fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

รู้จักหน่วยความจำ Nano Memory จุดเด่น-จุดด้อย, ถูกลอยแพหรือว่าแจ้งเกิดได้

Huawei ได้เปิดตัวการ์ดหน่วยความจำนาโนหรือ Nano Memory เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นหน่วยความจำที่ออกแบบมาเป็นการเฉพาะใช้สำหรับอุปกรณ์ของ Huawei เอง มันดูเหมาะกับการพัฒนาสมาร์ทโฟนในอนาคตเพราะว่ามีขนาดเล็กเหมาะสำหรับโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้พื้นที่บนตัวเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่มันก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะเอาใจช่วยหรือตื่นเต้นไปกับการ์ดหน่วยความจำรูปแบบใหม่นี้ ถ้าหากว่ามันยังคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้พัฒนาการ์ดหน่วยความจำยี่ห้อดัง หรือว่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่น ๆ

มาทำความรู้จักการ์ด Nano Memory
การ์ดหน่วยความจำนาโนหรือ Nano Memory เป็นรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลเสริมที่พัฒนาโดย Huawei มีลักษณะการใช้งานเหมือนกับการ์ด microSD แต่มีขนาดเล็กกว่า

การ์ดหน่วยความจำนาโนมีขนาดเท่ากับนาโนซิมการ์ดซึ่งมีขนาดเล็กกว่าการ์ด microSD ประมาณ 45% สามารถใส่ลงในถาดใส่ซิมการ์ดแบบนาโนคู่ของสมาร์ทโฟน Huawei ได้เลย ไม่ต้องแยกช่องหรือถาดใส่การ์ด microSD เหมือนสมาร์ทโฟนทั่วไป

ปัจจุบันการ์ดหน่วยความจำนาโนจาก Huawei มีให้เลือก 3 ขนาดความจุได้แก่ 64GB, 128GB และ 256GB โดยทั้งหมดมีความเร็วในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 90MB/s

จุดเด่นของการ์ด Nano Memory
การ์ดหน่วยความจำนาโนมีลักษณะการใช้งานเหมือนกับการ์ด microSD ต่างกันที่ขนาดและอาจจะมีเรื่องของความเร็วในการอ่านข้อมูล ในแง่มุมของผู้ใช้งานอาจรู้สึกว่าไม่มีอะไรแตกต่างไปจากการ์ด microSD คุณภาพสูงทั่วไป แต่ในมุมมองของผู้ผลิตอุปกรณ์อาจมองเห็นประโยชน์ในการนำหน่วยความจำนาโนไปใช้งานได้

ขนาดที่เล็กกว่าสามารถเพิ่มพื้นที่ว่างภายในสมาร์ทโฟนได้อีก แม้ว่าจะไม่ได้มากมายแต่ก็มีความหมายสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หลายชิ้นส่วนมีขนาดเล็กมากอย่างสมาร์ทโฟน แต่ข้อดีจริง ๆ ของมันก็คือ การที่มันสามารถใส่ในช่องเดียวกับซิมแบบนาโน ทำให้เข้าใจง่ายต่อการใช้งาน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดดูเหมือนจุดเด่นของการ์ด Nano Memory อาจยังไม่ได้เหนือกว่าการ์ด microSD อย่างเด่นชัด นอกจากนั้นก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าหน่วยความจำแบบนาโนจะมีข้อได้เปรียบอะไรเป็นพิเศษนอกจากนำไปใช้กับการออกแบบสมาร์ทโฟนของ Huawei เอง

ดังนั้นหากไม่มีสิ่งจูงใจที่มากพอ บรรดาผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือคงลังเลที่จะใช้เทคโนโลยีซึ่งจดสิทธิบัตรโดยหนึ่งในคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Huawei

จุดด้อยของการ์ด Nano Memory
การ์ดหน่วยความจำนาโนยังมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการ์ด microSD ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน การ์ดหน่วยความจำนาโนขนาด 128GB ของ Huawei ที่ขายอยู่ในเวลานี้ราคายังแพงกว่าการ์ด MicroSD ที่ความจุเท่ากันและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากันเกือบเท่าตัว

ข้อด้อยของการ์ดหน่วยความจำแบบนาโนที่สำคัญที่สุดคือจำนวนรุ่นมือถือที่รองรับ เป็นที่รับรู้และยอมรับกันดีอยู่แล้วว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสมาร์ทโฟนในกลุ่ม Android รองรับการใช้งานร่วมกับการ์ด microSD

แต่ถ้าหากต้องการจะใช้การ์ดหน่วยความจำแบบนาโนจำเป็นต้องเปลี่ยนมือถือเป็นของ Huawei และยังใช้ได้แค่บางรุ่นเท่านั้น เช่น Huawei Mate 20, Huawei Mate 20 Pro, Huawei Mate 20X, Huawei P30 และ Huawei P30 Pro

ผู้ผลิตใดบ้างที่ร่วมสนับสนุนการ์ด Nano Memory?
ปัจจุบัน Huawei ยังเป็นแค่บริษัทเดียวที่สนับสนุนรูปแบบของการ์ดหน่วยความจำนาโน โดย Richard Yu ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจผู้บริโภคของ Huawei กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า Huawei กำลังเจรจากับบริษัทอื่น ๆ เพื่อผลิตชิปหน่วยความจำนาโนในอนาคต โดย Huawei ต้องการให้หน่วยความจำนาโนเข้ามาเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่จนถึงตอนนี้ยังมองไม่เห็นถึงความก้าวหน้า

Ruben Dennenwaldt ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ของ Western Digital ผู้ผลิตการ์ดหน่วยความจำยี่ห้อ SanDisk ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำตลาดการ์ด Nano Memory ว่า

“ปัจจุบันเรายังไม่ได้สนับสนุนมาตรฐานการ์ดหน่วยความจำแบบนาโนของ Huawei แต่ขณะเดียวกันก็กำลังติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดอย่างใกล้ชิด”

ในวันนี้ หน่วยความจำแบบนาโนเป็นเพียงรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลเสริมที่ราคายังคงแพงและมีเพียงโทรศัพท์ไม่กี่รุ่นที่รองรับ ไม่มีเหตุจูงใจมากพอที่จะซื้อการ์ดหน่วยความจำแบบนาโนมาใช้งาน ยกเว้นว่าผู้ใช้ต้องการการ์ดเสริมหน่วยความจำสำหรับสมาร์ทโฟนบางรุ่นของ Huawei เท่านั้น

ในอนาคตหากมีผู้ผลิตช่วยกันผลิตโทรศัพท์ที่ใช้หน่วยความจำนาโนเพิ่มขึ้น ก็อาจจะเห็นการ์ดนาโนเป็นที่แพร่หลายทั่วไป แต่ความเคลื่อนไหวในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมานั้นน้อยมาก มีการนำไปใช้กับโทรศัพท์เพียงไม่กี่รุ่น และตราบใดที่มีการสงวนไว้สำหรับอุปกรณ์รุ่นสูง ๆ นั้นก็ยิ่งต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้รับความสนใจมากขึ้น

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ