ผู้มาก่อนกาล… สตีฟ จอบส์ คาดการณ์ความถดถอยของตลาดกล้องไว้ล่วงหน้า 6 ปี ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง
แม้ว่าสตีฟ จอบส์จะยังคงเป็นบุคคลที่มีความซับซ้อนสำหรับหลาย ๆ คนที่รู้จักเขาดีที่สุด แต่แทบทุกคนต่างก็เห็นด้วยว่านักประดิษฐ์และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคนนี้เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในระดับตำนาน
สตีฟ จอบส์ เป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมากมาย รวมถึงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องเล่นเพลงดิจิทัล และสมาร์ทโฟน นอกจากนั้นผลงานของเขายังส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการถ่ายภาพ
ในหนังสือชีวประวัติของสตีฟ จอบส์ ความยาว 656 หน้า ซึ่งเขียนขึ้นตามคำขอของเขาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2011 โดยวอลเตอร์ ไอแซกสัน นักประวัติศาสตร์และนักข่าวชาวอเมริกัน ในบทที่เกี่ยวกับ iPhone ได้เผยให้เห็นถึงสิ่งที่ทำให้จ็อบส์ประสบความสำเร็จ นั่นคือ เขาสามารถทำนายพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างแม่นยำจนน่าประหลาดใจ
ในปี 2005 สองปีก่อนที่ Apple จะเปิดตัว iPhone รุ่นแรก สตีฟ จอบส์ กังวลว่าโทรศัพท์จะส่งผลกระทบต่อ iPod ซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมของบริษัทอย่างไร
Art Levinson ประธานบริษัท Apple Inc. กล่าวกับวอลเตอร์ ไอแซกสัน “[จอบส์] ยังคงหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่จะทำให้เราพังทลายลงได้ อุปกรณ์ที่สามารถกินเวลาของพวกเราไปได้คือโทรศัพท์มือถือ”
ตัวอย่างที่น่าสนใจที่สตีฟ จอบส์ ใช้เพื่อพิสูจน์จุดยืนของเขา คือ ตลาดกล้องดิจิทัล ซึ่งเขากล่าวว่า “มันกำลังถูกทำลายแล้วในตอนนี้ เมื่อโทรศัพท์มีกล้องติดตั้งมาให้ด้วย” ซึ่งสตีฟ จอบส์ มีความกังวลว่าสิ่งเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นกับ iPod หากโทรศัพท์สามารถใช้เล่นเพลงได้ด้วย
เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2005 ในยุคที่ตลาดกล้องยังไม่ประสบกับความถดถอย ในความเป็นจริง ตามที่แหล่งข่าวอย่าง PetaPixel รายงานเกี่ยวกับแผนภูมิอุตสาหกรรมกล้อง 70 ปี ในสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าตลาดกล้องดิจิทัลกำลังเฟื่องฟูในเวลานั้น พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วสู่จุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ราวปี 2010 ก่อนจะร่วงลงอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีต่อมา
บทความในปี 2021 ระบุว่า “การตกต่ำของอุตสาหกรรมกล้อง” เริ่มต้นระหว่างปี 2010 ถึง 2012 และเห็นได้ชัดในปี 2013 ขณะที่ Iddo Genuth บรรณาธิการของ Lensvid อ้างถึงการยอมรับสมาร์ทโฟนที่มีความสามารถที่ดีมากขึ้นเป็นนัยสำคัญ เมื่อกล้องในสมาร์ทโฟน “ดีพอ” ผู้คนก็ซื้อกล้องน้อยลง โดยเฉพาะกล้องพอยต์แอนด์ชู้ตระดับเริ่มต้น (กล้องที่ใช้งานง่าย ๆ ยกแล้วถ่ายได้เลย)
ในปี 2005 จ็อบส์มองเห็นอะไรที่จะเป็นจริงในที่สุดหลายปีต่อมา ? ในช่วงเวลาที่ iPhone เปิดตัวในปี 2007 สองสามปีหลังจากที่จ็อบส์ประกาศอย่างกล้าหาญเกี่ยวกับชะตากรรมของตลาดกล้องดิจิทัล กล้องสมาร์ทโฟนนั้นยังคงคุณภาพแย่มาก ในทางเทคนิคแล้วพวกมันสามารถถ่ายรูปได้ก็จริง แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าการมีกล้องดิจิทัลจะได้คุณภาพภาพที่ดีกว่าอยู่ดี
iPhone รุ่นแรกเปิดตัวด้วยกล้องด้านหลัง 2 ล้านพิกเซลตัวเดียว และไม่ได้ดีขึ้นมากนักในเวลาอันสั้น แต่วอลเตอร์ ไอแซกสัน ก็สามารถรับรู้ได้ถึงลักษณะเฉพาะของสตีฟ จอบส์ อย่างชัดเจนเช่นกัน
เขาอัจริยะหรือเปล่า ? ไม่หรอก เขาไม่ถึงกับอัจริยะเป็นพิเศษ ในทางกลับกัน เขากลับเป็นอัจฉริยะในด้านจินตนาการ จินตนาการของเขาเป็นไปโดยสัญชาตญาณ คาดไม่ถึง และบางครั้งก็เหมือนเป็นมายากล
เขาเป็นตัวอย่างของสิ่งที่นักคณิตศาสตร์ชื่อ Mark Kac เรียกว่า อัจฉริยะนักมายากล ผู้ที่มีความคิดล้ำลึกที่ปรากฏขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวและต้องใช้สัญชาตญาณมากกว่าพลังการประมวลผลทางจิตใจเพียงอย่างเดียว เขาสามารถดูดซับข้อมูล จมูกไว และรับรู้สิ่งที่อยู่ข้างหน้าได้ราวกับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
เขาทราบดีว่าวันหนึ่งเทคโนโลยีกล้องบนสมาร์ทโฟนจะไปถึงจุดที่ “ดีพอ” เช่นเดียวกับที่จ็อบส์กังวลว่าเมื่อโทรศัพท์มีเครื่องเล่นเพลงที่ “ดีพอ” แล้ว iPod ก็จะตายไป เขาก็ทำนายไว้ว่าสมาร์ทโฟนจะฆ่ากล้องดิจิทัลที่ถ่ายรูปได้อย่างเดียว
โดยนิสัยส่วนตัวสตีป จอบส์ ไม่ค่อยปล่อยให้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโชคชะตาหรือชะตากรรม เขาจึงใช้ความกลัวเปลี่ยนมาเป็นพลังขับเคลื่อน สุดท้ายแล้ว โทรศัพท์ไอโฟนของเขาเองก็ทำลาย iPod ได้ แม้ว่าโทรศัพท์จะไม่ได้ทำลายตลาดกล้องไปจนหมด แต่ iPhone ก็มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติและขนาดของตลาดกล้องไปอย่างสิ้นเชิง
ตลาดกล้องดิจิทัลระดับเริ่มต้นหดตัวลงจนแทบหมดสิ้น ขณะที่กล้องแบบยกแล้วถ่ายได้เลยก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับผู้ผลิตกล้องอีกต่อไป แม้ว่ากล้องเหล่านี้จะได้รับการฟื้นคืนชีพด้วยให้ผู้คนจำนวนหนึ่งหายคิดถึงก็ตาม
ไม่ว่าคำทำนายตลาดกล้องของจอบส์จะเป็นคำทำนายที่เป็นจริงหรือไม่ เช่นเดียวกับความเชื่อของเขาเกี่ยวกับความหายนะของ iPod ก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะพิจารณาว่าเขาสามารถทำนายเทคโนโลยีและวิธีการใช้งานต่าง ๆ ของผู้คนได้แม่นยำแค่ไหน บางทีหากผู้ผลิตกล้องอยู่ในกรอบความคิดเดียวกันกับเขา อุตสาหกรรมภาพถ่ายในปัจจุบันอาจดูแตกต่างไปจากนี้มาก
ที่มา: petapixel