fbpx
REVIEW

[Classic Review] Totem Acoustic : Kin Mini

จากความทรงจำของผมเกี่ยวกับลำโพงขนาดเล็กจำนวนมากมายที่ได้ผ่านเข้ามาในชีวิต ถ้านับตั้งแต่เริ่มต้นสนใจเครื่องเสียงใหม่มาจนกระทั่งเป็นนักรีวิวในปัจจุบันผมว่าน่าจะอยู่ในระดับหลายร้อยรุ่นเฉียด ๆ หลักพันแล้วล่ะครับ

แต่ในจำนวนนั้นมีเพียงไม่กี่สิบรุ่นที่ทำให้ผมประทับใจถึงขนาดยังเก็บสะสมอยู่ในความทรงจำไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด และในไม่กี่สิบรุ่นนั้น Totem Acoustic Model 1 น่าจะเป็นตัวแรก ๆ ที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกเช่นนั้น

Kin(d) Mini
Totem Acoustic Model 1 มีอายุอยู่ในตลาดมาราว ๆ 20 กว่าปี ผ่านการปรับปรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ มาแล้วหลายวาระและในปัจจุบันก็ยังคงมีจำหน่ายอยู่ ผมเคยถามคุณ Vince Bruzzese เจ้าของและคนออกแบบลำโพงโทเทมอะคูสติกส์ว่าเขามีเคล็ดลับอะไรถึงทำลำโพงเล็กที่ให้เสียงออกมาได้น่าทึ่งอย่างนั้น ?

เขาตอบว่าเขาไม่รู้เคล็ดลับอะไรหรอก เขาแค่ทำมันออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เท่านั้นแหละ (แหม… ได้ทีก็คุยเลยนะคุณ Vince) ว่าแต่ก็น่าคิดอยู่นะครับ ลำโพงอะไรกันทำขายมา 20 ปีแล้วยังไม่เปลี่ยนรุ่นสักที ที่ผ่านมาจะมีก็แค่เพียงไมเนอร์เชนจ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

หลังจากประสบความสำเร็จกับ Model 1 ทางโทเทมฯ ก็มีลำโพงตามออกมาอีกหลายรุ่นทั้งมินิมอนิเตอร์และลำโพงตั้งพื้นอีกหลายไซส์ แต่ดูเหมือนว่าลำโพงขนาดเล็กของโทเทมฯ จะค่อนข้างประสบความสำเร็จมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น Mite, Rainmaker, The One, Element Fire ทว่ามินิมอนิเตอร์ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ยังไม่มีรุ่นไหนเลยที่มีขนาดเล็กมากเหมือนลำโพงรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีชื่อว่า คิน มินิ ‘Kin Mini’

Kin Mini เป็นลำโพงตู่เปิด 2 ทางขนาดเล็กพิเศษ ไดรเวอร์ที่ใช้ประกอบไปด้วยเบส/มิดเรนจ์ขนาด 105 มิลลิเมตร (4 นิ้ว) กรวยขึ้นรูปจากวัสดุพิเศษที่มีชื่อเรียกว่า ‘Phenolic Honeycomb in synthetic sandwich’ ดูด้วยสายตามันดูเหมือนพลาสติกสังเคราะห์ที่มีเนื้อวัสดุยึดเกาะกันเป็นโครงข่ายหกเหลี่ยมเลียนแบบลักษณะของรังผึ้ง

เดาเอาได้ไม่ยากว่าคงตั้งใจออกแบบให้เนื้อวัสดุมีมวลเบาในขณะที่ยังคงมีความแข็งแกร่งสามารถทนทานต่อการบิดตัวขณะขยับเคลื่อนตัวได้ สำหรับไดรเวอร์ความถี่สูงเป็นหน้าที่ของทวีตเตอร์โดมผ้าขนาด 19 มิลลิเมตร (0.75 นิ้ว)

วงจรแบ่งความถี่เสียงใช้อุปกรณ์เกรดดีมากแค่ 2 ตัวเท่านั้นและไม่มีการใช้ตัวต้านทาน (Only 2 extreme quality parts with no resistors) โดยออกแบบจุดตัดความถี่เสียงทั้งทางไฟฟ้าและทางอะคูสติกเอาไว้ที่ 3.2kHz

ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 90Hz-40kHz (+/-3dB) อิมพิแดนซ์เฉลี่ย 8 โอห์ม ความไว 88dB/W/m แนะนำให้ใช้กับแอมป์ที่มีกำลังขับตั้งแต่ 20-110 วัตต์

First Impression
ครั้งแรกที่ผมเห็น Kin Mini มันตัวเล็กกว่าที่ผมคาดไว้พอสมควร มันเล็กจนผมสามารถใช้มือข้างเดียว ‘คีบ’ มันขึ้นมาได้ง่าย ๆ อารมณ์เดียวกับแขนกลที่ใช้คีบตุ๊กตาตามตู้คีบตุ๊กตาแบบหยอดเหรียญ มันน่าจะเป็นลำโพงของโทเทมที่ตัวเล็กที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จักลำโพงยี่ห้อนี้มา มันตัวเล็กกว่าลำโพงเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์บางตัวที่ผมรู้จักเสียอีก สัดส่วนต่าง ๆ ของมันดูกะทัดรัดน่ารักน่าชังไปหมด

แผงหน้าตู้ที่ออกแบบให้เอียงเป็น slope เล็กน้อยมีความกว้างกว่าตัวไดรเวอร์แค่นิดเดียว ปริมาตรภายในของตู้แจ้งไว้ในสเปคฯ ที่ 1.5 ลิตร น้ำหนักลำโพงข้างละ 2.15 กิโลกรัม ขั้วต่อสายลำโพงเป็นแบบไบไวร์ ใช้ขั้วต่อไบดิ้งโพสต์เคลือบทองดูแน่นหนาแข็งแรงดีครับ ขั้วต่อนี้ผมมาพบในภายหลังว่ามันต่อตรงเข้ากับอุปกรณ์ในวงจรตัดแบ่งความถี่เสียงโดยตรงในลักษณะฮาร์ดไวร์หรือเดินสายตรงด้วยครับ

ตัวตู้ลำโพงมีให้เลือก 2 สีคือสีขาวและสีดำ คู่ที่ส่งมาให้ผมรีวิวเป็นตู้สีดำแบบดำด้าน ผมว่าทางโทเทมฯ ฉลาดมากที่เลือกการทำ finishing หรือตกแต่งตัวตู้ด้วยวิธีการทำสี ผมคิดว่าในงบประมาณนี้ถ้าพยายามจะปิดผิวด้วยลายไม้คงจะได้วัสดุเกรดไม่ดีสักเท่าไร ซึ่งนั่นสามารถลดเกรดของลำโพงลงได้อย่างน่าตกใจ ทำสีมาเรียบ ๆ ง่าย ๆ อย่างนี้น่าจะให้ความรู้สึกที่ดูดีกว่า หน้ากากลำโพงยึดกับแผงหน้าด้วยแรงแม่เหล็ก

Kin Mini มาพร้อมกับขารองตู้ลำโพงข้างละ 4 ตัว ขายางนี้ทำจากวัสดุประเภทยางเนื้อนิ่ม (Sorbothane rubber) รัดเอาไว้ด้วยแหวนอะลูมิเนียมกันเนื้อยางปลิ้น ยึดอยู่กับมุมทั้งสี่ใต้ตู้ลำโพงได้ด้วยเทปกาว 2 หน้าในตัว มีแผ่นกระดาษมาให้วางทาบเป็นไกด์ก่อนติดเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ถูกต้อง

โทเทมฯ แจ้งข้อมูลของ Kin mini เอาไว้ว่า มันต้องการเวลาเบิร์นอินราว ๆ 50-75 ชั่วโมงซึ่งก็ถือว่าไม่มากนัก ไม่ต้องรอนานกันจนลืมไปแล้วว่าเพิ่งซื้อลำโพงคู่ใหม่มา ขนาดที่กะทัดรัดใช้งานได้คล่องตัวไม่ค่อยมีข้อจำกัดในการจัดวางมากนักของตัวลำโพงทำให้โทเทมฯ แจ้งลักษณะการใช้งานลำโพงคู่นี้ไว้แบบกว้าง ๆ

ในงาน CEDIA ที่ผ่านมาทราบว่าเขาเซ็ตเอาไว้ในชุดสเตริโอสำหรับการฟังเพลงในมุมเล็ก ๆ และผมก็เคยดูคลิปวิดีโอที่คุณ Vince Bruzzese เขานำเสนอเอาไว้ว่า Kin Mini อาจจะเป็นลำโพงที่ใช้ในชุดดูหนังสำหรับคนที่ไม่ชอบเสียงของลำโพงประเภทซาวน์บาร์ก็ได้ เพราะมันเสียงดีกว่าลำโพงซาวน์บาร์ในงบเท่า ๆ กันแถมยังใช้พื้นที่ในการจัดวางน้อยกว่าลำโพงซาวน์บาร์เสียอีก

ทว่าครั้งแรกที่ผมได้ฟังเสียงของ Kin Mini มันอยู่กับชุดสเตริโอในมุมเล็ก ๆ ที่ร้าน Melodic (ชั้น 3 ห้างอัมรินทร์พลาซ่า) ตัวแทนจำหน่ายลำโพงรุ่นนี้ เสียงที่ได้ยินออกมาทึ่งทีเดียวครับ มันทำให้ผมและลูกค้าของร้านอีกคนต้องหยุดยืนฟังมันอย่างสนใจ

เสียงมันใหญ่เกินตัวมากแม้ว่าจะขับด้วยฟรอนต์เอนด์และอินทิเกรตแอมป์ตัวกลาง ๆ ของ Arcam เท่านั้นเอง สัมผัสแรกสำหรับ Kin Mini ในวันนั้นทำให้ผมนึกย้อนไปถึงตอนที่ได้ฟังลำโพง Model 1 เป็นครั้งแรก มันทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในหัวว่า นี่ได้ออกมาสักเท่าไรของความสามารถมันแล้ว และมันจะไปได้อีกสักแค่ไหนกันนะ?

Matching และ Setup
ส่วนตัวผมตั้งจะลองใช้งาน Kin Mini ในลักษณะกึ่งเป็นลำโพง desktop กึ่งเป็นลำโพง near-field monitor ในชุดฟังเพลงแบบ high-res audio ของผม เพราะนั่นหมายความว่าผมจะมีโอกาสได้ฟังมันบ่อยที่สุด และสามารถฟังได้ในระหว่างการนั่งทำงานตามปกติประจำวัน และไม่ว่าลำโพงคู่ที่ผมได้รับมาจะเป็นคู่ที่ผ่านเบิร์นอินมาแล้วหรือไม่ แต่สิ่งที่ได้พบเจอในช่วงแรกของการทำความรู้จักกันคือ

การเบิร์นอินหลัง 75 ชั่วโมงไปแล้วมีผลเล็กน้อยเท่านั้น มันไม่เห็นผลของความเปลี่ยนแปลงมากเท่ากับการแมตชิ่งและเซ็ตอัปตัวลำโพงร่วมกับอุปกรณ์แวดล้อมอื่น ๆ ครับ

อย่างตอนที่ผมเซ็ตอัปมันครั้งแรกในซิสเตมของผมพบว่า เนื้อเสียงมันยังบางไปนิดโดยเฉพาะเมื่อขับด้วยเดสก์ท้อปรีซีฟเวอร์ตัวเล็ก ๆ สมดุลเสียงและการสอดประสานของแต่ละย่านความถี่ก็ยังไม่กลมกล่อมเหมือนที่ผมเคยได้ยินมาก่อน

สิ่งเหล่านี้การเบิร์นอินแม้ว่าจะมีผลบ้างแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เนื้อเสียงและสมดุลเสียงที่ได้กลับคืนมา เป็นส่วนผสมระหว่างการเบิร์นอิน การแมตชิ่งและการเซ็ตอัป โดยมีอัตราส่วนความน่าจะเป็นเรียงจากน้อยไปหามาก ผมพบว่าอินทิเกรตแอมป์ Naim SuperNait 2 (80W@8ohm) ขับมันออกมาได้ดีมาก แต่มันก็ราคาสูงไปนิดและขนาดใหญ่ไปหน่อยสำหรับการใช้งานในรูปแบบของผม

หลังจากพยายามแมตชิ่งหาจุดลงตัวระหว่างคุณภาพเสียงและการใช้งานได้จริงอยู่พักใหญ่ ในที่สุดแล้วก็ได้เลือกใช้อินทิเกรตแอมป์ NAD D7050 มันเข้ากับ Kin Mini ได้ดีมาก การจับคู่กันแสดงออกถึงการเกื้อหนุนซึ้งกันและกันทำให้เสียงที่ได้ฟังดีมากโดยไม่จำเป็นต้องขี่ช้างจับตั๊กแตนลงทุนมากถึงขนาดใช้อินทิเกรตแอมป์ของ Naim

อีกทั้งขนาดที่กะทัดรัดของ D7050 ยังตอบโจทย์การใช้งานของผมได้ลงตัวพอดี อีกอย่างอินพุต USB และ Ethernet ของอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ก็พร้อมใช้งานสำหรับ high-resolution audio อยู่แล้ว ซิสเตมเล็ก ๆ นี้จึงเรียบง่าย ย่อมเยา แต่ทรงประสิทธิภาพเกินตัว พิสูจน์ทราบจากความเป็นดนตรีในอัลบั้ม The Beatles : White Album (24bit/44.1kHz USB Stick Edition)

อีกปัจจัยที่ห้ามมองข้ามคือการเซ็ตอัปตำแหน่งครับ บนโต๊ะทำงานตัวโตและหนักมากที่แผ่นท้อปทำด้วยไม้หนาเกือบ 2 นิ้วของผม ผมขยับลำโพงเข้า ๆ ออก ๆ ทั้งระยะซ้าย-ขวา และระยะหน้า-หลัง พบว่ามันให้ผลลัพธ์ในความแตกต่างของเสียงมากกว่าลำโพงเดสก์ท้อปตัวอื่น ๆ ที่ผมเคยฟังมา ทั้ง Paradigm Shift A2 และ Q Acoustics Q-BT3 (เป็นลำโพงแอคทีฟทั้งคู่) ดังนั้นผมยืนยันอีกครั้งว่าการให้เวลาสักหน่อยกับการจัดการตำแหน่งวางของ Kin Mini ผลลัพธ์ที่ได้กลับคืนมานั้นคุ้มค่าแน่นอนครับ

เมื่อ Kin Mini มีความลงตัวทั้งเรื่องแมตชิ่งและเซ็ตอัป เสียงของลำโพงคู่นี้จะมาในลักษณะเดียวกับลำโพงรุ่นอื่น ๆ ของโทเทมฯ นั่นคือมีสมดุลเสียงที่ดีตลอดย่านความถี่ ฟังเผิน ๆ เหมือนว่าไม่มีอะไรเป็นจุดเด่นแต่ถ้าฟังให้ถ้วนถี่แล้วจะพบว่ามันพยายามทำตัวเป็นกลางแล้วปล่อยให้งานดนตรีแต่ละชุดเปิดเผยตัวตนของมันเองออกมา

ทว่าด้วยสรีระที่เล็กกว่าเพื่อนสิ่งที่ตกหล่นไปบ้างเมื่อเทียบกับลำโพงโทเทมฯ รุ่นพี่ ๆ คือ ความลึกและน้ำหนักของเสียงทุ้มที่เป็นไปตามลักษณะทางกายภาพและแนวทางการออกแบบ

อย่างไรก็ดีตัวเลข 90Hz ในสเปคฯ ของ Kin Mini ก็ไม่ได้โหดร้ายกับคนรักเสียงทุ้มจนเกินไปเพราะยังพออาศัยการเซ็ตอัปและความเป็นอะคูสติกของสภาพแวดล้อมมาช่วยได้ครับ ด้วยเหตุนี้ผมถึงให้ความสำคัญกับการเซ็ตอัปลำโพงคู่นี้มากที่สุด

นอกจากด้านความถี่ต่ำแล้ว อีกฟากหนึ่งของความถี่เสียง Kin Mini ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับ high-resolution audio ทำให้สเปคฯ 40kHz ของทวีตเตอร์นั้นโดดเด่นเกินหน้าเกินตาลำโพงทั่วไปในพิกัดขนาดใกล้เคียงกัน ทำให้มันเป็นลำโพงที่ตอบสนองต่อสัญญาณทรานเชียนต์ได้ดีมากอันเป็นผลมาจากการตอบสนองอิมแพ็คแรกหรือ leading edge ของเสียง

การถ่ายทอดความถี่สูงของลำโพงคู่นี้จะมีลักษณะเด่นของความระยิบระยับสดใสเป็นประกายและค่อนข้างเปิดเผย ดังนั้นฟรอนต์เอนด์และแอมป์ที่เลือกใช้ต้องอย่าให้มีจุดอ่อนในเรื่องของความเพี้ยนโดยเฉพาะย่านความถี่เสียงกลางเป็นต้นไป

ดังนั้นเบื้องต้นจึงสรุปได้ว่า Kin Mini เป็นลำโพงที่ ‘เล่นง่าย’ เมื่อพิจารณาในแง่มุมของความสะดวกและรูปแบบการใช้งานที่มีความหลากหลายคล่องตัว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะมีความสำเร็จรูปเหมือนลำโพงมัลติมีเดียหรือลำโพงแอคทีฟเดสก์ท้อปทั่วไปที่จะวางตรงไหน จะเล่นอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องใส่ใจอะไรมาก เพราะนั่นจะเป็นสาเหตุแรกที่ทำลายคุณงามความดีของลำโพงคู่นี้ไปอย่างน่าเสียดาย

Kin Sub

Kin Mini และ Kin Mini + Kin Sub
แม้ว่าขนาดของ Kin Mini จะเล็กมากเหมือนลำโพง desktop audio ทั่วไป แต่มันเป็นก็ลำโพงที่เปิดโอกาสให้เลือกตำแหน่งนั่งฟังได้มากกว่าลำโพงที่เป็น desktop audio สามารถนั่งห่างจากลำโพงได้บ้าง ในห้องที่มีพื้นที่จำกัดแต่พอจะเซ็ตอัปได้ จะเป็นอะไรที่ลงตัวอย่างมาก เพราะสามารถเซ็ตอัปการฟังได้เหมือนลำโพงมินิมอนิเตอร์สเตริโอทั่วไป เมื่อยอมใช้เวลาจุกจิกจู้จี้กับตำแหน่งลำโพงและตำแหน่งนั่งฟังแล้วจะเห็นผลความเปลี่ยนแปลงของเสียงได้อย่างน่าทึ่ง

จากการลองใช้งานในลักษณะ near-field monitor และในพื้นที่ที่มีปริมาตรไม่ใหญ่โตนัก Kin Mini สามารถแสดงศักยภาพของมันออกมาได้ดีกว่าที่ผมคาดไว้เสียอีกครับ ในแง่ของสมดุลเสียง Kin Mini สอบผ่านอัลบั้มเพลงทุกชุดที่ผมมักจะใช้ทดสอบ tonal balance ของเสียง ลำโพงเล็กพิเศษตัวนี้มันจำกัดเสียงทุ้มครับ แต่สมดุลเสียงหรือ tonal balance จัดว่าดีมาก มันไม่ได้ถูกจูนมาให้มีเสียงทุ้มที่ใหญ่เกินตัว

เสียงทุ้มที่ได้จากลำโพงขนาดเล็กพิเศษคู่นี้เป็นลักษณะของเสียงทุ้มที่ชมเชยได้ในแง่ของคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณหรือน้ำหนักเสียงที่มีความหนักแน่นตึงตัง เป็นเสียงทุ้มที่มีรายละเอียด เพียงแต่มีเสียงทุ้มลึกในปริมาณที่จำกัดตามลักษณะทางกายภาพ

การเซ็ตอัปตำแหน่งโดยอาศัยลักษณะทางอะคูสติกเข้ามาช่วยเช่น ลำโพงซ้ายและขวาวางไม่ห่างกันมากนัก หรือวางให้เข้าใกล้ผนังด้านหลังลำโพง ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยให้การตอบสนองความถี่ต่ำของลำโพงคู่นี้ฟังดูเหมือนจะทำได้ดีกว่าตัวเลข 90Hz ที่แจ้งไว้ในสเปคฯ

ผมยังได้ยินเสียงแต่ละตัวโน้ตของอะคูสติกเบสในเพลง ‘Move’ ไฟล์ 24/88.2 จากอัลบั้ม Modern Jazz Classics ของ Art Pepper + Eleven ลอยออกมาให้ได้ยินจากเวทีเสียงด้านซ้ายมือ มันอยู่ท่ามกลางเสียงของเครื่องดนตรีอื่น ๆ สารพัด แม้ยังมีรายละเอียดอยู่แม้ว่ามันจะมีน้ำหนักเสียงที่แผ่วเบาไปสักนิดก็ตาม

Kin Mini เป็นลำโพงเล็กพิเศษที่ให้เสียงกว้าง วงใหญ่ และเสียงหลุดตู้ง่ายมาก เมื่อได้ฟังกับงานบันทึกเสียงระดับคุณภาพทั้งหลายดูเหมือนว่าเรื่องเสียงที่หลุดตู้จะเป็นเรื่องง่ายดายเสียเหลือเกินสำหรับลำโพงคู่นี้ อย่างในเพลง ‘Down To The River To Pray’ ไฟล์ HDTRacks 24/96 จากอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง O Brother, Where Art Thou?

ผมนั่งฟังแล้วค่อย ๆ หลับตาลง เบื้องหน้าผมนอกจากเสียงร้องหลักของ Alison Krauss แล้วยังอบอวลไปด้วยเสียงประสานอีกหลายสิบชีวิต ก่อเกิดเป็นเวทีเสียงขนาดใหญ่ขึ้นมาในจินตนาการ ฟังแล้วน่าขนลุก!

กับงานดนตรีชุด Mozart Violin Concertos อัลบั้ม high-resolution audio จากสังกัด 2L ก็ฟังได้และฟังดีกับ Kin Mini เวทีเสียงใหญ่โตกว้างขวางมาก ไม่มีปัญหากับตัวลำโพงในแง่การถ่ายทอดรายละเอียดของออเคสตร้าและความเป็นดนตรีเลย

กับไฟล์ 24/96 จาก HDTRacks อัลบั้ม Bare Wood ของ Ottmar Liebert เสียงจากลำโพงตัวเท่าลูกหมาคู่นี้ฟังดีเลยครับ เนื้อเสียงมีความอิ่มหนา ผ่อนปรนแต่มีรายละเอียดครบ รายละเอียดของเสียงกีตาร์นี่เข้าขั้นระยิบระยับ กังวานใสและเป็นธรรมชาติมาก ๆ

ดนตรีที่สมัยใหม่ที่เป็นงาน high-resolution audio อย่างเช่น Jason Mraz : YES! หรือ Tony Bennett & Lady Gaga : Cheek To Cheek (Deluxe Edition) ตอกย้ำว่า Kin Mini นั้นเกิดมาเพื่อตอบสนองความเป็น high-resolution audio โดยแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันได้ใช้งานร่วมกับ ‘Kin Sub’ ซึ่งเป็นออพชันเสริมเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์แบบ

Kin Sub เป็นแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ทรงลูกบาศก์ขนาดย่อม ๆ ใช้ไดรเวอร์เสียงทุ้มขนาด 8 นิ้ว กรวยทำมาจากเส้นใยคาร์บอนไฟเบอร์สาน ระบบตู้ลำโพงแบบตู่ปิด ภาคขยายเสียงในตัวมีกำลังขับ 150 วัตต์ ช่วงความถี่ตอบสนองของลำโพงอยู่ที่ 29Hz-200Hz เมื่อใช้งานร่วมกับ Kin Mini จะทำให้ได้ชุดลำโพงที่มีช่วงความถี่ตอบสนองกว้างมากคือตั้งแต่ 29Hz-40kHz เลยทีเดียว !

อย่างไรก็ดีผมพบว่าการจะปรับแต่งให้ Kin Mini และ Kin Sub ทำงานได้อย่างกลมกลืนกันจำเป็นต้องใช้เวลาปรับตั้งและลองฟังทบทวนอยู่นับสิบรอบ มีการปรับตั้งทั้งในส่วนของ frequency cut-off, phase และ subwoofer level โชคดีที่อินทิเกรตแอมป์ D7050 มีช่องปรีเอาต์สเตริโอที่มีประสิทธิภาพดี งานในส่วนนี้ของผมจึงไม่สาหัสอย่างที่คาดไว้

เพลง ‘When Kafka Was The Rage’ ไฟล์ high-resolution audio 24/96 จากอัลบั้ม Unauthorized ของ Dave’s True Story ลำพัง Kin Mini เพียงคู่เดียวก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงนี้ออกมาได้สบาย ๆ ฟังเพลินมากทั้งเสียงร้องและเครื่องสายในเพลงนี้ ลักษณะการเปิดเผยรายละเอียดเป็นไปอย่างมีลีลาชั้นเชิง การเพิ่ม Kin Sub เข้าไปสิ่งแรกที่ได้มาแน่นอนนั่นคือความชัดเจนของเสียงทุ้มลึก มันทำให้โทนัลบาลานซ์โดยรวมฟังนุ่มขึ้นอีกนิด ได้ยินเสียงอะคูสติกหรือบรรยากาศของการบันทึกเสียงมากขึ้น

ในเพลง ‘Baby Who Are You?’ จากงานชุดเดียวกัน เสียงเครื่องเป่าตอนต้นเพลงจะเด่นมาก เสียงที่ได้ยินจาก Kin Mini แทบไม่น่าเชื่อว่ามาจากลำโพงตัวแค่นี้ มันให้เสียงเครื่องเป่าตัวโน้ตสูง ๆ ออกมาได้หวานใสกังวานน่าฟังมาก ตัวโน้ตเสียงเป่าแม้ว่าสเกลเสียงจะถูกย่นย่อลงมาบ้างแต่ก็ยังสามารถถ่ายทอดความนุ่มนวลอบอุ่นระคนความโรแมนติกของเสียงออกมาได้อยู่ ในทำนองเดียวกันการเพิ่ม Kin Sub เข้าไปรายละเอียดที่ได้เพิ่มมาคือการเคลื่อนไหวของแต่ละตัวโน้ตที่สามารถ feel ได้มากขึ้น

Kin Mini จะทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นลำโพงเล็กที่มีเพดานของ dynamic compression สูงจนน่าทึ่ง หลายครั้งที่ผมคิดว่าไดรเวอร์และตู้ตัวแค่นี้น่าจะแป้กไปแล้ว แต่มันกลับปลดปล่อยเสียงนั้นออกมาได้แบบสบาย ๆ หน้าตาเฉย โดยเฉพาะเมื่อใช้งานคู่กับ Kin Sub อย่าลืมนะครับว่า Kin Mini + Kin Sub แบนด์วิดธ์ของลำโพงชุดนี้กว้างขวางถึง 29Hz-40kHz ซึ่งในงบประมาณเท่า ๆ กันนี้ใช่ว่าจะหากันได้ง่าย ๆ ล่ะครับ

Mini Size, Big High-Fidelity
Kin Mini ทำให้ผมนึกถึงลำโพง Concept 20 ของ Q Acoustics ซึ่งปัจจุบันผมก็ยังใช้งานอยู่ ทั้งคู่เป็นลำโพงเล็กที่เด่นมากในเรื่องมิติและเวทีเสียง ทั้งคู่เป็นลำโพงที่มีความมหัศจรรย์ของเสียงแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังการแมตขิ่งและเซ็ตอัป แต่ Concept 20 นั้นตัวใหญ่โตไปสักหน่อยถ้าหากจะเอามาวางบนโต๊ะทำงานของผม (เป็นลำโพงที่ก้นลึกมาก) ดังนั้น Kin Mini จึงเป็นคำตอบที่ลงตัวกว่า

ด้วยความง่าย ความน่ารักน่าชัง น้ำเสียงและความคุ้มค่าของ Kin Mini นี่อาจจะทำให้มันเป็นลำโพงของโทเทมฯ รุ่นแรกที่ทำให้คุณและทุกคนในครอบครัวของคุณมอบใจให้กับเสียงดนตรีชนิดหมดหัวใจ

สำหรับคนที่ชอบฟังเพลงหลากหลายแนวหรือบางครั้งก็ชอบเปิดฟังให้ดังกว่าปกติเพื่อความสะใจในอารมณ์ แอคทีฟซับวูฟเฟอร์อย่าง ‘Kin Sub’ คือส่วนที่ช่วย ‘ชูรส’ ให้ Kin Mini ฟังเพลงบางแนวได้สนุกขึ้น สะใจมากขึ้น ตลอดจนทำให้คุณรู้สึกอินกับเสียงดนตรีมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้สามารถรับรู้ด้วยงบประมาณที่ถูกจนเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับลำโพงรุ่นอื่น ๆ ของโทเทมฯ ที่ผมเคยรู้จักมาก่อน

เช่นเคย อ่านแล้วไม่ต้องเชื่อผมนะครับ หาโอกาสลองฟังด้วยหูของท่านเองเถิด… hearing is believing ครับ


เนื่องจาก Classic Review เป็นรีวิวเครื่องเสียงที่ตกรุ่นไปแล้ว หรืออาจมีการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว ทางเว็บไซต์จึงขอสงวนข้อมูลตัวแทนจำหน่ายและราคาของสินค้าเพื่อป้องกันความสับสนในข้อมูล

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ