รีวิว KEF : Q350
ลำโพงเล็ก 2 ทางคู่นี้หากมองเพียงผิวเผินก็ดูจะคล้ายลำโพงเล็กรุ่นอื่น ๆ ของ KEF อยู่พอสมควร แม้ว่าหน้าตาของตัวขับเสียงอย่าง ‘Uni-Q driver array’ หรือเรียกอย่างย่อว่า ‘UniQ’ อาจจะเป็นอะไรที่ดูแปลกตาสำหรับคนที่ยังไม่รู้จักมักคุ้น แต่ภาพลักษณ์ของลำโพง KEF รุ่น Q350 ก็ยังเป็นแค่ตู้ลำโพงสี่เหลี่ยม ๆ ธรรมดา หาได้มีสีสันหรือส่วนเว้าส่วนโค้งที่คอยดึงดูดสายตาแต่ประการใด
อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นผมทราบมาว่านี่คือหนึ่งในลำโพงรุ่นใหม่ล่าสุดประจำปี 2017 ของ KEF ผมก็เกิดความใคร่รู้ขึ้นมากกว่าปกติว่า ลำโพงน้องใหม่รุ่นนี้มีดีอะไรและมันเสียงดีแค่ไหน?
Technical Insight
จากการสืบค้นประวัติของลำโพง KEF Q350 ผมค่อนข้างทึ่งเล็ก ๆ ที่ทราบว่าลำโพงตระกูล Q Series มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 26 ปีแล้ว โดย Q Series รุ่นบุกเบิกนั้นได้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1991 นับมาจนถึงรุ่นปัจจุบันก็เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 8 พอดิบพอดี
ผมไปสืบค้นประวัติไล่เรียงมาตั้งแต่ Q Series รุ่นแรก (Q60, Q80 และ Q90) ก็พบว่า ลำโพง Q Series รุ่นที่ผ่านมาในแต่ละช่วงเวลามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนทั้งในส่วนของตัวไดรเวอร์และตัวตู้ลำโพง
เมื่อเทียบลำโพงในคลาสและยุคสมัยเดียวกันลำโพง Q Series มักจะแลดูไฮเทคกว่าเพื่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้ตัวไดรเวอร์แบบร่วมแกนหรือ ‘UniQ’ ที่หน้าตาแตกต่างจากไดรเวอร์ลำโพงทั่วไปชนิดที่ไม่ต้องเสียเวลานั่งเพ่ง อีกทั้งตัวไดรเวอร์ UniQ ที่เป็นเอกสิทธิ์ของ KEF เองนั้นก็ไม่เคยที่จะหยุดการพัฒนา เราจึงพบว่าในแต่ละเจนเนอเรชั่นมันไม่เคยมีหน้าตาเหมือนเดิมเลย
ไดรเวอร์ UniQ ใน Q Series แต่ละเจนเนอเรชั่นถูกปรับเปลี่ยนไปตามการออกแบบรูปทรงและการเลือกใช้วัสดุในส่วนของไดอะแฟรม (กรวย) ที่แตกต่างกัน มีทั้งไดอะแฟรมที่ทำจากพลาสติก, พลาสติกผสม หรือโลหะ เปลี่ยนแปลงไปตามแต่วิทยาการของวัสดุศาสตร์ในยุคสมัยนั้นจะอำนวย
ลำดับการพัฒนา KEF Q Series ในแต่ละเจนเนอเรชั่น
1990-1994 … Q60, Q80, Q90
1993-1996 … Q10, Q30, Q50, Q70
1997-2000 … Q15, Q35, Q55, Q65, Q65SE, Q75, Q95C, Model 65DS
2000-2001 … Q15.2, Q35.2, Q55.2, Q65.2, Q75.2, Q85s, Q95c.2
2001-2006 … Q1, Q2ds, Q3, Q4, Q5, Q6c, Q7, Q8s, Q9c, Q10c, Q11, Q Compact
2006-2008 … iQ1, iQ2c, iQ3, iQ5, iQ5SE, iQ6c, iQ7, iQ7SE, iQ8ds, iQ9
2008-2011 … iQ10, iQ30, iQ50, iQ60c, iQ70, iQ90
2017 Launch.. Q150, Q350, Q550, Q650c, Q750, Q950
ด้านการออกแบบตู้ลำโพงก็เช่นกัน Q Series รุ่นที่ผ่านมาบางรุ่น ตัวตู้ลำโพงจะมีส่วนเว้าส่วนโค้งแลดูทันสมัยมาก ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าในเจนเนอเรชั่นล่าสุดตัวตู้ลำโพงกลับมีรูปทรงที่เรียบง่ายราวกับย้อนยุคไปใช้ดีไซน์ตู้ของ Q Series รุ่นแรก
แม้ตัวตู้จะดูธรรมดาไปสักนิดแต่ KEF Q350 ซึ่งเป็นผลผลิตของเจนเนอเรชั่นที่ 8 ก็มาพร้อมกับไดรเวอร์ UniQ ที่ว่ากันว่ามี ‘คุณภาพดีที่สุด’ เมื่อเทียบกับลำโพง Q Series ทุกรุ่นที่ผ่านมา
ไดรเวอร์ ‘UniQ’ ในลำโพงรุ่นใหม่นี้หน้าตาของมันไม่ต้องเสียเวลาไปสืบค้นให้มากความก็น่าจะเชื่อได้ว่ามันคือวิทยาการที่มาจากลำโพงระดับตัวท้อปของ KEF อย่างแน่นอน ตัวทวีตเตอร์โดมอะลูมิเนียมขนาด 1 นิ้วติดตั้งอยู่บริเวณใจกลางของไดรเวอร์เสียงกลาง/ทุ้มกรวยอะลูมิเนียมขนาด 6.5 นิ้ว การจัดวางตัวไดรเวอร์ UniQ ก็ใช้หลักการสมดุลโดยวางเอาไว้ใจกลางของแผงหน้าตู้เพื่อหลีกเลี่ยงเรโซแนนซ์ส่วนเกินภายในตู้
ในส่วนของทวีตเตอร์นั้นนอกจากจะมีครีบจัดระเบียบคลื่นเสียงที่มีชื่อว่า ‘tangerine waveguide’ ครอบอยู่เหนือตัวโดมแล้วภายในโครงสร้างอันแสนจะซับซ้อนยังมีส่วนของห้องอากาศพิเศษที่ทำหน้าที่สลายคลื่นเสียงส่วนเกินบริเวณด้านหลังตัวโดม (damped tweeter loading tube) แอบซ่อนอยู่ด้วย
บริเวณผิวกรวยโลหะของไดรเวอร์ UniQ ยังออกแบบให้มีการจับจีบให้เป็นสันขึ้นมาเรียงรายเป็นวงกลมรอบตัวกรวยแทนที่จะปล่อยให้เป็นผิวโลหะเรียบ ๆ การทำเช่นนี้เพื่อหวังผลในแง่ของการเพิ่มความแกร่งให้ตัวกรวยหรือไดอะแฟรม ทำให้มันไม่บิดตัวเสียรูปได้ง่ายเมื่อต้องขยับเข้าออกอย่างรุนแรง แม้แต่ขอบเซอร์ราวด์ที่เป็นวัสดุประเภทยางก็มีการนำเทคนิคนี้ไปใช้ด้วยเช่นกัน
(A) ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกแสดงสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น
ในตัวไดรเวอร์ UniQ ของ KEF Q350 ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
(B) ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกแสดงการไหลอย่างราบรื่นของคลื่นเสียง
ในท่อเบสรีเฟล็กซ์แบบใหม่ที่มีชื่อว่า Computational Fluid Dynamics (CFD)
(C) ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกแสดงโครงสร้างภายในของห้องอากาศพิเศษ
ที่ทำหน้าที่สลายคลื่นเสียงส่วนเกินบริเวณด้านหลังตัวโดมทวีตเตอร์
KEF Q350 ยังมาพร้อมกับท่อเบสรีเฟล็กซ์แบบใหม่ที่มีชื่อว่า Computational Fluid Dynamics (CFD) ซึ่งออกแบบโดยอาศัยการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย เป้าหมายคือลดความปั่นป่วนของคลื่นเสียงภายในท่อ ลดการรั่วไหลของความถี่เสียงกลาง และทำให้การระบายคลื่นเสียงผ่านท่อออกมามีความราบรื่นฉับไวยิ่งขึ้น
ดูจากภาพประกอบในเนื้อหาข้อมูลจากเวบไซต์ของ KEF จะเห็นว่าปลายทั้ง 2 ด้านของท่อจะโค้งผายออกเป็นปากแตร ทั้งส่วนที่เรามองเห็นจากภายนอกและส่วนที่อยู่ภายในตัวตู้ลำโพง ข้อมูลทางเทคนิคจากผู้ผลิตยังแจ้งไว้อีกว่าในลำโพงรุ่นนี้มีการใช้ขดลวดในวงจรแบ่งความถี่เสียงที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้เสียงทุ้มที่ได้นั้นสะอาดและมีรายละเอียดดีขึ้น
สำหรับข้อมูลทางเทคนิค KEF Q350 เป็นลำโพงระบบตู้เปิดแบบ 2 ทาง 1 ตัวขับเสียง มาพร้อมกับตัวเลขความไว 87dB (2.83V/1m) ช่วงความถี่ตอบสนอง 63Hz-28kHz (+/-3dB) อิมพิแดนซ์เฉลี่ย 8 โอห์ม (ต่ำสุด 3.7 โอห์ม) แนะนำให้ใช้กับภาคขยายเสียงที่มีกำลังขับตั้งแต่ 15-120 วัตต์ ตัวลำโพงหนักข้างละ 7.6 กิโลกรัม
แกะกล่องลองเล่นลองฟัง
KEF Q350 เป็นลำโพงเล็กที่มีดีไซน์ตู้ลำโพงขัดแย้งกับตัวไดรเวอร์ที่แสนจะดูไฮเทค เราจะมองว่ามันเรียบง่ายหรือว่าดูทื่อ ๆ ก็ได้ทั้งนั้นแล้วแต่มุมมอง ยิ่งคู่ที่ผมได้รับมานี้ตัวตู้ลำโพงเป็นสีออกโทนเทาดำด้าน (Satin Black) ตัวไดรเวอร์ก็ทำเป็นสีดำ มันเลยยิ่งดูดำมะลื่อทื่อเข้าไปอีก (หรือบางคนอาจจะมองว่าคมเข้มก็ได้ไม่ว่ากัน) ทว่างานประกอบของเขาทำมาประณีตเรียบร้อยดีตามมาตรฐานของลำโพงระดับแบรนด์เนมนะครับ เป็นลำโพงเกรดอุตสาหกรรมไม่ใช่งานหัตถกรรมห้องแถวแน่นอน
ผมเห็นบนหน้าเวบของ KEF ลำโพงรุ่นนี้มีตัวตู้แบบสีขาวด้วยครับ ตัวไดรเวอร์ก็จะเป็นสีเงินด้าน ๆ เพิ่มความโมเดิร์นให้ลำโพงรุ่นนี้ได้อีกพอสมควร ใครชอบแบบไหนระหว่างดำเข้มกับขาวสดใสก็ลองสอบถามไปทางตัวแทนจำหน่ายของ KEF เขาดูนะครับ
ตัวลำโพง KEF Q350 มาพร้อมกับก้อนฟองน้ำสำหรับอุดท่อเบสในกรณีที่ต้องวางลำโพงแนบฝาผนังแต่ในรีวิวนี้ผมไม่ได้หยิบมันออกมาใช้เลยเพราะว่าไม่เห็นความจำเป็น ท่อเปิดขนาดใหญ่อยู่ด้านหลังตู้ลำโพง ถัดลงมาด้านล่างเป็นขั้วต่อสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ สำหรับหน้ากากลำโพงรุ่นนี้เป็นแบบติดด้วยแม่เหล็กและไม่ได้ให้มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานนะครับ ถ้าจะใช้ต้องแยกซื้อต่างหาก
KEF Q350 เป็นลำโพงที่ให้ตัวตนของเสียงได้อย่างชัดเจนแม้ว่าจะยังไม่ได้เซ็ตอัพอะไรมากมาย แค่วางตำแหน่งคร่าว ๆ มันก็ได้เสียงดีในระดับเกิน 50-60% แล้วครับ โอเคว่าเครื่องเคราอื่น ๆ ในซิสเตมนั้นผมคุ้นชินอยู่แล้ว และเป็นซิสเตมที่เรียบง่ายไม่ต้องมีอะไรซับซ้อนวุ่นวาย ดังนั้นขั้นตอนของการแมตชิ่งจึงถือได้ว่ามากันทางลัดกว่าปกติสักหน่อย
แต่โดยปกติแล้วลำโพงหลาย ๆ คู่ในระหว่างการเซ็ตอัพตำแหน่งมันมักจะไม่ได้ฟังดีอย่างนี้ครับ ส่วนมากจะเป็นลักษณะขาด ๆ เกิน ๆ เสียมากกว่า โอกาสจะวางปุ๊บแล้วฟังได้เลยอย่างนี้ก็มีนะครับแต่ไม่บ่อย ยิ่งไปกว่านั้นในระหว่างที่ผมขยับหาตำแหน่งโฟกัสเสียง (ตำแหน่งที่เสียงทุกด้านมีความสมดุลและลงตัว) ก็เหมือนว่าลำโพงคู่นี้มันยังสามารถคงน้ำเสียงที่เชิญชวนให้ฟังนั้นเอาไว้ได้อยู่เกือบตลอดเวลา
ด้วยพฤติกรรมนี้เองจึงทำให้ผมมีข้อสรุปในใจว่า Q350 เป็นลำโพงที่เซ็ตอัพตำแหน่งโฟกัสเสียงได้ไม่ยากนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะมองข้ามเรื่องแมตชิ่งไปได้เลย หรือว่าไม่ต้องสนใจความถูกต้องเหมาะสมพื้นฐานของตำแหน่งการวางลำโพงนะครับ
เสียงของ Q350 ที่ผมฟังในเบื้องต้นมีลักษณะเด่นอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือมันให้ตัวตนของเสียงที่ชัดเจนและมั่นคงมาก จะเปิดดังหรือเบาเสียงที่อยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณใจกลางเวทีเสียง ไม่มีหวั่นไหววูบวาบเลยครับ มันนิ่ง แน่นอน และมั่นคงมาก
ผมได้ยินเสียงของนักร้องแต่ละคนด้วยลักษณะเสียงที่ชัดเจนและมีชีวิตชีวาอย่างเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้นมวลเนื้อเสียงของมันยังฟังดูเหมือนลำโพงขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ลำโพงเล็กสองทางอีกต่างหากครับ
ที่ว่า ‘เหมือนลำโพงขนาดใหญ่’ ไม่ใช่เพราะว่ามันให้เสียงอะไร ๆ ก็ใหญ่โตไปหมด ไม่ใช่ว่าเสียงฟลุตมีเนื้อหนาอวบใหญ่เท่าเสียงเทเนอร์แซกโซโฟน หรือว่าให้เสียงทุ้มได้หนักแน่นอิ่มลึกเหมือนวูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้ว แต่ ‘เหมือนลำโพงขนาดใหญ่’ ในที่นี้หมายความว่าเสียงที่ออกมานั้นสามารถไต่ระดับความดังขึ้นไปได้อย่างราบรื่นนุ่มนวล ไร้อาการที่บ่งบอกถึงความตึงเครียด
พิสูจน์ได้จากเพลง ‘The Ballad On a Boat’ ในอัลบั้ม The Greatest Basso Vol.1 ของ Zhao Peng ศิลปินเสียงใหญ่ห้าวจากประเทศจีน เพลงนี้ในส่วนของการบันทึกเสียงจะมีการสวิงของไดนามิกเสียงเกือบตลอดทั้งย่านความถี่ ทุกเสียงตั้งแต่ทุ้มลึก ๆ ไปจนถึงเสียงแหลมระดับสุดเสียงสังข์ แต่ละเสียงมีความจะแจ้ง เด็ดขาดหนักแน่นมากเป็นพิเศษ
โดยปกติเพลงนี้ถ้าผมเปิดฟังในระดับความดังที่ทำให้เลือดลมสูบฉีดแล้วล่ะก็ ลำโพงตัวเล็กที่ใช้ไดรเวอร์ขนาด 5-6 นิ้วอย่างนี้โดยมากมักจะออกอาการเป๋ครับ ชัดที่สุดคือสมดุลเสียงจะผิดเพี้ยนไป สุ้มเสียงจะเริ่มเกรี้ยวกราดไม่น่าฟังจนทำให้ต้องเบาเสียงลงมา แต่กับ Q350 มันไปได้ตลอดรอดฝั่งตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่เกินความคาดหมายไปพอสมควร
ประการที่สองซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดแข็งอย่างมาก เรียกได้ว่าแข็งโป๊กเลยของลำโพงรุ่นนี้เลยก็ได้นั่นคือ ความสะอาดของเสียง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพูดได้ว่า Q350 เป็นลำโพงที่ให้เสียงได้เปิดเผยและเป็นกลางที่สุดรุ่นหนึ่งโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับลำโพงในระดับราคานี้
ผมไม่รู้สึกเลยว่ามันพยายามแสดงตัวตนอะไรออกมาแม้ว่าผมจะเปลี่ยนไปฟังเพลงหลากหลายแนว มันให้เสียงทุ้ม กลาง แหลมที่สอดประสานกันราวกับว่ามันไร้รอยต่อระหว่างกัน ความเปิดเผยนี้มาพร้อมกับความสะอาดสดใสอย่างเป็นธรรมดา ไม่ใช่สะอาดแบบไปฟอกเสียจนขาวซีด
สังเกตได้จากรายละเอียดในย่านเสียงกลางสูงและเสียงแหลมที่กระจ่างชัดโดยปราศจากเสียงแหลมซิบ ๆ ในส่วนเกินพอดีที่เล็ดลอดออกมาให้ระคายหู มันเป็นลักษณะเสียงที่ชัดเจนมาก
มากเสียจนอาจจะสรุปได้ว่าเมื่อใดที่เราได้ยินเสียงแหลมซิบ ๆ ระคายหูจากลำโพงคู่นี้ มีความเป็นไปได้สูงมากว่าสาเหตุอาจจะไม่ได้มาจากตัวลำโพงเอง แต่เสียงนั้นอาจจะเป็นส่วนเกินมาอยู่แล้วตั้งแต่ในขั้นตอนการบันทึกเสียง หรือไม่ก็เป็นส่วนเกินมาจากอุปกรณ์อื่น ๆ ภายในซิสเตมของเราเอง… มันทำให้ผมเชื่อใจได้ถึงขั้นนี้จริง ๆ ครับ
การแยกแยะรายละเอียดของเสียง
หลังจากผมใช้เวลาในห้องฟังอยู่พักใหญ่ ลำโพง KEF Q350 ก็ได้ตำแหน่งโฟกัสในห้องฟังของเราที่ระยะห่างลำโพงซ้ายและขวาที่ 1.9 เมตร ลำโพงทั้งคู่วางห่างจากผนังด้านหลังลำโพง 1.53 เมตร ลำโพงวางบนขาตั้งสเตนเลสความสูง 24 นิ้วของยี่ห้อ Rezet สายลำโพงผมใช้ Nordost Blue Heaven Leif Series ความยาว 2 เมตร
ชุดเครื่องเสียง 2 ชุดที่ได้สลับใช้งานในระหว่างการฟังทดสอบคือ อินทิเกรตแอมป์ Audiolab M-One ที่ใช้งานช่องอินพุต USB โดยต่อเล่นจากแอปฯ roon ในคอมพิวเตอร์ และบางครั้งก็ต่อมาจาก Clef รุ่น Zero One เพื่อสตรีมเพลงจาก NAS ที่ต่อใช้งานอยู่ในระบบ network
อีกชุดใช้ Bluesound รุ่น Node 2 เป็น source ต่ออะนาล็อกเอาต์พุตไปเข้าที่อะนาล็อกอินพุตของอินทิเกรตแอมป์ Clef รุ่น Soloist 50
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียงชุดใดก็ใช้งานร่วมกับลำโพง KEF Q350 ได้อย่างลงตัว กำลังขับระดับ 40-50 วัตต์ที่มีคุณภาพไม่ได้น้อยเกินไปสำหรับลำโพงคู่นี้
เสียงที่เชิญชวนของ KEF Q350 ทำให้ผมนึกถึงลำโพงรุ่นดังของ KEF อย่าง LS50 แต่ดูเหมือนว่า Q350 จะเรียกร้องพลังงานจากแอมป์น้อยกว่า LS50 ทั้งที่ไดรเวอร์และตู้ลำโพงมีขนาดใหญ่กว่า แต่ในด้านของดีไซน์ที่ลบเหลี่ยมมุมของตู้เพื่อหวังผลทางด้านมิติเวทีเสียงนั้นดูเหมือนว่าใน Q350 ที่ตัวตู้เป็นทรงเหลี่ยมไร้มุมมนนั้นจะไม่เน้นเรื่องนี้เท่ากับ LS50
อย่างไรก็ดีในแง่ของการจำลองเวทีเสียงหรือการทำให้มิติตัวตนของเสียงออกมา ลำโพง Q350 ก็ไม่ได้ถือว่าขี้เหร่อะไร เพราะถ้าหากไม่เคยฟัง LS50 มาก่อน การจะหาข้อตำหนิในส่วนดังกล่าวจาก Q350 ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในเมื่อเสียงที่ได้จากลำโพงคู่นี้ยังให้รายละเอียดเหล่านั้นออกมาได้ชัดเจนพอที่จะทำให้ไม่สูญเสียอรรถรสในการรับฟังงานชุด Carmen-Fantasie (hi-res audio 24bit/88.2kHz) ของ Anne-Sophie Mutter ไปเลยแม้แต่น้อย
เมื่อฟังแล้วมาวิเคราะห์รายละเอียดเสียงในแต่ละย่านความถี่โดยภาพรวมต้องบอกว่า Q350 มีโทนัลบาลานซ์หรือสมดุลของเสียงที่ดี โดยภาพรวมอาจจะให้ความรู้สึกว่าเป็นลำโพงที่ให้มวลเสียงอิ่มเข้ม มีดุลเสียงออกไปทางอบอุ่น แต่เมื่อถึงคราวต้องถ่ายทอดรายละเอียดเสียงกลางและแหลมออกมา เสียงเหล่านั้นก็ยังพรั่งพรูออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีคำว่าเสียงอม เสียงจม หรือทึบลีบตีบตันแต่ประการใด
ในย่านความถี่ต่ำไดรเวอร์ ‘UniQ’ ขนาด 6 นิ้วครึ่งของลำโพง KEF Q350 ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้มันเป็นลำโพงตัวเล็กที่สุ้มเสียงหนักแน่นเกินตัวไปมาก เสียงทุ้มที่ออกมานั้นอาจจะไม่ลุ่มลึกหรือสะท้านสะเทือนพื้นห้องได้เหมือนอย่างลำโพงขนาดใหญ่ แต่มันเป็นเสียงที่มีน้ำหนัก ความคมชัดตลอดจนแรงกระแทกกระทั้นในปริมาณที่พูดได้ว่าเกินตัวและน่าพึงพอใจ
เป็นเสียงทุ้มที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณ เป็นเสียงทุ้มที่มีน้ำหนักและการตอบสนองที่รวดเร็วฉับไว ไม่ใช่เบสที่หนักแต่อุ้ยอ้าย ลำโพงคู่นี้จึงใช้ฟังได้ดีกับดนตรีหลายแนวไม่ว่าจะเป็นแนวอะคูสติกเพียงไม่กี่ชิ้น หรือว่าจะเป็นเพลงฮาร์ดร็อคหนัก ๆ
อย่างน้อยความครบเครื่องของ KEF Q350 ก็ทำให้กีตาร์ร้อน ๆ และเสียงกลองแน่น ๆ ในเพลง ‘Back in Black’ และ ‘You Shook Me All Night Long’ ของ AC/DC (CD rip, 16bit/44.kHz) ทำให้ห้องฟังของเราที่ปกติแอร์เย็นเจี๊ยบรู้สึกเร่าร้อนขึ้นมาอย่างน่าประหลาด ผมเองยังรู้สึกว่ามวลคลื่นเสียงที่แผ่อยู่รอบ ๆ ตัวผมยังทำให้เลือดลมสูบฉีดด้วยความกระตือรือร้นมากกว่าปกติด้วยครับ
สำหรับในย่านความถี่เสียงกลาง ไดรเวอร์ร่วมแกนที่ตัดความถี่ครอสโอเวอร์ 2.5kHz เท่ากับว่าเสียงกลางตั้งแต่กลางต่ำขึ้นไปจนถึงกลางสูงจะมีที่มาจากไดรเวอร์ทั้ง 2 ส่วนใน ‘UniQ’ ขนาด 6 นิ้วครึ่งตัวนี้
ทว่าเสียงที่ผมได้ยินกลับฟังดูเหมือนว่ามันมาจากไดรเวอร์ฟูลเรนจ์เพียงตัวเดียว ไม่ว่าจะเป็นเสียงนักร้องชาย นักร้องหญิง เสียงกีตาร์ เปียโน ไวโอลินหรือเครื่องลมทองเหลือง เด่นมากก็ในเพลง ‘Love Is Here To Stay’ จากอัลบั้ม August Love Song โดย Roswell Rudd & Heather Masse (CD rip 16bit/44.1kHz, TIDAL Lossless)
อินทิเกรตแอมป์ที่มีภาคถอดรหัสเสียงดิจิทัลคุณภาพสูงในตัว
ในเพลง ‘Love Is Here To Stay’ ผมได้ยินทุกรายละเอียดเสียงที่เต็มไปด้วยความเด็ดขาดชัดถ้อยชัดคำ ปราศจากความเกรี้ยวกราดหรือลักษณะเสียงที่รุกเร้าจนเกินขอบเขตของความไพเราะน่าฟัง มันเป็นเสียงราบรื่น ฟังง่ายสบายหูและมีรายละเอียดหลัก ๆ อยู่ครบ คุณงามความดีนี้ส่วนหนึ่งเลยคงต้องยกประโยชน์ให้ไดรเวอร์ ‘UniQ’ ที่ปรับแต่งมาใหม่ในลำโพงรุ่นนี้ล่ะครับ
สำหรับในย่านความถี่สูง ทวีตเตอร์โดมอะลูมิเนียมใน ‘UniQ’ ตัวนี้แม้ว่าจะถูกจูนให้ตอบสนองไปถึง 28kHz (+/-3dB) และมีไดอะแฟรมที่มาจากวัสดุประเภทโลหะแต่เสียงที่ออกมาก็มิได้มีเค้าโครงของเสียงแบบ metallic ที่แข็งกร้าวระคายหูเลย ในทางกลับกันรายละเอียดที่พรั่งพรูจากลำโพงคู่นี้กลับมีความกระจ่างชัดและสดใสอย่างเป็นธรรมชาติเสียเหลือเกิน
ผมเองมิได้ใช้เวลาเพียงแค่ชั่วครู่ตัดสินใจเขียนชมเชยมันออกมาอย่างนั้น แต่ผมใช้เวลาเกือบทั้งหมดของการรีวิวลำโพงคู่นี้พยายามจับผิดเสียงแหลมของมันว่ามีอะไรแปลกประหลาดผิดเพี้ยนหรือไม่… ปรากฏว่าต้องเปิดดังมากระดับทนฟังไม่ไหวนั่นแหละครับถึงเริ่มจะได้ยินความไม่น่าฟังเล็ดลอดออกมา
เมื่อเทียบกับลำโพงในระดับที่สูงกว่าอย่างชัดเจนเสียงแหลมของ KEF Q350 ยังเป็นรองในแง่ของความกระจ่างใสแบบเปิดโล่งไปจนสุดขอบ ตรงจุดนี้เองที่ KEF Q350 ยังทำได้แค่ดีพอใช้ ช่วงท้ายของการรีวิวผมมีโอกาสได้ลองขับมันด้วยแอมป์ที่มีกำลังมากขึ้นอย่าง NAD C388 (150 วัตต์ต่อข้าง) เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็พบว่าแอมป์ที่มีกำลังมากขึ้นไม่ได้ช่วยสนับสนุนรายละเอียดในส่วนนี้ให้ดีขึ้นมากนัก
มาตรฐานใหม่สำหรับลำโพงระดับเริ่มต้น?
เมื่อนึกถึงตัวเราเองในขณะที่ยังเป็นมือใหม่ในวงการเครื่องเสียงไฮไฟ การเริ่มต้นกับลำโพงเสียงดี ๆ สักคู่เป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นเลย เพราะจากที่ไม่เคยฟังเครื่องเสียงแยกชิ้นดี ๆ มาก่อนโอกาสที่เราจะพบลำโพงที่ถูกใจได้โดยง่ายนั้นมีมากเหลือเกิน ทว่าเมื่อเราเริ่มเฟ้นหาไปก็จะพบว่าลำโพงในระดับเริ่มต้นหรือ entry level นั้นโดยมากจะเข้าข่าย ‘ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง’ อยู่ร่ำไป
สำหรับ Q350 ซึ่งเป็นลำโพงพาสสีฟแยกชิ้นระดับ entry level ในปัจจุบันของ KEF แม้ว่าราคาของมันจะอยู่ในกลุ่มบนของ entry level จนเกือบ ๆ จะไปแตะลำโพงระดับมิดเอนด์อยู่แล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระดับราคาที่ไม่ยากเย็นเกินไปสำหรับการเริ่มต้น ทว่าที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ เสียงของลำโพงคู่นี้ให้คุณภาพเกินกว่าคำว่าระดับเริ่มต้นไปแล้วครับ
คำว่า ‘ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง’ ใน KEF Q350 ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าต้องเลือกแบบจำยอม ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าต้องละทิ้งอะไรไปทั้งหมด ในงบประมาณระดับนี้สำหรับคนที่ชอบฟังเพลง ชอบเสียงดนตรี ผมถือว่านี่คือลำโพงที่ลงทุนแล้วคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ครับ!
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท ซาวด์ รีพับลิค จํากัด
โทร. 0-2448-5489, 0-2448-5465-6
ราคา 24,900 บาท/คู่