fbpx
NEWS

TCL อวดโฉมทีวี 8K และ LCD TV ที่ใช้ miniLED

ในงาน IFA 2018 ที่ผ่านมา TCL ผู้ผลิตทีวีระดับแนวหน้าจากประเทศจีนได้นำ LCD TV ความละเอียดสูงระดับ 8K มาจัดแสดง ซึ่งคาดว่าจะวางจำหน่ายในต่างประเทศ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2019

นอกจากนี้ TCL ยังได้นำทีวี LCD ซึ่งใช้ miniLED จำนวนนับพันมาแบ่งกลุ่มใช้เป็นแบ็คไลท์ส่องสว่างหลังจอ เช่นเดียวกับที่มีใช้ใน “QD-on-glass” มาจัดแสดงอีกด้วย

บริษัทจากจีนประกาศเปิดตัวทีวี 8K เครื่องแรกในงาน IFA ที่กรุงเบอร์ลิน พร้อม ๆ กับซัมซุง ชาร์ป และอีกหลายบริษัท จากนี้ไป TCL จะเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ร่วมกันผลักดัน LCD TV 8K ให้สามารถต่อกรกับคู่แข่งอย่าง OLED TV ที่ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดในเซ็กเมนต์พรีเมียมอยู่

TCL เปิดตัวรุ่นเด่นขนาด 75 นิ้ว ที่มีกลุ่มไฟแบล็คไลท์ถึง 832 กลุ่ม และให้ความสว่างถึง 1,000 nits นอกจากความละเอียดระดับ 8K แล้ว ทีวีรุ่นนี้รองรับ HDR ซึ่งรวมถึง Dolby Vision ก็สามารถรองรับการทำงานได้เช่นกัน อีกทั้งยังตอบสนองต่อสีสันได้กว้างขึ้น (157% ของมาตรฐาน BT.709)

“ด้วยการออกแบบที่เรียบง่าย และตัวทีวีหนาเพียง 20 มม. จึงทำให้ทีวีรุ่นนี้บางที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมทีวีขนาด 75 นิ้ว ที่ใช้แบ็คไลท์ติดตั้งหลังจอโดยตรง เสริมด้วยลำโพงซาวด์บาร์ที่ได้รับการปรับแต่งจาก Onkyo

เช่นเดียวกับซัมซุง ทาง TCL จะเริ่มส่ง QLED TV ออกสู่ตลาด ด้วย “QLED TV 8K” โดยใช้แผง LCD ที่ติดด้วยฟิล์มควอนตัมดอทมาผลิตเป็นจอภาพ ซึ่งทีวีอนุกรมดังกล่าวมีขนาด 65 และ 55 นิ้ว

ทีวีอนุกรมดังกล่าวมีชื่อรุ่นว่า X8 แต่มีแนวโน้มที่จะเรียกชื่ออื่นเมื่อเปิดตัวในยุโรป คาดว่าจะเปิดตัวในต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2019

ในงาน IFA ทาง TCL ยังได้นำต้นแบบจอภาพอีก 2-3 รุ่นมาสาธิต หนึ่งในนั้นก็คือ ทีวี LCD ที่ใช้ miniLED (ไม่ใช่ 8K) แทนที่จะใช้ LED ทั่วไปทำแบ็คไลท์ แต่จะหันมาใช้อาร์เรย์ของ miniLED ติดตั้งทางด้านหลังแผง LCD แทน การทำเช่นนี้ช่วยให้ได้ความสว่างสูงที่สุด สามารถควบคุมการส่องสว่างได้ดีขึ้น และทำให้ทีวีบางลงได้อีกด้วย

การแบ่งกลุ่มแบ็คไลท์นับพันกลุ่ม ให้ความสว่างสูงสุดถึง 3,000 nits ครอบคลุมมาตรฐานสีสัน DCI-P3 ถึง 100% ภาพโดยรวมดูสดใส

อย่างไรก็ดีทาง TCL ยังคงมีความกังวลเรื่องราคาเนื่องจากมีความสามารถในการผลิตไม่มาก การผลิตจะใช้เวลาอย่างน้อย 12-18 เดือน หากมองตามจริงแล้ว TCL อาจตัดสินใจไม่ปล่อยสินค้าออกมาก็เป็นได้

TCL ยังเน้นหนักไปที่ต้นแบบ ‘QD-on-glass’ โดยใช้โครงสร้างหลักอย่าง ควอนตัมดอท ซึ่งจะถูกย้ายจากชั้นฟิล์มมายังชั้นกระจกทางด้านหลังแผง LCD เทคนิคดังกล่าว TCL ระบุไว้ว่า นอกจากจะเป็นการเพิ่มช่วงสีให้กว้างขึ้นแล้ว ยังทำให้ทีวีบางลงอีกด้วย สำหรับรูปลักษณ์การออกแบบตัวเครื่องดูเหมือนจะใกล้เคียงกับ OLED E-series ของทาง LG

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ