fbpx
REVIEW

รีวิว Wharfedale : Diamond 220 Series

โจทย์ที่ผมเคยคุยไว้กับบก. นานแล้วก็คือ อยากหาชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ให้กับคนที่อยากเริ่มต้นเล่นระบบเสียงเซอร์ราวด์ แต่ว่ายังอยากจะเอามาฟังเพลงชิว ๆ สบาย ๆ ได้ด้วย ต้องอยู่ในชุดเดียวกัน บางคนรักพี่เสียดายน้อง ตัดสินไม่ถูกลังเลว่าไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง อันที่จริงถ้ามีงบพอมันก็คงไม่มีปัญหาหรอกครับ จะเอาดี ๆ เท่าไหร่จัดได้หมด

แต่ถ้ากำหนดงบประมาณสัก 30,000 บาทนิด ๆ ล่ะก็ เริ่มเครียดละต้องเบ็ดเสร็จ 5.1 channel ด้วยเป็นราคานี้เป็นราคาที่เราคิดว่าสามารถทำให้เราไปถึงฝันนั้นได้ จริง ๆก็เล็งไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ตอนที่ทดสอบลำโพง Wharfedale ในซีรีย์ 200 มันมีลำโพงอยู่รุ่นหนึ่งในซีรี่ส์นี้ที่ตอนทดสอบแอบซ่อนศักยภาพโดดเด่นเอาไว้จนทำให้อยากกลับเอามันมาทดสอบอีกครั้ง แต่เอาเป็นแบบชุดเล็ก เด็กจิ๋ว แต่คุณภาพต้องเอามาผ่านหูเราก่อน

ปัญหาหนักอกที่คิดล่วงหน้าอยู่นานก็คือแล้วเราจะไปหาซับวูฟเฟอร์ที่สมน้ำสมเนื้อมาจากไหน ยิ่งจำกัดด้วยค่าตัวของทั้งชุดต้องไม่เกิน 30,000 บาท หักค่าตัวของซับวูฟเฟอร์แล้วน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 10,000 บาท ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ สุดท้าย ผมก็พบทางออกมัน

Overview & Design
หลายคนคงรู้จัก Series ลำโพง Diamond ของ Wharfedale อันนี้ถ้ายังไม่รู้ก็ต้องชวนเชิญไปอ่านตัวทดสอบก่อนหน้านี้ ทดสอบ Wharfedale 200 Series สำหรับชุดนี้พระเอกของเราก็คือ Diamond 220 เป็นลำโพง 2 ทางขนาดวูฟเฟอร์ 5 นิ้ว ลำโพงซีรีย์นี้ของ Wharfedale ขึ้นชื่อว่าเป็น Hi-Fi ของแท้ที่ราคาถูก ทั้งวัสดุและงานการประกอบเกินราคา

ใช้ตัววูฟเฟอร์ที่เป็นเคฟล่า ขนาด 5 นิ้ว (ใน center รุ่น Diamond 220C ที่อยู่ในชุดเดียวกันใช้ 2 ตัว) ตัวหน้ากาก ลำโพง จะถูกออกแบบให้เกาะติด กับตัวไดรเวอร์ เป็นหมุดพลาสติกยึดที่สามารถดึงออกได้ง่าย เดิน เส้นขอบของไดรเวอร์แต่ละตัวด้วย สีอลูมิเนียมเด่นตัดกับแผงหน้าลำโพงที่ประกบตัวตู้ไว้ด้วยไม้กรอสซี่สีดำ ทำให้ลำโพงดูมีราคาขึ้นมาได้อีก

จุดเด่นของลำโพงในรุ่นนี้อยู่ที่การออกแบบตัวตู้ มันไม่ใช่ลำโพงตู้ปิดแน่นอน แต่คุณจะไม่เห็นช่องระบายอากาศ เป็นท่อพอร์ตเหมือน Diamond รุ่นก่อนก่อน Wharfedale เรียกการออกแบบนี้ว่าแบบ Slot loaded คือใต้ฐานลำโพงจะถูกยกขึ้นมาประมาณ 1 เซ็นฯ ท่อพอร์ตจะอยู่ด้านล่างของลำโพง ระบายอากาศให้ออกมาตามร่องของฐานรอบตัวตู้

คือจริง ๆ มันก็คือลำโพงตู้เปิดนี่แหละ แปลว่าสัดส่วนของมวลอากาศ หรือเสียง ความถี่ต่ำด้านในไม่ได้ออกมาช่วยเสริมกับเสียงโดยรวมของลำโพงสักเท่าไหร่ แต่ให้ความอิสระของตัววูฟเฟอร์ในการเคลื่อนที่ ไม่หน่วงรั้งไว้เหมือนลำโพงตู้ปิด อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ตรงกลางของลำโพงตู้ปิดกับลำโพงตู้เปิดก็ว่าได้

จริง ๆ วิธีคิดแบบ slot load หรือ slot loading ไม่ใช่อะไรใหม่ย้อนประวัติกลับไปในยุคทศวรรษที่ 60 จะเรียกว่าเป็นยุคแรก ๆ ของการลองผิดลองถูกเพื่อหาวิธีนำเสียงความถี่ต่ำให้ออกมาจากตู้ลำโพงช่วยในการหยุดการสั่นค้างของลำโพง เพิ่มบางช่วงของความถี่ต่ำขึ้นมาอีกเล็กน้อย

ขณะเดียวกันกับที่ทำให้เสียงความถี่ต่ำที่ออกมาต่อเนื่องไหลลื่นมากขึ้นแต่ว่า Whafedale นำวิธีนี้มาดัดแปลงเล็กน้อยแต่กลับได้ผลลัพธ์เกินคาด ทั้ง Diamond 220 และ Diamond 220c ที่เป็นลำโพงเซ็นเตอร์โดยใช้เทคนิคนี้ออกแบบตัวตู้

การที่จะเอา Diamond 220 มาเป็นลำโพงคู่หน้าจำเป็นที่จะต้องใช้ขาตั้งลำโพง เราใช้ขาตั้งลำโพงที่มีความสูง 24 นิ้ว กับโซฟาที่เรานั่งทำให้ทวิตเตอร์ของลำโพงอยู่ในระดับหูของเราพอดี

ส่วนกับลำโพง center ก็วางบนขาตั้งเดิมที่ต่ำลงมากว่าลำโพงหลักนิดนึง ลำโพงทุกแชนเนล ยกเว้นซับวูฟเฟอร์ของ Diamond รุ่นนี้สามารถต่อสายลำโพงแบบไบร์วายได้ทั้งหมด แต่ในการทดสอบของเราใช้ ทั้ง Single Wire และ Bi-Wire กับสายราคาประหยัด และออดิโอไฟล์เกรด ที่พอจะเฟ้นคุณภาพของลำโพงชุดนี้ออกมาได้

Front-Firing or Down-Firing Subwoofer? ขับหน้า หรือยิงลงพื้น
โจทย์ที่ยากที่สุดอย่างที่ผมก่อนนะไว้ตอนแรกก็คือทำยังไงจะหาลำโพง subwoofer มาเข้าชุดกับกับ system นี้ ปัญหาก็คือมันต้องราคาไม่กระโดดไปมาก ทีแรกกะจะไปเข้าชุดกับซับวูฟเฟอร์ของยี่ห้ออื่นด้วยซ้ำ

พอดีกับได้ข่าวจากน้องเบิร์ดไฮ-ไฟทาวเวอร์ว่า Whafedale ก็มีลำโพงซับวูฟเฟอร์ราคาประหยัดอยู่เหมือนกัน เห็นทีจะต้องลองซับฯ ของเขากันดูก่อน มันคือรุ่น WH-S10E เป็นซับวูฟเฟอร์ที่มีขนาดไดรเวอร์ 10 นิ้ว 1 ตัวยิงออกด้านหน้า แถมยังเป็นตู้ปิดอีกต่างหาก

ซึ่งปกติแล้วซับวูฟเฟอร์ของ Whafedale นิยมยิงลงพื้นเป็นตู้เปิด เกือบทั้งหมดทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาแล้ว หรือ Wharfedale กำลังทดลองอะไรอยู่

ตามมาดูด้านกำลังขับกันก่อน กำลังขับของมันอยู่ที่ 215 วัตต์ พีคได้ 450 วัตต์ ซึ่งก็ไม่น้อยกับ ซับวูฟเฟอร์ที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 15 กิโล การตอบสนองความถี่ของมันที่อยู่ในสเปค อยู่ที่ 35Hz ถึง 120Hz มีช่องรับ input ที่เป็น RCA แบบสเตอริโอ

โดยมีช่องนึงที่ใช้ร่วมกับ LFE channel สำหรับใช้งานในโฮมเธียเตอร์ในส่วนของการปรับแต่ง ซับวูฟเฟอร์ตัวนี้ให้การปรับแต่งเหมือนกับซับวูฟเฟอร์ตัวใหญ่ ๆ มีทั้งปุ่มวอลลุ่ม และการปรับครอสโอเวอร์แบบปุ่มหมุนลิเนียร์ตั้งแต่ 40 ถึง 120 Hz

ถัดมาเป็นปุ่มปรับเฟสที่เป็นสวิตช์โยก เลือกได้ที่ 0 องศากับ 180 เลื่อนลงมาก็จะเป็นปุ่มเลือกการเปิด-ปิด ในแบบออโต้ถ้าปรับปุ่มนี้ไว้เป็น On เราไม่ต้องมานั่งเปิดปิด power ของซับวูฟเฟอร์ตัวนี้ให้ยุ่งยาก เพราะเมื่อมันมีสัญญาณจากอินพุตเข้ามามันจะทำงานเอง

ระบบไฟ AC ก็จะเป็นปลั๊กแบบสามขาที่อุปกรณ์เครื่องเสียงนิยมใช้ทั่วไป สามารถถอดเปลี่ยนได้ อ้อ..เขามีขาตั้งติดตัวเป็นขายางมาติดมาให้ด้วย ส่วนหน้ากากลำโพงก็จะเป็นวงกลมครอบเฉพาะตัวดอกวูฟเฟอร์คล้าย ๆ กับ Diamond รุ่นอื่น ๆ

ทุกอย่างที่มีในตัวมันผมว่ามันครบนะ ขาดอย่างเดียว เสียงยังไม่สะใจ ความถี่ต่ำที่มันทำได้ ยังไม่ลงไปลึก และมีปริมาณในระดับที่สามารถสร้างความตื่นเต้นในการดูหนังตามระดับของผมได้

จริง ๆ มันก็เป็นบุคลิกของลำโพงซับวูฟเฟอร์ตู้ปิดที่เน้นความเป็นตัวตนของตัวเอง อาจจะทำได้ดีกว่านี้อยู่ถ้าเป็น 2.1 แชนแนลที่ไม่ต้องการความถี่ต่ำที่มี SPL ( Sound Pressure Level) มาก ๆ แต่ถ้าเป็น 5.1 channel ยังไงซะก็ต้องมีแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ก่อน ก็มาถึงการหาวิธีจัดการให้มันได้ดังใจ

ค่าที่เซ็ตไว้กับการฟังแบบ 2.1 แชนเนลก่อน แต่กับ โฮมเธียเตอร์ต้องบิด Crossover ไปที่ 150Hz สุด

กรวยแหลมที่รองแทนขาทำให้ซับฯ ตัวนี้กลายเป็นยิงลงพื้น

กรวยแหลม หรือที่คนเล่นเครื่องเสียงเรียกว่า ทิปโท เป็นกรวยโลหะขนาดความสูง 1 นิ้วครึ่ง เอามาทำไมครับ เอามารองให้กรวยวูฟเฟอร์มันทิ่มลงพื้น WH-S10E เลยกลายมาเป็น WH-S10E รุ่นยิงพื้นตัวแรก

ไม่ได้พูดเล่นนะครับ ทำจริง ฟังจริง กลายเป็นว่าทิปโทสี่ตัวนี่แหละจะเปลี่ยนให้ WH-S10E กลายเป็นพระเอกในชุดนี้เลยทีเดียวเชียว

Sit & Listen
จุดประสงค์ของการแนะนำชุดนี้ตั้งใจจะให้ครอบคลุมทั้งฟังเพลง และดูหนัง เราก็ต้องทำตามเสนอด้วยการนำมาฟังแบบสองแชนเนลก่อน วิธีการของเราก็คือ อินทริเกรตแอมป์หนึ่งตัวที่มีปรีเอาต์ ทำไมต้องมีปรีเอาต์เพราะเราจะได้ใช้ซับวูฟเฟอร์ให้คุ้มครับ

และที่ช่องนี้การปรับเพิ่มวอลลุ่มจะไป เพิ่ม-ลด เสียงที่ส่งไปให้ซับฯพร้อมกันได้ Marantz KI-Pearl พลัง 90 วัตต์/แชนเนลเอาเอ้าต์พุตจากปรีเอาต์นี่แหละไปต่อเข้า WH-S10E ด้วย กลายเป็น 2.1 แชนเนล ใครที่ยังไม่พร้อมกับ 5.1 อยากลองเสน่ห์ของ Wharfedale ดูก่อน 2.1 ชุดนี้อาจทำให้คุณเริ่มต้นได้เร็วขึ้น ไม่ทำให้คุณผิดหวังเชื่อผม

ชุดฟัง 2.1 แชนเนลจับคู่กับ Wharfedale 220 ชุดนี้อย่างถึงใจคอเพลงทุกแนว

ผมใช้เพลเยอร์เป็น DAP (Digital Audio Player) ที่ทำขึ้นมาเอง น้อง ๆ แถวนี้ตั้งชื่อให้ว่า Toon Toon ครับพ่วงกับ DAC ของ Ayre รุ่น CODEX ตั้งให้ถอดเป็น 24 bit/192KHz ทุกเพลงจะเรียกว่า Upsamping ก็ได้ครับ แต่อัพที่ซอฟแวร์แทนจริง ๆ CODEX มันไปได้มากกว่านี้ ถึงที่ 384KHz แต่ Toon Toon ของผมมันไปไม่ถึง โปรเซสเซอร์ทำงานไม่ทัน เอาแค่นี้พอ เล่นผ่าน QNAP เป็น NAS เก็บไฟล์เพลงเอาไว้

ยุคของเพลงในช่วงรอยต่อระหว่าง 80 ถึง 90 ต้องบอกว่าช่วงนั้นอัลบั้มไหนที่ว่าเปิดฮิต ๆ ในงานเครื่องเสียง ใครที่เล่นเครื่องเสียงเป็นต้องมีต้องเก็บกันเกือบทุกชุด อั้มบั้มของ Clair Marlo ที่ชื่อ Let it Go เป็นอั้มบั้มหนึ่งที่ไม่ต้องกล่าวถึงสรรพคุณกันมาก เป็นอัลบั้มที่ไม่ได้มีบ่อย ๆ ที่จะเอาเสียงห้าสิบกว่าแทร็คมาบันทึกเป็นสองแทร็คสเตอริโอแล้วเสียงได้ขนาดนี้ ยิ่งได้เสียงนางฟ้าอย่าง Clair Marlo ด้วยแล้ว ฟังเมื่อไหร่ก็เต็มอิ่ม กับ 2.1

ชุดนี้ผมไม่โฟกัสที่เสียงร้องของ Clair อย่างเดียว เสียงกลองก็บันทึกมาได้อร่อยเหาะมาก ลำโพงตั้งพื้นที่ว่าแน่ ๆ ระวังให้ดี เสียงกระเดื่องกลองไม่แพ้พวกลำโพงตั้งพื้นไดรเวอร์สิบนิ้วขึ้น มันไว กระชับเก็บจังหวะได้ขาด ไล่ซ้าย ไลขวาได้เคลียร์ แม้จะเปิดที่ความดังน้อง ๆ โฮมเธียเตอร์ เสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นก็ยังส่งผ่านความไพเราะ งดงามออกมา

เอาที่เนื้อเสียงก่อน เสียงนักร้อง ไม่ได้คมชัดเน้นให้จินตนาการแบบว่ากำลังจีบปากจีบคอร้อง เป็นรูปเป็นร่างชัดนัก เหมือนพวกลำโพงมอนิเตอร์ แต่ก็ไม่ได้ละเลยจนขัดสน ผมถึงอึ้งกับกับชุดนี้ตอนที่เร่งวอลลุ่มขึ้นไป มันดุดัน กระแทกกระทั้นขึ้นมาทันที อย่างแทร็ค Lonely Night เก็บเสียงกลองได้ทุกเม็ด อย่าลืมว่าผมไม่ได้กำลังฟังลำโพง 2 แชนเนลอยู่นะครับ มัน 2.1 แบบเนียน ๆ ตึบ ๆ ได้

อีกสักนิดกับเสียงสเตอริโอครับ นาน ๆ จะได้มีโอกาสนั่งอยู่กับสองแชนเนลได้แฮปปี้แบบนี้ ซาวน์ดแทร็คของหนังในอัลบั้ม Time Warp ที่รวบรวมเอาเพลงบรรเลงของวงออเคสตร้าวงใหญ่จากหนังที่ทุกคนต้องผ่านตามาแล้ว

อย่างบทเพลงของ Jerry Goldsmith ที่แต่งธีมให้กับหนังนักท่องอวกาศอย่าง Star Trek บรรเลงโดย Erich Kunzel & Cincinnati Pops Orchestra มันเป็นช่วงเวลาที่เหมือนต้องกอบโกยยังไงไม่รู้ คืออยากฟังเพลงอะไร แบบไหน ก็ไม่เกี่ยง พอเบสถึง กลางแหลมถึง ไดนามิคถึง

มันยังงั้นจริง ๆ ครับ ฟังเบา ๆ มันก็ไม่สนุก ต้องขออัดหน่อย ใครฟังคลาสิคกันเบา ๆ บ้างล่ะ ฟอร์เมตของเครื่องดนตรีมันถูกถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจน ชุดเครื่องสาย เครื่องสร้างจังหวะ สร้างความอลังการอย่างพวกกลองทิมปานีให้เสียงที่ใหญ่ค้านสายตากับลำโพงสองทางที่ใช้ไดรเวอร์ 5 นิ้ว

ชุดนี้มันมีเรื่องนึงที่สอดคล้องพอดี และพักนี้ผมมักได้ยินบ่อยขึ้นคือเรื่องของ ระดับความดังที่ใช้บันทึกเสียง (Mixed Reference Level) ทั้งในวงการเพลง และวงการซาวน์ดแทร็คของภาพยนต์ ไม่มีใครรู้ว่าการเอามาเล่นกลับในชุดเครื่องเสียงของเรา ความดังของเสียงที่เราเปิดฟังมันเทียบเคียงกับที่เขาบันทึกมาขนาดไหน Wharfedale Diamond 220 เมื่อพ่วงซับฯ เข้ามา มันพิสูจน์แล้วว่าความดังของมันทำได้ครบทุกย่าน มันทำให้เราอยากเปิดดังขึ้น

เสียงดนตรีที่มาอยู่ตรงหน้าเราดังขึ้น แต่ก็ไม่ได้ดังแบบแข่งกันดัง มันมีรายละเอียดของเสียงเครื่องดนตรีที่เข้าขั้นเครื่องเสียงดี ๆ ชุดหนึ่งพึงจะได้ยินจากลำโพงหนึ่งชุดสามตัว ไม่เกินสองหมื่นบาท!! มันทำให้เราสัมผัสถึงความดังในระดับที่เขาบันทึกเสียงกัน เป็นความดังที่มาครบทุกย่านพอ ๆ กัน การเพิ่มซับฯ เข้ามามันชั่งเหมือนเป็นการเติมเต็มให้กับลำโพงสองแชนเนลชุดนี้

แต่ถ้าเพิ่มอีกประมาณหมื่นหกคุณจะได้ระบบเสียงในโฮมเธียเตอร์แบบ 5.1 แชนเนล หลายคนคงเห็นว่าเบสิค ๆ ครับสมัยนี้ 5.1 แชนแนลความเบสิคของมันทำให้การจับคู่กับเอวีรีซีฟเวอร์ได้หลากหลายยี่ห้อ ช่วงเวลาที่เราทดสอบก็มีโอกาสได้จับคู่กับเอวีฯ หลายรุ่น อย่าง TX-SR656 ของออนเกียว/ VSX-1131 ของไพโอเนียร์/ SR- 6011 ของมารานซ์

บุคคลิกของลำโพงชุดนี้ต้องการกำลังขับของภาคแอมป์ 100 วัตต์ต่อแชนเนลที่ 8 โอห์มก็พอ มากกว่านี้จะรู้สึกว่าเสียงที่ออกมาเหมือนถูกกระแทกให้ออกมาจะฟังดูแล้วขัด ๆ หน่อย เสียงสนทนาจาก 220C ที่เป็นเซ็นเตอร์แชนเนลกลมกลืนกับคู่หน้าอย่างไม่ต้องสงสัย (ดอกลำโพงตัวเดียวกัน ทวีตเตอร์ก็ตัวเดียวกัน) ช่วยเติมเสียงหน้าจอให้เต็มพื้นที่เหลือเฟือกับการรับชมภาพยนต์

เมื่อเอามาใช้งานในแบบ 5.1 เราทดสอบกับหนังแอ็คชั่นหลายเรื่อง ไม่เว้นแม้บางเรื่องที่ต้องโคตรซับฯ เท่านั้นถึงจะเอาอยู่ อย่างเรื่อง San Andreas นี่ซับฯ 12 นิ้วบางตัวก็ยังต้องจอดเหมือนกัน

ต้องบอกก่อนว่า เสียงความถี่ต่ำที่ออกมาจากซับฯ ของเรื่องนี้เป็นเสียงอย่างเดียวไม่พอ มันต้องการความถี่ต่ำพอที่พร้อมที่จะแปลงเป็นคลื่นพลังงานกลับมาได้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเจ้า WH-S10E ของเรามันยังไม่ถึงขนาดนั้น อาจจะมีสำลักบ้างนิดหน่อย ไม่ต้องกลัวครับ มันเอาตัวรอดได้ การดูหนังในห้องของเราอาจจะดูใหญ่เกินภาระของมัน

แต่สำหรับห้องที่ไม่ได้ใหญ่โตมากมายอะไรมันคือคำตอบของคำถามที่ว่า ของดีราคาประหยัดมันมีอยู่ในโลกนี้จริงด้วยหรือ? WH-S10E นี่แหละครับคำตอบ (ทำให้ชุดนี้ราคาที่ไม่เกินงบที่เราตั้งไว้)

เอกลักษณ์ของลำโพงชุดนี้ดูเหมือนจะเป็นเสียงความถี่สูงที่ทอดตัวทิ่งต่ำในบั้นปลายอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งบางคนบอกว่าเป็นเอกลักษณ์ของเสียงที่มาจากเสียงแหลมของทวีตเตอร์ประเภทนี้

ผมชอบนะมันไม่เฟี้ยวฟ้าวจนคมบาดหู แต่ต้องทนต่อสภาพเสียงสูงที่มิกซ์ลงมาในภาพยนต์ได้ จนรู้สึกว่าไม่ต้องพึ่งพาฟิลเตอร์อะไรมาช่วยให้ยุ่งยาก เพราะเอวีฯ บางตัวรู้ว่าเสียงสูงของลำโพงบางตัวจัดเกินไปกับการรับฟังในโฮมเธียเตอร์ กับมี Cinema Filter มาช่วยลดลง แต่อย่าง Wharfedale ชุดนี้ “ไม่ต้อง”

มันจึงถ่ายทอดเสียงไดนามิกที่อยู่ในเรื่อง Star Trek in to The Drakness มีหลายฉาก ที่อยู่ ๆ ก็มีเสียงเอฟเฟ็กค์มากระชากความรู้สึก ทั้งแอมป์ ทั้งลำโพง ต้องแสดงประสิทธิภาพสูงสุดออกมาให้ได้ในเสี้ยววินาที เป็นตัววัดเลยว่าวัสดุที่เอามาทำลำโพงต้องดีพอไม่งั้นโอกาสเงียบไปหลังจากผ่านเสียงในวินาทีนั้น ๆ ก็มีสูง

Wharfedale ผ่านจุดนั้นไปได้ อย่างฉากที่ยาน Enterprise วาปเดินทางอยู่เป็นเสียงสนทนาอยู่ดี “โครม” ขึ้นมาเฉย ๆ ซะงั้น

Conclusion
บางทีคนเรามักจะตัดสิน และจินตนาการความดีงามกันจากรูปร่างหน้าตา บางครั้งบอกได้เลยว่าคุณอาจจะพลาดความทรงจำดี ๆ ไป เพราะว่าตัดสินแบบนี้มันเอามาใช้ไม่ได้กับสินค้าเครื่องเสียง Wharfedale ชุดนี้

แม้มันเป็นเพียงเป็นลำโพงขนาดไซส์เล็ก ๆ สองทาง แต่เมื่อเอามาจับคู่กับซับวูฟเฟอร์ที่น่าตาออกจะเหนียม ๆ ถึงจะเป็นซับฯ 10 นิ้วที่ตัวเล็กกว่าชาวบ้านเขา (ตู้ปิด) แผงวงจรด้านหลัง (ภาคขยาย) ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร เมื่อจับมารวมกันมันแปลงร้ายกลายเป็นคู่หู สำหรับคนที่คิดจะเริ่มต้นให้กับทั้งแบบ 2.1 แชนเนล หรือ 5.1 แชนเนลได้อย่างน่าอัศจรรย์

บางสิ่งเป็นความสุขในการฟังเพลงในเลเวลหนัก ๆ ให้สะใจ ลำโพงเล็ก ๆ คู่เดียวมันไม่พอ หรือบางครั้งพอจะขยับไปดูหนังก็ไม่เต็มร้อย ถ้าต้องการสองอย่างนี้พร้อม ๆ กัน

นี่แหละคือบุคคลิกของคนที่เป็นเจ้าของลำโพงชุดนี้ แนะนำว่าใครที่ลังเล ๆ ลองแบบ 2.1 แชนเนลดูก่อน หาอินทิเกรตแอมป์ที่มีปรีเอาต์สักตัวเชื่อมให้กับซับวูฟเฟอร์ แต่ถ้าคุณพร้อมเริ่มขยับมาเล่นเอวีรีซีฟเวอร์เลยก็ต้องขยับถอยลำโพงเซนต์เตอร์ กับเซอร์ราวน์ดตามไปด้วย

ชุดนี้ตอนที่เล่นเป็น 2.1 แชนเนลผมใส่อุปกรณ์อื่น ๆ ลงไปดูว่ามันจะไปได้อีกแค่ไหน มันกลับมาทำให้เราต้องการอยากรู้ความเปลี่ยนแปลงของมัน ช่วงที่เปลี่ยนสายลำโพงจาก Sigle Wire เป็น Bi-Wire มีผลกับเสียงร้องที่คมขึ้น ชัดขึ้น รายละเอียดดีขึ้นอีกหน่อย ถ้าต้องการสด สว่างขึ้นมันก็ให้รับรู้ได้อีกไม่น้อย มันเป็นลำโพงของนักเล่นที่ไม่ชอบหยุดนิ่งอยู่กับที่ชุดนึงได้ด้วย

ถ้าเป็นข้อสอบก็ต้องกาถูกให้มันทุกข้อ สำหรับราคานี้ ให้มันรู้ไปว่ามันมีชุดลำโพงแบบนี้ด้วย

จุดเด่น
+จับคู่กันแบบ 2.1 แชนเนลฟังเพลงให้ไดนามิก และการตอบสนองความถี่ที่ดีมาก ๆ
+เสียงระดับนี้อยู่ในอันดับต้น ๆ ของลำโพงวางหิ้งเสียงดีเลย พูดง่าย ๆ “คุ้ม”
+หาเอวีรีซีฟเวอร์ที่จับคู่ด้วยง่าย

ข้อสังเกต
-ซับวูฟเฟอร์ยังไม่พร้อมเต็มที่สำหรับเสียงความถี่ต่ำที่ต้องใช้ SPL สูง ๆ
-ต้องใช้อุปกรณ์เสริมนิดหน่อยสำหรับซับฯ เพื่อให้ตอบสนองความถี่ต่ำที่ลึกลงอีกนิด


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท ไฮไฟ ทาวเวอร์ จำกัด
โทร. 0-2881-7273
ราคา Wharfedale 220 : 8,500 บาท/คู่
         Wharfedale 220C : 7,500 บาท/ตัว
         Wharfedale WH-S10E : 7,900 บาท/ตัว

ธนภณ พูลเจริญ

Content Contributor ที่ปรารถนาจะถ่ายทอดประสบการณ์ในแวดวงโฮมเธียเตอร์ ทีวี และระบบเสียงมัลติรูมในแง่ของความคุ้มค่าของการใช้งาน เปิดมุมมองสู่ความต้องการที่ชัดเจนให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบเทคโนโลยี