[Classic Review] DeVORE FIDELITY GIBBON 3XL
ที่ผ่านมาผมเคยรีวิวลำโพง KEF : Reference 201/2 ไปแล้ว ผมไม่แปลกใจเลยที่ได้ทราบภายหลังว่าลำโพงขนาดย่อมราคา $6,000 คู่นี้มีรายชื่อติดอยู่ในกลุ่มลำโพงระดับ Class A (Restricted Extreme LF) หรือระดับสูงสุดที่จำกัดความถี่ต่ำลึก ที่แนะนำโดยสเตริโอไฟล์แมกกาซีน “Stereophile Recommended Components 2012”
แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือในกลุ่มลำโพงระดับ Class A (Restricted Extreme LF) ดังกล่าวนั้น ยังมีลำโพงอีกรุ่นหนึ่งที่มีรายชื่ออยู่ด้วยแต่มันมีราคาเพียงคู่ละ $3,700 ลำโพงที่ว่านี้คือลำโพงยี่ห้อ DeVore Fidelity รุ่น Gibbon 3XL จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ใครที่ติดตามและเข้าใจการจัดแบ่งคลาสของนิตยสารสเตริโอไฟล์มานานคงเข้าใจตรงกันว่าในกรณีนี้มิได้หมายความว่าลำโพงอย่าง KEF : Reference 201/2 และ DeVore Fidelity : Gibbon 3XL นั้นจะให้เสียงเหมือนกัน หากแต่หมายความว่าลำโพงทั้งคู่มีคุณสมบัติบางอย่างที่สมควรได้รับการยกย่องให้อยู่ในระดับนี้ ว่าแต่คุณสมบัติที่ว่านั้นคืออะไร?
Gibbon on the Bamboo
ผมได้เห็น DeVore Fidelity : Gibbon 3XL ครั้งแรกที่โชว์รูมของบริษัท Komfort Sound ยอมรับว่าค่อนข้างประหลาดใจและอดนึกปรามาสในใจไม่ได้ว่าลำโพงตัวแค่นี้จะมีดีอะไรแค่ไหนเชียว ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ามันมีอะไรน่าสนใจอยู่เหมือนกันโดยเฉพาะตัวตู้และขาตั้งดีไซน์แปลกตาที่ทำจากไม้ไผ่ (bamboo)
ครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้ฟังเสียงของลำโพงรุ่นนี้เป็นช่วงเวลาหลังจากนั้นคือในงานโชว์เครื่องเสียงแห่งหนึ่งที่ลำโพง DeVore Fidelity : Gibbon 3XL ถูกนำไปจัดโชว์ในห้องสาธิตระบบเสียงขับด้วยอินทิเกรตแอมป์ของยี่ห้อ Leben สุ้มเสียงมีแววน่าฟังดีนะครับแต่ก็ยังไม่สามารถพิจารณาอะไรได้มาก เนื่องจากความไม่คุ้นเคยกับซิสเตม ห้อง และสภาพแวดล้อมของงานโชว์ หลังงานผมจึงติดต่อขอยืมทางตัวแทนจำหน่ายมารีวิวเพื่อจะได้ฟังอย่างเป็นเรื่องเป็นราวจะได้หายสงสัยสักทีว่าลำโพงคู่นี้มีดีอะไร
DeVore Fidelity เป็นบริษัทผู้ผลิตลำโพงขนาดย่อมที่เพิ่งก่อตั้งมาเมื่อปีค.ศ.2000 โดยชายหนุ่มอายุอานามยังไม่มากชื่อนายจอห์น เดวอร์ (John DeVore) ผู้ซึ่งอาศัยประสบการณ์ 30 ปีในการเป็นนักดนตรี 20 ปีในการออกแบบลำโพงและ 18 ปีในแวดวงอุตสาหกรรมเครื่องเสียงไฮไฟมาใช้เป็นองค์ความรู้และแรงผลักดันในการออกแบบลำโพงของเขา
จอห์น เดวอร์ เป็นนักออกแบบลำโพงที่เคยเป็นทั้งนักดนตรีและทำอาชีพค้าขายเครื่องเสียงไฮไฟมาก่อน ทำให้เขามีโอกาสได้ทำความรู้จักเครื่องเสียงไฮไฟมากหน้าหลายตาและต้องพบกับความจริงประการหนึ่งว่ามีเครื่องเสียงจำนวนไม่น้อยที่มีผลการวัดค่าต่าง ๆ ทางไฟฟ้า สวยหรู แต่สุ้มเสียงกลับเป็นตรงกันข้าม
บ้างก็ให้เสียงที่ฟังสะดุหูเพียงช่วงแรกของการฟังแต่หลังจากฟังอย่างต่อเนื่องก็พบว่าความเป็นดนตรีนั้นไม่ทราบว่าตกหล่นหายไปไหนหมด ดังนั้นการออกแบบลำโพงของเขาจึงเป็นการใช้ศาสตร์แบบผสมผสาน และเข้าใจว่าเขาพยายามอ้างอิงกับอะไรที่เป็นธรรมชาติอยู่พอสมควรดังจะสังเกตได้จากชื่อรุ่นของลำโพงแต่ละรุ่นเช่น Gibbon, Orangutan หรือ Silverback ซึ่งเป็นชื่อของสายพันธุ์ลิงที่มีขนาดและบุคลิกแตกต่างกัน
ความเป็นธรรมชาติที่ว่านั้นสืบทอดมาถึงวัสดุในการออกแบบลำโพงด้วย อย่างเช่นในรุ่น Gibbon 3XL นี้ ตัวตู้ลำโพงที่มีลายไม้สวยงามสะดุดตาผลิตจากเนื้อไม้ประเภทไผ่ (solid bamboo) แท้ ๆ มิใช่การใช้วัสดุ MDF ปิดผิวลายไม้เหมือนลำโพงทั่วไป
งานผลิตลำโพงยี่ห้อนี้ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ดังนั้นลำโพงทุกคู่จึงผลิตขึ้นที่โรงงานของ DeVore เองในย่านบรูคลิน นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้ช่างฝีมือผู้ชำนาญการผลิตงานแบบทำมือ (hand-built) โดยอาศัยเครื่องจักรกลเท่าที่จำเป็นเพื่อความแม่นยำและมาตรฐานการผลิต
First Impression
DeVore Fidelity : Gibbon 3XL เป็นลำโพงตู้เปิด 2 ทาง 2 ไดรเวอร์ การออกแบบดูผิวเผินแล้วแทบไม่มีตรงไหนที่ดูวิจิตรพิสดารอะไรเลยแต่เนื้องานประณีตเรียบร้อยมาก ๆ ลายไม้บนตัวตู้เป็นลายของเนื้อไม้ไผ่ที่ใช้ทำตู้โดยไม่ต้องมีวัสดุปิดผิว อาศัยเพียงแค่ขัดเรียบและลงแล็คเกอร์ด้านเคลือบรักษาเนื้อไม้เท่านั้นเอง
จอห์น เดวอร์ บอกว่าเขาตัดสินใจเลือกใช้ solid bamboo มาทำลำโพงรุ่นนี้เพราะได้ลองฟังเสียงลำโพงตัวต้นแบบเทียบกับตู้ลำโพงที่ทำจากไม้อื่น ๆ แล้ว เขาชอบใจเสียงของ solid bamboo มากที่สุดแม้ว่ามันจะเป็นวัสดุที่ราคาแพงกว่า MDF ในตู้ลำโพงทั่วไปถึง 10 เท่าก็ตาม
ไดรเวอร์ทั้ง 2 ตัวในลำโพงรุ่นนี้ผลิตโดย Seas ตามข้อกำหนดของ DeVore (custom-designed for DeVore by Seas) ประกอบไปด้วยทวีตเตอร์โดมผ้าขนาด 0.75 มิลลิเมตร และเบส/มิดเรนจ์กรวยกระดาษเคลือบน้ำยาขนาด 5 นิ้ว ลำโพงทั้งระบบมีความไว 90dB/W/M อิมพิแดนซ์เฉลี่ย 8 โอห์ม ต่ำสุดไม่เกิน 7.4 โอห์ม ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 45Hz-40kHz
ด้านหลังตู้ลำโพงมีพอร์ตเบสรีเฟลกซ์และขั้วต่อสายลำโพงทองแดงขนาดใหญ่ 1 คู่ต่อใช้งานแบบซิงเกิลไวร์ ขั้วต่อสายลำโพงนี้เชื่อมต่อโดยตรงอยู่กับวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คที่เดินสายภายในแบบฮาร์ดไวร์ด้วยสายไฟที่ใช้ตัวนำทองแดงแกนเดี่ยวเคลือบเงิน
เท่าที่ยกดูผมว่าลำโพงคู่นี้น้ำหนักกำลังดีคือรู้สึกว่ามีน้ำหนักแต่ไม่มากจนเหมือนถ่วงไว้ด้วยอะไร ลองเคาะผนังตู้ก็ไม่มีเสียงแบบทึบ ๆ ตัน ๆ หรือดังก้องจนผิดปกติ ตัวตู้มีสัดส่วนหน้าตู้ออกไปทางแคบ และมีความสูงและความลึกของตู้มากกว่าลำโพง 2 ทางที่ใช้ไดรเวอร์ขนาด 5 นิ้วทั่วไป
DeVore Fidelity : Gibbon 3XL มีออพชันเป็นขาตั้งลำโพงที่ทำจาก solid bamboo เหมือนกัน ขาตั้งตัวนี้ผมว่าน่าสนใจ เพราะนอกจากมันจะมีหน้าตาเข้ากันกับลำโพงเพราะตั้งใจออกแบบมาให้ใช้ด้วยกันอยู่แล้วยังมีระดับความสูงที่เหมาะสมกับลำโพง ที่สำคัญมันช่วยสนับสนุนให้ลำโพงคู่นี้เสียงดีที่สุดอย่างที่ควรจะเป็นโดยไม่ต้องไปหลงทางเสียเวลากับขาตั้งตัวอื่นโดยไม่จำเป็น
ในการใช้งานขาตั้งตัวนี้อย่าลืมว่าต้องหันด้านที่เป็นแผ่นเรียบของหน้าไม้ไว้ในทิศทางเดียวกับหน้าตู้ลำโพง ถ้าหันผิดทางความอิ่มของมวลเสียงจะดรอปไปพอสมควรโดยเฉพาะย่านกลางต่ำลงไป
เสียงแรกของ 3XL ที่ผมได้รับรู้ในวาระที่ลำโพงถูกส่งมารีวิวครั้งนี้มีลักษณะที่ฟังค่อนข้างนุ่มนวลสุภาพ เสียงจากไดรเวอร์ทั้ง 2 ตัวกลมกลืนจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน มันทำให้ผมรู้สึกว่าลำโพงเล็กหลายคู่ให้เสียงเฟี้ยวฟ้าวระคายหูได้อย่างน่าประหลาด ที่น่าสนใจกว่านั้นคือมันเป็นลำโพงเล็กที่มีน้ำเสียงเปิดกระจ่าง โปร่งโล่ง ไม่อุดอู้อึดอัด
ในขณะเดียวกันยังมีความหวานเนียนน่าฟัง ฟังแล้วสบายหู ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากมาก ๆ ในลำโพงเล็กทั่วไป ที่มักจะต้องแลกระหว่างความนวลเนียนและความใสกระจ่าง
เสียงที่สุกสกาวน่าฟังของลำโพงคู่นี้บางครั้งอาจจะทำให้รู้สึกได้บ้างว่ามันมีคัลเลอร์ แต่มันก็เป็นคัลเลอร์ที่ผมตอบได้ทันทีว่าไม่ได้รู้สึกรังเกียจอะไรเลย ตรงกันข้ามกลับชอบพอและหลงรักคัลเลอร์ของมันอย่างไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล การเซ็ตอัปลำโพงคู่นี้ในห้องฟังแนะนำให้คุณจับสังเกตความเป็นอิสระของเสียงที่หลุดตู้
ในขณะเดียวกันตัวเสียงควรจะยังคงความคมเข้ม มีมวลเนื้ออิ่มแน่น ซึ่งสามารถโทอินลำโพงช่วยได้เล็กน้อย ตำแหน่งลำโพงที่ผมพอใจในห้องฟังของเราระยะห่างของลำโพงซ้ายและขวาอยู่ที่ 1.80 เมตร และห่างจากผนังหลังลำโพง 1.51 เมตร โทอินลำโพงประมาณ 10-15 องศา
ความไวระดับ 90dB ของ 3XL เปิดโอกาสให้คุณสามารถใช้แอมป์คุณภาพดีที่ไม่จำเป็นต้องมีกำลังขับมากมาย ความพิถีพิถันเรื่องการปรับจูนในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและคุ้มค่าเสมอสำหรับลำโพงรายละเอียดดีมากคู่นี้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเซ็ตตำแหน่งลำโพง การเลือกใช้งานสายไฟ สายสัญญาณ สายไฟเอซี ตลอดจนอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ
ผมคิดว่า DeVore Fidelity : Gibbon 3XL เป็นลำโพงที่เสียงหลุดตู้ง่ายมาก ๆ ขึ้นอยู่กับว่าหลุดตู้แล้วจะเป็นอย่างไร และให้ความคมชัดของเสียง ให้โทนัลบาลานซ์ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดที่เหลือขึ้นอยู่กับการเซ็ตอัปเป็นสำคัญ
กับแทรค ‘Wind Blowing Gently’ จากแผ่นซีดี Usher Audio – Be There Vol.3 เพลงนี้ทำให้ลำโพงหลายตัวตกม้าตายตั้งแต่เสียงเชลโล่ต้นเพลง กลับทำอะไรลำโพง 3XL ไม่ได้เลย แม้ 3XL จะพาตัวโน้ตเชลโล่ลงต่ำไม่ได้อย่างที่ลำโพงใหญ่กว่าทำได้ แต่ในแง่ของรายละเอียดหรือ definition ของเสียงที่เกิดจากการสั่นและการกำทอนของคลื่นเสียงในตัวบอดี้ของเชลโล่ถูกลำโพงคู่นี้แจกแจงออกมาจนทำให้ผมอดนึกไม่ได้ว่ารายละเอียดเหล่านี้หายไปไหนในลำโพงบางคู่
ตัวลำโพง 3XL คงไม่ได้สร้างรายละเอียดเหล่านี้ขึ้นมาเองเป็นแน่มันเพียงแต่เปิดเผยรายละเอียดเหล่านี้ออกมา ในขณะที่ลำโพงอื่นไม่มีความสามารถมากพอ รายละเอียดเหล่านี้จึงถูกแอบซ่อน บดบังเอาไว้ น่าคิดว่ามันเป็นไปได้ถึงเพียงนั้นเชียวหรือ ?
ในเพลงเดียวกันนี้ลำโพง 3XL ยังคงความเนียนละเอียดน่าฟังโดยปราศจากความหยาบกร้านระคายหู แม้แต่เสียงลมลอดไรฟันหรือ sibilance จากเสียงร้องในเพลงนี้ก็ยังออกมาน่าฟัง ในขณะที่ลำโพงหลายคู่ ถ้าไม่รีบอุดหูก็ต้องหรี่วอลุ่มให้เบาลงเลยทีเดียว
เสียงที่เป็น ‘ธรรมชาติ’ และเสียงที่ ‘ชวนฟัง’
ในห้องฟังที่มีระดับสัญญาณรบกวนต่ำ ๆ มีความเงียบสงัดมากพอรายละเอียดและความน่าฟังที่สัมผัสได้ตั้งแต่ระดับเสียงเบา ๆ คือคุณสมบัติที่เด่นมากของลำโพงคู่นี้ ทำให้เพลงร้องและดนตรีที่เน้นฮาร์มอนิกเสียง มีเมโลดี้เพราะ ๆ เป็นอะไรที่ใช่และเข้ากันดีมาก
ไฟล์ Hi-Res หลายชุดที่ผมมีอยู่ถูกฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับไม่เคยเปิดฟังมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นชุด What’s New [Elektra, 24/192] ของ Linda Ronstadt, Ella Fitzgerald Sings The Rodgers And Hart Songbook [The Verve Music Group, 24/192] ของ Ella Fitzgerald โดยเฉพาะชุดหลังนี่ฟังดีมาก ๆ ขนาดบางครั้งที่ผมไม่ได้อยู่ในห้องฟัง แต่ได้ยินเสียงจากอีกห้องยังรับรู้ได้ถึงความไพเราะน่าฟังของเสียง
ไฟล์งานเพลงแบบ Hi-Res อีกชุดที่เป็นงานคอมเมอร์เชียลแต่ฟังดีกับลำโพงคู่นี้คือชุด Rumours [Rhino, 24/96] ของ Fleetwood Mac ด้วยความที่ดนตรีค่อนข้างเข้มข้น ประกอบกับการบันทึกเสียงที่เน้นความชัดเจนและแน่นของงานเพลงชุดนี้ทำให้มักจะปรากฎอาการขาด ๆ เกิน ๆ เวลาฟังกับลำโพงหลายคู่ที่ให้เสียงไม่นิ่งพอหรือโทนัลบาลานซ์เด่นไปทางเสียงแหลม
แต่กับลำโพง 3XL ลักษณะที่ออกมาแสดงออกว่าลำโพงสามารถรับมือกับรายละเอียดชัด ๆ ในอัลบั้มชุดนี้ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เสียงที่ได้ยินได้ฟังเต็มไปด้วยรายละเอียดพร่างพราว ชัดเจนและเข้มข้น ฟังสนุกไม่น่าเบื่อเลย
เป็นปกติที่เรามักจะแอบคาดหวังอยู่ลึก ๆ กับเสียงทุ้มจากลำโพงเล็กโดยเฉพาะลำโพงเล็กที่มีราคาพอสมควรอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่าไม่ควรคาดหวังมากก็ตาม ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ลำโพงคู่นี้ทำให้ผมต้องทึ่งกับเสียงทุ้มที่สะดุดหูกับการกระหน่ำกลองจีนในเพลง ‘Soul of the Great (Drum Music)’ จากแผ่นซีดี Usher Audio – Be There Vol.3
ไม่น่าเชื่อว่าไดรเวอร์ตัวแค่นี้ กับตู้ที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก จะสามารถจำลองน้ำหนักและการกระเพื่อมของคลื่นเสียงจากเสียงกลองใบใหญ่ออกมาได้เร้าใจถึงเพียงนี้ นี่เป็นจุดเริ่มที่ทำให้ผมย่ามใจที่จะลองหันมาสนใจเสียงทุ้มของลำโพงเล็กคู่นี้มากขึ้น มันเกินตัว มันทำให้ผมอึ้งและทึ่งครับ
ไม่ว่าจะเป็นหลาย ๆ เพลงที่อ้างถึงในการทดสอบคราวนี้ หรือเพลงสนุก ๆ กับเสียงกลองหลากหลายขนาดในแผ่น Rhythm Basket ของ Brent Lewis แต่สุดท้ายแล้วไดรเวอร์ขนาดเล็กกว่าฝ่ามือผมตัวนี้ก็มิอาจฝืนธรรมชาติไปได้เมื่อผมพบข้อจำกัดในระดับความดังที่สามารถเปิดฟังได้โดยที่ลำโพงไม่ออกอาการตุปัดตุเป๋ไปเสียก่อน
ในเพลงที่มีเสียงทุ้มค่อนข้างโหดอย่าง Sister Drum ของ Dadawa หรือ Jazz Variant ในแผ่น Manger Test CD หรือเสียงทุ้มจากแทรค 3 ในแผ่น Opportunity ของไช่ฉิน ก็ต้องระมัดระวังระดับความดังเช่นกัน
3XL เป็นลำโพงเล็กเสียงดีที่ทำให้คนที่แพ้ทางเสียงร้องหวาน ๆ ต้องยอมสยบ และเมื่อใดที่ซิสเตมแวดล้อมสามารถถ่ายทอดรายละเอียด ความเป็นดนตรี ความไพเราะน่าฟังส่งต่อมาได้เป็นทอด ๆ แล้วเช่นช่วงหนึ่งของการทดสอบที่ผมได้ใช้ชุดปรี-เพาเวอร์ไฮเอนด์เสียงดีมาก ๆ
อย่างปรีแอมป์หลอดที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่รุ่น LS-1 ของยี่ห้อ Veloce จับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ Symphonic Line : RG7 Mk4 ลำโพงคู่นี้ก็พร้อมจะสื่อสารกับคุณด้วยน้ำเสียงไพเราะเสนาะโสต ฟังแล้วแทบจะละลายอยู่บนเก้าอี้เลยทีเดียว
ผมหยิบยกส่วนนี้มาพูดถึงก็เพราะโดนเข้าเองกับตัว ผมไม่คิดมาก่อนเลยว่าอัลบั้มที่ผมฟังมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้วอย่าง The Raven ของนักร้องสาวตาคมหน้าหวาน Rebecca Pidgeon ยังสามารถทำให้ผมคลั่งไคล้เสียงของเธอได้อีกถึงขนาดนี้
โอเคว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากที่ผมฟังอัลบั้มนี้ในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัลไฮเรสโซลูชันรายละเอียดสูงระดับ 24/176.4 ซึ่งเสียงดีกว่าแผ่นซีดีทุกเวอร์ชันที่เคยทำออกมามากมาย หรืออาจจะดีกว่าแผ่น SACD ของอัลบั้มเสียด้วยซ้ำ แต่คุณงามความดีอีกส่วนหนึ่งก็ต้องยกให้ลำโพง 3XL ซึ่งทำให้ความเป็นดนตรีของงานชุดนี้ถูกคลี่ขยายเปิดเผยออกมามากกว่าที่ผมได้เคยรับรู้
ผมสังเกตว่าเสียงจากลำโพง 3XL ทำให้ผมมีความสุขกับการได้นั่งฟังเพลงไปเรื่อย ๆ ทีละแทรคมากกว่าการเลือกเพลงสุ่มไปมาหรือกระโดดข้ามเพลงไปเพลงแล้วเพลงเล่า โดยเฉพาะอัลบั้ม Ella Fitzgerald Sings The Rodgers And Hart Songbook ที่เป็นไฟล์ 24/192 อัลบั้มชุดนี้ผมว่าเป็นดิจิทัลไฮเรสที่เสียงดีมาก ๆ ชุดหนึ่ง ดีจนผมคิดว่าต่อไปอาจจะไม่ต้องเอาเสียงดิจิทัลไปวิ่งไล่ตามเทียบกับ LP แล้ว
สิ่งนี้ผมสามารถรับรู้ได้จากการถ่ายทอดออกมาของลำโพง 3XL ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศของเสียง การให้ลักษณะเวทีเสียง เสียงร้องและชิ้นดนตรีที่ขึ้นรูปเป็นตัวชัดเจน เมื่อฟังเพลงและเสียงที่ได้ยินออกมาเช่นนี้แล้ว นั่งฟังไปสักพักจะรู้สึกได้อีกทีว่าถูกดึงเข้าไปอยู่ในบรรยากาศเดียวกับเสียงดนตรีตรงหน้าได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้สามารถคล้อยตามไปกับเพลงได้ง่ายมากถึงมากที่สุด
นอกจากเสียงร้องของสาวน้อยสาวใหญ่แล้ว ถ้าคุณกำลังตั้งคำถามเหมือนกับที่ผมเคยคิดไว้ว่า 3XL ให้เสียงร้องของหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ได้ดีแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าคำตอบอยู่ในเสียงที่ผมลองฟังแล้วจากอัลบั้ม A Cappella Dreams [Chesky Records, 24/96] ของ The Persuasions ในเพลง ‘Ain’t No Sunshine’ เหมาะจะใช้ตรวจสอบเสียงที่ถ่ายทอดจากตัวลำโพงเนื่องจากเป็นเพลงที่มีเสียงร้องชายล้วนแต่มีหลายโทนเสียง
ลำโพง 3XL สามารถถ่ายทอดโทนเสียง ขนาด และมวลเนื้อของแต่ละเสียงออกมาแตกต่างกันอย่างชัดเจน มีรายละเอียดที่สามารถจำเพาะได้ว่าเสียงนั้นเข้มหนาหรือแหบแห้งกว่ากันมากน้อยเพียงใด มีตำแหน่งแห่งหนอยู่ ณ บริเวณใดในเวทีเสียง ผมสามารถหลับตานั่งฟังแล้วจินตนาการถึงแต่ละเสียงได้โดยไม่ยากเลย
อีกวาระคือสิ่งที่ผมได้ยินจากอัลบั้ม Ella and Louis [Verve Records, 24/96] อัลบั้มนี้เสียงร้องคู่ระหว่างคุณป้าเอลล่าและคุณลุงหลุยส์ เข้ากั๊นเข้ากันได้ดีอย่างเหลือเชื่อ และลำโพง 3XL ก็ถ่ายทอดอารมณ์ในเพลงออกมาได้อย่างหมดจด
โดยเฉพาะในเพลง ‘They Can’t Take That Away From Me’ เสียงร้องของคุณป้าเอลล่ามีความอิ่มใหญ่เต็มไปด้วยพลังแฝงมาในความหวานตามแบบฉบับนักร้องผิวสีตัวแม่ ในขณะที่เสียงร้องของลุงหลุยส์ ซึ่ง ณ เวลานั้นมีสรีระร่างกายเล็กกว่าแต่เสียงร้องนั้นมิได้เล็กตามขนาดตัวเลย หากแต่มีพลัง มีความเข้มหนาของโทนเสียงผู้ชายซึ่งไม่ได้ถูกข่มโดยเสียงของนักร้องตัวแม่เลย นั่นคืออารมณ์ร่วมและสิ่งที่ลำโพงคู่นี้ถ่ายทอดออกมาให้ผมได้รับรู้ตลอดการรับฟัง
อีกส่วนหนึ่งที่น่าสังเกตคือเสียง sibilance หรือเสียงลมลอดไรฟันอันเป็นเอกลักษณ์ของลุงหลุยส์ ซึ่งหลายครั้งฟังค่อนข้างน่ารำคาญในลำโพงอื่น คราวนี้กลับแค่รู้สึกว่ามีให้ได้ยินแต่ไม่น่ารำคาญเลย
อันที่จริงแล้วผมอยากจะบอกว่าการอรรถาธิบายถึงน้ำเสียงของลำโพงคู่นี้เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เนื่องจากมันเป็นลำโพงที่ฟังแล้วรู้สึกตลอดเวลาว่าเสียงสุภาพและแทบไม่มีลักษณะเกรี้ยวกราด ในขณะเดียวกันก็หาได้สงบเสงี่ยม ครึ้มทึมหม่นแต่อย่างใด หากแต่มีลักษณะตื่นตัว สดใสร่าเริง และล่องลอยไปตามจังหวะของเสียงเพลง เป็นลำโพงที่บ่อยครั้งผมฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะตบเท้าไปตามจังหวะเพลงด้วย เป็นลำโพงที่มีส่วนผสมที่ดีเหลือเกินระหว่างเสียงที่เป็น ‘ธรรมชาติ’ และเสียงที่ ‘ชวนฟัง’
เสียงที่มีความเป็นธรรมชาติทำให้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่เหมือนจริง อย่างในต้นเพลง ‘In A Mellow Tone’ จากอัลบั้ม Jazz at the Pawnshop [Proprius, 24/88.2] ผมฟังครั้งแรกโดยที่ไม่ได้คิดอะไรมากก็รู้สึกว่ามันมีอะไรพิเศษไปกว่าปกติที่เคยฟัง
ผมย้อนกลับไปฟังตอนเริ่มต้นใหม่อีกรอบโดยคราวนี้หลับตาแล้วจินตนาการตาม ไม่น่าเชื่อว่าผมสามารถจินตนาการตามถึงสิ่งที่ผมไม่เคยได้เห็นมาก่อนได้เป็นรูปเป็นร่างขนาดนี้ แน่นอนว่าผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่จินตนาการนั้นถูกต้องมากน้อยเพียงใด แต่ที่น่าสนเท่คือ อะไรที่ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกำลังมีส่วนร่วมในบรรยากาศนั้น ? สิ่งเดียวที่ผมพอนึกออกในตอนนี้คือเสียงที่ผมได้ยินจาก 3XL เท่านั้นเอง
สุ้มเสียงที่ชวนฟังของลำโพงทำให้ผมนึกอยากเปิดฟังเพลงไทยบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะที่มีการบันทึกเสียงโดดเด่นเป็นพิเศษเช่นอัลบั้ม ‘Sabuy Dee’ ของ Mellow Motif หรืออีก 2 อัลบั้มจากค่ายใบชาsong อย่าง ‘ใบชาsong ร้องเพลงชาตรี’ หรือ ‘หนึ่งฝัน’ ที่ผ่านมาผมอาจจะพูดได้ไม่ชัด อธิบายได้ไม่ตรงใจว่าเพราะเหตุใดอัลบั้มเหล่านี้จึงฟังแล้วน่าประทับอยู่ในใจ ฟังแล้วรู้สึกว่ามันเสียงดีโดดเด่นกว่าอัลบั้มเพลงไทยทั่วไป
ลำโพงคู่นี้บอกผมว่าไม่ใช่แค่เพราะคนทำเพลงเหล่านี้แค่มีใจรักหรอกครับ แต่เขามีฝีมือและประสบการณ์ด้วย เมื่อฟังเทียบกับอัลบั้มเพลงไทยอื่น ๆ อัลบั้มเหล่านี้นอกจากจะมีรายละเอียดและสมดุลเสียงที่ดีกว่าแล้ว ยังมีความกลมกลืนระหว่างเสียงร้องและเสียงดนตรี อยู่ในบรรยากาศเสมือนจริงเดียวกันอย่างกลมกลืน ไม่ใช่ลักษณะของการ ‘ตัดมาแปะ’ อย่างที่พบบ่อยในอัลบั้มเพลงไทยดาด ๆ หรืออัลบั้มเพลงสากลตลาดทั่วไป
สองตัวอย่างที่เห็นชัดในอัลบั้มเพลงไทยที่ผมยกย่องว่าเจ๋งคือเพลง ‘เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ’ ในอัลบั้ม Sabuy Dee ผมได้ยินเสียงที่มีพื้นหลังสงัด เสียงเบสที่ชัดและมีน้ำหนักไม่เบาบาง เสียงร้องและเปียโนที่ลอยเด่นและมีโฟกัสชัดเจน
โดยเฉพาะเสียงเปียโนที่มีหัวเสียงนุ่มเข้ม มีประกายเสียงสุกใสนั้น ฟังกี่เที่ยวกับลำโพงคู่นี้ก็ต้องบอกว่า น่าฟังชะมัด ส่วนเพลง ‘รักครั้งแรก’ จากอัลบั้ม ใบชาsong ร้องเพลงชาตรี ลำโพงคู่นี้สำแดงลักษณะเวทีเสียงที่มีรูปวง มีอาณาบริเวณ มีการแยกแยะระนาบตื้นลึกได้ดีมาก ให้ตัวเสียงเข้มข้น ชัดถ้อยชัดคำไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องหรือตัวโน้ตดนตรี ลื่นไหลน่าฟังที่สุดเลยครับพระเดชพระคุณท่าน !
ลำโพง…ในฝัน
ความละเอียดอ่อน ความละเมียดละไมของเสียง และความรู้สึกของอารมณ์ร่วมที่เหมือนจริงจากลำโพงคู่นี้มาพร้อมกับระดับเสียงที่เหมาะสม ดังนั้นลำโพงคู่นี้จึงไม่เหมาะแน่กับห้องขนาดใหญ่ ในห้องฟังขนาดกลาง ๆ ของ เรา เมื่อฟังกับดนตรีจำนวนไม่มากชิ้นแต่อบอวลด้วยบรรยากาศแวดล้อมอย่าง Jazz at the Pawnshop
ลำโพงคู่นี้สามารถจำลองรูปวง เวทีเสียง ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ภายในวง ภายในแจ๊ซคลับได้เหมือนจริงมาก มันให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการฟังจากดนตรีจริงมากกว่าจากเครื่องเสียง สิ่งเดียวที่เป็นข้อจำกัดคือ มันยังไม่สามารถให้ขนาดและน้ำหนักของดนตรีทุกชิ้นได้ถูกต้องทั้งหมดอย่างลำโพงขนาดใหญ่ แต่เรื่องฟิลลิ่ง บรรยากาศและรายละเอียด ผมว่าลำโพงคู่นี้ไม่เป็นรองใครและเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากสำหรับลำโพงเล็กเสียงระดับเทพทั้งหลาย
DeVore Fidelity : Gibbon 3XL ไม่ใช่ลำโพงสำหรับคนที่บริโภคเสียงทุ้มเป็นอาหารหลักหรือเสพติดเสียงทุ้มหนัก ๆ ใหญ่ ๆ เป็นชีวิตจิตใจ แต่มันคือลำโพงเล็กที่เมื่อเซ็ตอัปจนลงตัวแล้ว คนรักเสียงดนตรีส่วนใหญ่ฟังแล้วจะค่อย ๆ ชอบจนถึงขั้นถอนตัวได้ยาก เป็นลำโพงอีกคู่ที่ทำให้ผมต้องกลับไปนอนคิดถึงเวลาไม่ได้ฟังเสียง แถมยังอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับสภาพหูไปอีกพักใหญ่กว่าจะไปมีความสุขกับลำโพงอื่นได้ …
ก็ไม่ธรรมดาสมราคาของเขาล่ะครับสำหรับลำโพงตัวเล็ก ๆ ที่ทำอะไรได้น่าสนใจเกินตัวขนาดนี้ ฟังแล้วต้องยอมรับนับถือ ‘ความหูถึง’ ของคนออกแบบอย่างจอห์น เดวอร์ เลยจริง ๆ … ยกนิ้วโป้งให้ 2 ข้างเลยครับ
เนื่องจาก Classic Review เป็นรีวิวเครื่องเสียงที่ตกรุ่นไปแล้ว หรืออาจมีการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว ทางเว็บไซต์จึงขอสงวนข้อมูลตัวแทนจำหน่ายและราคาของสินค้าเพื่อป้องกันความสับสนในข้อมูล