รีวิว HUAWEI : FreeBuds Pro 2 “สุดยอดหูฟังไร้สาย true wireless รุ่นใหม่ที่เข้าใกล้คำว่าสมบูรณ์แบบ”
เมื่อสองปีที่ผ่านมา HUAWEI ได้ส่ง FreeBuds Pro หูฟังไร้สาย true wireless ระดับเรือธงรุ่นแรกของแบรนด์ออกมาในตลาด แม้ว่าไม่ได้เป็นยี่ห้อแรก ๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมในอุตสาหกรรมนี้ ทว่า FreeBuds Pro ก็สามารถแทรกขึ้นมายืนในแถวหน้าได้โดยอาศัยคุณสมบัติเด่นเฉพาะตัว
ล่าสุด HUAWEI ได้เปิดตัว FreeBuds Pro 2 หูฟังไร้สาย true wireless ระดับเรือธงรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับคุณสมบัติน่าสนใจมากมายแบบ all new ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียงโดยตรง หรือประสิทธิภาพในการตัดเสียงรบกวน และอาจนับรวมไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นที่บรรจุอยู่ในหูฟังตัวเล็ก ๆ รุ่นนี้
จุดเด่นคงเดิม เพิ่มเติมจุดขายใหม่ (เพียบ !)
HUAWEI FreeBuds Pro 2 เป็นหูฟังไร้สาย true wireless ระดับเรือธงรุ่นใหม่ที่หัวเว่ยใช้เวลาพัฒนาร่วมสองปีเพื่อให้มาแทนที่ FreeBuds Pro หูฟังไร้สาย true wireless ระดับเรือธงรุ่นแรกที่เคยได้ปักธงสร้างชื่อให้กับหัวเว่ยเอาไว้
จุดเด่นที่น่าสนใจแรก โดยเฉพาะในมุมมองของคนชอบเครื่องเสียงก็คือ ในหูฟังรุ่นใหม่นี้ ทาง HUAWEI ได้จับมือกับ Devialet ผู้ผลิตเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์จากฝรั่งเศสในการร่วมกันพัฒนาหูฟังไร้สายรุ่นนี้
ซึ่งใครที่รู้จัก Devialet อยู่แล้วคงเข้าใจได้ทันทีว่าความร่วมมือครั้งเราเราสามารถคาดหวังอะไรได้บ้าง และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เป็นความร่วมมือของทั้งสองยี่ห้อนี้ เพราะทั้งสองแบรนด์ดังเคยร่วมมือกันมาแล้วก่อนหน้านี้ ยกตัวอย่างเช่น ในลำโพงพกพา HUAWEI Sound Joy ที่ผมได้รีวิวไปแล้วก่อนหน้านี้
ความน่าสนใจอีกมุมหนึ่งก็คือ เห็นได้ชัดว่า HUAWEI ยังคงนำจุดเด่นเกือบทุกอย่างใน FreeBuds Pro รุ่นแรกมาใส่ไว้ใน FreeBuds Pro รุ่นที่ 2 ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อไร้สายที่รวดเร็วและมีความเสถียร, ระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอคทีฟที่มีประสิทธิภาพ, คุณภาพของไมโครโฟนเวลาใช้สนทนา, การเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้พร้อมกัน 2 เครื่อง, การใช้งานแบบแยกข้างได้ ตลอดจนเคสชาร์จที่รองรับการชาร์จไร้สาย หรือว่าการควบคุมระบบสัมผัสที่สามารถปรับความดังของเสียงได้ง่าย ๆ ที่ตัวหูฟังโดยตรง
นอกจากนั้นแล้วหูฟัง FreeBuds Pro 2 ยังมาพร้อมกับคุณสมบัติใหม่ ๆ อีกหลายส่วน เช่น ส่วนสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพเสียงโดยตรงอย่างการเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth ซึ่งเป็น Bluetooth 5.2 เหมือน FreeBuds Pro รุ่นแรก แต่พิเศษกว่าเดิมตรงที่ในรุ่นใหม่นี้มาพร้อมการรองรับ audio codec คุณภาพสูงอย่าง LDAC ด้วย รวมถึง audio codec มาตรฐานอย่าง AAC และ SBC
อีกหนึ่งคุณสมบัติใหม่ที่ถือได้ว่าเป็นไฮไลต์เลยนั่นคือ การเปลี่ยนจากไดรเวอร์ไดนามิกเดี่ยวใน FreeBuds Pro รุ่นแรกมาเลือกใช้ระบบไดรเวอร์คู่แบบ 2 ทาง ที่หัวเว่ยเรียกว่า Dual-Speaker True Sound ซึ่งเป็นการแยกไดรเวอร์สำหรับเสียงในย่านเสียงกลาง/ทุ้ม และไดรเวอร์สำหรับเสียงในย่านความถี่สูงออกจากกัน
นี่คือหลักการเดียวกับลำโพงบ้านแบบ 2 ทาง ที่เลือกใช้งานไดรเวอร์แยกตามความเหมาะสมกับการทำหน้าที่ในแต่ละย่านความถี่เสียง ทำให้สามารถตอบสนองความถี่เสียงได้ในช่วงที่กว้างขึ้น (แบนด์วิดธ์กว้างขึ้น) และเอื้อให้สามารถถ่ายทอดรายละเอียดได้สมจริงมากขึ้น
โดยในย่านเสียงกลาง/ทุ้มของหูฟัง FreeBuds Pro 2 เป็นหน้าที่ของไดรเวอร์ไดนามิกขนาด 11 มิลลิเมตรที่หัวเว่ยได้พัฒนาขึ้นใหม่ เป็นไดรเวอร์ไดนามิกที่มีระบบแม่เหล็กแรงสูงขนาดจิ๋วทำงานร่วมกันถึง 4 ชุด (quad-magnet dynamic driver) ซึ่งข้อมูลจากหัวเว่ยยืนยันว่าเทคนิคนี้ส่งผลให้ไดรเวอร์รุ่นใหม่นี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าไดรเวอร์ที่ใช้งานอยู่ใน HUAWEI FreeBuds Pro รุ่นแรกถึง 30%
ส่วนในย่านความถี่สูงนั้นเป็นครั้งแรกที่หัวเว่ยเลือกใช้ไดรเวอร์แบบพลานาร์แมกเนติก (ultra-high-frequency planar diaphragm driver) ซึ่งเป็นไดรเวอร์แบบแผ่นฟิล์มและไม่ต้องมีวอยซ์คอล์ยหรือขดลวดเหนี่ยวนำ โดยปกติไดรเวอร์ประเภทนี้ขึ้นชื่ออยู่แล้วในแง่ของการถ่ายทอดรายละเอียดเสียงในย่านความถี่สูง และการตอบสนองไดนามิกทรานเชียนต์หรือสัญญาณฉับพลันได้ดีเป็นพิเศษ
ไดรเวอร์สองส่วนนี้ทำงานร่วมกันโดยอาศัยวงจรตัดแบ่งความถี่เสียงแบบดิจิทัลหรือดิจิทัลครอสโอเวอร์ นั่นเท่ากับว่ามันทำงานในระบบแอคทีฟไบแอมป์ ซึ่งถ้าเป็นเครื่องเสียงบ้านล่ะก็นี่คือคอนเซ็ปต์ของเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ที่มุ่งหวังในการออกแบบเพื่อให้ได้เสียงที่ดีเลิศ
HUAWEI FreeBuds Pro 2 ยังเป็นหูฟังไร้สาย true wireless รุ่นแรกของโลกที่ได้รับการรองรับมาตรฐาน HWA หรือ Hi-Res Wireless Audio อย่างเป็นทางการ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากคุณสมบัติในการเชื่อมต่อไร้สายด้วย LDAC Codec และสเปคฯ ช่วงตอบสนองความถี่เสียงของไดรเวอร์ทั้งสองตัวซึ่งหัวเว่ยเคลมเอาไว้ที่ 14Hz-48kHz
ในด้านการออกแบบทั่วไป ตัวหูฟังและตัวเคสชาร์จของ HUAWEI FreeBuds Pro 2 เขาออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดกว่า FreeBuds Pro รุ่นแรกเล็กน้อย โดยหูฟังซึ่งหนักข้างละ 5.9 กรัม นอกจากเบากว่ารุ่นแรกเล็กน้อย (FreeBuds Pro หนักข้างละ 6.1 กรัม) แล้ว ยังได้รับการออกแบบให้กันน้ำและฝุ่นตามมาตรฐาน IP54 สามารถใส่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเอาต์ดอร์ได้อย่างสบายใจเลย ขณะที่ FreeBuds Pro รุ่นแรกไม่ได้ระบุข้อมูลในส่วนนี้เอาไว้
ด้านระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอคทีฟหรือ Active Noise Cancellation (ANC) ใน HUAWEI FreeBuds Pro 2 ได้รับการพัฒนาล่าสุดมาเป็น Intelligent ANC 2.0 แล้ว ระบบนี้ทำงานโดยอาศัยไมโครโฟนที่มีอยู่ในหูฟังข้างละ 3 ตัว ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการตัดเสียงรบกวนเหนือกว่า FreeBuds Pro รุ่นแรกถึง 15% สามารถตัดเสียงรบกวนได้มากที่สุดถึง 47dB และมีผลกับเสียงรบกวนตั้งแต่ในช่วงความถี่ 50Hz-3,000Hz
เมื่อใช้หูฟังในการสนทนา ไมโครโฟนทั้ง 3 ตัวยังทำงานร่วมกับไมโครโฟนแบบ bone conduction microphone อีก 1 ตัว เพื่อให้สามารถจับเสียงสนทนาได้ชัดเจนที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่ตรวจจับสารพัดเสียงรบกวนรอบข้าง และพยายามตัดเสียงรบกวนเหล่านั้นออกไปโดยอาศัยอัลกอรึธึม Deep Neural Network (DNN) พิเศษของหัวเว่ยที่ได้ผ่านการเรียนรู้ตัวอย่างเสียงพูดเอาไว้มากถึง 100 ล้านตัวอย่าง ส่งผลให้การพูดคุยสนทนาในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ยังคงมีความกระจ่างชัดเจน
สำหรับอายุใช้งานแบตเตอรี่เมื่อเปิดใช้ ANC สามารถใช้งานได้นานสูงสุด 4 ชั่วโมง และ 18 ชั่วโมงสำหรับเวลารวมเมื่อใช้งานร่วมกับเคสชาร์จ ถ้าหากปิด ANC เวลาใช้งานจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 ชั่วโมงและ 30 ชั่วโมงสำหรับเวลารวมเมื่อใช้งานร่วมกับเคสชาร์จ
Huawei FreeBuds Pro 2 มาในสี Silver Frost, Ceramic White และ Silver Blue วางจำหน่ายในราคา 6,499 บาท [1]
แกะกล่องลองใช้งานเบื้องต้น
Huawei FreeBuds Pro 2 มาพร้อมกับอุปกรณ์มาตรฐานเรียบง่าย คือ นอกจากตัวหูฟังและเคสชาร์จที่ออกแบบมาด้วยกันแล้ว ก็มีสาย USB-C (USB-A to USB-C) ยาวประมาณหนึ่งคืบ และจุกซิลิโคนมาให้เลือกใช้ทั้งหมด 3 ขนาด (เล็ก, กลาง, ใหญ่) สำหรับสี Silver Blue อย่างตัวที่ผมนำมารีวิวนี้ตัวจุกซิลิโคนยังเป็นโทนสีเดียวกันด้วย
สำหรับการจับคู่และเชื่อมต่อ หากใช้งานสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยรุ่นที่เป็นระบบปฏิบัติการ EMUI 10 หรือใหม่กว่า สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยอาศัยคุณสมบัติ Pop-Up Pair
สำหรับอุปกรณ์อื่น ๆ ทั่วไปหากต้องการจับคู่และเชื่อมต่อกับ Huawei FreeBuds Pro 2 สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเปิดฝาเคสชาร์จแล้วกดปุ่มที่อยู่อยู่ด้านข้างตัวเคสค้างไว้รอจนไฟแสดงสถานะด้านในเคสติดกระพริบเป็นสีขาวเพื่อเข้าโหมดจับคู่ จากนั้นก็เลือกอุปกรณ์เชื่อมต่อกันไปตามปกติ
โดยพื้นฐานแล้วที่ตัวหูฟัง FreeBuds Pro 2 มีระบบควบคุมแบบสัมผัส (บีบที่ตัวก้านหูฟัง) เหมือนกับ FreeBuds Pro รุ่นแรก ซึ่งสามารถใช้รับ/วางหรือปฏิเสธสายสนทนา หรือใช้เล่นเพลง/หยุดเพลง ข้ามเพลง ปรับความดังเสียง หรือเลือกโหมดตัดเสียงรบกวนได้ ทว่าถ้าหากเป็นการใช้งานกับสมาร์ทโฟน ยังสามารถใช้แอปฯ HUAWEI AI Life เพื่อปรับตั้งค่าต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ด้วย
ซึ่งจุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษได้แก่ ส่วนของการเลือกปรับระบบตัดเสียงรบกวน (Noise control) ซึ่งในโหมดตัดเสียงรบกวนนั้นสามารถเลือกระดับของการลดทอนเสียงรบกวนได้หลายระดับตามสภาพแวดล้อมการใช้งานจริงได้แก่ Ultra, General และ Cozy คือลดทอนมากที่สุดไปจนถึงลดทอนน้อยที่สุดเรียงตามลำดับ
ซึ่งในโหมดตัดเสียงรบกวนระดับสูงสุดนั้นคือทำได้เงียบกริบสมกับที่บอกไว้ ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด แถมยังสามารถจัดการกับเสียงลมได้ดีอีกด้วย หรือจะเลือกที่โหมด Dynamic ซึ่งระบบจะเลือกปรับระดับการลดทอนเสียงรบกวนให้โดยอัตโนมัติตามสภาพแวดล้อมการใช้งานจริง
อีกจุดหนึ่งที่แนะนำให้พิจารณาได้แก่เมนูตั้งค่า Sound effects ซึ่งก็คือ Preset EQ หรือการปรับจูนเสียงด้วยอีควอไลเซอร์ ที่นอกจากมีมาให้เลือกใช้งานจำนวนหนึ่งแล้วยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับจูนด้วยตัวเองได้ด้วยโดยอาศัยกราฟิกอีควอไลเซอร์ 10 แบนด์ โดยส่วนตัวผมว่าค่า default ซึ่งเป็นการปรับแต่งมาโดย Devialet (Co-created with Devialet) นั้นให้เสียงในภาพรวมที่ดีน่าพอใจอยู่แล้วครับ
สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับการตั้งค่าใช้งานในแอปฯ HUAWEI AI Life สามารถดูได้ในวิดีโอพรีวิวที่แนบอยู่ในบทความรีวิวนี้ หรือคลิกเข้าไปที่ลิงก์นี้ https://youtu.be/2zsx1_iTUYQ ครับ
คุณภาพเสียง
ผมมีเวลาได้ลองใช้งานและลองฟัง HUAWEI FreeBuds Pro 2 อยู่ประมาณ 3 สัปดาห์ ส่วนตัวผมคิดว่า HUAWEI (และอาจนับรวม Devialet ด้วย) จูนเสียงของหูฟังรุ่นนี้ออกมาได้ลงตัวดีเลย ก่อนอื่นต้องบอกว่าการใช้ไดรเวอร์แยกสองแบบนี้แม้ว่าจะมีข้อดีมากมายแต่ก็อาจไม่ใช้คำตอบของคุณภาพเสียงที่ดีเสมอไป หากว่ามันไม่ทำงานสอดประสานกัน แต่อย่างที่บอกเอาไว้ว่าสำหรับหูฟังรุ่นนี้มันเป็นความลงตัวที่ดีเลย (ไม่มีที่ติ)
ผมชอบตรงที่มันมีสมดุลเสียงที่ดีและมีแบนด์วิดธ์ที่กว้างกว่า FreeBuds Pro รุ่นแรกอย่างชัดเจน มันให้เสียงทุ้มมีน้ำหนัก มีความหนักแน่นและลงได้ลึก ขณะที่ในย่านเสียงกลางและเสียงแหลมนั้นก็มีลักษณะที่เปิดเผย ให้รายละเอียดหยุมหยิม มีความกระจ่างพร่างพราว ไม่มีอะไรฟังแล้วรู้สึกแปลกประหลาดหรือระคายหู
ภาพรวมของเสียงสามารถใช้ฟังเพลงได้หลากหลายแนว บุคลิกเสียงมีคัลเลอร์พองาม ปรับแต่งมาให้ฟังสนุก ฟังง่ายและค่อนข้างมีรสนิยมเลยทีเดียว ให้เนื้อเสียงสะอาดแจกแจงรายละเอียดได้ดี และให้เสียงแยกมิติได้กว้าง อย่างในเพลง ‘No Sanctuary Here’ จากอัลบั้ม Roadhouses & Automobiles ของศิลปิน Chris Jones (TIDAL, Lossless) ตลอด 3 นาที 46 วินาที สามารถใช้อธิบายคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นออกมาได้อย่างหมดจด
หรืออย่างในเพลง ‘Colour to the Moon’ จากอัลบั้มชื่อเดียวกันกับชื่อเพลง ของศิลปิน Allan Taylor (TIDAL, Lossless) เสียงเพอคัสชันโลหะต้นเพลงที่กังวานใส ตลอดจนเสียงกีตาร์และเสียงร้องที่อุดมสมบูรณ์ด้วยรายละเอียดและฮาร์มอนิกของเสียงที่ตลบอบอวลอยู่ตลอดทั้งเพลง สามารถใช้ยืนยันคุณสมบัติความเป็น ‘Hi-Res Wireless Audio’ ของหูฟังไร้สายรุ่นนี้ได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างอีก 2 เพลงให้ทำให้ผมประทับใจในความเป็น Hi-Res Wireless Audio ของ FreeBuds Pro 2 จนต้องหยิบยกมากล่าวถึงในที่นี้ได้แก่ เพลง ‘Moonlight Woods‘ จากอัลบั้มชื่อเดียวกันของศิลปิน Zhao Peng (TIDAL, Lossless) และเพลง ‘All Your Love (Turned to Passion)‘ จากอัลบั้ม Water Falls ของศิลปิน Sara K. (TIDAL, Lossless)
เมื่อเทียบคุณภาพเสียงกับหูฟังในคลาสใกล้เคียงกันชัดเจนว่า FreeBuds Pro 2 เหนือกว่า AirPods Pro แทบทุกด้าน หรือเมื่อเทียบ FreeBuds Pro 2 กับหูฟังที่ผมว่าเสียงดีอย่าง Sony WF-1000XM4 บอกได้เลยว่าเมื่อเชื่อมต่อในโหมด LDAC Codec ทั้งคู่ หูฟังทั้งสองรุ่นนี้ทำให้ผมประทับใจแบบรักพี่เสียดายน้อง
หากเป็นกรณีที่ฟังเพลง pop ใส ๆ จากเสียงร้องของนักร้องผู้หญิง เช่น เพลง ‘Fly Me to the Moon’ จากอัลบั้ม Best of Olivia โดยศิลปิน Olivia Ong ภาพรวมหูฟังของ Sony มีลักษณะเสียงที่กระชับ คมชัดและ bright กว่าเล็กน้อย ขณะที่ FreeBuds Pro 2 ซึ่งให้เสียงที่เปิดเผยเหมือนกันแต่ฟังสบายผ่อนคลายกว่า ให้สัมผัสที่นุ่มนวลละเมียดละไมกว่า อิมแพ็คของเสียงทุ้มต้น ๆ นั้นอาจยังไม่คมเข้มเท่าหูฟังของโซนี่ แต่ในย่านเสียงทุ้มนั้น FreeBuds Pro 2 ลงได้ลึกกว่า อิมแพ็คในย่านเสียงกลางและเสียงแหลมนั้นเด่นกว่าชัดเจน ในย่านเสียงแหลมก็ทะยานขึ้นไปได้สุดทางกว่า
ฟังเพลงเดียวกันก็ชัดเจนว่า FreeBuds Pro 2 ถ่ายทอดรายละเอียดในย่านความถี่ดังกล่าวออกมาได้กระจ่างชัดเจนมากกว่า ถ่ายทอดฮาร์มอนิกและบรรยากาศของเสียงออกมาได้ครบถ้วนกว่า แถมออกมาแบบสบาย ๆ ไม่บีบเค้นหรือเร่งเร้าออกมาจนเกินงาม โดยรวมแล้วผมชอบมากครับ โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าหัวเว่ยใช้เวลาสองปีที่ผ่านมาได้คุ้มค่ามาก !
ผมยังได้ทำ playlist เพลงที่ผมฟังในระหว่างการรีวิว HUAWEI FreeBuds Pro 2 เอาไว้ด้วยครับ สามารถเข้าไปฟังได้จากลิงก์นี้ https://tidal.com/playlist/24d4b85d-6da3-4b9b-9d3c-f02e31bd829f
สำหรับในส่วนของการใช้ไมโครโฟนในตัวหูฟังเพื่อโทรคุยสนทนา ด้วยความที่หัวเว่ยคุยว่าได้พัฒนาในจุดนี้มาเป็นพิเศษ ผมจึงได้ลองเทียบมันกับหูฟังในระดับใกล้เคียงกันที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีไมโครโฟนคุณภาพดี เช่น Apple AirPods Pro และ Sony WF-1000XM4 พบว่าหัวเว่ยไม่ได้กล้าวอ้างเกินเลยไปจากความจริงสักเท่าใดนัก ในส่วนนี้สามารถลองฟังได้จากในวิดีโอพรีวิวที่แนบอยู่ในบทความรีวิวนี้ หรือคลิกเข้าไปที่ลิงก์นี้ https://youtu.be/2zsx1_iTUYQ ครับ
HUAWEI FreeBuds Pro 2 เหมาะกับใคร ?
หากใครเคยดูที่ผมรีวิว FreeBuds Pro รุ่นแรกเอาไว้เมื่อสองปีก่อน คงพอมองออกว่าผมเองค่อนข้างประทับใจหูฟังรุ่นนี้มากขนาดแค่ไหน ขณะเดียวกันผมเองมักพูดเสมอว่าการพัฒนาของที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีกนั้นเป็นงานที่ยากเสมอ เพราะส่วนดีเดิม ๆ ก็ยังต้องคงเอาไว้ ขณะเดียวกันส่วนที่ยังไม่พอดีหรือยังดีไม่พอก็ต้องได้พัฒนาปรับปรุงตามกันไปด้วย
หลังจากที่ได้ลองเล่นลองฟัง HUAWEI FreeBuds Pro 2 แล้ว ผมว่าหูฟังรุ่นนี้มีพัฒนาการที่ดำเนินมาอย่างที่ควรจะเป็น ใครที่กำลังมองหาหูฟังไร้สาย true wireless ที่มีคุณสมบัติที่ครบเครื่องจนเข้าใกล้คำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’ หูฟังรุ่นนี้คือตัวเลือกลำดับที่หนึ่งในเวลานี้ครับ !
โดยเฉพาะใครที่เคยเป็นแฟน FreeBuds Pro หรือหูฟังไร้สายรุ่นอื่น ๆ ของหัวเว่ยอยู่แล้วผมเชื่อว่าจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน แน่นอนว่าผมเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นเช่นกันครับ
โปรโมชัน: เมื่อสั่งจอง HUAWEI FreeBuds Pro 2 ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 – 5 สิงหาคม 2565 รับฟรี HUAWEI Band 6 มูลค่า 1,899 บาท และ HUAWEI Music Premium ฟรี 3 เดือน มูลค่า 387 บาท โดยสามารถสั่งจองได้ที่หน้าร้าน HUAWEI Experience Store ที่ร่วมรายการ รวมถึงช่องทางออนไลน์ HUAWEI Store และร้านค้าอย่างเป็นทางการของหัวเว่ยบน Shopee, Lazada, JD Central และ Thisshop