fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

รีวิว DALI : OBERON 3

ในงาน IFA 2018 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้ผลิตลำโพงยี่ห้อ DALI จากประเทศเดนมาร์กได้เปิดตัวลำโพงรุ่นใหม่ OBERON Series ซึ่งเป็นลำโพงที่จัดอยู่ในกลุ่มซื้อง่ายขายคล่อง และเป็นรุ่นที่สูงกว่า SPEKTOR Series ที่ผมได้รีวิวไปก่อนหน้านี้

ลำโพงดาลี่ โอ-เบอะ-ร็อน ซีรีส์ มาพร้อมกับสโลแกน ‘Rediscover the magic of music’ มีหมายความว่า ‘ฟื้นคืนความมหัศจรรย์ของดนตรี’ ชูจุดเด่นตรงที่เป็นลำโพงราคาย่อมเยารุ่นแรกที่ออกแบบโดยการหยิบยืมเทคโนโลยี SMC จากลำโพงรุ่นใหญ่ของ DALI มาใช้งานด้วย

DALI OBERON 3 เป็นรุ่นแรกที่ผมได้ยืมมาลองฟังหลังจากที่ลำโพงรุ่นนี้เข้าไทยพร้อมขายตั้งแต่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

การออกแบบ
DALI OBERON 3 ออกแบบเป็นลำโพงตู้เปิดขนาดเล็ก 2 ทาง มีท่อเบสรีเฟลกซ์อยู่ด้านหลังตู้ เป็นลำโพงประเภทวางขาตั้ง (Stand/Shelf) รุ่นถัดขึ้นมาจาก OBERON 1 ซึ่งเป็นรุ่นเล็กสุดของซีรีส์นี้

ลำโพงรุ่นอื่น ๆ ใน OBERON Series ยังมีลำโพงแบบตั้งพื้นรุ่น OBERON 5 และ OBERON 7 ลำโพงเซ็นเตอร์รุ่น OBERON VOKAL และลำโพงแขวนผนังรุ่น OBERON ON-WALL เผื่อให้นำไปใช้งานในระบบเสียงโฮมเธียเตอร์

ขั้วต่อสายลำโพงแบบซิงเกิลไวร์

แต่ไม่ว่าจะเป็น OBERON รุ่นใด การออกแบบก็จะมีพื้นฐานที่มาจากวัตถุดิบแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวตู้ลำโพงที่ขึ้นรูปจาก MDF ปิดผิวด้วยลายไม้ไวนิลเกรดดี แม้ไม่ใช่ผิวไม้วีเนียร์แท้แต่ก็ไม่ใช่ไวนิลแบบที่แปะมากับเฟอร์นิเจอร์ราคาถูก

รายละเอียดตามโบรชัวร์แจ้งไว้ว่าผิวตู้มีให้เลือก 4 แบบได้แแก่ สีขาว, สีดำลายไม้, สีไลต์โอ๊ค และสีดาร์ควอลนัท ซึ่งคู่ที่ผมได้รับมารีวิวนี้เป็นสีดาร์ควอลนัท

แผงหน้าตู้หรือ front baffle ของลำโพง OBERON 3 รวมทั้ง OBERON Series รุ่นอื่น ๆ นั้นทำสีเป็นสีดำด้าน มีหน้ากากลำโพงทำจากโครงพลาสติกหุ้มผ้าโปร่งเสียง ยึดกับแผงหน้าตู้ด้วยหมุดเสียบ ไม่ได้ยึดด้วยแม่เหล็กเหมือนลำโพงสมัยใหม่หลาย ๆ รุ่น (เช่น Audiovector QR1)

ทวีตเตอร์โดมผ้าขนาด 29 มิลลิเมตรใน DALI OBERON 3
โดมผ้ามวลเบาและแม่เหล็กขนาดใหญ่ (ภาพจาก DALI)

ส่วนของไดรเวอร์ถือได้ว่าเป็นไฮไลต์ของลำโพง OBERON Series เพราะทวีตเตอร์โดมผ้าที่ใช้เป็นทวีตเตอร์โดมผ้าอาบน้ำยารุ่นใหม่ล่าสุดขนาดโดม 29 มิลลิเมตร ซึ่งทวีตเตอร์โดมผ้าไซส์นี้มักจะพบเจอในทวีตเตอร์รุ่นแพง ๆ จากเดนมาร์คบางยี่ห้อ

นอกจากขนาดของตัวโดมผ้าแล้ว ทาง DALI ยังให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่าโดมผ้าของทวีตเตอร์ในลำโพง OBERON Series นั้นมีน้ำหนักเพียง 0.06 มิลลิกรัมต่อตารางมิลลิเมตร ซึ่งเคลมว่าเบากว่าโดมผ้าของลำโพงยี่ห้ออื่น ๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว !

เมื่อตัวโดมซึ่งทำหน้าที่เป็นไดอะแฟรมผลักอากาศให้เกิดเป็นคลื่นเสียงมีน้ำหนักเบาลง มันจะจะมีอิสระในการขยับตัวมากขึ้น อีกทั้งยังมีแรงเฉื่อยน้อยลงด้วย (ยั้งตัวหยุดขยับได้เร็ว) อันนี้เป็นศาสตร์ด้านฟิสิกส์ฉบับพื้นฐานเลยล่ะครับ

ทวีตเตอร์โดมผ้า 29 มิลลิเมตรทำงานตั้งแต่ความถี่ 2,400 Hz (ความถี่ครอสโอเวอร์) ไปจนถึง 26,000 Hz ตามสเปคฯ นอกเหนือจากนั้นเป็นหน้าที่ของไดรเวอร์เสียงกลาง/ทุ้มขนาด 7 นิ้ว ที่มีไดอะแฟรมทำจากเยื่อไม้ อัดขึ้นรูปเป็นทรงกรวย (wood-fibre cone) ซึ่งวัสดุตัวนี้ได้กลายเป็นลายเซ็นของลำโพง DALI ไปแล้ว ในรุ่นเล็กอย่าง SPEKTOR 2 ที่ผมรีวิวไปแล้วก่อนหน้านี้ก็ใช้วัสดุตัวนี้เช่นกัน

Technical Insight:
SMC คืออะไร?

เพื่อให้สมกับเป็นลำโพงรุ่นที่ยกระดับขึ้นมาจาก SPEKTOR Series ซึ่งเป็นอนุกรมเล็กสุดในกลุ่มลำโพงระดับ entry-level ของ DALI การออกแบบลำโพง OBERON Series จึงไม่ได้มีเพียงขนาดของไดรเวอร์ที่ใหญ่ขึ้น

แต่มันยังมาพร้อมกับเทคโนโลยี SMC ที่ DALI เคยใช้อยู่ในลำโพงระดับมิดเอนด์ถึงไฮเอนด์เท่านั้นเช่นซีรีส์ EPICON, RUBICON และ OPTICON ไม่เคยนำมาใช้ในลำโพงรุ่นเล็ก ๆ อย่างนี้มาก่อน

ไดรเวอร์เสียงกลาง/ทุ้มขนาด 7 นิ้ว ที่มีไดอะแฟรมทำจากเยื่อไม้

SMC ย่อมาจากคำเต็มว่า ‘Soft Magnetic Compound’ เป็นเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ที่ DALI ได้นำมาใช้ในระบบแม่เหล็กของตัวไดรเวอร์เสียงกลาง/ทุ้ม ทำให้ไดอะแฟรมของไดรเวอร์สามารถขยับตัวได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ส่งผลคลื่นเสียงที่ถ่ายทอดออกมามีความผิดเพี้ยนต่ำลง

ชิ้นส่วนที่เรียกว่า pole piece ในไดนามิกไดรเวอร์ (ภาพจาก DALI)

โดยปกติการทำงานของไดนามิกไดรเวอร์นั้นเป็นแบบมอเตอร์ คือมีขดลวดวอยซ์คอล์ย วางตัวอยู่ในสนามแม่เหล็ก เมื่อมีกระแสไฟฟ้าซึ่งก็คือสัญญาณเสียงผ่านเข้ามาในขดลวดวอยซ์คอล์ย มันจะเกิดการเหนี่ยวนำเป็นแรงผลักขดลวดวอยซ์คอล์ยให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งในลักษณะคล้ายกับลูกสูบ

ขดลวดวอยซ์คอล์ยซึ่งยึดติดอยู่กับไดอะแฟรมก็จะทำให้ไดอะแฟรมของไดรเวอร์ขยับไปผลักอากาศจนเกิดเป็นคลื่นเสียงให้เราได้ยิน

เนื่องจากสัญญาณเสียงนั้นเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ทิศทางการขยับของตัวไดอะแฟรมจึงมีทั้งเคลื่อนที่ดันออกมาข้างหน้า และเคลื่อนที่ถอยหุบกลับไปด้านหลัง เมื่อลำโพงส่งเสียงออกมาเราจึงมองเห็นมันขยับเข้า-ออกตามสัญญาณเสียง

DALI ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าไดนามิกไดรเวอร์ในลำโพงส่วนใหญ่มักจะใช้แม่เหล็กแบบ ‘iron based magnet’ ซึ่งมักจะมีคุณสมบัติในการถูกเหนี่ยวนำให้เกิดสภาพแม่เหล็ก (magnetization) และการสลายสภาพแม่เหล็ก (demagnetization) ในช่วงที่กระแสไฟฟ้าเกิดการสลับทิศทางกัน ด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นผลจากปรากฎการณ์ที่เรียกว่าฮิสเตอริซิส (Hysterisis) ในแม่เหล็กแบบ ‘iron based magnet’

พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เป็นผลให้การขยับของขดลวดวอยซ์คอล์ยเกิดความหน่วงที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น นำมาซึ่งความผิดเพี้ยนของเสียงที่ตัวไดรเวอร์ลำโพงถ่ายทอดออกมา ทาง DALI จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้แม่เหล็กแบบ ‘Soft Magnetic Compound’* ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านทานปรากฎการณ์ฮิสเตอริซิสได้ดีกว่า โดยให้มันอยู่ในส่วนแกนในของระบบแม่เหล็กที่มีชื่อเรียกว่า ‘pole piece’ (ดูภาพประกอบจะเข้าใจง่ายขึ้นครับ)

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ‘Soft Magnetic Compound’ ที่แปลตรงตัวว่าสารแม่เหล็กเนื้อนิ่มในที่นี้ จะเป็นแม่เหล็กประเภทที่เรียกว่า ‘แม่เหล็กประดิษฐ์’ ที่ผู้เขียนเคยเล่นตอนเด็ก ๆ หรือไม่ เพราะมันเป็นแม่เหล็กที่มีเนื้อนิ่มเหมือนกัน สามารถดึงหรือหักออกจากกันได้ง่ายเกือบจะเหมือนดินน้ำมัน

กราฟแสดงการลดลงของความเพี้ยน (เส้นสีเขียว) เมื่อมีการใช้ SMC เสริมเข้าไปในส่วนของ pole piece ของตัวไดรเวอร์ เทียบกับไดรเวอร์ที่ใช้ iron based magnet อย่างเดียว (เส้นสีแดง) – ภาพจาก DALI

การเซ็ตอัปและแมตชิ่ง
DALI OBERON 3 มีช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 47-26,000Hz ความไว 87dB (2.83V/1m) อิมพิแดนซ์เฉลี่ย 6 โอห์ม แนะนำให้ใช้กับแอมป์ที่มีกำลังขับตั้งแต่ 25-150 วัตต์ ขนาดของตัวลำโพงอยู่ที่ 350 x 200 x 315 มิลลิเมตร น้ำหนักข้างละ 6.3 กิโลกรัม จัดว่าเป็นลำโพงวางขาตั้งขนาดปานกลาง เหมาะกับขาตั้งลำโพงสูง 22-24 นิ้วโดยประมาณ

ชุดเครื่องเสียงหลักที่ผมเลือกใช้งานกับ DALI OBERON 3 ยังคงเป็นซิสเตมที่ใช้งานกันมาจนคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นฟรอนต์เอนด์และอินทิเกรตแอมป์ซีรีส์ 8006 ของ Marantz สายเคเบิ้ลและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ของ Furutech, Transparent, Shunyata Research และ Nordost รวมถึงเพาเวอร์ไลน์คอนดิชันเนอร์จาก Clef Audio

ในระหว่างการเซ็ตอัปหาตำแหน่งจัดวางลำโพงที่เหมาะสม มีการสลับและปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เสริมเล็กน้อยตามที่เห็นเหมาะสม ในขณะที่ซิสเตมหลักยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ตำแหน่งลงตัวสุดท้ายของลำโพง DALI OBERON 3 ก่อนที่ผมจะทำการฟังเสียงแล้วบันทึกรายละเอียดเพื่อมาเขียนรีวิวนี้ ลำโพงข้างซ้ายและขวาวางห่างกัน 165 เซ็นติเมตร ห่างผนังห้องด้านหลังลำโพง 150 เซ็นติเมตร (วัดถึงหน้าตู้ลำโพง)

การฟังเสียง
ระหว่างที่รีวิว DALI OBERON 3 ผมยังมีลำโพงขนาดเล็กอีก 2 คู่ที่เคยรีวิวไปแล้วอยู่ในห้องฟังนั่นคือ Revel Concerta2 M16 และ Audiovector QR1 ก็เลยถือโอกาสยกมาสลับฟังเปรียบเทียบแนวเสียง

ค่อนข้างชัดเจนว่าลำโพงอย่าง OBERON 3 นั้นให้เสียงที่มีแนวทางต่างไปจากเพื่อน แม้ว่าภาพรวมของเสียงจากลำโพงทั้ง 3 รุ่นจะมีลักษณะค่อนข้างเปิดเผยและไม่มีปัญหาในเรื่องของสมดุลเสียง

เสียงที่ได้ยินจาก Revel Concerta 2 M16 และ Audiovector QR1 มีความคล้ายกันมากกว่า คุณลักษณะของเสียงหลายอย่างไปในแนวทางเดียวกัน ย่านความถี่เสียงกลางตั้งแต่กลางต่ำจนถึงกลางสูงมีความสะอาด นวลเนียนและละเมียดละไมเป็นจุดขาย ทำให้ภาพรวมของทั้งคู่ฟังดูสุขุมลุ่มลึกกว่า

นักฟังรุ่นใหญ่ที่คุ้นเคยกับเสียงของลำโพงรุ่นเก่า หรือคนที่ชอบเสียงแนวนุ่มแน่น ฟังแล้วน่าจะชี้นิ้วมาที่ลำโพง 2 คู่นี้ได้ไม่ยาก เพราะมันฟังติดหูง่ายกว่าและเป็นแนวเสียงที่ถูกใจมหาชนคนเล่นเครื่องเสียงมากกว่า

ขณะที่เสียงลำโพงของ DALI มี “ความสว่าง” ของเนื้อเสียงในปริมาณที่เหลื่อมลำโพงอีก 2 รุ่นนิด ๆ โดยเฉพาะเมื่อใช้งานร่วมกับอินทิเกรตแอมป์ Marantz PM8006 และสายลำโพง Nordost Blue Heaven Leifทำให้ภาพรวมของเสียงออกไปทางร่าเริงกระฉับกระเฉงมากกว่า ฟังแล้วไม่มีคำว่าเฉื่อย เนือยหรือน่าเบื่อ

“ความสว่าง” ของ OBERON 3 ในที่นี้ เพื่อไม่ให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ผมอยากจะอธิบายเสริมว่ามันเป็นความสว่างของเสียงที่เจือด้วยความชุ่มฉ่ำ มีชีวิตชีวา

มันไม่ใช่สว่างแบบแห้ง ๆ ด้าน ๆ ซึ่งถ้าหากเสียงเป็นแบบหลังแล้วมันมักจะตามมาด้วยความน่ารำคาญหู มากกว่าความน่าฟัง

ชัดเจนมากเมื่อได้เปิดฟังเสียงของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะที่เป็นโลหะ เครื่องเป่าทองเหลืองจำพวกปี่แตรฝรั่งทั้งหลายฟังแล้วสดชื่น ชุ่มฉ่ำดีมาก หรือเสียงเปียโนก็ตีความได้ในทำนองเดียวกัน มันเป็นเสียงเปียโนที่สว่างสุกใส เนื้อเสียงแน่นหนา ไม่ใช่ลอยออกมาแบบกลวง ๆ แต่อย่างใด อ้างอิงจากการฟังอัลบั้ม I Touch The Stars – Ayaka Hosokawa (SACD Rip) และอัลบั้ม Four Marys – Rebecca Pidgeon (ไฟล์ PCM 24bit/96kHz HDtracks)

อย่างไรก็ดีกับงานบันทึกเสียงบางชุดถ้าหยิบมาเปิดฟังกับ OBERON 3 อาจได้ยินเสียงลมรอดไรฟันหรือ sibilance เน้นชัดกว่าลำโพงอีก 2 คู่ที่ผมได้ลองฟังเทียบกันได้เช่นกัน ในประเด็นสามารถปรับจูนได้จากการเลือก mixed & matched อุปกรณ์เสริมภายในซิสเตม

อย่างเช่นที่ผมลองเปลี่ยนสายลำโพงของ Transparent รุ่น MusicWave Gen 5 เข้าไปแทนที่ Nordost รุ่น Blue Heaven Leif ก็รู้สึกได้ทันทีว่าสายลำโพงเส้นใหม่ที่เปลี่ยนเข้าไปมีเคมีเข้ากันกับ OBERON 3 มากกว่า sibilance ในน้ำเสียงที่พูดถึงก่อนหน้านี้ฟังดูมีความกลมกล่อมละมุนมะไลมากขึ้น ดังนั้นมากกว่า 80% ของรีวิวนี้จึงจะอ้างอิงกับสายลำโพงของ Transparent เป็นหลักครับ

ท่านที่เห็นว่าเขาให้ไดรเวอร์ใหญ่ถึง 7 นิ้วมาในตู้ขนาดไม่เล็กนักสำหรับลำโพงประเภทวางขาตั้ง อย่าได้จินตนาการไปเชียวนะครับว่ามันจะเป็นลำโพงสายเร้าใจเน้นเสียงทุ้มย่านมิดเบสเด้งดึ๋ง ๆ ออกมาเป็นลูก ๆ ไม่ใช่เลยครับ เสียงทุ้มของลำโพงรุ่นนี้เน้นมวลเสียงอุ่น ๆ ที่มีความสะอาดในย่านความถี่ต่ำ และลงได้ลึกพอสมควร

ถ้าเป็นศัพท์แสงของคนออกแบบลำโพงก็ต้องบอกว่าเขาน่าจะจูนความถี่ของท่อเบสรีเฟลกซ์ รวมทั้งค่า Q ของการตอบสนองเสียงทุ้มเอาไว้ค่อนข้างต่ำ ไม่ under-damped หรือ over-damped กันแบบชัดเจน เสียงทุ้มที่ได้จึงมีความเป็นธรรมชาติสูง ไม่เน้นให้เด้งออกมาเป็นลูก ๆ แต่ก็ไม่ได้บอบบาง เจือจางหรือแผ่วเบาแต่ประการใด

คุณลักษณะดังกล่าวฟังชัดเจนในอัลบั้ม Time Out – The Dave Brubeck Quartet (ไฟล์ PCM 24bit/176.4kHz HDtracks) และจากอัลบั้ม Kind Of Blue – Miles Davis (ไฟล์ PCM 24bit/176.4kHz HDtracks) ในเพลง So What จาก Kind Of Blue ซึ่งมีดนตรีอยู่ไม่กี่ชิ้นและมิกซ์มาค่อนข้างแยกชิ้นดนตรีชัดเจน ทำให้ได้ยินชัดกว่าเบสในช่วงต้นเพลงมีรายละเอียดของโน้ตเบสหลายอย่างที่ผมไม่เคยได้ยินจากลำโพงตัวเล็ก ๆ เลย บ้างก็ได้ยินอย่างแผ่วเบากว่านี้มาก

การฟัง Kind of Blue กับลำโพงของ DALI ยังทำให้ผมต้องปรับเปลี่ยนความเข้าใจเสียใหม่ จากที่เคยคิดว่า OBERON 3 นั้นไม่เน้นเรื่องมิติเสียงเท่าไรนัก เพราะเมื่อตอนที่ฟังเสียงเทียบกับ Audiovector QR1 มันโดนเจ้า QR1 บดบังรัศมีในส่วนนี้ไปเสียหมด

แต่พอไม่เอามาฟังเทียบกัน และเริ่มคุ้นเคยกับลำโพงของ DALI มากขึ้นแล้ว ผมกลับรู้สึกว่า… เฮ้ย นี่มันก็มีดีเหมือนกันนี่หว่า มันให้เสียงที่ชัดเจนว่าเบสอยู่ตรงกลางเวทีเสียงถอยร่นไปจากแถวหน้าประมาณ 1-2 แถว ขณะที่มือกลองจองพื้นที่บริเวณด้านขวามือของผม ส่วนเปียโนนั้นอยู่ทางด้านซ้ายมือในตำแหน่งที่เป็นเงาสะท้อนของมือกลอง

เขยิบมาในแถวหน้า ซ้ายมือถัดจากเปียโนออกไปเล็กน้อยเป็นพื้นที่ของเสียงเทเนอร์แซ็กโซโฟนแน่น ๆ ห้าว ๆ ของจอห์น โคลเทรน ถัดเข้ามาบริเวณตรงกลางเป็นพื้นที่ของไมล์ส เดวิส ที่ยืนโซโล่ทรัมเป็ตอย่างโดดเด่นและลุ่มลึก

ด้านขวามือเป็นอัลโตแซ็กโซโฟนอุ่น ๆ หวาน ๆ ของแคนอนบอล แอดเดอลีย์ ได้ยินอย่างนี้ผมถึงกับต้องลุกขึ้นไปหรี่ไฟในห้องฟังลงอีก แล้วย้อนกลับไปดื่มด่ำฟังอย่างละเลียดกับ So What ตั้งแต่ต้นเพลงอีกครั้ง ทั้งที่เพลงนี้ไม่ใช่เพลงโปรดที่ผมเปิดฟังบ่อยเลย และปกติมันออกจะฟังยากนิด ๆ สำหรับผมด้วยซ้ำครับ

นึกย้อนกลับไปตอนที่ผมเร่ิมสนใจฟังเพลงแจ๊ซผ่านชุดเครื่องเสียง ผมเคยสงสัยว่าเขาฟังอะไรกัน จนกระทั่งมีโอกาสได้ฟังเพลงแจ๊ซกับเครื่องเสียงชั้นดีจำนวนมากมาย ประกอบกับที่ได้ฟังสดบ้างในบางวาระ ผมก็เริ่มมีคำตอบในใจว่าเราต้องการอะไรจากดนตรีแจ๊ซและชุดเครื่องเสียง

องค์ประกอบลงตัวมีอยู่หลายอย่างครับ แต่เรื่องของจังหวะและความเป็นธรรมชาติของเสียงนั้นมักจะขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าเสมอ ซึ่งในเวลานี้ผมกำลังรู้สึกอย่างนั้นกับลำโพง DALI OBERON 3 ไม่แปลกเลยที่ใน playlist ระหว่างที่ลำโพงคู่นี้จะมีแต่ดนตรีแนวแจ๊ซเสียเป็นส่วนใหญ่

ในอัลบั้ม Way Out West ของ Sonny Rollins (ไฟล์ฟอร์แมต DSD งานรีมาสเตอร์จาก Analogue Productions) ลำโพงของดาลี่รุ่นนี้สามารถสะกดให้ผมนั่งอยู่กับที่เฉย ๆ โดยไม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็คอะไรเลยได้ตั้งแต่แทรคแรก “I’m an Old Cowhand” จนถึงเพลงสุดท้าย

ผมรู้สึกว่าเวลาเกือบ 6 นาทีของเพลงนี้ผ่านไปเร็วมาก เมื่อผ่านไปถึงแทรคที่ 4 “Wagon Wheels” เสียงจากลำโพงคู่นี้ก็เริ่มฉายแววความเป็น “ลำโพงเล็กเสียงใหญ่” ออกมาให้ได้ยินแบบชัดเจนกระจ่างแจ้งกับโสตประสาท

เสียงแซกโซโฟนมีมวลเนื้ออวบอิ่ม มีความสดความชัดสมจริง อะคูสติกเบสที่เดินก็มีนำ้หนักทิ้งตัวแล้วยังถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้ดีมาก เอาเป็นว่าผมคงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก เชิญฟังเสียงเอาจากคลิปที่ผมบันทึกมาจากห้องทดสอบจริง ๆ ของเราดีกว่าครับ

ส่วนตัวผมรู้สึกว่า DALI OBERON 3 เป็นลำโพงที่เสียงค่อนข้างทันสมัย ไม่ได้หมายความว่ามันไม่เหมาะจะฟังเพลงเก่า ๆ ที่จริงเป็นตรงกันข้ามด้วยซ้ำครับ เพราะว่าผมขุดเพลงเก่าที่บันทึกเสียงเยี่ยมและผ่านการรีมาสเตอร์เป็น Hi-Res Audio หลายชุดเลยมาเปิดฟังกับลำโพงคู่นี้แล้วรู้สึกชอบพอมันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ 2 อัลบั้มดังจากสังกัด Sheffield Lab ที่ทำออกมาเป็นเวอร์ชันไฟล์ Hi-Res Audio 24bit/96kHz อย่างชุด Amanda McBroom | Growing Up In Hollywood Town – West Of Oz หรือ Lincoln Mayorga And Distinguished Colleagues เสียงที่ผมได้ยินได้ฟังมันมาครบทั้งรายละเอียด อารมณ์ และบรรยากาศ โดยเฉพาะในชุดหลัง เสียงมันสด มัน real เหมือนนั่งฟังในห้องซ้อมดนตรีเลยทีเดียว

ความได้เปรียบของการใช้ไดรเวอร์ขนาดใหญ่เหมือนลำโพงแบบตั้งพื้น จึงทำให้เสียงทุ้มลึกของมันมีเนื้อ มีน้ำหนัก ไม่เบาโหวงหรือได้ยินแบบลอย ๆ แม้ว่ามันจะไม่ถึงขั้นกระแทกกระทั้นสะเทือนพื้นห้องก็ตาม

นอกจากนั้นยังทำให้ลำโพงสามารถเปิดได้ดังโดยไม่เกิดความเครียดได้ง่าย ยิ่งถ้าแอมป์มีกำลังสำรองเพียงพอด้วยแล้ว เร่งไปเถอะครับ ยิ่งฟังยิ่งมันจริง ๆ พระเดชพระคุณท่าน

ขนาดผมเดินออกจากห้องฟังทดสอบของเรามาแล้วเป็นสิบเมตร (ประตูห้องเปิดไว้) ยังได้ยินเสียงดนตรีสด ๆ ลอยตามออกมาเลยครับ ถ้าจะจินตนาการว่าในห้องนั้นมีวงแจ๊ซ 3-4 ชิ้นมาเล่นอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลยล่ะครับ

The Music Box
ด้วยความสัตย์จริงผมเพิ่งทราบราคาของลำโพง DALI OBERON 3 จากทางบริษัทผู้นำเข้า หลังจากได้ฟังไปแล้วระยะหนึ่ง ผมต้องถามย้ำไปว่าเป็นราคาต่อข้างหรือต่อคู่

เพราะหากไม่ดูจากองค์ประกอบภายนอกแค่เพียงอย่างเดียวแล้วล่ะก็ สุ้มเสียงที่ผมได้ยินจากลำโพงคู่นี้สามารถขายในราคานี้แบบต่อข้างได้เหมือนกันนะ เพียงแต่มันอาจจะไม่โดดเด่นอะไรมากนักถ้าเทียบกับลำโพงในระดับนั้น (4x,xxx บาทต่อคู่)

แต่เมื่อความเป็นจริงแล้วเขาขายอยู่ที่คู่ละ 20,500 บาท ราคานี้ต้องบอกว่าคนที่ชอบฟังเพลงแจ๊ซ รวมถึงดนตรีแนวใกล้เคียงหรือแม้แต่บัลลาดร็อค และกำลังมองหาลำโพงราคาไม่โหดร้ายกับวงเงินบัตรเครดิตไปตอบสนองโสตประสาท ผมไม่มีอะไรจะบอกนอกไปจากคำว่า โค-ตะ-ระ-คุ้ม ครับ!

ที่เขาบอกว่า ‘Rediscover the magic of music’ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง…


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เอลป้า ชอว์ จำกัด
โทร. 0-256-9683-5
ราคา 20,500 บาท/คู่

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ