fbpx
REVIEW

[Classic Review] MISSION : SX2 “เฉิดฉายความเป็นดนตรี”

พูดถึงลำโพงยี่ห้อมิสชัน (Mission) นี่คือลำโพงยี่ห้อแรก ๆ ที่ผมให้ความสนใจตอนที่เริ่มจริงจังกับการเล่นเครื่องเล่นเครื่อง แม้ว่าจะเคยฟังลำโพงอื่นมาบ้างก็ตามแต่ Mission : 731 Pro ในอดีตก็ทำให้ผมได้รู้จักจริง ๆ ว่าลำโพงเสียงดีในราคาจับต้องได้ (ง่าย) นั้นควรจะเป็นอย่างไร

แม้ว่าสถานะภาพในปัจจุบันของลำโพงมิสชันจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ ไปอยู่ภายใต้ชายคาของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องเสียงที่มีพื้นเพเดิมมาจากอังกฤษอย่าง IAG (International Audio Group) ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของโดยคนเอเชียและมีโรงงานขนาดใหญ่อยู่ในประเทศจีน แต่เบื้องหลังของลำโพงมิสชัน (อาจจะรวมถึงแบรนด์เนมอื่น ๆ ของ IAG) ก็ยังอยู่ภายใต้งานวิศวกรรมมาตรฐานสูงเหมือนเช่นในอดีต ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้นึกเอาแล้วพูดขึ้นมาลอย ๆ หากแต่มีหลักฐานยืนยันเป็นลำโพงอย่าง Mission : SX2 คู่นี้

วิศวกรรมและการออกแบบ
ครั้งแรกที่เห็น Mission : SX2 มีหลายอย่างในลำโพงรุ่นนี้ที่ผมรู้สึกว่าเป็นอะไรที่คุ้นและไม่คุ้นเลยสำหรับลำโพงของมิสชัน ที่คุ้นตาคือการออกแบบที่วางตำแหน่งทวีตเตอร์เอาไว้ด้านล่างวูฟเวอร์ ซึ่งเป็นเทคนิคการออกแบบที่ลำโพงยี่ห้อนี้ยึดถือมานาน แต่ที่ไม่ค่อยคุ้นนักก็คือดีไซน์ที่ออกแนวโมเดิร์นเพราะลำโพงมิสชันในความทรงจำของผมมักจะมีหน้าตาเชย ๆ แต่ว่าเสียงดีชะมัด

หน้าตาที่โมเดิร์นของ SX2 สอดคล้องกับการออกแบบทั้งหมดที่มีอยู่ในลำโพงคู่นี้ด้วยครับ ว่าไปตั้งแต่การออกแบบตัวตู้ลำโพงให้มีรูปทรงที่โค้งมนตามเทรนด์ของลำโพงสมัยนี้ สรีระอย่างนี้ไม่ต้องบอกก็เดาได้ว่าตั้งใจออกแบบมาให้มีผลโดยตรงกับการ ‘จัดระเบียบ’ สแตนดิ้งเวฟที่ภายในตัวตู้

ข้อมูลจากเอกสารแนะนำสินค้าบอกว่าโครงสร้างของตู้ลำโพงแต่ละใบจะถูกขึ้นรูปมาตามสูตรคำนวณอย่างแม่นยำ ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นถูกประกอบเข้ากันด้วยกาวชนิดพิเศษแล้วยังถูกอัดประกบกันที่อุณหภูมิสูงทิ้งไว้เป็นเวลากว่า 48 ชั่วโมงก่อนจะปล่อยให้เย็นลงตามธรรมชาติเพื่อขจัดความเครียดภายในเนื้อไม้ ทำให้ตัวตู้ลำโพงสามารถทำงานได้ตามหน้าที่ของมันได้ดีกว่าตู้ลำโพงทั่ว ๆ ไป การตกแต่งผิวนอกถ้าเป็นแบบลายไม้จะปิดทับด้วยผิวไม้แท้ขัดมัน สำหรับคู่ที่ผมรีวิวอยู่นี้จะเป็นแบบทำสีดำมันเงา (Piano Black Finish)

SX2 เป็นลำโพงระบบตู้เปิด 2 ทาง 2 ไดรเวอร์ สำหรับตัวไดรเวอร์ที่ใช้ในลำโพง Series นี้ก็พัฒนาขึ้นใหม่โดยเลือกใช้วัสดุประเภทโลหะมาทำหน้าที่เป็นไดอะแฟรม อย่างใน SX2 ตัวเบส/มิดเรนจ์ขนาด 160 มิลลิเมตรนั้นใช้ไดอะแฟรมขึ้นรูปจากอะลูมิเนียม มีส่วนพื้นที่ผลักอากาศที่ค่อนข้างแบนราบไม่เป็นทรงกรวยลึก ๆ เหมือนไดรเวอร์ทั่วไป

มองดูก็พอทราบว่าตั้งใจออกแบบสามารถต่อต้านอาการเบรคอัปหรือการบิดตัวเสียรูปของไดอะแฟรมโดยเฉพาะ สำหรับทวีตเตอร์ในลำโพงรุ่นนี้และ Series นี้ทั้งหมดเป็นแบบเมทัลโดม โลหะที่ใช้ทำตัวโดมหรือไดอะแฟรมขนาด 1 นิ้วของทวีตเตอร์คือโลหะเทเทเนียม ที่มีคุณสมบัติความแกร่งที่ดีและมวลเบา ทำให้ลำโพงรุ่นนี้สามารถตอลสนองความถี่สูงขึ้นไปได้ถึงระดับ 40kHz แตกต่างจากลำโพง Series อื่น ๆ ของมิสชัน

ไดรเวอร์ทั้ง 2 ตัวสังเกตว่าตั้งใจวางใกล้ชิดกันเลย ที่น่าสนใจคือตัวทวีตเตอร์นั้นวางอยู่บนชิ้นส่วนประเภทยางสังเคราะห์ที่ยืดหยุ่นได้ทำให้มันเป็นอิสระจากแรงสั่นสะเทือนส่วนเกินจากตัวตู้ได้มากขึ้น อีกทั้งการยึดไดรเวอร์ทั้ง 2 ตัวยังเก็บซ่อนหัวสกรูเอาไว้ได้อย่างแนบเนียนภายใต้ชิ้นส่วนอะลูมิเนียมหล่อขึ้นรูป

มีจุดที่ให้ตำหนิหน่อยเดียวตรงที่ตัวทวีตเตอร์ไม่มีการป้องกันชิ้นส่วนตัวโดมที่ไว้ใจได้มากพอ หากไม่ระวังอาจจะเผลอไปกระทบกระทั่งจนเกิดความเสียหายได้ อีกส่วนก็คือหน้ากากผ้าโปร่งของลำโพงที่ออกแบบมาให้ยึดกับหน้าตู้ไว้ด้วยแรงแม่เหล็ก ผมว่ามันดูเรียบร้อยสวยงามแต่ไม่ค่อยแน่นหนาเท่าที่ควร สะกิดโดนเบา ๆ ก็หลุดออกได้ง่ายมาก

Review Mission SX2 Loudspeaker

สำหรับขั้วต่อสายลำโพงที่อยู่ด้านหลังตู้เป็นขั้วต่อไบดิ้งโพสขนาดกะทัดรัด ออกแบบให้สามารถต่อเล่นเป็นระบบไบไวร์โดยวางตำแหน่งขั้วต่อไดรเวอร์ความถี่สูงไว้ที่ขั้วต่อคู่ใน และเสียงความถี่ต่ำไว้ที่ขั้วต่อคู่นอก น่าสนใจกว่านั้นตรงที่ชุดขั้วต่อนั้นออกแบบให้เชื่อมต่อกับวงจรครอสโอเวอร์เนตเวอร์คโดยตรง ทำให้ทางเดินสัญญาณมีความลัดตรง ลดโอกาสเกิดความสูญเสียในสายเคเบิลได้มากกว่า

ข้อมูลทางเทคนิคระบุว่าลำโพง Mission : SX2 มีช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 58Hz-40kHz (+/-3dB) วงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คออกแบบจุดตัดแบ่งความถี่เสียงเอาไว้ที่ความถี่ 2kHz ถือว่าค่อนข้างต่ำทีเดียวสำหรับทวีตเตอร์แบบโดมไทเทเนียมแสดงว่าวิศวกรของมิสชันมั่นใจในคุณภาพของทวีตเตอร์ตัวนี้มาก

ลำโพง SX-2 มีความไวค่อนข้างต่ำคืออยู่ที่ 85dB อิมพิแดนซ์เฉลี่ย 6-8 โอห์ม อิมพิแดนซ์ต่ำสุดอยู่ที่ 3.9 โอห์ม น้ำหนักตัวลำโพงข้างละ 10 กิโลกรัมจัดว่าอยู่ในระดับกลางปานค่อนไปทางหนัก งานผลิตและการประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ จัดว่าประณีตเรียบร้อยตามมาตรฐานลำโพงในระดับนี้

Review Mission SX2 Loudspeaker

การจับคู่กับแอมป์และตำแหน่งการวาง
ในคู่มือของลำโพงระบุว่าแนะนำให้ใช้กับแอมป์ที่มีกำลังขับตั้งแต่ 20-100 วัตต์ ผมพิจารณาจากการลองฟังแล้วคิดว่า 20 วัตต์นั้นน่าจะจำกัดไปสักนิดเว้นเสียแต่ว่าแอมป์ที่ใช้มีคุณภาพสูงมากก็อาจจะพอใช้งานกันได้แต่ก็น่าจะขับได้ไม่ค่อยเต็มที่อยู่ดี

แอมป์ตัวหนึ่งที่ผมลองฟังกับ SX-2 แล้วไปด้วยกันได้ดีคือ Nuforce : DDA-100 ซึ่งมีกำลังขับข้างละ 50 วัตต์ (อ้างอิงโหลด 8 โอห์ม) ด้วยความสามารถของแอมป์ตัวนี้ผมฟังแล้วถือว่าพอจะใช้ขับลำโพงอย่างได้สาระ ฟังเอาเรื่องพอได้ดีเลยทีเดียว

แต่กับแอมป์อีกตัวที่ได้ลองคือ YBA : MP-100 ซึ่งมีกำลังขับข้างละ 100 วัตต์ (อ้างอิงโหลด 8 โอห์ม) ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจเช่นกันครับเพราะมันดูเหมือนจะขับได้แบบเหลือ ๆ อีกทั้งยังมีรายละเอียดความเป็นดนตรีดีเหมือนกัน แต่ที่เด่นกว่าแบบเหลื่อมกันอยู่หน่อย ๆ ก็คงเป็นลักษณะที่เล่นได้ดังกว่าและแสดงออกถึงการคุมลำโพงได้มั่นใจกว่า

ในห้องทดสอบของเราผมได้ตำแหน่งจัดวางที่ให้เสียงน่าพอใจอยู่ที่ระยะห่างจากผนังด้านหลังลำโพง 174 ซม. (วัดถึงหน้าตู้ลำโพง) ลำโพงข้างซ้ายและขวาวางห่างกัน 181 ซม. จากการได้ลองขยับปรับเปลี่ยนตำแหน่งในห้องทดสอบผมคิดว่าลำโพงคู่นี้ให้เสียงค่อนข้างรอมชอมเข้ากับห้องได้ง่ายพอสมควรแม้ตำแหน่งจะยังไม่ค่อยลงตัวก็ถือว่าพอฟังได้

แต่เมื่อตำแหน่งลงตัวแล้วเสียงที่ออกมาจะข้ามไปอีกขั้นหนึ่งเลยทีเดียวครับ มันสามารถแผ่คลื่นเสียงออกไปได้เต็มห้องแสดงถึงศักยภาพที่เกินตัวของลำโพงไซส์ขนาดนี้ มีเพียงเสียงทุ้มในย่านความถี่ต่ำมาก ๆ หรือช่วง deep bass ที่ถูกจำกัดโดยสรีระทำให้มันฟังไม่ถึงใจแบบสุด ๆ เหมือนลำโพงใหญ่กว่าอย่าง Gauder Akustik : Arcona 80 หรือ NOLA : KO แต่ถ้าหากดูจากขนาดและราคาของ SX2 แล้วผมว่าก็แทบไม่ควรต้องตำหนิอะไรมันเลยเหมือนกันครับ

รายละเอียดในย่านความถี่สูงของลำโพงคู่นี้มีลักษณะเปิดสว่างสดใส คมชัดและมีประกายหางเสียงชัดเจน ลำโพงที่มีลักษณะอย่างนี้ถ้าไม่เกิดปัญหามิสแมตช์เสียงที่ออกมาจะน่าฟังมาก โดยเฉพาะความหวานใสแต่ถ้ามิสแมตช์ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเป็นตรงกันข้าม

อย่างลำโพงคู่นี้ให้สังเกต sibilance ของเสียงร้องซึ่งจะแปรเปลี่ยนไปตามคุณภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับมัน ตรงนี้เป็นอะไรที่ลำโพงค่อนข้างฟ้องคุณภาพของอิเล็กทรอนิกส์มากนะครับ ดังนั้นคุณจึงมีโอกาสจะได้ยินเสียงร้องที่มีหางเสียงไม่ค่อยน่าฟัง และเสียงร้องหวานสดใสน่าฟังเป็นธรรมชาติได้ด้วยความน่าจะเป็นพอ ๆ กันเลยทีเดียว

โดยพฤติกรรมแล้ว SX2 เป็นลำโพงที่ขับไม่ง่ายนักแต่ก็ไม่ได้โหดหินจนเกินไปเช่นกัน ถ้าให้จัดลำดับความยาก-ง่ายในการขับ ผมว่า SX2 จะอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางขับยากเล็กน้อย การหาแอมป์มาแมตช์ถ้าเป็นแอมป์ต่ำกว่า 100 วัตต์ก็สมควรจะต้องมีกำลังสำรองเผื่อไว้ในระดับที่ไว้ใจได้ด้วยเหมือนกัน ประเภทเสียงดีแต่เรี่ยวแรงมีอยู่น้อยนิดอาจจะทำให้ฟังลำโพงคู่นี้ได้ไม่สนุก และไม่ได้รับอรรถรสอย่างที่ควรจะเป็น

เฉิดฉายความเป็นดนตรี
จำนวนชั่วโมงที่มากขึ้นในห้องฟังของเรายิ่งยืนยันถึงบุคลิกเสียงของลำโพงคู่นี้นั่นคือมันเป็นลำโพงที่ให้โทนเสียงเปิดเผย ให้เสียงกลางและเสียงแหลมที่มีโฟกัสเสียงชัดเจน ถ้าจัดการกับตำแหน่งจัดวางและการแมตชิ่งได้อย่างเหมาะสมแล้วจะเป็นลำโพงที่ให้เสียงหวานสดใสน่าฟัง รายละเอียดพร่างพราว ฟังแล้วรู้สึกถึงฮาร์มอนิกของแต่ละชิ้นดนตรีที่สอดประสานกับเสียงหลักจนทำให้เกิดเสน่ห์ความน่าฟังเฉพาะตัว

จากอัลบั้ม The Greatest Basso Vol.1 ของจ้าวเผิง (Zhao Peng) ลำโพงคู่นี้ให้เสียงออกมาได้เต็มอิ่มใกล้เคียงลำโพงขนาดใหญ่เลยครับ ถ้าให้หลับตาฟังรับรองว่าจินตนาการต้องพาเตลิดเผลอคิดไปว่ากำลังนั่งฟังลำโพงตั้งพื้นอยู่เป็นแน่ เพราะมันสามารถสร้างมวลเสียงร้องขนาดใหญ่ที่มีเนื้อเสียงเข้มข้น มีฮาร์มอนิกที่เบ่งบานอวบอิ่มแถมยังมีน้ำมีนวลด้วยต่างหาก

ยิ่งชั่วโมงการฟังผ่านไปมากขึ้นเท่าไรผมยิ่งรู้สึกว่าลำโพงของมิสชันคู่นี้มีความแตกต่างจากลำโพงมิสชันทุกคู่ที่ผมเคยรู้จักมักคุ้นมาก่อน เป็นความแตกต่างที่เปลี่ยนแปลงในแง่ดีและรู้สึกได้ถึงการพัฒนาของน้ำเสียงที่สอดคล้องกับคุณภาพของอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะ high resolution digital source ทั้งหลาย

จากดุลเสียงที่มีลักษณะกระจ่างชัดเปิดเผยมากขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นอื่น ๆ ที่ผมเคยฟังทำให้ลำโพงของมิสชันรุ่นนี้ หรืออาจจะนับรวมทั้ง SX Series ถูกสร้างมาเพื่อซิสเตมที่ได้รับการเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด ไม่ใช่ซิสเตมประเภทสุกเอาเผากินแล้วมาหวังพึ่งการถ่ายทอดเสียงแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยจากตัวลำโพง กับซิสเตมที่เอาใจใส่ทั้งการแมตชิ่งและเซ็ตอัปได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว

สิ่งที่ SX2 ถ่ายทอดออกมาสามารถตอบข้อคาใจที่ผมตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่าเพราะเหตุใดลำโพง Series นี้จึงมีการปฏิวัติการออกแบบตัวไดรเวอร์โดยหันมาเน้นการตอบสนองที่ฉับไว สามารถทานทนสัญญาณทรานเชี้ยนต์ได้ดี มากกว่าที่จะคาดหวังบุคลิกบางอย่างในไดรเวอร์เดิม ๆ ที่เคยใช้มาก่อน

เสียงที่เกินตัวของลำโพง SX2 พิสูจน์ได้จากตอนที่ผมเปิดฟังงานเพลงชุด Random Access Memories ของ Daft Punk ที่เป็นไฟล์ไฮเรส 24/88.2 ผ่านโปรแกรม Audirvana Plus ใน Mac mini เข้าไปที่อินพุต USB ของ Marantz : NA-11S1 แล้วปล่อยสัญญาณดิจิตอลไปขับแอมป์ Nuforce : DDA-100 โดยตรง หรือปล่อยเป็นสัญญาณอะนาล็อกจาก NA-11S1 ออกไปขับด้วย YBA : A100

เสียงที่ลำโพง SX2 ถ่ายทอดออกมาน่าสนใจมากครับโดยเฉพาะอรรถรสในแง่ของความน่าติดตามและฟังสนุก ที่เด่นเป็นพิเศษคือแทรคที่ 6 เพลง ‘Lose Yourself to Dance’ ผมคิดว่าใครได้ยินอย่างนี้แล้วไม่รู้สึกอยากขยับตัวบ้าง อย่างน้อยก็โยกหัวเบา ๆ หรือเลยเถิดไปถึงขั้นลุกขึ้นมาปรบมือยกแข้งยกขาไปเลย ถ้าไม่ใช่คนป่วยแล้วล่ะก็สงสัยต้องมีปัญหากับการตีความของโสตประสาทแน่นอนครับ

ความ bright หรือความสว่างของเสียงที่มีอยู่ในลำโพงคู่นี้สามารถใช้เรียนรู้ถึงความสว่างที่ดีและเลวได้ดีเลยครับ ความสว่างที่เลวเชื่อว่าหลายท่านคงทราบดีว่าเป็นอย่างไร มันอาจจะเป็นเสียงที่ฟังดูเจิดจ้าจัดจ้านแห้งผาก ฟังแล้วเสียดแทงเกรี้ยวกราด ก้าวร้าวหรืออะไรก็ตามแต่ สรุปว่านั่นคือความสว่างที่เลวก็แล้วกันจะว่าไปถ้าเปรียบเทียบกับภาพถ่ายก็คงเป็นภาพที่สว่างขาวโพลนไปหมด สว่างจนขาดการแยกแยะน้ำหนักอ่อนแก่ในความสว่าง สว่างจนมองไม่เห็นรายละเอียดบางอย่าง

ดังนั้นเมื่อพูดถึงความสว่างของเสียง บางครั้งถ้าไม่ได้ลงในรายละเอียดอาจจะทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่านั่นคือความหมายเดียวกับความสว่างชั้นเลวอย่างที่เทียบกับภาพถ่ายเสมอไป อันที่จริงแล้วความสว่างทั้งในภาพถ่ายและในเสียงเพลงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไปครับ ถ้าความสว่างนั้นไม่ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนในสิ่งที่ต้องการถ่ายทอดหรือสื่อสารออกมา และนั่นคือนิยามความสว่างที่ผมรู้สึกได้จากลำโพงคู่นี้

ปกติน้อยครั้งมากที่ผมจะฟังไฟล์เพลงดิจิตอลรายละเอียดสูง 24/96 ชุด Rumours ของ Fleetwood Mac ได้อย่างเพลินหู เพราะผมรู้สึกว่างานชุดนี้ถ้าจะฟังให้ได้อรรถรสต้องเปิดดังถึงระดับหนึ่งซึ่งตรงนั้นมักจะเกินความสามารถของลำโพงเล็กทั่วไปโดยเฉพาะลำโพงที่มีลักษณะเสียงในย่านกลางแหลมเปิดสว่างสดใสนั้นมักจะออกอาการ ‘ล้น’ เสมอเมื่อเจอบางเพลงในอัลบั้มนี้ทำให้ไม่สามารถฟังทั้งอัลบั้มได้อย่างต่อเนื่อง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับ SX2

ลำโพงคู่นี้ทำให้ผมรู้สึกว่าพลังงานของเสียงกีตาร์ เสียงร้อง ที่ดีดตัวกระจายแผ่ออกมานั้นไม่ได้สร้างการรับรู้ที่น่าปฏิเสธแต่อย่างใด หากแต่เป็นสำเนียงเสียงที่เชิญชวนให้นั่งฟังต่อยาว ๆ โดยที่ไม่ต้องกดข้ามเพลง ไม่ต้องหรี่เสียงให้เบาลงแต่อย่างใด ความสว่างที่สัมผัสได้นั้นเมื่อไม่ได้มาพร้อมกับความผิดเพี้ยนกร้าวร้าวมันช่างหวานสดใสพริ้มเพราน่าฟังจริง ๆ ครับ

แต่ขอบอกก่อนว่ากว่าจะได้ยินเสียงอย่างนี้จากลำโพงผมต้องใช้เวลาเรียนรู้พฤติกรรมของลำโพงคู่นี้เพื่อแมตช์ซิสเตม หาตำแหน่งจัดวาง รวมถึงการเอาใจใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่พอสมควร ไม่ใช่เปิดกล่องมาแล้วจะได้เจอตัวตนอย่างนี้เลยนะครับ

Review Mission SX2 Loudspeaker

ความสว่างที่น่าฟังของ SX2 ใช่ว่าจะฟังดีกับเพลงที่มีพื้นเสียงสว่างเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่กลับดนตรีที่พื้นเสียงนุ่มนวลหนาแน่นอย่างอัลบั้ม Dreams of New Orleans ของ Wycliffe Gordon ผมว่าความสว่างที่น่าฟังของลำโพงก็สามารถทำให้ดนตรีมีความเป็นดนตรีอย่างที่ควรจะเป็นมากยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ผมรับรู้ได้ถึงเนื้อเสียงที่เกิดจากการกำทอนของคลื่นเสียงในเนื้อโลหะของบรรดาเครื่องเป่าในอัลบั้มได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะทรอมโบนที่มีเรนจ์เสียงค่อนข้างกว้างของ Wycliffe Gordon ประกอบกับการจำลองมิติและเวทีเสียงออกได้อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ลำโพงคู่นี้จึงทำให้ผมรู้สึกรื่นรมย์เบิกบานกับงานเพลงชุดนี้มาก ๆ ครับ

อีกชุดที่เสียงเป็นอะนาล็อกและฟังดีมากเลยกับลำโพงคู่นี้คืออัลบั้ม Pop Pop ของ Rickie Lee Jones (ไฟล์ 16/44.1 CD rip) ครับ ลำโพงของมิสชันให้เสียงกีตาร์ที่มีรายละเอียดหวานสดใส มีพลังและสว่างกำลังดี ดับเบิลเบสนุ่มแน่นรับรู้ได้ถึงเนื้อหนังที่อวบใหญ่แต่ไม่บานเบอะ ส่วนเสียงร้องนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะทุกรายละเอียดที่ถ่ายทอดจากลำโพงทำให้ไม่ต้องสงสัยว่าควรจะเรียกเธอว่าเป็นระดับ ‘ตัวแม่’ หรือไม่ ไอ้ที่เคยรู้สึกว่าฟังแล้วเนือย ๆ หนืด ๆ และน่าเบื่อ ความรู้สึกนั้นเวลานี้ไม่รู้ว่ามันหายไปไหนหมดครับ!

ความสว่างที่น่าฟังของ SX2 ทำให้ผมนึกถึงลำโพงรุ่นหนึ่งในอดีตของ Revel ที่ผมเคยฟังเมื่อเกือบ 10 ปีผ่านมา แน่นอนว่าเสียงของมันคงไม่เหมือนกันสักทีเดียวและราคามันก็แตกต่างกันมาก แต่ไม่ทราบว่าเพราะอะไรเมื่อได้ฟัง SX2 ไปนาน ๆ โดยเฉพาะช่วงที่สุ้มเสียงลงตัวเป็นที่น่าพอใจแล้วถึงทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นได้ หรือสมองของคนเราจะมีเมมมอรี่บางส่วนที่เก็บเอาไว้ได้นานขนาดนั้น ผมเองก็ไม่เชื่อเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็ไม่มีคำตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันครับ

ใครที่น่าจะชอบ Mission SX2
ช่วงท้าย ๆ ของการฟังเพื่อทดสอบ ผมชักสนุกกับเสียงที่ได้จากลำโพงคู่นี้ก็เลยหาเพลงมาเปิดเพลงไปเรื่อยเปื่อยและพบว่างานรีมาสเตอร์ที่ออกมาในเวอร์ชัน high resolution หลายชุดฟังกับลำโพงคู่นี้ได้ดีมาก ๆ

หนึ่งในจำนวนนั้นคืองานเก่าของวง Yes ที่ขึ้นชื่อว่าฟังติดหูยากหนักหนา แต่นิยามนั้นไม่สามารถใช้ได้เมื่อผมเพลงเหล่านี้กับลำโพง SX2 ไม่ทราบว่าอะไรเหมือนกันที่ทำให้ผมอินไปกับเพลงได้ง่ายมาก … “เฮ้ยเพลงไม่เห็นจะฟังยากเลยนี่หน่า” ผมพึมพำกับตัวเองในใจอย่างนั้น พร้อมกับโยกตัวไปตามจังหวะกลองของเพลง ‘Hold On’ จากอัลบั้ม 90125 (ไฟล์ไฮเรสฯ 24/96)

นั่นเป็นแค่ตัวอย่างครับ เพราะหลังจากนั้น SX2 ก็ทำให้ผมเชื่อสนิทใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามันเป็นลำโพงรุ่นหนึ่งที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงดนตรีได้ไม่แพ้ใคร ซึ่งอันนี้ผมสรุปได้จากสิ่งที่พบเจอด้วยตัวเองเพราะหลายครั้งที่ผมตั้งใจนั่งฟังทดสอบอย่างเป็นงานเป็นการ แต่พอรู้สึกตัวอีกทีผมกลับนั่งฟังเพลินจนเลยเวลากินข้าวกลางวันมาเป็นชั่วโมง บ้างก็เลยเวลาที่ตั้งใจไว้เพราะเมื่อผมเริ่มนั่งฟัง SX2 นั่นหมายความว่านาฬิกาที่ใส่อยู่บนข้อมือก็แทบไม่มีความหมายอีกต่อไป


เนื่องจาก Classic Review เป็นรีวิวเครื่องเสียงที่ตกรุ่นไปแล้ว หรืออาจมีการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว ทางเว็บไซต์จึงขอสงวนข้อมูลตัวแทนจำหน่ายและราคาของสินค้าเพื่อป้องกันความสับสนในข้อมูล

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ