รีวิว Klipsch : R-10SWi
การดูหนังฟังเพลงมักเป็นของคู่กัน แต่เดี๋ยวนี้ลำโพงฟังเพลงก็แข่งกันเล็กลง ๆ ไปเรื่อย ๆไม่เฉพาะลำโพง พวกอุปกรณ์อย่างเช่น Network Amplifier ขนาดเล็ก ๆ ที่รวมภาคถอดรหัส ภาคขยาย ภาคปรีฯเข้าไว้ด้วยกันมีทยอยมาให้เลือกกันเยอะขึ้น
ยิ่งเดี๋ยวนี้การเข้าถึงการฟังเพลงนั้นก็ง่ายขึ้นมากจากพวก Streaming Provider เสียเงินเทียบกับค่าซีดีประมาณแผ่นนึงต่อเดือน เราก็สามารถฟังเพลงได้เป็น หมื่น ๆ แสน ๆ แผ่นทั่วโลกได้แล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่อุปกรณ์เล็ก ๆ ทำไม่ได้สำหรับเรื่องการฟังเพลงก็คือ การทำให้เสียงความถี่ต่ำสมบูรณ์แบบ คุณจะให้เสียงของ bass drum ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 22 นิ้วให้มันออกมาจากลำโพงเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 หรือ 5 นิ้วครึ่ง มันก็คงเป็นไปไม่ได้ ความจริงมันอยู่ตรงนั้น จะบิดเบือน หรือจะยอมรับมันเสีย ก็อาจรู้สึกทำให้สบายใจขึ้นมานิดหน่อย
บางคนทำใจไม่ได้หันไปหาลำโพงขนาดใหญ่ ๆ ที่สำคัญเขาลืมไปว่ายิ่งลำโพงใหญ่มันก็ต้องใช้ amplifier ใหญ่ขึ้นไปตามกันนั่นแหละครับที่มาของคำว่า “บานปลาย”
และที่ตลกแต่ขำไม่ออกไปกว่านั้นก็คือ ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดหรอกว่าใอ้ลำโพงใหญ่ ๆ นะ จะเอาไปวางที่ไหนในบ้าน สุดท้ายลำโพง, แอมปริฟลายเออร์, ห้อง ก็ไม่สัมพันธ์กันสักอย่าง
มันมีลำโพงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ซับวูฟเฟอร์ เข้ามาช่วยในการสร้างเสียงความถี่ต่ำเมื่อต้องการดูหนังและฟังเพลง มันมีมานานแล้วแต่หลายคนยังอิดออดไม่คิดว่ามันจะช่วยในการทำเพลงให้ดีขึ้นได้เท่าไหร่
แต่สำหรับ คราวนี้ผมมีซับวูฟเฟอร์ส่วนตัวหนึ่งมาแนะนำครับ มันอาจจะทำให้คุณหันกลับมามองลำโพงประเภทนี้อีกครั้ง ด้วยความเป็นอิสระของที่ตั้ง ง่ายดายในการเชื่อมต่อ กับ R-10SWi ลำโพงซับวูฟเฟอร์ไร้สายรุ่นล่าสุดของ Klipsch กันครับ
อย่าคิดว่า wireless จะเหมือนกันหมด
เราจะเห็นลำโพงรุ่นใหม่ ๆ จาก Klipsch หลายตัวที่นำเสนอเทคโนโลยีที่เป็น wireless จริง ๆ แล้วเราก็รู้จักกับซับวูฟเฟอร์ที่เป็น wireless กันมาพอสมควรถ้าใครติดตามข่าวสารเรื่องลำโพงประเภทซาวด์บาร์ ณ ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ก็จะมีซับวูฟเฟอร์ที่เป็น wireless ติดมาให้ด้วยทั้งนั้น แต่ R-10SWi ก็แตกต่างจากซับวูฟเฟอร์ที่ให้มากับ ซาวด์บาร์อย่างฟ้ากับเหว
คือเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ ไร้สายที่ใช้ ในพวกลำโพงซาวด์บาร์ มักจะใช้สัญญาณบลูทูธในการเชื่อมต่อแต่สำหรับ Klipsch ตัวนี้ จะใช้สัญญาณ wifi ความถี่ 2.4 GHz
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างแรกก็คือ เรื่องของระยะทางระหว่างตัวส่งกับตัวรับถ้าเป็นพวกลำโพงซาวด์บาร์อย่างเก่งคุณวางซับวูฟเฟอร์ไว้ห่างประมาณครึ่งห้อง เสียงเจ้า subwoofer มันก็ขาดขาดหายหายแล้ว
แต่สำหรับการเชื่อมต่อผ่าน wifi 2.4GHz คุณสามารถหาตำแหน่งวางได้ทั่วห้องเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโฮมเธียเตอร์ ที่ว่ากันว่าจุดหนึ่งที่ทำให้เสียงความถี่ต่ำในคอมพิวเตอร์เอาดีไม่ได้ก็เพราะติดเรื่อง ตำแหน่งการวางของซับวูฟเฟอร์นี่แหละ
อีกจุดหนึ่งที่ทำให้สัญญาณ 2 ชนิดจึงแตกต่างกันก็คือ ด้วยการที่ Klipsch หันมาใช้สัญญาณ wifi นั่นก็เพราะ ๆก็สามารถรองรับคุณภาพสัญญาณได้ถึง CD Quality (44.1KHz/16Bit) ถึงแม้จะเป็นสัญญานประเภท LFE (low frequency) ก็ตามเถอะ จึงมั่นใจได้ว่าความที่มันตัดเครื่องสายทิ้งไปไม่ได้ทำให้มันลดทอนประสิทธิภาพการส่งผ่านสัญญาณจาก av receiver มาสู่ซับวูฟเฟอร์นี้แต่ประการใด
แต่ก็มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งที่หลายคนอาจจะตั้งคำถามอยู่ในใจก็คือสัญญาณ wifi 2.4 GHz ที่ Klipsch นำมาใช้นั้นมันเป็นสัญญาณที่ใช้กันแพร่หลายกับอุปกรณ์ไร้สายอีกหลาย ๆ ชนิดปัจจุบันนี้ คำถามก็คือมันจะเกิดการแทรกกวนของสัญญาณต่าง ๆ ที่ใช้คลื่นความถี่เดียวกันนี้ในขณะที่ซับฯ ตัวนี้ทำงานหรือไม่
ผมทดลองง่าย ๆก็คือขณะที่เราเปิด การเชื่อมต่อระหว่างตัวส่งกับตัวรับของซับวูฟเฟอร์ เราลองใช้โทรศัพท์มือถือ เช็คดูว่ามีใครส่งสัญญาณ wifi ออกมาในบริเวณนั้นบ้าง Klipsch ปิดตัวเองไม่ให้อุปกรณ์อื่นมองเห็นมันนอกจากซับวูฟเฟอร์ของมันเพียงตัวเดียว
ซึ่งแสดงว่า Klipsch ใช้การขยับคลื่นความถี่ในหลักทศนิยมหรือ อาจหันไปใช้โปรโตคอลอื่นที่อุปกรณ์โมบายอื่นอื่นใช้กัน แต่ก็ไม่สามารถจะการันตีได้ว่าจะหมดปัญหาเรื่องสัญญาณรบกวน แต่ก็กำจัดปัญหาการรบกวนหลัก ๆ ที่จะเกิดขึ้นออกไปได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว
Subwoofer ของ Klipsch
ไม่ใช่ว่าใครที่มีตลาดซับวูฟเฟอร์อยู่ในมือจะทำ wireless ซับวูฟเฟอร์ออกมาได้ Klipsch เลือกพัฒนาเอาซับวูฟเฟอร์รุ่นเริ่มต้นของเขาเอามาใส่ระบบไร้สาย จะเห็นได้ว่ารหัสของชื่อรุ่นจะเป็นรหัสเดียวกับซับวูฟเฟอร์รุ่นเดิมก่อนหน้า
แต่ใส่ตัว ๆ “i” ต่อท้าย เพื่อให้รู้ว่ามันสามารถสื่อสารทาง wireless ได้ เพราะว่ามันต่อยอดมาจาก R-10SW ฝาแฝดตัวนี้เลยมีด้านหลังที่เหมือนกับรุ่นธรรมดาเปี๊ยบ ปรับได้ทั้งเฟส, ความถี่ และเกน หรือความดัง เป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มี วูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้วตู้เปิดหันไดร์เวอร์ออกด้านหน้ามีท่อระบาย bass ออกด้านหลัง
ความถี่ตอบสนองที่อยู่ในสเป็คก็คือ 32Hz ถึง 120Hz +/- 3 dB แต่ถ้าสังเกตให้ดีที่ด้านหลังซึ่งเขียนไว้ว่า low pass filter จะระบบซ้ายสุดอยู่ที่ 40Hz และขวาสุดอยู่ที่คำว่า LFE ซึ่งก็คือประมาณ 160Hz สูงกว่าความถี่ตอบสนองอยู่พอสมควรแต่มันก็ต้องเป็นแบบนั้นเพื่อให้การตอบสนองความถี่มันราบลื่นกับลำโพงหลัก
จุดแข็งของซับวูฟเฟอร์ตัวนี้ก็คือมันมีภาคขยายอยู่ที่ 150 วัตต์ซึ่งสวิงไปได้ถึง 300 วัตต์ยามเมื่อต้องการพละกำลัง ความแตกต่างจากลำโพงรุ่นเดิมก็คือสายไฟ AC สำหรับตัวนี้จะถอดเปลี่ยนได้แต่ก็ยังเป็นแบบ 2 ขาธรรมดา
และถ้าสังเกตดี ๆ จะมีปุ่มเล็ก ๆ ที่เขียนคำว่า “sync” อยู่ข้างข้างกับหลอดไฟแอลอีดีตัวเล็ก ๆ สีฟ้ามีไว้สำหรับแสดงสถานะการเชื่อมต่อกับตัวส่งซึ่งถึงแม้คุณจะปิดสวิตช์การทำงานของซับวูฟเฟอร์ตัวนี้ไฟสีฟ้ามันก็ยังคงไม่ดับเมื่อมีการเชื่อมต่อจากตัวส่งอยู่
Klipsch จะไม่ทำเสาอากาศ หรือให้มันมีอะไรยื่นเกะกะออกมาอวดอ้างว่ามันเป็นระบบ wireless subwoofer เข้าใจว่าเข้าใช้เสาอากาศที่อยู่ในแผงวงจรทำให้มองด้านนอกดูไม่มีอะไรแตกต่างจากซับวูฟเฟอร์ธรรมดาโดยมีเพียงแค่ไฟแสดงสถานะการทำงานด้านหน้า 1 ดวงอยู่มุมบนทางซ้ายมือ
การเปิดปิดเจ้า subwoofer ตัวนี้ก็สามารถเลือกได้ เป็นแบบสวิตช์โยก 3 ทางด้านหลังจึงอยากแนะนำว่าถ้ามีการใช้งานอยู่ประจำก็ให้ปรับไว้ตรงกลางที่ออโต้จะสะดวกที่สุด
ที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับซับวูฟเฟอร์ตัวนี้ก็คือกล่องส่งสัญญาณ wireless เป็นกล่องขนาดไม่ใหญ่มากมาพร้อมกับ micro usb AC adapter คือกล่องตัวนี้ต้องใช้ไฟเลี้ยงผ่านทางขั้วต่อ micro usb ขนาด 5 โวลต์ถ้าใครมีตัวชาร์จไฟของพวกโทรศัพท์มือถือปัจจุบันนี้ที่ให้ output ขนาด 1000 มิลลิแอมป์ก็สามารถใช้แทนได้ทันที
หรือนำไปต่อพ่วงกับช่อง usb ที่ตัวเอวีรีซีฟเวอร์ก็จ่ายไฟให้มันได้ โดยที่กล่องตัวนี้มันจะมีไฟแสดงสถานะสีฟ้าฟ้าด้านหน้า ซึ่งจะติดให้เห็นก็ต่อเมื่อมันได้เชื่อมต่อกับตัวซับวูฟเฟอร์เรียบร้อยเท่านั้นตอนแรกเราก็ตกใจเพราะว่าเราเสียบไฟปั๊บไฟสีฟ้าติดมาแว๊บเดียวแล้วก็ดับ เลยนึกว่าเสียบปลั๊กไฟไม่แน่น งงอยู่นาน จนเสียบไฟให้กับลำโพงซับวูฟเฟอร์เท่านั้นไป ไฟสีฟ้ามันก็ติดสว่างค้าง ทำให้เราถึงบางอ้อว่ามันจะติดค้างก็ต่อเมื่อมันเชื่อมต่อระหว่างกันเท่านั้น
Setup
การ set up ผมจะเน้นการใช้งานกับ av receiver เป็นหลักโดยมีลำโพงหลักที่เอามาใช้งานด้วยก็คือ Klipsch RP-160M ลำโพงวางขาตั้ง หรือวางหิ้งขนาดใหญ่ที่สุดของ Klipsch ของแล้ว
การเชื่อมต่อก็ผ่าน bass management ของ Marantz SR6011 โดยเซ็ตให้เป็นไบแอมป์โดยให้คู่หน้าเป็น “Small” นำความถี่ที่ต่ำกว่า 110Hz ลงไปให้ซับวูฟเฟอร์ คือพยายามจะลดภาระเสียงความถี่ต่ำจากลำโพงหลักให้ได้มากที่สุดการต่อเชื่อมแบบนี้จะเรียกว่าเป็นแบบ 2.1 แชนแนลก็ได้
ข้อดีของการที่มันเป็น wireless subwoofer ก็คือการที่จะหาตำแหน่งการวางที่ลงตัวของมันไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป การหาตำแหน่งที่จะเสียบปลั๊กของตัวซับวูฟเฟอร์ง่ายกว่าการจัดการสายสัญญาณที่เกะกะ
การนำมันไปไว้มุมห้องสำหรับซับตัวนี้อาจเป็นผลดีเพราะมันสามารถเพิ่มความถี่ต่ำขึ้นมาได้อีกประมาณ 3 – 6 dB และทุกครั้งที่หลายตำแหน่งซับฯ ควรจะลองปรับค่าเฟสระหว่าง 0 และ 180 องศาดูด้วย
Sit & Listen
อันที่จริงที่ถูกต้อง ควรหารือกันก่อนว่าที่คุณต้องการนั้นมันคืออะไรกันแน่ ความมันส์ในอารมณ์ หรือเสียงดนตรีที่ถูกต้องจากต้นฉบับ การใส่ซับฯ ตัวหนึ่งเข้าไปในระบบเสียงแน่นอนว่าเราต้องการให้มันถ่ายทอดเสียงความถี่ต่ำที่ถูกต้องออกมา ย้ำคำว่า “ที่ถูกต้อง”
อัลบั้ม Way Down Deep – Jennifer Warnes ดูจะทำให้กันวัดประสิทธิภาพของซับวูฟเฟอร์ตัวนี้เห็นผลได้ง่ายที่สุดเพราะว่าช่วงแรกของเพลงนี้ก็มีเสียงความถี่ต่ำเป็นจังหวะเกริ่นอินโทรออกมาก่อนเข้าเพลง
สำหรับเอวีฯ SR6011 ตัวนี้ ปุ่ม Pure Audio จะเปลี่ยนการทำงานของมันกลับมาเป็นฟูลเร้นท์ 2 channel ที่ตัดสัญญานซับวูฟเฟอร์ออกอัตโนมัติ ผมว่าการเปรียบเทียบทำได้ง่าย และยุติธรรมดีที่สุดแล้ว
การที่ต้องมีเสียงความถี่ต่ำมาปกคลุมในเพลงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องมี มันควรจะลึก และลากค้างไว้พองาม ยาวคลุมไปไม่ต่ำกว่า 3-4 ห้องเสียง การเปรียบเทียบด้วยเพลงนี้เมื่อมีซับวูฟเฟอร์แล้วคงไม่ต้องบอกว่าแบบไหนดีกว่ากัน มันตามที่ผมต้องการ ไอ้เบสแบบสั้น ๆ ห้วน ๆ นี่มันไม่ใช่
Somewhere, Somebody – Jennifer Warnes, Max Carl จากอัลบั้มเดียวกันทีนี้เปลี่ยนเป็นเสียงกีตาร์เบสที่เดินคลอไปตลอดเพลง อาการเบสที่ออกมาจากลำโพงตู้เปิดวางหิ้งซึ่งวางห่างจากผนังประมาณ 1 ฟุตเจอกับเพลงนี้ต้องเรียกว่า “ไปไม่เป็น” เพราะมันกลายเป็นเบสที่ออกมาจากวูฟเฟอร์ด้านหน้า ส่วนที่เหลือจะสะท้อนจากท่อ port ที่อยู่ด้านหลังกับผนังอีก ดีไม่ดีมันก็กลายเป็นสองความถี่ตีกันยุ่ง
ไอ้ว่าการฟังควรที่จะดีกับลำโพงสองแชนเนลธรรมดา ในบางสถานที่ บางเพลง ต้องใช้ตัวช่วยคือตัดเสียงความถี่ต่ำลงมาที่ซับวูฟเฟอร์ให้เหลือเพียงตัวเดียวถึงจะเป็นการฟังที่สบายหู เสียงความถี่ต่ำจากเพลงนี้ควรจะคม แน่น ไม่เด่น ฟังแล้วต้องได้น้ำได้เนื้อ
Jack & Diane – John Mellencamp เป็นเพลงร็อคของปรมาจารย์คนดังในวงการเพลงเพลง นี่ถือว่าเป็นเพลงฮิตของเขาแล้ว ฟังไปสักนาทีที่ 2.28 ทีนี้จะเริ่มได้ยินเสียงกลองรัวเป็นชุดเหมาะมากกับการทดสอบเครื่อง dynamic ของเสียงความถี่ต่ำ
ซึ่งกับซับวูฟเฟอร์ของ Klipsch ตัวนี้มันทำให้ลำโพงวางหิ้งราคา 20,000 กว่าบาทกลายเป็นเสียงของลำโพงตั้งพื้นที่คุณไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนภาคขยายอีกแล้ว
Take Me Walking In the Rain – Janis Ian เพลงนี้เป็นอีกเพลงที่ถ้าฟังกันแบบพื้น ๆ ธรรมดา ๆ มันก็เป็นเพลงที่เรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่อยากให้ลองเซ็ตอัพลำโพงให้ดี ถ้าลำโพงตอบสนองความถี่ครบ ๆ แล้วนั่งฟังมัน มันเหมือนค่อย ๆ ลากคุณไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้สึกตัวจนขึ้นไปพีคอยู่ตอนท้าย ๆ ไม่ได้เร่งจังหวะอะไรมากเพียงแค่ค่อย ๆ เติม ค่อย ๆ ใส่ไดนามิกเข้าไปทีล่ะนิด ทีล่ะนิด
No One Else Like You – Janis Ian จากอัลบั้มเดียวกัน ใครว่าเสียงความถี่ต่ำไม่สำคัญ มันสามารถกลบความน่าสนใจของเสียงความถี่อื่นได้ด้วย จากเพลงนี้เป็นตัวอย่าง เสียงเบสที่ครางฮึ่ง ๆ จากสองแชนเนลทำให้เสียงร้องเหมือนมีหมอกจาง ๆ มาปกคลุมอยู่ ไม่ใสเป็นตัวเป็นตนชัดออกมานั่นมาจากการที่ฟังแบบสองแชนเนลธรรมดา
การเอาน้ำหนักของเสียง Bass Drum มาวัดกันมันไม่ใช่ประเด็นเสมอไป เพราะบางครั้งเราไม่รู้หรอกว่านักดนตรีมีการเน้นย้ำตรงไหนบ้าง อย่างเช่นกรณีนี้เมื่อมี R-10SWi เสียงกระเดื่องเบาลงแต่ได้รายละเอียดอื่น ๆ ตามมามากกว่า บางครั้งฟังว่าโน๊ตตัวนี้มันเบา ก็คิดได้ว่าเบสมันบาง ก็จบ
สรุปง่าย ๆ แบบนั้นจนกว่าจะได้เครื่องเสียง หรือซิสเต็มที่ลงตัวแหละครับ คุณจะรู้ว่าสิ่งที่คุณก็สรุปไว้นั่นมันง่ายเกินไป ผมแนะนำให้ว่า เพียงแค่คุณใส่ลำโพง Klipsch R-10SWi เข้าไปกับชุดเครื่องเสียงที่คุณมีอยู่ หาตำแหน่งวางซับวูฟเฟอร์ตัวนี้ดี ๆ
Conclusion
ถ้าคุณเล่นลำโพงวางหิ้ง หรือถึงแม้จะเป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดกลาง ๆ และกำลังจะมีความคิดว่าอยากจะเปลี่ยนลำโพงพวกนั้น ผมอยากเสนออีกแนวทางนึง เรื่อง Subwoofer
ยิ่งถ้าคุณใช้เอวีรีซีฟเวอร์อยู่ด้วยก็ยิ่งง่ายขึ้นอีกแต่ก็ไม่ใช่ว่าสำหรับคนที่เล่นอินทิเกรตแอมป์หรือแอมป์สเตอริโอ หรือ ปรี-เพาเวอร์ 2 channel จะใช้ซับวูฟเฟอร์ไม่ได้อันนี้คงต้องดูเป็น เคส ๆ ไป ต้องมั่นใจก่อนว่ากำลังเดินไปหาหลักการที่ถูกต้อง อย่างที่เค้าบอกกันล่ะครับ “เป้าหมายต้องมีไว้พุ่งชน”
Klipsch R-10SWi อาจจะเป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์ตัวนึงที่ลดความยุ่งยาก อย่างน้อยก็เรื่องสายสัญญาณ เรื่องเอามาใช้เพื่อการฟังเพลงไม่น่ามีปัญหามันเอาอยู่ได้สบาย แต่ถ้าจะเอาไปใช้ในโฮมเธียเตอร์ด้วยคงต้องคำนึงถึงขนาดของห้องสักเล็กน้อย
ซึ่งมันก็มี wireless subwoofer รุ่น 12 นิ้วเอาไว้รองรับอีกรุ่นหนึ่งถ้าห้องใหญ่มาก ๆ คงต้องขยับไปหารุ่นพี่ แต่ถ้าเป็นห้องประมาณ 3×4 เมตรนี่ก็ไม่ต้องดิ้นรนไปถึง 12 นิ้วหรอกครับ 10 นิ้วก็น่าจะเหลือ ๆ
คงมีคำถามว่า กับค่าตัวที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6,000 บาท เมื่อเทียบกับรุ่นปกติมันคุ้มไหมที่จะลงทุนกับอะไรที่เรามองไม่เห็นอย่าง Wireless
ผมไม่อยากให้มาถึงจุดที่ต้องเถียงกันระหว่างจะใช้สายดีหรือไม่ใช้สายดี เมื่อเทคโนโลยีไร้สายที่ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวก เราต้องเดินไปข้างหน้าครับ มองไปถึงความสะดวกสบาย เรื่องการตำแหน่งลำโพงซับฯ ที่ทำให้หาตำแหน่งที่ดีที่สุดกับเสียงในห้องของคุณได้ ระยะห่างระหว่างตัวรับกับตัวส่งมากสุดสรุปว่าจากห้องนึงไปอีกห้องนึง 10 เมตรนี่สบาย ๆ
เทคโนโลยีที่มากับ Klipsch ไว้วางใจได้มาก ถึงมากที่สุด เพราะถ้าเป็นอะไรที่เกี่ยวกับ wireless Klipsch เค้าจัดเต็มจริง ๆ ตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นค่ายลำโพงที่มีระบบ wireless มากที่สุดทุก channel แล้วมั้ง
ถ้าการเล่นเครื่องเสียงที่ผ่านมาเหมือนการแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ เรื่องสายสัญญาณสำหรับซับวูฟเฟอร์ก็ถูกขจัดปัญหาไปเรียบร้อยด้วย Klipsch R-10SWi ตัวนี้แล้วล่ะครับ
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท ซาวด์ รีพับลิค จำกัด
โทร. 02-448-5489, 02-448-5465-6
ราคา 19,900 บาท