fbpx
NEWS

Sony เผยโครงงานระดมทุนเป็นเครื่องปรับอากาศส่วนตัวแบบพกพาได้

หลายคนอาจยังไม่เคยทราบว่า Sony เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีโครงการระดมทุนเพื่อสนับสนุนนักประดิษฐ์หรือผู้ที่มีไอเดียในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ล่าสุดทางบริษัทได้เผยแผนการสนับสนุนโครงงานแรกเป็นเครื่องปรับอากาศส่วนตัวแบบพกพาได้ ใช้ชื่อว่า Reon Pocket

Reon Pocket เป็นเครื่องปรับอากาศส่วนตัวนี้ถูกออกแบบให้สอดเอาไว้ใต้เสื้อที่ออกแบบเป็นพิเศษให้มีช่องเสียบอุปกรณ์ อุปกรณ์ตัวนี้ไม่ได้ใช้วิธีปรับอากาศเหมือนกับเครื่องปรับอากาศที่ใช้คอมเพรสเซอร์ทั่วไป แต่การที่มันถูกติดตั้งเอาไว้ที่บริเวณแผ่นหลังแถว ๆ ต้นคอก็แล้วให้ทำหน้าที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในการสร้างปรากฏการณ์เพลทีเยอร์ หรือ Peltier effect


ที่มาของปรากฏการณ์เพลทีเยอร์ ต้องย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2364 เมื่อ โทมัส โจแฮนน์ ซีเบค (Thomas Johann Seebeck) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ได้ค้นพบว่า เมื่อมีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างรอยต่อของตัวนำสองชนิดจะทำให้เกิดไฟฟ้าไหลในวงจรปิด

ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ถูกเรียกว่า ปรากฏการณ์ซีเบค (seebeck effect) ต่อมาในปี พ.ศ 2377 ยีน เพลทีเยอร์ ชาร์เลส อะธาเนส (Jean Charle Athanase Peltier) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสได้ค้นพบว่า เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านตัวนำสองชนิดที่ต่อกัน จะมีความร้อนเกิดขึ้นที่รอยต่อของตัวนำสองชนิด

ความร้อนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่ทิศทางการไหลของกระแสไฟฟ้า ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ถูกเรียกว่า ปรากฏการณ์เพลทีเยอร์ (peltier effect) [ข้อมูลข้างต้นนี้มาจากเว็บไซต์ของ ส.ส.ท.]


Reon Pocket สามารถลดอุณหภูมิได้ถึง 23 องศาฟาเรนไฮต์ หรือเพิ่มอุณหภูมิได้ถึง 14 องศาฟาเรนไฮต์ โดยปราศจากเสียงรบกวนหรือต้องมีขนาดใหญ่เทอะทะ สำหรับการควบคุมอุณหภูมิสามารถทำได้ผ่านแอปฯ ในสมาร์ทโฟน ทว่าโซนี่เตรียมอัปเดตให้ระบบสามารถปรับอุณหภูมิแบบอัตโนมัติได้ในอนาคต

อุปกรณ์ตัวนี้สามารถใช้งานได้นานถึง 24 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟแต่ละรอบ โดยการชาร์จจะทำการชาร์จผ่านพอร์ต USB Type-C เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น (มีอัปเดตจากผู้ใช้งานจริงว่า แบตเตอรี่สามารถอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ตัวเลข 24 ชั่วโมงนั้นหมายถึงคุณสมบัติในการเชื่อมต่อบลูทูธ)

โครงงานนี้คาดว่าจะส่งมอบตัว Reon Pocket ถึงมือผู้ร่วมลงทุนได้ในเดือนมีนาคมปีหน้า ข่าวร้อยเล็กน้อยคือโครงงานนี้เปิดรับเฉพาะผู้ร่วมลงทุนในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น โดยราคาสุทธิน่าจะอยู่ที่ราว ๆ 12,760 เยน หรือประมาณ 3,600 บาท

เราเชื่อว่าหากแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จ ในอนาคตจะอาจได้ใช้รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทั้งที่มาจากโซนี่เองหรือในแบรนด์อื่น ๆ ซึ่งอุปกรณ์ประเภทนี้คงเหมาะมากกับประเทศเมืองร้อนตลอดทั้งปีอย่างประเทศไทยเราอย่างแน่นอน

กองบรรณาธิการ AV Tech Guide

สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมในกลุ่มสินค้าเครื่องเสียงไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ไอทีมัลติมีเดีย ตลอดจนสินค้านวัตกรรมอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ