fbpx
REVIEW

รีวิว Marantz : NR1609

ย้อนกลับไปต้นกำเนิดของ AV Receiver ที่มาร้านท์ซเรียกว่า SlimLINE Series ก็ต้องถอยกลับไปเมื่อกลางปี 2010 ซึ่งมาร้านท์ซได้เริ่มเปิดตัวเป็นครั้งแรกในทวีปอเมริกาเหนือ นำธงโดยชื่อรุ่นว่า NR1601

ความท้าทายก็คือเมื่อเข้าสู่ยุคที่ทุกอย่างต้อง Compact ลง มาร้านท์ซจึงคิดว่าถ้าจะเชิญชวนให้คนสมัยใหม่หันมาสนใจ AV Receiver ต้องทำให้รูปร่างหน้าตาของมันกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตการดำรงชีวิตในชีวิตประจําวันซะก่อน

และนับวันการใช้งานของระบบเสียงเซอร์ราวนด์อาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องปิดมิดชิดเสมอไป จำเป็นต้องเป็นห้องนั่งเล่น ห้องอเนกประสงค์ที่เห็นได้ง่ายในคอนโดฯ หรือห้องรับแขกที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก

จึงต้องลดขนาดลงให้เหลือเพียงครึ่งเดียวจาก AV Receiver สมัยก่อนที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ ทำให้รูปร่างหน้าตาของ AVR ซีรีส์นี้ของมาร้านท์ซจะมีความสูงเหลือเพียงแค่ 4 นิ้วกับความลึกอยู่ที่ 13 นิ้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วมาร้านท์ซก็แยกกลุ่มสินค้าแตกต่างไปจากนักเล่นกลุ่มเดิมโดยหันไปใช้รหัส NR ที่แปลมาจาก Network Receiver แทน แต่ผมก็ยังคิดว่ามันก็ไม่ต่างอะไรจาก AV Receiver ที่เราคุ้นเคยเพียงแค่มันบางลงเท่านั้น

คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าคงไม่ใช่เรื่องยากอะไรของวิศวกรระดับมาร้านท์ซซึ่งเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการ Video/Audio มานานแค่ยกทุกอย่างจาก AVR ตัวเดิมลงมาไว้ใน SlimLINE Series นี้ทั้งกระบิก็จบ

แต่ในความคิดของผม หรือใครอีกหลาย ๆ คนที่ผูกติดกับหน้าตาเดิม ๆ มานานมันมีเรื่องที่ย้อนแย้งกันอยู่ ก็คงไม่พ้นเป็นเรื่องของประสิทธิภาพซึ่งทุกอย่างต้องพิสูจน์ได้ว่าสลิมลงแล้วต้องไม่แสลงกับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าตั้งแต่รุ่นแรกมาจนถึงรุ่นปัจจุบันสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือเรื่องของกำลังขับแต่ละแชนแนลที่ยังคงเอาไว้ที่ 50 วัตต์ต่อแชนแนลตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน

เราคงต้องมาหาบทพิสูจน์กันว่า System ที่จะปลดปล่อยประสิทธิภาพของมันออกมาได้อย่างหมดจดแบบไม่เหลือหรอจะออกมาในรูปแบบไหน ปัจจุบันนี้มาถึงหน้าที่ของ NR1609 ที่จัดว่าเป็น Generation ที่ 9 ของ SlimLine Series จากมาร้านท์ซก็ว่าได้

เรื่องฟังก์ชันการใช้งานถือว่าพัฒนาขึ้นมามากกว่า Generation แรกอย่างไม่เห็นฝุ่น อย่างเช่น ภาคถอดรหัสและการเชื่อมต่อกับระบบมัลติรูมแบบไร้สายที่พัฒนาขึ้นมาเองในร่มเงาของกลุ่มธุรกิจที่เป็นคู่ค้าอย่าง HEOS ก็เริ่มแสดงศักยภาพให้เห็นชัดเจนขึ้น

เห็นบาง ๆ แต่อัดแน่นด้วยฟีเจอร์
NR1609 มาพร้อมกับ 7.2 แชนแนลที่รองรับ Dolby Atmos และ DTS:X แน่นอนว่ามีความสูงเพียง 4.1 นิ้วเพื่อให้คงคุณสมบัติอย่างที่มาร้านท์ซต้องการ รองรับรูปแบบวิดีโอ 4K HDR UHD ล่าสุด และที่สำคัญยังรองรับ 4K ที่ 60Hz และ HDR ด้วย HDR10, Hybrid log-gamma, (HLG) และ Dolby Vision มาพร้อมกับเอาต์พุต HDMI ช่องเดียว แต่ NR1609 คุณจะได้รับอินพุต HDMI แปดช่อง

รูปด้านหลังชัด ๆ ยังแบ่งสัดส่วนได้ดีไม่ต่างอะไรกับแอมป์ตัวใหญ่
ด้านหน้าเป็นมาร้านท์ซยุคใหม่ที่หน้าตาบ่งบอกว่ามีฟังก์ชันเยอะแยะมากมายในตัวมัน

สำหรับ NR1609 และภาคขยายสองแชนเนลพิเศษที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามต้องการในการประมวลผลการขยายสัญญาณซึ่งจะมอบความสามารถในการสร้างเสียงแบบ 3D ในรูปแบบ Dolby Atmos และ DTS:X กำลัง 50 วัตต์กับโหลดที่ 8 โอห์มที่มี 0.08% THD และอินพุตฟรอนต์ทั้งหลายจะถูกกระจายไปยังโซนอื่น ๆ ได้อีกในกรณีที่คุณต้องการต่อเชื่อมไปที่ห้องอื่น เพราะประกอบไปด้วยระบบเสียงไร้สายแบบมัลติรูมของ HEOS

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุน Amazon Alexa รวมถึงบริการสตรีมมิ่งเพลงมากมาย เช่น Spotify, Pandora, TuneIn และอื่น ๆ อีก แน่นอนว่าเสาที่ยื่นมาทั้งสองต้นล้วนรองรับกับ Bluetooth และ AirPlay อีกด้วย

NR1609 ยังพกเอา Audyssey MultEQ เพื่อปรับจูน และแก้ไขผลกระทบของเสียงต่าง ๆ ของห้องที่จะเกิดขึ้นได้จากอะคูสติกของผนังห้อง และสัพเพเหระต่าง ๆ ที่อยู่ภายในห้องรวมไปถึงตำแหน่งนั่งฟังในการใช้งานซึ่งด้วยระบบนี้มันสามารถ Set up ได้มากที่สุดถึง 6 ตำแหน่งนั่งฟัง

นอกจากจะช่วยในการตั้งค่าอัตโนมัติแล้ว แต่ก็ยังให้ยูสเซอร์เลือกตรวจสอบปรับเปลี่ยนเองได้เพื่อให้แน่ใจว่าตรงกับการใช้งานได้อย่างถูกต้อง ภาคขยายที่ว่ากันว่าเป็นที่ถูกจับตามองที่สุดสำหรับ NR1609 ตัวนี้ยังมีวงจร Marantz Hyper Dynamic Amplification Module (HDAM) สำหรับการทำให้การขยายเสียงออกมาดีที่สุดสำหรับทั้ง Dolby Atmos, DTS: X และ DTS Virtual:X ที่มีไว้สำหรับทำระบบเสียงต่าง ๆ ให้กลายเสียงแบบ 3D

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนเสียงความละเอียดสูงในรูปแบบ Flac, AIFF และ WAV ถึง 24-bit/192kHz บวก DSD 2.8MHz และ 5.6MHz มาร้านท์ซยังไม่ลืมอินพุต Phono สำหรับแฟนไวนิลสำหรับวัยโจ๋ยุคใหม่มาด้วย ในแง่ของการเชื่อมต่อเราจะเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลัง

ด้านหลังมีช่องลำโพง 7 ช่องสัญญาณ HDMI 7 ช่อง สัญญาณเอาต์พุต HDMI 1 ตัว, เอาต์พุตซับวูฟเฟอร์ 2 ช่อง, อินพุตเสียงคู่และออพติคัลอินพุตแบบอะนาล็อกต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีพอร์ตอีเธอร์เน็ต ด้านข้างเราจะเห็นอินพุต HDMI พิเศษพอร์ต USB และด้านหลังที่ให้มาสำหรับ Phono-input นอกจากนี้ NR1609 มีช่องสัญญาณ HDMI 8 ช่องและเอาต์พุต HDMI(ARC) หนึ่งช่อง

การเชื่อมต่อทั้งหมดรองรับ HDCP 2.2 4K Ultra HD 60Hz, 4: 4: 4 upsampling, Dolby Vision, HLG HDR10 และการตอบสนองค่าสี BT.2020 การปรับแบบอัตโนมัติทำได้โดยผ่านทาง Audyssey MultEQ รวมถึง Dynamic Volume และ Dynamic EQ ที่จัดเต็มมาไม่แตกต่างจากเอวีแอมป์ฯ รุ่นพี่ ๆ กันทีเดียว

เมื่อเราดูการออกแบบเป็นที่ชัดเจนว่า Marantz ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ตูมตามใหญ่โต เพราะ NR1609 มีลักษณะเหมือนกับรุ่นก่อนหน้าของมันมาก เป็นตัวรับสัญญาณ AV ขนาดกะทัดรัดซึ่งหมายถึงว่ารุ่นนี้มีจำนวนช่องน้อยกว่าเครื่องรับสัญญาณ AV แบบเดิม

ในภาควิดีโอก็ยังสามารถรองรับสัญญาณภาพอะนาล็อกแบบเดิมเพื่ออัปสเกลให้มีความละเอียดเหมาะสมกับดิสเพลย์ในยุคปัจจุบันถึงระดับ 4K กลายเป็นแหล่งจัดการระบบภาพ และเสียงยุคใหม่ มีน้ำหนัก 8.3 กิโลกรัม ซึ่งไม่เล็ก ไม่ใหญ่มาก ทำให้มันดูเหมือนเหมาะกับเฟอร์นิเจอร์เกือบทุกชิ้น Marantz ยังทำหน้าตาให้คนที่รู้จักยังคุ้นเคยกันดีมีหน้าโค้งเล็กน้อยปุ่มหมุนขนาดใหญ่ 2 ปุ่ม และจอแสดงผลขนาดใหญ่ตรงกลาง

ด้านล่างของจอแสดงผลมีปุ่มต่าง ๆ เช่น ปุ่มควบคุมโซน, ปุ่มเลือกระบบเสียงรอบทิศทาง และวิทยุอินเทอร์เน็ต โดยรวมจัดว่ามีรูปลักษณ์ที่สวยงามคลาสสิก ดูเป็นเอกลักษณ์ไม่เกลื่อนตายังพอมีส่วนโค้ง ส่วนลึกบ้าง

Setup
ผมผ่านการใช้งานเจ้าตัว NR1609 มาบ้างแล้วจากการนำมาทดสอบกับลำโพง Klipsch Reference Theater Pack ที่ได้ทดสอบผ่านไปจัดว่ามันเป็นคู่หูที่เหมือนเกิดมาคู่กันจริง ๆ แต่คราวนี้มีโจทย์อยู่ว่าเจ้า NR1609 ตัวนี้มันเหลือภาคขยายในตัวอยู่อีก 2 Channel ทดสอบเป็นระบบ 7.1

มันก็จะธรรมดาเกินไปต้องเล่นกันในโหมด 3D Audio ถึงจะสะใจ โดยต้องหาลำโพงเพิ่มขึ้นมาอีก 2 Channel ยังคิดอยู่ว่าจะหาลำโพงที่ว่ามาจากที่ไหน ครั้นจะเอาลำโพงแบบฝังฝ้าก็ค่อนข้างหาช่วงราคาที่เสียงมันเข้า คู่กับลำโพงชุดนี้ได้ลำบาก และอีกอย่างหนึ่งในการใช้งานจริงก็คงต้องเจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน

ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วผมเลยลองปรึกษากับตัวแทนจำหน่ายลำโพง Klipsch ชุดนี้ จะมีทางออกที่ผมค่อนข้างจะแฮปปี้ ก็ได้ข่าวว่าทางเมืองนอกก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน สรุปก็คือผมได้ลำโพง Reference Theater Pack มาอีก 1 คู่

แต่จะติดให้อยู่บนหัวก็กะไรอยู่ พอดีมี Config ของลำโพงอยู่ค่าหนึ่งใน NR1609 ที่มาร้านท์ซคงเล็งเห็นแล้วว่ามันยืดหยุ่นกับการใช้งานอยู่มากพอสมควร โดยมาร้านท์ซเรียกว่า ‘Front Height’ เป็นหลักการของการวางตำแหน่งลำโพงที่ใช้ในระบบเสียง Aural 3D แต่นำมาใช้เฉพาะด้านหน้าและใช้กับ Dolby Atmos หรือ DTS:X ได้อย่างไม่เคอะเขิน

อย่างน้อยคราวนี้ผมได้เล่น 3D Sound อย่างสมใจ ก็จากมาร้านท์ซตัวนี้นี่แหละ

ตั้งการเซ็ตอัปลำโพงเป็นแบบ Front Height ดูง่ายกับการติดตั้งที่สุดแล้ว

จริง ๆ ตำแหน่งลำโพงควรอยู่ในตำแหน่งมุมของเพดานตัดที่บรรจบกับผนังด้านหน้า แต่ผมก็เหลือทางเลือกแค่เพียงวางบนหิ้งด้านหน้าเกือบชิดเพดานเท่านั้น คงต้องวัดประสิทธิภาพของโปรเซสเซอร์ดูสักหน่อยว่าจะส่งผลดีเลิศในระดับไหน กับการวางลำโพงตำแหน่งแบบนี้

แหล่งโปรแกรมก็เป็น Content ที่หยิบฉวยเอาใกล้ ๆ ตัวนี่แหละ นอกจากระบบเสียงจากแผ่นบลูเรย์ดิสก์แล้วก็คงต้องพึ่งจาก Streaming Service เป็นหลัก ซึ่งแน่นอนเราจะมาพิสูจน์ระหว่าง Dolby 5.1 Dolby Atmos ที่อยู่ใน Content เดียวกันให้จะ ๆ กันไปเลย ว่ามันสมควรไหมที่จะอัปเกรดระบบเสียงเพื่อดูหนังจาก Content เหล่านี้

ต้องให้เครดิต Netflix ที่ยังเปิดโอกาสให้เราสามารถดึงระบบเสียงที่เป็น Dolby Atmos ออกมาโดยไม่ต้องซื้อทีวี OLED ราคาเป็นแสน ๆ แค่คุณมีคอมพิวเตอร์ที่ลง Windows 10 ที่พอมีช่อง HDMI เท่านั้น ถ้ามีคนถามว่าแล้ว Content พวกนี้มันจะใช้วัดประสิทธิภาพสูงสุดของอุปกรณ์พวกนี้ได้แล้วหรือ

เหมือนผมกำลังเอารถยนต์ไปทดสอบบนถนนจริงนะครับไม่ได้เอาไปทดสอบบนสนามแข่ง ถ้ามันวิ่งบนถนนจริงที่เราใช้งานจริง ๆ ได้ทุกวี่ทุกวันได้มันก็โอเคแล้วใช่ป่ะ

สิ่งที่ดีคือ Marantz ให้ผู้ช่วยในการตั้งค่าผ่านกระบวนการทั้งหมดของการติดตั้ง และการกำหนดค่า ซึ่งหมายความว่าคุณจะได้รับการอธิบายขั้นตอนวิธีการเชื่อมต่อเครื่องรับสัญญาณกับอุปกรณ์อื่น ๆ ทีละขั้นตอนจนถึงวิธีการเชื่อมต่อลำโพงและระบบเซอร์ราวนด์ที่คุณสามารถใช้งานได้

หน้าตา 5.1.2 สำหรับชุดนี้ออกมาเป็นแบบนี้ ก็ดูเข้าท่าดีนะ

นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนที่เครื่องจะปรับต่อจากนั้นอัตโนมัติโดยใช้ไมโครโฟน และซอฟต์แวร์ Audyssey ที่รวมอยู่ด้วยเพื่อปรับตั้งระยะทางเดินของเสียงแต่ละ Channel ที่มาถึงหู และจัดการกับอะคูสติกของห้องได้ในระดับหนึ่ง

แนะนำว่าให้วัดไว้ทั้งหกจุดเลย อีควอไลเซอร์จะถูกปรับ และกำหนดระยะทางเพื่อวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ Audyssey จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับการปรับให้เหมาะสมที่สุด ซึ่งเรื่องนี้เดี๋ยวเรามาว่ากันต่อเพราะว่ามันมีพารามิเตอร์บน Audyssey Multi EQ ที่ยังสามารถเลือกได้ด้วยตัวคุณเองให้เสียงดีขึ้นได้อีกนิดหน่อย

Marantz NR1609 ควบคุมการใช้งานผ่านทาง Remote Control และ Remote App ก็เหมือนกับ AVR ส่วนใหญ่ในสมัยนี้ NR1609 สามารถควบคุมระยะไกลได้ 2 วิธีคือ ใช้รีโมตคอนโทรลที่ให้มา หรือจะใช้ Marantz 2016 AVR Remote App (Android และ iOS)

สำหรับตัวรีโมตก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษมันเป็นอุปกรณ์ที่มีปุ่มสำคัญกดสั่งงานที่ทำงานได้สะดวกสบายพอสำหรับใครหลาย ๆ คน แถมยังเป็นปุ่มที่ให้แสงสว่างในที่มืดแต่ต้องกดก่อนนะครับถึงจะสว่าง

การใช้งานรีโมตแอปฯ ต้องโหลดมาใช้ทั้งสองตัวเพื่อทำงานร่วมกัน

จะแนะนำสำหรับคนที่รักการฟังเพลงให้โหลด App HEOS อีกตัวหนึ่งเอามาใช้ จะช่วยให้สามารถเลือกเพลงทั้งในกลุ่ม Streaming Service หรือใน Music Server ของคุณได้อย่างบันเทิงเริงใจ ฟังก์ชันทั้งหมดของรีโมตคอนโทรลและส่วนสำคัญของอินเทอร์เฟซทีวีจะปรากฏในแอปฯ เพื่อให้คุณสามารถดูการตั้งค่าต่าง ๆ ในระหว่างการชมภาพยนตร์ได้โดยไม่ต้องเสียสมาธิ

Sit & Listen
ครั้งแรกที่เราลองทดสอบคุณภาพสิ่งของ NR1609 โดยใช้เสียง Hi-Res ผ่าน Music Server และสตรีมมิ่งผ่าน Spotify แม้ว่าการ สตรีมมิ่งในตัวเลือกนี้จะเป็นตัวเลือกที่มีการบีบอัดข้อมูลมากโขอยู่ แต่ NR1609 ก็เล่นมันออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา

ต้องชื่นชมเทคโนโลยี M-DAX ที่เอาเนื้อหาที่ถูกบีบอัดเปิดเผยเวทีเสียงออกมาได้อย่างสมดุลทั้งความกว้างของเสียงและความเข้ม ด้วยแนวเสียงที่อบอุ่นให้อารมณ์เคลิบเคลิ้มมากกว่าจะให้มานั่งจับผิดกัน เสียง Hi-Res เป็นอะไรที่ชัดเจนกว่า แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เวทีเสียงกว้างขึ้น และมันสามารถวางเสียงของเครื่องดนตรีต่าง ๆ ให้อยู่ในอากาศได้ดีขึ้น

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการฟังในแบบเซอร์ราวนด์ มันกลับทำให้เสียงร้องต่ำลงซึ่งเวลาฟังเพลงแบบสองแชนเนลกับ AV แอมป์ตัวนี้ผมชอบในแบบสเตอริโอมากกว่า ต้องระวังนิดหนึ่งกับการเร่งวอลุ่มขึ้นไปมาก ๆ ยิ่งทำให้มันทำงานเครียดยิ่งขึ้นกับลำโพงขนาดเล็กแบบนี้

แต่ความรู้สึกแบบนี้กลับไม่เป็นเหมือนตอนที่ฟัง Soundtrack ของภาพยนตร์อาจจะเป็นเพราะว่าการฟังเพลงแบบ 2 Channel มันมีเสียงเครื่องดนตรีที่มาจากเกือบทุกความถี่พร้อม ๆ กัน ไม่เหมือนกับเสียงเอฟเฟ็กต์ในหนังที่ในช่วงหนึ่งอาจถ่ายทอดความถี่เพียงไม่กี่ความถี่เท่านั้น

แอปฯ HEOS สามารถโชว์ปกอัลบั้มใน Music Server ของเราได้ด้วย

แม้ว่าคนที่ซื้อเจ้าเอวีฯ แอมป์เกือบทุกตัวมาเล่นอาจจะไม่ใช่เหตุผลหลักตั้งแต่แรกอยู่แล้วที่จะเอามาฟังเพลงในแบบ 2 Channel ถ้างั้นคงไม่มีอะไรต้องปฏิเสธว่าเสียงเซอร์ราวนด์ของ NR1609 ต้องเป็นตัวดึงดูดให้คุณหลงรักมันยิ่งขึ้น

มันจัดการกับช่องสัญญาณในระบบเสียงเซอร์ราวนด์ได้สูงสุด 7.2 ช่อง และมีตัวเลือกการตั้งค่าต่าง ๆ เช่น 5.1 หรือ 7.1 แชนแนล และแน่นอนว่ามันสามารถทำให้คุณดำดิ่งไปกับระบบเสียง 3D สูงสุดในตัวมันในแบบ 5.1.2 Channel ซึ่งดีที่สุดกับคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่หลากหลายในปัจจุบันนี้

ลำโพงที่ถูกยกขึ้นสูงสองตัวย่อมให้ความสูงมากขึ้นในสนามเสียงที่ออกมา สิ่งนี้คงหาไม่ได้กับลำโพงซาวด์บาร์ที่จะพยายามทำยังไงก็คงยังทำไม่ได้ในทางทฤษฎี และมันก็ตั้งใจทำให้ประสบการณ์การรับชมเสียงสามมิติเกิดขึ้นได้จริงกับ NR1609

มันสร้างรูปแบบของเสียงเซอร์ราวนด์ในแบบ 3D ที่ดีมาก ๆ กับทั้งทิศทาง และความกว้างของเสียงในพื้นที่ว่างด้านหน้า ด้วยลำโพงที่เพิ่มขึ้นมันจะสร้างเวทีเสียงที่ทุกยกระดับเสียงให้ทำความสูง ความกว้าง และความลึกเพียงพอที่จะจินตนาการได้

ในภาพยนตร์ Terminator Genisys: Reset the Future หนังเรื่องนี้ดูออกจะโหดหน่อยสำหรับชุดลำโพงเซอร์ราวนด์ขนาดเล็ก ๆ และแอมป์กำลังขับไม่มากนักแบบนี้ แต่นี่คือบทสรุปที่ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่า NR1609 กับลำโพง Klipsch ชุดนี้ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับชุดโฮมเธียเตอร์ขนาดเล็กของผมที่ให้เสียงไม่ได้เล็กเลยแม้แต่น้อย

อาจเป็นเพราะได้ Klipsch RW-12b มาช่วยเสริมเติมเต็มในเรื่องความถี่ต่ำ แต่ NR1609 ก็ขจัดรอยต่อของเสียงความถี่ต่ำจากลำโพงหลักตัวเล็ก ๆ ด้วย Bass Management ที่ต้องตัดเอาเสียงความถี่ต่ำประมาณ 110Hz จากลำโพงทุกตัวลงไปที่ Subwoofer ทำให้ฉากจู่โจมของพวกต่อต้านมีเสียงระเบิดที่โรมรันพันตูกันในช่วงแรกมันมีความถี่ต่ำโผล่ไปทั่วทุกจุดในห้อง

แต่ความต้องการของคนที่เลือกที่จะเล่นชุดนี้คงไม่ได้เพียงแค่ต้องการเสียงระเบิดที่ดังขึ้นอย่างเดียว คงต้องการความรู้สึกรับรู้และอินไปกับการบันทึกเสียงในฉากที่ตื่นเต้น ๆ อย่างฉากที่เจ้าหุ่นยนต์ ไล่ล่าตัวเอกกันบนรถบัสตอนที่ปีนขึ้นไปบนหลังคา เดินเหยียบให้ลุ้นอยู่บนหัว

ชุดเซอร์ราวนด์ชุดนี้ที่มีมาร้านท์ซ NR1609 เป็นตัวนำทัพทำให้รู้สึกได้ถึงวัตถุที่อยู่เหนือหัว ถึงแม้ว่ามันจะไม่ชัดเจนแบบลำโพงฝังฝ้าที่เล่นกันแบบ 7.1.4 แต่ก็ทำให้ไม่ต้องถึงกับจินตนาการตาม มันมีเสียงจริงที่เกิดขึ้นอยู่บนหัวอาจจะเป็นเสียงที่สร้างขึ้นมาจากลำโพงหลายตัวบ้างแต่ก็รู้สึกได้ชัดในการฟังคอนเสิร์ตจาก Content ที่เป็นแบบ 2 Channel ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็หาได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต

ความพิเศษของการใช้แอมป์เซอร์ราวนด์เดี๋ยวนี้ มันเก่งถึงขนาดรู้ว่าเสียงชนิดนี้มันควรจะเอาไปวางไว้ในตำแหน่งไหน อย่างเสียงปรบมือหรือเสียงโห่ร้องของผู้ชม คุณจะรับรู้ได้ทันทีว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ตเหมือนกำลังนั่งอยู่ท่ามกลางวงล้อมของผู้คนเหล่านั้น

ส่วนหนึ่งก็ต้องยกความดีให้กับภาพถอดรหัสของ Dolby Surround ที่อยู่บน NR1609 มันเข้ามาจัดการทำให้เสียงเซอร์ราวนด์แยกออกมาได้สมบูรณ์แบบ เสียงร้องที่ถึงแม้ว่าจะใช้ลำโพง Center มาเป็นลำโพงหลักในการวางตำแหน่งเสียงร้องแต่ก็ใช่ว่าคุณจะรู้สึกว่ามันออกมาจากลำโพงเซ็นเตอร์

มันสามารถถ่ายทอดให้คุณรู้สึกถึงเสียงที่ลึกห่างถอยเลยทีวีลงไปยิ่งถ้าคุณมีพื้นที่ด้านหลังทีวีมากพอยิ่งจะรู้สึกถึงเสียงที่เป็นปริมณฑลล้อมรอบอยู่ด้านหลังทีวีเลยเชียว ถึงแม้มันจะสังเคราะห์เสียงซาวนด์ได้เก่งขนาดนี้แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่ต้องการต้นฉบับที่เป็นเสียงเซอร์ราวนด์แท้ ๆ ปัจจุบันนี้เราสามารถหาได้ไม่ยากแต่ไม่รู้ทำไมยังต้องกั๊กให้ต้องออกแรงกันอีก

สำหรับคนที่ยังไม่มีจอภาพ OLED ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน เรากำลังพูดถึงการ Streaming จาก Netflix โดยดึงเอาระบบเสียง Dolby Atmos ป้อนเข้าสู่ NR1609 ตัวนี้

Content เดียวกันถ้าเล่นผ่านแอปฯ Netflix บนทีวีธรรมดาโดยต่อ HDMI(ARC) เข้าที่ตัว NR1609 คุณก็จะได้แค่ Dolby Surround 5.1 เสียงเซอร์ราวนด์ถูกวางไว้อย่างแน่นหนาในห้องเพื่อให้เราสามารถลืมตำแหน่งลำโพงได้อย่างรวดเร็ว

เสียงปืน เสียงลม เสียงเห็บ เสียงพายุใน Lost in space Season 1: EP3 “Dimond in the Sky” เติมเต็มห้องทั้งห้อง NR1609 ช่วยให้เสียงของวัตถุลอยผ่านช่องว่างสามารถแสดงรายละเอียด และเอฟเฟ็กต์ได้อย่างที่เพียงพอที่ทำให้เรารู้สึกถลำลึกจนเกือบเชื่อได้ว่ามันเกิดขึ้นจริง ทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ไดอะล็อกเอฟเฟ็กต์และซาวนด์แทร็คสามารถแยกออกจากกันได้ทำให้ได้ยินเสียงสนทนาได้ชัดเจน

แม้กระทั่งตอนมีเสียงเอฟเฟ็กต์อยู่รายล้อมแต่นั่นยังไม่ใช่ที่สุดของเสียงเซอร์ราวนด์จาก Network Receiver ตัวนี้เพราะเราเปลี่ยนเป็นระบบเสียง Dolby Atmos จาก Netflix ที่ต่อผ่าน Windows เข้าไปเท่านั้นเสียงเซอร์ราวนด์จัดแจงได้ดีอยู่แล้ว มันกลับมีชีวิตชีวา และมีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

Dynamic ของเสียงที่ตอนแรกเหมือนมันยังอั้น ๆ อยู่ต้องเร่ง Volume เข้าไปช่วย ทีนี้ต้องรีบลดวอลุ่มลงมาประมาณ 4-5dB ความที่มันมีลำโพงเพิ่มขึ้นมาอีก 2 Channel ด้านหน้าโดยตอนแรกผมก็ปรับโหมดให้ทำงานในแบบ 5.1.4 ที่จัดสรรโดยภาคถอดรหัสของ AV Receiver เอง

เมื่อได้รับการจัดสรรโดยตรงจากต้นฉบับอย่าง Dolby Atmos คราวนี้เสียงที่ออกมามันถูกวางตำแหน่งได้ดีขึ้น มีช่องว่างของเสียงให้เคลื่อนที่ได้ มีระดับของเสียงที่กลมกลืนไปกับลำโพงคู่หน้าอีก 3 Channel มันยก Sound Stage ให้สูงขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติทีนี้

มีเคล็ดที่ไม่ลับอยู่นิดหน่อยในการตั้งค่าพารามิเตอร์ของ Audyssey EQ คือถ้าการรับชมของคุณรับชมอยู่คนเดียวในลักษณะ Near Field คือไม่ห่างจากทีวีมากนัก แนะนำว่าให้เลือกค่าพารามิเตอร์เป็น ‘Flat’ จะทำให้การรับรู้ของเสียงจริงจัง จะแจ้งได้มากกว่า

แต่ถ้าเลือกเป็น ‘Reference’ การตั้งค่ากราฟจะออกมาในแนวประนีประนอม ซึ่งเหมาะกับการใช้งานในการนั่งชมกันหลาย ๆ คน มันจะทำให้วงกลมของลำโพงที่ล้อมรอบตัวเราขยายวงกว้างออกไปเพื่อให้ทุก ๆ คนที่นั่งชมอยู่สามารถรับรู้ระบบเสียงได้ดีเท่า ๆ กันแบ่ง ๆ กันไป เหมือนมันทำให้จุด Sweet Spot ใหญ่ขึ้น

ความสมดุลของเสียงอาจจะหายไปบ้างในกรณีที่คุณเร่ง Volume ขึ้นไปมาก ๆ จริง ๆ แล้วมันอยู่ในช่วง 4-5dB สุดท้ายเท่านั้น ซึ่งก็แน่นอนว่ามันเป็นจุดอ่อนของ AV Receiver 50 วัตต์/แชนแนลระดับนี้ทุกตัวอยู่แล้ว แต่กับห้องขนาด 5×7 ของเราก็ต้องยอมรับว่าเพียงพอแบบเหลือเฟือ และหนึ่งในคุณสมบัติที่หลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็นแต่ผมยังคิดว่ามันพึ่งพาได้อยู่ก็คือเรื่องของการสเกลระบบภาพ

NR1609 ตัวนี้มีสเกลเลอร์ระบบภาพที่สามารถใช้งานได้ทั้งภาค Analog และภาคดิจิทัล นั่นหมายความว่าไม่ว่าคุณจะต่อระบบภาพเป็น Analog หรือ Digital ทางช่อง Input ใด ๆ คุณสามารถตั้งค่าให้สเกลภาพให้ Output สูงสุดออกมาเป็น 4K ที่ 30Hz และสามารถยังปรับแต่งภาพที่ออกมาให้ได้คมชัดตามความต้องการได้อีก

ในกรณีนี้ผมว่ามันเหมาะกับการใช้งานกับเครื่องเล่น Blu-ray Disc รุ่นเก่า ๆ ที่คุณไม่ได้ Update นานมากแล้ว (ซึ่งก็ไม่รู้จะอัปเดทกันยังไง ตอนนี้ก็ต้องมองไปที่เครื่องเล่น Blu-ray 4k อย่างเดียว) หรือนำมาชนกับสเกลเลอร์ที่อยู่ในตัวทีวีของคุณว่ามันจะทำให้ภาพที่ออกมาดีขึ้นอีกหรือไม่ อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่ากัน

ผมคงฟันธงลงไปไม่ได้ แต่เชื่อเหลือเกินว่าภาพที่เห็นอยู่ตอนนี้มันดีพอที่จะทำให้สเกลเลอร์ในตัวทีวีราคา 30,000 กว่าบาทตกกระป๋องได้เลยทีเดียว

Conclusion
เมื่อเราหันกลับมามองสิ่งที่มาร้านท์ซคิด และปูทางไว้เพื่อสร้างเจ้า NR1609 นี้ขึ้นมา ผมยังนึกไม่ออกว่าอะไรที่จะทำให้เราต้องตำหนิมัน ถ้าคุณที่ต้องการเครื่องเสียงซึ่งถ่ายทอดระบบเสียงเซอร์ราวนด์ได้อย่างสมบูรณ์แบบเหมือน System ใหญ่ ๆ แต่ไม่มีเนื้อที่มากพอ หรืออยากใช้ร่วมกับจอภาพที่เป็น LCD TV ขนาดไม่เกิน 75 นิ้ว ก็น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของมาร้านท์ซตัวนี้

ความสามารถในการฟังเพลง 2 Channel จาก HEOS ที่สามารถควบคุมแบบมัลติรูมด้วยแอปพลิเคชันทำให้เราสามารถเพลิดเพลินกับเสียงสเตอริโอ และเสียงเซอร์ราวนด์ที่ไม่ง้อ System ใหญ่ ๆ ทั้งหมดนี้อยู่ในตัวถังขนาดกะทัดรัดที่ดูดี NR1609 มันเป็นทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอัปเกรดระบบเสียงอย่างจริงจัง

โดยถ้าคุณซีเรียสเรื่องคุณภาพเสียงด้วยแล้วละก็ เจ้า NR1609 ตัวนี้ทำให้คุณได้สัมผัสถึงกลิ่นไอของเสียงจากเครื่องเสียงมาร้านท์ซได้อยู่ไม่น้อย

มันอาจจะไม่ใช่เครื่องเสียงที่จะถ่ายทอดเสียงที่ให้การตอบสนองความถี่สูงที่กว้างแบบขยายออกไปได้แบบสุดลูกหูลูกตา แต่มันมีความเป็นดนตรีสูงมาก ๆ ความกลมกล่อมขัดเกลาให้เพลงแต่ละเพลงออกมาไพเราะนี่อาจจะเป็น Signature ของเครื่องเสียงยี่ห้อนี้ไปแล้ว

ดูเหมือน NR1609 มีลู่ทางที่สดใสได้ดีในแนวทางของมัน มาถึงตรงนี้ถ้าจะลองควานหาคู่แข่งของมัน คุณอาจหาเลือกได้เยอะแยะถ้าเอาตัวเลขกำลังขับของ AV Receiver ตัวอื่นมากางเทียบวัดกันแล้วบอกว่าใครเหนือกว่าใคร

ถ้าคุณยังชอบตัดสินใจแบบนี้อยู่ อาจจะไม่เข้าสไตล์ NR1609 ของมาร้านท์ซตัวนี้ซะแล้ว ลองคิดดูเล่น ๆ ว่าถ้าตัดประเด็นเรื่องหน้าตา และฟังก์ชันการใช้งานออกไป อะไรที่จะทำให้คุณยอมควักกระเป๋าจ่ายตังค์เพื่อเป็นเจ้าของเจ้า NR1609 ตัวนี้

มันไม่ใช่เครื่องเสียงมันคือ เครื่องมือถ่ายทอดความบันเทิงในระบบเสียงเซอร์ราวนด์แบบมาร้านท์ซที่สมกับนิยามของมาร้านท์ซที่เชื่อว่า

“The World of Home Entertainment would never be the same.”


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท เอ็ม.ไอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
โทร. 0-2254-3316-9
ราคา 26,900 บาท

ธนภณ พูลเจริญ

Content Contributor ที่ปรารถนาจะถ่ายทอดประสบการณ์ในแวดวงโฮมเธียเตอร์ ทีวี และระบบเสียงมัลติรูมในแง่ของความคุ้มค่าของการใช้งาน เปิดมุมมองสู่ความต้องการที่ชัดเจนให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบเทคโนโลยี