fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

ส่องดีไซน์เครื่องเสียงรุ่นใหม่ Classé Delta III Series ไฮเอนด์จากแคนาดาที่ Made in Japan

ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดตัว Classé Delta III Series เครื่องเสียงแบรนด์เนมไฮเอนด์จากประเทศแคนาดา ที่เพิ่งเปลี่ยนตัวแทนในประเทศไทยหมาด ๆ เขามาเปิดตัวครั้งแรกในงานแสดงเครื่องเสียง TIAV 2019 ที่ไบเทคเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้

หลังจากที่เคยได้เห็นแต่ในรูป งานนี้ผมได้พบกับตัวจริงเสียงจริงของเครื่อง 2 ใน 3 รุ่นที่ออกมาใหม่คือ DAC/Preamplifier รุ่น Delta Pre และเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อครุ่น Delta Mono ส่วนเพาเวอร์สเตริโอรุ่น Delta Stereo นั้นยังไม่ได้มาโชว์ในวันเปิดตัวด้วย

3 ทหารเสือที่มาโชว์ในงานเปิดตัว

ความเป็นมาคร่าว ๆ ของเครื่องเสียงรุ่นใหม่จาก Classé Audio รุ่นนี้ เปิดตัวครั้งแรกใน High End Munich 2019 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตัวเครื่องถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา และผลิตที่โรงงาน Shirakawa Audio Work ในประเทศญี่ปุ่น (ได้ข่าวว่าโรงงานนี้ไฮเทคมากสมกับเป็นโรงงานในประเทศญี่ปุ่นครับ) อะไหล่บางส่วนจึงเลือกใช้แบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นเกรดพรีเมียมอย่างยี่ห้อ Furutech

ขั้วต่อเกรดไฮเอนด์จาก Furutech ผิวสัมผัสทางเดินไฟฟ้าเป็นโรเดียมเคลือบบนทองแดงโดยตรง
ขั้วต่อสายลำโพง Torque Guard Binding Posts ของ Furutech ขันไปถึงจุดหนึ่งจะมันกระชับแน่นตึงพอดี ขับต่อไปมันจะฟรีทิ้ง ทำให้ตัวไบดิ้งโพสต์ไม่บีบแน่นจนเกินไป

ในงานนี้ยังมีคุณ Frederic Filleul เจ้าหน้าที่ฝ่าย Product Marketer APAC & IME จากทาง Sound United (เจ้าของแบรนด์ Classé ในปัจจุบัน) ได้เดินทางมาร่วมให้ข้อมูลและสาธิตผลิตภันฑ์ด้วย

คุณ Frederic Filleul ได้บอกเล่าประวัติความเป็นมาคร่าว ๆ ของ Classe’ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นถึงพัฒนาการและหลักปรัชญาในการออกแบบเครื่องเสียงแบรนด์นี้ว่านอกจากจะยึดถือเรื่องของคุณภาพเสียงเป็นสำคัญแล้ว ยังได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย

ตั้งแต่ยุคแรกที่ออกแบบเครื่องเสียงด้วยวงจรแบบ ‘คลาสเอ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในที่มาของชื่อยี่ห้อ ‘คลาสเซ่’ มาจนปัจจุบันที่ได้ใส่แสดงจอผลแบบทัชสกรีนสมัยใหม่เอาไว้บนหน้าปัดเครื่องเพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับตั้งค่าต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก หรือการเชื่อมต่อใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน เป็นต้น

Delta Pre กับหน้าจอแบบทัชสกรีน
เครื่องเคราด้านหลังจัดเต็มเลยทีเดียว

ในงานนี้นอกจากความขึงขังของตัว Delta Mono แล้ว ผมว่า Delta Pre ก็เป็นไฮไลต์ที่น่าสนใจเช่นกันครับ เห็นหน้าตาเรียบ ๆ แบบนี้แต่ข้างในมีเทคโนโลยีอัดแน่นมาเพียบ ปรีแอมป์สเตริโอตัวนี้มาพร้อมกับ DAC ในตัวที่รองรับ hi-res audio และโฟโนสเตจที่รองรับทั้งหัวเข็ม MM และ MC

แถมปรีแอมป์ตัวนี้ยังมีระบบ bass management และ Parametric EQ ในตัว ควบคุมสั่งงานได้จากหน้าจอทัชสกรีนบนแผงหน้าปัด หรือผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน ทันสมัยจริง ๆ

ส่วนเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อคที่งานนี้ใช้ขับลำโพงตั้งพื้นของ Von Schweikert นั้น มาพร้อมกำลังขับ 300 วัตต์ ที่โหลด 8 โอห์ม โดย 35 วัตต์แรกทำงานในโหมด Class A แท้ ๆ เรียกว่าถ้าเปิดฟังเบา ก็เหมือนฟังจากแอมป์คลาสเอดี ๆ นี่เอง และกำลังขับของเขาสามารถเบิ้ลได้เท่าตัวเป็น 600 วัตต์ที่โหลด 4 โอห์ม แสดงถึงกำลังสำรองที่ไม่ธรรมดาเลยครับ

เพาเวอร์แอมป์แบบลิเนียร์ (ไม่ใช่ Class D หรือ switched-mode amplifer) ที่มาพร้อมสเปคฯ โหด ๆ อย่างนี้ แถมยังออกแบบให้ไม่มีครีบระบายความร้อนโผล่ออกมานอกเครื่องด้วย แน่นอนว่าต้องออกแบบระบบระบายความร้อนมาอย่างดี

เพาเวอร์แอมป์รุ่นนี้เขาใช้เทคนิคระบายความร้อนด้วยลม อาศัยพัดลมขนาดใหญ่ดูดลมจากครีบรับอากาศด้านหน้าของเครื่อง ให้ลมวิ่งผ่านอุโมงค์ระบายความร้อน หรือ ICTunnel ที่เป็นครีบระบายความร้อนแบบซ่อนเอาไว้ในตัวเครื่อง ให้มวลลมเป็นตัวถ่ายเทความร้อนแล้ววิ่งผ่านระบายอากาศออกไปทางด้านหลังเครื่อง

ดูดลมเย็นจากด้านหน้า แล้วปล่อยลมร้อนออกทางด้านหลัง ขณะที่นั่งถ่ายรูปอยู่นี่ ผมได้รับลมร้อนจากหลังเครื่องลอยมาปะทะแบบเต็ม ๆ เลยครับ

เพาเวอร์แอมป์ที่ระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพในทางเทคนิคแล้ว นอกจากจะทำให้การออกแบบวงจรมีความยืดหยุ่นมากขึ้นแล้ว ยังช่วยยืดอายุของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความทนทานมากขึ้น และที่ได้ประโยชน์แฝงมาก็คือเวลาใช้งานเสียงที่ได้จะนิ่งตลอดเวลาที่ใช้งาน ซึ่งในงานนี้ผมก็เป็นที่ประจักษ์กับโสตประสาทของผมเองในระดับหนึ่งแล้ว

เรียกว่ากำลังและประสิทธิภาพของเครื่องจะแรงดีไม่มีตกเพราะว่าระบายความร้อนไม่ทัน ถึงแม้ว่าเทคนิคนี้จะไม่ใช่ไอเดียที่แปลกใหม่อะไรมากมาย (มีใช้งานในเครื่องเสียงระดับโปรฯ มาก่อนแล้ว) แต่ก็ถือว่าน่าสนใจสำหรับเครื่องเสียงบ้านที่ดูสวยภายนอก แต่ภายในนั้นออกแบบได้โหดดีเหลือเกิน ผมชอบครับ !

คุณ Frederic Filleul

สำหรับผู้อ่านที่อยากรู้เรื่องราคาจำหน่าย ผมเองนั้นทราบแต่ราคาในต่างประเทศคือ 10,000 ปอนด์, 11,000 ปอนด์ และ 12,500 ปอนด์ สำหรับ Delta Pre, Delta Mono และ Delta Stereo ตามลำดับ ราคาเป็นเงินไทย รายละเอียดเพิ่มเติมหรือส่วนลดพิเศษนั้นคงต้องรบกวนสอบถามไปที่บริษัท เอ็ม ไอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โทร. 0-2254-3316-9 โดยตรงเลยจะชัวร์กว่าครับ

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ