รีวิว Furutech : NCF Clear Line “AC Power Supply Optimizer”
บ่ายวันหนึ่งผมได้รับผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่จาก Furutech ซึ่งทางบริษัท Clef Audio ตัวแทนจำหน่ายได้ส่งมาให้ลองใช้งานดู สินค้าตัวนี้มีชื่อว่า ‘NCF Clear Line’ มองผิวเผินทีแรกมันดูเหมือนหัวปลั๊กไฟเอซีเกรดดีที่คนเล่นเครื่องเสียงเราคุ้นเคยกัน ซึ่งของ Furutech เองเขาก็มีให้เลือกใช้อยู่หลายรุ่น แต่ความจริงแล้ว ‘NCF Clear Line’ ไม่ใช่ปลั๊กไฟครับ
มันไม่ได้มีหน้าที่นำพาและส่งผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในเครื่องเสียงหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ของเราโดยตรง ทางผู้ผลิตเขาบอกว่ามันแค่ไปขอเกาะอยู่ในระบบไฟฟ้าของเราเฉย ๆ แล้วสามารถทำให้เครื่องเสียงของเราเสียงดีขึ้น หรือถ้ามีระบบภาพใช้งานอยู่ด้วย มันก็จะมีคุณภาพดีขึ้นด้วยเช่นกัน !!
Nano Crystal² Formula (NCF)
Furutech ให้นิยาม ‘NCF Clear Line’ ว่าเป็น AC Power Supply Optimizer หรืออุปกรณ์ปรับปรุงกระแสไฟฟ้าของเราให้เหมาะสมกับการใช้งานมากยิ่งขึ้น
ที่น่าสนใจคือ คำว่า ‘เหมาะสม’ ในที่นี้มิได้เป็นผลลัพธ์มาจากวิธีการกรองกระแสไฟฟ้าหรือการใช้วงจร filter เหมือนเครื่องกรองไฟ (powerline conditioner) ทั่วไป หากแต่เป็นผลลัพธ์มาจากเทคนิคพิเศษของทาง Furutech ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่วัสดุสูตรพิเศษที่มีชื่อว่า ‘Nano Crystal² Formula’ หรือ ‘NCF’ ซึ่งเป็นเอกสิทธิของ Furutech โดยเฉพาะ
โดย NCF นั้นเป็นผลึกสารประกอบพิเศษที่มีคุณสมบัติสำคัญอยู่ 2 ประการ หนึ่งคือมันสามารถสร้างประจุไอออนลบที่สามารถสลายพลังงานไฟฟ้าสถิตได้ คุณสมบัติประการที่สองคือมันสามารถเปลี่ยนพลังงานความร้อนให้เป็นรังสีฟาร์อินฟราเรดได้
NCF ถูกนำไปใช้งานในผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ของ Furutech อยู่หลายรุ่น แม้แต่ตัวรองสายเคเบิ้ลตระกูล NCF Booster ที่ได้สร้างชื่อเอาไว้ก่อนหน้านี้ และผลิตภัณฑ์ล่าสุดก็คือ NCF Clear Line ที่ผมกำลังรีวิวอยู่นี้
ความซับซ้อนที่เรียบง่าย
หลังจากศึกษาการออกแบบและการทำงานของ NCF Clear Line ผมรู้สึกแปลกใจที่นอกจากเรื่อง NCF แล้ว มันดูเหมือนเป็นอุปกรณ์ที่เรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อแต่กลับแอบมีอะไรที่ซับซ้อนแอบซ่อนอยู่ภายใน
รูปทรงที่ดูเหมือนหัวปลั๊กไฟเอซีที่ยาวกว่าปกตินั้นมีเปลือกด้านนอกที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ขาปลั๊กไฟเคลือบผิวด้วยโรเดียม อีกทั้งยังได้รับการทรีตด้วยกระบวนการ Alpha Process ของ Furutech ซึ่งมีทั้งการไครโอเจนิก 2 ขั้นตอนและการสลายความเป็นแม่เหล็กด้วย Alpha Process ซึ่งเป็นเทคนิคที่ Furutech มักจะทำกับสินค้ารุ่นอื่น ๆ ด้วย
ชิ้นส่วนด้านในของ NCF Clear Line เป็นโครงสร้างแบบ multi-material hybrid ขึ้นรูปจาก NCF ผสมไนล่อนและไฟเบอร์กลาส ผสานด้วยอนุภาคเซรามิกระดับนาโนและผงคาร์บอนเพื่อให้มีคุณสมบัติเพิ่มเติมในด้านการต่อต้านแรงสั่นสะเทือนตามหลักการ “Piezo Effect”
จากภาพแสดงส่วนประกอบภายใน NCF Clear Line จะเห็นว่าตัวขาปลั๊กนั้นนอกจากมีขดลวด ‘α(Alpha)-OCC Air Coil’ ขนาดเล็กที่ต่อลอย ๆ อยู่ตรงขา L และ N แล้ว ก็ไม่มีวงจรหรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อะไรอีกเลย
ขดลวดที่ต่ออยู่นั้นก็เป็นเพียงการต่อไว้แบบลอย ๆ ไม่ได้มีการเชื่อมต่อระหว่างขาปลั๊กแต่ละขา ดังนั้นมันจึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นวงจร filter ใด ๆ ข้อมูลจาก Furutech บอกว่าขดลวดที่เป็นวงจรแบบพาสสีฟนี้มีส่วนช่วยเสริมการทำงานของ NCF ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กรอบของ NCF Clear Line ยึดไว้ด้วยสกรู T10 และแหวนรองที่ทำจากสเตนเลสสตีลอย่างแน่นหนา และถูกตรึงมาด้วยแรงขันบิดที่เหมาะสมมาแล้วโรงงาน ทำให้ห้องอากาศภายในถูกปิดผนึกด้วยแรงดันเพื่อให้เกิดคุณสมบัติในการแดมปิ้ง นั่นหมายความว่าผู้ใช้อย่างเราไม่ควรไปยุ่งหรือแตะต้องอะไรในส่วนนี้แล้ว
สำหรับฝาปิดท้ายนั้นขึ้นรูปจากไนล่อนทนความร้อนและวัสดุ NCF ของ Furutech ปั๊มขึ้นรูปเป็นร่องบากหลาย ๆ ร่องเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวอีก 76% เปิดโอกาสให้ NCF สามารถทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
NCF Clear Line มีขนาดประมาณ 88.4 x 39.5mm น้ำหนัก 69 กรัม ทางผู้ผลิตแนะนำให้รันอินก่อนเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ความแตกต่างที่สัมผัสรับรู้ได้
นอกจากรายละเอียดทางเทคนิคแล้ว ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งจากทางผู้ผลิตก็คงเป็นเรื่องของผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้งานอุปกรณ์ชิ้นนี้ ซึ่งก็อย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นว่ามันส่งผลกับทั้งระบบเสียงและระบบภาพ ซึ่งในรีวิวนี้ผมจะให้ความสำคัญกับเรื่องแรกก่อน ใครที่สนใจว่าผู้ผลิตเขาคุยอะไรไว้บ้างสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.furutech.com/2020/08/18/19957/
ส่วนตัวแล้วผมไม่มีข้อสงสัยในประสิทธิผลที่ได้จาก NCF ของ Furutech เพราะว่าเคยลองฟังตัวรองสายอย่าง NCF Booster มาแล้ว (https://youtu.be/7rZovg9yZ38) ทว่าการใช้งาน NCF Clear Line นั้นไม่เหมือนกัน มันไม่ต้องไปสัมผัสที่อุปกรณ์ใด ๆ ในชุดเครื่องเสียงเหมือนกับ NCF Booster วิธีใช้แค่เอาไปเสียบไว้ที่เต้ารับไฟเอซีที่ว่าง ๆ จะเป็นที่ผนัง ที่ตัวปลั๊กพ่วง หรือที่เครื่องกรองไฟก็ได้
ใช่แล้วครับ… เอาไปเสียบไว้เฉย ๆ เดี๋ยวมันทำหน้าที่ของมันเอง โดยจุดที่จะได้ผลชัดที่สุดทาง Furuetch เขาแนะนำว่าคือจุดที่ใกล้กับที่เราเสียบไฟให้เครื่องเสียงนั่นแหละครับ หรือถ้ามีเวลาว่างจะลองเสียบดูก็ได้ว่าเสียบตรงไหนให้ผลเป็นที่น่าพอใจมากที่สุด
เนื่องจากผู้ผลิตเขาแนะนำให้รันอินก่อนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และด้วยความอยากลองของ ช่วงแรกผมจึงลองเอา NCF Clear Line ไปเสียบใช้ที่โต๊ะทำงาน ซึ่งมีชุดฟังเพลงง่าย ๆ เป็นคอมพิวเตอร์ MacBook Pro M1 ที่เล่นเพลงจาก Roon แล้วต่อสัญญาณดิจิทัลออกไปที่ Khadas Tone2 Pro แล้วฟังเสียงจากหูฟังพลานาร์แมกเนติก HIFIMAN Deva ในแบบเสียบสาย
จุดต่อพ่วงระบบไฟของซิสเตมนี้ที่เสียบอยู่ในเต้ารับชุดเดียวกับ NCF Clear Line มีเพียงจุดเดียวคือ ตัวคอมพิวเตอร์ MacBook Pro M1 ที่เสียบไฟจากอะแดปเตอร์แปลงไฟ 61 วัตต์ที่มากับเครื่อง
การฟังเปรียบเทียบนั้นก็ง่ายมากครับ คือเสียบ NCF Clear Line แล้วลองฟัง จากนั้นดึง NCF Clear Line ออกแล้วลองฟัง ขั้นตอนก็เรียบง่ายแค่นี้เองครับ
มีทริคนิดหน่อยก็คือเวลาเสียบ NCF Clear Line เข้าไป ผมจะให้เวลามันประมาณ 10 วินาทีเพื่อให้มันมีโอกาสได้ทำงานสักพักแล้วจึงค่อยลองฟัง ส่วนเวลาที่ดึง NCF Clear Line ออก ผมจะเอามันไปวางไว้ห่างจากอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่ามันจะไม่ส่งผลอะไรต่อซิสเตมแล้ว
เพียง 2-3 รอบแรกที่ฟังเปรียบเทียบ ผมบอกตัวเองว่า “เฮ้ย มันแตกต่าง” ซึ่งทำให้ผมสงสัยมาก “ทำไมมันฟังออกง่ายอย่างนี้” “กับอุปกรณ์ที่แบบ… แบบว่าทำงานเหมือนวงจรแบบพาสสีฟอย่างนี้เนี่ยนะ”
เพื่อให้มั่นใจว่ามันแตกต่างชัดเจน ผมลองทำ blind test เล็ก ๆ โดยการให้สมาชิกในบ้าน ซึ่งไม่ใช่คนเล่นเครื่องเสียงและไม่ทราบว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ได้ลองฟังเปรียบเทียบบ้าง ผลคือทุกคนบอกว่าได้ยิน “ความแตกต่าง” แต่ส่วนใหญ่อธิบายได้ไม่ชัดเจนว่าแบบไหนดี-ด้อยกว่ากันอย่างไร เพราะว่ามันฟังดีทั้งคู่
ซึ่งนั่นก็ตรงกับสิ่งที่ผมรู้สึกในเบื้องต้น ผมรู้สึกว่า NCF Clear Line ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้เสียงที่แย่ฟังดีขึ้น แบบพลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือ หรือพลิกจากสีดำเป็นสีขาว แต่มันมีหน้าที่เสริมหรือสนับสนุนให้เสียงที่ฟังดีอยู่แล้วดียิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งความแตกต่างตรงนี้แม้ว่าจะได้ยินชัดเจนแต่ก็อาจทำให้คนที่ไม่ได้คลุกคลีหรือมีประสบการณ์กับเครื่องเสียงไฮไฟดี ๆ มามากพอเกิดความลังเลในการตีความได้
แต่สำหรับผมสิ่งที่ได้ยินเมื่อใช้ NCF Clear Line โดยเฉพาะในเพลงร้องกับเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้นในอัลบั้ม Soulful ของ Dionne Warwick หรือ Famous Blue Raincoat ของ Jennifer Warnes นั่นคือ ภาพรวมของเสียงที่มีความสงัดมากขึ้น บางรายละเอียดของเสียงรับรู้ได้ว่ามันฟังดูเข้าที่เข้าทางมากขึ้น
ทำให้ภาพรวมของเสียงที่มีความอิ่มเข้ม ชัดเจนและฟังดูมีทรวดทรงเป็น 3 มิติมากขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งมิติเสียงตรงกลางเวทีเสียงนั้นมีความนิ่งและมั่นคงมากขึ้น
ที่น่าสนใจคือ NCF Clear Line ไม่ได้ไปเปลี่ยนแนวเสียงหรือโทนเสียงของซิสเตมเลย ขนาดสายไฟหรือหัวปลั๊กไฟหลายยี่ห้อยังทำให้โทนเสียงหรือแม้แต่สมดุลเสียงเปลี่ยนไป แต่อุปกรณ์เสริมตัวนี้มันยังคงแนวเสียงเดิมเอาไว้แต่ช่วยให้ฟังไพเราะมากขึ้น
อุปกรณ์เสริมที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของซิสเตม
ผมได้ลองใช้งาน NCF Clear Line ในชุดเครื่องเสียงสเตริโอชุดเล็ก ๆ ของผมด้วย เนื่องจากมันให้เวทีเสียงและมิติเสียงสมจริงกว่าการฟังจากหูฟัง ผมพบว่ามันให้ผลลัพธ์ในทำนองเดียวกับที่ผมได้ยินจากชุดหูฟัง แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่า และเหมือนเช่นเคยมัน (หมายถึง NCF Clear Line) ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนบุคลิกเสียงในภาพรวมเดิม ๆ ของซิสเตมเลย
เช่นในเพลง ‘Brazillian Sleigh Bells’ จากอัลบั้ม Frederick Fennell Hi-Fi la Espanola (TIDAL lossless streaming) สิ่งที่ผมได้ยินหลังจากนำ NCF Clear Line เสียบข้างเต้ารับที่เสียบสายไฟของอินทิเกรตแอมป์ NAD D 3045 ผมได้ยินภาพรวมของเสียงที่สงัดขึ้น เวทีเสียงมีความลึกมากขึ้น เป็นลักษณะความลึกที่ขยายออก หมายถึงด้านหน้าและด้านหลังมันมีพื้นที่มากขึ้น ไม่ใช่การถอยร่นเข้าไปทั้งเวที
เสียงเขย่ากระพรวนบริเวณด้านซ้ายที่หลุดลอยออกจากลำโพง เยื้องไปทางด้านหลังลำโพงข้างซ้าย เหมือนจะเบาลงเล็กน้อยแต่กลับมีความชัดเจนมากขึ้น เสียงที่เหมือนจะเบาลงไม่ใช่ลักษณะของเสียงที่อั้นหรือตื้อ แต่เหมือนมันคมเข้มขึ้น มีทรวดทรงมากขึ้น ยืนยันชัดเจนกับเสียงกลองทิมปานี เครื่องเป่าที่ยังคงฟังดูหนักแน่นมีพลังไม่แตกต่างจากตอนที่ยังไม่ได้ใช้ NCF Clear Line
ที่ทำให้ผมประทับใจมากก็คือ NCF Clear Line มีผลทำให้เสียงเปียโนในช่วงกลางเพลงมีหัวเสียงที่คมมากขึ้น เนื้อเสียงเข้มข้นมากขึ้น มีความหวานสดใสมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ใช่ปริมาณที่มากมายแต่มันทำให้เสียงชัดและสมจริงมากขึ้นจนน่าขนลุกครับ เพราะมันไม่ต้องแลกกับการที่ต้องสูญเสียอะไรไปเลย
ในเพลงร้องอย่าง ‘Spanish Harlem’ จากอัลบั้ม The Raven ของ Rebecca Pidgeon (ไฟล์ WAV 24bit/176.4kHz) สิ่งที่ผมรับรู้ได้คือทุกเสียงนั้นมีความละเมียดละไมมากขึ้นเมื่อใช้ NCF Clear Line การเน้นย้ำน้ำหนักในแต่ละเสียงฟังแยกแยะได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการแยกระนาบชั้นของแต่ละเสียงก็ดูเป็นอิสระจากกันมากขึ้น
มิติเสียงตรงกลางที่เกิดจากการรวมกันของเสียงจากลำโพงซ้ายและขวา โดยเฉพาะเสียงร้องของ Rebecca Pidgeon นั้นชัดเจน คมเข้ม โทนเสียงโดยรวมมีความละเมียดละไมและหวานสดใสมากขึ้น และฟังง่ายขึ้น ลักษณะคล้ายกับเวลาที่เราขยับระยะลำโพงซ้าย/ขวาเข้าหากันทีละนิด เนื้อเสียงจะเข้มขึ้น มิติตรงกลางจะชัดเจนขึ้น
แต่โดยปกติแล้วการขยับลำโพงเข้าหากันก็ต้อง trade off หรือแลกมาด้วยเวทีเสียงที่หุบแคบลง มากหรือน้อยก็ตามระยะที่ขยับ แต่ผลที่เกิดจากการใช้ NCF Clear Line นั้นผมรู้สึกว่ามันแทบไม่ต้องเอาอะไรไปแลกเลย เวทีเสียงยังคงเปิดกว้าง โออ่า เหมือนเดิม เผลอ ๆ จะมากกว่าเดิมอีกนิดหน่อยด้วยซ้ำ
และสิ่งที่ชัดเจนมากขึ้นคือแต่ละองค์ประกอบที่อยู่ภายในเวทีเสียง มันชัดขึ้นแบบมีทรวดทรงเป็น 3 มิติมากขึ้น ไม่ใช่ความชัดแบบพุ่งหรือเจิดจ้าโพล่งขึ้นมา ในขณะการฟังเปรียบเทียบระหว่างการใช้และไม่ใช่ NCF Clear Line บางครั้งผมมีความรู้สึกว่าตอนที่ใช้ NCF Clear Line ทำไมเพลงมันจบเร็วจัง ทั้งที่เพลงมันก็ไม่ได้เร่งสปีดให้เล่นเร็วขึ้น
เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของโสตประสาทนั่นเองที่มักรู้สึกเสียดายสิ่งที่ตีความว่าน่าชื่นชม ทำให้เวลาเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ความจริงแล้วเวลามันก็เดินไปตามจังหวะปกติของมันนั่นแหละครับ
มีอยู่ช่วงหนึ่งผมลองฟังเพลงทั่วไปโดยเป็นเพลงป็อปในช่วงปลายยุค 80 อย่างเพลง ‘Foolish Beat’ ของ Debbie Gibson ซึ่งล่าสุดสามารถสตรีมในเวอร์ชัน TIDAL Master ได้แล้ว เพลงนี้แม้จะเป็นเพลงที่ไม่ได้เน้นการบันทึกเสียงอะไรมากมาย คือบันทึกได้ดีตามมาตรฐานเพลงสากลทั่วไปแต่ไม่ถึงขั้นตั้งใจให้ดีเป็นพิเศษแบบค่ายเพลงออดิโอไฟล์ แต่ NCF Clear Line ก็ยังทำให้ผมรู้สึกว่าผมควรได้ยินอะไรจากเพลงนี้บ้าง
นอกจากเสียงร้องแล้ว เสียงเครื่องดนตรีที่เด่น ๆ ในเพลงนี้ ไมว่าจะเป็นกลอง, กีต้าร์ไฟฟ้า, แซ็กโซโฟน หรือเพอคัสชัน มันฟังชัดเจนมากขึ้น มีทรวดทรงเป็น 3 มิติมากขึ้นโดยเฉพาะเสียงร้องและเสียงกีตาร์ เสียงกลองและแซ็กโซโฟนฟังดูอิ่มแน่นมากขึ้น ฟังแล้วรู้สึกเหมือนว่ากำลังหลับตาตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิ ทั้งที่ผมไม่ได้หลับตาเลยและไม่ต้องตั้งใจฟังเป็นพิเศษแต่อย่างใด แน่นอนว่าความขาด ๆ เกิน ๆ ที่เกิดจากการบันทึกเสียงตามประสาเพลงตลาดทั่วไปก็ยังคงรับรู้ได้อยู่เช่นกันครับ
ข้อมูลจาก Furutech และรีวิวของต่างประเทศบางรีวิวแจ้งว่าผู้ใช้สามารถเสียบใช้งาน NCF Clear Line ในระบบได้มากกว่า 1 ตัว และสามารถลองผิดลองถูกในเรื่องของตำแหน่งปลั๊กที่จะเสียบใช้งานได้โดยไม่มีอันตรายใด ๆ
แต่ในรีวิวนี้ผมยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะได้รับมาลองแค่ 1 ตัวเท่านั้น และสิ่งที่จะได้จาก NCF Clear Line ตัวที่ 2, 3, 4, … คงเป็นอะไรที่ผมประเมินได้ว่าน่าจะมีแต่ผลลัพธ์ในทางบวกมากกว่าทางลบ ส่วนจุดคุ้มค่าจะอยู่ตรงไหนนั้นคงต้องปล่อยให้เป็นประสบการณ์ของผู้ใช้แต่ละท่านแล้วล่ะครับ
NCF Clear Line เหมาะกับใคร ?
หลังจากที่ได้ลองใช้งาน NCF Clear Line ผมรู้สึกดีกับอุปกรณ์เสริมตัวนี้ครับ ไม่ใช่แค่รู้สึกดีเพราะว่ามันทำให้ผมฟังเพลงเพราะขึ้นเท่านั้นนะครับ แต่ผมยังชอบที่มันไม่ไปยุ่มย่ามกับบุคลิกเสียงหรือโทนเสียงเดิม ๆ ของซิสเตมเลย
ขนาดสายไฟหรือหัวปลั๊กไฟหลายยี่ห้อยังทำให้โทนเสียงหรือแม้แต่สมดุลเสียงเปลี่ยนไป แต่อุปกรณ์เสริมตัวนี้มันยังคงแนวเสียงเดิมเอาไว้แต่ช่วยให้ฟังไพเราะมากขึ้น มากขึ้นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในซิสเตม ผมจึงมองว่าซิสเตมขนาดใหญ่จะยิ่งคุ้มค่าหากว่ามันยังคงให้ผลในทำนองเดียวกับเวลาใช้งานในซิสเตมขนาดเล็กอย่างนี้
สำหรับซิสเตมไหนที่เสียงยังขาด ๆ เกิน ๆ ไม่ลงตัว แอมป์ยังไม่แมตช์กับลำโพง ลำโพงยังไม่ได้เซ็ตให้เข้าที่เข้าทาง แล้วคิดว่า NCF Clear Line จะช่วยได้ ผมคิดว่าคงมาผิดทางครับ เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่ของอุปกรณ์เสริมตัวนี้เลย
สำหรับราคา 13,600 บาทของ NCF Clear Line หากใครสักคนที่ยังไม่เคยได้ลองใช้จะมองว่าราคาสูงหรือแพงไปหน่อย ผมก็เข้าใจได้นะครับ เพราะลำพังตัวมันเองนั้นหากหยิบมาวางตั้งเอาไว้ก็คงไม่สามารถแสดงศักยภาพอะไรออกมาได้ หากว่าไม่ได้ใช้งานร่วมกับชุดเครื่องเสียงที่มีคุณภาพดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
แต่หลังจากที่ได้ลองแล้วผมเชื่อว่าผู้ที่ได้ลองจะตอบตัวเองได้แน่นอนครับ ว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปในชุดเครื่องเสียงของคุณมันคุ้มค่าหรือเปล่า สำหรับผมเองแล้วจากที่เคยสงสัยและตั้งคำถามกับอุปกรณ์เสริมตัวนี้มาก่อน ตอนนี้ผมหายคาใจแล้วครับ และบอกได้เลยว่า “มันคุ้มมากครับ” ตราบใดที่เครื่องเสียงของผมยังต้องเสียบใช้ไฟบ้านอยู่ NCF Clear Line จะเป็นส่วนหนึ่งในซิสเตมของผมแน่นอน !
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย:
Clef Audio
โทร. 0-2932-5981
ราคา 13,600 บาท