับลำโพงให้ห่างผนังด้านหลังออกมาได้ถึงระดับ L/3 ของห้องนั้น ซึ่งจะทำให้คุณได้เสียงทุ้มที่ออกมาจากไดรเวอร์ตรง ๆ มีการสะท้อนช่วยของผนังห้องน้อยกว่ากรณีแรก

แต่เนื่องจาก Sabrina ไม่ได้ระบุกำลังขับของแอมป์ที่แนะนำมาให้ คุณจึงไม่มีทางรู้เลยว่า กำลังขับของแอมป์แค่ไหนจึงจะเรียกว่าน้อยไป.. หรือมากไป.. สำหรับ Sabrina คู่นี้ ต้องทดลองดูอย่างเดียว

ช่วงแรกที่ผมทดลองขับ Sabrina ผมใช้อินติเกรตแอมป์ Arcam รุ่น A39 ที่มีกำลังขับ 240W ที่ 4 โอห์ม เสียงออกมาแค่พอฟังได้ ความแน่นของเสียงกับไดนามิกพีคยังไม่ค่อยดีนัก

ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านภาคจ่ายไฟ จากนั้นผมก็เปลี่ยนมาลองขับด้วยอินติเกรตแอมป์ Balanced Audio Technology รุ่น VK-3000SE ที่มีกำลังขับเท่ากับ 150W ที่ 8 โอห์ม และเบิ้ลได้เป็น 300W ที่ 4 โอห์ม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่ามากพอสมควรเมื่อประมาณการกับสเปคฯ ของลำโพงคู่นี้ (ความไว 87 dB @ 1W @ 1m @ 1 kHz / ที่อิมพีแดนซ์ปกติเท่ากับ 4 โอห์ม)

ผลจากการลองเซ็ตอัปไว้ที่ระยะห่างหลังเท่ากับ 1.87 m (L/3 ของ 5.60 m) พบว่า เสียงทุ้มค่อนข้างบาง โทนัลบาลานซ์ของเสียงเอนเอียงไปทางกลางขึ้นสูง จนเมื่อผมค่อย ๆ ดันลำโพงทั้งสองข้างให้ชิดผนังด้านหลังลงไปเรื่อย ๆ เพื่อปรับดึงเสียงทุ้มขึ้นมา จนมาได้โทนัลบาลานซ์ที่เข้าสู่จุดสมดุลที่ระยะห่างผนังหลังเท่ากับ 1.52 m เท่านั้น

และได้ระยะห่างระหว่างซ้าย-ขวาอยู่ที่ 1.96 m ซึ่งจุดนี้ทำให้ได้สมดุลเสียง (ปริมาณความถี่ตลอดทั้งย่านทุ้ม-กลาง-แหลม) ที่ใกล้เคียงกัน คือกลาง-แหลมมีและเบสก็ไม่บาง แต่เนื่องจากมีบางส่วนของเสียงทุ้มที่มาจากผนังช่วยดันออกมา

ผมพบว่า ย่านทุ้มลึก ๆ จะมีอาการนุ่มและอ่อนแรงปะทะไปนิดนึง ติดเนิบไม่พั้นชี่ แต่ก็เป็นเฉพาะในย่านทุ้มลึก ๆ เท่านั้น ส่วนในย่านทุ้มตอนกลางขึ้นมาไม่เนิบ แต่ให้มูฟเม้นต์ที่มีจังหวะจะโคน มีแรงกระแทก มีมวลฮาร์มอนิกต่ำ ๆ ที่พุ่งแผ่ตามหัวโน๊ตเบสออกมาให้สัมผัส

แต่เมื่อเซ็ตอัปซิสเต็มใหม่ เปลี่ยนแอมปลิฟายจากอินติเกรตแอมป์ BAT: VK-3000SE มาเป็นเพาเวอร์แอมป์ของ VTL รุ่น MB-185 Series III Signature ที่ให้กำลังขับในโหมดไทรโอดเท่ากับ 140W และ 225W ในโหมดเทรตโทรด (ปรีแอมป์ VTL รุ่น TL-5.5 Series II) ซึ่งเป็นแอมป์ที่มีกำลังสำรองสูงกว่า

ผมพบว่า ต้องทำการเซ็ตอัปตำแหน่งของลำโพง Sabrina ใหม่อีกรอบ เพราะที่ตำแหน่งเดิมเสียงทุ้มออกมาแน่นมากเกินไป หัวเสียงอัดเร็วแต่ไม่มีบอดี้และหางเสียงออกมารองรับ กลางก็ออกตึงตัว ไม่ค่อยผ่อนคลาย เมื่อผมลองเลือกโหมดของ MB-185 Series III Signature ไว้ที่ Triode เพื่อลดกำลังขับของแอมป์ลงมาอยู่ที่ 140W

พบว่า น้ำเสียงโดยรวมผ่อนคลายมากขึ้น อาการตึงตัวคลายลง แต่เสียงทุ้มก็ยังคงมีลักษณะกระชับตึงเกินไปแม้ว่าจะลองเลือก DF ไว้ที่ระดับต่ำแล้วก็ตาม

นั่นทำให้ความถี่ย่านกลางต่ำที่เป็นศูนย์รวมของเครื่องดนตรีประเภท rhythm section ของเพลงส่วนใหญ่ยังไม่เคลื่อนไหวไปตามจังหวะดนตรีอย่างถูกต้อง บีทดนตรียังเร่งไปนิด เมื่อผมค่อย ๆ ขยับดึงลำโพงให้ห่างผนังด้านหลังออกมาเพิ่มขึ้นทีละนิด ลักษณะเสียงก็มีท่าทีที่โอนอ่อนผ่อนปรนมากขึ้น ฐานเสียงต่ำ ๆ เริ่มปรากฏออกมามากขึ้น

รวมถึงหางเสียงในย่านกลางและแหลมที่เป็นฮาร์มอนิกก็เริ่มทอดยาวออกไปมากขึ้น หัวโน๊ตลดอัตราเร่งลงมา และแล้วทุกอย่างก็มาลงตัวที่ระยะห่างหลังเท่ากับ 1.68 m ในขณะที่ระยะห่างซ้าย-ขวายังคงอยู่ที่ 1.96 m ณ จุดนี้ผมได้เสียงโดยรวมที่สดขึ้น กลาง-แหลมฉีดไดนามิกได้เต็มสเกลมากขึ้น

ทุกความถี่ตั้งแต่ทุ้มลึก ๆ ขึ้นมาจนถึงแหลมตอนปลายเคลื่อนไหวได้กระฉับกระเฉงและมีความฉับไวมากขึ้น เน้นย้ำมากขึ้น สวิงหนัก-เบาได้กว้างขึ้น มิตินิ่งขึ้น โฟกัสเป๊ะมากขึ้น ตัวเสียงก็กลมและมีขนาดตัวเสียงที่กะทัดรัดลง สามารถแยกระหว่างต้นเสียงที่เป็นอิมแพ็คกับบอดี้ที่เกิดจากสัญญาณคู่ควบจนไปถึงส่วนที่เป็นฮาร์มอนิกออกมาจากกันได้ครบทั้งสามสถานะ

ความคลุมเครือในย่านทุ้มแทบจะมหายหายไปจนหมด ณ จุดนี้ผมไม่มีปัญหาในการแยกเสียงกระเดื่องกลองออกมาจากเสียงตบเบสไฟฟ้าอีกแล้ว

(Last Train To London ของ Electric Light Orchestra จากอัลบั้ม Discovery / WAV 16-44.1) เมื่อขับด้วย MB-185 Series III Signature ผมพบว่า ลำโพง Sabrina คู่นี้ให้มิติเวทีเสียงที่กว้างขวางเป็นพิเศษ

แต่ที่น่าประทับใจสุด ๆ ก็เห็นจะเป็นการจัดเรียงเลเยอร์ของชั้นดนตรีที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นสามมิติของเวทีเสียงได้อย่างง่าย ๆ ไม่ต้องเพ่งฟังเลย ถ้าเพลงนั้นบันทึกมามีมิติเสียงที่แผ่กลมเป็นสามมิติจริง ๆ ลำโพงคู่นี้จะถ่ายทอดมันออกมาให้ได้ยินแบบนั้น (เมื่อขับด้วยแอมป์ที่มีสมรรถนะสูงพออย่าง MB-185 Series III Signature คู่นี้)

แต่… กว่าจะได้ส่วนนี้ออกมา ผมลืมเน้นไปว่า คุณต้องไม่ลืมนะว่า การค่อย ๆ ปรับจูนขยับตำแหน่งของลำโพงไปทีละนิดก็ไม่ต่างอะไรกับการค่อย ๆ หมุนเลนส์ถ่ายภาพเพื่อขยับหาโฟกัสที่เป๊ะพอดี ต้องไม่ลืมว่า เพราะแผงหน้าของ Sabrina มันมีลักษณะเอียงเฉียงไปทางด้านหลัง ไม่ตั้งฉากกับพื้น

ฉะนั้น ทุกครั้งที่มีการขยับตำแหน่ง ต้องไม่ลืมตรวจเช็กด้วยว่า แผงหน้าของลำโพงทั้งสองข้างอยู่ในมุมเงยเดียวกันรึเปล่า.? กรณีถ้าพื้นห้องของคุณไม่เรียบสนิท อันนี้จะเหนื่อยหน่อย เพราะคุณต้องคอยหมุนเดือยแหลมที่ฐานของตัวตู้เพื่อปรับระดับของตัวตู้ให้ตั้งฉากกับพื้นจริง ๆ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียด แต่ขอบอกว่า.. ทำเถอะครับ เพราะผลลัพธ์ที่ได้กลับมามันคุ้มค่ามากสำหรับลำโพงคู่นี้

ไม่ว่าจะเป็นโฟกัสของตัวเสียงที่ชัดและนิ่ง ไปจนถึงซาวด์สเตจที่แผ่ขยายออกมาครบทั้งสามมิติ กว้าง, ลึก และสูง ตลอดไปจนถึงการแบ่งระนาบความลึกของซาวน์สเตจลงไปเป็นชั้น ๆ จากการทดลองขับด้วยแอมป์สามชุดผ่านไป

ผมพอได้ข้อสรุปสำหรับการแมตชิง Sabrina คู่นี้มาคร่าว ๆ ว่า ตัวเลขกำลังขับของแอมป์โซลิดสเตทควรจะอยู่ที่ระดับ 200-300W ต่อแชนเนลที่โหลด 4 โอห์มสำหรับแอมป์ที่มีภาคจ่ายไฟไม่อลังการมาก (ส่วนมากจะเป็นอินติเกรตแอมป์)

แต่ถ้าเป็นแอมป์หลอด ตัวเลขกำลังขับต่อข้างควรจะอยู่ระหว่าง 100-200W ที่โหลด 4 โอห์มก็พอไหว ถ้าภาคจ่ายไฟถึง ๆ เมื่อทุกอย่างลงตัว ตั้งแต่แมตชิง เซ็ตอัปตำแหน่ง มาจนถึงการปรับจูน ผมก็เริ่มมองหาคุณภาพเสียงในระดับที่ลำโพงทั่วไปให้ไม่ได้จาก Sabrina คู่นี้..

ทั้งนี้ก็เพื่อค้นหาคำตอบว่า ตัวตู้ที่ทำด้วยวัสดุพิเศษ (ควรจะ) ให้อะไรกับเราบ้าง.? เพราะถ้าสิ่งที่มันให้ออกมาก็แค่พื้น ๆ ไม่ได้มีอะไรที่แปลกแตกต่างไปจากลำโพงที่ใช้ตัวตู้ไม้ MDF ทั่วไป จะได้รู้กันว่า สิ่งที่เดฟ วิลสันกับทีมงานของเขาจับต้องอยู่ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าอากาศธาตุกับความเพ้อฝัน

ต้องยอมรับว่า มันไม่ง่ายที่จะควานหา “ความแตกต่างในน้ำเสียง” ของลำโพงคู่นี้ที่บอกได้ว่ามันแตกต่างจากลำโพงตู้ไม้ MDF ตรงนั้นตรงนี้ แต่ถ้าคุณคุ้นเคยกับเสียงของลำโพงตู้ไม้ MDF มานานพอเหมือนผม เรียกว่านานจนชินเสียงแล้ว เมื่อขยับเปลี่ยนมาฟังลำโพง Sabrina คู่นี้คุณจะจับสังเกตได้บางอย่างตั้งแต่นาทีแรก ๆ ที่ได้ยินเสียงของมัน

แม้ว่าในวินาทีแรก ๆ อาจจะชี้ได้ไม่ชัดนัก แต่ถ้าประสาทหูไวพอ ก็ไม่ยากที่จะผิดสังเกตอย่างที่ผมได้ยิน ทีแรกนั้นผมพยายามตั้งใจฟังรายละเอียดในระดับความดังต่ำ ๆ (Low Level Resolution) ซึ่งมักจะปรากฏออกมาทุกครั้งที่ซิสเต็มมี “ความสงัด” เกิดขึ้น

อย่างเช่น เมื่อระบบไฟสะอาดขึ้นและจ่ายไฟได้นิ่งขึ้น หรือเมื่ออะคูสติกในห้องฟังถูกปรับจูนจนลงตัวมากขึ้น ฯลฯ แต่ในกรณีที่ตัวตู้ลำโพงมีความสงัดมากขึ้น สิ่งที่ได้ยินออกมามันไม่ใช่แค่ Low Level Resolution ที่ถูกเปิดเผยออกมามากขึ้นเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินจากลำโพงคู่นี้ก็คือ “คอนทราสต์” ของไดนามิกที่ดีขึ้นด้วย ทุกครั้งที่นักดนตรีขยับเปลี่ยนการบรรเลงจากโน๊ตตัวหนึ่งไปสู่โน๊ตตัวถัดไป.. และถัดไป

ผมสาบานได้ว่า ผมได้ยินหัวเสียงของโน๊ตแต่ละตัวที่เกิดจากแรงกระทำของนักดนตรีบนเครื่องดนตรีนั้นต่อเนื่องกันไปครบทั้งหมด ลอยเหนือฮาร์มอนิกขึ้นมาอีกชั้น ไม่มีหัวเสียงของโน๊ตตัวไหนเลยที่ถูกกลบทับ หรือหลุดหายไปจากโสตการรับฟัง

กับเพลงเดิม ๆ ที่เคยฟังมาแล้วนับร้อยครั้งนั่นแหละ.! (Pictures At An Exhibition / Baron Janis จากอัลบั้มชุด Baron Janis plays Moussorgsky / Mercury Living Presence / DSD64) คุณสมบัติอีกประการหนึ่งของลำโพงคู่นี้ที่ทำให้ผมเห็นถึงคุณประโยชน์ของตัวตู้ที่ดีที่ส่งผลต่อคุณภาพของเสียง

นั่นคือคุณสมบัติในส่วนของ “ความชัดใส” ที่เกิดขึ้นกับเสียงตลอดทั้งย่านความถี่ ซึ่งมรรคผลที่ได้จากคุณสมบัติข้อนี้คือทำให้ผมสามารถ “มองเห็น” รายละเอียดของเสียงที่เกิดขึ้นในเพลงที่ฟังได้อย่างชัดใสทุก ๆ ความถี่เสียง

ซึ่งโดยปกติแล้ว ลำโพงที่ไม่สามารถขจัดเรโซแนนซ์ของตัวตู้ออกไปได้อย่างหมดจดจริง ๆ มักจะให้เสียงในย่านทุ้มที่ขมุกขมัวและขุ่นทึบ ส่งผลให้ไม่สามารถแยกแยะรายละเอียดของเสียงโน๊ตดนตรี ที่เกิดจากเครื่องดนตรีหลายชิ้นที่มี “ความถี่ต้นกำเนิด (fundamental)” อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน และเล่นอยู่ในเวลาเดียวกัน ออกมาได้อย่างชัดเจน

ถ้าลำโพงคู่ไหน ให้เสียงที่ขุ่นและขมุกขมัวตั้งแต่ย่านเสียงกลาง (midrange) ลงไปก็นับว่าตัวตู้แย่มาก ซึ่งมักจะพบได้ในลำโพงที่ใช้ตัวตู้ทำมาจากไม้ MDF ที่ไม่ได้ผ่านการคาดโครงอย่างดีพอ สำหรับลำโพงที่ใช้ตัวตู้ทำด้วยไม้ MDF แต่ผ่านการออกแบบผนังตู้ไม่ให้ขนานกัน และมีการดามโครงด้านในอย่างแน่นหนาก็มักจะช่วยขจัดเรโซแนนซ์ของตัวตู้ออกไปได้มากกว่า

ส่วนใหญ่จะเป็นลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ ที่มีราคาสูง ๆ ที่ลงทุนออกแบบตู้ลักษณะที่ว่านี้ ซึ่งถ้าลำโพงระดับนี้จะยังคงมีปัญหาเสียงขุ่นทึบอยู่บ้างก็มักจะไปเกิดกับความถี่ที่ต่ำมาก ๆ และในจังหวะที่เปิดดังมาก ๆ ในขณะที่ย่านเสียงตั้งแต่กลางขึ้นไปมักจะปลอดจากเรโซแนนซ์

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ไม้ MDF ก็ไม่ใช่วัสดุที่ดีที่สุดสำหรับตัวตู้ลำโพง ส่วนวัสดุที่ดีที่สุดสำหรับทำตู้ลำโพงนั้นก็อาจจะไม่ได้มีอยู่ในโลกใบนี้ ใครที่คุ้นเคยกับเสียงของลำโพงที่ใช้ตัวตู้ทำมาจากไม้ MDF อาจจะรู้สึกแปลกหูเมื่อได้ฟังเสียงของลำโพงประเภทที่ใช้ตัวตู้ที่ทำมาจากวัสดุประเภทอื่นที่ไม่ใช่ไม้อย่างเช่น Sabrina คู่นี้..

ขออนุญาตกลับมาที่ “ความชัดใส” อีกที.. ที่ผมได้ยินจากลำโพง Sabrina คู่นี้ มันคืออะไรที่ต้องถกแถลงกันเป็นพิเศษ เพราะมันอาจจะไม่ใช่ความชัดใสในความหมายที่หลาย ๆ คนคุ้นเคย โดยเฉพาะถ้าเป็นคนที่ยังไม่เคยฟังเสียงของลำโพงที่ใช้ตัวตู้ทำมาจากวัสดุพิเศษมาก่อน

จุดที่ทำให้สะกิดใจในประเด็นนี้เกิดขึ้นตอนที่ผมลองฟังอัลบั้มชุด บ้าหอบฟาง ของ อัสนี-วสันต์ โชติกุล เป็นไฟล์ wav 16/44.1 ที่ผมริปมาจากแผ่นซีดี (เล่นผ่านเครื่องเล่นไฟล์เพลง network player ของ Opera/Consonance รุ่น Reference 8 / 20th Anniversary) ซึ่งผมมักจะใช้เพลง “กาละเทศะ” แทรคที่ 5 ในอัลบั้มชุดนี้ในการทดสอบประสิทธิภาพในการถ่ายทอดความแม่นยำของความถี่เสียงของลำโพงมาโดยตลอด

ในแทรคนี้คนมิกซ์เสียง (ไม่ได้แจ้งชื่อไว้ แจ้งไว้แต่คนบันทึกเสียงคือ Gary Edwards) ได้จัดให้เสียงกลองกระจายครอบคลุมไปทั่วพื้นที่อากาศระหว่างลำโพงซ้ายและขวา ซึ่งลำโพง Sabrina คู่นี้ทำให้ผมได้ยินเสียงหวดกลองที่หลุดลอยออกไปอยู่ในอากาศเต็ม ๆ เสียงโดยไม่มีส่วนที่เกาะติดอยู่ที่ตัวลำโพงเลยแม้แต่น้อย

นอกจากนั้น เสียงตีกลองแต่ละครั้งยังถูกแยกตำแหน่งออกจากกันอย่างเด็ดขาดในช่วงสร้อยของเพลง ซึ่งผมได้ยินเสียงกลองที่แยกออกไปทางด้านซ้ายและขวาของเวทีเสียงสลับไป-มาโดยไม่รู้สึกเลยว่ามันดังออกมาจากไดรเวอร์ของลำโพงทั้งสองตัวที่วางอยู่เบื้องหน้า

ความรู้สึกขณะนั้นเหมือนนั่งฟังอยู่หน้าวงดนตรีมากกว่า (หรี่ไฟให้สลัวจะยิ่งฟินมาก!) ตัวตู้ที่มีเรโซแนนซ์ต่ำมาก ๆ อย่างกรณีของลำโพง Sabrina คู่นี้ จะพูดให้ถูกก็ต้องพูดว่า เป็นตัวตู้ที่ถูกผลิตขึ้นมาด้วยการคำนวณและควบคุมเรโซแนนซ์ของตัวตู้ให้ไปอยู่ในย่านความถี่ที่เลยออกไปจากย่านความถี่ที่ไดรเวอร์ทำงาน

ซึ่งเป็นวิธีกำจัดเรโซแนนซ์โดยไม่ต้องใช้ filter ที่วงจรครอสโอเวอร์เน็ทเวิร์คเข้ามาช่วย มีผลทำให้เรโซลูชั่นของเสียงในระดับ Low Level ปรากฏขึ้นมาได้อย่างครบถ้วน ไม่ถูกวงจรฟิลเตอร์กดให้จมหายไป

ผมเชื่อตามนี้ทันทีหลังจากทดลองฟังอัลบั้มชุด Amused To Death เวอร์ชั่น 2015 ของ Roger Waters (DSD64 stereo จากแผ่น SACD) เพราะ Sabrina คู่นี้ทำให้ผมได้ยินสรรพเสียงต่าง ๆ ที่แผ่กระจายปูเป็นแบ็คกราวนด์อยู่ด้านหลังของแต่ละช่วงเพลงในอัลบั้มนี้ออกมามากมายแทบจะไม่ต่างไปจากฟังจากหูฟังดี ๆ เลย.!!

และหลังจากทดลองฟังเพลงคลาสสิกวงใหญ่อีก 3-4 อัลบั้ม ทั้งจากงานบันทึกเสียงของค่าย RCA Living Stereo, Mercury Living Presence และ Decca ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสามารถในการถ่ายทอดรายละเอียดเสียงในระดับความดังต่ำ ๆ ที่เยี่ยมยอดมาก ๆ ของลำโพงคู่นี้..

ลำโพงตู้ไม้ MDF ระดับไฮเอ็นด์ที่ดีไซน์ “คาดโครง-แบ่งตู้-แดมป์ภายใน” กันระดับเทพจริง ๆ ที่สามารถให้ความชัดใสของพื้นเสียงได้ใกล้เคียงกับ Sabrina คู่นี้ก็มีนะครับ

แต่ที่ผมผิดสังเกตตั้งแต่นาทีแรก ๆ ก็คือ “ตัวเสียง” แต่ละชิ้นเสียงที่ปรากฏออกมา คือผมพบว่า ตัวเสียงที่ได้จาก Sabrina คู่นี้มันให้ส่วนที่เป็น fundamental หรือจุดกำเนิดของตัวเสียง หรือแกนกลาง (nucleus) ของตัวเสียงที่มีความควบแน่นของเนื้อเสียงมากกว่าที่ได้ยินจากลำโพงตู้ไม้ MDF ทั่วไป

กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบกัน มวลเนื้อที่เป็นแกนกลางของตัวเสียงที่ได้จากตู้ไม้ MDF จะมีลักษณะ “บวมน้ำ” ไม่กระชับตึงเท่าและไม่อัดแน่นเท่ากับที่ได้ยินจาก Sabrina คู่นี้

แต่คุณสมบัตินี้ก็เป็นส่วนที่ต้องพิถีพิถันเพื่อให้ได้มา ไม่ว่าจะในแง่ของการแมตชิง-เซ็ตอัป-ปรับจูน ซึ่งต้องใช้ความละเอียดมากขึ้น (อันดับแรกแอมป์ต้องถึงก่อนเลย ผมเห็นผลชัดมากเมื่อตอนเปลี่ยนมาใช้เพาเวอร์แอมป์ MB-185 Series III Signature อัดมัน)

สรุป
ลำโพงเป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีความสำคัญที่สุดในซิสเต็ม มันเป็นด่านสุดท้ายที่จะถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณใส่เข้าไปในซิสเต็มออกมา ในการสร้าง good sound audio system คุณต้องเลือกลำโพงก่อนเป็นอันดับแรก เถียงไม่ได้เลยว่า ลำโพงยี่ห้อ Wilson Audio มีเสน่ห์มากที่สุดในขณะนี้ แต่ละรุ่นที่ทำออกมาช่วงหลัง ๆ นี้ล้วนดึงดูดใจไปซะหมด

แต่ถ้าจะให้ผมเรียงลำดับความสนใจใคร่อยากเป็นเจ้าของของผมเอง ผมยกให้ Sabrina คู่นี้เป็นลำโพงรุ่นที่น่าเป็นเจ้าของมากที่สุด.! ไม่ใช่เพราะราคาอย่างเดียว

แต่ทั้งความสวยงามของมัน มันดูคล้ายสาวร่างเล็กแต่มีทรวดทรง และที่สำคัญที่สุดก็คือ มีคุณภาพเสียงที่ให้ได้ทั้งความน่าพอใจตามแบบอย่างที่นักเล่นเครื่องเสียงอยากได้ และให้ได้ทั้งความเป็นดนตรีที่นักฟังเพลงตัวจริงอยากนั่งฟังไปทั้งวัน.!!


นำเข้าและจัดหน่ายโดย
บริษัท DECO 2000 จำกัด
โทร. 0-2256-9700
ราคา 590,000 บาทต่อคู่ (สีมาตรฐาน)

ธานี โหมดสง่า

นักเขียนอาวุโสมากประสบการณ์ เจ้าของวลี "เครื่องเสียงและดนตรีคือชีวิต"