รีวิว Bose : QuietComfort 35 wireless headphones II
ครั้งแรกที่ทราบว่าโบสจะออกหูฟัง Wireless Noise Cancelling รุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยี Google Assistant มาในตัว ผมเองยังแอบห่วงลึก ๆ ว่า สุ้มเสียงมันจะออกมาเป็นยังไง แต่เมื่อทราบว่าหูฟังรุ่นใหม่ที่ว่านี้คือ “QuietComfort 35 wireless headphones II” หรือ QC35 รุ่นที่สอง ผมก็หมดข้อสงสัยในเรื่องคุณภาพเสียง
เหตุที่หมดข้อสงสัยในเรื่องคุณภาพเสียง ก็เพราะ QC35 คือหูฟังไร้สายที่ผมยกย่องให้เป็นหูฟังไร้สายที่เสียงดีที่สุดตั้งแต่ที่โบสเคยทำออกมา เป็นหูฟังไร้สายที่ผมได้รีวิวแล้วรู้สึกประทับใจมากที่สุด ประทับใจทั้งในแง่ของคุณภาพเสียงและการใช้งาน
ดังนั้นเมื่อได้ทราบว่า QC35 II เข้ามาจำหน่ายในบ้านเราแล้ว ผมจึงขอยืมมารีวิวทันที…จะรออะไรอยู่ล่ะครับ
QC35 vs. QC35 II ความเหมือนที่แตกต่าง
สิ่งที่ปรากฏใน QC35 II เมื่อเทียบกับ QC35 รุ่นแรก หากพิจารณาโดยผิวเผินแล้วดูเหมือนว่าทีมออกแบบของโบสจะไม่ได้ทำอะไรกับมันมากนัก เพราะรูปร่างหน้าตาของ QC35 II มันแทบไม่ต่างกับ QC35 รุ่นแรกเลยครับ
ถ้ามองในแง่ลบก็อาจมองได้ว่าทำไมโบสถึงไม่ทำอะไรใหม่ แต่ถ้าหากมองในมุมบวก มันเป็นไปได้ว่าของที่มันดีอยู่แล้วก็ให้คงมันไว้อย่างนั้นแหละดีแล้ว ไม่เป็นการไปเพิ่มต้นทุนโดยใช่เหตุ
ก่อนอื่นต้องบอกว่า QC35 II รุ่นใหม่นี้เปิดตัวมาในราคา 15,900 บาท ซึ่งนี่คือราคาที่เท่าราคาเปิดตัว QC35 รุ่นแรกเลยครับ ขณะที่ในปัจจุบันหูฟัง QC35 รุ่นแรกก็ยังไม่เลิกจำหน่ายแต่ได้ถอยราคาลงไปอยู่ที่ 13,900 บาท
แน่นอนว่าหลายคน (รวมทั้งผม) อาจมีคำถามว่าทั้ง 2 รุ่นมันแตกต่างกันยังไง รุ่นใหม่น่าสนใจกว่าหรือไม่ เพราะอย่างที่ได้เรียนไว้ว่ามองเผิน ๆ แล้วมันแทบไม่ต่างกันเลย ส่วนประกอบต่าง ๆ และรูปร่างหน้าตาของมันเกือบจะเหมือนฝาแฝดกันเลยทีเดียว
QC35 II ยังคงเป็นหูฟังไร้สายที่มีดีไซน์แบบเดิม ๆ มีสีให้เลือกทั้งสีดำและสีเงิน เชื่อมต่อด้วยบลูทูธและ NFC ได้เหมือนเดิม ยังคงมาพร้อมกับสายชาร์จ Micro USB (มันควรจะเป็น USB Type-C ได้แล้วนะ) และสายหูฟังสำรองสำหรับใช้งานในกรณีที่แบตเตอรี่หมดเหมือนเดิม มีไมโครโฟนสำหรับคุยสายและเทคโนโลยีตัดเสียงรบกวนเหมือนเดิม การวางตำแหน่งและหน้าที่ของปุ่มกดต่าง ๆ ก็เอาไว้ที่เดิม
พิจารณาทางกายภาพแล้ว QC35 II ก็มีแค่ปุ่มที่เรียกว่า “Action Button” เพิ่มมาที่บริเวณเอียร์คัปหูฟังด้านซ้ายเพื่อรองรับเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียง Google Assistant เท่านั้นแหละครับที่เป็นความแตกต่างทางกายภาพที่เห็นได้ชัดเจน
QC35 II ยังคงมาพร้อมกับตัวเอียร์แพดเมมมอรี่โฟมที่ด้วยหุ้มหนังเทียมเนื้อนุ่ม (synthetic protein leather) ส่วนเฮดแบนด์ที่หุ้มด้วยผ้าอัลคันทาร่า (Alcantara) ซึ่งมีผิวสัมผัสคล้ายหนังกลับ มีตัวก้านเฮดแบนด์ที่ทำจากสแตนเลสหุ้มด้วยไนล่อนแน่นหนา น้ำหนักเบาและดูแข็งแรง
หูฟังไร้สายรุ่นนี้มาพร้อมกับแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟซ้ำได้ ซึ่งเมื่อชาร์จเต็มสามารถใช้งานได้นาน 20 ชั่วโมง รองรับระบบชาร์จเร็วที่ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาทีก็สามารถใช้งานต่อได้อีก 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรจาก QC35 เดิม
พูดถึงความเหมือนไปแล้วก็มาดูที่ความแตกต่างกันบ้าง ความแตกต่างใน QC35 II นอกเหนือไปจากปุ่ม “Action Button” ก็มีตัวเคสใส่หูฟังที่มีการเปลี่ยนดีไซน์ภายนอกเล็กน้อย และในรุ่นใหม่นี้จะ “ไม่ได้” แถมตัวแปลงแจ็คหูฟังสำหรับใช้งานบนเครื่องบิน (airline adapter) ให้มาด้วยเหมือนในรุ่นแรก เท่านี้แหละครับความแตกต่างที่ทำให้เราสามารถจำแนก QC35 และ QC35 II ออกจากกันได้
การเชื่อมต่อและ Google Assistant
การเชื่อมต่อหูฟังไร้สายรุ่นนี้เข้ากับสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ที่ใช้เป็นแหล่งสัญญาณเสียง ยังคงเรียบง่ายและมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับหูฟังไร้สายรุ่นอื่น ๆ ของโบส
ถ้าใช้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่มีฟังก์ชัน NFC ก็แค่เปิดสวิตช์ที่ตัว QC35 II โยกสวิตช์ไปทางขวามือค้างไว้จนบลูทูธเข้าโหมดพร้อมจับคู่ (สังเกตจากไฟสีฟ้าที่ตัวหูฟังหรือเสียงแจ้งการทำงานในหูฟัง) จากนั้นเปิด NFC ที่สมาร์ทโฟนแล้วเอาสมาร์ทโฟนแตะตรงสัญลักษณ์ NFC ที่ขอบเอียร์คัปหูฟังด้านขวา เพียงชั่วพริบตา QC35 II ก็พร้อมเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้แบบง่าย ๆ
หรือจะจับคู่และเชื่อมต่อบลูทูธตามปกติก็แค่เตรียมหูฟังให้เข้าโหมดพร้อมจับคู่บลูทูธ แล้วเลือกจับคู่และเชื่อมต่อจากเมนูในสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์บลูทูธอื่น ๆ ที่จะมาใช้งานกับหูฟัง
อีกหนึ่งไฮไลต์สำหรับ QC35 II คือ การใช้งาน “Google Assistant” ซึ่งก่อนจะใช้งานได้ก็จำเป็นจะต้องตั้งค่าเสียก่อน ในปัจจุบันสมาร์ทโฟน Android รุ่นใหม่ ๆ นั้นจะรองรับ Google Assistant ในตัวมันเองอยู่แล้ว ขั้นตอนการตั้งค่าก็แค่กดปุ่มโฮมค้างไว้เพื่อเข้าสู่โหมด Google Assistant จากนั้นหน้าเมนูในสมาร์ทโฟนจะนำพาเข้าสู่การตั้งค่าทีละขั้นตอนเพื่อให้ Google Assistant รู้จักหูฟัง QC35 II ของเรา
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการตั้งค่าแล้ว Google Assistant ในหูฟัง QC35 II ก็พร้อมใช้งาน เมื่อกดปุ่ม Action Button หนึ่งครั้ง จะมีเสียงตอบรับจาก Google Assistant แจ้งบอกเวลาและข้อความแจ้งเตือนในสมาร์ทโฟน (ถ้ามี)
ถ้าหากกดปุ่ม Action Button ค้างไว้ เราจะสามารถคุย สอบถามหรือออกคำสั่ง (เป็นภาษาอังกฤษ) กับ Google Assistant ซึ่งเท่าที่ผมได้ลองมันทำได้แทบไม่ต่างไปจากการใช้งานลำโพงสมาร์ทของ Google เลยทีเดียว
ผมสามารถสอบถามคำถามต่าง ๆ, สอบถามสภาพอากาศ, สั่งให้ตั้งปลุก, สั่งให้เล่นเพลงใน Spotify ที่ผมเป็นสมาชิกอยู่, สั่งเล่นวิดีโอร่วมกับอุปกรณ์ Google Chromecast, สั่งให้เปิด-ปิด หรือหรี่แสงหลอดไฟสมาร์ทของ Philips หรือสั่งให้เปิด-ปิดเต้าเสียบไฟสมาร์ท (WiFi Smart Outlet) ก็ได้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งทั้งหมดนี้ปกติผมจะใช้งานกับลำโพงสมาร์ทของ Google อย่าง Google Home mini แต่ในที่นี้สมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่อง (LG V30+) กับหูฟัง Bose QC35 II ก็สามารถทำหน้าที่แทนได้เหมือนกัน และที่ว่ามานี้เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของความสามารถที่ Google Assistant สามารถทำได้นะครับ มันยังต่อยอดการใช้งานได้อีกเยอะเลย ตราบใดที่ Google Assistant ยังได้รับการพัฒนาต่อไป
อย่างไรก็ดีสำหรับคนที่ใช้งานอุปกรณ์ iOS ในปัจจุบันแอปฯ Google Assistant สำหรับ iOS ยังไม่เปิดให้ใช้งานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ดังนั้นใครที่จะใช้งาน QC35 II กับไอโฟนหรือไอแพดในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้งานส่วนของ Google Assistant ได้นะครับ ปุ่ม Action Button แนะนำให้ตั้งค่าเป็นปุ่มเลือกระดับการตัดเสียงรบกวนแทนไปก่อน (ดูย่อหน้าต่อไป) ถ้าหากจะใช้งาน Siri ก็สามารถเรียกใช้ได้โดยการกดปุ่ม multi-function (ปุ่มตรงกลางระหว่างปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง) ค้างไว้ เหมือนในรุ่น QC35 ได้เลยครับ
ในกรณีใช้งานคู่กับสมาร์ทโฟน ทางโบสเขามีแอปฯ ชื่อ “Bose Connect” มาให้ใช้งานร่วมกันทั้งใน Android และ iOS แอปฯ ตัวนี้สามารถใช้แสดงผลหรือตั้งค่าต่าง ๆ ให้กับตัวหูฟัง เช่น เลือกภาษาของระบบเสียงแจ้งเตือน (VOICE PROMPTS), เลือกตั้งค่าให้ปุ่ม Action Button ทำหน้าที่อะไร ระหว่างใช้เป็นปุ่มกดเรียก Google Assistant หรือใช้เป็นปุ่มเลือกระดับการตัดเสียงรบกวน (High, Low, Off)
นอกจากนั้น Bose Connect ยังสามารถใช้อัปเดตเฟิร์มแวร์ให้ตัวหูฟัง, ใช้งานฟังก์ชัน Music Share แบ่งเพลงให้หูฟังไร้สายของโบสอีกตัวหนึ่งฟังเพลงเดียวกันได้ ตลอดจนการแสดงผลสถานะต่าง ๆ ของตัวหูฟังเช่น แสดงอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่หรือสถานะของแบตเตอรี่ ซึ่งความสามารถในส่วนของแอปฯ นี้สามารถใช้ได้โดยไม่ได้จำกัดว่าจะเป็น Android หรือ iOS
คุณภาพเสียงและการใช้งาน
แม้หูฟัง QC35 II จะทำให้ผมประทับใจกับคุณสมบัติในการรองรับ Google Assistant ของมันมาก แต่ผมก็ยังไม่หลงลืมที่จะพิจารณามันในด้านของคุณภาพเสียงด้วย เพราะหูฟังระดับนี้ลำพังแค่เรื่องฟังก์ชันอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เรื่องคุณภาพเสียงก็ควรจะเชิดหน้าชูตาได้ด้วย
เบื้องต้นสิ่งแรกที่ผมอยากรู้ก็คือ มันให้เสียงต่างจาก QC35 รุ่นแรกหรือไม่ ?… นั่นสิครับ ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะสงสัยในประเด็นนี้ เพราะหน้าตาที่เหมือนกันกว่า 95% ของ QC35 และ QC35 II มันชวนให้คิดเหลือเกินว่าโบสจะไม่ได้ทำอะไรกับเรื่องของเสียง หรือเปล่า?
แต่ผมคิดผิดถนัด หลังจากเทียบเสียงของ QC35 และ QC35 II ผมสรุปได้ว่าทั้ง 2 รุ่นให้สำเนียงและบุคลิกเสียง “คล้ายกันมาก” ซึ่งนั่นหมายความว่ามันไม่เหมือนกัน แม้ว่าข้อมูลจากโบสจะไม่ได้พูดถึงความเปลี่ยนในส่วนนี้เลยแต่เมื่อได้ฟังเทียบกัน ผมว่า QC35 II ให้เสียงน่าฟังกว่าโดยที่ยังมีลักษณะเสียงคล้ายกับ QC35 รุ่นแรกอยู่
เสียงที่ได้จาก QC35 II ยังคงเก็บเกี่ยวส่วนดีของหูฟัง QC35 รุ่นแรกมาได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมดุลเสียงที่ดี การให้รายละเอียดเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติ เป็นเสียงที่ไม่เน้นย่านเสียงใดย่านเสียงหนึ่งเป็นพิเศษ เรียกว่าทุ้ม กลาง แหลม มาครบถ้วน และมีลักษณะประนีประนอมประมาณหนึ่ง เป็นหูฟังไร้สายที่ไปได้ดีกับดนตรีทุุกแนว ทุกประเภทตั้งแต่หมอลำลูกทุ่ง ป๊อป ร็อค แดนซ์ ไปจนถึง บลู แจ็ซ หรือคลาสสิคัล
กล่าวคือ ในความเที่ยงตรงของเสียงนั้นก็ยังเปิดโอกาสให้ฟังเพลงตลาดทั่วไปได้ด้วย ไม่ได้ช่างฟ้องหรือชำแหละแจกแจงกันแบบตรงไปตรงมา 100% เต็ม ทำให้ผมสามารถใช้หูฟังรุ่นนี้ฟังเพลงที่สตรีมมาจาก Spotify ซึ่งไม่ใช่ไฟล์เสียงที่มีคุณภาพสูงนักได้อย่างสบาย ๆ ไม่ขัดหู
ส่วนที่ว่าเสียงฟังดีกว่า QC35 รุ่นแรกก็คือ เมื่อฟังเทียบกัน QC35 II ให้เสียงที่ผ่อนคลายกว่า ฟังสบายกว่า ในขณะที่ยังมีรายละเอียดของเสียงที่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ในย่านความถี่เสียงช่วงมิดเรนจ์ที่หูของเราไวต่อความผิดเพี้ยน QC35 II ให้ความโปร่งและหางเสียงที่พลิ้วหวานกว่า ตราตรึงและฟังง่ายกว่า
ความแตกต่างตรงนี้ไม่ได้มากมายชนิดขาวกับดำ หรือฟ้ากับเหว แต่ผมเชื่อว่ามันจะทำให้ผู้ที่ได้ลองฟังเทียบกัน สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นแน่นอน
QC35 II ยังคงเป็นหูฟังไร้สายของโบสที่ให้เสียงดีที่สุดในโหมดไร้สาย ส่วนสายหูฟังสำรอง ก็เป็นไปตามชื่อของมันนั่นแหละครับเอาไว้สำรองใช้เวลาแบตเตอรี่หมดจริง ๆ เพราะว่ามันไม่ได้ให้เสียงที่ดีกว่าตอนใช้งานแบบไร้สายเลย
นอกจากเรื่องของสุ้มเสียง ผมยังมีความเห็นว่า Bose QC35 II เป็นหูฟังไร้สายอีกรุ่นหนึ่งของโบสที่ออกแบบมาได้ดี มีความครบเครื่องทั้งคุณภาพเสียงและการใช้งาน
ในแง่ของการใช้งาน มันเป็นหูฟังไร้สายที่น้ำหนักเบา สวมใส่ได้กระชับและไม่บีบรัดมากจนเกินไป เวลาได้สวมใส่ใช้งานนาน ๆ จะรู้สึกสบายศีรษะ สบายคอและบ่า การออกแบบตำแหน่งปุ่มกดสั่งงานต่าง ๆ มันทำให้รู้สึกว่าใช้ง่ายและมีความแน่นอน ผมไม่แปลกใจเลยที่โบสยังคงสิ่งเหล่านี้เอาไว้ในหูฟังไร้สายหลาย ๆ รุ่นของพวกเขา ก็ของมันดีอยู่แล้วจะไปเปลี่ยนมันทำไมล่ะครับ
ความเห็นโดยสรุป
นี่คือหูฟังไร้สายอีกรุ่นจากโบสที่ผมลองฟังแล้วอยากแนะนำให้เป็นตัวเลือกสำหรับผู้ที่มองหาหูฟังไร้สายสักตัวไปใช้งานจริงจัง
มันอาจจะเป็นหูฟังที่มองเผิน ๆ แล้วไม่มีอะไรหวือหวาน่าดึงดูด การออกแบบก็เดิม ๆ แทบไม่ได้เปลี่ยนดีไซน์มาพักใหญ่แล้วสำหรับหูฟังค่ายนี้ แต่ถ้าหากพิจารณาในเรื่องของคุณสมบัติและคุณภาพเสียงแล้วผมถือว่า QC35 II เป็นอีกหนึ่งสินค้าไฮไฟที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของคนรักเสียงเพลงและความสะดวกสบายในเวลาเดียวกันได้ดี
ไม่เพียงเท่านั้นหูฟังไร้สายรุ่นนี้ยังสามารถเชื่อมโยงโลกของไฮไฟให้เข้ากับโลกของเทคโนโลยี “Internet of Things” ที่เปิดกว้างสำหรับการพัฒนาต่อยอดไปได้อีกไกล
อีกทั้งข้อมูลในเว็บไซต์ของโบสยังแจ้งไว้ด้วยว่า อีกไม่นานทางโบสมีแผนจะอัปเกรด QC35 II ให้รองรับระบบสั่งงานด้วยเสียงของอีกค่ายหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมไม่แพ้ Google Assistant ด้วย นั่นคือ “Amazon Alexa” เมื่อถึงเวลานั้นผู้ที่เป็นเจ้าของ QC35 II ก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มแล้ว เพียงแค่อัปเดตเฟิร์มแวร์ผ่านแอปฯ Bose Connect เท่านั้นเอง
นั่นหมายความว่าการลงทุนกับ QC35 II ในวันนี้นั้นมิใช่เป็นเพียงแค่การซื้อหูฟังรุ่นใหม่แล้วเริ่มนับวันรอเวลาที่มันจะตกรุ่น แต่มันเป็นการลงทุนที่คิดเผื่อไปถึงอนาคตแล้ว… คุ้มค่าหรือไม่ลองถามใจของท่านดูเถิด
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท อัศวโสภณ จำกัด (www.asavasopon.co.th)
โทร. 0-2266-8136-8, 0-2234-6467-8 (สำนักงานใหญ่สี่พระยา)
ราคา 15,900 บาท