fbpx
REVIEW

รีวิว Sonoma Acoustics : Model One

“Sonoma” ชื่อนี้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับฟอร์แม็ต DSD ซึ่งเป็นระบบเสียงไฮเรสโซลูชั่น ออดิโอรูปแบบหนึ่งที่ Sony กับ Philips ร่วมกันคิดค้นขึ้นมาเมื่อปี 2005 เกี่ยวข้องใกล้ชิดขนาดไหน.? และใกล้ชิดยังไง.? คือ..

เรื่องมันมีอยู่ว่า..
เมื่อตอนที่ Sony กับ Philips นำเสนอฟอร์แม็ต SACD ซึ่งเป็นแผ่นบันทึกสัญญาณเพลงรูปแบบใหม่ออกมานั้น การเข้ารหัสของสัญญาณเสียงที่ใช้สำหรับฟอร์แม็ตใหม่นี้ใช้วิธีการที่ต่างจากสัญญาณเสียง PCM ที่ใช้กับฟอร์แม็ต CD อย่างสิ้นเชิง เรียกว่า Direct Stream Digital หรือ DSD

ซึ่งในขณะนั้น ยังคงมีแค่เครื่องบันทึกเสียง DSD ระบบสเตริโอที่ Sony สร้างขึ้นมาในแล็ปของโซนี่เองที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่หลังจากที่บรรดาศิลปิน โปรดิวเซอร์ และซาวนด์เอนจิเนียร์ได้ยินคุณภาพเสียงของระบบเสียง DSD แล้ว ต่างก็เข้าแถวกันขอยืมเครื่องบันทึกเสียง DSD ต้นแบบชุดนี้ไปทดลองบันทึกเสียงแบบ direct-to-two-track ออกมาเป็นระบบเสียง DSD

ส่วนทางฝั่ง Philips ก็ได้ซุ่มพัฒนาระบบการบันทึกเสียงด้วยสัญญาณ DSD จำนวน 8 แชนเนลอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นระบบบันทึกเสียงที่มีขนาดใหญ่มาก

ทว่ายังไม่มีใครเขียนโปรแกรมที่ใช้สำหรับการตัดต่อ (editing) สัญญาณ DSD ที่บันทึกมาได้เพื่อนำไปทำมาสเตอร์สำหรับการบันทึกลงแผ่น เพื่อแก้ปัญหานี้ จึงได้เกิดการรวมทีมพิเศษขึ้นมาทีมหนึ่ง โดยมีแหล่งพำนักอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ภาระกิจของทีมนี้ก็เพื่อโปรเจค SACD โดยเฉพาะ เป็นทีมที่ประกอบด้วยผู้ปราดเปรื่องทั้งในสาขาออดิโอและวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่เก่งทางด้านเขียนโปรแกรม*

ภาระกิจของดรีมทีมชุดนี้ถูกขนานนามว่า “Skunk Works” พวกเขาซุกตัวอยู่ในอ๊อฟฟิศเล็ก ๆ บนพื้นที่อุตสาหกรรมไฮเทคขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของซาน ฟรานซิสโก พวกเขาต้องใช้เวลาถึงสองปีกว่าที่จะสามารถสร้างระบบบันทึกเสียงและตัดต่อเสียงสำหรับสัญญาณ DSD ออกมาสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

และเนื่องจากมันถูกสร้างขึ้นทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย พวกเขาจึงขนานนามมันว่า Sonoma Workstation ปัจจุบัน เจ้า Sonoma Workstation ยังคงถูกใช้งานอยู่ มีศิลปินอยู่ทั่วโลกที่เจาะจงที่จะทำการบันทึกเสียงแบบ High-Resolution Audio เพื่อปั๊มออกมาจำหน่ายเป็นแผ่น SACD และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งจะทำการบันทึกเพื่อการสตรีมผ่านระบบออนไลน์ด้วย

เป็นที่ยอมรับกันว่า Sonoma Workstation เป็นหนึ่งในระบบบันทึกเสียงในสตูดิโอที่ให้คุณภาพเสียงได้ยอดเยี่ยมมากระบบหนึ่ง และด้วยคุณภาพที่เยี่ยมยอดนี่เอง ที่ทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโปรเจค Model One Headphone System นี้ขึ้นมา..

* หัวหน้าทีมเป็นคนญี่ปุ่น มีชื่อว่า David H. Kawakami โดยรับตำแหน่ง GM สำหรับโปรเจคนี้ ซึ่งมิสเตอร์คาวาคามิคนนี้เป็นคนที่คลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีดิจิตัล ออดิโอมาตลอด

M1 HEADPHONE
“The Headphone” ย้ำกันอีกทีว่า Sonoma Acoustics คือชื่อเต็ม ๆ ของแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ที่ผมกำลังจะรีวิวตัวนี้ ส่วนชื่อรุ่นเต็ม ๆ อย่างเป็นทางการของผลิตภัณฑ์ตัวนี้ก็คือ “Model One Electrostatic Headphone System”

ซึ่งอยากจะให้สังเกตว่าผู้ผลิตใช้คำเรียกหูฟังตัวนี้ว่า “Headphone System” นั่นก็เพราะว่า ไม่ได้มีเฉพาะตัวหูฟังอย่างเดียว แต่ในชุดของมันมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคพ่วงมาด้วยหนึ่งชิ้น ให้ชื่อรุ่นว่า “M1 AMP” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้ใช้คู่กัน

เบื้องต้นนี้เรามาพิจารณาที่ตัวหูฟัง M1 HEADPHONE กันก่อน.. ทีมออกแบบของ Sonoma Acoustics ได้ตั้งเป้าหมายก่อนจะเริ่มต้นออกแบบหูฟังตัวนี้ไว้ 2 ประเด็นหลัก ๆ นั่นคือ

1. ต้องให้คุณภาพเสียงออกมาได้เต็มตามมาตรฐาน High-Resolution Audio อย่างชนิดที่หาใครเทียบได้ยาก (พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ให้เหนือกว่า มาตรฐานที่หูฟังทั่ว ๆ ไปทำได้นั่นเอง)

2. ต้องสวมใส่สบายที่สุดด้วย

และเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายข้อแรก ทีมออกแบบของหูฟังตัวนี้ได้เลือกใช้ไดรเวอร์อิเล็กโตรสแตตริกเป็นตัวขับความถี่เสียง เนื่องเพราะว่า ไดรเวอร์อิเล็กโตรสแตตริกมีคุณสมบัติหลายด้านที่เหมาะสมกับการถ่ายทอดเสียงตามมาตรฐานไฮเรสฯ ออดิโอมากที่สุดเมื่อเทียบกับไดรเวอร์แบบอื่น ๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด

แต่กระนั้น ไดรเวอร์อิเล็กโตรสแตตริกก็ไม่ใช่ของใหม่ มันถูกนำมาใช้ในการผลิตไดรเวอร์ของลำโพงบ้านมาก่อน และยังได้ถูกนำมาใช้ในการผลิตไดรเวอร์สำหรับหูฟังมาก่อนหน้านี้แล้วด้วย รุ่นที่ดังมาก ๆ ก็มี Sennheiser รุ่น Orpheus HE90 ซึ่งออกมาตั้งแต่ต้นทศวรรต 90 โน่นเลย

อีกเจ้าก็คือ Stax รุ่น SR-009 ที่มีราคาประมาณห้าพันกว่าเหรียญ แต่ที่ผ่าน ๆ มาก็ยังไม่เคยมีผู้ผลิตหูฟังเจ้าไหนที่กล้าประกาศออกมาโต้ง ๆ ว่าหูฟังของพวกเขาสามารถให้เสียงได้ตามมาตรฐาน High-Resolution Audio มาก่อน เหตุผลอย่างหนึ่งก็คงเป็นเพราะว่ามาตรฐาน High-Resolution Audio สำหรับผู้บริโภคทั่วไปเพิ่งจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในขณะนี้

กับอีกเหตุผลที่ทำให้ทาง Sonoma Acoustics กล้าเคลมเช่นนั้น ก็เพราะว่าทีมงานที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบหูฟังชุดนี้เป็นทีมงานชุดเดียวกันกับทีมงานที่อยู่เบื้องหลังการให้กำเนิดมาตรฐานระบบเสียง High-Resolution Audio นั่นเอง..

A = ด้านหลังของไดรเวอร์ อิเล็กโตรสแตตริกแบบพิเศษที่ชื่อว่า HPEL single-ended electrostatic
B = โครงตัวถังหรือ ear-cups ขนาดใหญ่สามารถครอบใบหูไว้ได้ทั้งหมด ทำมาจากแม็กนีเซี่ยมที่ฉีดขึ้นรูปซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าวัสดุแบบอื่น อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่ช่วยแด๊มปิ้งได้ดีและยังช่วยป้องกันการรบกวนจากคลื่น RFI และ EMI ได้ดีกว่าวัสดุที่เป็นโลหะอย่างอื่นอีกด้วย
C = head-band หรือโครงคาดศีรษะที่แข็งแรงแต่น้ำหนักเบา บุด้านในที่สัมผัสกับศีรษะด้วยหนังแกะชนิดพิเศษ ที่ให้ความนุ่มนวลขณะสวมใช้งาน

ถึงแม้ว่า M1 HEADPHONE จะใช้ไดรเวอร์อิเล็กโตรสแตตริก แต่พวกเขาก็ไม่ได้ไปหยิบเอาไดรเวอร์อิเล็กโตรสแตตริกแบบที่มีผู้ผลิต  OEM ทั่วไปมาใช้ พวกเขาได้ร่วมมือกับบริษัทผู้คิดค้นและผลิตไดรเวอร์อิเล็กโตรสแตตริกแบบใหม่เจ้าหนึ่ง ชื่อว่า Warwick Audio Technologies ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ประเทศอังกฤษ

บริษัทนี้ได้คิดค้นไดรเวอร์อิเล็กโตรสแตตริกที่ใช้เทคนิคพิเศษขึ้นมาชนิดหนึ่ง ชื่อว่า High Precision Electrostatic Laminates (ย่อว่า HPEL)

ไดรเวอร์ HPEL = High Pecision Electrostatic Laminates

ส่วนประกอบหลักของไดรเวอร์ HPEL มีอยู่ 4 ชิ้น ชิ้นล่างสุดคือแผ่นฟิล์มเคลือบสารตัวนำซึ่งมีความหนาเพียงแค่ 15 ไมครอน (บางกว่าเส้นผมมนุษย์!) ทำหน้าที่เป็นไดอะแฟรม ซึ่งจะขยับตัวไปตามแรงกระตุ้นจากแผ่น grid (สแตนเลส = ชั้นที่สาม)

ในขณะที่แผ่นไดอะแฟรมถูกแบ่งออกเป็นช่อง ๆ จำนวน 8 ช่องโดยแผ่น spacer (ทำมาจากวัสดุ Formex = ชั้นที่สอง) และโครงพลาสติก (polycarbonate ‘cassette’ = ชั้นบนสุด) เมื่อมีสัญญาณเสียงผ่านเข้ามาในระบบจะถูกขยายด้วยไฟดีซีที่ระดับ 1,350 V ผ่านไปบนแผ่น grid และกระตุ้นให้แผ่นฟิล์มไดอะแฟรมเกิดการสั่นเป็นคลื่นเสียงขึ้น

ซึ่งลักษณะการเกิดคลื่นเสียงของไดรเวอร์อิเล็กโตรสแตตริกของหูฟังตัวนี้จะให้คุณภาพสูงกว่าคลื่นเสียงที่เกิดจากไดรเวอร์อิเล็กโตรสแตตริกแบบเดิม เนื่องจากไม่มีแผ่น grid มาบัง ตัวแผ่นไดอะแฟรมของไดรเวอร์แบบใหม่นี้จะส่งผ่านคลื่นเสียงยิงเข้าหูของผู้สวมโดยตรง ทำให้ได้รายละเอียดเสียงที่ครบถ้วนกว่า และได้เสียงที่เปิดกระจ่างมากกว่า

มองทะลุเข้าไปใน ear-cups จะสังเกตเห็น
โครงสร้างภายในของตัวไดรเวอร์ได้ชัดเจน..
แผ่นไดอะแฟรมที่ถูกบล็อคแยกพื้นที่ออกเป็นรูปเหลี่ยมเล็ก ๆ
จะทำปฏิกิริยาเหมือนหนังกลองที่สั่นด้วยความถี่ที่ต่างกัน
ในแต่ละส่วน ทำให้เกิดเป็นความถี่ออกมาต่างกัน

นอกจากเน้นทางด้านคุณภาพเสียงอย่างถึงที่สุดแล้ว ตามปรัชญาที่ทีมออกแบบหูฟังชุดนี้ตั้งไว้ นั่นคือต้องสวมใส่สบายที่สุดด้วย ทีมออกแบบหูฟังตัวนี้จึงเลือกใช้หนังแกะส่วนที่นิ่มที่สุด (เรียกว่า cabretta sheepskin) มาใช้หุ้มชิ้นส่วนที่สัมผัสกับใบหูคือตัว ear-pad และสัมผัสกับศีรษะคือตัว headband-pad ของหูฟังตัวนี้ เพื่อให้ผู้สวมใส่รู้สึกนุ่มสบายและสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานโดยไม่รู้สึกล้า

ด้วยโครงสร้างภายนอกสีบรอนซ์เงิน
ตัดกับส่วนที่เป็นหนังแกะสีดำ ช่วยส่งให้
หูฟังตัวนี้ดูหรูเลิศและเลอค่ามากเป็นพิเศษ ..

ส่วนแผ่นคาดศีรษะที่ต้องมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อการใช้งานสูงจึงใช้สแตนเลสดามโครงด้านในไว้ ในขณะที่ส่วนกลไกที่ใช้ในการปรับระยะของหูฟังให้เหมาะสมกับขนาดศีรษะของผู้สวมใส่ ซึ่งต้องแกร่งมากไม่หักง่ายเมื่อผู้ใช้ปรับขนาดใช้งานอยู่บ่อย ๆ และที่สำคัญคือต้องมีน้ำหนักเบาด้วย

ซึ่งทีมออกแบบหูฟังตัวนี้ได้เลือกใช้วัสดุประเภทโพลีเมอร์ชนิดพิเศษที่รู้จักกันในชื่อทางเคมีว่า Nylon 12 เพราะมีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการคือเบาและไม่หักเสียหายง่าย ๆ

M1 AMP “ENERGIZER & DAC”
จริง ๆ แล้วตัวกล่องอิเล็กทรอนิคที่มาพร้อมกับหูฟังมีชื่อเรียกเฉพาะตัว โดยพิมพ์สกรีนติดไว้ที่แผงหลังของตัวเครื่องว่า M1 AMP แต่ในเว็บไซต์กลับเรียกขานอุปกรณ์ตัวนี้ไปอีกอย่างหนึ่งว่า ENERGIZER & DAC ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่แสดงคุณสมบัติของกล่องอิเล็กทรอนิคตัวนี้ได้ชัดเจน

ตัวหูฟังกับแอมป์ฯ แยกใส่กล่องมาสองกล่อง
กล่องที่ใส่มาก็ออกแบบซะอย่างหรูเลย..
มีแยกชั้นนอกกับชั้นในด้วย

นั่นคือเป็นทั้งตัวจ่ายกำลัง (Energizer) และแปลงสัญญาณดิจิตัลเป็นอะนาล็อก (DAC) ทำหน้าที่ 2 อย่างในตัวเดียวกัน

A : สวิทช์โยกเพื่อเลือกแหล่งอินพุต ระหว่างสัญญาณอะนาล็อกกับดิจิตัล ถ้าเลือกไปที่ตำแหน่ง ANALOG ซึ่งมีขั้วต่ออินพุตสำหรับรองรับสัญญาณอะนาล็อกมาให้ที่ด้านหลัง 2 ชุดคือ mini 3.5mm (LOW) กับขั้วต่อ RCA L/R (HIGH)

ซึ่งคุณต้องการฟังจากอินพุตไหนระหว่างสองอินพุตนี้ คุณต้องย้อนกลับไปสับสวิทช์เลือกระหว่างสองอินพุตนี้ด้วย ในกรณีที่คุณสับสวิทช์เลือกอินพุตขึ้นด้านบนเพื่อเลือก DIGITAL

ซึ่งที่แผงหลังก็มีขั้วต่อสัญญาณดิจิตัลมาให้ 2 ชนิดเช่นกันคือ coaxial (รองรับสัญญาณ PCM มาตรฐาน S/PDIF) กับ USB อย่างละหนึ่งช่อง โดยที่ภายในตัวเครื่องได้ปรับตั้งให้ความสำคัญกับช่อง coaxial เป็นอันดับแรก

นั่นคือถ้าคุณเชื่อมต่อไว้ทั้งสองช่องคือทั้ง coaxial และ USB และเปิดเครื่องใช้งานพร้อมกันทั้งสองช่อง วงจร DSP ในตัว M1 AMP จะสวิทช์เลือกอินพุตที่ช่อง coaxial มาเล่น ถ้าต้องการเล่นอินพุต USB คุณต้องปิดการทำงานของเครื่องที่เชื่อมต่ออยู่ที่ช่อง coaxial ลงซะก่อน

B : ปุ่มปรับวอลลุ่ม

C : ขั้วต่อสำหรับเชื่อมต่อกับแจ๊คหูฟัง

เนื่องจากภาคขยายในตัว M1 AMP ทำงานในโหมด Discrete Single-Ended Class-A ที่ตั้งกระแสไบอัสไว้สูงมาก (ใช้ FET) เพราะต้องป้อนไฟเลี้ยงให้กับวงจร drive ตัวไดรเวอร์อิเล็กโตรสแตตริกด้วย ซึ่งถูกกำหนดพีคของสัญญาณสวิงไว้ที่ระดับ 145V (rms)

เมื่อใช้งานต่อเนื่องไปประมาณครึ่งชั่วโมงที่ตัวเครื่อง M1 AMP จะมีความร้อนพอสมควร แต่ไม่มาก ใช้มือแตะได้ไม่อันตราย และไม่ต้องพะวงกับอายุใช้งาน เพราะอุปกรณ์ภายในใช้ของดีทั้งนั้น มีทั้ง AVX, Bourns และ Vishay

A : ขั้วต่อไฟเลี้ยงจากอะแด๊ปเตอร์
B : สวิทช์เมนที่ใช้เปิด/ปิดเครื่อง
C : ช่องดิจิตัลอินพุต USB
D : ช่องดิจิตัลอินพุต coaxial รองรับได้เฉพาะสัญญาณ PCM สูงสุดได้ถึง 24/192
E : ช่องอะนาล็อกอินพุต RCA L/R รองรับสัญญาณเกนสูง (2.1 V rms)
F : ช่องอะนาล็อกอินพุต mini 3.5mm รองรับสัญญาณเกนต่ำ (850 mV rms)
G : สวิทช์โยกเพื่อเลือกช่องอินพุตอะนาล็อกระหว่าง mini 3.5mm กับ RCA L/R

ภาค DAC ในตัว M1 AMP ใช้ชิป 32-bit ของ ESS Technologies ไม่ได้บอกว่าเป็นเบอร์อะไร.? บอกแต่ว่าเป็น stereo DAC chip จำนวน 2 ตัว แยกทำงานสำหรับสัญญาณซีกซ้ายและขวาอิสระจากกันแบบ dual mono และใช้ชิป ADC 32-bit/384kHz ระดับพรีเมี่ยมของยี่ห้อ AKM ในการแปลงสัญญาณอะนาล็อกอินพุตให้กลายเป็นสัญญาณดิจิตัลก่อนจะปรับแต่งด้วย DSP 64-bit แล้วส่งเข้าภาค DAC

ซึ่งทุกกระบวนการทำงานในส่วนของดิจิตัลโดเมนจะถูกควบคุมด้วยสัญญาณมาสเตอร์คล็อคที่มีความแม่นยำสูงที่ระดับ 100MHz ซึ่งผลิตจากตัวกำเนิดสัญญาณคล็อคของ Crystek ซึ่งเป็นออสซิเลเตอร์ที่มีความเพี้ยนเชิงเฟสต่ำมาก ๆ (จิตเตอร์ต่ำมากเพียงแค่ 82 femtoseconds เท่านั้น!) และแน่นอนว่าให้ปริมาณของสัญญาณรบกวนที่ต่ำมากด้วย

A : แท่งเฟอร์ไร้ท์ขนาดใหญ่มาก ใช้ป้องกันคลื่น EMI ทางฝั่งไฟ DC ที่จะป้อนเข้าสู่ตัวเครื่อง
B : ขั้วต่อไฟดีซีของตัวสายที่ใช้ระบบหมุนล็อคเพื่อความแน่นหนาและป้องกันหลุด
C : ฝั่งอินพุตของไฟเอซีเป็นปลั๊ก 3 ขา เปิดโอกาสให้คุณอัพเกรดเปลี่ยนสายไฟเอซีคุณภาพสูงได้

ไฟเลี้ยงสำหรับตัว M1 AMP ถูกแยกออกมานอกตัวเครื่อง มาเป็นสวิทชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายขนาดเขื่อง สามารถจ่ายไฟเลี้ยงให้กับภาคแอมปลิฟายได้มากกว่าความต้องการปกติของแอมปลิฟายถึง 3.5 เท่า จึงไม่มีปัญหาเรื่องไดนามิกของเสียงอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น ภาคสวิทชิ่งยังถูกออกแบบให้ทำงานที่ความถี่คงที่ ซึ่งสูงกว่า 85kHz เพื่อป้องกันไม่ให้สัญญาณสวิชชิ่งตกลงมาถึงระดับย่านความถี่ของสัญญาณเสียง มีการออกแบบระบบฟิลเตอร์ภายในเพื่อให้มีสัญญาณรบกวนและอาการริปเปิ้ลต่ำที่สุด

ตัวสายไฟที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างไฟเลี้ยงดีซีกับขั้วต่อที่เสียบเข้ากับตัวเครื่องเป็นสายที่มีชีลด์และหุ้มภายนอกด้วยตาข่ายไนล่อนสีดำเพื่อให้แม็ทชิ่งกับสายสัญญาณของหูฟังที่มีลักษณะภายนอกแบบเดียวกัน

A : ขั้วต่อ DIN 8 ขา ของสายสัญญาณด้านที่เชื่อมต่อกับเอ๊าต์พุตของตัว M1 AMP แยกสำหรับนำส่งสัญญาณเสียงและไฟเลี้ยงสำหรับแผงวงจรอิเล็กโตรสแตตริก แชนเนลละ 4 ขา
B : ขั้วต่อของสายสัญญาณด้านที่ไปเข้าที่หูฟัง แยกซ้าย-ขวา ลักษณะการเชื่อมต่อด้วยขั้วต่อ 4 จุด

ลองเล่น + ฟังเสียง
เนื่องจากตัวกล่อง M1 AMP รองรับอินพุตได้ทั้งอะนาล็อกและดิจิตัล แต่ใช้ขั้วต่อที่ต่างกันถึงสี่รูปแบบ ทำให้สามารถรองรับสัยญาณอินพุตจากอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงได้หลากหลายมาก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีเครื่องเล่นซีดีหรือเครื่องเล่นดีวีดีแบบตั้งโต๊ะอยู่แล้ว คุณก็สามารถใช้เครื่องเล่นของคุณเล่นแผ่นเพลงซีดีแล้วต่อเชื่อมสัญญาณดิจิตัลออกทางช่อง coaxial output ของเครื่องเล่นซีดีหรือดีวีดีของคุณมาเข้าที่ช่อง coaxial input ของตัว M1 AMP ก็ได้

หรือถ้าคุณมั่นใจว่า ภาค DAC ในตัวเครื่องเล่นของคุณมีคุณภาพสูงกว่าภาค DAC ที่อยู่ในตัว M1 AMP ก็ ใช้สายอะนาล็อก L/R เชื่อมต่อสัญญาณจากเครื่องเล่นของคุณทางช่อง Analog output มาเข้าที่ช่อง Analog input L/R ของ M1 AMP ก็ได้

อีกรูปแบบหนึ่งที่คุณสามารถทำได้ คือถ้าคุณมีชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียง + ภาคโฟโนสเตจ (ภาคขยายสัญญาณจากหัวเข็ม) อยู่แล้ว คุณก็สามารถเชื่อมสัญญาณ Analog output จากตัวโฟโนสเตจของคุณมาเข้าที่ช่อง Analog input ของตัว M1 AMP ก็ได้

จะเห็นว่า ตัว M1 AMP เปิดโอกาสให้คุณใช้งานมันได้หลากหลายสถานะ ขึ้นอยู่กับแหล่งต้นทางสัญญาณของคุณว่าจะส่งสัญญาณเสียงออกมาในรูปแบบไหน.? ผ่านทางขั้วต่อแบบไหน.?

ในการทดสอบหูฟัง Sonoma Acoustics ตัวนี้ ผมจะแยกสรุปผลการทดลองฟังออกไปตามรูปแบบการเชื่อมต่อเพื่อให้เห็นภาพได้ครบ..

ลองเล่นกับ ZX-100 เข้าทาง RCA

เมื่อลองฟังเสียงของหูฟังชุดนี้โดยป้อนสัญญาณอะนาล็อกจากเครื่องเล่นไฟล์เพลงของ Sony รุ่น ZX-100 ผมลองใช้สายสัญญาณ mini 3.5mm > RCA L/R เพื่อป้อนสัญญาณจาก ZX-100 เข้าที่อินพุต RCA L/R ของตัว M1 AMP ปรากฏว่า เสียงออกมาเบามาก ต้องเร่งวอลลุ่มที่ตัว M1 AMP ขึ้นไปเกือบสุด เสียงก็ยังออกมาเบาและไม่มีแรง

ทั้ง ๆ วอลลุ่มที่ตัว ZX-100 ก็ถูกเร่งขึ้นไปจนสุดแล้ว ไม่ว่าจะเล่นไฟล์ฟอร์แม็ตไหนผลก็ออกมาแบบเดียวกันคือเบาและไม่มีแรง ซึ่งเป็นอาการที่ฟ้องว่า เกนระหว่างอินพุตกับเอ๊าต์พุตไม่แม็ทชิ่งกัน

ลองเล่นกับ ZX-100 เข้าทาง mini 3.5mm

หลังจากนั้น ผมก็ลองเปลี่ยนมาใช้สายสัญญาณอะนาล็อก mini 3.5mm > mini 3.5mm โดยป้อนสัญญาณอะนาล็อกจากตัว ZX-100 เข้าที่ M1 AMP ทางช่อง mini 3.5mm ปรากฏว่าคราวนี้เสียงมาเต็ม.!

คราวนี้ผมเร่งวอลลุ่มที่ M1 AMP แค่บ่ายโมงเท่านั้น เสียงที่ออกมามีทั้งพลังและเปิดกว้างออกไปมาก สรุปได้ว่า ที่ช่องอินพุตอะนาล็อก mini 3.5mm กับช่อง RCA L/R ถูกต้องอินพุตมาไม่เท่ากันจริง ๆ และต่างกันมากด้วย ต้องระวังจุดนี้ด้วย..!!

ลองเล่นกับ KANN เข้าทาง mini 3.5mm

เนื่องจากทั้งตัวหูฟังและตัวกล่องแอมป์ M1 AMP ถูกออกแบบมาให้ตอบสนองการเล่นไฟล์ไฮเรสฯ ที่มีแบนด์วิธกว้างมากเป็นพิเศษ และแม้ว่าตัวเครื่อง M1 AMP จะถูกออกแบบมาโดยมีการชีลด์ป้องกันคลื่นรบกวนต่าง ๆ มาแน่นหนาพอสมควรแล้ว

แต่เมื่อผมทดลองใช้ตัว QKORE ของ Nordost ช่วยขจัดปัญหาเรื่องกราวนด์ของตัวเครื่อง M1 AMP และลองใช้แผ่นยาง 3D Pro-1 ของ Sixth Elements มาช่วยสลายไฟฟ้าสถิตย์ให้ ปรากฏว่าก็ยังฟังออกว่าทำให้เสียงดีขึ้น ใครต้องการคุณภาพระดับ “สูงสุด” ต้องหาอุปกรณ์เสริมมาลองใช้ดูครับ..

ผมลองเปลี่ยนมาใช้เครื่องเล่นไฟล์เพลงของ Astell&Kern รุ่น KANN แทน Sony : ZX-100 โดยใช้อินพุต mini 3.5mm เหมือนเดิม ปรากฏว่า คุณภาพเสียงออกมาดีมากกว่าตอนใช้ ZX-100 คือ เนื้อมวลเสียงออกมาเต็มมากขึ้น เวทีเปิดกว้างมากขึ้น แจกแจงรายละเอียดได้ชัดเจนมากขึ้นทั้งย่านเสียง ซึ่งก็เป็นไปตามคุณภาพของ DAP ที่มีราคาต่างกันประมาณสองเท่าตัว

ลองเล่นไฟล์เพลงจากคอมพิวเตอร์ส่งสัญญาณเข้าทางช่อง USB
A : สาย USB type A > type B ของ Nordost รุ่น Valhalla 2
B : สายสัญญาณอะนาล็อก

ผมตบท้ายการทดสอบอินพุต USB ของ M1 AMP ด้วยการลองเล่นไฟล์เพลงบนคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม roon แล้วส่งสัญญาณดิจิตัลเข้าไปที่ตัว M1 AMP คือทางขั้วต่อ USB ซึ่งผมทดลองใช้ทั้งคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ Windows ของไมโครซอฟท์และระบบปฏิบัติการณ์ OS X ของแมคฯ

ซึ่งหากคุณเล่นด้วยคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ Windows คุณต้องลงไดรเวอร์ USB 2.0 ที่ทาง Sonoma Acoustics จัดเตรียมไว้ให้ซะก่อน (ลิ้งค์) เนื่องจากช่องอินพุต USB ที่ตัว M1 AMP ให้มานั้นเป็นมาตรฐาน USB 2.0 ที่ถูกกำหนดมาให้สามารถรองรับสัญญาณดิจิตัล PCM ได้สูงถึงระดับ 32bit/384kHz และรองรับสัญญาณดิจิตัล DSD ได้สูงถึงระดับ DSD128 (ฟอร์แม็ต DoP)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องใช้งานร่วมกับไดรเวอร์ USB 2.0 ที่ทาง Sonoma Acoustics จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น (ทาง Sonoma Acoustics เลือกใช้ชิป receiver ของ XMOS) แต่สำหรับคนที่นำ M1 AMP ไปใช้กับคอมพิวเตอร์แมคฯ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ OS X ไม่ต้องลงไดรเวอร์ใด ๆ ก็สามารถรองรับสัญญาณได้สูงสุดตามที่กำหนดไว้ทางช่อง USB

หลังจากเชื่อมต่อสาย USB ระหว่างคอมพิวเตอร์ Mac Mini กับอินพุต USB ของตัว M1 AMP แล้ว ตัวโปรแกรม roon จะมองเห็นไดรเวอร์ “USB Audio Class 2” ที่อยู่ในช่อง USB ของตัว M1 AMP ทันที (ในกรอบแดง) และพร้อมให้คุณเข้าไปจัดการปรับตั้งค่าต่าง ๆ ของไดรเวอร์ได้

อย่างในตัวอย่างข้างต้น ผมก็เปลี่ยนชื่อ Zone ให้กับ M1 AMP เป็น “Sonoma MODEL ONE” ในภาพเพื่อให้รู้ว่ากำลังเล่นเพลงไปที่ DAC ตัวไหนกรณีที่มีเอ๊าต์พุตหลายโซน

เข้ามาปรับตั้งค่าต่าง ๆ ของไดรเวอร์ USB ของตัว M1 AMP ซึ่งในภาพจะเห็นว่า หลังจากโปรแกรม roon ทำการมอนิเตอร์ภาค DAC ในตัว M1 AMP ผ่านทางไดรเวอร์เสร็จแล้ว มันแจงผลให้ทราบว่า ภาค DAC ในตัว M1 AMP สามารถรองรับสัญญาณอินพุตฟอร์แม็ต PCM แบบ bit-perfect* ได้ตั้งแต่ระดับแซมปลิ้งที่ 44.1kHz ขึ้นไปจนถึงสูงสุดที่ระดับแซมปลิ้ง 384kHz

และสามารถรองรับสัญญาณอินพุตฟอร์แม็ต DSD ได้แบบ bit-perfect (สีเขียว) ตั้งแต่ DSD64 ไปจนถึง DSD128 (ในกรอบ) ส่วนรูปแบบสัญญาณที่แสดงเป็นสีแดงบอกให้รู้ว่า ภาค DAC ในตัว M1 AMP สามารถ “เล่น” ไฟล์ระดับนั้นได้ แต่จะถูกลดรูปลงมาอยู่ในระดับที่สามารถรองรับได้เท่านั้น ไม่ได้เล่นในลักษณะที่เป็น bit-perfect

* bit-perfect = หมายถึงการ “รับ/ส่ง” สัญญาณดิจิตัลระหว่างภาค DAC กับคอมพิวเตอร์โดยที่สัญญาณทางฝั่งผู้รับปลายทาง (DAC) ที่ได้รับมาจากทางฝั่งผู้ส่งต้นทาง (คอมฯ) จะมีลักษณะและคุณสมบัติ “เหมือนกัน” ทุกประการ ซึ่งเป็นการบอกให้รู้ว่าเป็นการรับ/ส่งสัญญาณที่ให้ผลต่อเสียง “ดีที่สุด” นั่นเอง

เมื่อผมลองเล่นไฟล์ DSF64 กับตัว M1 AMP ตัวโปรแกรม roon มันแจ้งให้ทราบว่า ระหว่างคอมพิวเตอร์กับภาค DAC ในตัว M1 AMP รับ/ส่งสัญญาณ DSD ระหว่างกันด้วยฟอร์แม็ต DoP ซึ่งเป็นวิธีรับ/ส่งสัญญาณ DSD แบบ Lossless ชนิดหนึ่ง

จากข้อมูลของผู้ผลิตที่ระบุว่า ทีมออกแบบหูฟังชุดนี้คือทีมที่อยู่เบื้องหลังผู้ให้กำเนิดฟอร์แม็ต DSD ผมจึงตั้งใจในการทดลองฟังไฟล์ DSD กับหูฟังชุดนี้มากเป็นพิเศษ เตรียมมาลองฟังครบทั้ง DSD64 และ DSD128

อัลบั้มชุด Franz Von Suppe – Overtures and Marches ศิลปิน Royal Scottish National Orchestra; Neeme Jarvi, conductor (Chandos Records CHSA 5110)(DSF64 Stereo)

เพลงในอัลบั้มชุดเป็นแนวมาร์ชและโอเวอเจอร์ที่แสดงถึงพลังที่โอ่อ่า หูฟังที่จะสามารถถ่ายทอดอรรถรสของเพลงในอัลบั้มชุดนี้ออกมาได้ตรงกับสิ่งที่ถูกบันทึกอยู่ในอัลบั้มนี้จำเป็นต้องมีคุณสมบัติในการถ่ายทอดไดนามิกเร้นจ์ของเสียงที่สวิงได้กว้างมาก ๆ และต้องสามารถทนรับกับ peak ของไดนามิกที่สูงปี๊ดได้ด้วยโดยไม่มีอาการแกว่งหรือแตกปลาย

ผมเคยฟังอัลบั้มชุดนี้กับชุดเครื่องเสียงบ้านมาแล้ว และบอกตามตรงว่า หาซิสเต็มที่สามารถ “ฉายภาพ” ของการบรรเลงออกมาได้อย่างที่เคยฟังวงมาร์ชบรรเลงกันสด ๆ ในสนามจริง ๆ ยากมาก.! คือพอเร่งวอลลุ่มดัง ๆ เพื่อที่จะปลดปล่อยปลายเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองและฉาบให้ออกมาสดและมีพลังสุดขีด ซิสเต็มที่เคยฟังก็จะเริ่มมีอาการแตกซ่านที่ปลายเสียงมาก่อนเลย

ต้นเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะลำโพงรองรับแบนด์วิธไม่กว้างพอ โดยมากจะขาดด้านสูง พอเอามาฟังกับหูฟังโซโนม่า M1 HEADPHONE ตัวนี้ มัน (M1 HEADPHONE) ทำให้ผมได้ยินอะไรบางอย่างที่แปลกไปจากเดิม

โอเคว่า ในแง่ของความดังนั้น ตัวแอมป์ M1 AMP สามารถดันออกมาได้ เพราะผมใช้วอลลุ่มไม่เกินบ่ายสองโมงก็พอแล้วกับความดังที่ได้ ทว่า “อะไรบางอย่างที่แปลกไปจากเดิม” ที่ผมเกริ่นขึ้นมาข้างต้นนั้นมันคือ “รายละเอียดเชิงซ้อน” ของเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ชนิดที่แผดขึ้นมาพร้อมกันในจังหวะนั้น ได้ถูกหูฟังตัวนี้แยกแยะมันออกจากกัน ทำให้ผมรับรู้ได้ว่า ท่ามกลางพลังเสียงที่โหมประโคมกันอยู่นั้น มันประกอบด้วยเสียงเครื่องดนตรีใดบ้าง

ซึ่งก่อนหน้านี้ผมยังไม่เคยถูก “สะกิด” ให้รู้มาก่อนว่ามีรายละเอียดแบบนี้อยู่ในเพลงที่ฟัง คือไม่ใช่ลักษณะเสียงที่แผดออกมาดังสนั่น แต่แยกไม่ออกว่าในเสียงนั้นมีเสียงเครื่องดนตรีอะไรบ้าง ในขณะที่หูฟัง M1 HEADPHONE ตัวนี้สะกิดให้ผมรู้ว่า ในความแผดสนั่นนั้นมันประกอบไปด้วยเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองหลากหลายชนิด เสียงฉาบใบใหญ่ และเสียงฟรุ๊ทที่พยายามแทรกตัวลอยขึ้นมาเหนือคนอื่น

ยิ่งไปกว่านั้น ผมพบว่า หูฟังโซโนม่า M1 HEADPHONE ตัวนี้ให้ปลายเสียงแหลมที่มีลักษณะเปิดกระจ่าง สวิงไดนามิกได้กว้าง และที่สำคัญที่สุดคือ แทบจะไม่รู้สึกล้าหูเลย ทั้ง ๆ ที่ผมเปิดเสียงค่อนข้างดัง (เพลงลักษณะนี้ฟังไม่ดังมันไม่ถึงรสครับ.!)

ได้ยินแบบนี้ต้องบอกว่า สมแล้วครับกับสเปคฯ frequency response ขั้นเทพของหูฟังตัวนี้ที่สามารถเปิดเผยความถี่เสียงออกมาได้กว้างมาก ตั้งแต่ 10Hz ขึ้นไปจนถึง 60kHz นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เสียงแหลมมันออกมาเปิดโล่งและไม่ระคายหู เพราะตัวไดรเวอร์มันไม่แสดงอาการรับไม่ไหวออกมานั่นเอง

อัลบั้มชุด Music For Organ, Brass and Timpani
ศิลปิน The Graham Ashton Brass Ensemble with
Duncan Patton, timpani & Anthony Newman, organ
(Sonoma Records SRSAM001)(DSF64 Stereo)

อัลบั้มนี้ถือว่าเป็นไฮไลท์ เพราะเป็นงานบันทึกเสียงที่ทีมผู้ออกแบบ Sonoma Workstation เป็นเจ้าของงาน ภายใต้ชื่อสังกัด Sonoma Records นัยว่าทำออกมาเพื่อโปรโมทฟอร์แม็ต SACD นั่นเอง

อัลบั้มนี้เป็นงานชุดที่หนึ่งของสังกัด ทุกขั้นตอนตั้งแต่บันทึกเสียง-ตัดต่อ และทำมาสเตอร์ ถูกทำด้วยระบบ DSD ทุกขั้นตอน เสียงของอัลบั้มชุดนี้จึงใช้เป็นบรรทัดฐานอ้างอิงประสิทธิภาพของอุปกรณ์เพลย์แบ็คสำหรับสัญญาณ DSD ได้เป็นอย่างดี ลักษณะเพลงเป็นออเคสตร้าที่ถูกประพันธ์ให้กับเครื่องดนตรีสามชนิดคือ ออร์แกน, เครื่องเป่าทองเหลือง และกลองทิมพานี

ส่วนตัวงานเพลงที่นำมาเรียบเรียงก็มีของคีตะกวีหลายคน อาทิ Richard Strauss, George Frederick Handel, Giovanni Grabrielli, Johann Sebastian Bach ฯลฯ ซึ่งย่านเสียงที่ครอบคลุมนั้นแน่นอนว่าต้องกว้างมาก ๆ คือตั้งแต่ความถี่ต่ำของออร์แกนไปจนถึงปลายเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองอย่างทรัมเป็ต

แต่สิ่งที่หูฟังที่เรียกได้ว่าดีจริง ๆ ต้องแสดงออกมาให้ได้ก็คือ “แอมเบี๊ยนต์” หรือมวลบรรยากาศของการแสดงสด ๆ ครั้งนี้ซึ่งบรรเลงกันในวิหาร St. Ignatius Loyola Church อยู่ในกรุงนิวยอร์ค (บันทึกเสียงกันเมื่อวันที่ 14-16 เดือนมิถุนายน ปี 2004

ผมลองฟังแทรคสุดท้ายคือเพลง The Great Gate ซึ่งตัดมาจากงานชุด Pictures at an Exhibition ฝีมือประพันธ์ของ Modeste Mussorgsky ก่อนเลย ซึ่งเวอร์ชั่นนี้มันให้อารมณ์ที่สวิงกว้างกว่าเวอร์ชั่นอื่น ๆ ที่เคยฟังมา มีช่วงลีลาที่ทำให้เกิดความรู้สึกลึกลับ คือในช่วงที่เสียงเครื่องเป่าทองเหลืองกับทิมพานีหยุดเล่น (ช่วงนาทีที่ 1:04 ถึง 1:38 และช่วงเวลา 2:13 ถึง 2:44) ปล่อยให้ออร์แกนเล่นอยู่เสียงเดียว

ซึ่งเสียงออร์แกนที่ได้ยินผ่านหูฟัง M1 HEADPHONE ในช่วงนี้ของเพลงมันให้เสียงออร์แกนที่ถอยลึกออกไปไกลจากเสียงเครื่องเป่ามาก พอฟังมาถึงตรงนี้ ผมต้องถอยกลับไปฟังซ้ำ เพราะที่ได้ยินจากหูฟังตัวนี้มันให้ความรู้สึกต่างไปจากที่เคยฟังผ่านลำโพงบ้านมากทีเดียว

คือตอนฟังผ่านลำโพงบ้านนั้น พอเสียงเครื่องเป่าหยุดเหลือเสียงออร์แกน จะรู้สึกว่ารูปวงของเสียงมันหุบวูบลงไป แต่ฟังจากหูฟังตัวนี้ไม่เป็นแบบนั้น แม้ว่าเสียงเครื่องเป่าจะหยุดลงเหลือแต่เสียงออร์แกน แต่ความรู้สึกของรูปวงที่โอ่โถงก็ยังคงอยู่ ยังรู้สึกได้ว่านักดนตรีในวง The Graham Ashton Brass Ensemble ยังคงนั่งรอเล่นอยู่ที่นั่น ไม่ได้หายไปไหน

ในขณะเดียวกัน แม้ว่าเสียงออร์แกนจะมีลักษณะที่ทุ้มนุ่ม ถอยห่างและค่อนข้างเบา แต่เสียงออร์แกนในหูฟัง M1 HEADPHONE กลับยังคงอิ่มเข้ม ไม่ได้รู้สึกว่ามันอ่อนแรงหรือบาง เพียงแค่ว่าความดังมันน้อยเท่านั้นเอง ที่ผมยังคงรู้สึกว่าเสียงมันยังเต็มก็เพราะว่า หูของผมยังคงได้รับข้อมูลส่วนที่เป็นแอมเบี๊ยนต์ของวิหารแห่งนั้นที่ห่อคลุมเสียงออร์แกนอยู่นั่นเอง

ในขณะที่ตอนฟังกับลำโพงบ้าน ถึงช่วงนี้ของเพลง ข้อมูลส่วนที่เป็นแอมเบี๊ยนต์ถูกดูดกลืนหรือสลายไปในอากาศของห้องฟังซะหมด แต่พอเสียงเครื่องเป่า ทิมพานี และออร์แกนแผดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน (ช่วงท้าย ๆ เพลง) มันทำให้รู้สึกฮึกเหิม ซึ่งหูฟัง M1 HEADPHONE ตัวนี้ก็สามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์ของผมให้สวิงไปตามอารมณ์ของเพลงได้อย่างทันควัน ไม่มีอาการสะดุดเลย

อัลบั้มชุด Soundtrack – Casio Royale
ศิลปิน composed and conducted by Burt Bacharach
(Classic Records DAD 1033)(LPCM 24/96 Stereo)

พอได้ฟังสองอัลบั้มข้างต้นแล้ว หูฟังตัวนี้ทำให้ผมรู้สึกทึ่งกับไดนามิกสวิงที่มันให้ออกมามาก ทั้งเร็วและฉีดพลังได้เต็มโดยที่ไม่มีอาการแตกปลาย แสดงถึงความสามารถในการรองรับสัญญาณแบนด์วิธกว้าง ๆ และความสามารถในการฉีดไดนามิกที่สวิงได้กว้างขวางของแอมป์ + หูฟังชุดนี้ที่ทำออกมาได้เยี่ยมยอดมาก

มันจะไปได้ดีแบบนี้เฉพาะกับสัญญาณ DSD หรือเปล่า.? เพื่อให้คลายความสงสัย ผมจึงเลือกไฟล์เพลง PCM มาลองฟังกับหูฟังชุดนี้ดูบ้าง นึกได้ว่า ผมมีไฟล์ LPCM 24/96 ของอัลบั้มซาวน์แทรคชุด Casio Royale ที่ริปมาจากแผ่น DAD ของค่ายคลาสสิก เรคคอร์ดอยู่ในฮาร์ดดิส

ซึ่งเพลงในอัลบั้มนี้ก็ออกลีลาฉีดไดนามิกสนั่นอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองของวง Tijuana Brass ภายใต้การนำของ Herb Alpert จึงไม่รอช้าที่จะเอามาฟังกับหูฟังชุดนี้ และเสียงที่เต็มไปด้วยพลังอัดฉีดที่ผมได้ยินจากหูฟัง M1 HEADPHONE ตัวนี้ก็ไม่ได้ต่างไปจากตอนฟังไฟล์ DSD สองอัลบั้มข้างต้นเลย

ลักษณะการทอดขยายเสียงแหลมออกไปอย่างเปิดเผยและปลดปล่อยอิสระจนถึงสุดปลายเสียงดูจะเป็นบุคลิกเฉพาะตัวของหูฟังตัวนี้ มันไม่ได้พยายามทำให้เสียงออกมานุ่มเอาใจหู แต่พยายามเปิดเผยสิ่งที่มีอยู่ในไฟล์เพลงเหล่านั้นออกมาให้ได้ยิน “อย่างตรงไปตรงมา” ..

อัลบั้มชุด This is Keiko Lee
ศิลปิน Keiko Lee
(Sony Music Entertainment 494877 2)
(WAV 16/44.1 Stereo)

นอกจากอัลบั้มชุด Music for Organ, Brass and Timpani แล้ว ทางกลุ่มของ Sony ยังได้ทดลองบันทึกเสียงเพลงด้วยฟอร์แม็ต DSD ออกมาอีกหลายชุด หนึ่งในนั้นคืออัลบั้มชุด This is Keiko Lee ชุดนี้

ซึ่งผมมีเวอร์ชั่นที่ปั๊มออกมาเป็นเวอร์ชั่น CD 16bit/44.1kHz ยังหาเวอร์ชั่น SACD ไม่ได้ ผมริปซีดีแผ่นนี้ไว้เป็นไฟล์ WAV 16/44.1 เมื่อเอามาทดลองฟังกับหูฟังชุดนี้แล้ว ปรากฏว่ามันให้เสียงออกมาดีมาก การแยกแยะชิ้นดนตรีเป็นเยี่ยม แต่ละชิ้นลอยตัวอยู่ในอากาศได้อย่างมั่นคง เคลื่อนไหวเป็นอิสระ มีพลังเสียงที่สวิงไดนามิกได้กว้างขวาง เนื้อเสียงเข้มข้น

คือแทบไม่รู้เลยว่ากำลังฟังเสียงจากไฟล์ 16bit/44.1kHz อยู่ แสดงว่า ภาค DSP ที่ทำงานคู่กับภาค DAC ในตัว M1 AMP มีประสิทธิภาพในการ “ปรับปรุง” ไฟล์เพลงที่มีเรโซลูชั่นระดับ CD quality ขึ้นมาให้มีเรโซลูชั่นใกล้เคียงกับไฟล์ไฮเรสฯ ได้อย่างแนบเนียนเลยทีเดียว

สรุป
หูฟังของ Sonoma Acoustics ตัวนี้ได้ตั้งความหวังให้กับผมไว้สูงมาก ซึ่งหลังจากได้ทดลองฟังมันมานานเกือบหนึ่งเดือนเต็ม ด้วยแหล่งต้นทางหลากหลายรูปแบบ ผมก็ยอมรับว่า หูฟังตัวนี้ได้สร้างความพึงพอใจให้ผมมากพอสมควร ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แสดงสิ่งที่อยู่ในเพลงออกมาให้ได้ยินแบบไม่มีการปิดบัง

นั่นคือจุดเด่นของหูฟังชุดนี้ในสายตาของผม เพราะมันทำให้เราได้สัมผัสกับ “resolution” ที่แท้จริงของไฟล์เพลงที่เรามี และแม้ว่าจะมีบางคนที่อาจจะไม่ถูกจริตกับลักษณะเสียงที่เปิดเผยอย่างถึงที่สุดแบบนี้ คุณก็สามารถเลือก “แหล่งต้นทางสัญญาณ + สายต่อเชื่อม” เพื่อปรับจูนโทนเสียงของมันให้ลงมาอยู่ในระดับที่คุณชอบได้

อีกอย่าง ตราบเท่าที่ตัว M1 AMP ใช้ DSP ในการควบคุมการทำงาน นั่นก็หมายความว่า มันก็ยังสามารถอัพเดตประสิทธิภาพต่อไปได้เรื่อย ๆ ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีอีกข้อหนึ่งของหูฟังที่มีภาคอิเล็กทรอนิคที่ออกแบบมาด้วยกันแบบนี้.. /


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
BKK Audio
โทร. 02-129-3391-2, 086-688-8575
ราคา 218,000 บาท

ธานี โหมดสง่า

นักเขียนอาวุโสมากประสบการณ์ เจ้าของวลี "เครื่องเสียงและดนตรีคือชีวิต"