รีวิว NAD : T777 V3
ถ้าจะว่าไปแล้ว NAD เครื่องเสียงชื่อนี้อยู่คู่กับคนไทยมานานตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของวงการเมื่อ 20-30 ปีก่อน เป็นชื่อหนึ่งที่คนที่เล่นเครื่องเสียงสมัยนั้นต้องถูกกล่อมเกลาให้หาโอกาสได้ฟังได้เล่นกันสักครั้ง ทว่าก่อนนี้ชื่อชั้นของ NAD ก็อาจจะไม่ทำให้คนที่เล่นเครื่องเสียงระดับ Hi-End ได้ยินแล้วเปลี่ยนใจ
แต่ NAD ก็มีบางอย่างที่ทรงคุณค่ากับวงการเครื่องเสียง มักทำเครื่องเสียงออกมาได้อย่างมีมาตรฐานของเสียงบางด้านที่เทียบเคียงกับเครื่องเสียงระดับราคาแพง ๆ ให้คนทั่วไปจับต้องได้ รุ่นแล้วรุ่นเล่า
แต่ประวัติศาสตร์ของ NAD ในหมวดของโฮมเธียเตอร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลาง ๆ ช่วงทศวรรษที่ 90 นี่เอง โดยโปรดักต์ตัวแรกจะเป็น AV Receiver รุ่น AV716 ที่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเองออกมาได้อย่างชัดเจน ด้วยภาคขยายที่สมัยนั้นยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องเท่ากันทุกแชนแนลในยุคของ Dolby Pro-Logic กำลังขับสูงสุด 80 วัตต์ต่อแชนแนลที่ 8 โอห์มในแบบสเตอริโอ และสามารถขับโหลดลำโพงได้ต่ำสุด 4 โอห์ม
ว่ากันว่าเป็น AV Receiver ที่ตอบสนองความต้องการของคุณที่ชอบฟัง 2 Channel ได้ในอุปกรณ์ตัวเดียวกัน
ผมไม่ทันรุ่น 716 แต่มีโอกาสได้ครอบครอง T-761 อยู่พักหนึ่งซึ่งก็จัดว่าเป็น Generation ที่ 3 ของสินค้าในหมวดโฮมเธียเตอร์ของ NAD รูปร่างหน้าตามันก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปจากรุ่นแรกมากมายนักและด้วยปณิธานของ NAD ที่ต้องการสร้าง AV Receiver ขึ้นมาให้กับคนที่หลงใหลในการฟังเพลงเป็นหลักคำว่า ‘Music First’ จึงอธิบายหลายสิ่งหลายอย่างได้ดีว่าทำไมการออกแบบ AV Receiver ของค่ายนี้จึงเน้นที่ ภาคขยาย หรือแอมป์กันนักกันหนา
วกเข้ามาถึงพระเอกที่ตกมาถึงมือของเราในวันนี้บ้าง T777 V3 เป็น AV Receiver ของ NAD และเป็นเวอร์ชั่นที่ 3 ของรุ่นนี้ ทำไมมันถึงเป็นเวอร์ชั่นที่สร้างแล้วมันต่างจากเวอร์ชั่นแรกบางคนอาจจะสงสัย ถึงแม้ว่ามันจะเป็น 7.1 Channel เหมือนกันแต่ตัว V3 ตัวนี้มันมาพร้อมกับภาคถอดรหัส Dolby Atmos และที่สำคัญที่สุดก็คือ NAD เปลี่ยน Software Room Correction
จากที่เคยใช้ Audyssey Multi XT ที่อยู่ใน T777 เวอร์ชั่นแรกมาเป็น Dirac Live LE ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ NAD ที่เลือกที่จะจับแนวโน้มของเสียงในระบบโฮมเธียเตอร์ยุคดิจิทัลด้วยการใส่ใจกับการปรับแต่งเสียงตามสภาพแวดล้อมของห้องด้วย Software โดยกระโดดข้ามไปเล่นกับ เสียงจริง ตัวจริง กันเลย
ต้องบอกก่อนว่ามันเป็น AV Receiver รุ่น Top ที่ราคาถูกที่สุดในกลุ่ม Major Brand ที่มี Dirac Live มาทำหน้าที่ Room Correction อยู่ในตัว เมื่อเทียบกับ Audio Control AVR-9 หรือ Arcam AVR850 (แต่ Dirac Live ของ 2 ตัวหลังสามารถควบคุมความถี่ได้แบบ Full bandwidth)
ทำไมทิศทางของระบบเสียงในโฮมเธียเตอร์ต้องมาถึงจุดนี้? และทำไม NAD ถึงเลือกใช้ Dirac Live แทน Audyssey Multi XT เรามาหาคำตอบผ่านการทดสอบเจ้า T777 ของ NAD ด้วยกันครับ
Dirac Live 2 เวอร์ชั่น
คำถามที่น่าสนใจก็คือทำไมห้องแต่ละห้องถึงให้การตอบสนองความถี่ที่แตกต่างกัน?
แน่นอนว่าหลายคนก็คิดว่า ใช่สิเรื่องขนาดของห้องที่แตกต่างกัน การสะท้อนของผนังห้อง รวมไปถึงวัตถุต่าง ๆ ที่อยู่ในห้อง แม้กระทั่งอุณหภูมิของห้องมันก็เกี่ยวโยงไปด้วย ซึ่งดูจากตัวแปรเหล่านี้แล้วเราไม่สามารถควบคุมได้เลย นั่นแสดงว่าห้องคือตัวแปรสำคัญของเสียงที่ออกมา และมันก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะทำให้เสียงดีขึ้น หรือห่วยลงได้ขนาดไหน
ถ้าใครไม่คิดแบบนี้ก็ช่วยไม่ได้นะครับ เพราะต่อจากนี้มันจะเป็นประโยชน์กับคนที่เชื่อเรื่องอะคูสติกเท่านั้น
แต่นักวิทยาศาสตร์ของ Dirac ไม่ได้ให้ความใส่ใจกับที่มาของปัญหาเหล่านั้น หันไปสนใจกับเรื่องการเดินทางของเสียงที่แปรผันตรงกับเรื่องของเวลาแทน จริง ๆ มันก็คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากตัวแปรต่าง ๆ ในห้องที่เราพูดถึงมานั่นแหละ โดยให้ความสนใจอยู่ 2 เรื่อง คือ Frequency Response Correction ซึ่งในบรรดา Software ที่ติดมากับ AVR ส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่แล้ว
แต่กับ Dirac ยังให้ความสนใจกับวิธีวัดค่าเพื่อที่ได้มาซึ่งข้อมูลของห้องแต่ละห้องได้อย่างถูกต้อง แม่นยำมากที่สุด จึงเป็นที่มาของวิธีการวัดค่าด้วยไมค์ของ Dirac ที่ใช้ค่าถึง 9 จุด โดยแต่ละจุดมีความสูงเท่ากันบ้างไม่เท่ากันบ้าง
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรนั่นคือ Impulse Response Correction (IRC) หรือการชดเชยการเดินทางของเฟสของเสียงที่เกิดขึ้นกับลำโพงแต่ละตัว ใครที่เล่นลำโพง รุ่นเก่า ๆ คงเคยเห็นว่ามีลำโพงบางยี่ห้อที่ทำให้จุดกำเนิดเสียงความถี่สูงกับเสียงความถี่ต่ำมีจุดกำเนิดที่แตกต่างชดเชยกัน หรือทำให้มันมีจุดกำเนิดเดียวกัน
แต่สุดท้ายมันก็มาตายที่ห้องแหละ เพราะมันสามารถทำให้เฟสของลำโพงต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปได้ Dirac ก็ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาประมวลให้ผลลัพธ์ที่ออกมาชดเชยในรูปแบบของซอฟต์แวร์
การแก้ไขเรื่อง Impulse Response เหล่านี้จะช่วยทำให้เราได้ยินความถี่แต่ละความถี่ได้อย่างชัดเคลียร์ขึ้น โดยไม่มีความถี่อื่นเข้ามาแทรก ข้อดีของมันอีกอย่างหนึ่งคือทำให้ความถี่ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาและจางหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ค้างคาอยู่ในห้อง เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียงความถี่อื่นไม่สามารถแทรกตัวออกมาให้เราได้ยินได้ มันเป็นเรื่องความชัดเจนของตำแหน่งเสียงที่เกิดขึ้นในห้องโดยตรง
พูดมาถึงตรงนี้แล้วคุณคงเห็นความสำคัญของการที่ NAD หันมาใช้ Dirac Live กันมากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ ด้วยเทคโนโลยีนี้ของ Dirac มันทำให้ T777 V3 มีแต่ได้กับได้ 2 Channel ก็ฟังเพลงได้ดีขึ้น และทั้ง Multi Channel ในการดูภาพยนตร์ ไม่ง้อแม้ว่าไม่ว่าสภาพห้องคุณจะเป็นแบบไหน
แต่ช้าก่อนในเวอร์ชั่นนี้ NAD ให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ของ Dirac Live LE เท่านั้น มันต่างกันตรงที่ Software ฟรีเวอร์ชั่นนี้จะจัดการความถี่ตั้งแต่ 500Hz ลงไปแค่นั้น พูดง่าย ๆ คือเฉพาะความถี่ต่ำและเสียงกลางตอนล่าง หรือเสียงเบสตอนบน แต่คุณก็สามารถขยายความสามารถของซอฟต์แวร์ได้แต่ต้องลงทุนเพิ่มนิดหน่อย
ส่วนตัวผมก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีนะ แค่นี้ก็ได้ยินความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนแน่นอน ส่วนใครจะใช้แบบ Full bandwidth ก็ค่อยว่ากัน
ถ้าใครที่ใจร้อน ไม่มีเวลาที่จะมานั่งเล่นนั่งวิเคราะห์ แนะนำให้ใช้เวอร์ชั่นเต็มเลยตั้งแต่แรก (ยกเว้นว่าอยากรู้ อยากเห็น และอยากทำความเข้าใจกับมันให้มากขึ้น) ไม่ต้องรีรอ กระเถิบจาก Dirac Live LE ไปเลย มันได้มากกว่าการเข้าห้องเรียน มากกว่าการเสียเงินเปลี่ยนโน่น เปลี่ยนนี่ เป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ทีเดียว
แต่ก็มีข้อยกเว้นนั่นอีกละครับ ยกเว้นคุณทำอะไรที่ว่ามานี่ไม่เป็นเลย มันไกลตัวเกินไป NAD T777 V3 โชคดีที่มีแต่ตัวแทนจำหน่ายในบ้านเราที่พึ่งพาได้ตลอดเวลาผมเชื่ออย่างนั้นครับ
ดูขึงขังแต่ฟังก์ชันเพียบ
NAD T777 V3 เป็น AV Receiver รุ่น Top ตัวล่าสุดจาก NAD ที่เข้ามาในบ้านเราตอนนี้ NAD มีปรับปรุงฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้จาก AV Receiver ในตอนนี้
นั่นหมายถึงถ้าถอดรหัสระบบเสียงเซอร์ราวนด์ ที่เป็น Object Oriented รองรับสัญญาณภาพแบบ 4K เต็มรูปแบบ และการตั้งค่าการใช้งานแบบอัตโนมัติ อันที่จริงด้วยภาพลักษณ์ของ NAD มีความแตกต่างกันอยู่แล้วเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดโฮมเธียเตอร์จำนวนมาก อย่างไรก็ตามความชัดเจนในมาตรฐานต่าง ๆ ในตลาดทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญของ NAD ที่ทำให้ลูกค้าบางคนรอแล้วรอเล่า
มาช้าแต่ชัวร์ กับการเซอร์ไพรส์ที่ NAD หันไปใช้ซอฟต์แวร์การปรับแต่งอัตโนมัติของ Dirac ถือว่าเป็นของดีที่ก่อนหน้านี้จะหาได้ก็ต้องมีเงินในกระเป๋าเหลืออยู่ 200,000 บาทขึ้นไป นอกนี้ยังสนับสนุนสตรีมมิ่งฮาร์ดแวร์ โดยมีพื้นฐานจากภาคขยายสัญญาณ 7 แชนแนล กำลังขับ 80 วัตต์ต่อแชนแนล
ตัวเลขนี้ของ NAD ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สมอ้าง เป็นตัวเลขจริงจากการขับลำโพงที่ 8 โอห์ม และมีการบิดเบือนต่ำ (0.08%) ที่สำคัญคือมันวัดตอนที่ทุกแชนแนลใช้งาน นี่เป็นตัวเลขกำลังขับจริง ๆ ที่น้อยนักในท้องตลาดที่กล้าออกมาเคลมแบบนี้ซึ่งก็ทำให้แตกต่างจากคู่แข่งจำนวนมาก
และนั่นหมายความว่า NAD มีความสามารถมากกว่าตัวเลขที่โชว์อยู่บนใบปลิว ทั้ง 7 แชนแนลนี้สามารถใช้ในโซน 5.1 ได้ ในแบบ 7.1 หรือ 5.1.2 พร้อมด้วย Dolby Atmos (ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่รองรับ DTS X) สำหรับ Firmware ตัวล่าสุด 2.08 สามารถเพิ่มแชนแนลเพื่อทำให้ T777 V3 สามารถ Set up ลำโพงขึ้นไป ถึง 5.1.4, 7.1.2 หรือ 7.1.4 (จำนวน Channel ที่เพิ่มขึ้นมาต้องหาพาวเวอร์แอมป์มาต่อจากช่องปรีเอาต์)
สิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราควรจะยินดีก็คือ Dirac Live LE for NAD สามารถทำการปรับแต่งเสียงด้วย Dirac Live ครบทั้ง 13 Channel (ถ้าคุณใช้จำนวน Channel ได้ครบทั้งหมด)
บอร์ด HDMI ที่รองรับ HDCP 2.2 ก็ยังสนับสนุนและรองรับ HDR10 passthrough ด้วย Dolby Vision T777 V3 ให้ช่อง HDMI เข้า 6 ช่อง (อยู่ด้านหน้า 1 ช่อง) และเอาต์พุต 2 ช่อง (รองรับ ARC หนึ่งช่อง) กับสัญญาณภาพอนาล็อกอยู่ด้านหลังทั้งหมด และด้วยรูปแบบการออกแบบที่เป็นโมดูล่าซึ่ง NAD นิยมนำมาใช้ในเครื่องเสียงหลาย ๆ รุ่นปัจจุบันนี้
ช่องปรีเอาต์ที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับแชนแนลพิเศษก็จะอยู่ในโมดุลดิจิทัลออดิโอ ส่วนชุดโมดุลที่เป็นสัญญาณ HDMI ก็จะแยกออกมาต่างหาก การเชื่อมต่ออนาล็อก NAD ก็ยังไม่ทิ้งให้มาครบทั้งภาพและเสียง แถมยังมีช่องเสียบสัญญาณเข้า 7.1 และช่องสัญญาณขาออกแบบ 7.2 ไว้พร้อมสำหรับการใช้งานอย่างครบ
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ NAD มาพร้อมกับ dongle BluOS เสียบเข้ากับช่อง input USB ด้านหลัง ทำให้ T777 V3 ตัวนี้สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Multiroom ที่ใช้ระบบผ่านแอปพลิเคชัน BluOS บนสมาร์ทโฟน คุณจะสตรีมมิ่ง UPnP ฟังวิทยุทางอินเทอร์เน็ต หรือบริการสตรีมมิ่งเพลงมากมาย
เมื่อโมดูลได้รับการติดตั้งแล้วคุณจะสามารถควบคุมแอปพลิเคชั่น บน AV Receiver ได้อย่างเต็มรูปแบบ และสำหรับคนที่โหยหาความเป็นไฮเอนด์จาก Streaming บางเจ้าที่รองรับ MQA เลิกไปคว้านหา AV Receiver ตัวอื่นเลยครับ เพราะว่าเจ้าตัวนี้รองรับ MQA เรียบร้อย
บางคนที่ไม่คุ้นเคยชื่อเสียงของ NAD อาจจะแปลกใจว่าไอ้กล่องสีเทาขนาดใหญ่แบบนี้ ทำไมมันมีอะไรซ่อนอยู่เยอะแยะ หน้าตาที่ดูพื้น ๆ ของ T777 V3 ที่รักษาความเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างเหนียวแน่น และผมอยากจะยกย่องว่ามันเป็น AV Receiver ของ NAD ที่ออกแบบได้ลงตัวที่สุดตัวหนึ่ง
แผงด้านหน้าไม่ใช่เป็นเรื่องของความงามอย่างลงตัวอย่างเดียว แต่มันดีงามตรงให้จอแสดงผลที่ชัดเจนและใช้งานง่าย เมนูออนสกรีนบนหน้าจอก็เป็นตรรกะที่เข้าใจได้ง่าย และสามารถเลือกข้อมูลที่แผงด้านหน้าได้เช่นกัน
การควบคุมผ่านรีโมต T777 ก็ให้มาถึง 2 ตัว ในแบบที่แพรวพราวทีเดียวมีไฟแบ็กไลต์ของปุ่มทุกปุ่มอยู่บนรีโมตเพียงแค่คุณขยับรีโมตขึ้นมาไฟก็จะติดขึ้นมาเองทันที ส่วนรีโมตอีกตัวหนึ่งก็คงมีไว้เฉพาะสำหรับแม่บ้านหรือใครก็ตามที่ไม่ต้องการเห็น ปุ่มอะไรเยอะแยะแค่เปิด-ปิด เพิ่มลดวอลุ่ม เลือกแหล่งโปรแกรมแค่นั้นพอ
เราจะบอกว่าเห็นหน้าตาซื่อ ๆ อย่างนี้ เมื่อคุณเทียบฟังก์ชันการฟังเพลงจาก BluOS กับคู่แข่งที่เป็น AV Receiver ส่วนใหญ่ มันจะทำให้คู่แข่งพวกนั้นดูล้าสมัยไปเลย BluOS แสดงความเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีการทำงานที่มีเสถียรภาพ
หากคุณกำลังมองหา AV Receiver ที่สามารถจัดการกับความบันเทิงด้านเสียงดนตรีได้ดีด้วยแล้วละก็ NAD T777 V3 มันฉีกตัวออกมาสนองความต้องการเหล่านี้ได้ดีกว่าคู่แข่งได้เป็นอย่างดีเลยนะ
Sit & Listen
เมื่อ NAD 777 V3 มาถึงมือของกระผมแล้ว ผมคงเน้นไปที่การทดสอบในแบบเสียงเซอร์ราวนด์สำหรับใช้งานในโฮมเธียเตอร์เป็นหลัก บางคนลังเลกับการเริ่มต้นจาก Dirac Live LE ที่ให้มาถึงแม้ว่ามันจะถูกจำกัดอยู่ที่ 500Hz ในทุก Channel ก็ตาม
ผมเองกลับนึกทันทีว่า AV Receiver อย่าง NAD ถ้าในส่วนที่เกี่ยวกับภาคขยายเสียงเขาคงไม่หันไปมองคู่แข่งที่มาจากแดนอาทิตย์อุทัยมานานแล้ว การมาเจอกับ Dirac ของ NAD มันเหมือนกับขยับเข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบเข้าไปอีก จึงไม่ต้องมีการรีรอ ไม่ต้องอารัมภบทอะไรเซตเองทำเองก็ได้ ไม่ยากเย็นอะไรเลย
จากหนังเรื่อง San Andreas สิ่งที่คุณจะสัมผัสได้ทันทีจากเสียงของเจ้า AV Receiver หน้าเข้มตัวนี้ก็คือเรื่องของ Dynamic เสียง มันไม่รีรอที่จะทำให้คุณ เข้าสู่ตัวจริงของเสียงโฮมเธียเตอร์ รุนแรงดุดัน ไม่ผิดเพี้ยน สนุกไปกับระดับของเลเวลเสียงที่จะทำให้คุณตื่นเต้น
ต้องยอมรับว่า Dirac Live LE จัดการกับเสียงความถี่ต่ำของแต่ละ Channel ให้สอดประสานกัน คุณจะไม่ได้ยินเสียงเบสที่อึมครึม หรือครางกระเส่าที่รำคาญหูในซิสเต็มแม้แต่น้อย
แต่เรื่องนี้ผมมีความกังวลว่าเมื่อก่อนเราเคยคิดว่าเสียงเบสตูม ๆ โครม ๆ เขย่าพื้นเขย่าบ้าน มันเป็นคำตอบสุดท้ายของประสิทธิภาพจากซับวูฟเฟอร์ ซึ่งจริง ๆ มัน ‘ผิด’ ผิดมานาน เพราะนั่นคือเราวัดกันที่เพียงความถี่เดียว ความถี่ที่เราได้ยิน ความถี่ที่มันดังมากกว่าความถี่อื่น นั่นคือความถี่ที่มันโด่งที่สุดที่เราจับได้
แต่พอมันไปผ่านขั้นตอนของ Room Correction อย่าง Dirac เราจะรู้สึกว่าความรู้สึกเหล่านั้นมันลดทอนลงไป แต่ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือเราได้ยินเสียงความถี่อื่น ๆ ข้าง ๆ มันเพิ่มขึ้นมามากขึ้น เจ้า Dirac Live LE บน NAD T777 ทำให้ผมรู้สึกแบบนั้น และต้องควรจะเป็นแบบนี้กับทุก ๆ ห้องด้วย (ถ้าแน่ใจว่าประสิทธิภาพของลำโพงมันไปได้ถึง)
สำหรับ Dirac Live LE ที่มีอยู่ในตัวนี้ แน่นอนว่ามันทำให้เพิ่มศักยภาพของเสียงกลางแหลมขึ้นไปอีกระดับหนึ่งโดยที่ไม่มีเสียงความถี่ต่ำรบกวน อธิบายง่าย ๆ ก็คือเรารู้ว่าการตั้งค่า Delay Time ของลำโพงแต่ละแชนแนลเพื่อให้เสียงเดินทางมาถึงหูเราได้พร้อมกัน แต่ใน Impluse Response Correction (IRC) คือการตั้งค่า Delay Time ของแต่ละความถี่ในทุกลำโพง ให้มันซ้อนทับกันพอดี
อธิบายยากครับ ขนาดผมกว่าจะเข้าใจต้องลองฟังเองว่าเมื่อความถี่ต่าง ๆ มันเข้าที่เข้าทาง ลงตัว เสียงจริงเสียงสะท้อนไม่ตีกันมั่ว เสียงมันเปิดกว้าง โล่งออกไปสุดห้อง ไม่มาแออัดยัดเยียดเบียดเสียดกระจุกอยู่ตรงกลาง เสียงเปิดกว้างมากครับซิสเต็มนี้
ถ้าเทียบกับการเซตอัปแบบ 5.1.2 แบบใช้ลำโพง Dolby Atmos Enabled กับ AV Receiver ตัวอื่นด้วยความรู้สึกของคนที่ชอบเสียงเซอร์ราวนด์ชัด ๆ ดัง ๆ สำหรับ NAD T777 V3 ตัวนี้อาจจะไม่เป็นที่สบอารมณ์มากนัก (เข้าใจนะว่าเสียงจากลำโพงเซอร์ราวนด์มันพยายามเติมเต็มช่องว่างระหว่างเสียงทางด้านหน้ามากกว่า)
แต่ถ้าชอบเสียงเซอร์ราวนด์ด้านหลังชัด ๆ จริง ๆ ก็ทำได้โดยการเพิ่มเติม Surround Back อีก 2 Channel แนะนำว่าให้ใช้ภาคขยายในตัวของมันเองทั้งหมด ที่เหลือเป็นแชนแนลพิเศษอย่างพวก Height Channel ค่อยต่อปรีเอาต์ออกมาหาแอมป์ขับเอาข้างนอกดีกว่า
คุณจะเห็นฟังก์ชันยอดฮิตของ NAD ที่มักให้มากับแอมป์ของเขาเกือบทุกตัว ที่เรียกว่าฟังก์ชัน ‘Soft Clipping’ ทำให้ความถี่ด้านบนเนียนหูขึ้น ให้เสียงออกแนวนุ่ม ๆ แต่มันไม่ใช่ทางของผม ผมเลยปิดมันไว้ตลอดเวลาที่ใช้งาน ซึ่งถ้าคุณใช้งานกับลำโพงที่ไม่ยี่หระกับเสียงแหลมที่มี Dynamic สูง ๆ อย่างพวกลำโพงฮอร์นอย่าง Klipsch Reference Series III ชุดนี้ ผมว่าก็ไม่จำเป็นต้องใช้มัน
ความสุขสุดยอดของมันอยู่ที่การสร้างบรรยากาศ NAD T777 V3 ไม่ใช่มันจะดีแต่ทำให้เสียงดังอย่างเดียวความเพี้ยนที่มักมากับความเงียบของเสียง ถือว่าแอมป์ตัวนี้มันสะกดความเงียบได้อย่างนิ่งสนิท จนได้ยินรายละเอียดต่าง ๆ บ่อยครั้งที่มันแว่ว ๆ มา
แถมมันเป็น AV Surround ตัวหนึ่งที่อยากแนะนำเป็นตัวท็อป ๆ สำหรับคนที่ชอบฟังคอนเสิร์ตทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เพลงร็อก ไปจนถึงพวกแจ๊สเพราะ ๆ มันให้คุณเข้าถึงความเป็นดนตรี และซึมซับกับลีลาและการบันทึกเสียงเหล่านั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา เล่นเอาผมขนแผ่นทั้งหมดเท่าที่มีมาเปิดลองกับมัน ถือว่าเป็น Reference ให้กับหูตัวเอง
ยืนยันได้ว่าต่อไปนี้ชุดโฮมเธียเตอร์ระดับราคา 200,000 รวมลำโพง+สายลำโพง มันต้องสร้างความพอใจได้ไม่ต่ำไปกว่านี้ ซึ่งผมกล้าท้าได้เลยว่า “ไม่มี” แล้วครับนอกจากชุดนี้
ผมยังคาดหวังกับการ Set up ที่ใช้ Dirac Live ในแบบ Full bandwidth เพราะยังรู้สึกว่าการเคลื่อนที่ของเสียงโดยเฉพาะเสียงกลางกับเสียงแหลมยังไม่ค่อยต่อเนื่องอย่างเด่นชัดมากนัก ซึ่ง NAD ก็รู้ว่าจัดการได้โดยคุณต้องจ่ายตังค์ประมาณ 99 เหรียญ ซึ่งนับว่าถูกแสนถูก ถ้าเทียบกับ Accessories ราคาเวอร์ ๆ ในปัจจุบันนี้
Conclusion
คงไม่ต้องกล่าวอะไรอีกกับความสุดยอดของเจ้า AV Receiver ทรงพลังตัวนี้เรื่องวิธีการที่ทำให้แอมป์เซอร์ราวนด์ตัวหนึ่งถ่ายทอดเสียงให้ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพคงไม่มีใครปฏิเสธว่า NAD ทำได้ดีมาตลอด ถึงแม้ว่ายังมี
จุดหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับแอมป์ตัวนี้ก็คือมันไม่สามารถที่จะถอดรหัสเสียงในระบบ Object Oriented ได้ทุกแบบ (อย่างน้อยก็ตอนนี้) แต่สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่ปัญหา ก็บอกตามตรงว่ามันมีหนังเพียงแค่ 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ในมือของผมเท่านั้นที่ใช้ภาคถอดรหัสนี้ ซึ่งถ้าเทียบกับสิ่งที่มันทำได้ตอนนี้
สิ่งที่คุณจะได้จาก NAD 777 V3 คืออะไร? ภาคขยายที่ทรงพลัง…การตอบสนองความถี่ที่ไม่มีความผิดเพี้ยน…เสียงที่ตรงไปตรงมาจากต้นฉบับ
ทั้งหมดนี้ ผมว่ามันจะเกิดขึ้นในห้องฟังคุณได้ หรือไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับอะคูสติกของห้องฟังของคุณที่บางคนลงทุนเป็นแสน ๆ บางคนก็สำเร็จ บางคนไม่สำเร็จก็เจ็บตัวกันไป
นึกภาพการเล่นเครื่องเสียงนี่ก็เหมือนลอยเรืออยู่กลางทะเลปล่อยให้ลมมันพัดพาไป พัดไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้างจะถึงฝั่ง หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ในเมื่อ NAD T777 V3 มันมี Room Correction อย่าง Dirac Live เข้ามาช่วยให้คุณจับทิศทางได้ คราวนี้คุณก็รู้แล้วว่าคุณจะไปทางทิศทางไหน มันต้องถึงฝั่งแน่นอนกับตัวนี้ ผมฟันธงอย่างนั้นครับ
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 0-2276-9644
ราคา 113,400 บาท