AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

รีวิว JBL : 4312M II Studio Monitor

JBL เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในทุก ๆ วงการที่เกี่ยวกับ “เสียง” เลยก็ว่าได้นะครับ หากคุณเป็นคนดูคอนเสิร์ตบ่อย ๆ คุณก็อาจจะได้เห็นลำโพงตัวใหญ่ยักษ์ที่แขวนไว้หน้าเวทีส่วนมากเป็นลำโพงของ JBL หากคุณไปดูหนังบ่อย ๆ โรงหนังส่วนใหญ่ก็เลือกใช้ลำโพง JBL หรือจะเป็นในสตูดิโอทำเพลงทั่วโลกก็ให้การยอมรับและใช้ JBL เป็นลำโพงมอนิเตอร์อีกเป็นจำนวนมาก และหากคุณถามนักเล่นเครื่องเสียงวินเทจดูว่าลำโพงในฝันของเขาคือลำโพงรุ่นไหน ผมเชื่อว่ามากกว่า 90% จะต้องมี JBL อยู่ในนั้นอย่างแน่นอน!

JBL 4312M II Studio Monitor
ซีรีย์ 4312 ของ JBL เป็นซีรีย์มอนิเตอร์ที่ได้รับความนิยมทั้งจากคนทำเพลงและนักฟังเพลงมาอย่างยาวนาน ยิ่งหากเป็นนักเล่นเครื่องเสียงแนววินเทจด้วยแล้วนอกจาก JBL Paragon ที่หายากและแพงสุด ๆ ก็เห็นจะมี JBL 4312 นี่แหละครับที่เรียกว่าได้รับความนิยมระดับที่ถ้าเห็นมีการประกาศขายเมื่อไหร่เป็นอันขายได้แบบไม่ต้องรอนาน โดยเฉพาะตลาดในญี่ปุ่น!

ในญี่ปุ่นวงการเครื่องเสียงวินเทจเป็นวงการที่ใหญ่โตและได้รับความนิยมมาก ลำโพงวินเทจที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ชื่นชอบคงหนีไม่พ้น JBL แน่นอนครับ สิ่งที่พิสุจน์เรื่องนี้ก็คือเจ้า JBL 4312M II Studio Monitor คู่นี้แหละครับที่ทาง JBL ออกมาเอาใจแฟน ๆ ชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะโดยออกแบบให้หน้าตาเหมือน JBL 4312MKii แต่ย่อส่วนให้ขนาดเล็กลง ตอนผมเห็นรูปลำโพงคู่นี้ครั้งแรกก็ต้องบอกว่ามันสวยจนต้องร้องขอชีวิตกันเลยทีเดียว!

แต่พอได้ข่าวว่าเป็นลำโพงที่ขายเฉพาะในญี่ปุ่นก็แอบเสียดายอยู่เหมือนกันครับ จนเวลาผ่านไปสักพักผมดันไปเห็นเจ้าลำโพง คู่นี้อยู่ที่โชว์รูมของทางมหาจักรเข้าให้! งานนี้ต้องขอบอกว่าคนไทยโชคดีสุด ๆ เลยละครับที่ทางมหาจักรนั้นได้นำเข้าลำโพงคู่นี้มาถึงแม้จะได้มาแบบจำนวนจำกัดแต่การได้ซื้อลำโพงคู่นี้โดยที่มีประกันศูนย์ไทยก็ก็อุ่นใจกว่าไปหิ้วมาเองอย่างแน่นอน และสิ่งที่แน่นอนกว่านั้นคือในที่สุดผมก็ได้มาทดสอบลำโพง JBL 4312M II คู่นี้จริง ๆ สักที!

JBL 4312MKii รุ่นดั้งเดิมขนาดใหญ่มาก ๆ (ภาพจาก https://goo.gl/nBgekh)

เหล้าเก่าในขวดใหม่
อย่างที่บอกไปครับ JBL 4312M II Studio Monitor คู่นี้หน้าตาเหมือน JBL 4312MK2 ย่อส่วนมาให้เล็กขนาดตู้ที่เล็กแบบนี้ส่วนตัวผมบอกเลยว่าดีงามมาก ๆ ส่วนตัวผมชอบหน้าตาและอยากได้ JBL 4312MKii เอามาก ๆ แต่ลำโพงคู่นี้ถ้าเป็นรุ่นเก่าวินเทจนั้นหายากมาก และถึงหาได้ผมก็ไม่มีเงินซื้ออยู่ดีฮา ๆ หรือถึงจะมีเงินซื้อมาก็ไม่มีห้องจะใช้ฟังอยู่ดีอีกนั่นแหละครับปัดโธ่!

แต่ฟ้าก็ได้ส่งตัวเลือกที่ดีงามพระรามเก้ามาให้ผมและหลาย ๆ คนที่หัวอกเดียวกันกับผมได้เลือกเล่นกันนั่นก็คือ JBL 4312M II Studio Monitor ตัวนี้นี่เอง! เพราะว่าเป็นลำโพงที่หน้าตาเหมือน 4312 มาก ๆ สวยมากและที่สำคัญมันเล็กครับ! ใช้พื้นที่ในการเซ็ทอัพน้อยเหมาะกับคนที่ไม่มีพื้นที่เยอะหรือไม่มีห้องฟังเอามาก ๆ

JBL 4312M II Studio Monitor หน้าตาถอดแบบรุ่นพี่มาแต่ย่อขนาดให้เล็กลง

ดีไซน์ & สเปค
JBL 4312M II Studio Monitor เป็นลำโพงตู้เปิดแบบสามทางครับคือแยกเป็น ทุ้ม กลาง แหลม อิสระจากกันจุดเด่นของลำโพงแบบนี้คือการแยกแยะเสียงในย่านต่าง ๆ ได้อย่างยอดเยี่ยมแต่ต้องบอกว่าลำโพงสามทางแบบนี้ตัววงจรตัดแบ่งความถี่ (Crossover Network) ต้องเจ๋งจริงนะครับถึงจะดึงจุดเด่นของลำโพงสามทางมาได้เพราะถ้าเจอวงจรตัดแบ่งความถี่ไม่ดีละก็ลำโพงสามทางจะกลายเป็นลำโพงแย่ ๆ คู่หนึ่งไปเลย

แต่สำหรับรุ่นนี้ JBL บอกว่าใช้ High-quality dividing network กันเลยทีเดียวซึ่งเดี๋ยวตรงนี้ต้องไปทดสอบกันดูครับว่าเจ๋งจริงอย่างที่ JBL ว่ามารึเปล่า ตัวตู้เป็นไม้เคลือบแบบด้านสวยงามเรียบหรูดูวินเทจและเป็นตู้เปิดแบบมีท่อเบสอยู่ด้านหน้าเหมือน JBL 4312MKii ด้านหน้าตู้เป็นสีฟ้าตามแบบรุ่นพี่เป๊ะ Driver สามตัวถูกจัดเรียงไว้ไม่แตกต่างจาก JBL 4312MKii

มุมขวาบนมีปุ่มเลื่อนปรับเสียงย่านกลาง และ สูงมาให้ 3 สเต็ป ลำโพงคู่นี้ตอบสนองย่านความถี่ได้ตั้งแต่ 55Hz – 50kHz (-6dB) จะเห็นว่าลำโพงตัวเล็ก ๆ แค่นี้สามารถลงไปได้ต่ำถึง 55Hz และ ย่านความถี่สูงไปไกลได้ถึง 50kHz เลยทีเดียว จากสเปคบอกได้เลยว่าเหมาะกับการนำไปเล่นคู่กับไฟล์เพลงแบบ Hi-Res มาก ๆ

ลำโพงคู่นี้ Nominal impedance อยู่ที่ 6 ohms Sensitivity 90 dB ตามสเปคระบุว่าต้องการกำลังขับไม่น้อยกว่า 75 watts ครับ ซึ่งตามสเปคแล้วบอกได้เลยว่าหาแอมป์มาขับลำโพงคู่นี้ได้ไม่ยากครับ

Titanium dome ขนาด 19mm ถือเป็นทีเด็ดของลำโพงคู่นี้เลยทีเดียว
Midrange ขนาด 50mm
Woofer ขนาด 133mm
ปุ่มปรับ Midrange และ High สามารถเลือกปรับได้ 3 ระดับ
ขั้วต่อลำโพงเป็นแบบ Single Wire

แม็ทชิ่ง & เซ็ทอัพ
JBL 4312M II Studio Monitor เป็นลำโพงมอนิเตอร์ ซึ่งหลักการออกแบบของลำโพงประเภทนี้แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะต้องเซ็ทอัพไว้ฟังแบบ Near Field ครับ ซึ่งก็เหมาะกับขนาดตัวของลำโพงคู่นี้ด้วย

ขั้นแรกผมเอาไปเซ็ทอัพในห้องฟังของ GM2000 ซึ่งหากเทียบกับขนาดลำโพงคู่แล้วต้องบอกว่าห้องฟังนั้นใหญ่เกินลำโพงไปมากทีเดียว การเซ็ทอัพผมเริ่มด้วยการหยิบตลับเมตรมาวัดตามที่พี่ธานีสอนมาตลอดคือเริ่มที่ 1.8 เมตรครับ แล้วก็ค่อย ๆ ฟังค่อย ๆ ปรับจนมาลงตัวที่ระยะห่าง 1.6 เมตรครับ เป็นจุดที่คิดว่าลงตัวที่สุดสำหรับการเซ็ท

อัพในห้องนี้นี้โดยมีการโทอินเข้ามานิดหน่อย จุดนั่งฟังสำหรับเซ็ทอัพแบบนี้ก็จะใกล้กับลำโพงมากขึ้นครับ จุดเด่นของการเซ็ทอัพลำโพงแบบนี้คือ “Energy” ที่เราจะได้รับมาแบบเต็ม ๆ แม้ว่าลำโพงจะเล็กก็ตาม อีกอย่างเราจะได้ยินรายละเอียดต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับยิ่งเซ็ทแบบนี้กับลำโพงสามทางด้วยยิ่งชัดเข้าไปใหญ่

พอได้ลองเองแล้วก็พอจะเข้าใจว่าทำไมซาวด์เอ็นจิเนียร์ถึงนิยมเซ็ทอัพลำโพงกันแบบนี้ เรื่องการแม็ทชิ่งผมใช้ Source เป็น Music Server ของ ELAC รุ่น DS-S101-G โดยเล่นเพลงผ่าน HDD โดยตรง Out ออกมาเข้า Integrated Amp ของ Cambridge Audio รุ่น CXA80 ซึ่งมีกำลังขับ 6 ohms อยู่ที่ 100 watts ซึ่งตามสเปคสามารถขับ JBL 4312M II Studio Monitor คู่นี้ได้แบบสบาย ๆ หายห่วง

อีกจุดนึงที่ทำให้ผมสามารถวางลำโพงคู่นี้ได้ห่างถึง 1.6 เมตรในห้องที่ใหญ่เกินลำโพงแบบนี้ได้ก็เพราะกำลังขับของแอมป์ที่ขับได้แบบเหลือ ๆ ครับ หากใครที่สนใจจะเลือกซื้อลำโพงคู่นี้แล้วมีแอมป์ที่มีกำลังขับน้อยกว่านี้ผมว่าอาจจะต้องขยับตัวลำโพงเข้ามาอีกนิดหน่อยเพื่อให้ได้เสียงที่เต็มมากขึ้นครับ

ด้วยการเซ็ทอัพแบบ Near Field ทำให้ต้องเข้าไปนั่งใกล้ลำโพงมากขึ้น
การเซ็ทอัพในห้องที่ใหญ่เกินลำโพงแบบนี้ทำให้ผมต้องถอยลำโพง
เข้าไปใกล้ด้านหลัง และขยับระยะห่างของลำโพงให้ใกล้มากขึ้น

เสียง
จุดเด่นแรกของลำโพงคู่นี้ที่อยากพูดถึงคือเรื่องของโทนัลบาลานซ์ที่ทาง JBL คุยไว้ว่าใช้ High-quality dividing network นั้นพอได้ลองผมก็ต้องบอกว่างานนี้ไม่ได้โม้ครับ การที่เป็นลำโพงสามทางนั้นจุดเด่นคือการแยกแยะรายละเอียดของย่านเสียงต่าง ๆ ออกมาได้ดีแต่ถ้าหากตัว Network ทำงานได้ไม่ดีโทนัลบาลานซ์ของลำโพงคงจะออกมาไม่น่าฟังแน่ ๆ

แต่จากการทดสอบ JBL 4312M II Studio Monitor ให้โทนัลบาลานซ์ที่ยอดเยี่ยมครับฟังแล้วไม่รู้สึกว่ามีย่านเสียงใดออกมามากจนรู้สึกล้ำไปกลบย่านเสียงอื่น ๆ เลย อีกสิ่งหนึ่งที่ลำโพงคู่นี้ทำได้ดีคือเรื่องของ “มิติเสียง” หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ว่าลำโพงที่ดีคือไม่มีลำโพง” หรือ “ลำโพงล่องหนใช่ไหมครับ” JBL 4312M II Studio Monitor เมื่อเซ็ทอัพลงตัวแล้วลำโพงคู่นี้ทำได้ใกล้เคียงคำกล่าวนั้นมากทีเดียว ลำโพงคู่นี้ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงตำแหน่งและขนาดของชิ้นดนตรีได้อย่างยอดเยี่ยม

เรื่องของ “มิติเสียง” นั้นก็เป็นจุดเด่นของลำโพงขนาดเล็กอยู่แล้วและ JBL 4312M II Studio Monitor ก็สามารถดึงจุดเด่นนั้นออกมาได้อย่างน่าชื่นชมจริง ๆ ย่านทุ้มเป็นอีกจุดที่ผมชอบในลำโพงคู่นี้ครับโดยเฉพาะเสียงเบสที่ลงได้ลึก ลึกระดับที่ขุดเอารายละเอียดเสียงในย่านต่ำ ๆ ในเพลงเดิมที่เคยฟังแต่ไม่เคยได้ยินออกมาอย่างน่าประทับใจเรียกว่าเป็นเบสที่เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ และไฮไลท์ของลำโพงคู่นี้จริง ๆ คือย่านเสียงแหลมครับลำโพงคู่นี้ตอบสนองย่านความถี่ได้สูงสุดถึง 50kHz ครับ

พี่ธานีเคยบอกผมว่าถ้าอยากเล่นเพลงแบบ Hi-Res ไม่ใช่มีแค่ไฟล์แล้วจะจบ แต่ต้องมีปลายทางที่ตอบสนองย่านความถี่ที่ไฟล์เพลงแบบ Hi-Res ปล่อยออกมาได้ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็ไม่ค่อยอินเท่าไหร่นะครับเพราะเพลงที่ผมฟังส่วนใหญ่ยังไม่มีไฟล์ Hi-Res ฮา ๆ แต่เมื่อได้มาลองลำโพงคู่นี้ก็ทำให้ความคิดผมเปลี่ยนไปเลยละครับ เพราะถึงแม้ผมจะฟังเพลงเดิมที่เคยฟังด้วยคุณภาพ 16 bit 44.1 แต่เสียงที่ได้นั้นกลับเปลี่ยนไป!

ที่ว่าเปลี่ยนไปไม่ได้หมายความว่าลำโพงคู่นี้ทำให้เพลงที่ผมเคยฟังนั้นผิดเพี้ยนไปหรอกนะครับ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นละก็มีหวังผมต้องเอาลำโพงคู่นี้ไปคืนทางมหาจักรเพื่อส่งซ่อมแน่ ๆ แต่ที่บอกว่าเปลี่ยนไปคือมันทำให้ผมได้ยินเสียงที่ผมไม่เคยได้ยินต่างหาก! หลาย ๆ เพลงที่ผมใช้ทดสอบนั้นพอเปิดด้วยลำโพงคู่นี้ผมพบว่าเสียงย่านแหลมมันไปได้ไกลกว่าเดิมครับ

หางเสียงที่เคยได้ยินอยู่แต่เดิมกลับกลายเป็นว่ามันพุ่งทะยานออกไปได้อีก ฟังแล้วรู้สึกว่าเพลงเดิมที่เคยฟังให้มิติที่กว้างขึ้น ทำให้เข้าถึงอารมณ์ของเพลงได้มากขึ้นอีกด้วยในหลาย ๆ เพลง

สรุป
ผมบอกได้เลยว่าแค่รู้ว่าในไทยมี JBL 4312M II Studio Monitor ขายโดยที่ไม่ต้องไปหิ้วเองไกลถึงญีปุ่นแถมได้ประกันให้สบายใจจากทางมหาจักรก็นับเป็นเรื่องที่ทำให้ตัดสินใจซื้อลำโพงคู่นี้ได้ไม่ยากแล้วละครับ ยิ่งใครเป็นแฟนลำโพงแนววินเทจแล้วชอบรูปร่างหน้าตาของลำโพงซีรีย์ 4312 อยู่แล้วด้วยละก็ยิ่งไม่ควรจะพลาดเข้าไปใหญ่

แต่หากจะให้พูดถึงเรื่องการใช้งานในแบบที่เอาไปใช้ฟังจริง ๆ โดยตัดความเป็นแฟน JBL ออกไป ลำโพงคู่นี้ก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ดีเพราะเสียงที่ได้กับราคาที่จ่ายไปก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่คู่แข่งน้อยถึงน้อยมากครับ ถ้าใครชอบสไตล์เสียงที่สด ชัด เคลียร์ เน้นรายละเอียด ผมว่าหากคุณได้ลองลำโพงคู่นี้ต้องหลงรักอย่างแน่นอน!


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด
โทร. 0-2256-0020-9
ราคา 29,900 บาท

อชิร รวีวงศ์

Content Contributor ที่ชื่นชอบในการทำคอนเทนต์ทุกรูปแบบ และยังหลงใหล คลั่งไคล้ไปกับเครื่องเสียง หูฟัง กล้อง และแก๊ดเจ็ททุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับภาพและเสียง!