รีวิว Sennheiser : HD 4.50 BTNC
“หูฟังไร้สายบลูทูธแบบฟูลไซส์ ยี่ห้อระดับเบอร์ต้น ๆ ของโลก มีระบบตัดเสียงรบกวนด้วย ราคาไม่เกิน 1 หมื่นบาท”… นี่ไม่ใช่โฆษณาหรือความคาดหวังลม ๆ แล้ง ๆ แต่อย่างใด ทว่ามันเป็นไปได้แล้วจริง ๆ ครับ สำหรับหูฟังของเซนไฮเซอร์ ‘Sennheiser’ รุ่น HD 4.50 BTNC
โอ้โฮ… เป็นไปได้อย่างไร? รุ่นล่าสุดของพวกเขา (PXC 550) ผมยังเห็นมันราคาเกือบ ๆ จะแตะสองหมื่นบาทอยู่เลย สงสัยรูปร่างหน้าตาตัวจริงคงจะไม่งามเท่าไรมั้ง…แต่เอ๊ะ ก็ไปได้รางวัล iF Design Award 2017 มาหมาด ๆ นี่หน่า แล้วเสียงล่ะเป็นอย่างไร? ใส่ใช้งานได้สบายหูหรือเปล่า? … คำถามเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้เกิดการรีวิวนี้ขึ้นมา
คุณสมบัติและการออกแบบ
การมาของ HD 4.50 BTNC เป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับตลาดของหูฟังไร้สายระดับแบรนด์เนม และอาจจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับหูฟังในระดับนี้อีกครั้ง ชื่อรุ่น ‘HD’ นั้นบ่งบอกว่าหูฟังรุ่นนี้ของเซนไฮเซอร์อยู่ในกลุ่มที่ ‘เน้นคุณภาพเสียง’ สำหรับ ‘BTNC’ ก็จำง่าย ๆ ครับว่ามาจากชื่อย่อของฟังก์ชันไร้สายบลูทูธ ‘Bluetooth’ และฟังก์ชันตัดเสียงรบกวน ‘Noise Cancelling’
HD 4.50 BTNC ถูกออกแบบให้เป็นหูฟังฟูลไซส์แบบครอบเต็มใบหู (Full Size Around-Ear) ระบบปิดหลัง มีไมโครโฟนในตัวสามารถใช้งานเป็นเฮดเซ็ตเพื่อคุยสายโทรศัพท์หรือสนทนาในแอพฯ ต่าง ๆ ได้
รับสัญญาณเสียงแบบไร้สายด้วยเทคโนโลยีบลูทูธ (Bluetooth 4.0, aptX Codecs) ที่มาพร้อมกับระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอคทีฟ (Active Noise Cancelling) ที่มีชื่อว่า ‘NoiseGard’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระบบตัดเสียงรบกวนที่พัฒนาขึ้นโดยเซนไฮเซอร์เอง เป็นระบบตัดเสียงรบกวนที่ทางเซนไฮเซอร์เขาคุยว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการตัดเสียงรบกวน
HD 4.50 BTNC ยังมีเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) เพื่อการเชื่อมต่อที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้นกับอุปกรณ์ที่รองรับ ด้วยลักษณะการทำงานเพียงแค่การแตะเบา ๆ ก็เชื่อมต่อกันได้เลย ไม่ต้องมานั่งกดปุ่มจับคู่ให้เสียเวลา
หูฟังรุ่นนี้มาพร้อมกับแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมโพลีเมอร์แบบชาร์จไฟซ้ำได้ในตัว จ่ายไฟ 3.7VDC, 600MAh สามารถใช้งานแบบไร้สายได้นานที่สุดถึง 25 ชั่วโมงเมื่อปิด NoiseGard และเหลือเวลาใช้งาน 19 ชั่วโมงเมื่อเปิดใช้งาน NoiseGard
นอกจากการใช้งานแบบไร้สายแล้ว ทางเซนไฮเซอร์ยังมีสายหูฟังสำรองให้ต่อใช้งาน HD 4.50 BTNC แบบ ‘ใช้สาย’ ได้ด้วย การใช้งานในลักษณะนี้เขาออกแบบเผื่อไว้ให้ในกรณีที่แบตเตอรี่หมด หรืออยู่ในบริเวณที่ไม่สามารถใช้สัญญาณบลูทูธได้
รายละเอียดทางเทคนิคแจ้งว่าหูฟังรุ่นนี้มีอิมพิแดนซ์ 18 โอห์ม (คงหมายถึงตัวไดรเวอร์) ความไวในโหมดพาสสีฟ (ใช้งานแบบต่อสายหูฟัง) อยู่ที่ 113dB (อ้างอิงที่ 1kHz/1Vrms) ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 18Hz-22kHz ความเพี้ยนในเชิงฮาร์มอนิกต่ำกว่า 0.5% (อ้างอิงที่ 1kHz/100dB) ช่วงความถี่ตอบสนองของไมโครโฟนในตัวอยู่ที่ 100Hz-10kHz และใช้ไมโครโฟนคู่แบบรับเสียงกึ่งรอบทิศทาง (Dual omnidirectional microphones)
สัมผัสแรก… องค์ประกอบต่าง ๆ ที่ดูเรียบง่ายและใช้งานได้จริง
เนื่องจาก HD 4.50 BTNC ส่งมาถึงผมในสภาพของสินค้า demo sample มีแค่ตัวหูฟัง สายหูฟังสำรอง (mini 3.5mm – mini 2.5mm) ความยาว 1.4 เมตร และกระเป๋าผ้าใบเล็ก ๆ สำหรับใส่ตัวหูฟังและอุปกรณ์ ไม่ได้มีกล่องใส่หรือรายละเอียดของอุปกรณ์ต่าง ๆ มาอย่างครบถ้วน
แต่เท่าที่ผมดูจากในเอกสารคู่มือซึ่งดาวน์โหลดได้จากเวบไซต์ของเซนไฮเซอร์พบว่านอกจากอุปกรณ์ที่ผมได้มารีวิวแล้ว ยังมีสายชาร์จ USB-microUSB ให้มาอีก 1 เส้นแบบเดียวกับสายชาร์จมือถือแอนดรอยรุ่นเก่าทั่ว ๆ ไปหรือเครื่องเล่น DAP อีกหลายรุ่น ดังนั้นมันจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการรีวิวของผม
นอกจากนั้นก็เป็นเอกสารคู่มือใช้งานอย่างง่าย (Quick guide) และคู่มือแนะนำความปลอดภัย (Safety guide) ให้มาด้วยอย่างละชุด ซึ่งก็มีให้ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของเซนไฮเซอร์อีกเช่นกัน
เมื่อได้สัมผัสตัวจริงของหูฟัง HD 4.50 BTNC ผมว่ามันอาจจะไม่ได้ดูเด่นสะดุดตาอะไรมากมาย แต่ดีไซน์โดยภาพรวมก็ดูดีอยู่นะครับ ดูดีแบบเรียบหรูสไตล์ยุโรปและรักษาเอกลักษณ์บางอย่างในการออกแบบของเซนไฮเซอร์เอาไว้ได้ดี สมแล้วที่ได้รางวัลในด้านการออกแบบมา
ตัวหูฟังมีโครงสร้างส่วนใหญ่ทำจากวัสดุพลาสติกเกรดดี ดูแน่นหนาทนทาน ตัวหูฟังออกแบบให้พับเก็บได้เพื่อความกะทัดรัดในการพกพา ในหูฟังรุ่นนี้อาจจะไม่ได้เลือกใช้วัสดุเกรดพรีเมี่ยม แต่ที่เป็นอยู่นี่ก็ไม่ได้ดูเป็นของราคาถูก ๆ หรือของโลว์เกรดแต่อย่างใด
เช่นกัน ก่อนการใช้งานเป็นครั้งแรกทางเซนไฮเซอร์แนะนำให้ชาร์จแบตจนเต็มก่อนหนึ่งรอบ ใช้เวลาไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงสำหรับการชาร์จปกติทั่วไปในขณะที่แบตเตอรี่อ่อน ตำแหน่งการสัมผัสใช้งานฟังก์ชัน NFC อยู่ที่กลางฝาปิดเอียร์คัพของหูฟังทางด้านซ้าย สำหรับฟังก์ชัน NFC ผมได้ลองใช้งานกับ Huawei Mate 9 การเชื่อมต่อรวดเร็วมากครับ แตะแป๊บเดียวรู้จักกันเลย
ส่วนปุ่มควบคุมและช่องเสียบสายต่าง ๆ จะอยู่ที่หูฟังทางด้านขวาทั้งหมด ประกอบไปด้วยไฟ LED แสดงสถานะ, ปุ่มเปิด-ปิด/จับคู่บลูทูธ, ปุ่มมัลติฟังก์ชัน, ปุ่มเพิ่ม-ลดความดังเสียง, ช่องเสียบสายหูฟังสำรอง, พอร์ต microUSB และช่องเล็ก ๆ ที่อยู่เยื้องไปทางด้านหน้าที่น่าจะเป็นตำแหน่งของไมโครโฟนสำหรับการสนทนา
ปุ่มฟังก์ชันต่าง ๆ ของ HD 4.50 BTNC ถือว่าใช้งานค่อนข้างง่าย เรียนรู้แป๊บเดียวก็ไม่ต้องอ่านคู่มือแล้วครับ แต่ตินิดหน่อยตรงปุ่มเปิด-ปิดและปุ่มมัลติฟังก์ชันที่ทำให้เผลอกดพลาดประจำเวลาใส่ใช้งานเพราะต้องคลำ ๆ เอา
อีกเรื่องคือการเลือกใช้งานหรือไม่ใช้งาน Noise Gard ซึ่งต้องกดปุ่มวอลุ่มเพิ่มและลดเสียงค้างไว้พร้อมกันนั้น เป็นอะไรที่ไม่สะดวกเอาเสียเลยครับอย่างน้อยก็ต้องใช้สองมือแถมไฟแสดงสถานะก็ชวนให้สับสนได้ง่าย ลองใช้ดูเองแล้วจะทราบครับว่าจุดนี้้ควรปรับปรุง แต่ถ้ามองในแง่ที่ว่าคงไม่ได้มาปรับกันบ่อยก็ถือว่ายังพอหยวน ๆ กันไป ปุ่มควบคุมส่วนที่เหลือถือว่าพอจะใช้งานได้คล่องมือเมื่อคุ้นเคยล่ะครับ ไม่ได้มีปัญหาอะไร
คุณภาพเสียง… เสียงมีชีวิตชีวา รายละเอียดดี เจือด้วยสีสันที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ
เฉกเช่นหูฟังและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปที่ต้องอาศัยเวลาในการเบิร์นอิน HD 4.50 BTNC ก็เช่นกัน ช่วงเวลาเบิร์นอินหูฟังรุ่นนี้อยู่ที่ราว ๆ 10-20 ชั่วโมง สุ้มเสียงก็เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วครับ ประมาณว่าใช้จนแบตเตอรี่หมดสักรอบก็เบิร์นจนได้ที่แล้วครับ
เวลาเปิดใช้งานหูฟัง ทุกครั้งจะเข้าโหมดใช้งานฟังก์ชันตัดเสียงรบกวนทุกครั้ง ระบบตัดเสียงรบกวนของหูฟังรุ่นนี้เป็นแบบ ‘ตัดไปพอประมาณ’ คือรับรู้ได้ชัดว่าเสียงจากภายนอกหายไปเยอะ โดยเฉพาะเสียงรบกวนในย่านความถี่ต่ำ ๆ แต่ไม่ได้ตัดกันแบบสุด ๆ ถึงขั้นวูบหายไปทั้งหมดเลยอย่างในหูฟัง Bose QC35 ข้อดีคือมันชินหูเราได้ง่าย (หูฟังที่ตัดเสียงรบกวนมาก ๆ ตอนใช้งานใหม่ ๆ อาจไม่ชินหู) แต่ถ้าอยู่ในสภาพที่เสียงรบกวนดังมาก ๆ อาจจะมีเล็ดลอดเข้ามาได้บ้าง
ความเห็นเกี่ยวกับคุณภาพเสียงเกือบทั้งหมดในรีวิวนี้จะเป็นการใช้งานในลักษณะที่ทางผู้ผลิตหูฟังรุ่นนี้เขาตั้งใจออกแบบมันมา นั่นคือใช้งานในแบบไร้สายและใช้ฟังก์ชัน Noise Gard ด้วยครับ
หากจะไม่ใช้งานฟังก์ชันตัดเสียงรบกวน ผมพบว่าเสียงทุ้มและกลางต่ำอิ่ม ๆ ที่ถูกชดเชยขึ้นมาเมื่อตอนที่เปิดใช้ฟังก์ชันตัดเสียงรบกวนจะมีปริมาณที่เบาบางลงเล็กน้อยพอสังเกตได้ เสียงอาจจะฟังดูโปร่งขึ้นเล็กน้อยและสงัดน้อยลง แต่ในภาพรวมไม่ได้ทำให้เสียงสมดุลเสียงที่ดีของหูฟังตัวนี้บกพร่องลงไปแต่ประการใด
หากนึกความรู้สึกนี้ไม่ออกผมแนะนำให้นึกถึงตอนที่เราอยู่ในห้องฟังที่ปรับอะคูสติกอย่างดี ฟังชุดเครื่องเสียงที่ทุกอย่างกำลังลงตัว แล้วเรารู้สึกอยากรับอากาศสดชื่นจากภายนอกบ้างจึงเดินไปเปิดประตูหรือหน้าต่างที่อยู่ด้านหลังตำแหน่งนั่งฟังสักบานสองบาน อะไรทำนองนั้นล่ะครับ แล้วเวลาใดบ้างที่เราจะปิดใช้งานฟังก์ชัน Noise Gard นี้?
เท่าที่ผมนึกออกในเวลานี้ก็เช่น ในสถานที่นั้น ๆ ไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอกเข้ามารบกวนการฟัง การปิดระบบตัดเสียงรบกวนจะช่วยประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ได้ หรือไม่ก็ปิดเพื่อเปลี่ยนรสชาติการฟังเพลง ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถทำได้เช่นกัน
ในแง่ของคุณภาพเสียง เสียงที่ได้จาก HD 4.50 BTNC มีดีเอ็นเอของเซนไฮเซอร์ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน คือเป็นเสียงที่มีสมดุลตลอดย่านความถี่ที่ดีและมีบุคลิกออกไปทาง dark เล็ก ๆ ปริมาณเสียงทุ้มไม่เบาบางขณะเดียวกันก็ไม่ได้ล้นจนเกินงาม ให้เสียงทุ้มที่ฟังสนุกและมีรายละเอียดดีพอสมควร
เสียงกลางและเสียงแหลมมีลักษณะเปิดกระจ่าง สด และมีชีวิตชีวาดีเลยทีเดียวเมื่อฟังโดยพินิจพิจารณาจากอัลบั้มเพลงที่พักหลังผมหยิบมาฟังบ่อย ๆ นั่นคือ อัลบั้มรวมเพลงครบรอบ 20 ปีของเบิร์ดกับฮาร์ท เวอร์ชั่นที่ริบมาจากแผ่นซีดีที่รีมาสเตอร์โดยคุณวู้ดดี้ สราวุธ พรพิทักษ์สุข มองในภาพรวมในส่วนที่เกี่ยวกับคุณภาพเสียง ดูเหมือนว่าทางเซนไฮเซอร์ต้องการออกแบบให้หูฟังรุ่นนี้ใช้านสำหรับฟังเพลงทั่ว ๆ ไป มากกว่าใช้งานแบบสตูดิโอมอนิเตอร์
เพราะบ่อยครั้งในรีวิวนี้ผมใช้มันฟังเพลงจากระบบสตรีมมิ่งทั้งเพลงไทยสากล เพลงสากล ทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่ ๆ ปรากฏว่า HD 4.50 BTNC สามารถกลมกลืนไปกับเพลงส่วนใหญ่ได้เลย ไม่ถึงกับช่างฟ้อง แต่บอกได้ว่าเพลงนั้น ๆ บันทึกเสียงมาได้น่าฟังมากน้อยกว่ากันแค่ไหน และอย่างไร
อย่างเมื่อตอนที่ผมฟังเพลงโดยการสตรีมมิ่งจาก JOOX หูฟังรุ่นนี้ให้เสียงที่ชัดเจนว่าในหมวดหมู่ของ JOOX VIP ซึ่งฟังเพลงได้ด้วยคุณภาพเสียงที่ดีกว่า เสียงดีกว่าตอนฟังจากเวอร์ชั่นใช้งานฟรีมาก ๆ และถ้าหากเพลงเดียวกันนั้นมีใน TIDAL ซึ่งให้คุณภาพเสียงระดับ lossless cd quality ด้วยแล้ว เสียงที่ได้จาก TIDAL ผ่านหูฟังรุ่นนี้ก็ดีกว่าที่ฟังจาก JOOX ชนิดคนละเรื่องอีกเช่นกัน
ความเห็นโดยสรุป
เมื่อเทียบกับหูฟังไร้สายในระดับที่สูงกว่านี้ สิ่งที่ไม่มีใน HD 4.50 BTNC คือ ไม่มีระบบทัชหรือเกสเจอร์คอนโทรล ระบบตัดเสียงรบกวนไม่สามารถปรับตั้งปริมาณการตัดเสียงรบกวนได้ และไม่มีโหมดรับเสียงจากภายนอกแบบฉับพลันหรือชั่วขณะ รวมถึงระบบเสียงเตือนฟังก์ชันที่มีแค่บางฟังก์ชันเท่านั้น
ในด้านการออกแบบตามหลักการยศาสตร์ สำหรับ HD 4.50 BTNC ผมว่ามันเอียร์แพดค่อนข้างเล็กและตื้นไปนิด จะใส่ให้สบายผมต้องวางมุมกับใบหูให้ดี ๆ และถ้าเป็นคนที่มีใบหูใหญ่ ๆ อาจจะมีปัญหาครอบได้ไม่เต็มใบหูได้
ตัวเอียร์แพดที่เป็นหนังเทียมค่อนข้างอบและชื้นเหงื่อได้ง่ายในเวลาที่ไม่ได้อยู่ในห้องแอร์ โดยเฉพาะกับสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนถึงร้อนมากอย่างในประเทศไทย เอาล่ะครับทีนี้มาดูกันว่าในราคาระดับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหูฟังไร้สายรุ่นนี้มีดีอะไรบ้าง…
ผมยืนยันตรงนี้ชัด ๆ อีกทีว่า Sennheiser HD 4.50 BTNC เป็นหูฟังไร้สายที่ให้เสียงดีน่าฟัง เป็นเสียงในลักษณะ เปิดกระจ่าง สด ไม่มีลักษณะอับทึบหรือเสียงจม สมดุลเสียงน่าฟัง แม้จะสีสันในย่านกลางต่ำหรือเสียงทุ้มบ้างแต่ก็ยังฟังดูเป็นธรรมชาติ ไม่ได้เลอะเทอะเสียของ ให้รายละเอียดเสียงได้ดีทั้งเวลาเปิดเบาหรือเปิดดัง
เป็นหูฟังไร้สายที่เล่นได้ค่อนข้างดังโดยที่เสียงยังไม่เพี้ยน คุณภาพเสียงอย่างนี้พูดได้เลยว่าเหนือกว่าหูฟังมีสายหลาย ๆ รุ่นเสียด้วยซ้ำโดยเฉพาะพวกหูฟังในกลุ่มที่เอาเรื่องของแฟชั่นเป็นตัวนำ ด้านการสวมใส่ถือว่าสบายพอสมควร มีความกระชับและไม่บีบรัดมากจนเกินไป
แต่สำหรับคนที่ใส่แว่นตาอาจจะจำเป็นต้องขยับตำแหน่งขาแว่นให้สูงกว่าปกติเล็กน้อยขณะสวมใส่เพื่อไม่ให้เอียร์แพดไปกดทับขาแว่นและใบหู วัสดุคุณภาพดีแม้จะไม่ใช่วัสดุเกรดพรีเมี่ยม การประกอบเรียบร้อย และดูแน่นหนาทนทาน ปุ่มควบคุมใช้งานค่อนข้างสะดวก โดยเฉพาะการสไลด์ปุ่มมัลติฟังก์ชันเพื่อเปลี่ยนแทรค
ผมชอบตรงที่ระบบตัดเสียงรบกวนที่เลือกใช้งานหรือไม่ใช้งานก็ได้ แถมยังใช้งานได้แม้จะเป็นในโหมดใช้งานแบบเสียบสายหูฟัง คุณภาพเสียงแบบไร้สายตอบโจทย์การใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนสมัยใหม่ได้อย่างลงตัวทั้งเรื่องบลูทูธ, NFC และ aptX
นอกจากนั้นสำหรับ Sennheiser HD 4.50 BTNC ยังมีเรื่องของราคาค่าตัวด้วยครับที่สามารถคาดหวังความคุ้มค่าได้โดยไม่ยาก นี่แหละครับหูฟังไร้สายอีกรุ่นที่ผมอยากจะแนะนำให้เก็บไว้พิจารณาเป็นหนึ่งในตัวเลือก ‘ที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลย’
Sennheiser HD 4.50 BTNC
ราคา 8,990 บาท