fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

[Classic Review] iFi Audio : ‘Retro’ Stereo 50 & LS3.5

ด้วยความที่ได้รีวิวสินค้าของ iFi Audio มาแล้ว 2 รุ่นทั้ง nano iDSD และ micro iDSD ยังไม่นับรวมแอคเซสโซรี่อีกจำนวนหนึ่งของยี่ห้อนี้ที่ได้ลองใช้งานมาบ้างมันทำให้ผมพอเข้าใจถึงเป้าหมายในการออกแบบสินค้าของยี่ห้อนี้มากเสียจนผมรู้สึกตัวเองน่าจะเป็นแฟนบอยของ iFi Audio ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

ที่ผ่านมาสินค้ายี่ห้อนี้เขาจะชัดเจนมากในแนวทางการออกแบบ กล่าวคือ เป็นสินค้าที่จับกลุ่มคนที่ชอบเล่น gadget และ hi-fi ในเวลาเดียวกัน เกือบทุกรุ่นถูกออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดพกพาได้ หลายทุกรุ่นพยายามอัดแน่นความล้ำหน้าในเทคนิควิทยาการสมัยใหม่ให้มาชนิดที่เครื่องเสียงไฮไฟตัวโตกว่าต้องอายม้วนหลบชิดซ้ายไป เรียกว่าเล็กแค่ตัวแต่ความสามารถนั้นกลับสวนทางกัน

เมื่อไม่นานมานี้ทาง iFi Audio เพิ่งเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ออกมา เป็นเครื่องเสียงขนาดใหญ่กว่า hi-fi gadget ที่พวกเขาเคยทำแต่ก็ยังมีขนาดที่กะทัดรัดเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องเสียงฟูลไซส์ทั่วไป ที่สำคัญหน้าตาของมันดูดีมาก (อยากใส่ ก.ไก่ อีกสัก 10 ตัวเพื่อบ่งบอกความรู้สึกที่แท้จริง)

คือเป็นแนวหรูย้อนยุคแบบวินเทจสไตล์ เป็นอะไรที่ดูดีแบบไม้ ๆ หรูหราคลาสสิก และนั่นคือที่มาของเครื่องเสียงตระกูลใหม่จาก iFi Audio ที่มีชื่อว่า ‘Retro’ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ย้อนยุค’

‘Retro’ Design
ในปัจจุบัน Retro Series มีเครื่องเสียงอยู่ 2 รุ่นได้แก่ อินทิเกรตแอมป์ Retro Stereo 50 และลำโพง Retro LS3.5 สองคู่หูดูโอ้ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้เป็นอย่างดีเพราะคลานตามกันออกมาจากห้องวิจัยและพัฒนาของทาง iFi Audio เอง ขณะเดียวกันทั้งคู่ยังสามารถแยกวงไปหาคู่จิ้นของตัวเองได้ด้วยโดยไม่มีภาระผูกพันธ์ใด ๆ ซึ่งกันและกัน

ข้อควรทราบหรือทำความเข้าใจประการแรกก็คือ Retro Series ของทาง iFi Audio ไม่ใช่ลักษณะของการย้อนยุคแบบจับเอาของเก่า ๆ ของเดิม ๆ มาแต่งตัวเสียใหม่

หากแต่เป็นตรงกันข้ามซึ่งก็คือการเอาเทคโนโลยีดิจิทัลออดิโอใหม่ ๆ ล้ำ ๆ มาคลุกเคล้าเข้ากับเทคโนโลยีอมตะที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีตอย่างหลอดสุญญากาศและแผ่นเสียง ก่อนจะจับส่วนผสมทั้งหมดมาห่อหุ้มด้วยดีไซน์ที่มีกลิ่นอายย้อนยุคสมดังชื่อ ทั้งหมดที่ว่ามานี้ปรากฏชัดเจนที่สุดใน Retro Stereo 50

‘Retro’ Stereo 50
Stereo 50 เป็นอินทิเกรตแอมป์แบบฟูลฟังก์ชันที่รับสัญญาณได้ทั้งอินพุต Phono, Analog Line Level และ Digital (USB, Coaxial/Optical, Bluetooth) มีวงจรโทนคอนโทรลพร้อมทั้งสวิตช์บายพาส และภาคขยายเสียงสำหรับหูฟัง เป็นแอมป์ที่มีคุณสมบัติมากมายอัดแน่นอยู่ภายในตัวถังขนาดย่อม มันเยอะเสียจนผมเป็นกังวลว่าจะพูดถึงมันได้ไม่ครบถ้วน

โดยหลัก ๆ แล้วมันทำหน้าที่เป็นอินทิเกรตแอมป์สเตริโอที่ภาคขยายเสียงใช้หลอดสุญญากาศข้างละสามหลอด โดยมีหลอดประเภทไตรโอด/เพนโทด (ในหลอดเดียวกัน) เบอร์ ECF82 จำนวนหนึ่งหลอดทำหน้าที่เป็นภาคขยายส่วนหน้า

อีกสองหลอดคือหลอดเพนโทดเบอร์ EL84X ทำหน้าที่เป็นภาคเอาต์พุตแบบพุชพุลที่มีกำลังขับข้างละ 25 วัตต์ ตัวเลขกำลังขับนี้ทาง iFi แจ้งเอาไว้ว่าเป็นการวัดโดยการป้อนสัญญาณดนตรีจริง ๆ โดยต่อแอมป์เข้ากับลำโพงที่แมตช์กันแล้ววัดจุดที่สัญญาณเริ่มเกิด clipping

ภาคขยายแบบหลอดสุญญากาศในที่นี้ไม่เพียงแค่จ่ายกำลังออกไปให้ลำโพงทางขั้วต่อสายลำโพงด้านหลังเครื่องเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่จ่ายกำลังออกไปทางขั้วต่อเอาต์พุตหูฟังที่ออกแบบให้รองรับทั้งหูฟังความไวสูงและหูฟังความไวต่ำ ด้วยกำลังขับสูงสุด 7,000 มิลลิวัตต์หรือเทียบเท่ากับ 7 วัตต์

ซึ่งทางผู้ผลิตเคลมว่ากำลังขับระดับนี้สามารถขับหูฟังขาโหดทั้งหลายได้สบาย ๆ นอกจากนั้นเขายังแบ่งเอาต์พุตหูฟังบนหน้าปัดเครื่องออกเป็นสองชุด ชุดหนึ่งเป็นขั้วต่อหูฟัง 3.5mm (ขั้วเล็ก) สำหรับหูฟังความไวสูงทั้งหลาย อีกชุดเป็นขั้วต่อหูฟัง 6.3mm (ขั้วใหญ่) สำหรับหูฟังที่มีความไวระดับปกติจนถึงความไวต่ำ

นอกจากอินพุตสำหรับสัญญาณเสียงอะนาล็อกเหมือนในแอมป์ทั่วไปแล้ว ใน Stereo 50 ยังมีภาค D/A Converter (DAC) สำหรับเล่นกับไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูงด้วยครับ โดยเฉพาะช่องอินพุต USB นั้นเรียกว่าจัดเต็ม

เพราะยกเอาเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ใน DAC/AMP รุ่น micro iDSD ซึ่งล้ำหน้าสุด ๆ มาปรับปรุงใช้ในแอมป์ตัวนี้ ดังนั้นมันจึงตอบสนองต่อสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูงได้ล้ำหน้าไม่แพ้กันนั่นคือการรองรับสัญญาณ Native ของฟอร์แมต Octa-DSD512(24MHz), PCM768kHz, 2xDXD ซึ่งน่าจะอยู่ในระดับสูงสุด ณ เวลานี้แล้ว

นอกจากนั้นภาคฟิลเตอร์ก็ยังคงได้รับการเอาใจใส่เหมือนที่พบได้ใน micro iDSD นั่นคือ ถ้าเล่นกับสัญญาณ PCM ระดับไม่เกิน 192kHz วงจรฟิลเตอร์จะเป็นดิจิทัลฟิลเตอร์แบบ Minimum phase เพื่อลดการเกิด ringing ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียงแข็งกระด้างไม่น่าฟัง

ในกรณีที่เป็นสัญญาณดิจิทัลที่มี sample rate สูงกว่า 192kHz หรือ DXD/2xDXD และ DSD วงจรฟิลเตอร์ที่ใช้จะเป็นวงจรอะนาล็อกฟิลเตอร์ล้วน ๆ ซึ่งทาง iFi เคลมว่าเทคนิคนี้จะทำให้สัญญาณที่ได้ปราศจากฟิลเตอร์โดยสิ้นเชิง

นอกจากภาคดิจิทัลโปรเซสเซอร์ที่ใช้ในภาค DAC แล้ว อีกส่วนที่ดูเหมือนจะถูกยกมาจาก micro iDSD ด้วยก็คือวงจรปรับแต่งเสียงที่มีชื่อว่า ‘3D’ และ ‘XBass’ ซึ่งสามารถเลือกใช้งานได้อย่างละ 2 ระดับหรือเลือกปิดไม่ใช้งานฟังก์ชันเหล่านี้ก็ได้เช่นกัน

สำหรับภาคโฟโนที่มากับอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ พิจารณาจากคุณสมบัติของมันแล้วก็ดูจะไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าของแถมเลย เข้าใจว่าน่าจะยกเอาโฟโนปรีแอมป์รุ่น iPhono ของทาง iFi เองมาใส่ใน Stereo 50 นั่นแหละครับ

เพราะมันรองรับเกนขยายในช่วงกว้างสำหรับหัวเข็มทั้งชนิด MM และ MC อีกทั้งยังมี EQ ในมาตรฐานต่าง ๆ มาให้เลือกใช้งานอีกเพียบเช่น RIAA, Columbia, Decca, EMI, CCIR/Teldec หรือ DMM จะว่าไปแล้วโฟโนปรีแอมป์แยกชิ้นหลายรุ่นยังมีคุณสมบัติเหล่านี้ไม่ครบเลยครับ

นอกเหนือจากเรื่องทางเทคนิคแล้ว ดีไซน์ที่สะดุดตาของ Stereo 50 ได้แรงบันดาลใจมาจากแอมป์หลอดยุคคลาสสิกอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นกรอบเฟรมไม้ที่ทำจากไม้แบมบูแท้ ๆ แผงหน้าปัดและลูกบิดที่ทำจากอะลูมิเนียมอะโนไดซ์สีทองกุหลาบ (Rose Gold) หรือแม้แต่สวิตช์โยกแบบ toggle ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในแอมป์หลอดยุคคลาสสิก

ช่องระบายอากาศและรูพรุนรอบตัวเครื่องบ่งบอกชัดเจนว่าแอมป์หลอดตัวนี้น่าจะร้อนไม่เบาในเวลาใช้งาน ซึ่งหลังจากที่ได้ลองใช้งานมันก็เป็นอย่างนั้นแหละครับ ดังนั้นห้ามเอาอะไรไปวางปิดทับช่องระบายความร้อนเหล่านี้โดดเด็ดขาดนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอกกันก่อน

นอกจากตัวเครื่อง Stereo 50 แล้วในกล่องใส่เครื่องยังมีแอคเซสซอรี่อื่น ๆ อีกจิปาถะให้มาพร้อมใช้งาน หลายชิ้นเป็นของคุณภาพดีเกินว่าที่จะพูดได้ว่าเป็นของแถม เช่น สายลำโพงที่เป็นสายเงินถักมาอย่างดิบดี เป็นต้น

‘Retro’ LS3.5
จากภาพโปรโมตตามเวบไซต์หรือโบรชัวร์สินค้ามันชัดเจนมากว่า Retro LS3.5 เป็นลำโพงที่ถูกสร้างมาเพื่อให้แมตช์กับ Stereo 50 โดยกำเนิด ชื่อรุ่นที่ชวนให้นึกถึงลำโพงคลาสสิกรุ่นหนึ่งที่กลายเป็นตำนานอย่าง BBC Monitor 3/5A นั่นก็เพราะว่ามันถูกออกแบบโดยมีเสียงของ 3/5A เป็นตัวตั้งต้น และทาง iFi ก็เคลมว่าด้วยเทคโนโลยีการผลิตไดรเวอร์ที่ห่างกันอยู่หลายสิบปีทำให้พวกเขาสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ของ 3/5A ไปแล้ว!

Retro LS3.5 เป็นลำโพงขนาดเล็ก 2 ทาง 2 ตัวขับเสียง ตัวตู้ลำโพงทำจากไม้แบมบู (Natural Bamboo) ขัดเรียบแล้วเคลือบผิวด้านเหมือนลำโพงราคาแพง ทาง iFi เคลมว่าตัวไม้แบมบูนี้มีน้้ำหนักเบากว่าแต่มีความแข็งแกร่งมากกว่าลำโพงตู้ไม้ทั่ว ๆ ไปถึง 3 เท่า ระบบเบสโหลดดิ้งเป็นระบบตู้เปิดแบบ P.G.A.H Voigt tuned Enclosure ด้านหลังเป็นช่องระบายอากาศแบบ Slot port เป็นช่องแคบ ๆ ยาวเกือบเท่าหน้ากว้างของตู้ลำโพง

ความน่าสนใจยังไม่หมดเพียงเท่านั้นเพราะการออกแบบตู้ลำโพงของเขายังใช้หลักการ ‘Acoustic Active Tuning with minimal damping’ หรือการจูนที่ตัวตู้ลำโพงโดยตรงและใช้การแดมปิ้งให้น้อยที่สุด วิธีการของเขาคือการใช้ไม้ชิ้นเล็ก ๆ ที่มีลักษณะเป็นแท่งขนาดสั้นยาวแตกต่างกันไปแปะเอาไว้ที่ผนังตู้ด้านในตามตำแหน่งที่ได้จูนเสียงเอาไว้

วิธีนี้เป็นหลักการเดียวกันกับการจูนเสียงของเครื่องดนตรีอะคูสติกอย่างเช่น กีตาร์โปร่ง นั่นเอง จากนั้นก็บุช่องว่างภายในตู้ด้วยวัสดุที่ทาง iFi เรียกว่า ‘Advanced amino-plastic open cell acoustic foam’ ซึ่งอ้างว่าช่วยให้การตอบสนองเสียงทุ้มออกมาดีที่สุดอีกทั้งยังได้เสียงกลางที่สะอาดสะอ้านอีกด้วย

สำหรับไดรเวอร์ที่ใช้ในลำโพงรุ่นนี้ทาง iFi ระบุว่าเป็นไดรเวอร์ที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นทวีตเตอร์โดมผ้าไหมขนาด 1.1 นิ้ว มิดเบสกรวยกระดาษเคลือบขนาด 4.5 นิ้ว ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 59Hz – 20kHz ความไว 90dB อิมพิแดนซ์เฉลี่ย 4 โอห์ม น้ำหนักลำโพงทั้งตัวหนักข้างละ 3.5 กิโลกรัม

นอกจากตัวลำโพงแล้ว ในกล่องที่ใส่มันมาผมยังพบหน้ากากลำโพงอีกหนึ่งคู่ที่เนื้อฟ้าเป็นสีเทาอ่อน ๆ ขณะที่หน้ากากที่มาพร้อมกับลำโพงนั้นเป็นเนื้อผ้าสีดำ เข้าใจว่าเขาให้มาเผื่อสำหรับคนที่อยากเปลี่ยนหน้ากากให้สีมันเข้ากับการตกแต่งห้องหรือเปลี่ยนตามความพอใจส่วนตัวก็แล้วแต่ การเปลี่ยนก็ง่ายมากครับเพราะหน้ากากแปะเอาไว้ด้วยแรงแม่เหล็กเท่านั้นเอง เอาปลายเล็บงัดเบา ๆ ที่ขอบหน้ากากก็หลุดออกมาแล้วอย่างง่ายดาย

First Impression
อันที่จริงก่อนที่จะได้รับเครื่องมารีวิวในครั้งนี้ ผมมีโอกาสได้เจอตัวจริงของ Retro ทั้งคู่ในงานโชว์เครื่องเสียง BAV ที่ผ่านมา ตัวจริงของมันสวยกว่าในรูปที่ผมเห็นก่อนหน้าพอสมควร แต่เรื่องของเสียงยังไม่ได้ประทับใจอะไรสาเหตุหลักเนื่องมาจากสถานที่ลองฟังนั้นไม่อำนวยเพราะเป็นที่เปิดโล่งและแวดล้อมไปด้วยเสียงรบกวนเซ็งแซ่ ดังนั้น first impression ระหว่างผมกับ iFi Retro จึงไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากการพบกันครั้งแรก

ตัดภาพกลับมาที่กองบรรณาธิการผมเปิดลังกระดาษสีขาวสองใบที่มีรูปกราฟฟิกของ Stereo 50 และ LS3.5 อยู่บนตัวกล่องออกมา สัมผัสแรกคือกลิ่นไม้แบมบูอ่อน ๆ (ที่จริงก็อยากเรียกว่าไม้ไผ่ตามคำแปลล่ะครับ แต่ไม่แน่ใจว่าไผ่ของบ้านเขากับไผ่ของบ้านเรามันเหมือนกันไหม) แะภาพของตัวเครื่องกับตู้ลำโพงที่ห่อหุ้มด้วยเนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน ๆ เป็นอะไรที่ช่างดูอบอุ่นนุ่มนวลเสียเหลือเกิน

หลังจากอ่านคู่มือใช้งานและสำรวจรอบ ๆ ตัวเครื่องทั้งสองคร่าว ๆ ผมก็จัดแจงต่อใช้งาน รวมถึงการปรับตั้งค่าต่าง ๆ ลำพังตัว LS3.5 นั้นไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าลำโพงทั่วไปหรอกครับ แต่ Stereo 50 นี่สิอาจจะต้องนั่งทำความเข้าใจกันเล็กน้อย

เพราะขั้วต่อ, สวิตช์ และไฟสัญลักษณ์บางส่วนมันถูกออกแบบให้ใช้งานร่วมกันระหว่างฟังก์ชันที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ขั้วต่ออินพุตดิจิทัล Coaxial กับ Optical, ขั้วต่ออินพุตอะนาล็อกของช่องอินพุตที่ 1 และ 2 เลือกใช้งานได้ทั้งแบบ RCA และโฟนแจ็ค 3.5mm แต่ของอินพุต 2 จะแยกขั้ว 3.5mm ไปไว้ที่หน้าเครื่อง หรือขั้วต่ออินพุตอะนาล็อกช่องที่ 3 ที่แบ่งกันใช้กับอินพุตโฟโนแบบ MC High หรือ MM โดยเลือกใช้จากปุ่มหมุนเล็ก ๆ ที่อยู่บริเวณซ้ายมือด้านหลังเครื่อง

ยังไม่หมดแค่นั้นครับ ยังมีเรื่องของสถานะไฟสีต่าง ๆ ที่คุณอาจจะจำเป็นต้องทราบด้วย ที่แปลกไปกว่านั้นก็คือการใช้ปุ่มปรับโทนคอนโทรลมาตั้งค่า EQ ของภาคโฟโน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มองได้สองมุมล่ะครับ มุมหนึ่งคือความชาญฉลาดในการใช้งานปุ่มควบคุมที่สามารถทำงานซ้ำซ้อนได้กันช่วยให้ไม่ต้องมีปุ่มควบคุมมากมายจนดูรกตา

แต่ในอีกมุมหนึ่งสำหรับบางคนก็อาจจะมองว่าเป็นความไม่สะดวกในการทำความเข้าใจได้ด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ดีทาง iFi เขาคงทราบปัญหานี้ดีเลยให้ตัวช่วยมาเป็นแผ่นกระดาษแข็งสองใบที่ให้มาเป็น Quick Start Guide เป็นอะไรที่ช่วยเหลือได้มากพอสมควร ดังนั้นการใช้งานในช่วงนี้แผ่นกระดาษทั้งสองใบจึงอยู่ไม่ห่างตัวเครื่องเลยครับ

ในรีวิวนี้ผมมีโอกาสได้ลองฟังภาคโฟโนของ Stereo 50 เพียงคร่าว ๆ เนื่องจากโอกาสไม่อำนวยนัก โดยฟังผ่านเทิร์น Thorens TD203 ที่เปลี่ยนหัวเข็มเป็นของยี่ห้อ SoundSmith รุ่น Carmen สุ้มเสียงที่ออกมาไม่มีปัญหาอะไรเลย เกนขยายเหลือเฟือ น้ำเสียงมีสมดุลของโทนเสียงที่ดีเยี่ยม

ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าในซิสเตมนี้ต้องไปขวนขวายหาโฟโนปรีแอมป์แบบแยกชิ้นที่ไหนมาใช้อีกเลย มันให้ความสุขที่กำลังลงตัวพอดิบพอดีอยู่แล้วครับ ที่สำคัญเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มันให้เสียงดีกว่าตอนที่ได้ฟังในงานเครื่องเสียงเมื่อคราวก่อนมาก ๆ ครับ ใครที่ได้ฟัง Retro ในงานโชว์ที่ว่าผมแนะนำให้ลบประสบการณ์นั้นออกไปจากความทรงจำโดยด่วน

มาดูการเล่นเพลงจากแหล่งสัญญาณดิจิทัลกันบ้าง เรียบง่ายและทันสมัยที่สุดเห็นจะเป็นการเชื่อมต่อแบบไร้สายบลูทูธที่ทาง iFi เลือกใช้การเข้ารหัวที่นิยมใช้กันแพร่หลายวงการไฮไฟอย่าง aptX มันเป็นระบบไร้สายที่เสียงดีพอสมควรเหมือนที่ผมคุ้นเคย มันจับคู่กับแท็ปเล็ตหรือสมาร์ตโฟนได้ง่ายด้วยวิธีการ pairing ธรรมดา และง่ายกว่านั้นสำหรับเครื่องที่มีระบบ NFC

ปัญหาเดียวที่ผมเจอคือการเล่นเพลงกับอุปกรณ์รุ่นเก่าอย่าง iPhone4s นั้นเสียงเพลงจะมีการสะดุดติดขัดเหมือนการรับส่งสัญญาณมีปัญหาแม้ว่าผมจะยืนอยู่ใกล้ ๆ เสาอากาศทางด้านหลังตัวเครื่อง Stereo 50 ก็ตาม แต่กับ iPhone 6 ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นเลย ถ้านี่คือความปกติ เข้าใจว่าคงเป็นเพราะทาง iFi เขาจูนแบนด์วิดธ์ให้เน้นไปที่คุณภาพเสียงมากกว่า

ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปสำหรับระบบไร้สายว่ามันต้องแลกมาด้วยความสามารถในการเชื่อมต่อที่ลดลงจึงเป็นปัญหากับสมาร์ตโฟนรุ่นเก่าอย่าง iPhone4s นั่นเอง

ดังนั้นหลังจากการลองฟังจาก source ต่าง ๆ เพื่อทดสอบว่าฟังก์ชันใน Stereo 50 สามารถใช้งานได้จริงแล้ว มากกว่า 60-70% ของรีวิวนี้จะเป็นการใช้งานอินพุต USB เล่นเพลงจากคอมพิวเตอร์ Mac mini เป็นหลัก ทั้งเล่นจากโปรแกรมเล่นเพลงแบบออฟไลน์ตามปกติเช่น Audirvana Plus หรือทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ (TIDAL) โดยใช้โปรแกรม Roon

สำหรับการควบคุมสั่งงานที่ตัวเครื่อง Stereo 50 นอกจากการสั่งงานโดยตรงที่ตัวเครื่องแล้ว เขายังมีรีโมตคอนโทรลพลาสติกเล็ก ๆ แบบไร้สายอินฟราเรดมาให้ใช้ควบคุมความดัง-เบาของเสียงมาให้ด้วยครับ แต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบใช้เพราะมันคุมได้แค่ความดัง หรืออาจจะเป็นเพราะผมใช้งาน Stereo 50 แบบวางใกล้ ๆ ตัวด้วยกระมังครับ ใช้มือหมุนเอาก็สะดวกแถมยังได้ฟิลลิ่งมากกว่า

เสียงดีโดยไม่ต้องมีตัวช่วย
เวลาร่วม 1 เดือนเต็ม ๆ ในการฟังเพื่อการรีวิวเครื่องเสียงชุดนี้ทำให้ผมมั่นใจที่จะบอกว่านี่คือเครื่องเสียงชุดเล็กที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ ในด้านการถ่ายทอดความเป็นดนตรี มันเสียงดีได้โดยไม่ต้องอาศัยการปรับแต่งโทนคอนโทรลหรือฟังก์ชัน 3D และ XBass ช่วยแต่อย่างใด ถือว่าฟังก์ชันเหล่านี้เอาไว้ใช้เป็นทางเลือกในกรณีที่อยากลองหรือจำเป็นต้องใช้ก็แล้วกันครับ (ในคู่มือมีแนะนำไว้เล็กน้อย)

แต่ด้วยลักษณะที่ผมใช้งานเป็น desktop audio นั่งฟังกันในระยะไม่ห่างจากตัวเครื่องและลำโพงมากนัก ผมสามารถฟังเครื่องเสียงชุดนี้ได้อย่างมีความสุขในขณะที่ไม่ใช้งานฟังก์ชันปรุงแต่งเสียงเหล่านั้นเลย ในที่นี้มันจึงเป็นส่วนเกินสำหรับผม แต่มันอาจจะเป็นตัวช่วยสำหรับคุณก็ได้นะครับ ยังไงเขาก็ให้มาแล้วลองแล้วชอบแบบไหนก็ใช้อย่างนั้นแหละครับ ก็มันเลือกได้นี่หน่า

เสียงที่ได้จาก Stereo 50 และ LS3.5 ฟังแล้วไม่ต้องสงสัยเลยครับว่ามันเป็นเนื้อคู่กันหรือเปล่า มันใช่เลย เป็นเครื่องเสียงที่ผมใช้ฟังเพลงหลากหลายมาก ๆ มากเสียจนรับรู้ได้ว่ามันเด่นมากที่เสียงกลาง เป็นความเปิดกระจ่าง สดใส ในขณะที่มีสมดุลเสียงดีเยี่ยม มิติเสียงดีมากสมกับที่เป็นลำโพงเล็ก

และที่คุยว่าลำโพงคู่นี้พัฒนาต่อมาจาก BBC LS3/5A ลองฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะเกินจริงไปมากนัก อย่างน้อยมันก็เล่นได้ดังกว่าและไม่แป้กง่ายเหมือน 3/5A ทุ้มก็มีเนื้อมีหนังมากกว่าด้วยครับ

เสียงทุ้มของลำโพงเล็ก ๆ คู่นี้อาจจะไม่ได้ออกแนวตึงตังหรือฟังสะดุดหูมากนัก แต่มันไม่ใช่ลำโพงประเภทที่ขาดแคลนเสียงทุ้มแน่นอนครับ มันมีทุ้มและลงได้ลึกพอสมควรด้วย ลักษณะของเสียงทุ้มจะเป็นลักษณะของเสียงทุ้มที่นุ่มนวล อิ่มแต่ไม่ถึงกับหนาแน่นเข้มข้น เรียกว่าฟังเพลงร็อคได้ไม่ขัดหูก็แล้วกัน เปิดฟังเบา ๆ แบบเอาเพลินได้สบาย ๆ หรือจะเร่งดังให้ฟังสนุกก็ยังรับใช้กันได้ไม่ถึงกับอั้นตื้อหรือแป้กกันง่าย ๆ

แต่อย่างไรก็ดีอย่าไปคาดหวังว่ามันจะตอบสนองได้อย่างถึงใจโดยไม่มีข้อจำกัดเลยนะครับ มันแค่ทำได้เกินตัวไปพอประมาณเท่านั้นเอง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ตามสรีระของมัน เวลาฟังร็อคหรือเฮฟวี่เมทัลก็เป็นความสนุกแบบย่อส่วนลงมาสักหน่อยล่ะครับ แต่ที่ต้องชมเชยคือไม่ว่าจะอย่างไรมันก็ยังพยายามคุมโทนรักษาคุณงามความดีในน้ำเสียงของมันอยู่ได้ ต้องยอมรับว่าเขาจูนเสียงมาได้เนี้ยบจริง ๆ

อีกส่วนหนึ่งของความดีความชอบ คงต้องยกให้ Stereo 50 ที่เปรียบเสมือนตัวนำพาสัญญาณต้นน้ำและขุมพลังในการผักดันความเป็นดนตรีผ่าน LS3.5 ออกมา ผมรู้สึกว่ามันเสียงดีมาก มากพอ ๆ กับความร้อนที่แผ่ออกมาตัวรอบแม้ว่าจะใช้งานในห้องแอร์ก็ตาม มันร้อนเหมือนแอมป์คลาสเอ มันเสียงดีมากและมากเป็นพิเศษเมื่อผมฟังดนตรีที่เป็นอะคูสติก

มันส่งผ่านความอ่อนโยน ความนุ่มนวลสดใสของเสียงเปียโน ไวโอลิน หรืออะคูสติกกีตาร์ ที่ทำให้โสตประสาทของผมตื่นรู้ กำซาบ และปล่อยอารมณ์ให้คล้อยตามไปกับบทเพลงและดนตรีได้อยู่เสมอ ๆ ตลอดช่วงเวลาของการใช้งาน บ่อยครั้งที่มันย่อส่วนวงดนตรีมาบรรจงวางไว้บนโต๊ะทำงานของผม ซึ่งประสบการณ์นี้แตกต่างจากการฟังเพลงบนโต๊ะทำงานด้วยหูฟังที่ผมคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง

ทว่าในบางครั้งที่จำเป็นจะต้องฟังเพลงจากหูฟัง Stereo 50 ก็ยังทำหน้าที่ของมันได้อย่างยอดเยี่ยม ช่วงแรกที่ใช้งานผมเกือบลืมไปแล้วว่ามันสามารถทำหน้าที่เป็นแอมป์หูฟังหลอดแท้ ๆ ได้ด้วย เมื่อเสียบหูฟังเข้าไปมันจะตัดเสียงที่ออกลำโพงอัตโนมัติ

ลำพังแค่ใช้งานเฉพาะของแอมป์หูฟัง บอกได้เลยครับว่าแอมป์หูฟังตัวนี้คุณภาพเข้าขั้นดีเลิศ ใครที่ซื้อ Stereo 50 ไปเท่ากับว่าคุณได้ทั้งแอมป์หลอดสำหรับใช้งานกับลำโพงขนาดย่อมและแอมป์หลอดชั้นดีสำหรับหูฟังอยู่ในเครื่องเดียวกัน มันเสียงดีเหมือนข้างต้นที่ผมได้เรียบเรียงความรู้สึกบอกคุณผ่านตัวหนังสือไปแล้ว แถมยังใช้งานกับหูฟังได้ตั้งแต่หูฟังเอียร์บัดตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงหูฟังฟูลไซส์ พวกฟูลไซส์ความไวต่ำก็ยังเอาอยู่ ดังนั้นห้ามคิดว่ารูเสียบหูฟังใน Stereo 50 เป็นของที่เขาแถมมาให้งั้น ๆ โดยเด็ดขาด !

ลองฟังกับลำโพงอื่น
ที่จริงด้วยกำลังขับที่มีจำกัดอยู่แค่ข้างละ 25 วัตต์ การซื้อ Stereo 50 พร้อมกับ LS3.5 จึงเป็นการการันตีแบบมั่นใจได้ 100% ว่ามันจะเข้ากันได้และเสียงดีด้วย แต่จากที่ได้สอบถามทางตัวแทนจำหน่ายในเวลานั้น ทำให้ทราบว่าชุด iFi Retro นี้สามารถซื้อได้ทั้งเป็นชุดแอมป์กับลำโพง หรือจะซื้อแยกกันก็ได้

ผมว่าออปชันนี้น่าสนใจเลยโดยเฉพาะตัว Stereo 50 ที่นอกจากจะใช้งานในลักษณะ desktop audio ได้แล้วยังสามารถนำไปใช้งานในห้องขนาดย่อม ๆ หรือในมุมเล็ก ๆ สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจภายในบ้านได้ด้วย

ในกรณีนี้ผมได้ลองยก Stereo 50 ไปใช้งานกับลำโพง Wharfedale Diamond 121 ซึ่งเป็นลำโพงเล็กยอดนิยมอีกรุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า LS3.5 เล็กน้อยแต่ราคาถูกกว่าพอสมควร พบว่ามันเข้ากันได้ดีกับ Stereo 50 เลยครับ น้ำเสียงไปด้วยกันได้ดีเลย น้ำเสียงที่ได้ลดทอนความโปร่งพลิ้วหวานลงไปบ้าง

แต่แลกกลับมาด้วยดุลน้ำเสียงที่ทุ้มนุ่มขึ้นรวมถึงเนื้อเบสที่เข้มข้นขึ้นเล็กน้อยโดยรวมฟังเพลงร็อคหรือดนตรีที่มีบีทหนัก ๆ ได้สนุกข้ึนพอสมควร แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดจนฮาร์มอนิกส์ในย่านความถี่สูงจากดนตรีอะคูสติกไม่ได้แจกแจงออกมาได้ครบถ้วนเท่ากับตอนที่ Stereo 50 ได้จับคู่กับลำโพงของเขาเอง

ในส่วนนี้ก็ให้ไว้เป็นไอเดียนะครับ ผมคิดว่ายังน่าจะมีลำโพงเล็กอื่น ๆ ที่เป็นทางเลือกสำหรับ Stereo 50 อยู่อีกพอสมควร แต่ถ้าไม่อยากไปวุ่นวายเสียเวลาจับคู่ ก็ลำโพง LS3.5 นี่แหละครับที่ฟังดีเหลือเฟือแล้ว

Modern Retro Hi-Fi
หลังจากที่ได้ลองเล่นลองฟัง iFi Audio Retro ทั้งสองรุ่น ผมคิดว่ามันเป็นคนละอารมณ์กับการเล่นของเก่าย้อนยุคแบบที่คนนิยมเครืื่องเสียงวินเทจเขาไปตามหามาเล่นกัน

แต่ Retro ทำให้ผมนึกถึงรถยนต์มินิคูเปอร์รุ่นใหม่ ๆ ที่นำเอา passion หรือความลุ่มหลงในอดีตของรถมินิคูเปอร์ยุคดั้งเดิมมาคลุกเคล้ากับประดิษฐกรรมสมัยใหม่ที่ล้ำหน้า ใส่ดีไซน์ที่ดูร่วมสมัยเข้าไปจนทำให้ได้ส่วนผสมใหม่ที่มีกลิ่นอายของความคลาสสิกกลมกลืนอยู่กับความไฮเทค

แต่ด้วยความที่ Retro เป็นเครื่องเสียง ลำพังแค่ดีไซน์คงไม่มากพอจะใช้พิจารณาคุณค่าในงบประมาณ 7 หมื่นกว่าบาทได้ถ้าไม่ได้ฟังเสียงของมันด้วย จากที่ได้ลองฟังมาตลอด 1 เดือนเศษ ผมคิดว่านี่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความลงตัวและง่ายที่สุดสำหรับคนที่ชอบฟังเพลง

ทั้งแบบเอาฟังเพลินหรือฟังเอาเนื้อหาสาระจริง ๆ ของดนตรี โดยไม่เกี่ยงด้วยต่างหากว่าคุณจะฟังจากระบบเสียงอะนาล็อกที่สุดแสนคลาสิกอย่างแผ่นเสียงหรือฟังจากไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูงที่สุดแสนจะไฮเทค หากถามว่ายังมีเครื่องเสียงตัวไหนอีกไหมที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วนเบ็ดเสร็จอยู่ในเครื่องเดียวกัน ในวินาทีนี้ผมนึกไม่ออกจริง ๆ ครับ


เนื่องจาก Classic Review เป็นรีวิวเครื่องเสียงที่ตกรุ่นไปแล้ว หรืออาจมีการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว ทางเว็บไซต์จึงขอสงวนข้อมูลตัวแทนจำหน่ายและราคาของสินค้าเพื่อป้องกันความสับสนในข้อมูล

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ