fbpx
KNOWLEDGE

มาทำความรู้จัก “microSD card” กันเถอะ

ในยุคที่อุปกรณ์ดิจิทัลทั้งหลายได้เข้ามาเป็นกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา การบันทึกไฟล์ข้อมูลมัลติมีเดียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ข้อมูลเอกสารต่าง ๆ ไฟล์ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวหรือไฟล์เสียงล้วนแล้วแต่ต้องการ ‘สื่อบันทึกข้อมูลดิจิทัล’ หรือ digital media storage แทบทั้งสิ้น

เมื่อพูดถึงสื่อบันทึกข้อมูลดิจิทัลเราอาจจะนึกถึงสื่อบันทึกข้อมูลหลากหลายชนิดที่เรารู้จัก ทว่าในยุคที่อุปกรณ์ดิจิทัลที่เราสามารถพกพาติดตัวได้ (mobile digital devices) ได้รับความนิยมแพร่หลายขั้นสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, กล้องดิจิทัล, กล้องแอคชั่นแคม, อุปกรณ์บันทึกเสียง, เครื่องเล่นเพลงระบบดิจิทัล ฯลฯ สื่อบันทึกข้อมูลดิจิทัลจำพวกแฟลชเมมมอรี่ทั้งหลายมักจะเป็นอะไรที่เรานึกถึงก่อนเสมอ โดยเฉพาะการ์ดบันทึกข้อมูลขนาดเล็กจิ๋วอย่างไมโครเอสดี ‘microSD card’ ที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะในกลุ่มอุปกรณ์สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, กล้องแอคชั่นแคม และเครื่องเล่นเพลงระบบดิจิทัล ซึ่งนับวันจะถูกดีไซน์ให้มีขนาดเครื่องเล็กและบางลง การจัดสรรพื้นที่ภายในตัวเครื่องซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดจึงจำเป็นต้องพึ่งพาสื่อบันทึกข้อมูลดิจิทัลที่มีขนาดตัวสวนทางกับประสิทธิภาพอย่าง microSD card

ทว่า microSD card ที่คุณเห็นโดยทั่วไปว่ามันมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันอย่างกับแกะ ขนาดเล็กเพียงปลายนิ้วก้อย บางเฉียบราวกับแผ่นกระดาษ ต่างกันเพียงแค่สีสันและการพิมพ์ลายตัวอักษรตลอดจนตัวเลขและสัญลักษณ์ต่าง ๆ เท่านั้น … ที่จริงแล้วมันเหมือนหรือแตกต่างกัน? … ทำไมยี่ห้อเดียวกันความจุข้อมูลเท่ากันแต่ราคาไม่เท่ากัน? … สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่พิมพ์อยู่บนแผ่นการ์ดเล็กจิ๋วนั้นมีความหมายว่าอย่างไร? เนื้อหาต่อจากนี้ไปมีคำตอบทั้งหมดรออยู่ครับ!

ความจุข้อมูลของ microSD card
ในปัจจุบัน microSD card ความจุสูงจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทนั่นคือ SDHC (SD High Capacity) ซึ่งมีความจุระหว่าง 2GB-32GB และ SDXC (SD Extended Capacity) ซึ่งมีความจุระหว่าง 32GB-2TB ตามมาตรฐานล่าสุดที่กำหนดเพดานความจุสูงสุดเผื่อเอาไว้มากมายถึง 2TB

แต่ในโลกความเป็นจริง microSD card ที่ผลิตออกมาจำหน่ายในปัจจุบัน (เมษายนปี 2016) ยังมีความจุสูงสุดเท่าที่ทำได้อยู่ที่ 512GB เป็นของยี่ห้อ Microdia รุ่น Xtra Elite ซึ่งราคายังแพงลิบลิ่วถึง $1,000 หรือราว ๆ สามหมื่นกว่าบาท

ถ้าหากมองเป็นรุ่นที่มีความจุลดลงมา แต่ก็ยังนับว่ามีความจุเยอะมากสำหรับการใช้เก็บข้อมูล หรือใช้เพิ่มพื้นที่ความจุข้อมูลในอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต microSD card ในกลุ่มความจุค่อนข้างสูงตั้งแต่ 64GB-200GB ซึ่งปัจจุบันราคาลงมาอยู่ในระดับไม่กี่ร้อยบาทจนถึงสองพันกว่าบาท ก็ถือว่าเป็นราคาในระดับที่น่าลงทุนซื้อหามาใช้งานแล้วครับ มีงบประมาณเท่าไรก็ซื้อหากันตามสะดวกได้เลยครับ

เครื่องเล่น Digital Audio Player ของ Lotoo ที่เคลมว่ารองรับ microSD ถึง 2TB

อย่างไรก็ดีใช่ว่างบประมาณจะเป็นเรื่องเดียวที่คุณต้องสนใจ เนื่องจากอุปกรณ์ดิจิทัลแต่ละรุ่นมีความสามารถในการรองรับความจุสูงสุดของ microSD card ไม่เท่ากัน บางรุ่นรองรับเพียง 32GB บางรุ่น 64GB

ขณะที่บางรุ่นรองรับมากกว่านั้นอย่างเช่นสมาร์ทโฟน Huawei Mate 8 ซึ่งรองรับถึง 128GB หรือ Samsung Galaxy S7 Edge ซึ่งรองรับถึง 200GB หรือเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาของยี่ห้อ Lotoo ซึ่งเคลมว่ารองรับ microSD card ได้ถึง 2TB ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อโดยการเลือกตัวแปรความจุข้อมูล อย่าลืมศึกษาสเปคฯ ของเครื่องที่จะเอา microSD card ไปใช้งานด้วยนะครับ

ความเร็วของ microSD card
นอกจากเรื่องความจุข้อมูลแล้ว ‘ความเร็ว’ ในการอ่านหรือบันทึกข้อมูลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ใช้แบ่งแยกคุณภาพและราคาของ microSD card เนื่องจากข้อมูลบางอย่างต้องการความรวดเร็วฉับไว หากตัวสื่อบันทึกข้อมูลไม่สามารถตอบสนองได้เร็วพอ การบันทึกข้อมูลลงไปก็อาจจะเกิดความบกพร่องเสียหายได้ นี่ยังไม่นับเรื่องของการถ่ายโอนข้อมูลกันระหว่างอุปกรณ์ซึ่งความเร็วของตัว microSD card ก็มีผลด้วยเช่นกัน

หลังจากที่พิจารณาเรื่องของความจุแล้ว ความเร็ว (speed bus) จึงเป็นเรื่องต่อมาที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการงานที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกภาพนิ่งด้วยความเร็วสูง (burst photos) หรืองานบันทึกวิดีโอรายละเอียดสูงอย่างเช่น วิดีโอ Full HD 1080P หรือ Ultra HD 4K การเลือก microSD card ที่เร็วกว่ามักจะให้ผลลัพธ์หรือประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีกว่าเสมอ แน่นอนว่าก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และนั่นเป็นที่มาของการเลือกใช้ให้เหมาะสม

<ภาพประกอบจาก sdcard.org>

อุปกรณ์สมัยใหม่ในปัจจุบันแทบทั้งหมดจะรองรับมาตรฐานความเร็วสูงหรือ high-speed class ทั้ง 3 มาตรฐานดังต่อไปนี้ได้แก่ Class 10, UHS-1 Class 1 และ UHS-1 Class 3 โดยคำว่า UHS นั้นย่อมาจากคำว่า ‘Ultra High Speed’ บางครั้งอาจจะเห็นเขียนว่า UHS-I แทน UHS-1 คือใช้เลขโรมันแทนเลขอารบิคนั่นเอง

โดยทั่วไปเป็นไปได้ที่ microSDHC และ microSDXC จะมีให้เลือกใช้ทั้ง 3 Class เนื่องจากในการออกแบบนั้นเรื่องของ ‘ความจุ’ และ ‘ความเร็ว’ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันโดยตรง สำหรับความเร็วของ microSD card จะแบ่งแยกเป็นส่วนของการอ่านข้อมูล (read) และการบันทึกข้อมูล (write) ซึ่งผู้ผลิตมักจะแจ้งตัวเลขความเร็วสูงสุดเอาไว้เพื่อจูงใจผู้บริโภค

แต่ในบทความนี้จะแจ้งเป็นตัวเลขความเร็วต่ำสุดของแต่ละ Class เพื่อให้คุณเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน ส่วนความเร็วสูงสุดนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละ Class และสินค้าแต่ละรุ่นของแต่ละยี่ห้อ

  • Class 10 มีความเร็วต่ำสุดอยู่ที่ 10MB/s รองรับการถ่ายภาพนิ่งด้วยความเร็วสูงและวิดีโอ Full HD 1080P
  • UHS-1 Class 1 มีความเร็วต่ำสุดอยู่ที่ 10MB/s รองรับการถ่ายภาพนิ่งด้วยความเร็วสูงและวิดีโอ Full HD 1080P
  • UHS-1 Class 3 มีความเร็วต่ำสุดอยู่ที่ 30MB/s รองรับการถ่ายภาพนิ่งด้วยความเร็วสูง, วิดีโอ Full HD 1080P และ Ultra HD 4K
ความแตกต่างของการ์ด UHS-I และ UHS-II ที่จะเห็นว่ามีขั้วต่อเพิ่มขึ้นมาอีก 1 แถว <ภาพประกอบจาก sdcard.org>

นอกจากมาตรฐานความเร็วที่นิยมใช้แพร่หลายตามที่ว่ามาแล้ว ในปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งมาตรฐานความเร็วแต่ยังไม่เป็นที่นิยมใช้แพร่หลายและยังมีอุปกรณ์ที่รองรับอย่างจำกัดนั่นคือมาตรฐาน UHS-2 หรือ UHS-II ซึ่งจะมี pin ขั้วต่อพิเศษเพิ่มมาอีก 1 แถว จุดเด่นของ UHS-II คือความเร็วที่สูงมากระดับ 1000x-1800x

ซึ่งบางยี่ห้ออย่างเช่น Lexar เคลมว่าสามารถอ่านข้อมูลด้วยความเร็วสูงถึง 270 MB/s และบันทึกได้ด้วยความเร็วระดับ 245 MB/s นับว่าเป็น microSD card ที่บ้าพลังใช้ได้เลย

microSD card UHS-II Class 3 ความเร็วสูงมากจาก Lexar

นอกจากที่ว่ามาแล้วในอดีตคุณอาจจะเคยเห็น Class 2, Class 4 หรือ Class 6 บนตัว microSD card ซึี่งปัจจุบันต้องบอกว่ามันล้าสมัยสุด ๆ และไม่ควรเลือกซื้อมาใช้แล้ว นอกเสียจากว่าอุปกรณ์ของคุณเองก็ล้าสมัยสุด ๆ ด้วยเช่นกัน

การอ่านสัญลักษณ์บนตัว microSD card
บนตัว microSD card การแจ้งตัวเลขความจุ (GB หรือ TB ถ้ามี) หรือประเภทของการ์ด (SDHC, SDXC) สำหรับยี่ห้อที่มีมาตรฐานสูงมักจะพิมพ์ให้เห็นกันอย่างชัดเจน ส่วนเรื่องของความเร็วแต่ละ Class ก็มักจะแจ้งเอาไว้ด้วยเช่นกันเพื่อยืนยันความเร็วต่ำสุดที่ตัวการ์ดสามารถตอบสนองได้

อย่างเช่น Class 10 ก็จะเป็นตัวเลข 10 ที่ล้อมรอบด้วยตัวอักษร ‘C’ แต่ถ้าหากเป็น UHS-1 Class 1 และ Class 3 ก็จะเห็นเป็นตัวอักษร ‘U’ แล้วมีเลข 1 หรือ 3 อยู่ข้างใน บางครั้งเราอาจจะเห็นตัวอักษร ‘I’ หรือ ‘II’ ซึ่งเป็นเลขโรมันแสดงว่า microSD card นั้น ๆ เป็น UHS-I หรือ UHS-II

ความแตกต่างของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่อยู่บนตัว microSD card

ระวังของปลอม ของเลียนแบบ ของคุณภาพต่ำ
“ของถูกและดีไม่มี มีแต่ของดีราคาสมเหตุสมผล” ยังคงเป็นคำแนะนำที่สามารถนำมาใช้ได้กับเวลาเลือกซื้อ microSD card หลายครั้งที่เห็นของราคาถูกผิดปกติให้หยุดคิดสักนิด แล้วพิจารณาดูว่าทำไมมันถึงได้ถูกนัก มีอะไรไม่ชอบมาพากลแอบซ่อนอยู่หรือเปล่า

ยิ่งพักหลังมานี้เรามักจะหาซื้อ microSD card ได้ง่ายมากจากตามร้านขายของทั่วไปตามตลาดสินค้าจิปาถะ หรือตามงานแสดงสินค้าไอที หรืออาจจะง่ายกว่านั้นคือการช้อปปิ้งออนไลน์ โอกาสมีความเสี่ยงจะเจอสินค้าคุณภาพต่ำ สินค้าทำปลอมหรือจงใจทำเลียนแบบให้ดูคล้ายของมียี่ห้อ เป็นอะไรที่พบเห็นได้ง่ายมาก ๆ บางทีวางขายกันเกร่อตามงานแสดงสินค้าไอทีก็มีบ่อย ๆ

ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อเรื่องแรกที่ต้องพิจารณาก็คือ อย่าเห็นแก่ของราคาถูก ข้อควรพิจารณาต่อไปก็คือ ให้เลือกยี่ห้อที่ไว้ใจได้ ก็ยี่ห้อที่คุ้นเคย เคยได้ยินมาก่อน หรือสินค้าที่มีการรับประกัน จะเป็นการรับประกันระยะยาว รับประกันคืนเงินหากไม่พอใจสินค้า หรือรับประกันใด ๆ ก็ได้ครับที่มั่นใจได้ว่าถ้าไม่ชอบใจหรือตรวจพบว่าเป็นของไม่มีคุณภาพตามที่คาดหวัง จะสามารถเปลี่ยนคืนเป็นเงินกลับมาได้

ถ้าไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้ ขอเตือนว่า ‘อย่าเสี่ยง’ มีร้านค้าหรือแหล่งอื่น ๆ ให้เลือกซื้ออีกเยอะครับ หรือถ้าหากต้องการตรวจสอบก็ลองเข้าไปที่เวบไซต์ thecounterfeitreport.com หรือค้นหาข้อมูลจาก Google เพื่อตรวจสอบในเบื้องต้นก่อนก็ดีครับ ด้วยความปรารถนาดีจากใจ

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ