fbpx
REVIEW

รีวิว Klipsch : Heritage HP-3

ผมเชื่อเหลือเกินว่าใครที่ได้เห็นหูฟัง Klipsch Heritage HP-3 เป็นครั้งแรกคงต้องสะดุดตากับดีไซน์ที่ดูสวยคลาสสิกและหรูหราในคราวเดียวกัน มันทำให้หูฟังรุ่นนี้ดูพิเศษแตกต่างจากหูฟังทั่วไป ภาพถ่ายคู่กับแอมป์หูฟังตระกูล Heritage ยิ่งช่วยเสริมสง่าราศีของหูฟังรุ่นนี้ให้มากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

แต่ขึ้นชื่อว่า “เครื่องเสียง” แล้ว รูปร่างหน้าตาถือว่าเป็นเพียงองค์ประกอบเสริม… “แล้วเสียงของมันเป็นยังไงนะ ?” ไม่ต้องมัวเสียเวลานั่งเดา ผมสอบถามไปยังคุณโอ๊ต (อดิศัย พานิชนาวา) เจ้าหน้าที่การตลาดคนหนุ่มไฟแรงแห่งบริษัท ซาวด์ รีพับลิค จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องเสียงยี่ห้อคลิปช์ (Klipsch) ในบ้านเรา ทราบว่าทางบริษัทมีสินค้าพร้อมให้ยืมรีวิวได้เลย

แล้วผมจะต้องรออะไรล่ะครับ ท่านผู้ชม !

มันเป็นเรื่องของความรู้สึก
หูฟัง Klipsch Heritage HP-3 ส่งถึงมือผมในกล่องไม้สีเข้มใบเขื่อง ด้านบนของกล่องมีหูหิ้วติดตั้งแน่นหนา เมื่อลองยกดู อู้หูว… มันหนักมาก หนักกว่าที่คิดเยอะเลย (ในสเปคฯ บอกว่า 4.8 กิโลกรัม!) ด้านหน้ากล่องไม้ยังเป็นแผ่นกระจกใสเผยให้เห็นตัวหูฟังที่นอนอวดโฉมอยู่ข้างใน

“แค่กล่องใส่หูฟัง ต้องทำให้ดีขนาดนี้เลยหรือ?”

คนที่มองไม่เห็นคุณค่าก็อาจคิดได้ว่าเป็นการสิ้นเปลืองเสียเปล่า แต่สำหรับคนที่มองเห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไร้สาระโดยเด็ดขาด นี่ขนาดผมไม่ได้เป็นเจ้าของยังรับรู้ได้ถึงความประณีต ความพิถีพิถัน ตลอดจนความเอาใจใส่ที่ Klipsch ได้พยายามสื่อสารผ่านกล่องใส่หูฟังรุ่นนี้

ความรู้สึกดี ๆ ที่มีได้ตั้งแต่เริ่มแกะกล่อง

มันเป็นมากกว่า “อุปกรณ์” ที่ใช้ฟังเพลงไปแล้วครับ… ผมค่อย ๆ บรรจงเลื่อนแผ่นไม้ด้านบนออก ดึงไส้ในซึ่งเป็นกล่อง 2 ชั้นออกมา ชั้นหนึ่งมีตัวหูฟังที่พับแบนวางอยู่ในหลุมที่ออกแบบมาพอดีสำหรับบรรจุเอียร์คัปขนาดใหญ่ทั้ง 2 ข้าง คล้องรัดเพิ่มความแน่นหนาด้วยเข็มขัดหนังวงเล็ก ๆ บริเวณโคนก้านเฮดแบนด์ กลิ่นหนังแท้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหมือนที่เคยได้กลิ่นจากเบาะรถยนตร์ระดับพรีเมี่ยมลอยมาเตะจมูก เป็นประสบการณ์การแกะกล่องที่ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยสุนทรียะ… นี่แค่แกะกล่องก็ฟินกันไปหนึ่งสเต็ปแล้ว

ถามว่าทำหูฟังขายไม่ต้องทำถึงขนาดนี้ได้ไหม… ได้ครับ แต่สุนทรียะและความรื่นรมย์เช่นนี้เป็นอะไรที่ตีมูลค่ากันได้ยาก และอย่างน้อยมันก็ทำให้ผมเกิดความรู้สึก “ชอบพอ” หูฟังรุ่นนี้เข้าให้แล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้ฟังเสียงของมันเลยแม้แต่นิดเดียว

Biodynamic Drivers
HP-3 เป็นหูฟังขนาดฟูลไซ้ส์ประเภทครอบหู ใช้ตัวขับเสียงหรือไดรเวอร์แบบฟูลเรนจ์ขนาด 52 มิลลิเมตร รุ่น KG-520 ที่ทาง Klipsch ได้ออกแบบขึ้นมาเอง ไดรเวอร์ตัวนี้เป็นไดรเวอร์แบบไดนามิกที่มีชื่อเรียกว่า “biodynamic driver”

ที่มาของชื่อ “biodynamic driver” นั้นมาจากตัวไดอะแฟรมที่ทำจากเส้นใยไบโอเซลลูโลสผสมกับเส้นใยอนินทรีย์ (biocellulose and inorganic fiber) มองดูแล้วมีลักษณะคล้ายเยื่อกระดาษบาง ๆ สีขาว

“biodynamic driver” ขนาด 52 มิลลิเมตร ติดตั้งอยู่เบื้องหลังตะแกรงป้องกันอย่างดี

ตามข้อมูลจาก Klipsch ระบุว่าวัสดุประเภทนี้จะให้รายละเอียดเสียงได้ดี ให้เสียงที่มีความกระจ่างชัดเพราะตัวไดอะแฟรมมีน้ำหนักเบา ขณะเดียวกันยังมีความแกร่งในเนื้อวัสดุมากพอที่จะทำให้มันตอบสนองไดนามิกได้ดี มีแบนด์วิดธ์กว้าง แถมยังมีความเพี้ยนต่ำ

ความยืดหยุ่นของตัววัสดุยังมีผลทำให้เสียงที่ได้ไม่มีลักษณะ “ขึ้นขอบ” หรือ “แข็งกร้าว” อย่างที่มักจะปรากฏในไดรเวอร์ของหูฟังโดยทั่วไปที่ใช้วัสดุประเภทไมลาร์ที่มีลักษณะเป็นฟิล์มพลาสติกบาง ๆ ซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่ควบคุมความผิดเพี้ยนของเสียงได้ยากกว่า

ไดรเวอร์ขนาด 52 มิลลิเมตรตัวนี้ยังมีขอบเซอร์ราวน์ขนาดเล็กทำจากวัสดุยางยูเรเทนเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของไดอะแฟรมให้มีลักษณะเหมือนลูกสูบคือเคลื่อนที่ในแนวตรง ไม่เป๋ไปมาทางด้านข้าง นอกจากนั้นระบบแม่เหล็กที่ใช้ในตัวไดรเวอร์ยังมีความหนาแน่นของสนามแม่เหล็กบริเวณรอบ ๆ วอยซ์คอล์ยสูงมากกว่า 1 เทสลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือความไวให้กับตัวไดรเวอร์ เข้าใจว่าหลักการน่าจะคล้ายคลึงกับ Tesla Technology ของหูฟังยี่ห้อ Beyerdynamic

หูฟังที่ออกแบบได้หมดจด
ตามที่ได้เรียนไว้ว่าครั้งแรกที่ได้เห็นหูฟังรุ่นนี้ผมก็ตกหลุมรักมันทันที ผมว่าใครที่เคยมีหูฟังผ่านมือมาเยอะ ๆ ก็น่าจะรู้สึกในทำนองเดียวกัน

แม้ว่า Klipsch จะไม่ใช่แบรนด์ที่ทำหูฟังเป็นสินค้าหลัก แต่เชื่อเถอะครับว่าหูฟังรุ่นนี้นี่ไม่ใช่สินค้าประเภท “me too” หรือสักแต่ว่าทำออกมาเพื่อให้มีขายกับเขาบ้าง เพราะไม่ว่าจะมองอย่างผิวเผินหรือมองอย่างพินิจ แต่ละองค์ประกอบของ HP-3 ล้วนแล้วแต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือหูฟังที่ตั้งใจทำออกมาเพื่อส่งเข้าประลองในสนามของ “หูฟังระดับไฮเอ็นด์”

ตัว “biodynamic driver” ติดตั้งอยู่ในเอียร์คัปที่กลึงขึ้นรูปมาจากไม้แท้ ๆ (Solid-wood earcups) มีการออกแบบให้คลื่นเสียงบางส่วนจากตัวไดรเวอร์ถูกระบายออกไปทางด้านหลังเอียร์คัปในลักษณะที่เรียกว่า “Triple-vented semi-open design” ตัวเอียร์คัปที่ทำจากไม้แท้ มีไม้ 3 ชนิดให้เลือกได้แก่ ไม้อีโบนี, ไม้วอลนัทและไม้โอ๊ค ซึ่งไม้วอลนัทจะมีสีอ่อนที่สุด ส่วนไม้อีโบนีอย่างตัวที่ผมรีวิวอยู่นี้จะมีสีเข้มที่สุด

“Triple-vented semi-open design” ตีความได้ว่า เป็นการออกแบบให้มวลเสียงจากไดรเวอร์ มีการระบายออกไปทั้งทางด้านหน้าและด้านหลังตัวไดรเวอร์หรือเอียร์คัพผ่านช่องเปิด 3 ชุด (Triple-vented) ทว่ามวลเสียงทั้งหมดมิได้ผ่านออกไปแบบโดยตรง น่าจะผ่านการกักหรือกรองบางส่วนเอาไว้เพราะทาง Klipsch บอกว่าหูฟังรุ่นนี้เป็น “semi-open over-ear design” เพื่อหวังประสิทธิผลทางเสียงบางประการ อย่างเช่น เรื่องของบรรยากาศเสียงและความเป็นธรรมชาติของเสียง

ดังนั้นด้านหลังเอียร์คัพของ HP-3 จึงเห็นเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ปิดทับไว้ด้วยผ้าสีดำและเส้นลวดที่มีลักษณะยืดหยุ่นถักสานกันจนเป็นลายตะแกรง ดูคล้ายลักษณะของหูฟังแบบเปิดหลัง (open back design) แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้ถูกเปิดโล่งเหมือนหูฟังประเภท open-back

วัสดุที่ใช้ทำชิ้นส่วนต่าง ๆ ของหูฟังรุ่นนี้แสดงออกถึงความวิจิตรบรรจง ความหรูหรา ตลอดจนความทนทาน ตัวโครงก้านเฮดแบนด์ที่จะคาดไปบนศีรษะเวลาใช้งาน ออกแบบให้ปรับขนาดให้เหมาะสมศีรษะได้ ทำจากโลหะสเตนเลสหุ้มด้วยหนังวัวแท้ฟอกฝาดอย่างดี (Genuine cowhide headband) เย็บด้วยเส้นด้ายเดินลายอย่างประณีตด้วยงานหัตถกรรม ก้านยึดเอียร์คัปกลึงขึ้นรูปจากชิ้นอะลูมิเนียมอย่างดี สกรูและหมุดยึดข้อต่อต่าง ๆ เป็นสีทองแดงดูสวยคลาสสิคและมีรสนิยมมาก ตัวเอียร์คัปสามารถบิดหมุนได้จนทำให้ตัวหูฟังสามารถเก็บในลักษณะแบนราบได้

วัสดุชั้นดีอย่างหนังแท้ สเตนเลสและอะลูมิเนียมที่ให้ทั้ง
ความรู้สึกหรูหรา การสวมใส่ที่สบายและความคงทน

ตัวเอียร์แพดขนาดใหญ่ออกแบบให้ครอบได้ทั้งใบหู มีเนื้อหนา ห่อหุ้มไว้ด้วยหนังแกะที่มีผิวสัมผัสเนียนละเอียดอ่อนนุ่ม ส่วนที่อยู่ด้านหลังใบหูจะมีความหนาของกรอบเอียร์แพดมากกว่าส่วนที่อยู่ข้างหน้าใบหู ตัวเอียร์แพดยึดอยู่กับตัวเอียร์คัปไม้ด้วยแม่เหล็กจึงสามารถดึงออกมาทำความสะอาดหรือเปลี่ยนใหม่เมื่อเกิดความเสียหายทำได้สะดวกมาก

ผมชอบก้านเฮดแบนด์ที่มีการบอกระยะยืด-หดชัดเจนอย่างนี้

ตัวหูฟังออกแบบให้สามารถถอดแยกสายหูฟังได้ จุดเชื่อมต่อสายหูฟังเป็นขั้วต่อมินิแจ็ค 3.5 mm แยกด้านซ้ายและขวา (มีอักษร L/R กำกับไว้ชัดเจน) ให้ตัวสายหูฟังให้มา 2 ชุด ชุดหนึ่งความยาว 2.5 เมตร อีกชุดความยาว 1.37 เมตร ทั้งคู่ต่างกันแค่เรื่องของความยาว เนื้องานตัวสายดูออกว่าใช้วัสดุเกรดดี ฉนวนภายนอกห่อหุ้มไว้ด้วยผ้าถักสีดำตกแต่งด้วยริ้วสีน้ำตาลทอง ปลายสายหูฟังให้แจ็คขนาด 6.3 mm (แจ็คใหญ่) ชิ้นส่วนหน้าสัมผัสไฟฟ้าเคลือบทองมาอย่างดี

จุดเชื่อมต่อสายหูฟังเข้ากับตัวหูฟังแบบแจ็ค 3.5 mm
แยกซ้าย/ขวา มีตัวอักษรกำกับชัดเจน

ในกล่องไม้ใบงามยังมีชิ้นส่วนโลหะอยู่อีกจำนวนหนึ่ง นำมาประกอบเข้าด้วยกันกลายเป็นที่แขวนหูฟังแบบตั้งโต๊ะที่มีดีไซน์เรียบง่าย แอบหรูเล็ก ๆ ดูเข้ากับหูฟัง HP-3 ได้ดี คือกะว่าจะให้วางโชว์เป็นของตกแต่งบ้านได้ด้วยล่ะครับ

มาพร้อมกับขาตั้งสุดเท่ที่สามารถใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ด้วย

หูฟัง HP-3 กับสมาร์ทโฟน “มันเป็นไปได้หรือ?”
หลังจากต่อฟังหูฟัง HP-3 กับแอมป์หูฟังรุ่น Heritage Headphone ของ Klipsch ที่ถูกส่งมาด้วยกันเพื่อเบิร์นอินและฟังแนวเสียง ผมก็ได้ไปอ่านเจอข้อมูลที่ระบุว่า “หูฟังรุ่นนี้ขับง่ายถึงขนาดต่อฟังกับสมาร์ทโฟนก็ได้”

จริงหรือ?! หูฟังตัวใหญ่ขนาดนี้กับสมาร์ทโฟน “มันเป็นไปได้หรือ” ?!

เมื่อตามไปดูรายละเอียดทางเทคนิคก็พบว่า หูฟังตัวนี้ดูเหมือนจะถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับสมาร์ทโฟนได้จริง ๆ ครับ เพราะมีความไวสูงถึง 98 dB (อ้างอิงที่ 1 มิลลิวัตต์) อิมพิแดนซ์เฉลี่ย 25 โอห์มเท่านั้น และผมก็เพิ่งมาพบภายหลัง (จากในคู่มือและข้างกล่องไม้ของหูฟัง) ว่าแท้จริงแล้วสายหูฟังของ HP-3 นั้นมันถูกเทอร์มิเนทขั้วต่อเป็นแจ็คหูฟัง 3.5 mm (แจ็คหูฟังเล็ก) มา

แต่ที่เห็นว่าเป็นขั้วต่อ 6.3 mm (แจ็คหูฟังใหญ่) นั้นความจริงแล้วมันเป็นอะแดปเตอร์หรือตัวแปลงจากแจ็ค 3.5 mm ให้เป็นขั้วต่อ 6.3 mm ครับ ซึ่งของเขาออกแบบมาได้อย่างแนบเนียนและกลมกลืนกันเลย เวลาใช้งานตัวแปลงนี้ ถ้าไม่บอกกันก็แทบไม่ทราบหรือดูไม่ออกเลยครับ นึกว่าให้ปลายสายหูฟังเขาเทอร์มิเนทมาเป็นแจ็ค 6.3 mm มาจากโรงงาน

ดูความเนี๊ยบของหัวแจ็ค 3.5 mm ที่ดีไซน์ตัวแปลงเป็น 6.3 mm มาได้กลมกลืนกันมาก

เมื่อผมลองเสียบใช้งานหูฟัง HP-3 กับ iPhone X ผ่านอะแดปเตอร์แปลง lightning to 3.5 mm ที่มากับตัวไอโฟนโดยเลือกใช้สายหูฟังชุดสั้นเพื่อไม่ให้สายยาวรุงรังเกินจำเป็น ก็พบว่าหูฟังรุ่นนี้สามารถเสียบฟังกับสมาร์ทโฟนได้สบาย ๆ เปิดได้ดังเพียงพอและให้คุณภาพเสียงที่ดีพอสมควรด้วยครับ ผมลองใช้ฟังเพลงจาก Spotify หรือจากแอปฯ เล่นเพลงชั้นดีอย่าง NePlayer เรียกว่าฟังเอาเพลินหูเพลินใจได้สบาย

ช่วงหนึ่งแม้เพลงที่เปิดฟังจะเป็นเพลงสมัยใหม่ทั่วไปนั่นคือเพลง “Him & I” ของศิลปิน G-Eazy (feat. Halsey) แถมยังสตรีมจาก Spotify แต่ผมก็ยังได้ยินความพิเศษจาก HP-3 ไม่ว่าจะเป็นความลึกของการตอบสนองความถี่ต่ำ หรือความเป็นสามมิติของเสียงที่มีบางเสียงหลุดลอยไปอยู่แถวด้านหลังใบหูของผม หูฟังที่มีไดรเวอร์ตัวเดียวของ Klipsch ให้รายละเอียดเสียงเหมือนกับมันมีไดรเวอร์มากกว่าหูฟัง 1More Quad Driver ซึ่งมีไดรเวอร์มากถึงข้างละ 4 ตัวซะอีก

cof
หูฟัง HP-3 กับสมาร์ทโฟน !

สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับ Klipsch HP-3 ผมแนะนำให้ฟังที่ระดับความดังเบา ๆ ก่อน อย่าพยายามเร่งมันดังมากตั้งแต่แรก เพราะมันจะค่อย ๆ พรั่งพรูรายละเอียดออกมาโดยที่เราไม่จำเป็นต้องรีดเค้น กระทุ้ง หรือผลักดันมามันมาจนเกินความจำเป็นเลย

เมื่อลองเลือกเพลงที่เป็นผลงานคลาสสิคอย่างอัลบั้ม Porgy & Bess โดย Ella Fitzgerald & Louis Armstrong ก็พูดได้เลยว่า “ความเป็นดนตรี” ที่ถ่ายทอดจากหูฟัง HP-3 ผ่านซิสเตมสุดเรียบง่ายเช่นนี้มันเกินกว่าที่ผมคาดเดาไปมากจริง ๆ ในเมื่อสมาร์ทโฟนยังใช้งานได้สบาย เมื่อลองใช้กับช่องหูฟังของเครื่องเล่น DAP อย่าง Sony NW-A46HN, Cayin N3 หรือแม้แต่ช่องหูฟังของ laptop Acer Swift 3 ที่ผมใช้งานอยู่ ก็ใช้งานได้ผ่านฉลุยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีเนื่องจากตัวหูฟังมีน้ำหนักค่อนข้างมาก (440 กรัม) เมื่อใช้งานแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจึงอาจจะรู้สึกหนักหรือเมื่อยล้าบริเวณคอบ้าง แม้ว่าจะสวมใส่ได้สบายศีรษะก็ตาม อีกทั้งขณะใช้งานจะมีเสียงเล็ดลอดออกมาทางช่องเปิดด้านหลังอยู่บ้าง และการกันเสียงจากภายนอกก็จะไม่ดีเท่ากับหูฟังฟูลไซส์ประเภทปิดหลัง เป็นหูฟังที่เหมาะจะใช้งานแบบ indoor หรือในสถานที่ส่วนตัวมากกว่าในที่สาธารณะอย่างในห้องสมุดหรือบนรถประจำทางสาธารณะทั้งหลาย

ว่าด้วยเรื่องของ “คุณภาพเสียง”
ผมมีโอกาสได้ลองใช้หูฟัง HP-3 กับเครื่องเสียงตั้งโต๊ะอยู่หลายชุด และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “Klipsch Heritage Headphone Amp” เครื่อเงสียงประเภท DAC/AMP ที่มีดีไซน์ดูกลมกลืนกับหูฟังรุ่นนี้ อีกชุดหนึ่งที่ใช้เล่นเพลงจากคอมพิวเตอร์เหมือนกัน (ผ่านแอปฯ roon) เป็น DAC/AMP จาก ALO รุ่น Continental Dual Mono ที่ภายในวงจรมีการใช้หลอดสุญญากาศด้วย สุ้มเสียงมีความอบอุ่นละมุนละไมเป็นจุดขาย

เมื่อได้ฟัง HP-3 กับระบบเสียงที่คุณภาพดีกว่าสมาร์ทโฟน ผมไม่แปลกใจเลยที่ในสเปคฯ เขาระบุว่าหูฟังรุ่นนี้มีช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 5 Hz-45 kHz ซึ่งสเปคฯ อย่างนี้สามารถรองรับสัญญาณเสียง hi-res audio ได้อย่างไร้ข้อกังขา ในแง่ของการรองรับไดนามิกเรนจ์ หูฟังรุ่นนี้รองรับกำลังขับสัญญาณได้ถึง 1,800 มิลลิวัตต์หรือ 1.8 วัตต์เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าค่อนข้างมากสำหรับพิกัดความสามารถของอุปกรณ์ประเภทหูฟัง

ที่ไม่แปลกใจอีกเรื่องก็คือเมื่อ HP-3 จับคู่ใช้งานกับ Heritage Headphone Amp ซึ่งเข้าใจว่าเขาคงจูนเสียงมาด้วยกัน ผลลัพธ์ถึงได้ออกมาดี ขนาดฟังแค่ประเดี๋ยวประด๋าวยังรู้สึกเคลิ้มตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมจะแนะนำให้ “ต้องซื้อพวกมันแบบแพ็คคู่เท่านั้น” ห้ามแยกกันไปใช้กับสินค้าของยี่ห้ออื่นเลย

ลองฟังกับแอมป์ Heritage Headphone Amplifier

ที่ผมเลือกฟังคู่นี้เป็นลำดับแรกในคาบของการฟังอย่างจริงจังในรายละเอียด ก็แค่เพื่อเป็นการยืนยันว่า… อย่างน้อยผมควรจะได้ยินอะไรจากหูฟังรุ่นนี้ โดยสามารถมองข้ามเรื่องมิสแมตช์ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญของการรีวิวทิ้งไปก่อน เนื่องจากผมอนุมานเอาเองว่ามันถูกออกแบบมาด้วยกันดังนั้นมันต้องแมตช์กันแน่นอน

เสียงที่ได้จากหูฟัง HP-3 เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะสนับสนุนให้มันทำงานได้อย่างเต็มที่คือเสียงที่ฟังแล้วทำให้ผมผ่อนคลายก็ได้หรือฟังแล้วรู้สึกคึกคักอยากขยับอวัยวะตามก็ได้ มันเป็นเสียงที่ฟังออกชัดว่ามีคุณภาพเสียงแตกต่างจากหูฟังในระดับราคาหลักพันหรือหลักหมื่นต้น ๆ (10,000 – 25,000 บาทโดยประมาณ)

ประการแรกคือ มันมีสมดุลเสียงตลอดย่านความถี่ที่ดี ปริมาณของเสียงทุ้ม กลาง แหลมมีสัดส่วนที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ และถ่ายทอดรายละเอียดเสียงได้ “ค่อนข้าง” ตรงไปตรงมาพอสมควร อัลบั้มไหนบันทึกเสียงมาได้ดีหรือแย่ตรงไหน ยังไง รับรองว่าฟังออกชัดแน่นอนครับ แม้ว่าไม่ถึงกับช่างฟ้องหรือมีความเถรตรงเหมือนกับหูฟังมอนิเตอร์หลาย ๆ รุ่นก็ตาม

เมื่อว่ากันในภาพรวม มันให้เสียงทุ้มที่ลงได้ลึกจริง มาทั้งน้ำหนักและรายละเอียด ไม่ใช่เสียงทุ้มที่ถูกบูสต์ขึ้นมาให้มีแต่หัวเสียงล้น ๆ ท่วม ๆ แต่หางเสียงกุดด้วนหายไปหมด ในย่านเสียงกลางมันให้รายละเอียดเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติ เปิดเผย สะอาดสดใส และมีลักษณะผ่อนคลายนิดๆ มีลักษณะที่คนเล่นเครื่องเสียงเรียกกันว่า “laid-back presentation” มากกว่าสไตล์ชี้ชัดและรุกเร้า “forward presentation”

ส่วนรายละเอียดเสียงในย่านความถี่สูงนั้นเป็นเสียงที่เปิดกระจ่าง สดใส โปร่งโล่ง และเก็บรายละเอียดของฮาร์มอนิกต่าง ๆ มาได้อย่างครบถ้วน เป็นหูฟังไดนามิกที่ถ่ายทอดรายละเอียดตรงนี้ได้ดีกว่าหูฟังที่ใช้ไดรเวอร์ประเภทแผ่นฟิล์มหรือ planar magnetic บางตัวเสียอีก ที่ผมนึกได้เลยตอนนี้ก็ Oppo PM-1

ลองฟังกับแอมป์พกพาหลอด ALO Continental Dual Mono

สังเกตว่าเมื่อสลับไปใช้ ALO : Continental Dual Mono แทน Klipsch : Heritage Headphone Amp เสียงจากหูฟัง HP-3 จะมีลักษณะเสียงโดยภาพรวมที่นุ่มนวลมากขึ้น เสียงกลางมีเนื้อเสียงที่อิ่มหนามากขึ้น ขณะที่รายละเอียดอื่น ๆ ยังคงคุณลักษณะที่ดีของหูฟังรุ่นนี้เอาไว้ได้อยู่

มิติ เวทีเสียงและบรรยากาศ
จุดขายหนึ่งที่เด่นชัดของหูฟังรุ่นนี้คือ มิติเสียงและบรรยากาศ ที่ทำให้หลายครั้งผมรู้สึกเหมือนกับว่าไม่ได้กำลังฟังเสียงจากหูฟังอยู่ มันเป็นเสียงที่มีความเป็น 3 มิติอยู่โดยบริเวณรอบ ๆ ศีรษะผมโดยไม่ต้องพึ่งพาระบบจำลองเสียง 3 มิติใด ๆ คุณลักษณะดังกล่าวชัดเจนมากเมื่อผมฟังเพลงที่เป็นโปรเกรสสีฟร็อคอย่างอัลบั้ม “The Wall” หรือ “The Dark Side Of The Moon” ของ Pink Floyd (ไฟล์ PCM 16bit/44.1kHz ริปจากแผ่น CD) โดยเฉพาะเพลง “Speak to Me” จากอัลบั้มชุดหลังผมว่าใครฟังก็ต้องทึ่งกับเสียงทุ้มลึกที่เลียนแบบเสียงเต้นของหัวใจและตัวตนของเสียงต่าง ๆ ที่ใส่เข้ามาในตอนต้นของเพลงนี้

หรือในอัลบั้มเพลงร้องประสานเสียงชุด “Now the Green Blade Riseth” (ไฟล์ DSD จากการริปแผ่น SACD) ของสังกัด Proprius จากสวีเดน เสียงที่ผมได้ยินไม่ใช่เสียงที่จมอยู่ในศีรษะแต่เป็นเสียงที่รายล้อมอยู่ใกล้ ๆ ฟังแล้วเหมือนผมนั่งอยู่กลางวงในสถานที่เดียวกับที่คณะนักร้องประสานเสียงกำลังขับร้องกันอยู่ แอมเบี้ยนต์หรือบรรยากาศที่รายล้อมอยู่มันทำให้รู้สึกถึงชีวิตชีวา ตลอดจนตัวตนของเสียงที่มีลมหายใจ สามารถสัมผัสรับรู้ได้มากกว่าการฟัง

เสียงฟลุทต้นเพลง “Love Is Come Again” ฉีกตัวห่างออกไปทางซ้ายมือ ขณะที่เสียงไตรแองเกิ้ลล่องลอยอยู่ในระยะห่างที่มากกว่าทางด้านขวามือเยื้องไปทางด้านหลังของผม ขณะที่เสียงร้องประสานอยู่รายล้อมบริเวณด้านหน้าโอบล้อมมาถึงด้านข้าง ส่วนออร์แกนลมอยู่ลึกเข้าไปในเวทีเสียงด้านหน้า เป็นประสบการณ์ที่ผมไม่ได้ยินบ่อยนักเมื่อฟังเสียงจากหูฟัง ไม่ว่าจะในระดับราคาใด เป็นเสียงจากหูฟังที่ผมสามารถพูดเรื่องของมิติและเวทีเสียงได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

ไดนามิกของเสียง
ทีแรกผมตั้งใจจะเขียนถึงการตอบสนองต่อไดนามิกเสียงของหูฟังรุ่นนี้ ผ่านการเล่าเรื่องตอนที่ผมใช้หูฟังรุ่นนี้ฟังเพลงจากอัลบั้มแสดงสดชุด “Companion” ของ Patricia Barber ว่ามันให้อารมณ์สมจริงเหมือนได้ไปนั่งฟังด้วยตัวเอง จะเล่าว่ามันน่าทึ่งมากแค่ไหน อย่างไร… แต่แล้วผมก็เปลี่ยนใจเพราะเกิดไปฟังอะไรที่ทำให้รู้สึกทึ่งยิ่งกว่า

กับไฟล์เพลง PCM 24bit/176.4kHz อัลบั้ม “Crown Imperial” โดยวง Dallas Wind Symphony ของสังกัด Reference Recordings ในเพลงชื่อเดียวกับชื่ออัลบั้ม ดนตรีในเพลงนี้มีช่วงสวิงของไดนามิกเรนจ์ที่กว้างมาก ช่วงเสียงเบานั้นเข้าขั้นแผ่วเบาเลยทีเดียวแถมยังเป็นเสียงทุ้มลึกที่เราจะไม่มีทางได้ยินจากลำโพงตัวเล็ก ๆ แน่นอน ส่วนช่วงที่เสียงดังนั้นเข้าขั้นกัมปนาทเลยทีเดียว หูฟังรุ่นนี้ถ่ายทอดรายละเอียดเสียงเหล่านั้นออกมาอย่างสบาย ๆ ปราศจากความเครียดเค้นหรือเสียงที่แตกพร่าใด ๆ

ที่มันเป็นการย่อส่วนเสียงจากลำโพงระดับซูเปอร์ไฮเอ็นด์ตัวสูงท่วมหัว ราคาคู่ละเป็นล้าน ลงมาชัด ๆ ! ถ้ามีโอกาส ลองฟังด้วยหูของตัวเองเถิดครับ แล้วจะทราบว่าผมมิได้บอกเล่าเกินเลยความจริงไปเลยแม้แต่เพียงน้อย

ฟังเปรียบเทียบ
เป็นปกติที่เวลาทดสอบหรือรีวิวหูฟังผมมักจะมีการฟังเปรียบเทียบด้วย เพื่อให้ทราบถึึงความแตกต่างที่มักจะได้ยินอย่างเป็นปกติทั้งในหูฟังระดับเดียวกัน หรือที่ระดับต่างกัน

ในที่นี้ผมได้เดินทางไปที่ร้านมั่นคงเรือธง ชั้น 3 ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า เพื่อลองฟังเปรียบเทียบหูฟัง Klipsch HP-3 กับหูฟัง 2 รุ่นของ Sennheiser ซึ่งเป็นแบรนด์หูฟังที่ผมค่อนข้างคุ้นเคยเป็นการส่วนตัว หูฟังทั้งสองรุ่นของ Sennheiser ในที่นี้คือรุ่น HD800 (เรือธงรุ่นแรก) และ HD660S ที่เพิ่งออกมาแทนที่รุ่น HD650 โดยต่อฟังกับ DAC/AMP รุ่น HDV 820 ของ Sennheiser

ยกแรกเป็นการฟัง HP-3 vs. HD660S… ชัดเจนว่า Klipsch HP-3 มีแบนด์วิดธ์ที่กว้างกว่าทั้งในย่านความถี่ต่ำและความถี่สูง มีดุลเสียงที่ dark และสุขุมลุ่มลึกกว่าเล็กน้อย มิติเวทีเสียงมีลักษณะเสียง laid back มากกว่า รายละเอียดเสียงกลางทั้งเสียงร้องและเสียงกีตาร์นั้นลดความจริงจังลงไปเมื่อเทียบกับ HD660S ซึ่ง HD660S เสียงกลางลอยและออกจะคมชัดกว่า เมื่อฟังเปรียบเทียบกันในเพลง “Temptation” จากอัลบั้ม “The Girl in the Other Room” (ไฟล์ DSD จากการริปแผ่น SACD)
แต่ในขณะเดียวกันบุคลิกของ HP-3 ก็ให้รูปวงของเสียงที่เป็น 3 มิติกว่าด้วยเช่นกัน มีลักษณะย่อหย่อนความเป็นมอนิเตอร์ลงมาหาจุดสมดุลระหว่างการฟังแบบจับผิดกับการฟังเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ

ลองฟังเปรียบเทียบกับหูฟังรุ่นดังของ Sennheiser

เมื่อลองขยับไปฟังเทียบกับ HD800 ที่เป็นหูฟังรุ่นอ้างอิงที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดรุ่นหนึ่ง ผมว่าเมื่อฟังเพลงในอัลบั้ม “What’s New” ของ Linda Ronstadt (ไฟล์ PCM 24bit/192kHz) เสียงจากหูฟัง HP-3 มีลักษณะของความนวยนาดแช่มช้าอย่างมีชั้นเชิง เปิดโอกาสให้แต่ละเสียงได้โชว์ลีลาของมันอย่างเต็มที่

ขณะที่ HD800 ในแบบต่อสายบาลานซ์ให้ความมหัศจรรย์ในเรื่องของบรรยากาศและฮาร์มอนิกในย่านความถี่สูง และไม่ค่อยประนีประนอมสักเท่าไร โดยเฉพาะในย่านความถี่สูง บางครั้งเพลงที่ฟังก็ให้เสียงผอมบางไปหน่อย ตัวหูฟัง HD800 ยังมีน้ำหนักเบากว่า แต่ขับยากกว่ากันมาก ขับยากชนิดว่าไม่ต้องคิดจะเอาไปใช้งานกับสมาร์ทโฟนเลย แอมป์หูฟังตั้งโต๊ะหลายรุ่นยังไม่รอด แต่ HP-3 ยืนยันอีกครั้งว่าสามารถใช้กับไอโฟนได้สบาย ๆ

การตอบโจทย์ทั้งความรู้สึกและเหตุผล
เนื่องด้วยคุณผู้อ่านไม่มีโอกาสได้เห็นหรือสัมผัสตัวจริงของหูฟังในขณะที่กำลังอ่านรีวิว ผมจึงขอสาธยายยืนยันอีกครั้งว่า วัสดุที่ใช้ทำชิ้นส่วนของหูฟังรุ่นนี้ไม่มีจุดใดเลยที่เป็นวัสดุคุณภาพต่ำ ถือว่าสมราคากับค่าตัวระดับครึ่งแสนบาท น้ำหนักตัวอาจจะเยอะกว่าหูฟังฟูลไซส์ทั่วไปสักหน่อย และมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ก็ออกแบบมาได้ดีสวมใส่ใช้งานสบายพอสมควร

ตัวเฮดแบนด์มีความกระชับแต่ไม่บีบรัดมากจนเกินไป ส่วนสัมผัสผิวหนังของเราเป็นวัสดุหนังแท้ชั้นดีไม่อมความร้อน ไม่เปื่อนยุ่ยหรือร่อนง่ายเหมือนวัสดุจำพวกหนังเทียมหรือพีวีซี ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของหูฟังดูเป็นของระดับพรีเมียมและน่าเชื่อถือว่าจะใช้งานได้ทนทานนานวัน

หูฟังตัวนี้เป็นหูฟังที่ผมใช้เวลาอยู่กับมันมากเป็นพิเศษด้วยความเสน่หาส่วนตัว ทว่าเวลาที่ใช้ไปทั้งหมดทั้งหมดนั้นก็นับว่าคุ้มค่า เพราะมันทำให้ผมได้รู้จักกับหูฟังรุ่นหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานได้ทั้งเรื่องของความรู้สึก (มันสวย ดูดีมีรสนิยม) และเหตุผล (มันเสียงดี)

เหลือก็แค่เพียงค่าตัวที่ผมเปิดโอกาสให้ท่านผู้อ่านที่สนใจหูฟังตัวนี้ได้พิจารณาดูด้วยตัวของท่านเอง แนะนำว่าให้หาโอกาสไปเจอตัวจริงและลองฟังสักครั้ง แล้วใช้ความรู้สึกประกอบกับเหตุผลส่วนตัวพิจารณาเอาเถิด รับรองว่าไม่ใช่เรื่องยากเย็นอย่างแน่นอน


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท ซาวด์ รีพับลิค จำกัด
โทร. 02-448-5489, 02-448-5465-6
ราคา 55,900 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ