fbpx
KNOWLEDGE

“ลำโพงซาวด์บาร์” ตัวช่วยเรื่องเสียงสำหรับทีวียุคนี้

การที่คุณซื้อโทรทัศน์จอขนาดยักษ์มาไว้ในบ้าน และติดตั้งอย่างเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือเสียงนั้นยังไม่ประทับใจคุณสักเท่าไหร่ วันนี้คุณมาถูกทางแล้วหล่ะ เพราะเราจะพาคุณมาพบกับวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว

โทรทัศน์ส่วนใหญ่ที่มีลำโพงบิลต์อินมาในตัวมักจะมีเสียงที่ไม่ค่อยจะพึงประสงค์เสียเท่าไหร่ แต่แน่นอนว่าเสียงจากทีวีสามารถนำมาใช้ร่วมกับระบบโฮมเธียเตอร์ได้

ซึ่งบางครั้งเสียงที่ออกมาอาจจะดูอึกทึกครึกโครมจนเกินไปสำหรับการรับชมรายการโทรทัศน์ทั่วไป ฉะนั้นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดตอนนี้ก็จะเป็นซาวด์บาร์แล้วหล่ะ

ซาวด์บาร์คืออะไร?
ซาวด์บาร์ (หรือบางครั้งเรียกกันว่า เซอร์ราวด์บาร์) คือ อุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นกล่องหรือตู้ชิ้นเดียว ซึ่งให้เสียงที่กว้างกระจายออกไป โดยปกติแล้วซาวด์บาร์ที่ใช้กันในบ้านจะมีทั้งแชนแนลซ้ายและขวา หรือบางตัวก็มีเซนเตอร์แชลแนลเพิ่มเข้ามา

ซาวด์บาร์ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับโทรทัศน์ทั้งแบบ LCD, Plasma, และ OLED TVs ซึ่งจะถูกติดตั้งบนชั้นหรือโต๊ะโดยอยู่ด้านล่างของโทรทัศน์ และหลายๆรุ่นก็ถูกออกแบบมาให้สามารถติดตั้งบนผนังได้ รวมถึงสามารถแขวนแบบแยกชิ้นได้อีกด้วย

ซาวด์บาร์นั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบ Self-Powered และ แบบ Passive ซึ่งทั้งสองแบบจะมีส่วนประกอบต่างกันเล็กน้อย แต่เสียงที่ออกมานั้นค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกัน

Self-Powered หรือ Self-Amplified Sound Bars
ซาวด์บาร์แบบ Self-powered นั้นถูกดีไซน์สำหรับใช้ในระบบ independent audio ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่าง audio outputs ของโทรทัศน์กับซาวด์บาร์นั้นสะดวกสบายยิ่งขึ้น อีกทั้งซาวด์บาร์ชนิดนี้จะมีการขยายและรีโปรดิวซ์เสียงโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ตัวอื่นๆอย่างเช่น external amplifier หรือ home theater receiver

นอกจากนี้ซาวด์บาร์แบบใช้เพาเวอร์ในตัวนั้นจะมีข้อจำกัดในการเชื่อมต่ออินพุตทั้งแบบอะนาล็อคและดิจิทอลอยู่ที่ 1 หรือ 2 อุปกรณ์ เช่น เครื่องเล่น DVD/Blu-ray หรือจะเป็นกล่องรับสัญญาณเคเบิ้ลทีวี/ดาวเทียม เป็นต้น โดยซาวด์บาร์บางตัวสามารถเชื่อมต่อด้วยบลูทูธกับอุปกรณ์ตัวอื่นๆเพื่อส่งผ่านข้อมูลเสียงได้ ซึ่งซาวด์บาร์ชนิดนี้มีหลากหลายรุ่น อาทิ ZVOX SB400 ,SB500 และ Sonos Playbar

Non-Powered (Passive) Sound Bars
ซาวด์บาร์ชนิดนี้มีความจำเป็นที่จะต้องต่อเข้ากับแอมป์หรือ home theater receiver เพื่อที่จะผลิตเสียงออกมา โดย Passive ซาวด์บาร์มีระบบลำโพงทั้งแบบ 2-in-1 และ 3-in-1 (LCR) ซึ่งประกอบไปด้วยแชนแนลซ้าย กลางและขวารวมไว้ในตู้เดียวกัน

อีกทั้งซาวด์บาร์แบบ passive นี้ยังช่วยลด “เสียงอึกทึกครึกโครม” ได้โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของลำโพงทั้ง 3 ตัวที่อยู่ในตู้เดียว ทำให้สามารถนำไปวางไว้ด้านบนหรือด้านล่างของโทรทัศน์ได้ ซาวด์บาร์ชนิดนี้จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าจับจอง เพราะเป็นของดีที่มาพร้อมกับคุณภาพคับแก้วบวกกับราคาที่ย่อมเยาและประหยัดพื้นที่ใช้สอยอีกด้วย โดยตัวอย่าง Passive ซาวด์บาร์ ได้แก่ Atlantic Technology FS3 และ Paradigm Millenia Series

 

Sound Bars และ Surround Sound
ตัวซาวด์บาร์บางชนิดอาจให้เสียงแบบเซอร์ราวด์ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบอุปกรณ์ด้วย ซึ่งซาวด์บาร์แบบ self-powered จะให้เสียงเซอร์ราวด์ผ่านการประมวลผลแบบหนึ่งโหมดหรือหลายโหมด โดยมักจะถูกเรียกว่า “Virtual Surround Sound (เสียงเซอร์ราวด์เสมือนจริง)”

ซึ่งยังทำได้ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับระบบโฮมเธียเตอร์แบบมัลติเพลย์เยอร์ แต่ก็ถือว่าไม่ได้เลวร้าย ข้อดีคือ ประหยัดงบและพื้นที่ใช้สอยลงไปได้มาก โดยเฉพาะใครที่มีห้องขนาดเล็กหรือต้องการจะเพิ่มระดับคุณภาพเสียงให้แก่โทรทัศน์แต่ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดระบบโฮมเธียเตอร์แบบเต็มรูปแบบ

ซึ่งซาวด์บาร์แต่ละตัวก็จะให้เสียงที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการจัดวางตำแหน่งของลำโพงที่อยู่ด้านในว่าจะให้เสียงเซอร์ราวด์ได้กว้างหรือแคบขนาดไหน อีกทั้งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของลำโพง(สำหรับแบบ powered และ passive)

Cambridgeaudio TVB2 ซาวน์ดบาร์ที่มีแอ็กทีฟซับวูฟเฟอร์ไร้สายมาให้พร้อม
ดิจิตอลซาวน์ดโปรเจ็คเตอร์ของยามาฮ่าใช้ลำโพงกว่า 40 ตัวในการสร้างเสียงเซอร์ราวน์ด

Digital Sound Projectors
อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีความคล้ายคลึงกับซาวด์บาร์ก็คือ ดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์ ที่ถูกผลิตมาโดย บริษัทยามาฮ่า ซึ่งจะมีตัวอักษร “YSP” เป็นตัวนำหน้าในแต่ละรุ่น

ดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่อาศัยเทคโนโลยีสำหรับลำโพงขนาดเล็กที่สามารถระบุตำแหน่งของแต่ละแชแนลได้ หรือกล่าวอย่างง่ายๆคือ เหมือนกับการรวมลำโพงในระบบโฮมเธียเตอร์หลายๆตัวเข้ามาไว้ในอุปกรณ์ชิ้นเดียว ซึ่งจะให้เสียงที่มีมิติไม่แพ้กัน

ดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างภาคขยายเสียง,ภาคถอดรหัสเสียงและการประมวลผล โดยในอุปกรณ์ชนิดนี้จะมีการบิลต์อิน วิทยุ AM/FM,การเชื่อมต่อกับ iPod, อินเทอร์เน็ตสตรีมมิ่งและมีอินพุตที่เป็นส่วนเสริมในด้านวิดีโอและออดิโอ ซึ่งในรุ่นที่มีคุณภาพสูงก็จะมีฟังก์ชั่นสำหรับการอัพสเกลวิดีโอด้วย

ซึ่งดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์หนึ่งตัวก็จะมีการรวมภาคถอดรหัส,ภาคขยายเสียง และลำโพงรวมไว้อย่างครบครันแล้ว โดยตัวอย่างของอุปกรณ์ชนิดนี้ได้แก่ Yamaha YSP-1600 With 5.1 Channels และ Yamaha YSP-5600 With Dolby Atmos

ระบบเสียงที่ใช้กับโทรทัศน์ชนิดอื่นๆ
นอกเหนือจากซาวด์บาร์หรือดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์ที่จะมาใช้สำหรับวางในชั้นบน/ล่างของโทรทัศน์หรือยึดติดกับตัวผนังนั้น ยังมีอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ถูกพัฒนามาเรื่อยๆโดยอาศัยการทำงานร่วมกับซาวด์บาร์ ซึ่งมีชื่อว่า “Under TV” แต่อาจจะมีหลากหลายชื่อเรียก โดยขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิตเอง ไม่ว่าจะเป็น “sound base”, “audio console”, “sound platform”, “pedestal”, “sound plate”, และ “TV speaker base”

ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะทำให้เกิดความสะดวกสบายในใช้งานเพราะสามารถทำงานได้ถึง 2 หน้าที่ นั่นคือ เป็นทั้งระบบเสียงและแพลตฟอร์มสำหรับโทรทัศน์ ตัวอย่างสินค้าเช่น Bose Solo 15 Series II และ Pyle POSBV620BT TV Speaker Base เป็นต้น

Bose Solo 15 Series II ซาวน์ดบาร์ที่ใช้เป็นฐานวางทีวีได้สบายๆ

Sound Bars และ Home Theater Receivers
อุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นซาวด์บาร์,ดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์ หรือระบบเสียงแบบอันเดอร์ทีวี ที่มีภาคขายในตัวเองนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เดี่ยวๆไม่ควรนำไปใช้ร่วมกับ home theater receiver ส่วนซาวด์บาร์แบบ passive นั้นแน่นอนว่าจะต้องมีการทำงานร่วมกับตัวขยายเสียงหรือ AV receiver

ดังนั้น เรามาดูที่ซาวด์บาร์กันดีกว่า ขั้นแรกจะต้องเลือกว่า คุณต้องการที่จะเพิ่มคุณภาพเสียงให้กับการรับชมโทรทัศน์ โดยไม่ต้องอาศัยการติดตั้งแบบ home theater receiver ที่มีลำโพงหลายๆตัวหรือว่าคุณต้องการที่จะลดจำนวนลำโพงที่ใช้ในอยู่ในระบบ home theater receiver กันแน่

เพราะถ้าคุณเลือกแบบแรก ก็จะเหมาะกับซาวด์บาร์แบบ self-amplified หรือ ดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์ แต่ถ้าคุณต้องการแบบที่สอง ก็จะต้องเลือกซาวด์บาร์แบบ passive ที่มีลำโพง 3-in-1 หรือ LCR

ถึงกระนั้นแล้วซัพวูฟเฟอร์ก็ยังจำเป็นอยู่ดี
ทำไมถึงกล่าวแบบนี้? ก็เพราะทั้งซาวด์บาร์และดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์นั้นสามารถให้เสียงในย่านกลางและสูงได้ค่อนข้างดี แต่มีข้อเสียที่เสียงในย่านต่ำนั้นออกมาไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้มีความจำเป็นในการเพิ่มซัฟวูฟเฟอร์เข้าไปสำหรับเพิ่มอรรถรสในการรับชมแผ่น DVD หรือ Blu-ray

ซึ่งบางกรณีซัพวูฟเฟอร์อาจจะมาพร้อมกับซาวด์บาร์อยู่แล้ว และซาวด์บาร์บางตัวยังสามารถเชื่อมต่อกับไวเลสซัพวูฟเฟอร์ได้ ซึ่งจะลดปัญหาพื้นที่ในการติดตั้งและสายสำหรับใช้ในการต่อซาวด์บาร์กับภาคขยาย/ถอดรหัสเสียงและซัพวูฟเฟอร์ที่พันกันยุ่งเหยิงออกไป

ไฮบริดซาวด์บาร์/ไฮบริดโฮมเธียเตอร์
การลดช่องว่างระหว่างขอบเขตการกระจายเสียงแบบเซอร์ราวด์ของซาวด์บาร์ และลำโพงในระบบโฮมเธียเตอร์นั้น มีวิธีการที่คล้ายคลึงกันซึ่งไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน โดยเราจะเรียกมันว่า “ไฮบริดซาวด์บาร์/ไฮบริดโฮมเธียเตอร์”

สิ่งที่ทำให้ซาวด์บาร์มีความแตกต่างกันก็คือส่วนประกอบของมัน อย่างเช่น ซัพวูฟเฟอร์ที่แยกตัวออกมาและลำโพงที่ให้เสียงแบบเซอร์ราวด์ ซึ่งชุดอุปกรณ์นี้ประกอบไปด้วย ซาวด์บาร์ที่ให้เสียงตำแหน่ง ซ้าย,กลางและขวา,ซัพวูฟเฟอร์ที่แยกออกมา(ส่วนใหญ่จะเป็นแบบไวร์เลส) และลำโพงขนาดกระทัดรัดที่ให้เสียงเซอร์ราวด์แชนแนลซ้ายและขวา

Sony HT-RT5 5.1 ที่มีลำโพงเซอร์ราวน์ด กับซับวูฟเฟอร์แบบไร้สายมาให้พร้อม
Nakamichi ShockWafe คุยว่าเป็น 7.1 ซาวน์ดบาร์เลยทีเดียว

สำหรับการเชื่อมต่อที่มีอย่างจำกัด ภาคขยายเสียงจำเป็นต้องให้พลังงานแก่ลำโพงเซอร์ราวด์ที่ติดตั้งอยู่ในซัพวูฟเฟอร์ ซึ่งใช้สายลำโพงในการเชื่อมต่อระหว่างลำโพงแต่ละตัว ตัวอย่างของ ระบบ “ไฮบริด” ซาวด์บาร์ ได้แก่ SONY HT-RT5 5.1 Wireless Sound Bar และ Nakamichi ShockWafe

บทสุดท้าย
สรุปแล้วว่า การใช้ซาวด์บาร์หรือดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์แบบเดี่ยวๆในห้องที่มีขนาดใหญ่นั้นนั้น ยังไม่สามารถมาแทนที่โฮมเธียเตอร์ระบบ 5.1หรือ7.1 ได้ แต่จะดีกว่าถ้านำมาใช้เพื่อการรับชมโทรทัศน์แบบไม่ต้องการความอึกทึกครึกโครมมากนักแต่ก็มีประสิทธิภาพมากกว่าการฟังเสียงที่ออกจากโทรทัศน์โดยตรง

ซึ่งซาวด์บาร์และดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์จะให้ผลลัพธ์ได้ดีเมื่อนำมาใช้ในห้องขนาดไม่ใหญ่มาก เช่น ห้องนอน,ออฟฟิศ หรือห้องนั่งเล่นขนาดเล็ก

ถ้าคุณต้องการที่จะซื้อซาวด์บาร์สักตัวหนึ่ง สิ่งที่คุณพึงกระทำ นอกเหนือจากการอ่านรีวิวทั้งหลายคือ การได้ไปลองฟังจริงๆว่าตัวไหนที่เหมาะสมและต้องตาต้องหูคุณ

โดยถ้าคุณมีโทรทัศน์และโฮมเธียเตอร์ที่บ้านอยู่แล้ว ก็ควรจะเลือกซาวด์บาร์แบบ non-powered ในทางกลับกัน ถ้าคุณมีแค่โทรทัศน์เพียงอย่างเดียว คุณก็ควรพิจารณาระหว่างซาวด์บาร์แบบ self-powered หรือ ดิจิทัลซาวด์โปรเจ็กเตอร์นั่นแหละง่ายที่สุด

ธนภณ พูลเจริญ

Content Contributor ที่ปรารถนาจะถ่ายทอดประสบการณ์ในแวดวงโฮมเธียเตอร์ ทีวี และระบบเสียงมัลติรูมในแง่ของความคุ้มค่าของการใช้งาน เปิดมุมมองสู่ความต้องการที่ชัดเจนให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบเทคโนโลยี