fbpx
REVIEW

รีวิว LEONA : @WALL1

เมื่อได้ทราบว่าทางลีโอน่ามีสินค้ารุ่นใหม่ส่งมาให้ทางผมและกองบรรณาธิการได้ลองเล่นกันดูผมก็รู้สึกสนใจ ยิ่งได้ทราบในเบื้องต้นว่ามันเป็นเครื่องเสียงสมัยใหม่ที่มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากเครื่องเสียงรุ่นก่อนหน้านี้ของลีโอน่าเอง มันก็ยิ่งกระตุ้นให้ผมสนใจมันมากยิ่งขึ้น ทั้ง ๆ ที่ Leona รุ่น @Wall1 (แอท วอลวัน) นี้เป็นแค่ลำโพงแขวนผนังตัวบาง ๆ เท่านั้นเอง

รูปลักษณ์และการออกแบบ
อย่างที่ได้เรียนไว้ว่า @Wall1 เป็นแค่ลำโพงแขวนผนังตัวบาง ๆ เท่านั้น แกะออกมาจากกล่องทีแรกผมว่าหน้าตามันเหมือน wi-fi router ตัวโต ๆ ที่ไม่มีเสาอากาศ รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 220 มิลลิเมตร หนาประมาณ 45 มิลลิเมตร ตัวลำโพงทำจากพลาสติกสีขาวเนื้อดี (หนาแน่นพอสมควร)

ด้านหน้าลำโพงเป็นตะแกรงโลหะเนื้อโปร่งสีเทามองเห็นตัวไดรเวอร์ลำโพงอยู่ข้างในลาง ๆ ประกอบไปด้วยไดรเวอร์ขนาดจิ๋ว 1.8 นิ้ว จำนวน 4 ตัว ขับด้วยภาคขยายเสียงกำลังขับ 3.5Wrms จำนวน 4 ชุด และยังมี Passive Radiator ขนาดเล็กไม่ต่างกันคือ 46mm x 86mm อีก 2 ตัวร่วมทำงานอยู่ด้วย

ขั้วต่อต่าง ๆ ทั้งขั้วต่อไฟเลี้ยงจากอะแดปเตอร์ (DC 6V, 2.5A), 3.5mm Analog Input (AUX), พอร์ต USB (USB-A) และปุ่มกดทั้งหมดจะอยู่ที่ด้านล่างของตัวลำโพง ด้านหลังตัวลำโพงจะมีเพียงร่องที่เอาไว้เกี่ยวยึดกับชุดแขวนผนังเท่านั้น

ดูจากการออกแบบแล้วดูเหมือนว่าลำโพงชุดนี้จะให้ความสำคัญในส่วนของการตกแต่งด้วย เพราะด้านบนของลำโพงยังมีแผงไฟส่องสว่างแบบ LED Warm Light (อุณหภูมิสี 2,850K) อยู่ในกรอบพลาสติกสีขาวขุ่นเพื่อใช้ส่องสว่างเพิ่มบรรยากาศในเวลาที่ตัวลำโพงถูกแขวนอยู่บนฝาผนัง สามารถเปิด-ปิดได้และปรับระดับความสว่างได้จากทั้งบนแอปฯ ในสมาร์ทโฟนและที่ตัวเครื่อง

USB, Bluetooth, WiFi, Leona Smart Play และ TIDAL
สำหรับในด้านของการฟังเพลงและรูปแบบการเชื่อมต่อทางสัญญาณเสียง ลำโพงหน้าตาเรียบ ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรรุ่นนี้กลับมีความสามารถมากกว่าเครื่องเสียงมินิคอมโปเนนท์ทั่วไปประเภทวางขายตามห้างโมเดิร์นเทรดที่มีปุ่มกดอยู่บนตัวเครื่องเต็มไปหมดเสียอีก

Leona @Wall1 เชื่อมต่อสัญญาณเสียงได้หลากหลายรูปแบบด้วยกัน ตั้งแต่แบบที่เรียบง่ายที่สุดอย่างการเสียบสาย mini 3.5mm ที่ให้มาในชุดรับสัญญาณเสียงจากภายนอกเช่นจากเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาหรือสมาร์ทโฟนเข้ามาที่ขั้วต่อ AUX ของลำโพงแบบง่าย ๆ หรือจะเป็นการนำไฟล์เพลงใส่ใน flash drive แล้วมาเสียบเล่นที่พอร์ต USB-A ก็ทำได้เช่นกัน

ปุ่มกดและขั้วต่อบริเวณด้านล่างของลำโพง

สำหรับรูปแบบการเล่นเพลงหรือการเชื่อมต่อสัญญาณแบบไร้สาย ลำโพงรุ่นนี้สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง Bluetooth (v4.0) และ Wi-Fi สำหรับการเชื่อมต่อรูปแบบแรกนั้นเรียกผู้คนยุคนี้ ยุคไอที 4.0 น่าจะรู้จักคุ้นเคยกันดี ก็ใช้งานเหมือน ๆ ลำโพงบลูทูธทั่วไปนั่นแหละครับ แต่การเชื่อมต่อรูปแบบหลังนี่สิครับที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ที่แท้จริงของลำโพงรุ่นนี้

ที่ว่าเป็นไฮไลต์เพราะมันสามารถเชื่อมต่อลำโพง @Wall1 ตัวอื่น ๆ เข้ามาในระบบ network ได้สูงสุดถึง 6 ตัวด้วยกัน เพื่อใช้งานเป็นระบบ network audio system แบบมัลติรูมหรือมัลติโซนภายในบ้านได้ การควบคุมสั่งงานทั้งหมดก็เป็นแนวสมัยใหม่สุดไฮเทคคือจะกดปุ่มที่ตัวลำโพงโดยตรงก็ได้ หรือจะจิ้มหน้าจอสมาร์ทโฟนสั่งงานผ่านแอปฯ ที่มีชื่อว่า ‘Leona Smart Play’ ก็ได้

แอปฯ นี้ทางลีโอน่าออกแบบมาให้ดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรี ๆ ทั้งสมาร์ทโฟน Android และ iOS ก็เป็นไปตามยุคสมัยล่ะครับ เครื่องเสียงนาทีนี้ไม่ต้องมีรีโมทคอนโทรลที่มีปุ่มเยอะแยะให้เวียนหัวเล่นล่ะครับ ใช้มือถือของเรากับแอปฯ ของเขานี่แหละ จิ้มสั่งงาน กำหนดตั้งค่าหรือเลือกเพลงไปเล่นที่ลำโพง @Wall1 แต่ละชุดได้เลย

แถมยังออกแบบให้เลือกได้ด้วยว่าจะให้ลำโพงแต่ละชุดเล่นเพลงของใครของมัน หรือว่าให้เล่นเพลงเดียวกันทั้งหมด จะสั่งหยุดเล่นหรือเริ่มเล่นพร้อมกันทั้งหมดก็ได้ด้วยต่างหาก เป็นเครื่องเสียงที่เหมาะกับยุค Thailand 4.0 จริง ๆ

สำหรับเพลงที่จะสตรีมมาฟังนั้นยังเลือกได้ว่าจะดึงเพลงที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟนของเราเอง หรือจะสตรีมมาจาก music server (UPnP/DLNA) ของเราก็ได้ มากไปกว่านั้นไหน ๆ ก็เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแล้วเขาก็เลยออกแบบให้มันสตรีมเพลงมาจากระบบอินเทอร์เน็ตด้วยเสียเลย ซึ่งมีให้เลือกฟังทั้งในกลุ่มที่ให้บริการ Internet Radio แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือ Online Music Streaming ที่ให้บริการเพลงคุณภาพสูง (lossless cd quality streaming) ที่ต้องจ่ายรายเดือนอย่าง TIDAL

ไม่เพียงเท่านั้นลำโพง Leona @Wall1 ยังถูกออกแบบมาให้ใช้งานแบบตัวใครตัวมันโดยกำหนดให้ฟังเสียงจากแชนเนลซ้ายและขวาพร้อมกันที่ลำโพงตัวเดียว หรือจะฟังเฉพาะแชนเนลใดแชนเนลหนึ่ง (ซ้ายหรือขวาข้างเดียว) ได้ด้วย ด้วยคุณสมบัติอย่างหลังนี้เองจึงทำให้ลำโพง @Wall1 จำนวน 2 ตัวสามารถใช้งานร่วมกันเป็นระบบเสียงสเตริโอแยกซ้ายขวาได้ด้วย โดยกำหนดให้ตัวหนึ่งฟังเสียงจากแชนเนลซ้าย และอีกตัวหนึ่งฟังเสียงจากแชนเนลขวา… โอ้โฮ ใช้งานได้เอนกประสงค์จริง ๆ

การติดตั้งและการใช้งานเบื้องต้น
Leona @Wall1 มาพร้อมกับอะแดปเตอร์จ่ายไฟเลี้ยงสีขาวเข้าชุดกัน เป็นอะแดปเตอร์แบบเสียบฝาผนังโดยตรง และอุปกรณ์ชุดแขวนผนังที่สามารถยึดกับพื้นผิวเรียบ ๆ ได้ทั้งวิธีการติดด้วยเทปกาวสองหน้า หรือเจาะผนังใส่พุกแล้วยึดด้วยสกรู ส่วนตัวถ้าหากทำได้ผมแนะนำให้ยึดแบบหลังเพื่อความแน่น เนื่องจากตัวลำโพง @Wall1 มีน้ำหนักไม่เบานัก หากยึดไม่แน่นแล้วเกิดหลุดร่วงลงมา นอกจากตัวลำโพงจะเสียหายแล้วอาจจะทำให้ศีรษะหรือเท้าของเราเกิดการบาดเจ็บได้ครับ

ปุ่มควบคุมทั้ง 5 ด้านล่างลำโพง มีอยู่ 3 ปุ่มที่ใช้ควบคุมการเล่นในระหว่างการเล่นเพลง (เล่น/หยุด, เลือกเพลงไปข้างหน้า, เลือกเพลงย้อนถอยหลัง) 2 ใน 3 ปุ่มใช้เพิ่มหรือลดระดับเสียงถ้าหากกดค้างเอาไว้ ที่เหลืออีก 2 ปุ่มเป็นปุ่ม Function Key/ Power กดค้าง 3 วินาทีจะเป็นการเปิดหรือปิดเครื่อง ถ้ากดสั้น ๆ จะเป็นการปรับระดับความสว่างของไฟส่องสว่างที่ด้านบนของลำโพง

อีกปุ่มทางขวามือเป็นปุ่ม MR ทำหน้าที่เลือกสลับอินพุตที่ต้องการฟังระหว่าง Wi-Fi, AUX, Bluetooth และ USB เมื่อกดปุ่มนี้ค้างไว้จะเป็นการคืนค่าโรงงาน (factory default reset)

@Wall1 ขณะติดตั้งกับแผงสาธิตวิธีแขวนผนังของ LEONA

ส่วนตัวผมมีความรู้สึกว่าการออกแบบปุ่มเอาไว้ด้านล่างตัวลำโพงอย่างนี้ใช้งานไม่ค่อยสะดวกเท่าไรครับ นอกเสียจากว่าตัวลำโพงจะถูกติดตั้งเอาไว้ด้วยความสูงระดับที่ปุ่มกดอยู่ในระดับสายตา แต่ก็ยังโชคดีที่ปุ่มที่ต้องกดบ่อยที่สุดมีแค่ 2 ปุ่มนั่นคือ ปุ่มเปิด-ปิดเครื่องและปุ่มเลือกอินพุต

แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วผมว่าเขาตั้งใจออกแบบมาให้เรากดสั่งงานจากสมาร์ทโฟนมากกว่าครับ สะดวกกว่ากันเยอะเลย ปุ่มที่ตัวเครื่องนี่ถือเสียว่าเป็นออปชั่นก็แล้วกัน มีมาให้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร นาน ๆ ทีอาจจะจำเป็นต้องใช้ก็ได้ (เช่นตอนที่ควานหามือถือไม่เจอหรือเดินไปใกล้ ๆ ตัวลำโพงพอดี)

สำหรับการใช้งานแอปฯ ‘Leona Smart Play’ ครั้งแรกที่เปิดขึ้นมาระบบจะทำการมองหาลำโพง @Wall1 ที่เปิดใช้งานอยู่ (ON) เพื่อทำการเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi ให้เข้ามาอยู่ในระบบ ต้องชมคนออกแบบแอปฯ ตัวนี้นะครับ นอกจากหน้าตาของ UI ที่ดูดีสะอาดตาแล้ว ภาพรวมของตัวแอปฯ ใช้งานง่าย เป็นขั้นเป็นตอน สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากเลย

โดยเฉพาะในส่วนสำคัญอย่าง ‘Wi-Fi Setup Wizard’ ระบบจะดึงเอา Wi-Fi ที่สมาร์ทโฟนของเราเชื่อมต่ออยู่นี่แหละครับมาใช้งานกับ @Wall1 ส่วนเรามีหน้าที่ป้อนรหัสผ่านให้ถูกต้องเท่านั้นเอง ถ้า Wi-Fi Router ที่ใช้งานเป็นระบบ Dual Band ให้เลือกที่ความถี่ 2.4GHz แทน 5GHz นะครับ

จากนั้นก็ให้กดปุ่ม WPS (ปุ่มเดียวกันกับปุ่มกด เล่น/หยุดเล่นเพลง) ที่ตัวลำโพงค้างไว้ 2 วินาที จากนั้นให้รอจนระบบสามารถเชื่อมต่อลำโพงของเราได้แล้ว หลังจากเพิ่มลำโพง @Wall1 เข้าไปในระบบแล้ว เราสามารถตั้งชื่อของลำโพงได้จากตัวแอปฯ เพื่อให้สะดวกแก่การจดจำตำแหน่งของตัวลำโพง เช่น Kitchen, Bedroom, Living Room หรือแม้แต่ Restroom (ฮ่า ๆ ใครทำจริงอย่าลืมระวังเรื่องความชื้นล่ะ ทางผู้ผลิตเขาไม่ได้บอกไว้ซะด้วยว่าทนความชื้นได้มากน้อยแค่ไหน)

ไฟส่องสว่างที่ด้านบนของลำโพง ช่วยสร้างบรรยากาศให้ดูอบอุ่นนุ่มนวล

สำหรับในรีวิวนี้ต้องชื่นชมทางตัวแทนจำหน่ายที่มีความเข้าใจว่าเครื่องเสียงรูปแบบนี้จำเป็นต้องใช้มากกว่า 1 ชุดเพื่อให้เห็นว่าเวลาอยู่ในระบบมันทำงานร่วมกันได้อย่างไรจึงได้ส่ง @Wall1 มาให้ผมลองจำนวน 2 ชุด เมื่อเข้าใจการทำงานของตัวแอปฯ แล้วการเพิ่มลำโพงตัวที่สองเข้าไปจึงยิ่งเป็นเรื่องง่ายสำหรับผม ระบบ UI ของ ‘Leona Smart Play’ จะเป็นหน้าวางซ้อนกัน การสั่งงานก็เพียงแค่ปัดนิ้วไปทางซ้าย-ขวาเพื่อสลับระหว่างหน้าที่เลือกตัวลำโพง (DEVICE LIST) หน้าแสดงการเพลงที่กำลังเล่น (NOW PLAYING) และเมนูเลือกอินพุตต่าง ๆ หรือเลือกแหล่งที่มาของเพลง (MAIN MENU/SETTINGS) หรือการปัดลงในหน้า NOW PLAYING เพื่อดูรายชื่อเพลงที่เรียงอยู่ในลำดับการเล่น

ขั้นตอนการเซ็ตอัพผ่านตัวช่วย Wi-Fi Setup Wizard ในแอปฯ Leona Smart Play
หน้า UI หลักของแอปฯ Leona Smart Play

เนื่องจาก @Wall1 สามารถเชื่อมต่อระบบ network ด้วยสัญญาณ Wi-Fi เพียงอย่างเดียว หากจะให้ทำงานเป็นระบบมัลติรูมในพื้นที่บริเวณกว้างนั้นผมมีความเห็นว่าระบบ network นั้น ๆ ควรจะมีสัญญาณ Wi-Fi ที่ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางพอ อีกทั้งยังต้องมีความเสถียรมากพอด้วยครับ เช่น การใช้ Wi-Fi Router คุณภาพสูง หรือการใช้งานอุปกรณ์ประเภทขยายหรือทวนสัญญาณ Wi-Fi จะเป็นระบบที่เชื่อมั่นได้มากกว่า

ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อด้วยสัญญาณ Wi-Fi ทั่วไปอยู่แล้วครับ ถ้าเป็นในกรณีที่ใช้งานอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กันเพียงไม่กี่จุด ไม่มีสิ่งกีดขวางมากนักอย่างเช่น ในรีวิวนี้ที่ใช้ลำโพง @Wall1 เพียงแค่ 2 จุด เรื่องระบบ Wi-Fi ก็อาจจะไม่ต้องซีเรียสอะไรมากนัก

เสียงจาก @Wall1 และการรองรับ Hi-Res Audio
ในระหว่างการลองฟังเพลงทางอินพุต AUX และ USB ของ @Wall1 ผมก็พอเข้าใจว่าการออกแบบลำโพงรุ่นนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะให้มันมีเสียงเหมือนลำโพงในกลุ่มไฮไฟ หรือแม้กระทั่งลำโพงในกลุ่มที่เน้นความอึกทึกของเสียง เพราะเสียงที่ได้จากลำโพงรุ่นนี้เป็นไปในลักษณะของแบคกราวน์มิวสิค เป็นลำโพงที่ให้ความเพลิดเพลินของเสียงเพลงแบบเคล้าคลอเป็นบรรยากาศ มากกว่าจะเป็นลำโพงสำหรับงานปาร์ตี้สุดเร้าใจ

เสียงของมันเปิดได้ดังพอสมควรและมีลักษณะโปร่ง ๆ ลอย ๆ ใส ๆ เสียงทุ้มมีปริมาณน้อยและไม่เน้นที่ความตูมตามเลย สำหรับช่องอินพุต USB ผมลองใช้ flash drive ฟอร์แมตเป็น FAT ใส่ไฟล์เพลงเข้าไปหลาย ๆ รูปแบบลองเสียบเล่นกับ @Wall1 ดู พบว่ามันเล่นได้ทั้งไฟล์ .wav .flac ตั้งแต่รายละเอียดระดับ CD Quality 16bit/44.1kHz ไปจนถึง 24bit/192kHz

ตรงนี้เป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายพอสมควรครับ เพราะไม่มีรายละเอียดตรงไหนจากทางผู้ผลิตเลยที่พูดถึงการเล่นไฟล์ hi-res audio ไฟล์เพลงใน USB flash drive จะมองเห็นได้ในเมนู My Music ของแอปฯ Leona Smart Play

ส่วนตัวผมว่าระบบจัดการไฟล์เพลงในแอปฯ ยังทำได้ไม่ดีนัก เพราะจะไม่มีการแบ่งหมวดหมู่เหมือนในโหมด Phone (การเล่นไฟล์เพลงที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟน) บนหน้าแอปฯ ไฟล์เพลงต่าง ๆ ใน USB flash drive จะไปกองรวมกันหมด ทำให้การสืบค้นหรือเข้าถึงทำได้ยากกว่าในแบบที่มีการแบ่งหมวดหมู่พอสมควร ทว่าในส่วนนี้ผมเองไม่ค่อยซีเรียสมากนักเพราะไม่นิยมเล่นทางนี้เป็นหลักอยู่แล้วเพราะเล่นผ่านระบบ network มันง่ายกว่ากันเยอะและสุ้มเสียงก็ไม่ได้เป็นรองกัน

ลองใช้งานในโหมด Wi-Fi (Network Audio)
การมีลำโพง @Wall1 อยู่ 2 ตัวในระบบ ทำให้ผมได้ลองฟังก์ชั่นที่เล่นเพลงแยกอิสระกันระหว่างลำโพงทั้งสองตัว แบบนี้ทางผู้ผลิตเขาเรียกว่าโหมดฉายเดี่ยว (Solo mode) ลำโพงทั้งสองตัวสามารถเลือกเล่นเพลงแยกจากกันได้อย่างอิสระ โดยการควบคุมสั่งงานจากสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว

หรือจะเป็นการลองใช้งานในโหมดสามัคคีชุมนุม (Multi mode) ซึ่งลำโพงทุกตัวที่อยู่ในโหมดนี้จะเล่นเพลงเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน คือเล่นเพลงเดียวกันไปพร้อม ๆ กันนั่นเอง การปรับไปจากโหมด Solo ไปใช้งานโหมด Multi นั้นก็ง่าย ๆ เลยครับ แตะค้างที่รายชื่อลำโพงบนหน้าแอปฯ แล้วลากไปรวมกับลำโพงที่จะให้ทำงานไปพร้อม ๆ กัน จะเปลี่ยนไปเป็นโหมด Solo ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ แค่ก็ทำกลับกันคือแตะค้างแล้วลากออกมาจากกัน

การตั้งค่าใช้งานใน Solo mode (ซ้ายมือ) และ Multi mode (ขวามือ)

ในโหมด Solo นั้นการเลือกเสียงไปออกที่ตัวลำโพงควรจะเป็น LR คือออกลำโพงทั้งเสียงแชนเนลซ้ายและขวา (stereo down-mix) ส่วนในโหมด Multi เราสามารถเลือกได้ว่าให้ให้เสียง LR ไปออกที่ลำโพงแต่ละตัว หรือจะใช้งานลำโพงทั้งสองตัวแบบสเตริโอ หากเป็นกรณีหลังก็แค่กำหนดให้ลำโพงตัวหนึ่งเป็น L อีกตัวเป็น R แล้ววางตำแหน่งลำโพงให้สอดคล้องกันเท่านั้นเอง

การลองเล่นเพลงผ่านระบบ Wi-Fi กับลำโพง @Wall1 เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ผมอยากแนะนำให้คนที่เป็นเจ้าของลำโพงรุ่นนี้ได้ลอง ประการแรกผมชอบใจที่มันเล่นเพลงจาก TIDAL ได้ด้วย แอบเห็นว่ามี Spotify ด้วยในอนาคตอาจจะได้ใช้กันแต่ตอนนี้ Spotify ยังไม่เข้าเมืองไทยนะครับ

สำหรับผู้ที่ไม่ได้สมัครใช้งาน TIDAL ก็สามารถสตรีมไฟล์เพลงที่มีอยู่จาก music server ได้ ตัว music server นี้จะซื้ออุปกรณ์ประเภท NAS มาใช้ก็ได้ หรือถ้าอยากประหยัดงบก็เอาคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่มาติดตั้งฟรีแวร์ที่ชื่อ Minimserver เอาไฟล์เพลงใส่ในฮาร์ดดิสก์เสียบเข้าที่คอมพิวเตอร์เท่านี้ก็กลายเป็น music server ให้ @Wall1 สตรีมเพลงมาฟังได้แล้ว เพลงใน music server จะอยู่ในส่วนของเมนู My Music > Home Music Share

การสตรีมเพลงจาก music server

เช่นเดียวกับการเล่นไฟล์เพลงทางช่องอินพุต USB การสตรีมเพลงจาก music server มาเล่นตัวลำโพง @Wall1 สามารถเล่นได้ทั้งไฟล์ทั้งไฟล์ .wav .flac ตั้งแต่รายละเอียดระดับ CD Quality 16bit/44.1kHz ไปจนถึง 24bit/192kHz ความราบรื่นเล่นได้ไม่สะดุดของการเล่นไฟล์เพลงระดับนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของ network และสัญญาณ Wi-Fi เป็นสำคัญ

ลำโพงแอคทีฟ 4.0
ถ้าถามว่าเราคาดหวังอะไรบ้างจากลำโพงแอคทีฟราคาห้าพันกว่าบาท? ผมเชื่อเหลือเกินว่าคนส่วนใหญ่จะคิดถึงสิ่งที่ Leona @Wall1 สามารถทำได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และบางสิ่งที่มันทำได้หลายคนอาจไม่คาดคิดมาก่อนว่ามันคือเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับลำโพงในงบประมาณเท่านี้

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยนี้ Leona @Wall1 อาจจะไม่ใช่ความแปลกใหม่ล้ำลึก แต่สิ่งที่ปรากฏในลำโพงรุ่นนี้ทำให้มองเห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้ออกแบบที่ ‘มองขาด’ ไปถึงปัจจุบันและอนาคตของการฟังเพลงภายในบ้านที่อาศัยเทคโนโลยีไอทีเข้ามาบูรณาการ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกหรือช่วยพัฒนาให้มีรูปแบบที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ทำนองเดียวกับที่ผู้ใหญ่ในบ้านเราบอกว่าจะทำให้ประเทศไทยเราเป็น Thailand 4.0 นั่นแหละครับ เรื่อง Thailand 4.0 อาจจะต้องใช้เวลารอกันสักนิด… แต่ถ้าลำโพงแอคทีฟ 4.0 ก็ @Wall1 นี่ไงใช่เลย!


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท แอลเอ็นที (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2945-4509
ราคา 5,990 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ