fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

รีวิว Bose : QuietComfort 35

ผมค่อนข้างตื่นเต้นกับการมาของหูฟังยี่ห้อโบส ‘BOSE’ รุ่นไควเอ็ทคอมฟอร์ตสามสิบห้า ‘QuietComfort 35’ หรือจะเรียกอย่างย่อว่าคิวซีสามสิบห้า ‘QC35’ เป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่าผมเคยรีวิวหูฟังไร้สายรุ่น SoundLink Around-Ear wireless headphones II ของเขาไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแล้วค่อนข้างประทับใจเป็นพิเศษ

ผมว่าโบสทำหูฟังไร้สายที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงได้ดี มันเสียงดี มันเบา มันใช้ง่าย มันใส่สบาย และมันสวย แต่คุณสมบัติหนึ่งที่ SoundLink Around-Ear II ไม่มีนั่นคือ ‘ระบบตัด (หรือลดทอน) เสียงรบกวน’ หรือที่ภาษาอังกฤษนิยมเรียกกันว่า ‘Noise Cancelling (NC)’

Quiet and Comfort
สำหรับ QC35 ชื่อของหูฟังรุ่นนี้ได้บ่งบอกชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วว่ามันเป็นหูฟังที่อยู่ในอนุกรมของหูฟังที่มีระบบตัดเสียงรบกวนของโบส (Quiet แปลว่า เงียบ, สงบ) ส่วน Comfort นั้นก็หมายถึงความสะดวกสบาย ดังนั้นสำหรับผมซึ่งประทับใจหูฟัง SoundLink Around-Ear II เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงมีความคาดหวังว่า QC35 จะให้ประสบการณ์ที่น่าประทับใจยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก

จากข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าดีไซน์ภายนอกของ QC35 ยังคงมีรูปร่างหน้าตาตลอดจนวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้คล้ายคลึงกับหูฟังไร้สายรุ่น SoundLink Around-Ear II เรียกว่าถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนในส่วนนี้ก็คงเป็นเพียงแค่ลักษณะไมเนอร์เชนจ์ สิ่งที่แตกต่างไปมากกว่านั้นคือเทคโนโลยีที่อยู่ในตัวหูฟัง

ข้อมูลจากโบสอ้างว่าสิ่งที่อยู่ในหูฟัง QC35 คือผลลัพธ์ของการศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นเวลายาวนานมากกว่า 40 ปีเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีลดเสียงรบกวน ‘Acoustic Noise Cancelling Technology’ ในหูฟังที่ดีที่สุดในโลก นอกจากนั้นระบบลดเสียงรบกวนใน QC35 ยังมาพร้อมกับระบบไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน 2 ชุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกับเสียงรบกวนภายนอก ซึ่งประสิทธิภาพในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปริมาณ แต่เป็นเรื่องของคุณภาพ

กล่าวคือ ระบบจะคอยจัดการกับสัญญาณเสียงส่วนเกินที่เราไม่ควรได้ยิน และจะรักษาสัญญาณเสียงส่วนที่เราควรจะได้ยินเอาไว้ ซึ่งในหลักการนั้นทำง่ายแต่ของจริงนั้นทำไม่ง่ายเลย ซึ่งการจัดคุณภาพก็คงจะต้องไปว่ากันตอนฟังเสียงอีกที นอกจากระบบลดทอนเสียงรบกวนแล้วในหูฟังรุ่นนี้ยังเสริมด้วยเทคโนโลยี ‘Volume-optimized EQ’ ซึ่งตามข้อมูลแจ้งไว้ว่า “ช่วยทำหน้าที่ปรับชดเชยค่าความถี่เสียงในย่านต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดเสียงได้อย่างสมดุลตลอดย่านความถี่เสียงที่ทุกระดับความดัง” ซึ่งระบบเหล่านี้จะทำหน้าที่ของมันโดยอัตโนมัติอยู่เบื้องหลังในขณะที่มีการใช้งานหูฟังรุ่นนี้

ในส่วนของการเชื่อมต่อแบบไร้สายหูฟังรุ่นนี้รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกด้วยเทคโนโลยี Bluetooth และ NFC คุณสมบัตินี้ผมว่าทางโบสเขาออกแบบได้ดีนะครับ ดีมาตั้งแต่ในหูฟังรุ่น SoundLink Around-Ear II แล้ว นั่นคือคุณสมบัติในการเชื่อมต่อบลูทูธกับอุปกรณ์อื่นได้พร้อมกันคราวละ 2 อุปกรณ์ ไม่ใช่แค่คราวละ 1 อุปกรณ์เหมือนหูฟังบลูทูธส่วนใหญ่ทั่วไป ไม่ใช่แค่การ pair นะครับ แต่เป็นการ connect เลย คุณสมบัตินี้สำหรับผมแล้วผมคิดว่ามันเจ๋งดีครับ แม้ว่าเราจะไม่สามารถฟังเสียงได้พร้อมกันจากทั้ง 2 อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่ก็ตาม แต่การสลับไปมาก็แค่หยุดเล่นเสียงจากอุปกรณ์ตัวหนึ่ง แล้วไปเล่นเสียงจากอุปกรณ์อีกตัวเท่านั้นเอง ไม่ต้องมาคอยสลับการเชื่อมต่อไปมาระหว่างอุปกรณ์ให้มันวุ่นวาย ตรงนี้คนที่ใช้งานหูฟังบลูทูธกับอุปกรณ์หลาย ๆ ตัวคงเข้าใจดีแน่นอนครับ

หูฟังรุ่นนี้ยังคงมาพร้อมกับระบบแจ้งการทำงานด้วยเสียงพูดหรือ ‘Voice prompt’ แถมในรุ่นนี้ยังพัฒนาให้เป็นระบบหลายภาษาด้วยต่างหากครับ โดยเลือกได้ถึง 11 ภาษาด้วยกันคือ อังกฤษ, เยอรมัน, สเปน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, สวีเดน, เกาหลี, ญี่ปุ่น และจีน น่าเสียดายที่เฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นปัจจุบันยังไม่มีภาษาไทย หูฟังไร้สายรุ่น QC35 ยังมาพร้อมกับปุ่มฟังก์ชั่นและปุ่มควบคุมต่าง ๆ ที่ใช้งานสะดวก เรียบง่ายสไตล์มินิมอลลิสต์ สะดวกทั้งการควบคุมสั่งงานฟังก์ชั่นต่าง ๆ ตลอดจนการควบคุมการเล่นเพลง วงจรอิเล็กทรอนิกส์ในตัวหูฟังใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ Lithium-ion ชนิดชาร์จไฟซ้ำได้ในตัว เมื่อชาร์จไฟจนเต็มหนึ่งครั้งสามารถใช้งานได้ในระบบไร้สายได้ยาวนานถึง 20 ชั่วโมง ตัวหูฟังมีสีให้เลือก 2 สีได้แก่สีเงินและสีดำ ราคาจำหน่ายในบ้านเราอยู่ที่ 15,900 บาท

แรกสัมผัสที่ประทับใจ
เมื่อเปิดกล่องใส่หูฟัง BOSE QC35 ที่ดีไซน์มาได้น่ารักน่าชัง (อีกแล้ว) ในแบบโบส ๆ ผมก็พบกับกระเป๋าใส่หูฟังสีเทาดำขนาดกำลังเหมาะมือ เมื่อรูปซิบเปิดออกก็พบตัวหูฟังและอุปกรณ์มาตรฐานที่มาด้วยกันได้แก่ สายชาร์จ USB-microUSB, แจ็คแปลงสำหรับใช้งานบนเครื่องบิน และสายหูฟังสำรองสำหรับใช้งานชั่วคราวตอนแบตเตอรี่หมด ทั้งหมดนี้สามารถจัดเก็บได้อย่างเรียบร้อยภายในกระเป๋าใส่หูฟังที่ให้มาด้วยกัน ไม่ต้องไปหาซื้อเองให้วุ่นวาย

อุปกรณ์มาตรฐานที่มาพร้อมกับหูฟัง QC35

การใช้งานในเบื้องต้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนไปว่าการเริ่มชาร์จพลังงานให้แบตเตอรี่ในตัวหูฟัง โดยจะเสียบชาร์จกับคอมพิวเตอร์ หรือแหล่งจ่ายไฟทางพอร์ต USB อย่างเช่น อะแดปเตอร์หรือเพาเวอร์แบงค์ของสมาร์ทโฟนทั่วไปก็ได้ ง่าย ๆ อย่างนี้เลยครับ ระหว่างชาร์จจะมีไฟแสดงผลที่ตัวหูฟังด้านขวาด้วย ตามที่ได้เรียนไว้แต่แรกว่าหูฟังไร้สายรุ่น QC35 ซึ่งมีดีไซน์เป็นแบบโอเวอร์เอียร์หรือแบบที่ครอบไปทั้งใบหูรุ่นนี้ มีดีไซน์รูปร่างหน้าตาแทบจะเรียกได้ว่าโขลกออกมาจากพิมพ์เดียวกันกับหูฟังรุ่น SoundLink Around-Ear II อาจจะแตกต่างกันบ้างในเรื่องของขนาดแต่ก็เล็กน้อยมาก ส่วนตัวผมไม่ได้ติดใจอะไรเพราะในเมื่อดีไซน์เดิมมันทำได้ดีและเป็นภาพจำของแบรนด์อยู่แล้วก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องไปเปลี่ยนอะไรให้มันวุ่นวาย

แจ็ค 2.5mm สำหรับใช้งานร่วมกับสายหูฟังสำรอง

 

เฮดแบนด์รองรับด้วยผ้าอัลคันทาร่า หรูหรามีสไตล์

หูฟัง QC35 ตัวที่อยู่ในมือผม ณ เวลาที่เขียนรีวิวอยู่นี้เป็นรุ่นสีเงิน ผมว่ามันสวยดีนะครับ ดูทันสมัยสไตล์มิลเลนเนียมดี ตัวหูฟังเมื่อได้สัมผัสของจริงก็ทราบได้ทันทีว่ามันถูกผลิตขึ้นอย่างประณีตจากวัสดุที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก โลหะและหนัง (ไม่แน่ใจว่าเป็นหนังแท้หรือหนังสังเคราะห์ เนื่องจากไม่ได้แจ้งไว้ชัดเจน) ตัวเอียร์แพดและด้านบนของเฮดแบนด์ที่เป็นวัสดุหนังก็เป็นโทนสีเทาที่ดูเข้ากันอย่างลงตัว ชิ้นส่วนเฮดแบนด์ตรงแถบที่สัมผัสกับศีรษะของผู้ใช้ทำจากวัสดุผ้าอัลคันทาร่า ให้ผิวสัมผัสหรูหราเหมือนหนังกลับแต่ดูแลง่ายกว่า ผมยังชอบที่มันน้ำหนักเบา แต่ดูแข็งแรง เวลาสวมใช้งานให้ความกระชับกำลังดีและสบายมาก ไม่บีบรัดแน่นจนเกินไป ไม่หนักคอหรืออมความร้อนเอาไว้มากมายจนเหงื่อชุ่ม ให้ความรู้สึกที่นุ่มสบายเมื่อสวมหูฟังเป็นเวลานาน

ปุ่มกดควบคุมการเล่นเพลงออกแบบให้ระดับความสูงแตกต่างกันเพื่อให้กดใช้งานสะดวกโดยไม่ต้องมองเห็น

การเชื่อมต่อบลูทูธกับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนที่ผมใช้งานอยู่ ง่ายและรวดเร็วเหมือนหูฟังรุ่นอื่น ๆ ของโบส ปุ่มควบคุมในหูฟังรุ่นนี้ยังคงยึดแนวทางการออกแบบมาจากรุ่น SoundLink Around-Ear II นั่นคือการใช้งานปุ่มควบคุมแบบมัลติฟังก์ชั่นซึ่งวางเอาไว้ที่หูฟังฝั่งขวามือทั้งหมด ออกแบบให้ใช้งานง่ายแค่คลำเอาก็หาปุ่มเจอ ตรงนี้สำคัญเพราะเวลาเราใส่หูฟังปุ่มพวกนี้เราจะมองไม่เห็น ดังนั้นเวลาใช้งานจริงจึงต้องใช้วิธีคลำเอา สวิตช์เปิด-ปิดแบบเลื่อน เมื่อเปิดแล้วหากจะเปิดโหมด pairing ก็แค่ดันปุ่มสวิตช์ไปทางด้านขวาค้างเอาไว้อีกสักครู่ จนกว่ามีเสียงยืนยันฟังก์การเข้าสู่โหมด pairing

ไฟแสดงผลสัญญาณบลูทูธและสถานะแบตเตอรี่

ในกรณีที่มีอุปกรณ์ที่จับคู่ pairing หรือเชื่อมต่อกันเอาไว้อยู่ก่อนหน้า ตัวหูฟังจะเชื่อมต่อกันทันทีหลังจากเปิดสวิตช์ใช้งาน และจะมีเสียงแจ้ง ‘Voice prompt’ เข้ามาในหูฟังว่ากำลังเชื่อมต่ออยู่กับอุปกรณ์ตัวใด และในขณะนั้น ๆ มีแบตเตอรี่เหลืออยู่กี่เปอร์เซ็น ในขณะใช้งานสามารถให้ระบบทวนเสียงเหล่านี้ได้โดยการโยกสวิตช์เปิด-ปิดไปทางขวามือ 1 ครั้ง

การเปลี่ยนภาษาของระบบ ‘Voice prompt’ สามารถทำได้โดยตรงที่ตัวหูฟัง โดยการกดปุ่มวอลุ่ม + และ – พร้อมกันค้างเอาไว้ จะมีเสียงแจ้งภาษาที่ใช้งานอยู่ในขณะนั้น การเปลี่ยนภาษาก็ใช้ปุ่มวอลุ่ม + และ – เมื่อได้ภาษาที่ต้องการก็เพียงกดปุ่มกลางระหว่างปุ่มวอลุ่ม + และ – เพื่อยืนยัน ในที่นี้ผมก็ต้องเลือกภาษาอังกฤษล่ะครับ เพราะภาษาที่เหลือล้วนแล้วแต่ไม่กระดิกหูเลย

นอกจากจะใช้เปลี่ยนภาษาแล้ว ปุ่มกลางระหว่างปุ่มวอลุ่ม + และ – ยังทำหน้าที่ควบคุมการเล่นเพลงซึ่งครอบคลุมทั้งการเล่นเพลง หยุดเพลง หรือแม้กระทั่งเลื่อนเปลี่ยนเพลงไปข้างหน้าและย้อนกลับหลัง แถมยังใช้งานเป็นปุ่มกดรับสายและวางสายเมื่อใช้งานตัวหูฟังเป็นอุปกรณ์แฮนด์ฟรีได้ด้วยครับ

ส่วนปุ่มวอลุ่มก็ใช้ปรับระดับเสียงการสนทนา ในระหว่างการรีวิวผมมีโอกาสได้ใช้ QC35 คุยสายโทรศัพท์อยู่หลายวาระ ทางผมเองและปลายสายไม่มีปัญหากับเสียงสนทนาแต่อย่างใด เสียงสนทนาทั้งสองฝ่ายมีความชัดเจนไปตลอดการสนทนา ในกรณีที่ใช้งานหูฟังเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนอยู่ ถ้ามีสายเรียกเข้านอกจากเสียงริงโทนจะดังในหูฟังแล้ว ระบบ ‘Voice prompt’ ยังช่วยแจ้งหมายเลขโทรเข้าด้วยต่างหาก หูฟัง QC35 สามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้นเมื่อใช้งานร่วมกับแอพฯ ‘Bose Connect’ (ดาวน์โหลดฟรีสำหรับ iOS และ Android) แอพฯ Bose Connect

นอกจากทำหน้าที่ตรวจสอบสถานะของหูฟังและการเชื่อมต่อแล้ว ยังเปิดโอกาสให้สามารถเปลี่ยนชื่อหูฟังได้ ตลอดจนการเล่นเพลง การเปิด/ปิดฟังก์ชั่นหรือเปลี่ยนภาษาของระบบ ‘Voice prompt’ รวมถึงคู่มือใช้งานระบบออนไลน์

การใช้งานและคุณภาพเสียง
หูฟัง BOSE QC35 เป็นหูฟังที่ผมลองใช้งานครั้งแรกแล้วรู้ได้ทันทีเลยว่ามันทำให้หัวใจผมเต้นแรงผิดปกติ นี่ไม่ใช่เรื่องพูดเกินจริงนะครับ เพราะครั้งแรกที่สวมมันครอบทับรอบใบหูแล้วเปิดสวิทช์ เพียงเสี้ยววินาทีที่วงจร NC ในตัวมันทำงานอัตโนมัติ ผมก็อยู่ในโลกส่วนตัวที่แยกอิสระจากโลกภายนอกทันที ความเงียบที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันทำให้ผมได้ยินหัวใจตัวเองดังกว่าปกติ

 

คลิปทดสอบประสิทธิการตัดเสียงรบกวนและระบบแจ้งเตือนด้วยเสียงพูดของหูฟัง BOSE QC35 … โอ้โฮ ตัดเสียงรบกวนได้ขนาดนั้นเลย (ฟังจากหูฟังจะชัดมากเลยครับ)

Post by: เอ็ม

Posted by GM 2000 Magazine on Thursday, September 1, 2016

 คลิปทดสอบระบบตัดเสียงรบกวน BOSE QC35

ความเงียบที่เกิดขึ้นเป็นความเงียบในระดับเดียวกันกับการใช้งานหูฟังประเภท In-Ear Monitor (IEM) หรือบางทีอาจจะเงียบกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ว่าเมื่อผมลองขยับปากขบเคี้ยวฟันทำทีเหมือนกับว่ากำลังเคี้ยวข้าว กลับไม่ได้ยินเสียงรบกวนจากกรามดังเหมือนอย่างเวลาใส่หูฟัง IEM ซึ่งปกติคนที่ใช้หูฟัง IEM จะทราบดีถึงปัญหานี้โดยเฉพาะตัวที่เก็บเสียงดีมาก ๆ ว่ามันแทบจะใช้งานตอนกำลังรับประทานอาหารไม่ได้เลย เพราะเสียงเคี้ยวข้าวจะดังเข้าไปรบกวนเพลงที่อยู่ในหูฟัง

แต่สำหรับ QC35 มันกลับไม่ปรากฏปัญหาที่ว่านี้สักเท่าไร… นั่นอาจเป็นเพราะมันใช้วิธีลดทอนเสียงรบกวนด้วยระบบแอคทีฟก็เป็นได้ เรื่องต่อมาที่เกิดขึ้นกับระบบ NC ในหูฟังรุ่นนี้ก็คือ มันทำให้ผมได้ยินเสียงซ่าของเนื้อเทป (hiss) ในเพลง ‘Spanish Mary’ (ไฟล์เสียง 24bit/ 96kHz จากอัลบั้ม The New Basement Tape – Lost on the River) ชัดมาก ๆ ชัดแบบว่าไม่ต้องตั้งใจฟัง ตอนท้ายเพลงยังได้ยินเสียงครางหึ่ง ๆ ของปรีแอมป์ไมโครโฟนหรือไม่ก็ปรีแอมป์ของเครื่องเล่นเทปเล็ดลอดเข้ามาให้ได้ยินแบบจะ ๆ อีกต่างหาก

อย่างไรก็ดีเมื่อใช้งานในช่วงแรก ด้วยความที่ระบบลดทอนเสียงรบกวนของหูฟังรุ่นนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก ถ้าหากใส่ฟังเวลาที่ยังไม่ได้เปิดเพลงอาจจะรู้สึกหูอื้อแปลก ๆ อยู่บ้าง เหมือนเวลาอยู่ในห้องที่เก็บเสียงได้อย่างสงัดหรือห้องเงียบมาก ๆ ทว่าอาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อใช้งานกันจนคุ้นเคย หรือเมื่อเริ่มปล่อยให้มีเสียงดนตรีหรือซาวนด์แทรคภาพยนตร์เข้ามาแทนที่ความเงียบสงัดนั้น

อีกคุณสมบัติที่น่าสนใจคือระบบส่งสัญญาณเสียงแบบไร้สายใน QC35 นั้นเป็นแบบ ‘Low Latency’ กล่าวคือเมื่อใช้งานสำหรับการรับชมคลิปวิดีโอ หนัง หรือเสียงที่มาพร้อมกับภาพเคลื่อนไหว มันจะให้เสียงและภาพที่ตรงกัน ไม่เหลื่อมล้ำกันเช่น เสียงมาช้ากว่าภาพ หรือภาพมาช้ากว่าเสียง

เมื่อใช้งานร่วมกับแอพฯ Bose Connect

เชื่อว่าทางวิศวกรของโบสคงมั่นใจในระบบ NC ของเขามาก เพราะว่าระบบ NC ในหูฟังรุ่นนี้ disable ไม่ได้นะครับ มันจะทำงานตลอดเวลาที่เปิด ON ใช้งาน และมันจะไม่ทำงานในกรณีที่แบตเตอรี่หมดหรือสวิตช์เปิด-ปิดอยู่ที่ตำแหน่ง OFF สองกรณีหลังนี้แม้ว่าระบบ NC จะไม่ทำงาน แต่คุณยังสามารถใช้งาน QC35 ได้อยู่ด้วยโหมดพาสสีฟเหมือนหูฟังมีสายทั่วไป โดยการเสียบใช้งานกับสายหูฟังสำรองที่เขาแถมมาให้ด้วย

ในด้านคุณภาพเสียงหูฟังไร้สายรุ่นนี้ให้รายละเอียดเสียงสะอาดสดใส มีความน่าฟังเป็นธรรมชาติ สามารถถ่ายทอดสัดส่วนชิ้นดนตรีที่สมจริงและมีความเพี้ยนต่ำมาก ตัวเสียงมีมวลเนื้อเสียงอิ่มแน่น ผสมผสานลีลาการทอดน้ำเสียงที่ลื่นไหลนุ่มนวลฟังสบายหู จุดเด่นนี้ทำให้ตลอดเวลาในการใช้งานหูฟัง QC35 นั้น เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ใช้งานได้อย่างความเพลิดเพลินไม่ว่าจะฟังเล่น ๆ หรือฟังจริงจัง อีกทั้งยังมีความสะดวกสบายสมกับชื่อรุ่น เหนือสิ่งอื่นใด QC35 ทำให้ผมรู้สึกดีกับหูฟังระบบไร้สายมากยิ่งขึ้นไปอีก

ด้านคุณภาพเสียงเมื่อเทียบกับหูฟังไร้สายอย่าง SONY MDR-100ABN ที่ผมเพิ่งรีวิวผ่านไปหมาด ๆ พบว่า หูฟังของโซนี่ให้เสียงที่ค่อนข้างจริงจังกว่า ประนีประนอมน้อยกว่า โดยเฉพาะในย่านความถี่เสียงกลางและแหลมที่มีลักษณะเปิดเผยจะแจ้งและมีสมดุลเสียงที่เปิดเผยกว่า และมักฟ้องคุณภาพอันย่ำแย่ของดนตรีที่บันทึกเสียงมาอย่างลวก ๆ อยู่เสมอ ถ้าจะมองหาหูฟังไร้สายที่มีความเป็นมอนิเตอร์อย่างจริงจังหูฟังรุ่นนี้น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี

ขณะที่หูฟัง BOSE QC35 ซึ่งมีความเที่ยงตรงไม่เป็นรองกัน หากแต่ลักษณะน้ำเสียงจะย่อหย่อนความขึงขังจริงจังลงมาประมาณหนึ่ง ถ่ายทอดรายละเอียดของดนตรีออกมาในลักษณะเสียงที่เป็นมิตรต่อโสตประสาท มีสมดุลเสียงที่ดีตลอดทั้งย่านความถี่ บุคลิกเสียงที่สุขุมนุ่มนวล ให้มวลเสียงที่อิ่ม นุ่มเนียน แต่มิได้ละเลยในรายละเอียดความคมชัดหรือแม้แต่เสียงแหลมจากเครื่องเคาะโลหะอันสดใส ทำให้หูฟังรุ่นนี้สามารถเข้ากับดนตรีได้อย่างหลากหลาย บ่งชี้ดนตรีที่บันทึกเสียงมาไม่สมบูรณ์นักในลักษณะ “forgive but not forget”

“forgive but not forget” ในที่นี้หมายความว่า ถึงงานเพลงนั้น ๆ จะบันทึกเสียงมาไม่ดีนัก ถึงจะเป็นการสตรีมจากไฟล์บีบอัดข้อมูลที่ทำรายละเอียดตกหล่นไปพอสมควร หูฟังของโบสก็ยังให้เสียงที่ ‘ฟังเพลินได้ในระดับหนึ่ง’ ในขณะเดียวกันก็ยังแอบฟ้องให้ได้ยินด้วยว่ามันยังบกพร่องตรงไหน เมื่อเทียบกับงานที่บันทึกเสียงดีกว่า หรือไฟล์ที่ไม่ได้ผ่านการบีบอัดข้อมูล คุณสมบัติเช่นนี้ทางเทคนิคอาจจะคิดค้นหาคำตอบกันได้ไม่ยากนัก แต่เชื่อเถอะครับว่าเวลาทำจริงแล้วมันไม่น่าจะง่ายเอาซะเลย

Lose the noise & wires. Lose yourself in the music.
ขณะที่เขียนรีวิวอยู่นี้ผมทราบว่า iPhone 7 ที่เพิ่งออกใหม่ ไม่มีแจ็คหูฟัง 3.5mm แล้ว ซึ่งถ้าคุณเป็นคนที่มีโอกาสได้ลองหูฟังไร้สายคุณภาพดีอย่างผมที่ได้ลองทั้งหูฟังไร้สายของโซนี่และโบส คุณจะคิดว่านั่นไม่ใช่เรื่องน่าตกใจแต่อย่างใด เพราะคุณภาพของหูฟังไร้สายในยุคนี้มันได้เปลี่ยนความคิดเก่า ๆ ของผมไปโดยสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของคุณภาพเสียง ตลอดจนการใช้งาน อีกทั้งราคาค่างวดของมันไม่ได้เลยเถิดเกินความเหมาะสมสำหรับสมาร์ทโฟนที่มีราคาแตะสามหมื่นบาท

จากรีวิวนี้ผมสรุปได้ว่า BOSE QC35 เป็นหูฟังไร้สายที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงได้อย่างน่าประทับใจ การเชื่อมต่อสัญญาณบลูทูธกับอุปกรณ์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ทำได้อย่างรวดเร็วฉับไวและแน่นอนมาก เป็นหูฟังไร้สายที่น้ำหนักเบาและให้สัมผัสเวลาใช้งานที่สบายหู สามารถใช้งานติดต่อกันได้เป็นเวลานาน การลดทอนเสียงรบกวนจากภายนอกโดยเฉพาะในย่านความถี่ต่ำ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพัดลมแอร์ เสียงกระหึ่มของเครื่องยนต์ เสียงลมในบางย่านความถี่หรือเสียงรบกวนอื่น ๆ สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม

ผมชอบประโยคที่ทางโบสใช้โฆษณาหูฟังรุ่นนี้ มันเป็นนิยามสั้น ๆ ที่กระชับและชัดเจน ในโฆษณาเมื่อแปลงเป็นภาษาไทยเขาบอกว่า “หลุดพ้นจากพันธนาการของสายหูฟังและเสียงรบกวน แล้วพาตัวคุณดำดิ่งเข้าไปในดนตรี” จริงอยู่ว่าคำในโฆษณาจะคิดให้สวยหรูอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าหากมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็เป็นได้แค่โฆษณาชวนเชื่อจริงไหมครับ สำหรับหูฟังรุ่นนี้ผมเองมีคำตอบในใจแล้วว่ามันเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ ส่วนคุณผู้อ่านเองผมอยากให้หาโอกาสไปลองพิสูจน์ด้วยตัวเองเถิดครับ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท อัศวโสภณ จำกัด
โทร. 02-266-8136-8, 02-234-6467-8, 02-633-0212-3
ราคา 15,900 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ