fbpx
REVIEW

รีวิว Mission : LX2

“ร้านเค้าวางลำโพงผิดรึเปล่า” คือคำอุทานเมื่อผมเห็นลำโพง Mission ครั้งแรกที่ร้านเครื่องเสียงครับ ก็ตอนนั้นความรู้อะไรก็ไม่มีสิ่งที่เคยชินอยู่ในสมองตลอดเวลาก็คือลำโพงมันต้องมีทวิตเตอร์อยู่ด้านบนแล้วมีวูฟเฟอร์หรือมิดเรนจ์อยู่ด้านล่าง

แต่พี่ Mission แกเล่นเอาดอกมิดเรนจ์ไปไว้ด้านบนซะอย่างงั้น เพื่อความกระจ่างผมจึงเดินเข้าไปถามพี่ ๆ ในร้านแล้วได้คำตอบกลับมาว่าลำโพงมันออกแบบมาอย่างนี้แหละครับน้อง !

Mission Design !
กว่าผมจะเข้าใจว่าการสลับเอามิดเรนจ์ไปไว้ด้านบนของ Mission เป็นการออกแบบตามหลักการ Time Alignment ก็ผ่านไปหลายปีทีเดียวครับ ซึ่งหลักการของ Time Alignment ก็คือหาวิธีไหนก็ได้มาทำให้เสียงในทุก ๆ ย่านความถี่ที่ออกมาจากลำโพง เดินทางมาถึงหูเราในเวลาใกล้เคียงกันที่สุด

ฟังดูง่าย ๆ ใช่ไหมครับแต่ในความเป็นจริงมันไม่ง่ายเลย ! คือปกติแล้วย่านความถี่สูงมันจะเดินทางได้เร็วกว่าย่านความถี่อื่น ๆ ครับ แล้วทีนี้เพลงที่เราฟังเนี่ยมันก็มีทั้งย่านความถี่สูงไปจนถึงย่านความถี่ต่ำใช่ไหมละครับ ลองนึกภาพดูว่าถ้าลำโพงที่เรากำลังฟังอยู่มันจัดการกับ Time Alignment ได้ไม่ดีแล้วความถี่สูง ๆ มันเดินทางมาถึงหูเราก่อนความถี่ต่ำมาก ๆ เนี่ยมันคงฟังกันไม่เป็นเพลงแน่ ๆ ครับ

ซึ่งถ้าเกิดเป็นลำโพงทางเดียวที่ใช้ฟลูเรนจ์ก็อาจจะจัดการกับ Time Alignment ได้ไม่ยากเท่าไหร่นัก แต่ถ้าเป็นลำโพง 2 ทางหรือ 3 ทางหรือมากกว่านั้นละครับ ลองนึกภาพดูนะครับว่าปกติเราก็ได้ยินเสียงย่านความถี่สูงได้ง่ายกว่าย่านความถี่ต่ำอยู่แล้ว และการที่จุดกำเนิดของเสียงทั้งสองย่านมาจากคนละที่มันยิ่งทำให้การเดินทางของคลื่นความถี่ก็ยิ่งมีการเลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก

ทางผู้ผลิตลำโพงก็ต้องหาวิธีต่าง ๆ มาแก้ไขให้ย่านความถี่ในทุก ๆ ย่านเดินทางมาถึงหูเราให้ใกล้เคียงกันที่สุด และนี่ยังไม่พูดถึงสภาพของห้องที่แตกต่างกันไปอีกนะครับ ทีนี้ถ้าผู้ผลิตลำโพงออกแบบและจัดการ Time Alignment มาได้ไม่ดีเสียงที่เราได้ยินมันคงไม่น่าฟังแน่ ๆ

ส่วนวิธีแก้ก็มีหลากหลายครับผู้ผลิตลำโพงแต่ละแบรนด์ก็จะมีวิธีการจัดการกับ Time Alignment ที่แตกต่างกันไป ซึ่งสำหรับ Mission นั้นเลือกที่จะจัดการกับ Time Alignment ด้วยการจับมิดเรนจ์ขึ้นมาอยู่ข้างบนซะเลยครับ ! จริง ๆ ก็ต้องบอกว่าเค้าคงมีการออกแบบวงจรภายในเพื่อปรับจูนอีกหลาย ๆ จุดด้วยแหละครับ

แต่ภาพใหญ่ที่เห็นได้ชัดที่สุดและ Mission เองก็ภูมิใจนำเสนอวิธีการจัดการ Time Alignment ก็คือการนำมิดเรนจ์ขึ้นมาไว้ด้านบนครับ

ถ้าเป็นลำโพงส่วนใหญ่ที่เราเห็นทั่ว ๆ ไปเราจะเห็นว่าทวิตเตอร์จะอยู่ด้านบนใช่ไหมครับ และส่วนใหญ่เวลาเราเซ็ตอัปตำแหน่งของทวิตเตอร์ก็จะตรงกับตำแหน่งของหูพอดีแล้วในเมื่อย่านความถี่สูงมันเดินทางได้เร็วกว่าเสียงย่านต่ำอยู่แล้วและตำแหน่งมันยังมาอยู่พอดีกับหูเราซะอีก

ผู้ออกแบบลำโพงก็ต้องไปจัดการกับระบบเน็ตเวิร์คภายในเพื่อจะหน่วงเวลาหรืออะไรก็ว่าไปเพื่อให้มันเดินทางมาถึงพร้อม ๆ กับย่านความถี่อื่น ๆ ทาง Mission เองก็คงจะเห็นปัญหาตรงนี้ก็เลยจัดการยกเอามิดเรนจ์ไปวางไว้ให้ตำแหน่งมันตรงกับหูเราซะเลยครับ เพื่อช่วยลดระยะการเดินทางของย่านเสียงต่ำ แล้วไปเพิ่มระยะการเดินทางของย่านเสียงแหลมแทน

เรียกว่าไหน ๆ เสียงย่านต่ำมันก็เดินทางช้าแล้วก็จับให้มันเดินทางสั้นลง ส่วนย่านความถี่สูง ๆ เดินทางเร็วนักก็จับให้มันเดินทางไกลบวกลบคูณหารกันแล้วมันจะได้ถึงพร้อมกัน ! สำหรับผมมันเป็นไอเดียในการจัดการ Time Alignment ที่เท่และเจ๋งมาก ๆ ครับฮา ๆ

Advanced fibre bass/midrange driver ขนาด 130mm
Microfibre dome tweeter ขนาด 25mm ถือเป็นอีกจุดเด่นของลำโพงคู่นี้
ใช้สายลำโพงแบบ Single wire Mission LX-2

Mission LX-2
ได้รับรางวัล Best Stand-mount speaker under £200 จากสำนัก What HiFi (UK) ปี 2016 ครับ ซึ่งด้วยชื่อชั้นที่อยู่มานานกว่า 40 ปีของ Mission ผมก็ไม่ได้แปลกใจหรือตื่นเต้นกับรางวัลที่ลำโพงคู่นี้ได้เท่าไหร่นัก

แต่สิ่งที่ทำให้ผมสนใจหรือจะเรียกว่าตื่นเต้นกับลำโพง Mission LX-2 คู่นี้จนต้องขอมาทดสอบคือ ราคาที่ไทยเนี่ยแหละครับ ! เพราะว่า Mission LX-2 ราคา 9,900 บาทไทยครับ !

มันโดดเด่นจนต้องยกราคาขึ้นมาเขียนถึงตั้งแต่ต้นรีวิวแบบนี้เลยละครับ แล้วชื่อของ Mission ก็การันตีความคุ้มค่าเกินราคามาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วผมก็เลยอดไม่ได้ที่จะขอยืมลำโพงคู่นี้มาทดสอบ Mission LX-2 เป็นลำโพงวางหิ้งสองทางแบบตู้เปิดมีท่อเบสอยู่ด้านหลัง ตัวตู้มีขนาดกลาง ๆ วัสดุและการประกอบดูเกินราคาไปมากครับทั้งตัวตู้และวัสดุด้านหน้าลำโพง

Mission LX-2 ใช้เบส/มิดเรนจ์ขนาด 130mm และ Microfibre Dome Tweeter ขนาด 25mm ส่วน nominal impedance จะอยู่ที่ 6Ohms และ minimum impedance ที่ 4.4 Ohms ส่วนความไวอยู่ที่ 86.5dB

ตามสเปค Mission ระบุกำลังขับที่ต้องการอยู่ที่ 20-100w ครับ ถ้าเอาตามหลัก 75% ที่ผมใช้อยู่ประจำแอมป์ที่จะมาขับลำโพงคู่นี้ออกมาให้ได้เต็มประสิทธิภาพก็ต้องมีอย่างน้อย 75w ครับ ซึ่งจากสเปคก็ไม่ได้น่าห่วงอะไรมาก แอมป์รุ่นใหม่ ๆ ที่เป็น Class D เดี๋ยวนี้ราคาไม่แพงแต่เรียวแรงเกินตัวมีให้เลือกเยอะแยะครับ

เซ็ตอัปและแมทชิ่ง
ก่อนจะได้ Mission LX-2 ตัวเป็น ๆ มาทดสอบ ผมก็หาข้อมูลของลำโพงคู่นี้ไปเรื่อยครับระหว่างรอ และเมื่อหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าทั้งสำนักรีวิวหรือนักเล่นส่วนใหญ่จากหลาย ๆ แหล่งให้ข้อมูลออกมาคล้าย ๆ กันว่าลำโพงคู่นี้มันช่างดีงามพระรามเก้าเสียเหลือเกิน มันให้เสียงที่เกินราคาค่าตัวไปมาก แต่การจะหาแอมป์มาแมทชิ่งกับมันนี่สิที่ไม่ใช่เรื่องง่าย !

พอเห็นแบบนี้ผมถึงกับมีอาการเมาหมัดตั้งแต่ยังไม่เริ่มทดสอบเลยละครับ เพราะเท่าที่นึกออกตอนนี้ที่ห้องทดสอบมีแอมป์ให้ทดสอบคู่กับ Mission LX-2 เพียงตัวเดียวคือ Marantz HD-AMP1 เอาเข้าจริงผมเองไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องกำลังขับของแอมป์ตัวนี้เท่าไหร่นักเพราะภาคขยายของ Marantz HD-AMP1 เป็นวงจรแบบ Class D ที่มีกำลังขับข้างละ 35 วัตต์ (ที่โหลด 8 Ohm) หรือ 70 วัตต์ (ที่โหลด 4 Ohm)

ถ้าเอาตัวเลขมาจับคู่กันดูผลที่คาดว่าจะได้อาจจะดูอึดอัดไปสักนิด แต่ผมค่อนข้างเชื่อในกำลังสำรองของวงจรแบบ Class D ว่าน่าจะเอาลำโพงคู่นี้อยู่ สิ่งที่ผมกังวลจริง ๆ คือเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ามันจับคู่ยากต่างหากละครับ แต่อย่างว่าครับสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ทดสอบลำโพงถ้าอยากรู้ว่ามันจับคู่ยากจริงไหมก็ต้องทดสอบมันด้วยหูตัวเองนี่แหละ !

และในที่สุด Mission LX-2 ก็มาถึง มาถึงผมก็จัดแจงแกะกล่องแล้วหิ้วเข้าไปเซ็ตในห้องทดสอบทันที เพราะมีแอมป์นอนรอจะขับ Mission LX-2 คู่นี้อยู่แล้ว ผมเลือกใช้ต้นทางเป็นทรานสปอร์ตเน็ทเวิร์คมิวสิกสตรีมเมอร์ CLEF AUDIO รุ่น ZERO ONE ครับ (ชื่อเรียกเค้ายาวดีจริง ๆ ฮา ๆ)

โดยเสียบ HDD เข้าไปในตัว ZERO ONE แล้วใช้เชื่อมต่อกับ Marantz HD-AMP1 ด้วยสาย USB ครับ คือใช้ Marantz HD-AMP ทั้งภาค DAC และ Amp เลยทีเดียว ซึ่ง DAC ของ Marantz HD-AMP1 เนี่ยไม่ใช่ของแถมแบบให้มาเล่น ๆ นะครับ คุณภาพ DAC นี่ระดับเอาจริงเอาจังเลยทีเดียวไม่เชื่อลองพลิกไปอ่านรีวิว Marantz HD-AMP1 ดูสิครับ

สรุปเบ็ดเสร็จซิสเตมที่ผมใช้ทั้งหมดมีแค่ CLEF AUDIO รุ่น ZERO ONE แอมป์ Marantz HD-AMP1 และก็ลำโพง Mission LX-2 สามชิ้นเล็ก ๆ น่ารัก ๆ ที่เมื่อเซ็ตอัปลงตัวมันให้เสียงที่ผมต้องอึ้งเลยทีเดียว !

สำหรับการเซ็ต Mission LX-2 คู่นี้ผมใช้เวลาขยับลำโพงอยู่ไม่นานก็ลงตัวครับ เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่าหาแอมป์มาจับคู่ด้วยยากนี่ไม่รู้ว่าผมทำบุญมาดีหรืออย่างไรเพราะ Mission LX-2 กับ Marantz HD-AMP1 มันช่างเข้ากันได้ดีซะเหลือเกิน

ซึ่งในช่วงท้าย ๆ ของการทดสอบผมได้แอมป์มาเพิ่มอีกหนึ่งตัวคือ Denon PMA-50 ซึ่งมีกำลังขับน้อยกว่า Marantz HD-AMP1 แต่มันก็ยังทำหน้าที่ขับ Mission LX-2 ได้อย่างยอดเยี่ยม ในส่วนนี้รอติดตามอ่านในรีวิว Denon PMA-50 เล่มหน้านะครับ ตอนนี้แค่อยากจะมาคอนเฟิร์มว่าลำโพงคู่นี้ก็ไม่ได้เรื่องมากอะไรอย่างที่ผมกังวลไปตอนแรกก็เท่านั้นเอง


ทาง Mission เน้นย้ำเรื่องการจัดวางตำแหน่งของลำโพงมาก ๆ เรียกว่าระบุกันมาแบบเน้น ๆ (ดูที่ไฮไลต์สีแดง) พอผมได้ลำโพงคู่นี้มาทดสอบ ผมก็พยายามที่จะเซ็ตอัปลำโพงให้ได้ตามที่ผู้ออกแบบลำโพงตั้งใจให้เป็น เพื่อที่จะทำให้ลำโพงสามารถแสดงศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุดครับ

สิ่งสำคัญของการเซ็ตอัปลำโพงคู่นี้คือการวางลำโพงให้ตำแหน่งมิดเรนจ์ของลำโพงตรงกพอดีกับหูเพื่อให้ตรงกับการออกแบบ Time Alignment ตามที่ทาง Mission ที่ได้ระบุไว้ จากรูปจะเห็นว่าเส้นที่ลากจากมิดเรนจ์จะเดินทางมาถึงหูได้เร็วกว่า (หมายเหตุ จากรูปเป็นการขยับเข้ามานั่งใกล้ ๆ เพื่อถ่ายรูปทำภาพประกอบนะครับเวลาฟังจริงจะนั่งถอยออกไปอีกครับ)

เสียง
“ถึงข้อมูลที่ว่าลำโพงคู่นี้หาแอมป์มาจับคู่ยากนั้นจะไม่ใช่เรื่องจริง(สำหรับผม) แต่ที่ใครหลายคนบอกว่ามันให้เสียงที่เกินราคาค่าตัวเนี่ยมันเป็นเรื่องจริงมาก ๆ เลยละครับ”

Mission LX-2 ไม่ใช่ลำโพงราคาต่ำกว่าหมื่นที่จะดีไซน์เสียงกันมาแบบเพลย์เซฟ คือเอาเสียงนุ่ม ๆ ฟังง่ายไว้ก่อน แต่ Mission LX-2 นั้นมาพร้อมความสดและไดนามิคที่น่าทึ่ง

ผมเริ่มต้นด้วยเพลง Call It Stormy Monday ในอัลบั้ม In Session (Live) Mission LX-2 ให้มิติและอิมเมจได้ดีทีเดียว หลับตาฟังแล้วผมสัมผัสได้ถึงตำแหน่งและขนาดของชิ้นดนตรีได้อย่างสมจริง เสียงกีตาร์ที่ดวลกันมันหยดนั้น Mission LX-2 ถ่ายทอดออกมาอย่างถึงพริกถึงขิง

เสียงย่านสูงที่พุ่งออกมาแล้วค่อย ๆ หายไปได้อย่างแนบเนียน ทรานเชียนต์ไดนามิกที่จะแจ้งช่วยเพิ่มอารมณ์ให้กับเสียงกลองเป็นอย่างดี มันช่วงเพิ่มความเข้มข้นให้เสียงกีตาร์ที่ Albert King และ Stevie Ray Vaughan ดวลกันอย่างเมามันนั้นยิ่งมันเข้าไปใหญ่

เสียงเบสไม่ได้มีออกมาเป็นลูกใหญ่ ๆ แน่นอนกับลำโพงสองทางตัวเล็ก ๆ แบบนี้คงจะให้เสียงทุ้มออกมาเต็มห้องคงเป็นไปไม่ได้ แต่เสียงเบสที่ Mission LX-2 มันมีขนาดและจังหวะที่สอดประสานไปกับย่านเสียงอื่น ๆ ได้อย่างยอดเยี่ยมให้แรงปะทะที่ดี อย่างในช่วงโซโล่กีตาร์ในเพลงนี้ Mission LX-2 ถ่ายทอดเสียงเบสที่สอดประสานไปกับเสียงกีตาร์ได้อย่างถึงอารมณ์

ผมขอยกตัวอย่างอีกสักเพลงที่ผมทดสอบคือ Nara ในอัลบั้ม This Is All You ของ Alt-J ลำโพง Mission LX-2 โชว์ศักยภาพของทรานเชียนต์และคอนทราสต์ไดนามิคอย่างน่าประทับใจ เพลงนี้มีหลาย ๆ ช่วงที่มันมีเสียงที่ค่อย ๆ เบาไปดังและอยู่ดี ๆ จากเบาก็ดังขึ้นมาพร้อมกันในหลายช่วงซึ่ง Mission LX-2 ไม่ทำให้ผมผิดหวัง

อีกจุดที่ต้องชื่นชมคือเรื่องของ ไทมิ่ง ของลำโพงคู่นี้ มันเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราสัมผัสอารมณ์ของเพลงนั้น ๆ Mission LX-2 ไม่ทำให้รู้สึกว่าจังหวะมันช้าหรือมันเร็วไปจนทำให้อารมณ์ของเพลงเสียไป ซึ่งนี่ก็ต้องย้อนไปชื่นชมในเรื่องการจัดการ Time Alignment ที่กล่าวไว้ตอนต้นนั่นแหละครับ

หลังจากที่ผมทดสอบด้วยเพลงที่หลากหลายแนวหลากหลายอัลบั้มผมพบว่า Mission LX-2 ทำได้ดีในเกือบ ๆ ทุกแนวเพลงจะร็อคก็ให้เสียงที่ฟังมันส์ แนวแจ๊ซแนวเครื่องเป่านี่ก็ต้องบอกว่าทางของลำโพงคู่นี้เลยก็ว่าได้ แต่ถ้าใครเป็นสายหวานที่ชอบฟังเพลงร้องของสาวเสียงหวานยอดนิยมหลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกว่าเสียงร้องของสาว ๆ จะสดไปนิดนึงอย่างเช่นผมฟังเพลง Kill Me Softly ในอัลบั้ม Close To You ของ Susan Wong

ในพาร์ทดนตรีนั้นยังคงโดดเด่นเช่นเคย แต่ถ้าหากจะขาดหวังเสียงร้องนุ่มนวลชวนฝันอาจจะผิดหวังเล็กน้อยเพราะเสียงร้องของ Mission LX-2 ไม่ใช่สไตล์นั้นครับ และสำหรับผมก็ไม่ได้ถือเป็นข้อเสียนะครับ เพราะถ้าใครเคยฟังเพลง Susan Wong ด้วยลำโพงแนวมอนิเตอร์ก็คงจะรู้ว่าเนื้อเสียงเค้าก็ไม่ได้หวานขนาดน้านฮา ๆ

แต่ก็อยากที่บอกครับถ้า 90% ของเพลงที่คุณฟังเป็นเพลงร้องที่ต้องการเสียงนุ่ม ๆ ก็อาจจะไม่ใช่ทางก็ได้

ซิสเตมเล็ก แต่เสียงไม่เล็กนะครับ !

สรุป
ผมขอสรุปสั้น ๆ ไว้ตรงนี้เลยครับว่าถ้าคุณกำลังคิดจะซื้อลำโพงสักคู่ในราคาไม่เกินหมื่่นแล้วคุณยังไม่มีโอกาสไปลอง Mission LX-2 ด้วยหูตัวเองสักครั้งละก็ อย่าเพิ่งรีบไปหิ้วลำโพงคู่ไหนกลับบ้านมาก่อนเด็ดขาด ขอให้ไปลองฟัง Mission LX-2 ให้รู้กับหูตัวเองก่อนว่าคุณไม่ชอบมันจริง ๆ แล้วค่อยไปหิ้วลำโพงคู่อื่นกลับบ้านก็ยังไม่สาย !


นำเข้าและจัดจำหน่าย
บริษัท ไฮไฟ ทาวเวอร์ จำกัด

โทร.0-2881-7273-7
ราคา 9,900 บาท

อชิร รวีวงศ์

Content Contributor ที่ชื่นชอบในการทำคอนเทนต์ทุกรูปแบบ และยังหลงใหล คลั่งไคล้ไปกับเครื่องเสียง หูฟัง กล้อง และแก๊ดเจ็ททุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับภาพและเสียง!