fbpx
REVIEW

รีวิว Resonessence Labs : INVICTA MIRUS Pro

ผมเคยทดสอบรุ่น INVICTA MIRUS ไปแล้วสักสองปีได้มั้ง ซึ่งตัวนั้นเป็นเวอร์ชั่นเก่า ใช้ชิป DAC ของ ESS Technologies เบอร์ ES9018 จำนวน 2 ตัว

ในขณะที่ INVICTA MIRUS Pro ตัวที่ผมกำลังจะพูดถึงคราวนี้ (ต่อไปจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า MIRUS Pro) เป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด ออกแบบบนโครงสร้างพื้นฐานเดียวกัน แต่เปลี่ยนมาใช้ชิป DAC รุ่นใหม่กว่า คือ ES9028 ซึ่งเป็นชิปที่ปรับปรุงคุณภาพขึ้นมาจากรุ่นดัง ES9018 นั่นเอง

รูปร่างหน้าตา + อินพุต & เอาต์พุต
รูปร่างหน้าตาของ MIRUS Pro เหมือนกับเวอร์ชั่นก่อนที่ผมเคยทดสอบไปแล้วแทบจะทุกจุด ผมว่าผู้ผลิตใช้ตัวถังเดียวกันกับเวอร์ชั่นเก่านั่นแหละ รายละเอียดดูจากภาพประกอบก็แล้วกัน..

A : จอ OLED ใช้แสดงผลและแสดงข้อมูลในการปรับแต่งเมนู
B : แสดงความถี่แซมปลิ้งของสัญญาณอินพุต
C : ปุ่มที่ใช้ปรับวอลลุ่มและเลือกหัวข้อต่าง ๆ ในเมนู ด้วยวิธีหมุนและกด
D : กดเพื่อเข้าใช้เมนู/ออกจากการใช้เมนู
E : ควบคุมการเลือกไฟล์เพลงถอยหลัง / กลับไปแทรคก่อนหน้า
F : ควบคุมการเลือกไฟล์เพลงเดินหน้า / ข้ามไปแทรคต่อไป
G : เลือกฟิลเตอร์
H : ช่องใส่ SD card

A : ช่องเอาต์พุตของสัญญาณอะนาลอกแบบบาลานซ์ (XLR) ด้านซ้ายคือแชนเนล R และขวามือคือแชนเนล L
B : ช่องเอาต์พุตของสัญญาณอะนาลอกแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์ (RCA) ด้านบนคือแชนเนล R ด้านล่างคือแชนเนล L
C : ช่องอินพุตสัญญาณดิจิตัล SPDIF มาตรฐาน AES/EBU
D : ช่องต่อสัญญาณ clock จากภายนอก
E : ช่องอินพุตสัญญาณดิจิตัล SPDIF มาตรฐาน BNC
F : ช่องสัญญาณดิจิตัล TOSLINK Output (ซ้าย) และ TOSLINK Input (ขวา)
G : ช่องต่อ USB
H : ช่อง HDMI สำหรับสัญญาณภาพมอนิเตอร์
I : สวิทช์เปิด / ปิดไฟเข้าเครื่อง
J : ขั้วต่อสายไฟเอซีแบบสามขาแยกกราวนด์

เซ็ตอัพ
เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ผมแนะนำให้ใช้สาย HDMI มาต่อภาพมอนิเตอร์เข้าจอครับ ถ้าไม่มีจอมอนิเตอร์เล็ก ๆ ใช้ทีวีก็ได้ มันจะดูง่ายกว่าดูจากจอของตัวเครื่องโดยตรง เพราะคุณจะมองเห็นรายการต่าง ๆ ในเมนูได้พร้อมกันทั้งหมดบนหน้าจอเดียว

ถ้าดูผ่านจอเครื่องคุณต้องหมุนปุ่มเลื่อนลงมาดูที่ละรายการ ไม่สะดวก อาจมีงงได้ง่าย

ext.DAC ตัวนี้มีฟังก์ชันที่เกี่ยวข้องกับเสียงอยู่ 2-3 อย่าง อย่างแรกที่คุณต้องเข้าไปปรับตั้งก่อนจะเริ่มใช้งานนั่นคือ Volume control ซึ่งคุณสามารถปรับตั้งระดับความดังของเสียงให้เริ่มต้นที่จุดใดจุดหนึ่งทุกครั้งที่เปิดเครื่องได้ เค้าเรียกฟังก์ชันนี้ว่า start-up level ค่อนข้างจำเป็นกรณีที่คุณต้องการใช้ภาคปรีแอมป์ในตัว MIRUS Pro เพื่อไปขับเพาเวอร์แอมป์โดยตรง (เอาต์พุตทั้งช่อง XLR และ RCA ของ MIRUS Pro ปล่อยสัญญาณพร้อมกัน)

แต่ถ้าคุณใช้เอาต์พุตของ MIRUS Pro กับปรีแอมป์หรืออินติเกรตแอมป์ที่มีวอลลุ่มคอนโทรล ให้ตั้งไว้ที่ Fixed Level ฟังก์ชัน Fixed Level ของ MIRUS Pro ตัวนี้ ถือว่าเป็นไฮไล้ท์นะครับ..

คือถ้าเข้าไปดูในเมนูคุณจะพบว่า ที่ตำแหน่ง Fixed Level ของ MIRUS Pro ตัวนี้เขาเปิดอ๊อปชั่นให้คุณสามารถเลือกระดับเกนของสัญญาณอะนาลอกเอาต์พุตได้ ตั้งแต่ระดับสูงสุดคือ 4.80V เทียบออกมาเป็นความดังคือ -0.0dB คือดังสุด

ซึ่งคุณสามารถค่อย ๆ ปรับลดเกนของสัญญาณอะนาลอกเอาต์พุตของช่อง XLR และ RCA ของ MIRUS Pro ลงไปได้สเตปละ 0.5dB ปรับลงไปได้เรื่อย ๆ จนไปถึงจุดต่ำสุดที่ 48mV ซึ่งจะทำให้ระดับความดังของเสียงเบาลงเท่ากับ -40.0dB เมื่อเทียบกับความดังของเสียงที่ระดับเกนสูงสุด

วิธีการเข้าถึงและปรับตั้งค่า Fixed Level :
3-1 : กดปุ่มเมนู (A) หนึ่งครั้ง
3-2 : หน้าจอดิสเพลย์ของ MIRUS Pro จะเปลี่ยนไปแสดงหัวข้อต่าง ๆ ในเมนู ตามภาพ ให้หมุนปุ่มใหญ่ ๆ ทางขวาของหน้าปัดเพื่อเลือกหัวข้อเมนู “Invicta Options” จากนั้นก็กดปุ่มหมุนหนึ่งครั้งเพื่อเจาะเข้าไปในเมนูนี้
3-3 : จากนั้นก็หมุนปุ่มเลือกหัวข้อย่อยในเมนู Invicta Options ไปที่หัวข้อ “Fixed Level” (ศรชี้สีแดง) จากนั้นก็กดปุ่มหมุน (ลูกศรสีฟ้า) หนึ่งครั้งเพื่อเจาะเข้าไปในเมนู “Fixed Level”
3-4 : (รูปบน 1) ค่า Fixed Level สูงสุดที่สามารถเลือกได้คือ -0.0dB เทียบเป็นความแรงสัญญาณสำหรับเอาต์พุต XLR = 4.8V และสำหรับเอาต์พุต RCA = 2.4V ส่วนค่า Fixed Level ต่ำสุดที่เลือกตั้งได้คือ -40.0dB เทียบเป็นความแรงสัญญาณสำหรับเอาต์พุต XLR = 48mV และสำหรับเอาต์พุต RCA = 24mV (รูปกลาง 2)

สมมุติว่า อินพุต XLR ของแอมป์ที่คุณจะเอามาใช้ด้วยกัน ระบุความไวเอาไว้เท่ากับ 2.85V คุณก็เลือกตั้งค่า Fixed Level ไว้ที่ค่านี้ได้เลย ซึ่งเท่ากับการลดเกนเอาต์พุตของ MIRUS Pro ลงมาอยู่ที่ 4.5dB นั่นเอง (รูปล่างสุด 3)

สังเกตว่า เมื่อคุณปรับลดเกนของสัญญาณ Fixed Level จากระดับสูงสุดคือ -0.0dB ลงมาเรื่อย ๆ คุณจะเห็นว่า โวลเตจหรือความแรงของสัญญาณเอาต์พุตจะลดต่ำเป็นสัดส่วนลงเรื่อย ๆ เช่นกัน อย่างในภาพนี้ เมื่อทดลองลดเกนของสัญญาณ Fixed Level ลงไปอยู่ที่ -7.5dB จะพบว่า ความแรงของสัญญาณเอาต์พุตที่ช่อง XLR จะลดลงมาอยู่ที่ 2.02V

ส่วนที่ช่อง RCA จะลดลงมาอยู่ที่ 1.01V แต่ถ้าไม่มีค่า Fixed Level ที่ตรงกับความไวของช่องอินพุตบนตัวแอมป์พอดี ๆ ให้เลือกค่าที่ใกล้เคียงมากที่สุดแล้วลองฟังเสียงดู (ถ้าเลือกตั้งค่า Fixed Level ไว้สูงกว่าความไวของอินพุตที่แอมป์ระบุไว้ในสเปคฯ โทนเสียงจะออกไปทางสว่าง (bright) มากขึ้น และตรงข้าม ถ้าปรับตั้งค่า Fixed Level ไว้ต่ำกว่าความไวของอินพุตที่แอมป์ระบุไว้ โทนเสียงจะออกไปทางหม่น (dark) ลงมากขึ้น

นั่นก็หมายความว่า คุณสามารถใช้การปรับปริมาณของดิจิตัลวอลลุ่มของ ext.DAC ตัวนี้ในการทำ gain matching กับ input gain ของช่องอินพุตบนตัวปรีแอมป์หรืออินติเกรตแอมป์ได้ ขอเพียงให้รู้สเปคฯ Input sensitivity ของปรีแอมป์หรืออินติเกรตแอมป์ที่จะเอามาใช้งานร่วมกับ MIRUS Pro ตัวนี้เท่านั้น

เมื่อรู้ค่าแล้ว คุณก็เลือกเอาต์พุตของ MIRUS Pro ให้เท่ากันหรือใกล้เคียงกับค่า Input Sensitivity ที่อินพุตของแอมป์เท่านั้นเอง ตัวอย่างเช่น ผมใช้ MIRUS Pro กับอินติเกรตแอมป์ Marantz รุ่น PM-10 โดยเชื่อมต่อสัญญาณกันทางช่อง XLR

หลังจากเช็คสเปคฯ ของ PM-10 แล้วได้ตัวเลขความไว (sensitivity) ของช่องอินพุต XLR อยู่ที่ 880mV ที่โหลด 40kOhm ผมจึงลองเลือกเกนเอาต์พุตช่อง XLR ของ MIRUS Pro ไว้ที่ 853mV ซึ่งใกล้เคียงกับความไวของช่องอินพุต XLR ของตัว PM-10 มากที่สุด ผลคือ เสียงออกมาดีมาก.. โทนเสียงเรียบแฟลต

แม้จะเร่งวอลลุ่มขึ้นไปสูง ๆ ก็ไม่มีอาการโอเว่อร์โหลดที่อินพุตออกมาให้ได้ยิน สามารถใช้วอลลุ่มของ PM-10 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เต็มสเกล ซึ่งต้องขอชมเชย MIRUS Pro อย่างมากในประเด็นนี้ เพราะหา external DAC ที่มีฟังก์ชันแบบนี้ได้ยากมาก..!!

ทดลองต่อภาพมอนิเตอร์จากช่อง HDMI มาออกจอขนาดเล็ก ช่วยให้การปรับตั้งเมนูทำได้ง่ายขึ้นมาก

อย่างในภาพนี้ ผมกำลังเลือกรูปแบบของวงจรดิจิตัล ฟิลเตอร์ ซึ่งมีให้เลือกตั้ง 7 รูปแบบ ต้องลองฟังทีละแบบ แล้วเลือกรูปแบบที่ใช้กับซิสเต็มของเราแล้วให้เสียงออกมาตรงใจเรามากที่สุด พอมีจอมอนิเตอร์แยกออกมาแบบนี้ก็ทำให้งานง่ายขึ้นเยอะ..

นอกจากจะใช้เป็นจอมอนิเตอร์ตอนปรับตั้งเมนูแล้ว ตอนเล่นไฟล์เพลงทางช่อง SD card ยังใช้เป็นจอแสดงรายละเอียดของไฟล์เพลงที่กำลังเล่นได้ด้วย มีทั้งภาพปกอัลบั้ม, ชื่อเพลง, ชื่ออัลบั้ม, ชื่อศิลปิน, ประเภทฟอร์แม็ตของไฟล์, ลำดับของแทรคและจำนวนแทรคทั้งหมด, เวลาที่กำลังเล่นและความยาวของแทรคที่กำลังเล่นครบหมด.. เจ๋งมาก!

อีกคุณสมบัติของ MIRUS Pro ที่มีผลกับเสียงมาก ซึ่งคุณไม่ควรจะละเลย นั่นคือวงจร digital filter ที่เค้ามีมาให้เลือกใช้ถึง 7 ชนิด มองให้เข้าใจง่าย ๆ DF เหล่านี้ก็เหมือนกับวงจร EQ ที่ปรับค่าคงที่มา เอาไว้ให้คุณเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคลิกของแอมป์+ลำโพงของคุณ

หรือจะพูดให้ถูกก็คือ ใช้ปรับจูนเอาต์พุตของ MIRUS Pro เข้ากับบุคลิกซิสเต็มของคุณเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงและบุคลิกเสียงที่ถูกใจคุณมากที่สุดนั่นเอง ฉะนั้น มันจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่คุณต้องทำการทดลองฟังและเลือกแบบใดแบบหนึ่งที่ถูกใจมากที่สุดไว้ก่อนที่จะไปพิจารณาในจุดอื่น ๆ

แต่ผมต้องบอกให้คุณรู้ไว้ก่อนนะว่า กว่าจะเลือกได้ว่าชอบตัวไหนระหว่างเจ็ดตัวที่มีให้เลือกนี้ คุณอาจจะฟังจนหูร้าวซะก่อนเลือกได้ก็ได้ เพราะมันไม่ได้ฟังออกง่าย ๆ ลองดูก็แล้วกัน

โดยส่วนตัวผมชอบเสียงของตัว PRO Slow Roll-Off มากที่สุดเมื่อเล่นกับอินติเกรตแอมป์ Marantz รุ่น PM-10 + ลำโพง Martin-Logan รุ่น Motion 35XT มันให้ตัวเสียงที่มีความกลมชัดอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ในขณะที่ปลายแหลมมันก็ออกมานุ่มนวลกว่าตัว PRO Fast Roll-Off ที่ให้เสียงจะแจ้งไปนิดกับแอมป์+ลำโพงเซ็ตนี้ ซึ่งผลการวิเคราะห์เสียงในรีวิวนี้ผมจะใช้ DF ตัว PRO Slow Roll-Off ตัวนี้ตลอด

อินพุต SD card บนแผงหน้าปัด

อินพุตแต่ละอินพุตให้เสียงออกมาต่างกัน เป็นไปตามข้อจำกัดของมาตรฐานการเชื่อมต่อสัญญาณแต่ละช่องนั่นเอง ซึ่งช่องอินพุตที่ให้ระดับคุณภาพเสียงสูงที่สุดก็คือช่องอินพุต USB กับช่องอินพุต SD card ซึ่งส่วนตัวผมกลับชอบเสียงของช่องอินพุต SD card มากเป็นพิเศษ ผมว่ามันให้เสียงที่สะอาดและมีความบริสุทธิ์มากกว่าช่อง USB

เหตุผลจากผู้ผลิตก็คือ ช่อง USB จะได้รับสัญญาณรบกวนจากคอมพิวเตอร์แทรกเข้ามาปะปน ในขณะที่ช่อง SD card ไม่มีเพราะไม่ต้องยุ่งกับคอมพิวเตอร์เลย ส่วนทางด้านเอาต์พุตนั้น

ถ้าพูดถึงสเปคฯ แล้ว ช่องเอาต์พุตบาลานซ์ XLR มีสเปคฯ สูงกว่าช่องอันบาลานซ์ RCA แต่มีข้อแม้ว่า ที่ช่องอินพุต XLR ของตัวแอมปลิฟายจะต้องเป็นบาลานซ์แท้ด้วย ถ้าเป็นบาลานซ์เทียม บางที เชื่อมต่อสัญญาณกันทางช่อง RCA อาจจะได้เสียงที่ “น่าฟัง” มากกว่าก็ได้

คุณภาพและลักษณะเสียง
เครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์ที่ดีจริง ๆ นั้น นอกจากจะใช้ฟังเพลงได้ไพเราะจับใจแล้ว มันยังมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่หาได้ยากจากเครื่องเสียงระดับล่าง ๆ ทั่วไป.. ซึ่งส่วนตัวผมอยากจะเรียกสิ่งนั้นว่า “ความเป็นครู” ซึ่งคนที่เล่นเครื่องเสียงมานานพอ มีทักษะในการฟังที่ล้ำลึกมากในระดับที่สามารถแยกธาตุของเสียงออกมาเป็นข้อ ๆ ได้อย่างละเอียดละออจะสามารถรับรู้ถึงคุณสมบัติข้อนี้ได้

ช่วงท้ายการทดสอบ ผมใช้อินติเกรตแอมป์ Marantz ‘PM-10’
จับคู่กับ ext.DAC ตัวนี้ และใช้วิธีต่อเชื่อมสัญญาณ
ด้วยสาย XLR ของ Nordost ‘Valhalla’

เครื่องเสียงบางชิ้นแค่ทำเสียงให้ต่างไปจากเครื่องเสียงชิ้นอื่น ๆ แต่อาจจะไม่สามารถสำแดงให้เห็นถึงลักษณะที่ซับซ้อนของโครงสร้างฮาร์มอนิกของเสียงเครื่องดนตรีหลาย ๆ ชิ้นออกมาได้

เพราะเนื่องจากเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นทำมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน จึงให้โครงสร้างของฮาร์มอนิกที่แตกต่างกัน และเมื่อนำมาบรรเลงใกล้กัน ในแวดล้อมของอากาศธาตุผืนเดียวกัน จึงเกิดการผสานผสมระหว่างฮาร์มอนิกที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน

กอปรเป็นโครงสร้างของฮาร์มอนิกใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ให้รสชาติที่แปลกใหม่ต่อระบบประสาทสัมผัสของผู้ฟัง เสมือนการทำอาหารที่ใช้วัตถุดิบต่างชนิดผสมผสานปรุงเข้าด้วยกันจนกลายเป็นรสชาติเฉพาะที่มีเอกลักษณ์

เป็นการนำเสนอที่ต้องอาศัยอุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีความแม่นยำสูงในการตอบสนองต่อรายละเอียดระดับยิบย่อยเหล่านี้จึงจะสามารถถ่ายทอดอกมาให้ได้ยินและรู้สึกได้ ซึ่งเครื่องเสียงระดับล่าง ๆ ไม่มีคุณสมบัติที่จะสามารถถ่ายทอดรายละเอียดอะไรแบบนี้ออกมาได้เลย..

ช่วงหนึ่งของการทดสอบ โดยอาศัยลำโพง
Martin Logan รุ่น 35XT เป็นตัวแสดงผล

นี่แหละคือ “ความเป็นครู” ที่ผมเอ่ยถึง เป็นคุณสมบัติที่ทำให้คนที่เล่นมันสามารถใช้สิ่งที่ได้ยินจากมันเป็นตัวอย่างเพื่อเรียนรู้ในการอัพเกรดตัวเองได้ ไม่ได้แค่สร้างเสียงที่ชวนฟัง ดึงดูดความสนใจให้อยากฟังในตอนแรก แต่หลังจากได้ฟังแล้วก็จบอยู่แค่นั้น ไม่ได้ให้ประสบการณ์ในระดับที่ “เหนือกว่า” มาตรฐานทั่วไปกับคนฟังเลย

ผมทดสอบฟังเสียงของ ext.DAC ตัวนี้อยู่นานมาก หลายเดือน เนื่องเพราะช่วงเวลาที่ได้มันมาเป็นช่วงที่ห้องฟังของผมขาดเครื่องเสียงชุดใหญ่ผ่านเข้ามาให้จัดชุดเพื่อทดลองฟังกับมัน

ตอนแรก ๆ จึงมีโอกาสฟังกับชุดเล็ก ๆ แอมป์+ลำโพง+สายสัญญาณ+สายลำโพงแค่แสนต้น ๆ เท่านั้น ซึ่งก็พอเห็นอะไร ๆ ที่น่าสนใจจาก ext.DAC ตัวนี้อยู่สมควร แต่เนื่องจากผมยังพอจำเสียงของเวอร์ชั่นแรกที่ผมเคยทดสอบไปได้อยู่ เมื่อเทียบกับที่ผมได้ยินช่วงแรกแล้วมันยังไม่ห่างกันมาก เวอร์ชั่นใหม่ดีกว่าแน่ ๆ แต่ไม่ได้เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากถึงกับทำให้ร้องว้าวว..

พอช่วงหลังได้มีโอกาสฟังกับแอมป์+ลำโพงที่ใหญ่ขึ้น (แอมป์+ลำโพง+สายสัญญาณ+สายลำโพง ประมาณ 6 แสนบาท) ซึ่งถือว่าพอจะคู่ควรกับ MIRUS Pro ขึ้นมาอีกหน่อย ซึ่งเสียงที่ได้ยินจากซิสเต็มหลังนี้ ทำเอาผมต้องกลับไป re-write สิ่งที่เขียนสรุปไว้หลายประเด็นเลย.!

ปรากฏการณ์ที่ ext.DAC ตัวนี้แสดงออกมานี้ผมเคยประสบมาแล้วหลายครั้งอยู่เหมือนกัน ครั้งหนึ่งที่จำได้ก็คือตอนทดสอบ ext.DAC รุ่น QB-9 DSD ของ Ayre Acoustics นั่นก็มาทำนองนี้เหมือนกัน คือตอนฟังกับซิสเต็มเล็ก ๆ มันไม่ได้ดีกว่า ext.DAC ที่มีราคาถูกกว่าร่วมสิบเท่าสักเท่าไร

แต่พอขยับขยายไปเล่นบนซิสเต็มที่ใหญ่ขึ้น ทีนี้สิ่งที่ปรากฏออกมามันเหมือนหนังคนละม้วนเลย ไม่รู้อะไรต่อมิอะไรมันพรั่งพรูออกมาเหมือนทำนบแตก ทั้ง ๆ ที่ตอนฟังกับชุดเล็ก ๆ ไม่ยักกะได้ยิน ถึงตอนนี้คุณภาพเสียงโดยรวมทิ้งห่างจาก ext.DAC ตัวเล็ก ๆ ราคาถูก ๆ ไปไกลเป็นลี้.!!

ผมเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “scalable quality” ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่จะมีอยู่เฉพาะในเครื่องเสียงราคาแพงที่ออกแบบมาอย่างถูกต้องเท่านั้น

ซึ่งหากคิดในแง่โลจิกก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องพิศดารอะไรเลย เผลอ ๆ คุณเองก็อาจจะเคยพบกับปรากฏการณ์นี้มาแล้ว ตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างว่า ถ้าเราเอาภาพยนตร์จากแผ่น DVD กับแผ่น Blu-ray ที่เป็นเรื่องเดียวกันไปฉายบนจอทีวีขนาดสัก 17 นิ้ว เชื่อว่าคงมองไม่เห็นความแตกต่างของคุณภาพของภาพที่ได้จากสองฟอร์แม็ตนี้มากนัก ความรู้สึกของผู้ชมก็คือ ไม่ค่อยต่างกันมากในแต่ละแง่ ทั้งสีสัน, ไดนามิกของแสง และความคมชัด

แน่นอนว่า ถ้าตั้งใจพิจารณาจริง ๆ ก็คงมองเห็นว่า ภาพจากแผ่นบลูเรย์ให้คุณภาพโดยรวมออกมาดีกว่า แต่ด้วยเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ต่างกันมาก

ต่อเมื่อทดลองเอาแผ่นหนังทั้งสองแผ่นนั้นไปฉายเปรียบเทียบลงบนจอทีวีขนาด 65 นิ้ว คราวนี้เชื่อว่า ไม่ต้องตั้งใจสังเกตมากก็คงจะมองเห็นความแตกต่างของภาพระหว่าง DVD กับ Blu-ray ได้อย่างชัดเจน

และรู้สึกได้ทันทีว่า ภาพจากแผ่น Blu-ray มีคุณภาพเหนือกว่าภาพจากแผ่น DVD เยอะมาก แทบจะทุกแง่ทุกมุม ทั้งสีสัน ไดนามิกแสง ความคมชัด และเพิ่มเติมด้วยโมชั่นอีก

นี่คือปรากฏการณ์ scalable quality ที่ทำให้เราตะหนักว่า อุปกรณ์เครื่องเสียงที่ดีมาก ๆ สมควรจะต้องจับคู่อยู่ในซิสเต็มที่มีสมรรถนะทัดเทียมกัน และควรจะถูก display โดยมอนิเตอร์ (ลำโพง, ขนาดจอภาพ) ที่สามารถขยายเนื้องานของคอนเท็นต์ออกมาได้ใหญ่โตพอเท่านั้น

จุดเด่นของเสียงที่ MIRUS Pro ตัวนี้สำแดงออกมามันแทบจะแยกประเด็นย่อยออกมาไม่ได้เลย เพราะมันกอปรกันไปทั้งหมด คล้ายกับว่า พอได้ S/N ratio ที่ดีขึ้นกว่าเวอร์ชั่นเก่า มันก็ส่งผลต่อเสียงในเกือบจะทุกคุณสมบัติไปโดยอัตโนมัติ

คล้าย ๆ กับว่า พอคุณทำให้หน้าต่างเปิดกว้างขึ้นกว่าเดิมได้ คุณก็ได้การถ่ายเทอากาศที่ดีขึ้นโดยอัตโนมัติ มีปริมาณของลมที่พุ่งผ่านเข้า-ออกมากขึ้นโดยไม่ต้องไปเพิ่มปริมาณลม ในกรณีของ ext.DAC ตัวนี้ก็ออกมาทำนองนั้น

คือจริง ๆ แล้ว เราไม่มีทางรู้เลยว่า ไฟล์เพลงแต่ละเพลงที่เรามีอยู่มันมีศักยภาพมาก-น้อยแค่ไหน จนกว่าคุณจะปรับขนาดของหน้าต่างให้กว้างขึ้น เมื่อนั้น พลังงานจลที่ถูกอัดเก็บอยู่ในไฟล์เพลงเหล่านั้นจึงจะสามารถพรั่งพรูออกมาให้คุณสัมผัส

ไดนามิกเรนจ์ที่สูงถึง 130dB ของ ext.DAC ตัวนี้ไม่ใช่ของเล่น มันก็คือการขยายหน้าต่างให้เปิดกว้างขึ้น มีผลให้ไดนามิกของเสียงที่ได้ยินมี “ส่วนขยาย” ที่เห็นได้ชัดขึ้นทั้งในระดับ macro และระดับ micro dynamic ซึ่งแสดงออกมาให้ได้ยินในลักษณะของความสามารถในการรับรู้ (ได้ยิน) รายละเอียดของเสียงที่มากมายขึ้น แยกแยะได้ชัดเจนขึ้นแม้ในสภาวะที่ซับซ้อนและยุ่งเหยิง

ในช่วงจังหวะเวลาเดียวกันที่เครื่องดนตรีตัวที่เล่นดังที่สุดกำลังบรรเลงออกมานั้น คุณก็จะสามารถได้ยินเสียงของชิ้นดนตรีอื่นที่เล่นเบากว่าออกมาด้วย ความดังของเสียงเครื่องดนตรีชิ้นที่กำลังโซโล่จะไม่ไปกลบทับเสียงของเครื่องดนตรีที่กำลังเล่นคลอลงไป มันให้การจัดลำดับความดังของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่มีระดับชั้น มีความชัดเจนเกิดขึ้นกับทุกเสียงแต่ในระดับที่ลดหลั่นกันลงไป ไม่ได้แย่งกันเสนอหน้าออกมาจนรู้สึกเซ็งแซ่

ซึ่งนั่นทำให้คุณสมบัติของความเป็น soundstage ยังคงอยู่ และมีความชัดเจนให้รับรู้ได้มากขึ้นด้วย ไม่มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า masking effect เกิดขึ้นเลย ไม่ว่าในเพลงที่กำลังฟังจะมีเลเยอร์ของภาคดนตรีที่สลับซับซ้อนมากสักแค่ไหน และไม่ว่าแต่ละชิ้นดนตรีในเพลงนั้นจะเล่นบรรเลงด้วยระดับความดังมากแค่ไหน นั่นทำให้ทุกเพลงที่เคยฟังกลายเป็นเหล้าใหม่ในขวดเก่าที่สร้างความอภิรมย์ในการฟังได้มากขึ้นกว่าเดิม..

ตอนฟังเพลงคุณเคยมีความรู้สึกแบบนี้มั้ย.? คือฟังบางเพลงแล้วรู้สึกเหมือนกันว่า เสียงร้องหรือเสียงดนตรีบางชิ้นมันแสดงบทบาทเป็นพระเอกหรือนางเอกอยู่แค่เสียงเดียว สนุกสนานและคึกคักอยู่แค่เสียงเดียว ในขณะที่เสียงอื่น ๆ ฟังดูด้อยกว่า เหมือนถูกกดไว้

ซึ่งสมัยเล่นเครื่องเสียงใหม่ ๆ ตอนเริ่มรู้สึกแบบนี้ ผมเคยเข้าใจว่าซาวนด์เอนจิเนียร์คงกดไดนามิกของเสียงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเด่นเอาไว้แล้วปล่อยให้ตัวที่เด่นสามารถสวิงไดนามิกได้กว้างกว่าชิ้นอื่น ๆ

ทำนองว่าเป็นแค่ตัวประกอบก็ไม่ต้องมีไดนามิกมากอะไรอย่างนั้น แต่พอมีประสบการณ์ฟังเครื่องเสียงที่มีคุณภาพสูง ๆ มากขึ้น ผมถึงพบว่า จริง ๆ แล้ว ความรู้สึกแบบนั้นมันเกิดขึ้นเพราะ “ข้อจำกัด” ของอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ไม่สามารถกระจาย “กำลัง” ไปผลักดันเสียงทุกความถี่ให้มีเกนออกมาเท่า ๆ กัน จึงทำให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นไม่สามารถแสดงบทบาทของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

ต้นเหตุอาจจะเกี่ยวกับพลังสำรองในตัวอุปกรณ์เครื่องเสียงตัวนั้น ๆ ซึ่งเครื่องเสียงบางชิ้นมีการปรับตั้ง equalization ในวงจรแบบไม่ลิเนียร์ คือทำให้มีลักษณะการตอบสนองความถี่เสียงเป็นไปในลักษณะที่เน้นเป็นบางย่านความถี่และผ่อนเบาในบางย่านความถี่เอาไว้ ทำให้เกิดเป็นบุคลิกเสียงเฉพาะตัวของเครื่องเสียงชิ้นนั้น ๆ ไป

ซึ่งหากคนฟังมีประสบการณ์มากพอ เมื่อพบกับเครื่องเสียงประเภทนี้คุณจะรับรู้ได้ทันที เนื่องจากเสียงที่ออกมาจะมีลักษณะที่นุ่มนวลแบบรอมชอม มีลักษณะของเสียงที่ออมมือ หวดไม่เต็มแรง ไดนามิกสวิงได้ไม่สุด ขาดด้อยความสดไป

ถ้าเป็นแอมปลิฟาย คุณคงเข้าใจได้ว่า หากคุณต้องออกแบบแอมปลิฟายที่มีกำลังน้อย ๆ คุณจะจัด equalization ให้กับวงจรแบบไหนจึงจะไม่รู้สึกว่าแอมป์ของคุณมีกำลังจำกัด ส่วนอุปกรณ์ประเภทอื่นอย่าง external DAC ก็ใช่ว่าจะไม่เกี่ยวข้องการกับเรื่องแบบนี้

เพราะวงจรอิเล็กทรอนิคในตัว external DAC ก็ต้องมีการขยายสัญญาณเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้ขยายด้วยอัตราสูงเหมือนแอมปลิฟาย แต่ก็มีการขยายอยู่ในแต่ละภาคเพื่อชดเชยเกนของสัญญาณไม่ให้สูญเสียไปในวงจรสเตจต่าง ๆ

ซึ่งการใช้ชิป DAC ถึงสองตัวในการแปลงสัญญาณดิจิตัลออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกของ ext.DAC ตัวนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เช่นกัน คือเมื่อ noise ในระบบต่ำทำให้ได้ S/N ratio ที่สูงขึ้น ในความหมายคือ ได้ช่องหน้าต่างของเอาต์พุตที่เปิดกว้างขึ้น และเนื่องจากได้กำลังจากชิป DAC ถึงสองตัวผสานกันจึงมีกำลังมากพอที่จะใช้ผลักดันความถี่เสียงออกมาได้ครบทุกความถี่ อย่างที่เพลงเหล่านั้นถูกมิกซ์มา พร้อมทั้งได้ไดนามิกเร้นจ์ออกมาเต็มที่ตามต้นฉบับอีกด้วย

สรุป
คุณภาพของกล้องถ่ายรูปดี ๆ ต้องวัดกันที่ขนาดไฟล์ใหญ่ ๆ ขยายเต็มที่ แล้วดูกันที่รายละเอียดว่าแสดงออกมาได้ครบทุกพิกเซลแค่ไหน จะวัดคุณภาพของ external DAC ก็ต้องทำแบบเดียวกัน

โดยเฉพาะ ext.DAC รุ่นใหญ่ ๆ อย่าง Resonessence Labs ‘INVICTA MIRUS Pro’ ตัวนี้ เมื่อเล่นกับไฟล์ขนาดใหญ่คุณจะพบว่ามันสามารถ “ถอดแบบ” เสียงของไฟล์ดิจิตัลให้ออกมาเป็นสัญญาณเสียงอะนาลอกที่เหมือนกับต้นฉบับแทบจะทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้เรา “มองเห็น” และ “สัมผัส” กับรายละเอียดเสียงที่อยู่ในเพลงที่กำลังฟังได้ครบทั้งหมด

ผมสรุปแบบนั้นได้ยังไง? ผมใช้มาตรฐานอะไรเป็นตัวสรุป.?? ฟังจากเพลงซิครับ… คุณก็รับรู้ได้ ไม่ยากเลย แค่ลองฟังเสียงของ MIRUS Pro ตัวนี้กับไฟล์เพลงที่คุณคุ้นเคยเท่านั้น ยิ่งเป็นไฟล์ไฮเรซฯ คุณจะยิ่งเห็นได้ชัดอย่างที่ผมเห็น..!!


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Prestige Hi-Fi
โทร. 063-638-4498
ราคา  228,000 บาท (แถมรีโมทของ apple)

ธานี โหมดสง่า

นักเขียนอาวุโสมากประสบการณ์ เจ้าของวลี "เครื่องเสียงและดนตรีคือชีวิต"