รีวิว McIntosh : MP100
ลำพังชื่อเสียงของยี่ห้อแมคอินทอช ‘McIntosh’ นั้น หากถามคนในวงการไฮไฟคงไม่ต้องมาสงสัยเรื่องของคุณภาพเสียงตลอดจนความคลาสสิคแต่อย่างใด แต่เมื่อไม่นานมานี้แมคอินทอชได้สร้างอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์มิได้ถูกปิดกั้นจากกระแสธารของเทคโนโลยีสมัยใหม่
เพราะในโฟโนปรีแอมป์อย่าง MP100 ยังได้บรรจุวงจรแปลงสัญญาณเสียงอะนาล็อกจากแผ่นเสียงให้เป็นไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูงสำหรับเล่นกับอุปกรณ์สมัยใหม่เอาไว้ด้วย
นั่นหมายความว่านอกจากจะฟังจากแผ่นเสียงโดยตรงได้แล้ว ยังสามารถสำเนาแผ่นเสียงให้ออกมาเป็นไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูงได้ด้วย…
แผ่นเสียงที่เรามีและเคยจำเป็นต้องฟังตอนอยู่ที่บ้านเท่านั้น จากนี้ไปก็สามารถ ‘แปรรูป’ ให้เป็น ‘ไฟล์ดิจิทัล’ ไปฟังบนรถ ในโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่เอาไปเข้าระบบ network สตรีมไปฟังได้ทั่วทั้งบ้าน…แค่คิดก็สนุกแล้ว
คุณสมบัติและการออกแบบ
ก่อนจะลงลึกในรายละเอียดของการใช้งานจริง มาดูกันก่อนครับว่า MP100 มีคุณสมบัติอะไรบ้าง ก่อนอื่นเรื่องของรูปร่างหน้าตานี่ต้องบอกว่า ‘สำเนาถูกต้อง’ ดีไซน์และคุณภาพของวัสดุมีความเป็นไฮเอนด์แบบแมคอินทอชปรากฎอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว
โดยเฉพาะความสวยคลาสสิคสไตล์แมคอินทอช ถึงแม้ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้แมคอินทอช ผมก็ยังแอบมีใจให้รูปร่างหน้าตาของ MP100 เลยครับ… แหม่ มันงามจริง ๆ
แผงหน้าปัดปิดทับด้วยแผ่นกระจก ตัวอักษรบนหน้าปัดเป็นสีเขียวเรืองแสงในขณะเปิดใช้งาน ริมด้านข้างซ้าย-ขวาของแผงหน้าปัดประดับด้วยแถบโลหะสีเงินซึ่งเป็นอีกหนึ่งลายเซ็นของแมคอินทอช
ปุ่มกดและลูกบิดต่าง ๆ เป็นแมคอินทอชสไตล์อย่างชัดเจน แท่นเครื่องบางส่วนเป็นสีโครมเมียมหรูหราเงางาม ฝาบนเป็นโลหะสีดำด้านคลาสสิค
ขนาดเครื่องไม่ได้ใหญ่โตแต่ลองยกดูจะสัมผัสได้ถึงความแน่นหนาแข็งแรง เห็นเครื่องเป็นขนาดย่อส่วนอย่างนี้แต่งานผลิตนี่ไม่ต่างจากรุ่นที่ตัวเครื่องเป็นไซส์ปกติเลย
MP100 เป็นโฟโนปรีแอมป์ที่รองรับทั้งหัวเข็มประเภท MM (Moving Magnet) และ MC (Moving Coil) โดยมีอัตราขยายสัญญาณอยู่ที่ 40dB และ 60dB ตามลำดับ
และยังมีขั้วต่ออินพุตด้านหลังเครื่องแยกอิสระจากกัน (รวมทั้งขั้วกราวนด์) ทำให้สามารถต่อใช้งานกับหัวเข็มทั้ง 2 ประเภทได้พร้อมกัน เวลาจะฟังก็เลือกที่ปุ่มอินพุตด้านหน้าเครื่องว่าจะฟัง MM หรือ MC
สวิตช์ปรับโหลดแมตชิ่งที่แยกอิสระสำหรับหัวเข็ม MM และ MC นอกจากมีอินพุตที่แยกกันสำหรับ MM และ MC แล้ว การปรับค่า load-impedance matching สำหรับหัวเข็มทั้งสองประเภทยังมีสวิตช์แยกกันอิสระด้วยครับ
สวิตช์ที่ว่านี้เป็นปุ่มหมุนอยู่ที่ด้านหน้าเครื่องเลย ปรับค่าได้สะดวกมาก ไม่ต้องเปิดฝาเครื่องหรือใช้เครื่องมืออะไรเลย
นอกจากจะใช้งานง่ายแล้วยังสามารถปรับค่าขณะเปิดฟังอยู่ได้เลย (adjusting on the fly) ทำให้การเปรียบเทียบเสียงทำได้ง่ายมาก ๆ
โดยหัวเข็ม MM นั้นจะเป็นการปรับค่า capacitance ตั้งแต่ 50-400pF (พิโกฟารัด) ขณะที่ค่าความต้านคงที่อยู่ที่ 47 กิโลโอห์ม ส่วนหัวเข็ม MC จะเป็นปรับการ resistance ตั้งแต่ 25-1000 โอห์ม ขณะที่ค่า capacitance นั้นคงที่อยู่ที่ 470pF ด้านเอาต์พุตของ MP100 มีให้เลือกใช้งานทั้งอะนาล็อกและดิจิทัล
สำหรับเอาต์พุตอะนาล็อกที่จะต่อใช้งานกับแอมปลิฟายทั่วไปมีให้เลือกใช้งานทั้งแบบบาลานซ์และอันบาลานซ์ แรงดันเอาต์พุตสูงสุดอยู่ที่ 16 V RMS และ 8 V RMS ตามลำดับ
โดยมีอิมพิแดนซ์ขาออกอยู่ที่ 200 โอห์มและ 100 โอห์มตามลำดับ ความเพี้ยน THD% สูงสุดเพียง 0.005% (เมื่ออ้างอิงที่ความถี่ 20Hz-20kHz)
ลำพังสเปคฯ ในส่วนนี้ก็จัดว่าดูดีไม่ธรรมดาแล้วนะครับ แต่นี่เขายังมีเอาต์พุตดิจิทัลให้เลือกใช้งานด้วย!
เอาต์พุตดิจิทัลของ MP100 มีให้เลือกใช้งานถึง 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ Coaxial, Optical และ USB (USB Type-B) สองแบบแรกสำหรับต่อใช้งานกับอุปกรณ์จำพวก DAC หรือ digital processor ภายนอก
ส่วนเอาต์พุต USB นั้นสำหรับรับ-ส่งข้อมูลเสียงระหว่างตัว MP100 และคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการริปสัญญาณจากแผ่น LP ให้เป็นไฟล์ดิจิทัล
Technical Insight ล้วงลึกงานวิศวกรรม
หลังจากที่ได้เห็นการออกแบบภายนอกไปแล้ว ผมยังมีโอกาสได้เห็นการออกแบบวงจรภายในเครื่องของ MP100 ด้วย…
อ้อ ก่อนอื่นต้องบอกว่า MP100 ยังคงเป็นเครื่องเสียงที่ผลิตจากโรงงานของแมคอินทอช ที่บิงแฮมตัน นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกานะครับ ดังนั้นเรื่องความเนี๊ยบคงไม่ต้องถามไถ่กันให้เสียเวลา
แต่ที่น่าสนใจก็คือแนวทางการออกแบบซึ่งต้องยอมรับนับถือในความกล้าของทีมวิศวกรแมคอินทอชจริง ๆ ครับ เพราะมันได้แหวกขนบธรรมเนียมเดิม ๆ ของโฟโนปรีแอมป์ไปเสียจนทำให้บรรดากูรูอะนาล็อกมือเก๋า ๆ อาจต้องมองค้อนได้
เรื่องแรกคือ วงจรภายในของ MP100 ใช้อุปกรณ์โซลิดสเตตประเภท surface-mounted device เกือบ 100% และแทบไม่เห็นพวกอุปกรณ์ไฮไฟเกรดอย่างแค็ปตัวใหญ่ ๆ หรือตัวต้านทานเขื่อง ๆ เลย แถมยังมีการใช้วงจรรวมแทนที่ discreted device ในหลายจุดอีกด้วย
ภาคจ่ายไฟก็เลือกใช้แบบสวิตโหมดเพาเวอร์ซัพพลาย (สวิตชิ่ง) แทนหม้อแปลงเทอร์รอยด์และตัวเก็บประจุฟิลเตอร์ตัวเขื่อง… เรียนตามตรงว่ามันดูเหมือนคอมพิวเตอร์มากกว่าเครื่องเสียงที่ทำมาสำหรับเล่นกับชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียงครับ แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้คุณต้องมีอคติกับคุณภาพเสียงของมันครับ ในส่วนนี้ผมยืนยันให้คุณมั่นใจได้ เพราะว่าผมได้ลองฟังมาแล้ว ก่อนจะมานั่งเขียนรีวิวนี้
การเลือกอินพุตต่าง ๆ การเลือกโหลดแมตชิ่งและการตัดต่อสัญญาณในจุดต่าง ๆ เลือกใช้รีเลย์ไฟฟ้าเกรดดีในการทำหน้าที่นี้ ทำให้ทางเดินสัญญาณมีความลัดตรงและมีการเชื่อมต่อที่ไว้ใจได้ในระยะยาว
แผงวงจรพิมพ์เป็นแบบทรูโฮลมัลติเลเยอร์เพื่อให้ทางเดินสัญญาณสั้นและเรียบง่าย การชีลด์ป้องกันสัญญาณรบกวนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตแผงวงจรสะอาดสะอ้านมาก ไม่มีคราบไคลหรือรอยสกปรกจากน้ำยาประสานต่าง ๆ เลยครับ
นอกเหนือจากเรื่องที่ว่ามาแล้ว การเลือกใช้ชิพประมวลผลต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงของสัญญาณดิจิทัล ถือได้ว่าทีมออกแบบของแมคอินทอชเขาทำการบ้านมาดีจริง ๆ ครับ
โดยเฉพาะชิพที่เป็นหัวใจสำคัญอย่าง AKM 5552VN ชิพ A/D Converter (ADC) เกรดดีที่รองรับการแปลงสัญญาณอะนาล็อกเป็นดิจิทัลถึงระดับ 32bit/768kHz, ชิพ Digital Audio Transmitter รองรับ 24bit/192kHz จาก AKM เบอร์ AK4103 และชิพ Bravo SA9227 ซึ่งเป็นชิพ Audio Stream Controller รองรับ 32bit/384kHz
จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นว่าฮาร์ดแวร์ของ MP100 นั้นรองรับการริป LP ไปไกลกว่าสเปคฯ ที่แจ้งเอาไว้แค่ 24bit/96kHz มาก แต่ที่ทำเอาไว้แค่นี้ก็เพราะเขาเห็นว่าเพียงพอกับการริปสัญญาณจากแผ่น LP แล้วเท่านั้นเองครับ
ในอนาคตถ้าหากจะเพิ่มจาก 24bit/96kHz ก็อาจจะทำได้ง่าย ๆ ด้วยการอัพเฟิร์มแวร์ของเครื่องเท่านั้นเอง ซึ่งข้างในเครื่องก็พบว่ามีพอร์ตเชื่อมต่อพร้อมสำหรับการนี้อยู่แล้ว สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมอื่น ๆ ในส่วนของเทคนิคสามารถรับชมได้จากคลิปด้านล่างนี้
Live Review … แกะกล่องลองเล่น McIntosh MP100 – ตอนที่ 2 ‘Technical Insight’
Posted by GM 2000 Magazine on Wednesday, October 19, 2016
คุณภาพเสียง
ผมมีเทิร์นเทเบิ้ล 2 ชุดด้วยกันที่มาสลับใช้งานกับ McIntosh MP100 ชุดแรกเป็นเทิร์นเทเบิ้ล Thorens รุ่น TD 203 ติดตั้งหัวเข็ม Soundsmith รุ่น Carmen ใช้งานกับอินพุต MM ของ MP100 อีกชุดหนึ่งใช้เทิร์นเทเบิ้ล Well Tempered Lab รุ่น Simplex ติดตั้งหัวเข็ม Shelter รุ่น 501 MkIII ใช้งานกับอินพุต MC ของ MP100
การปรับ load matching ที่สามารถทำได้แบบ On The Fly ปรับสดฟังสดได้เลยในระหว่างการเล่นทำให้การแมตช์ค่ากับหัวเข็มทำได้ง่ายสุด ๆ ยกตัวอย่างเช่นในคลิปด้านล่างนี้
ถ่ายทอดสด … แกะกล่องลองเล่น McIntosh MP100 – ตอนที่ 1 'แรกประทับใจ'
โพสต์โดย AV Tech Guide เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 2016
ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องของคุณภาพเสียง ผมต้องขอชื่นชมวิศวกรหรือทีมออกแบบ MP100 ว่าสามารถจัดการกับ noise หรือสัญญาณรบกวนในโฟโนปรีแอมป์ตัวนี้ได้อย่างดีเยี่ยม
สมแล้วที่ในสเปคฯ เขากล้าระบุว่า Signal to Noise Ratio ของมันดีมากในระดับ 78dB สำหรับอินพุต MC และ 80dB สำหรับอินพุต MM สเปคฯ นี้สำคัญมากสำหรับวงจรขยายสัญญาณที่มีเกนขยายระดับเป็น 100 เท่า (40dB) หรือ 1,000 เท่า (60dB) เช่นนี้ !
เนื่องจากอินพุตที่รับเข้ามานั้นมีทั้งสัญญาณเสียงและสัญญาณรบกวน หากค่า Signal to Noise Ratio ไม่ดีแล้วการขยายนับร้อยเท่าพันเท่าก็จะขยายเสียงรบกวนเหล่านั้นขึ้นมาด้วย โดยเฉพาะเสียงรบกวนที่มาจากวงจรภายในเครื่องเอง
ที่ผมสรุปได้เช่นนั้นไม่ใช่เพราะดูเพียงตัวเลขในสเปคฯ ของ MP100 เท่านั้น แต่ผมพิจารณาจากการใช้งานจริง โฟโนปรีแอมป์รุ่นนี้ very low noise หรือสัญญาณรบกวนน้อยจนแทบเรียกว่าไม่ได้ยินแม้จะตั้งใจไปฟังใกล้ ๆ หน้าลำโพงเลยครับ
มันเงียบและสงัดมาก โฟโนปรีแอมป์ที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมเช่นนี้ทำให้เราสามารถคาดหวังที่จะได้ยินรายละเอียดของ low level detail หรือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเสียงดนตรีได้อย่างครบถ้วนและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการที่ได้ฟังจริงแล้วผมก็พบว่า MP100 สามารถถ่ายทอดรายละเอียดเหล่านั้นออกมาได้จริง ๆ
อย่างเช่นในแผ่น LP ของสังกัด Naim อัลบั้ม Meet Me in London โดยศิลปิน Antonio Forcione และ Sabina Sciubba งานเพลงชุดนี้ผมคุ้นเสียงที่ได้จากไฟล์ Hi-Res Audio 24bit/192kHz มาก ๆ
ซึ่งเป็นปกติที่ไฟล์เสียงดิจิทัลรายละเอียดสูงซึ่งมีความสงัดจะถ่ายทอด low level detail ได้ดี แต่ในที่นี้เสียงจาก LP ที่กลั่นกรองผ่าน MP100 ก็ทำได้ดีไม่เป็นรองกัน หนำซ้ำยังได้รายละเอียดเสียงที่ลื่นไหล ต่อเนื่อง และตอบสนองต่อไดนามิคคอนทราสต์ได้อย่างดีเยี่ยมในแบบฉบับของเสียงอะนาล็อกจาก LP ด้วย
ถ้าคุณคิดว่านั้นคือไฮไลท์แล้ว ต้องขอบอกว่านั่นแค่น้ำจิ้ม เพราะไดนามิคเสียงจากแผ่น Breaking Silence (สังกัด Analogue Production) ของ Janis Ian ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อว่าแผ่น LP จะตอบสนองไดนามิคเสียงได้ดีถึงระดับนี้
ความฉับพลันทันใดของเสียงและแรงปะทะของหัวเสียงบ่งบอกได้ถึงคุณภาพของชุดฟรอนต์เอนด์ที่ใช้ playback แผ่น LP ชุดนี้ เสียงกลอง เสียงกีตาร์ มันทั้งชัด ทั้งแน่น ฟังแล้วรู้เลยว่าเป็นมือระดับพระกาฬมาร้องมาเล่นได้ฟัง อีกกรณีหนึ่งที่ฟังแล้วต้องบอกว่า “ขนลุก” ก็คือในแผ่น LP อัลบั้ม Time Out โดย The Dave Brubeck Quartet (แผ่นรีมาสเตอร์ 200 แกรมของสังกัด Classic Records)
แผ่นชุดนี้นอกจากทำให้รู้ว่า MP100 มีสมดุลเสียงตลอดย่านความถี่ที่ค่อนข้าง flat แล้วยังสามารถผสานระหว่างความละมุนละม่อมของระบบเสียงอะนาล็อกแบบดั้งเดิม และความเด็ดขาดคมชัดของระบบเสียงรายละเอียดสูงสมัยใหม่เอาไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว
เสียงที่โสตประสาทสัมผัสได้เป็นมากกว่าการได้ยินแต่มัน ‘ซึมลึก’ เข้าไปถึงความรู้สึกจนเกิดเป็นอารมณ์ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเสียงดนตรี คุณภาพเสียงอย่างนี้กับค่าตัวเช่นนี้ มองมุมไหนก็ต้องบอกว่า ‘คุ้มค่า’ ครับสำหรับ McIntosh MP100
เสียงดิจิทัลรายละเอียดสูงจากแผ่นไวนิล
นอกจากการใช้งานเป็นโฟโนปรีแอมป์สำหรับการฟังเพลงจากแผ่น LP แล้ว ฟังก์ชั่นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันใน MP100 ก็คือการริปแผ่น LP โดยสเปคฯ MP100 แจ้งว่าสามารถริปแผ่น LP เป็นไฟล์เสียงดิจิทัลที่ความละเอียดสูงสุด 24bit/96kHz โดยใช้คอมพิวเตอร์และแอปฯ
สำหรับการแปลงเสียงซึ่งมีให้เลือกใช้อยู่พอสมควรทั้งฟรีแวร์และแอปฯ เสียเงิน ซึ่งจากที่คุยกับทีมงานของทาง McIntosh วันที่มาเปิดตัว MP100 ในบ้านเรา ทำให้ผมทราบว่าเขาแนะนำแอปฯ ชื่อ VinylStudio ราคา $29.95 หรือราว ๆ หนึ่งพันบาท
แอปฯ นี้มีให้เลือกใช้ทั้งเวอร์ชั่นสำหรับคอมพิวเตอร์ Mac และ Windows (PC) รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่เวบไซต์ http://www.alpinesoft.co.uk/ สำหรับการรีวิวนี้ ผมใช้ VinylStudio เวอร์ชั่นที่ใช้คอมพิวเตอร์ Mac การเซ็ตอัพและการตั้งค่าต่าง ๆ เข้าใจง่ายและสะดวกกว่าที่คิด ง่ายกว่าฟรีแวร์หลายตัวที่ไม่ได้ทำมาเป็นการเฉพาะ
ฟังก์ชั่นและสิ่งอำนวยความสะดวกใน VinylStudio ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ในการใช้ริปแผ่น LP ทั้งสิ้น สามารถแปลงไฟล์เป็นฟอร์แมต WAV, FLAC, Ogg, MP3, AIFF, CAF, AAC และ Apple Lossless ที่ความละเอียดสูงสุด 32bit/192kHz ได้ เวอร์ชั่นล่าสุดทราบว่าแอปฯ ตัวนี้ยังรองรับไปถึงการแปลงเป็นไฟล์ DSD แต่ต้องใช้งานร่วมกับฮาร์ดแวร์ที่รองรับ DSD ได้ด้วย ซึ่ง MP100 ในปัจจุบันยังไม่รองรับฟอร์แมตนี้
สำหรับการเชื่อมต่อกับ MP100 ก็ง่ายมากครับ จากระบบเชื่อมต่อเทิร์นเทเบิ้ลปกติ เราต้องการแค่สาย USB (USB-A to USB-B) อีก 1 เส้น สำหรับเชื่อมต่อระหว่างเอาต์พุตดิจิทัล USB ที่ด้านหลังเครื่อง MP100 และพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์เท่านั้นเอง แค่นี้เองครับ
สำหรับคอมพิวเตอร์ Windows จำเป็นต้องติดตั้งไดรเวอร์ในคอมพิวเตอร์ก่อน ซอฟต์แวร์ไดรเวอร์ที่ว่านี้สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.mcintoshlabs.com/us/Support/Pages/Manuals.aspx
เมื่อเปิดแอปฯ VinylStudio ขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตั้งค่าให้แอปฯ รู้จักอุปกรณ์ MP100 ของเรา เลือกมอนิเตอร์เสียงที่จะฟัง จากนั้นก็ตั้งค่าการริปหรือ record ต่าง ๆ ซึ่งตัวแอปฯ เองก็มีระบบอัตโนมัติให้เลือกใช้งานอยู่พอสมควร
ผมลองใช้งานดูคร่าว ๆ ต้องบอกว่าใช้ไม่ยากเลยล่ะครับโดยเฉพาะคนที่พอมีพื้นฐานการริป LP อยู่บ้างแล้ว หลังจากการริปยัง edit ข้อมูลต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งก็ถือว่าสะดวกและเป็นแอปฯ ที่สามารถทำการริป LP เป็นไฟล์ดิจิทัลแบบจบบริปูรณ์ได้เลย
แต่สำหรับการรีวิวนี้ เราอาจจะไม่ต้องการทราบว่าแอปฯ VinylStudio นั้นทำอะไรได้บ้าง แต่เราต้องการทราบว่าไฟล์เสียงที่ได้จากกระบวนการแปลงสัญญาณอะนาล็อกเป็นดิจิทัลโดย McIntosh MP100 นั้นทำได้ดีน่าสนใจเพียงใด คุณภาพเสียงเป็นอย่างไร ฟังดีแค่ไหน
จากที่ผมได้ลองกับแผ่น LP ที่ผมคุ้นเคยและฟังบ่อยมากจนติดหูอย่างอัลบั้ม JT ของ James Taylor และอัลบั้ม For Sentimental Reasons ของ Linda Ronstadt ผมเลือกริปเป็นไฟล์ wav ความละเอียด 24bit/96kHz ไฟล์เสียงที่ได้เมื่อเปิดฟังผ่านเครื่องเล่น Questyle QP1R ผมบอกได้เลยว่า… สุดยอด
อารมณ์ของการฟังแผ่น LP มาเต็ม ไม่ใช่เพราะเสียง click / pop เบา ๆ จากกระบวนการ playback แผ่นเสียงเก่าสภาพดีเหล่านี้ แต่เป็นเรื่องของมวลเนื้อเสียงที่เก็บเอามาได้โดยไม่ตกหล่น อีกทั้งความเป็นดนตรีที่ถูกถ่ายทอดจากโลกของอะนาล็อกผ่านเข้ามาในโลกของดิจิทัล… มันเป็นอะไรที่ช่างสมบูรณ์แบบยิ่งนัก ลองพิสูจน์จากคลิปเสียงด้านล่างนี้ดูครับ
ความคลาสสิคที่อยู่เหนือกาลเวลา
จากที่ได้เห็นในวันเปิดตัวที่เมืองไทยและที่ลองเล่นมาตั้งแต่ต้น ผมว่าโฟโนปรีแอมป์จากแมคอินทอชรุ่นนี้น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับคนที่ยังฟังเสียงจากแผ่นไวนิล ไม่ใช่เพียงเพราะว่ามันเป็นยี่ห้อแมคอินทอช ไม่ใช่เพราะว่ามันสวย หรือเพราะว่ามันมีฟีเจอร์มากกว่าโฟโนปรีแอมป์ทั่วไป แต่เพราะสิ่งเหล่านั้นมันสะท้อนถึงรสนิยม ประสิทธิภาพและคุณภาพได้อย่างน่าประทับใจ จะบอกว่าสวยที่รูปจูบยังหอมก็ว่าได้
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ MP100 มิได้เพียงได้รับการเอาใจใส่ในส่วนของการนำเอาสุนทรียะของเสียงจากแผ่นไวนิลกลับคืนมา หากแต่มันยังทำให้ฝันของหลายคนเป็นจริงได้…
ฝันที่อยากฟังเสียงของแผ่นไวนิลอัลบั้มโปรดในรถยนต์ บนรถโดยสาร บนเครื่องบิน หรือฟังเวลาอยู่นอกบ้าน แต่อัลบั้มเพลงนั้น ๆ ไม่มีเวอร์ชั่นดิจิทัลก้อปปี้หรือว่า มี แต่คุณภาพเสียงไม่ดีพอ วันนี้เราสามารถรีมาสเตอร์แผ่น LP ของตัวเองเป็นไฟล์ดิจิทัลคุณภาพสูง (มาก) ได้แล้วโดยอาศัยความสามารถเพียงด้านหนึ่งของโฟโนปรีแอมป์ไฮเทคตัวนี้
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวก็ยิ่งทำให้ McIntosh MP100 เป็นโฟโนปรีแอมป์ในระดับราคาไม่เกินหนึ่งแสนบาทที่ดูเหมือนจะไร้คู่แข่งในเวลานี้… จริงหรือไม่ ต้องไปพิสูจน์ดูครับ!
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เค เอส ซันส์กรุ๊ป จำกัด
โทร. 081-008-0008 หรือ 081-000-8800
ราคา : 96,000 บาท (ส่วนลดพิเศษ 25% เหลือ 72,000 บาท)