fbpx
KNOWLEDGE

มาทำความรู้จักระบบเสียง DTS:X คู่แข่ง Dolby Atmos

ในอดีต DTS และ Dolby ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งกันโดยตรงทั้งในโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ และในระบบโรงภาพยนตร์ย่อส่วนที่บ้าน หรือที่เราเรียกกันว่าระบบเสียงโฮมเธียเตอร์

ในเวลาต่อมา Dolby ซึ่งดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในวงกว้างมากกว่า เป็นที่รู้จักแพร่หลายกว่า ก็เข้าครอบครองในธุรกิจทั้งสองอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

ในขณะที่บางคนคิดว่า DTS นั้นยอมแพ้ไปแล้ว แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา DTS ก็ได้ฟื้นตัวและกลับมาลงสนามแข่งกับ Dolby ได้อีกครั้งด้วยระบบเสียง “DTS:X” ซึ่งถูกพัฒนาต่อมาจากระบบเสียง DTS HD

DTS:X คืออะไร?
DTS:X เป็นเทคโนโลยีเสียงรอบทิศทางแบบ “object-based sound technology” หรือเทคโนโลยีระบบเสียงแบบอ้างอิงตำแหน่งวัตถุ ปัจจุบัน DTS:X ก็ได้ประกาศตัวเป็นคู่แข่งโดยตรงกับระบบเสียง Dolby Atmos

ระบบเสียง DTS:X เปิดตัวครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2015 โดยมุ่งเน้นทางด้านการใช้งานภายในบ้านก่อนจากนั้นจึงนำไปใช้กับโรงภาพยนตร์ ซึ่งต่างจากระบบเสียงรอบทิศทางของคู่แข่ง ที่เริ่มใช้งานในโรงภาพยนตร์ก่อนจะนำมาใช้ภายในบ้าน

ผู้ผลิตสินค้า Audio/Video ระดับแนวหน้าส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนระบบ DTS:X กันอย่างพร้อมหน้า ไม่ว่าจะเป็น Denon, Marantz, Anthem, Arcam, McIntosh, Onkyo, Pioneer, Sony, Trinnov และ Yamaha

ระบบเสียง DTS:X สามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนย้ายตำแหน่งเสียงไปรอบ ๆ ตัวผู้ใช้งาน เสมือนว่ามีเสียงนั้นอยู่จริง ๆ ภายในห้อง ซึ่งโดยหลักการอาจจะฟังดูเหมือนระบบเสียง Dolby Atmos แต่จุดที่ DTS:X แตกต่างออกไปนั้นอยู่ที่การกำหนดรูปแบบการติดตั้งลำโพง

ในขณะที่ Dolby Atmos ต้องการให้ผู้ใช้งานเพิ่มช่องสัญญาณเสียงเข้ากับระบบเสียงแบบ 5.1 หรือ 7.1 ที่มีอยู่เดิม แต่ DTS:X สามารถทำงานได้กับการตั้งค่าลำโพงเซอร์ราวด์ในแบบมาตรฐานทั่ว ๆ ไป เหมือนที่เราใช้งานกันอยู่แล้วตามบ้าน โดยระบบเสียง DTS:X สามารถรองรับตำแหน่งลำโพงได้สูงสุดถึง 32 ตำแหน่ง และรองรับระบบเสียงได้สูงสุดถึง 11.2 แชนเนล

นอกจากนั้นทาง DTS ยังคุยว่าระบบนี้ ตัวแปลงสัญญาณมีความยืดหยุ่นสูงสามารถทำงานร่วมกับการกำหนดค่าลำโพงในตำแหน่งต่าง ๆ ที่จัดวางอยู่ในบริเวณที่มีรูปแบบเป็นครึ่งวงกลม นอกจากนั้นผู้ใช้งานยังสามารถปรับความดังเสียงพูดในซาวด์แทร็คได้อย่างอิสระ ทำให้บทสนทนาที่รับฟังยากสามารถฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ความสามารถดังกล่าวต้องขอยกความดีให้กับแพลตฟอร์ม Multi-Dimensional Audio (MDA) ของทาง DTS: X ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตภาพยนตร์มีอิสระในการวางตำแหน่งของเสียง ทิศทางการเคลื่อนที่ของเสียง ตลอดจนระดับความดังของเสียง อีกทั้งแพลตฟอร์มนี้ยังปล่อยให้ใช้งานได้ฟรีโดยไม่มีลิขสิทธิ์ หรือค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

DTS:X และการใช้งานกับเครื่องเสียงที่บ้าน
ถือเป็นเรื่องดีที่กว่า 90% ของผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงบ้านในอุตสาหกรรม Audio/Video นั้นให้การสนับสนุน DTS:X โดยผู้ผลิตหลายรายใช้วิธีปล่อยตัวอัปเดตเฟิร์มแวร์สำหรับเอวีรีซีฟเวอร์ รุ่นเก่าที่ขายไปก่อนนี้ รวมไปถึงออกสินค้ารุ่นใหม่ที่รองรับการใช้งาน DTS:X ตามออกมา

Denon เป็นหนึ่งในเจ้าแรก ๆ ที่ทำการอัปเดตตัวเอวีรีซีฟเวอร์ให้รองรับ DTS:X โดยในปัจจุบันผู้ผลิตหลายเจ้าได้ปล่อยตัวอัปเดตออกมาใช้กับสินค้าที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจาก Arcam, Marantz, Onkyo และ Pioneer ต่างปล่อยตัวอัปเดตสำหรับสินค้าหลาย ๆ รุ่นออกมาแล้ว

สำหรับสินค้าใหม่ที่รองรับ DTS:X ติดมากับเครื่องเลยนั้น มีหลากรุ่น อาทิ Denon รุ่น AVR-X2400H, Sony รุ่น STR-DN1080 รวมไปถึงสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ตั้งแต่ปี 2017 ทั้งของ Pioneer และ Yamaha ติดระบบเสียง DTS:X มาเป็นที่เรียบร้อย

บอกที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเพิ่มแชนเนลทางด้านสูง (height channel) ให้กับระบบลำโพงรอบทิศทางที่ใช้งานอยู่เดิม แต่ว่าถ้าสามารถเพิ่มได้มันจะช่วยสร้างประสบการณ์เสียงแบบ 3 มิติที่สมจริงมากยิ่งขึ้น ฟังตัวอย่างระบบเสียง DTS:X ได้ตามลิงก์นี้ https://dts.com/dtsx

ระบบเสียง DTS:X สามารถใช้งานร่วมกับระบบเก่ารุ่นก่อนหน้าได้ทั้งกับระบบ 5.1 หรือ 7.1 แชนเนลที่มีอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหาชุดลำโพงเซอร์ราวด์ใหม่หรือแม้แต่เครื่องเล่น Blu-ray รุ่นใหม่ เข้ามาเพิ่ม

ระบบเสียง DTS:X จะบรรจุข้อมูลเอาไว้ในเลเยอร์ซาวด์แทร็ค DTS-HD เดิมที่มีอยู่ในแผ่น Blu-ray (เหมือนกับการเข้ารหัส Dolby Atmos บนชั้น Dolby TrueHD)

ดังนั้นภาพยนตร์ที่รองรับ DTS:X จึงสามารถเล่นกับระบบเสียงที่มีอยู่เดิมได้ ตราบเท่าที่เครื่องเล่น Blu-ray และเอวีรีซีฟเวอร์ของผู้ใช้งาน รองรับระบบเสียง Dolby TrueHD และ DTS-HD Master Audio

DTS Virtual:X สนามเสียงแบบจำลองของ DTS:X
DTS Virtual:X คือช่องทางที่จะรับฟังเสียงรอบทิศทางแบบสามมิติได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มลำโพงแชนเนลพิเศษเพิ่มเข้าไปในระบบเดิมที่มีอยู่

แทนที่สัญญาณเสียงจะถูกเข้ารหัสใส่ลงในแผ่น Blu-ray เหมือนอย่าง DTS:X ตามปกติ ระบบเสียง Virtual:X นั้นหันไปพึ่งพาการประมวลผลเพื่อจำลองหรือสร้างสนามเสียงรอบทิศทางในรูปแบบแบบ 7.1.4 แชนเนล รวมทั้งหมด 11.1 แชนเนล โดยมีลำโพงที่ติดตั้งสูงกว่าลำโพงปกติจำนวน 4 แชนเนล สามารถใช้งานได้กับทั้งลำโพงประเภทซาวด์บาร์ หรือระบบลำโพงรอบทิศทางแบบพื้นฐาน 5.1 แชนเนล

ซาวด์บาร์ที่รองรับ Virtual:X แตกต่างไปจากซาวด์บาร์ที่รองรับ Dolby Atmos (เช่น Sony รุ่น HT-ST5000) ตรงที่ซาวด์บาร์ Dolby Atmos จะพยายามสร้างเสียงสนามเสียงสามมิติขึ้นใหม่ ด้วยการเพิ่มลำโพงพิเศษยิงเสียงสะท้อนไปยังเพดานติดตั้งอยู่ภายในตัวซาวด์บาร์ แต่สำหรับ Virtual:X นั้นไม่จำเป็น

DTS อ้างว่า Virtual:X สามารถสร้างเสียงรอบทิศทางขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องสนใจมาตรฐานระบบเสียงของแหล่งกำเนิดสัญญาณเสียง นั้นหมายความว่า Virtual:X สามารถเพิ่มคุณภาพเสียงให้กับแหล่งสัญญาณเสียง DTS แบบเก่า ๆ ได้ด้วยเช่นกัน ทว่าผู้ใช้จำเป็นต้องมีอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่ติดตั้ง Virtual: X มากับเครื่องถึงจะสามารถใช้งานความสามารถดังกล่าวได้

สินค้าตัวแรกที่ติดฟีเจอร์ Virtual:X มาพร้อมกับเครื่อง คือ Yamaha รุ่น YAS-207 ซาวด์บาร์ราคาประหยัด ที่ได้รับรางวัลเป็นเครื่องการันตี นอกจากนี้ทาง LG ยังสนใจนำเทคโนโลยี Virtual:X ไปใช้กับซาวด์บาร์รุ่นใหม่ที่กำลังจะถูกปล่อยออกมาอย่างรุ่น SK6Y ส่วนการนำไปใช้กับทีวียังอยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกรุ่นสินค้า

Denon และ Marantz ได้ประกาศพร้อมนำ Virtual:X มาใส่ไว้ในเอวี รีซีฟเวอร์ เป็นเจ้าแรก และ คาดว่าผู้ผลิตรายอื่นจะให้การสนับสนุนนำเทคโนโลยี Virtual:X ไปใส่ไว้ในซาวด์บาร์, เอวี รีซีฟเวอร์ หรือแม้แต่ทีวีเพิ่มมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

คอนเทนต์อะไรบ้างที่รองรับ DTS:X
มีแผ่นบลูเรย์และบลูเรย์ 4K หลายสิบเรื่องที่รองรับ DTS:X ไม่ว่าจะเป็น Crimson Peak, Nerve, Zoolander 2 รองรับระบบเสียง DTS:X

ซึ่งรวมไปถึงภาพยนตร์เรื่อง Ex Machina, The Bourne Identity, Despicable Me, Despicable Me 2, Fast and Furious 6, Fast 7, Harry Potter and the Order of the Phoenix, Harry Potter and the Half-Blood Prince, Harry Potter and the Deathly Hallows Part 1 และ Part 2 ในรูปแบบ Blu-ray 4K ล้วนแล้วแต่รองรับระบบเสียง DTS:X ด้วยเช่นกัน

ในขณะที่ผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง อย่าง Netflix และ Amazon Prime Video ยังไม่มีวี่แววว่าจะให้บริการสตรีมด้วยระบบเสียง DTS:X หรือ Virtual:X ยังต้องตามดูกันต่อว่าในอนาคตจะปล่อยให้ได้ใช้กันหรือไม่ และเมื่อไร

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ