5G คืออะไร ? แล้วเราจะได้อะไรถ้าใช้ 5G ดูหนัง-ฟังเพลง
เชื่อว่าเมื่อพูดถึงเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะเข้ามาเคาะประตูบ้านเราในเร็ววันนี้ คงไม่มีใครสงสัยแน่นอนว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะเชื่อมต่อหรือรับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วกว่าเทคโนโลยี 4G LTE ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน
หากคุณกำลังซื้อโทรศัพท์หรือกำลังคิดที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป เรื่้องของ 5G อาจเป็นตัวเลือกที่ทำให้คุณต้องพิจารณาหรือเกิดความลังเลในการตัดสินใจ ดังนั้นในเวลานี้คุณอาจจำเป็นต้องเริ่มต้นศึกษาหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่นี้ได้แล้ว
5G คืออะไร ?
5G เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ล่าสุดที่เริ่มถูกพูดถึงและคาดหมายว่าจะเริ่มใช้งานอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปีค.ศ. 2020 เป็นต้นไป มีคำกล่าวจากผู้รู้ว่า 5G นั้นเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลแบบไร้สายที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด
5G คืออะไร ?
“5G” นั้นหมายถึง Fifth Generation of Mobile Network Technology หรือเทคโนโลยีเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ได้พัฒนามาเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว ขณะที่สัญญาณที่เราใช้งานอยู่ในปัจจุบันคือเทคโนโลยี 4G LTE (Long-Term Evolution)
ก่อนจะว่ากันในรายละเอียดต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเทคโนโลยี 5G นั้นไม่ได้มาเพื่อแทนที่เทคโนโลยี 4G เนื่องจากในอนาคตทั้ง 2 เทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้งานควบคู่กันไป โดยที่เทคโนโลยี 5G นั้นมีคุณสมบัติพื้นฐานที่เหนือกว่า พรีเมียมกว่า ตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพสูงกว่า
ไม่ใช่แค่เร็วกว่า !
เทคโนโลยี 5G นั้น มีความเร็วในการดาวน์โหลดและอัปโหลดมากกว่า 4G LTE ถึง 10 เท่า ถูกการออกแบบมาให้มีคุณสมบัติที่เอื้อต่อการใช้งานในรูปแบบของการสตรีมมิงด้วยประสิทธิภาพที่สูงกว่าเนื่องจากมี latency หรือความหน่วงช้าของสัญญาณที่ต่ำกว่า
ขณะเดียวกันเครือข่าย 5G ยังมีแบนด์วิดธ์ที่สูงกว่าและครอบคลุมพื้นที่ใช้งานมากกว่า ไม่มีปัญหาความแออัดของสัญญาณเมื่อใช้งานในบริเวณที่มีฝูงชนหรือผู้ใช้อยู่จำนวนมากเช่น งานแฟร์ต่าง ๆ, คอนเสิร์ตฮอลล์, สนามกีฬา, สนามบิน ฯลฯ
ในทางทฤษฎี 5G มีความเร็วในการดาวน์โหลดอยู่ระหว่าง 1-10Gbps และมี latency ต่ำเพียง 1ms เท่านั้น
ทว่าในโลกความเป็นจริงแล้วคาดว่าความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดจะอยู่แถว ๆ 50Mbps และมี latency อยู่ที่ประมาณ 10ms ซึ่งก็ยังเหนือกว่าเทคโนโลยี 4G ที่มีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดอยู่ที่ประมาณ 15Mbps และมีค่า latency มากถึง 50ms
ซึ่งค่าประสิทธิภาพดังกล่าวก็ยังขึ้นอยู่กับรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อย่างเช่น การครอบคลุมของสัญญาณ, จำนวนผู้ใช้งาน รวมถึงอุปกรณ์ที่ผู้ใช้เลือกใช้งาน
อย่างไรก็ดีด้วยแบนด์วิดธ์และความเร็วที่สูงกว่าเดิมมากทำให้สัญญาณ 5G จำเป็นต้องอาศัยคลื่นความถี่สูงระดับ mmWave (millimeter wave) ทำให้สัญญาณ 5G ต้องใช้เซลล์ไซด์ย่อย ๆ จำนวนมากวางไว้ใกล้กันมากกว่าสัญญาณ 4G LTE
โดยเสาสถานีฐานขนาดเล็กสำหรับสัญญาณ 5G เหล่านี้อาจวางอยู่ด้านบนของเสาไฟถนน หรือด้านข้างของอาคารทุกสองสามร้อยฟุตในพื้นที่เขตเมือง ซึ่งการลงทุนสร้างเครือข่ายเช่นนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย ต้นทุนสูงและอาจต้องใช้เวลามาก
เทคโนโลยี 5G กับการสตรีมมิง
ด้วยคุณสมบัติของเทคโนโลยี 5G ไม่ว่าเป็นเรื่องของความเร็วในการรับ-ส่งสัญญาณ พื้นที่การครอบคลุมของสัญญาณ หรือว่าเรื่องของจำนวนผู้ใช้งานในเวลาเดียวกัน นอกจากจะส่งผลดีต่อเทคโนโลยีในการสื่อสารแล้ว ยังเอื้อประโยชน์กับเทคโนโลยีสตรีมมิงไฟล์มัลติมีเดียสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณวิดีโอหรือสัญญาณเสียงที่มีรายละเอียดสูง
ในเบื้องต้นอย่างน้อยก็ทำให้เราไม่ต้องทนฟังวิทยุออนไลน์บิตเรตต่ำ ๆ ที่เสียงอู้อี้ไม่เป็นธรรมชาติ หรือต้องทนฟังสตรีมมิงจากไฟล์บีบอัดข้อมูลบิตเรตต่ำ ๆ อีกต่อไป
การเชื่อมต่อที่มีความเร็วมากขึ้น มี latency ต่ำจะทำให้เสียงที่ถ่ายทอดออกมาจากซิสเตมไม่เพียงแค่ราบรื่นไร้การสะดุดติดขัด แต่ยังสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของภาพและเสียงได้อย่างสมจริง เป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการสตรีมไฟล์เสียง hi-res audio หรือว่าวิดีโอที่มีรายละเอียดสูงระดับ 4K หรือมากกว่านั้น
นอกจากนั้นด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี 5G ยังทำให้การเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT, ดาวน์โหลดหน้าเว็บไซต์ หรือการเข้าใช้งาน social media สมัยใหม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันนอกจากสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G แล้ว ในอุตสาหกรรมโฮมเฮ็นเตอร์เทนยังมีผู้ที่เริ่มนำเสนอสมาร์ททีวีและเครื่องเสียงไฮไฟที่มาพร้อมกับโมเดม 5G ในตัว เท่ากับว่าสินค้าในกลุ่ม Audio & Visual ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่ได้นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคตอันใกล้นี้
5G กับประสบการณ์ความบันเทิงในอนาคต
นอกจากเทคโนโลยี 5G จะได้รับการคาดหมายว่าจะเข้ามาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบโฮมเอนเตอร์เทนสมัยใหม่ในยุคนี้และในอนาคตแล้ว ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดของ 5G ยังจะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับการเสพความบันเทิงทางโสตประสาทด้วยอีกทางหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น บริษัท BASE Hologram ที่ใช้เครือข่าย 5G ถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตที่มีความสมจริงมากขึ้นทั้งภาพและเสียง โดยอาศัยเทคนิคโฮโลแกรมถ่ายทอดภาพ 3 มิติการแสดงสดของ Amy Winehouse, Roy Orbison และ Maria Callas
หรืออย่างเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่อีริคสันได้จับมือทรูตอกย้ำประสิทธิภาพและความเป็นผู้นำระบบ 5G ผ่านการแสดงดนตรีโชว์เคสครั้งแรกของประเทศไทย
ที่มา: Digital Trends, Hi-Fi News & Record Review, Digital Music News