fbpx
REVIEW

รีวิว Devialet : 170

วิทยาการทุกแขนงที่มนุษย์เราเรียนรู้และสั่งสมมาตั้งแต่อดีตนั้นเป็นความรู้และหลักการที่กอปรขึ้นมาจากการอ้างอิงด้วยพื้นฐาน analog ทั้งสิ้น ในขณะที่ความคิด ความต้องการ และจิตนาการของมนุษย์ได้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นมาตลอดจนถึงจุดที่วิทยาการทางด้านอะนาล็อกเทคโนโลยี่ไม่สามารถตอบสนองกับการพัฒนาได้อีกแล้ว

นั่นคือเวลาที่มนุษย์เราเริ่มนำเอาหลักการพื้นฐาน digital เข้ามาใช้ในการพัฒนาเพื่อต่อยอดจากพื้นฐาน analog เดิมขึ้นไป อินทิเกรตแอมป์ตัวนี้คือผลพวงจากการใช้วิทยาการทางด้านดิจิตัลในการออกแบบ โดยอาศัยหลักคิดในการออกแบบด้วยพื้นฐานอะนาล็อกเดิมเป็นแนวทาง ผลลัพธ์คือ อุดมคติของแอมป์เพียว class A ซึ่งเป็นที่สุดของวงจรขยายสัญญาณแบบอะนาล็อกดีไซน์ที่ไม่มีข้อจำกัดทางเทคนิคอีกต่อไป!

ADH = Analog Digital Hybrid “The best of both worlds!”
ถ้าอะไร ๆ ที่คุณได้ยินมาจากที่ไหน ๆ ทำให้เข้าใจว่า Devialet 170 ตัวนี้เป็นดิจิตัลแอมป์ล่ะก้อ.. ผมอยากจะขอบอกว่า คุณเข้าใจผิดแล้วครับ! เพราะถ้าแอมป์ดิจิตัลที่คุณเข้าใจนั้นหมายถึงแอมป์ class D (หรือ PWM) หรือสวิทชิ่ง แอมปลิฟายที่มีโครงสร้างการทำงานที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยวงจรฟิลเตอร์มากมายแล้วล่ะก้อ.. ต้องขอบอกอีกทีว่านั่นไม่ใช่ลักษณะการทำงานของแอมป์ตัวนี้ครับ

ถ้าจะให้อธิบายสั้น ๆ ถึงลักษณะการทำงานของภาคขยายของแอมป์ตัวนี้ ขออนุญาตอธิบายสั้น ๆ แบบนี้ว่า Devialet 170 ตัวนี้คือแอมป์ที่ใช้ภาคขยายสัญญาณแบบ class A ในการ “ขยายสัญญาณอินพุต” ที่มีโวลเตจต่ำ ๆ (voltage amplification) ให้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับไลน์เลเวล เหตุที่เลือกใช้ภาคขยายแบบ class A ก็เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของสัญญาณเดิมเอาไว้

จากนั้นก็อาศัยภาค “ขยายกำลัง” แบบ class D (current amplification) ในการขับดันสัญญาณอินพุตที่ถูกขยายด้วยแอมป์คลาส เอข้างต้นให้มีกำลังมากพอที่จะสามารถพุ่งออกไปขับดันโหลด (ลำโพง) ให้ได้ความดัง (SPL) ตามระดับวอลุ่มที่เราปรับเลือกในขณะนั้น ๆ แอมป์ class A และ class B

ในยุคเพียวอะนาล็อกในอดีตนั้น ทำให้เราต้องเวียนว่ายอยู่ในวังวนของปรากฏการณ์ “ได้อย่าง-เสียอย่าง” มาโดยตลอด เรียกว่าถ้าชอบเสียงที่มีความต่อเนื่องราบเรียบและลื่นไหลไร้รอยต่อก็ต้องดีไซน์ภาคขยายของแอมป์เป็นแบบ class A แท้ ๆ

แต่ก็ต้องยอมรับว่ากำลังขับที่ได้จะไม่เยอะ ไม่สมดุลกับทรัพยากรอิเล็กทรอนิคที่เราทุ่มเทลงไป เครื่องจะร้อนมากเพราะมีกระแสไฟไหลผ่านทรานซิสเตอร์ทั้งซีกบวกและซีกลบตลอดเวลาไม่ว่าจะมีสัญญาณอินพุตผ่านเข้ามาที่วงจรขยายหรือไม่ก็ตาม

ส่งผลให้เกิดความสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์จำนวนมาก ประสิทธิภาพในการควบคุมลำโพงก็ค่อนข้างต่ำ เพราะให้แด๊มปิ้งแฟ็คเตอร์ไม่แยะ เจอลำโพงที่แข็งขืนหน่อยก็จะออกแนวป้อแป้ ไม่มีกำลังพอในการควบคุมการขยับตัวของกรวยไดรเวอร์ เสียงที่ได้ก็จะขาดความกระชับ หัวเสียงไม่คม โดยเฉพาะในย่านเสียงทุ้ม แต่ก็ใช่ว่าการออกแบบแอมป์ class A ให้มีกำลังเยอะ ๆ จะไม่สามารถทำได้

ในทางเทคนิคสามารถทำได้ แต่เทียบกับความสูญเสียแล้ว กำลังที่ได้มาไม่คุ้มต่อการทำครับ ในอดีตนั้น นักออกแบบแอมป์ฯ พยายามแก้ปัญหาจุดอ่อนเหล่านี้ของ class A ให้หายขาดด้วยการเปลี่ยนไบอัสวงจรขยายของแอมป์ไปทาง class B แทน ซึ่งมีพฤติกรรมในการทำงานที่ตรงข้ามกับคลาส เอ คือถ้าไม่มีสัญญาณอินพุตผ่านเข้ามาในวงจรขยายก็จะไม่ป้อนกระแสให้กับทรานซิสเตอร์ มีสัญญาณอินพุตเข้ามาทางทรานซิสเตอร์ซีกไหน (บวกหรือลบ) ก็ป้อนกระแสให้เฉพาะซีกนั้นสลับกันไป

วิธีนี้จะทำให้ได้กำลังขับที่สูงมากเมื่อเทียบกับการใช้ทรัพยากรในปริมาณที่ใกล้เคียงกับการออกแบบวงจรขยายแบบคลาส เอ แต่ท้ายสุดแล้ว แม้ว่าวงจรขยายแบบคลาส บีจะให้กำลังดีกว่า ให้แรงกระแทกกระทั้นมากกว่า ฉับไวมากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมแลกกับคุณสมบัติของความต่อเนื่องราบเรียบและลื่นไหลไร้รอยต่อของเสียงที่จะอ่อนด้อยลงไปด้วย

ในยุคอะนาล็อกที่ผ่านมานั้น ก็ได้มีนักออกแบบแอมปลิฟายที่พยายามผสมข้อดีของวงจรขยาย class A กับวงจรขยาย class B เข้าด้วยกัน เรียกว่า class AB คือป้อนกระแสไฟเลี้ยงปริมาณอ่อน ๆ (ทำ class A ที่กำลังต่ำ ๆ) ให้กับทรานซิสเตอร์ทิ้งคาไว้ตลอดเวลา แม้ในขณะที่ยังไม่มีสัญญาณอินพุตผ่านเข้ามาในวงจร

ทั้งนี้เพื่อเป็นการวอร์มอัพให้ตัวทรานซิสเตอร์อยู่ในสภาวะ standby พร้อมทำงานเร็วที่สุดเมื่อมีสัญญาณอินพุตผ่านเข้ามาในวงจรและจะเปลี่ยนไปทำงานในรูปแบบ clas B ที่ระดับความดัง (อัตราขยาย) สูงขึ้น

ซึ่งเสียงที่ได้ก็มีความต่อเนื่องลื่นไหลคล้ายคลาส เอมากขึ้นที่ระดับความดังต่ำ ๆ วงจรขยาย class AB ลักษณะที่ว่านี้เป็นรูปแบบของวงจรขยายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงต่อมา มีนักออกแบบแอมปลิฟายหลายคนเริ่มค้นพบข้อเท็จจริงว่า ปัญหาของคุณภาพเสียงที่ไม่ดีนั้น แท้จริงแล้ว ต้นเหตุไม่ได้มาจากรูปแบบของวงจรขยายทั้งหมด แต่ยังมีตัวแปรอีกตัวหนึ่งในกระบวนการแอมปลิฟิเคชั่นที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงอย่างมาก ไอ้โม่งตัวนั้นก็คือ “ภาคเพาเวอร์ซัพพลาย” นั่นเอง

เมื่อย่างเข้าสู่ยุค digital audio ความหน่วงช้าของการจ่ายกำลังให้กับสัญญาณเอาต์พุตซึ่งเป็นปัญหาของภาคเพาเวอร์ซัพพลายที่ทำงานในโดเมนอะนาล็อกก็เริ่มถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาและก่อให้เกิดความกระตือรือร้นมองหาหนทางปรับปรุงกันอย่างแพร่หลาย

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ภาคจ่ายไฟเลี้ยง (เพาเวอร์ซัพพลาย) ของแอมปลิฟายได้ถูกพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ว่า จ่ายกำลังให้ได้เยอะและจ่ายให้ได้เร็วทันกับ rise และ fall times ของสัญญาณอินพุตทุกขณะ ทั้งนี้ก็เพื่อพยายามรักษาคุณสมบัติทางด้าน dynamic contrast กับ time response ของสัญญาณอินพุตเอาไว้ให้มากที่สุด

และด้วยคุณสมบัติทั้งในส่วนของ dynamic และ frequency response ของสัญญาณเสียงจากแหล่งต้นทาง (หรือ source) ได้รับการพัฒนาขึ้นไปมากในยุคดิจิตัลนี้ เข้าใกล้เสียงจริงในมาสเตอร์เทปกับเสียงจริงที่ป้อนเข้ามาทางไมโครโฟนมากขึ้น นั่นยิ่งทำให้นักออกแบบแอมปลิฟายต้องคิดกันหนักมากขึ้นกับการออกแบบภาคเพาเวอร์ซัพพลายที่จะให้สามารถตอบสนองต่อความเร็วของสัญญาณดิจิตัล ออดิโอให้ได้ตรงตามมาสเตอร์ให้มากที่สุด

หลักการทำงานของวงจรขยายแบบ class A แท้ ๆ นั้นจะว่าไปแล้วก็คือการ “สำเนา” สัญญาณอินพุตต้นฉบับให้ออกมาอยู่ในรูปของ “โวลเตจ” ไฟฟ้าที่มีความต่อเนื่องไปตลอดนั่นเอง แต่เนื่องจากแหล่งต้นทางของเสียงก่อนถูกส่งถึงภาคเพาเวอร์แอมป์ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณจากหัวเข็มโฟโน หรือจากเอาต์พุตของภาค DAC ต่างก็มีเกนของสัญญาณที่ต่ำมาก ๆ แค่ระดับมิลลิโวลต์เท่านั้นเอง จำเป็นต้องมีการขยายเกนของสัญญาณเหล่านั้นให้สูงขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการขับดันกรวยของลำโพง

วิศวกรของ Devialet ยอมรับในคุณภาพเสียงและเข้าใจหลักการทำงานของวงจรขยาย class A เป็นอย่างดี พวกเขาจึงเลือกใช้การทำงานของวงจรขยาย class A ในการขยายสัญญาณอะนาล็อก-เอาต์พุตจาก DAC แบบไฮ-โวลเตจที่พวกเขาออกแบบขึ้นมาเองแล้วจัดการยิงตรงเป็นสัญญาณอะนาล็อกเอาต์พุตออกไปที่ขั้วต่อลำโพงทันที

แต่ก่อนที่สัญญาณเอาต์พุตจะโผล่ออกไปเจอกับโหลดของลำโพงในเสี้ยววินาทีนั้น ๆ วงจร DSP ที่คอยตรวจจับปริมาณวอลุ่มที่ผู้ใช้ปรับตั้งเอาไว้จะส่งคำสั่งไปที่ภาคเพาเวอร์ซัพพลายของตัว Devialet 170 เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะต้องจ่ายกระแส (กำลังขยาย) ให้กับสัญญาณเอาต์พุตเป็นจำนวนเท่าไรในเสี้ยววินาทีนั้น ๆ

ซึ่งกระแส (กำลังขยาย) ที่ผลิตจากภาคเพาเวอร์ซัพพลายของแอมป์ Devialet 170 ตัวนี้จะต้องมีทั้งกำลังที่สูงพอและสามารถสร้าง+ส่งไปให้ได้เร็วทันกับสัญญาณเอาต์พุตก่อนที่จะพุ่งพ้นออกไปถึงลำโพงด้วย

เพื่อให้ภาคจ่ายไฟสามารถผลิตกำลังได้เยอะ ๆ และมีความเร็วในการจ่ายกระแสได้เท่าทันกับระดับวอลุ่มจริง ๆ วิศวกรของ Devialet จึงเลือกใช้การทำงานของวงจรขยายแบบ class D ในการผลิต+จัดส่งกระแสให้กับสัญญาณเอาต์พุตของอินทิเกรตแอมป์ Devialet รุ่น 170 ตัวนี้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาตรงตามแนวทางการออกแบบบนพิมพ์เขียวที่คิดกันไว้ในย่อหน้าข้างต้น

ซึ่งหากพิจารณาจากรูปแบบเฉพาะในแนวคิดแล้วมันก็เป็นอะไรที่ดูเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่การที่จะสร้างแอมปลิฟายแบบนี้ขึ้นมาให้มันทำงานได้จริงตามที่คิดไว้นั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย มันยากที่จะทำให้สัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของ “โวลเตจ” (voltage) ไปจ๊ะเอ๋กับกำลังเสริมที่อยู่ในรูปของ “กระแส” (current) ตรงจุดเอาต์พุตของแอมป์พอดี ๆ

นั่นคือที่มาของเทคนิค ADH hybrid core® ที่ทำให้แนวคิดข้างต้นเป็นจริงโดยอาศัย DSP (Digital Signal Processing) จำนวนมากถึง 8 ตัวที่มีพลังในการประมวลผลสูงถึง 400MHz เป็นหัวใจ ทีมวิศวกรของ Devialet ได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิคนี้ขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จและได้ทำการจดสิทธิบัตรเอาไว้ก่อนที่จะนำผลผลิตทางกายภาพของมันมาบรรจุไว้ในอินทิเกรตแอมป์รุ่น 170 ตัวนี้

ดีไซน์ภายนอก+ภายใน & อินพุต+เอาต์พุต
ในบรรดาอินทิเกรตแอมป์ที่มีกำลังขับ 170 วัตต์ต่อข้างด้วยกัน ต้องบันทึกไว้ว่า Devialet 170 ตัวนี้มีตัวถังที่แบนบางมากที่สุดในโลก คือมีความหนาเพียงแค่ 4 เซนติเมตรเท่านั้น.!

ถ้าเปิดฝาเครื่องออกมาดูโดยที่คุณไม่เห็นขั้วต่อสายลำโพงกับขั้วต่ออาร์ซีเอและไม่รู้มาก่อนว่านี่คืออินทิเกรตแอมป์ เชื่อว่าถึงบอกคุณก็อาจจะไม่เชื่อว่านี่คืออินทิเกรตแอมป์เหมือนกัน ไส้ในมันแทบจะไม่มีองคาพยพไหนที่ละม้ายอินทิเกรตแอมป์ตัวใดในโลก

ไม่มีทรานฟอร์เมอร์แกน EI หรือเทอร์รอยขนาดเขื่อง.? แคปาซิเตอร์ทั้ง 6 ตัวที่มีอยู่ก็แบนแต๋ดแต๋แนบติดอยู่บนบอร์ด ดูแล้วไม่น่าจะเก็บประจุเพื่อช่วยปั๊มกระแสอะไรได้มาก ซึ่งเพาเวอร์แอมป์ส่วนใหญ่จะต้องมีแคปาซิเตอร์เยอะ ๆ ถึงจะการันตีได้ว่ามีกำลังสำรองดี แต่นี่ไม่.. นอกนั้นก็เต็มไปด้วยชิปไอซีทั้งเล็กและใหญ่กระจายอยู่เต็มไปหมด มองผ่าน ๆ แล้วเหมือนไส้ในของคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คซะมากกว่า

หาใช่ว่า Devialet 170 ตัวนี้จะมีความพิเศษอยู่ที่ภาคแอมปลิฟายเท่านั้น ในตัวมันยังประกอบด้วยดีไซน์อีกหลายจุดที่ทำให้มันมีคุณสมบัติเป็นอินทิเกรตแอมป์แห่งอนาคตอย่างแท้จริง

นั่นคือรวบรวมความสามารถในการรองรับสัญญาณอินพุตที่ครบถ้วนทั้งอะนาล็อก+ดิจิตัล และทั้งแบบใช้สายต่อ (wired) และไร้สายต่อ (wireless) อาทิ ภาคโฟโนที่มีคุณสมบัติรอบตัว รองรับสัญญาณอะนาล็อก-เอาต์พุตได้ทั้งจากหัวเข็ม MM และ MC

ซึ่งสามารถปรับตั้งค่าโหลดอิมพีแดนซ์ได้กว้างมากตั้งแต่ 10 โอห์มขึ้นไปจนถึง 47k โอห์ม สามารถปรับแคปาซิแตนซ์ได้ตั้งแต่ 100 พิโคฟารัดขึ้นไปได้ถึง 7 ขั้น ๆ ละ 100 พิโคฟารัด (สูงสุดที่ 700 พิโคฟารัด) และสามารถปรับเกนขยายของวงจรให้แม็ทชิ่งกับเกนของหัวเข็มได้กว้างมาก ๆ ด้วย ทำให้สามารถรองรับได้หมดทั้งหัวเข็มแบบโลว์ฯ เอาต์พุต และแบบไฮ-เอาต์พุต

สามารถเลือกรูปแบบกราฟตอบสนองของวงจร RIAA ได้ถึง 2 รูปแบบ (แบบ original RIAA curve ที่ใช้อ้างอิงตั้งแต่ปี 1953 กับแบบ IEC RIAA curve ที่ใช้อ้างอิงตั้งแต่ปี 1976) และเนื่องจากสัญญาณอะนาล็อก-อินพุตของ Devialet 170 ทุกชนิดจะถูกนำไปแปลงเป็นสัญญาณดิจิตัลด้วยวงจร A-to-D converter (ใช้ชิปของ Texas Instruments เบอร์ PCM 4220) แล้วจึงส่งเข้าสู่กระบวนการ D-to-A converter อีกครั้ง

ก่อนจะได้เอาต์พุตเป็นสัญญาณอะนาล็อกออกไปใช้ขยายผ่านลำโพงซึ่งเป็นพื้นฐานการทำงานของ Devialet 170 ที่ถูกออกแบบไว้ ในขณะปรับตั้งช่องอินพุต Phono ของตัว Devialet 170 คุณจึงสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะให้สัญญาณอะนาล็อก-อินพุตจากภาคโฟโนฯ ถูกแปลงเป็นสัญญาณดิจิตัลด้วยอัตราแซมปลิ้งเรตเท่ากับ 96kHz หรือที่ระดับ 192kHz (ให้แม็ทชิ่งดีที่สุดกับ bandwidth ของหัวเข็มที่คุณใช้)

A : ช่องอินพุตสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียง
B : ช่องอินพุต 2 ช่องนี้สามารถกำหนดเลือกได้ว่าจะใช้รับสัญญาณอะนาล็อก หรือดิจิตัล
C : สองช่องนี้ก็เช่นกัน สามารถเลือกได้ว่า จะให้เป็นช่องอินพุตดิจิตัล หรือเอาต์พุตอะนาล็อกสำหรับซับวูฟเฟอร์ หรือดิจิตัล เอ๊าต์
D : ช่องอินพุตดิจิตัลมาตรฐาน AES/EBU

สำหรับคนที่ใช้เครื่องเล่นประเภทอื่นที่ให้สัญญาณเอาต์พุตออกมาเป็นสัญญาณอะนาล็อกผ่านขั้วต่อแบบอันบาลานซ์ (อาร์ซีเอ) ก็สามารถนำมาใช้งานกับ Devialet 170 ได้เนื่องจากยังมีช่องอินพุตอะนาล็อกที่รองรับสัญญาณอะนาล็อกระดับ Line Level (ชื่อว่า Line 1) มาให้อีกหนึ่งชุด

A : ช่องอินพุต ETHERNET สำหรับรองรับสัญญาณดิจิตัลจากระบบเน็ทเวิร์ค
B : ช่องอินพุต USB สำหรับรองรับสัญญาณดิจิตัลจากคอมพิวเตอร์ หรือเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์
C : ช่องอินพุต optical สำหรับรองรับสัญญาณดิจิตัลจากอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์ประเภทต่าง ๆ
D : ช่องเสียบ SD card ที่บันทึก profile ในการปรับตั้งค่าต่าง ๆ ของตัวเครื่อง

จริง ๆ แล้ว อินพุตหลักที่จะทำให้ได้อานิสงส์จากดีไซน์ของภาคขยายแบบ ADH อย่างเต็มที่มากที่สุดก็คืออินพุต digital เพราะผ่านขั้นตอนน้อยกว่าสัญญาณอะนาล็อก ซึ่ง Devialet 170 ก็มีอินพุตดิจิตัลมาให้ใช้ครบหมด ทั้ง USB, coaxial, optical, AES/EBU, ETHERNET (เป็น DAC สำหรับเน็ทเวิร์คฯ) และ Wireless Streaming

ซึ่งไม่ว่าสัญญาณดิจิตัลที่เข้ามาจะมีอัตราแซมปลิ้งเรตเท่าไรจะถูกอัพแซมปลิ้งขึ้นไปที่ระดับ 192kHz ทั้งหมดก่อนที่จะถูกส่งไปให้ภาค D-to-A converter (DAC) แปลงเป็นสัญญาณอะนาล็อกด้วยชิป DAC เบอร์ PCM 1792 ของ Texas Instruments ที่มีเรโซลูชั่นเท่ากับ 24bit/192kHz (ช่องอินพุตทั้งหมดอยู่บนแผงด้านหลังของตัวเครื่อง)

A : ขั้วต่อสายลำโพงแบบไบดิ้งโพสต์ สำหรับลำโพงข้างขวา
B : ขั้วต่อสายลำโพงแบบไบดิ้งโพสต์ สำหรับลำโพงข้างซ้าย
C : ช่องอินพุตที่สามารถเลือกตั้งได้ ให้ใช้กับสัญญาณ RS232 กับ trigger ของรีโมทฯ หรือใช้เป็นช่องอ๊อปติคัลก็ได้
D : ช่องเสียบหัวปลั๊กไฟแบบ IEC สามขา/แยกกราวนด์

ขยับไปที่แผงหลังของ Devialet 170 จะพบว่ามีขั้วต่ออาร์ซีเออยู่ 6 ช่องซึ่งคุณสามารถกำหนดว่าจะใช้ช่องอินพุตทั้ง 6 ช่องนี้สำหรับรองรับสัญญาณอะนาล็อกหรือดิจิตัลจากแหล่งต้นทางไหนก็ได้

อย่างเช่น สองช่องแรก (จากซ้ายไปขวา) มีพิมพ์ระบุไว้ว่า LINE 2/PHONO ก็คือสามารถกำหนดได้ว่าจะใช้เป็นช่องอินพุตสำหรับสัญญาณอะนาล็อก R/L จากโฟโนสเตจของคุณ

หรือจะให้เป็นช่องรับสัญญาณอะนาล็อกจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงของคุณเพื่อเข้าไปใช้ภาคโฟโนในตัว Devialet 170 ก็ได้ ส่วนขั้วต่ออีกสองอันถัดไปนั้นด้านบนระบุว่าเป็นช่อง DIGITAL 4 และ DIGITAL 3

ในขณะที่ด้านล่างระบุเป็น LINE 1 (R/L) ก็คือถ้าคุณไม่ได้ใช้สองช่องนี้สำหรับสัญญาณอินพุตอะนาล็อกใด ๆ คุณก็สามารถกำหนดตั้งให้สองช่องนี้กลายเป็นช่อง Digital input ที่รองรับสัญญาณดิจิตัลจากภายนอกได้ถึงระดับ 24/192 อาทิ จากเครื่องเล่นซีดีหรือเครื่องเล่นดีวีดีก็ได้

ส่วนสองช่องทางขวาสุดนั้นปกติจะเป็นช่อง DIGITAL 2 กับ DIGITAL 1 แต่ถ้าคุณทำการเซ็ตอัพซิสเต็มของคุณให้ทำงานในระบบ stereo 2.1 ch คุณก็สามารถกำหนดให้ช่อง DIGITAL 2 ทำหน้าที่เป็นช่อง SUB OUT สำหรับสัญญาณอะนาล็อก LPF ที่ส่งไปให้ลำโพงแอ๊คทีฟ ซับวูฟเฟอร์เพื่อสร้างความถี่ต่ำ และยังสามารถปรับเลือกจุดตัดความถี่ได้ด้วย

การกำหนดที่จะใช้หรือไม่ใช้ รวมถึงทำการเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานของอินพุตแต่ละช่องต้องกระทำผ่านโปรแกรมพิเศษที่ชื่อว่า “Configurator” บนคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยเริ่มต้นด้วยการเข้าไปลงทะเบียน (register) หมายเลขเครื่องของคุณไว้ที่เว็บไซต์ของ Devialet ซะก่อน

จากนั้นจึงสามารถเข้าไปปรับตั้งกำหนดอะไรต่อมิอะไรได้ หลังจากคุณทำการปรับตั้งค่าเสร็จแล้ว ทางเว็บไซต์จะบันทึกค่าทั้งหมดที่คุณปรับตั้งไว้เป็นโปรไฟล์สำหรับให้คุณเข้ามาแก้ไขได้ในอนาคต

เมื่อกำหนดทุกอย่างบนโปรแกรมเสร็จแล้ว (มีสัญลักษณ์ให้ดูพร้อมคำอธิบาย ปรับตั้งไม่ยากเลย) คุณต้องเอา SD card (ที่แถมมากับเครื่อง หรือถ้าจะเปลี่ยนอันใหม่ต้องมีความจุไม่เกิน 4GB) เสียบเข้าไปที่คอมพิวเตอร์ของคุณเพื่อทำการบันทึกค่าที่ปรับตั้งเหล่านั้นเข้ามาบน SD card แล้วนำไปเสียบไว้ในช่อง “SD card Setup” ที่อยู่ทางด้านซ้ายมือสุดของแผงหลังเครื่อง

เมื่อคุณกดปุ่มเปิดเครื่อง Devialet 170 ขึ้นมา บนจอแสดงผลของตัวเครื่องจะดึงข้อมูลการปรับตั้งที่คุณบันทึกไว้บน SD card ลงไปทำการปรับตั้งการทำงานของตัวเครื่องตามที่คุณกำหนดไว้ทันที (ใช้เวลาประมาณ 10-15 วินาที)

ช่อง ETHERNET ที่ให้มาเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คเพื่อจุดประสงค์ 2 อย่าง อย่างแรกคือควบคุมสั่งงานด้วยแอพลิเคชั่นบนอุปกรณ์ iOS หรือ Android กับอย่างที่สองคือรองรับการเล่นไฟล์เพลงผ่านระบบเน็ทเวิร์คนั่นเอง วิศวกรของ Devialet รับหน้าที่ในการพัฒนาทั้งในส่วนของแอพลิเคชั่นและประสิทธิภาพในการทำงานของตัวเครื่องให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ใช้สามารถอัพเกรดตามขึ้นไปได้เรื่อย ๆ เช่นกัน

นอกจากจะใช้งานในลักษณะวางนอนแนวราบบนชั้นวางหรือโต๊ะแบบเดียวกับอุปกรณ์เครื่องเสียงทั่วไปแล้ว เจ้า Devialet 170 ตัวนี้ยังถูกออกแบบมาให้สามารถยกขึ้นไปติดตั้งแนบบนผนังห้องได้ด้วย แต่ควรสั่งซื้อแผงยึดที่ออกแบบมาโดยเฉพาะจากตัวแทนจำหน่ายมาใช้ในการติดตั้งด้วยเพื่อความปลอดภัย

แม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพ
การแม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพแอมป์ฯ ตัวนี้เป็นอะไรที่แปลกใหม่ เพราะสเปคฯ ของมันไม่เหมือนแอมป์ตัวใดในโลก โดยเฉพาะสเปคฯ ทางด้าน Output impedance ของแอมป์ตัวนี้ต้องบอกว่าเป็นไปตามอุดมคติเป๊ะ!

คือรับมือกับอิมพีแดนซ์ของลำโพงได้กว้างมาก คือตั้งแต่ 8 โอห์มไล่ลงไปจนถึง 2 โอห์ม (เฉลี่ย) ซึ่งแอมปลิฟายโดยปกตินั้นจะกลัวโหลดต่ำ ๆ ที่ผ่าน ๆ มายังไม่เคยเจอใครกล้าระบุโหลดต่ำสุดที่แอมป์ของพวกเขาสามารถขับได้ “อย่างมีเสถียรภาพ” ยอมรับเลยว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นแอมปลิฟายที่กล้าระบุว่าสามารถขับโหลดได้ต่ำถึง 2 โอห์มได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เพราะเอาต์พุตอิมพีแดนซ์ของมันต่ำมาก คือต่ำกว่า 0.001 โอห์ม!! ในขณะที่ลำโพงสมัยใหม่ที่มีคุณภาพดีทั่ว ๆ ไปมักจะมีโหลดเฉลี่ยอยู่ที่ 4 หรือไม่ก็ 8 โอห์ม และมักจะถูกออกแบบให้มีอัตราการสวิงของโหลดที่ลงไปไม่ต่ำมาก ยกตัวอย่างลำโพงที่ผมนำมาทดลองฟังกับแอมป์ตัวนี้อาทิ Nola รุ่น KO ก็มีโหลดเฉลี่ยอยู่ที่ 8 โอห์มและลงต่ำสุดเพียงแค่ 4 โอห์ม

หรืออย่าง Thiel รุ่น CS1.7 มีโหลดเฉลี่ยอยู่ที่ 4 โอห์มลงต่ำสุดก็แค่ 3 โอห์ม อีกคู่คือ Living Voice รุ่น IBX-R2 ก็มีโหลดเฉลี่ยอยู่ที่ 6 โอห์ม แม้จะไม่ได้แจ้งโหลดต่ำสุดเอาไว้แต่โดยปกติแล้วก็มักจะวูบลงมาได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของโหลดเฉลี่ยคือประมาณแค่ 3 โอห์ม

จะเห็นว่า โหลดอิมพีแดนซ์ของ Devialet 170 ตัวนี้สามารถลดลงไปรองรับโหลดได้ต่ำกว่าโหลดต่ำสุดที่ลำโพงเหล่านี้จะวูบลงไปได้เยอะมาก นั่นก็หมายความว่า โหลดของลำโพงทั้งสามคู่ข้างต้นที่เอามาเชื่อมต่อกับ Devialet 170 ตัวนี้ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับความสามารถในการขับดันกำลังของแอมป์ตัวนี้เลยแม้แต่น้อย!!

Devialet 170 ให้การตอบสนองความถี่ที่กว้างขวางมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อเชื่อมต่อสัญญาณอินพุตเข้าทางช่องดิจิตัล อินพุตของมัน คือตั้งแต่ DC ถึง 87kHz ตลอดตั้งแต่โหลด 8 โอห์มลงไปจนถึง 2 โอห์ม เปรียบเหมือนหน้าต่างบานใหญ่ที่พร้อมเปิดให้กับรายละเอียดเสียงพรั่งพรูออกไปแม้ในระดับความถี่ที่ต่ำมาก ๆ ถึงระดับ 0Hz นั่นเลย

นั่นทำให้อุปกรณ์เสริมประเภทที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าอย่างเช่นตัวกรองไฟและสายไฟเอซีสามารถแสดงประสิทธิผลออกมาได้อย่างเต็มที่มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

เรียกว่าถ้าอยากรู้ว่าตัวกรองไฟหรือสายไฟเอซีรุ่นไหน-ยี่ห้อไหนให้คุณภาพเสียงดีกว่ากันให้ลองเอามาใช้กับ Devialet 170 ตัวนี้แล้วจะเห็นผลชัด ในการทดสอบครั้งนี้ผมพยายามที่จะทดลองใช้งานช่องอินพุตที่ Devialet 170 ให้มาให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่อง digital input เริ่มด้วย

(1) ต่อเชื่อมช่อง USB ของ Devialet 170 เข้ากับ MacBook Air และ Mac Mini เพื่อเล่นเพลงจาก external HDD ด้วยโปรแกรม Audirvana Plus ซึ่งรองรับได้ถึงระดับ 24/192

(2) ต่อเชื่อมช่องอินพุต DIGITAL 1 เข้ากับช่องดิจิตัล เอาต์พุตของ Meridian 818V2 Reference Audio Core + Media Drive 600 ด้วยสายดิจิตัล โคแอ๊คเชี่ยลของ Nordost รุ่น Valhalla 2 เพื่อเล่นไฟล์เพลงจากเซิร์ฟเวอร์ของ Media Drive 600 สามารถรองรับได้ถึงระดับ 24/192

(3) ต่อเชื่อมช่องดิจิตัล-เอาต์พุตแบบบาลานซ์ AES/EBU ของเครื่องเล่นเพลง Cocktail Audio รุ่น CA-X30 เข้าที่ช่องดิจิตัล อินพุต AES/EBU ของ Devialet 170 เพื่อรองรับการเล่นไฟล์เพลงจากแหล่ง storage รูปแบบต่าง ๆ ทั้ง disc base และ file base

(4) เชื่อมต่อสัญญาณอะนาล็อก-เอาต์พุตจากหัวเข็มเอ็มซียี่ห้อ Shelter รุ่น 301 MKII เข้าที่ช่องอินพุต LINE 2/PHONO โดยใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อ Acoustic Signature รุ่น Manfred ติดอาร์ม Rega รุ่น RB600 เป็นระบบเล่นแผ่น และสุดท้ายคือ

(5) เชื่อมต่อสัญญาณอะนาล็อก-เอาต์พุตจาก ext.DAC รุ่น 192-DSD DAC ของ Mytek เข้าที่ช่องอินพุต LINE 1 เพื่อประเมินคุณภาพเสียงของภาค ADC ในตัว Devialet 170

และในช่วงท้ายของการทดสอบผมได้ทำการเซ็ตอัพเพื่อใช้งานช่อง ETHERNET ของ Devialet 170 ในการรองรับการเล่นไฟล์เพลงจากเน็ทเวิร์คในลักษณะของ ETHERNET DAC ดูด้วย

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าพอใจมากทั้งในแง่ของคุณภาพเสียงและความง่ายในการติดตั้ง ปรับแต่ง และใช้งาน อย่างไรก็ดี การปรับตั้งเพื่อใช้เล่นไฟล์เพลงผ่านเข้าทางระบบไร้สาย (AIR) ของตัว Devialet 170 ตัวนี้ก็ยังถือว่าต้องการความเข้าใจและความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์เน็ทเวิร์คอยู่พอสมควร

Devialet AIR 2.1.1 ออดิโอ สตรีมมิ่งระดับไฮเอ็นด์ฯ!!
การเล่นไฟล์เพลงผ่านอินเตอร์เฟส USB และ network (RJ45) เป็นสองรูปแบบของการเล่นเพลงที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน จริง ๆ แล้วทั้งสองรูปแบบนี้ถูกนำเสนอเข้ามาในวงการไฮ-ไฟฯ พร้อม ๆ กัน คือหลังสิ้นยุคของฟอร์แม็ต SACD และ DVD-Audio

เมื่อมีการพัฒนากระบวนการส่ง/รับข้อมูลไฟล์เพลงผ่านทาง USB ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Asynchronous data transfer ขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ (ต้องยกเครดิตให้กับ J. Gordon Rankin เป็นพิเศษ) วงการคอมพิวเตอร์ ไฮ-ไฟฯ ระดับไฮเอ็นด์ก็ถือกำเนิดขึ้นมา และยอมรับว่ากระบวนการรับ-ส่งข้อมูลไฟล์เพลงด้วยวิธีการ asynchronous เป็นวิธีการที่ทำให้ได้เสียงที่ดี

เพราะเป็นวิธีที่ใช้สัญญาณ clock ของ DAC เข้าไปควบคุมการส่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ทำให้ปัญหาจิตเตอร์ถูกลดลงไปจนต่ำมากแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีนัยยะสำคัญต่อผลของเสียงอีกต่อไป ซึ่งในขณะนั้น หากต้องการใช้วิธี asynchronous เข้ามาควบคุมการเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คจำเป็นต้องมีการออกแบบ server ขึ้นมาเอง

เนื่องจาก Devialet ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็น music server ของตัวเอง (จนถึงขณะนี้ อนาคตไม่รู้..) พวกเขาจึงเลือกใช้วิธียืมระบบเซิร์ฟเวอร์บนคอมพิวเตอร์มาใช้ แต่ได้ทำการควบคุมการส่งข้อมูลไฟล์เพลงจากเซิร์ฟเวอร์บนคอมพิวเตอร์ตัวนั้นด้วยซอฟท์แวร์พิเศษตัวหนึ่งชื่อว่า “Devialet AIR” ที่วิศวกรของ Devialet เขียนขึ้นมาเอง

ซึ่งคุณต้องดาวน์โหลดโปรแกรมตัวนี้ไปติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์ของคุณที่ต้องการทำเป็นมิวสิค เซิร์ฟเวอร์ เพื่อให้โปรแกรม Devialet AIR ตัวนี้เข้าไปทำหน้าที่ควบคุมการส่งข้อมูลไฟล์เพลงไปให้ Devialet 170 โดยใช้สัญญาณ clock จากภาค DAC ในตัว Devialet 170 เป็นตัวควบคุม

และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นการยืนยันอย่างชัดเจนด้วยลายลักษณ์อักษรว่าเป็นการส่งผ่านข้อมูลไฟล์เพลงแบบ asynchronous บนระบบเน็ทเวิร์ค!! (AIR ย่อมาจาก Asynchronous Intelligent Route)

เมื่อเล่นไฟล์เพลงผ่านทาง Wi-Fi คุณสามารถเลือกวิธีอินพุตไฟล์เพลงเข้าไปที่ Devialet 170 ตัวนี้ได้ 2 หนทาง คือด้วยระบบไร้สายผ่านทางอินพุตที่ชื่อว่า AIR หรือระบบต่อสายผ่านเข้าทางอินพุต ETHERNET (ทั้งสองกรณี คอมพิวเตอร์ของคุณกับ Devialet 170 จะต้องเชื่อมต่ออยู่ในวงเน็ทเวิร์คเดียวกัน ผ่าน Router ตัวเดียวกัน)

ซึ่งหากเน้นคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด ผมแนะนำให้ใช้วิธีเชื่อมต่อระหว่างตัว Devialet 170 กับ Router ด้วยสาย LAN โดยเลือกอินพุตเข้าทางช่อง ETHERNET ครับ ซึ่งเสียงที่ได้จะดีกว่าแบบไร้สายในทุกด้าน และยิ่งได้สาย LAN คุณภาพดี ๆ อย่าง Audioquest หรือ Furutech ก็จะช่วยอัพเกรดคุณภาพเสียงขึ้นไปได้อีกเยอะครับ

อ้อ.. คุณภาพของ Router ก็มีผลต่อคุณภาพเสียงพอสมควรนะครับ แนะนำให้ใช้เป็น Gigabit Router โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ตั้งใจเล่นไฟล์ไฮเรสฯ เป็นหลัก

สำหรับการลองเล่นไฟล์แบบ streaming นั้น ผมเลือกติดตั้งให้คอมพิวเตอร์ Mac Mini ทำหน้าที่เป็นที่เก็บไฟล์เพลง (server) และใช้โปรแกรม Audirvana Plus เป็นตัวเล่นไฟล์เพลง (player) แอบอยู่ด้านหลังโดยมีอินเตอร์เฟส iTunes เป็นตัวควบคุม (control) อยู่ข้างหน้าและสามารถใช้งาน app remote ของ iTunes บน iPad ในการควบคุมการเล่นเพลงได้

เมื่อลงโปรแกรม Devialet AIR บนคอมพิวเตอร์แมค มินิของผมเสร็จแล้ว ข้อมูลเพลงที่ผมเล่นบนแมค มินิจะถูกส่งผ่านไปที่ Router ได้ 2 ทางคือไร้สายไปกับสัญญาณ Wi-Fi กับผ่านทางสาย RJ45 ผมแนะนำให้ใช้วิธีผ่านสาย RJ45 และจาก Router ไฟล์เพลงจะถูกส่งต่อไปที่ Devialet 170 ผ่านสาย RJ45

ในการทดสอบนี้ผมใช้สาย RJ45 ของ Audioquest รุ่น Diamond ทั้งสองช่วง ในภาพประกอบไม่ใช่สาย LAN ของ Audioquest รุ่นที่ว่านี้ เข้าไปที่อินพุต ETHERNET ของ Devialet 170 และด้วยเหตุว่า Mac Mini ไม่มีจอมอนิเตอร์ ผมจึงต่อสาย VGA (ผ่านอะแด๊ปเตอร์ Mini Display Port > VGA) ดึงภาพจาก Mac mini มามอนิเตอร์ผ่านจอ 26 นิ้ว และใช้เม้าท์ไร้สายควบคุมการ add ไฟล์เพลงเข้าไปใน playlist ของ iTunes (ผ่าน Bluetooth)

ผมจึงสามารถวาง Router ไว้ใกล้กับตัว Devialet 170 ได้เพื่อประหยัดค่าสาย RJ45 (LAN)(ผมใช้ความยาวสายแค่เส้นละ 75 ซ.ม. เท่านั้น)

นอกจากความหลากหลายในการใช้งานแล้ว ยังมีรีโมทไร้สายมาให้ใช้ด้วย เป็นรีโมทไร้สายที่ออกแบบได้เนี๊ยบมาก เลิศหรูดูดี ทำด้วยโลหะแข็งแรงมาก..

ลักษณะเสียง & คุณภาพเสียง
Live and Lossless® Sound หลังลองเล่นแล้ว บอกตรง ๆ ว่าผมชอบใจรีโมทไร้สายที่แถมมาให้เป็นพิเศษ ดีไซน์มันเจ๋งจริง ดูดีกว่ารีโมทที่เป็นแท่งยาว ๆ แบบทั่วไปมาก ปุ่มปรับวอลุ่มก็มีขนาดใหญ่เหมาะมือและค่อนข้างไว นั่งห่างออกมาเกือบ 5 เมตรก็ไม่มีปัญหาในการปรับเลย

สามารถควบคุมสั่งงานได้ครบทุกหน้าที่และไม่จำเป็นต้องชี้ตัวรีโมทไปที่ตัวเครื่องด้วย เพราะระหว่างรีโมทกับตัวเครื่องสื่อสารกันผ่านคลื่นวิทยุ ไม่ได้ใช้คลื่นอินฟราเรดเหมือนรีโมทไร้สายส่วนใหญ่ทั่วไป

เสียดายอย่างเดียวว่าบนรีโมทไม่มีหน้าจอแสดงผล เวลาปรับความดังเลยต้องใช้วิธีฟังด้วยหูและตอนเปลี่ยนอินพุตต้องลุกไปดูที่จอ (แต่ถ้าเล่นผ่านอินพุต ETHERNET แล้วเปิดแอพฯ Devialet AIR ขึ้นมาบนจอมอนิเตอร์จะมีระดับการปรับวอลุ่มแสดงขึ้นมาให้ดูบนจอด้วย กรณีนี้ก็ไม่ต้องลุกไปดูหน้าจอของเครื่อง)

หน้าตาของแอพฯ รีโมท Devialet AIR บนสมาร์ทโฟน

วงจรขยายของ Devialet 170 ดีไซน์ด้วย class A ที่ใช้ไบอัสสูง หลังเปิดใช้งานไปสัก 20 นาทีตัวเครื่องจะมีความร้อนพอสมควร ระยะเวลาในการเบิร์นฯ นั้นต้องหลัง 50 ชั่วโมงแรกผ่านพ้นไปก่อนจึงค่อยตั้งใจฟังเพื่อประเมินคุณภาพเสียง เพราะสิ่งที่ได้จะต่างจากชั่วโมงแรก ๆ มากในทุก ๆ องคาพยพ อย่างแรกผมสังเกตพบว่า

วอลุ่มของ Devialet 170 ตัวนี้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมามาก คือถ้าต้องการฟังที่ระดับความดังเฉลี่ยเท่า ๆ กันตลอดเวลา เมื่อสลับเปลี่ยนอัลบั้มเพลงหลาย ๆ ชุดลองฟังดู พบว่าระดับเกนของวอลุ่มที่ใช้จะต่างกันค่อนข้างชัดเจน ขึ้นอยู่กับความแรงของสัญญาณเอาต์พุตที่เครื่องเล่นต้นทางปล่อยมาบวกกับเกนของเพลงที่บันทึกมาด้วย ต้องคอยปรับตลอด

ถ้าแผ่นไหนอัดมาเบาต้องเร่งวอลุ่มขึ้นไป แผ่นไหนอัดเกนมาแรงมากก็ต้องลดลงมา แต่ที่เจ๋งมากก็คือ ไม่ว่าจะเร่งวอลุ่มขึ้นไป หรือลดวอลุ่มลงมาเพื่อให้ได้ระดับความดังที่ต้องการ ผมพบว่า นอกจากความดังที่เปลี่ยนไปแล้ว ภาคขยายของแอมป์ตัวนี้ไม่ได้ทำให้คุณสมบัติด้านอื่นของเพลงที่ฟังเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น sound stage, tonal balance หรือแม้แต่ dynamic contrast ทุกอย่างยังคงรูปทรงและสัดส่วนเดิมที่เพลงนั้นถูกบันทึกมาเอาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง.!

ลักษณะเสียงของแอมป์ตัวนี้ไม่เหมือนกับที่ผมคาดว่าจะได้ยินจากแอมป์ตัวนี้ในวินาทีแรกที่เห็นรูปร่างหน้าตาของมัน เสียงของ Devialet 170 ทำให้ผมนึกถึงเพาเวอร์แอมป์คลาส เอระดับตำนานอย่าง Mark Levinson รุ่น ML-2 ซึ่งเป็นแอมป์โซลิดสเตทรุ่นแรก ๆ ที่นักเล่นแอมป์หลอดให้การยอมรับในคุณลักษณะของเสียงที่มีความเนียน ฉ่ำ โปร่งใส และให้อิมเมจตัวเสียงที่ขึ้นรูปเป็นสามมิติ

คุณภาพโดยรวมไม่แพ้แอมป์หลอดชั้นดีเมื่อจับคู่กับโหลดของลำโพงที่กำลังขับ 25 วัตต์ต่อข้างของ ML-2 สามารถรับมือไหว Devialet 170 ตัวนี้สามารถทำแบบเดียวกับ ML-2 ได้ และดีกว่า.. คือด้วยกำลังที่สูงถึง 170 วัตต์ต่อข้างของมันทำให้ไม่มีข้อจำกัดในการรักษาคุณลักษณะของเสียงแบบ Class A ที่ดีเยี่ยมเอาไว้ได้อย่างมั่นคง แม้ว่าจะเจอกับลำโพงที่มีโหลดยาก ๆ และเปิดดังจนเต็มห้องก็ตามที

คุณสมบัติที่ช่วยสนับสนุนว่า Devialet 170 ไม่เหมือนกับแอมป์ดิจิตัล คือเสียงของมันไม่มีลักษณะที่สว่างโพลนเหมือนเสียงของแอมป์ดิจิตัลหลาย ๆ ตัวที่เคยฟังมา ในทางกลับกัน

เสียงของ Devialet 170 กลับให้ความรู้สึกผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเหมือนแอมป์อะนาล็อก pure class A ที่มีกำลังสูง ๆ และเป็นลักษณะของภาคขยายที่ดีไซน์มาให้สามารถตอบสนองแบนด์วิธของเสียงได้กว้างมาก ๆ และด้วยดีไซน์ที่สามารถจัดการกับ noise ในวงจรได้อย่างเด็ดขาด

ทำให้สามารถควบคุมการทอดปลายเสียงของฮาร์มอนิกทั้งในย่านทุ้มและแหลมออกไปได้อย่างต่อเนื่อง ครบถ้วน ไม่ตกหล่น ไม่กุดด้วน เสียงที่ได้จึงไม่ห้วน สามารถทอดผ่อนปลายเสียงไปได้ยาวเท่าที่เพลงนั้นถูกบันทึกมา อีกทั้งยังได้ลักษณะของเสียงที่เปิดโล่งมาก ๆ เพราะอิมพีแดนซ์ที่เอาต์พุตของแอมป์ซึ่งต่ำกว่า 0.001 โอห์ม

ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างเอาต์พุตของแอมป์กับอินพุตของลำโพงมีลักษณะเป็นท่อตรง ส่งผลให้แอมป์สามารถลำเลียงกำลังขับไปป้อนให้กับลำโพงได้อย่างเต็มที่และรวดเร็ว ทันกับความต้องการของลำโพงในทุกเสี้ยววินาที ส่งมรรคผลไปถึงคุณลักษณะในการตอบสนองต่อ speed ของไดนามิกที่รวดเร็ว ไม่มีปัญหา delay หรือ overshoot ได้ pitch ของดนตรีที่เที่ยงตรงตามจังหวะการบรรเลงจริงของนักดนตรีมากขึ้น

ตรงตามทรานเชี๊ยนต์ของสัญญาณอินพุตทุกเสี้ยววินาที นั่นทำให้ผม “ได้ยิน” รายละเอียดที่เชื่อมโยงระหว่างตัวโน๊ตแต่ละตัวได้ครบถ้วนมากขึ้น

เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ Devialet 170 สามารถแสดงลักษณะของเสียงที่มีส่วนผสมของ “ความสด” “กระชับ” และ “นุ่มนวลหู” ออกมาได้พร้อม ๆ กัน..

มันเป็นลักษณะของเสียงที่มีความเป็นมอนิเตอร์เมื่อเทียบกับสัญญาณต้นทางที่ป้อนเข้าไปในตัวมัน Devialet 170 ไม่ได้ทำให้ไฟล์ 16bit/44.1kHz เสียงดีขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น แต่มันทำให้ไฟล์ 16bit/44.1kHz เสียงดีอย่างที่ควรจะเป็นเมื่อไฟล์เพลงนั้นถูกเล่นผ่านแหล่งต้นทางที่มีคุณภาพสูง ๆ

ผมพบว่าเมื่อเล่นไฟล์เพลง WAV 16/44.1 ที่ริปมาจากแผ่นซีดีผ่าน Meridian 818V2+Media Drive 600 แล้วป้อนเป็นสัญญาณดิจิตัลเข้าไปที่ Devialet 170 ทางช่อง coaxial (DIGITAL 1) ได้เสียงออกมาดีกว่าเล่นผ่าน Cocktail Audio CA-X30 ที่ป้อนเข้าทางช่อง AES/EBU ของ Devialet 170

นั่นพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณภาพของแหล่งต้นทางที่มีผลต่อการเล่นไฟล์เพลง ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น แต่แม้ว่าคุณภาพเสียงที่ได้จาก CA-X30 จะสู้ 818V2 + Media Drive 600 ไม่ได้ แต่ถ้าไม่เปรียบเทียบกัน เมื่อเล่นไฟล์เพลงผ่าน CA-X30 ปล่อยเข้าทางอินพุต AES/EBU ของ Devialet 170 ก็พอจะพิสูจน์ให้เห็น ได้ว่าภาค DAC และภาคขยายในตัว Devialet 170 ทำหน้าที่ของมันได้อย่างน่าทึ่งมาก เสียงที่ได้ออกมาก็สร้างความซาบซึ้งในอรรถรสของดนตรีที่น่าพอใจ

เสียงของแอมป์ตัวนี้มีบุคลิกของแอมป์ class A ออกมาครบถ้วน คือ ใหญ่ เนียน นุ่ม และลื่นไหล แต่ที่แปลกไปกว่าเสียงของแอมป์ class A หลาย ๆ ตัวที่ผมเคยฟังมา นั่นคือว่ามันไม่มีอาการที่ส่อให้เห็นถึงลักษณะของการขับดันไม่ไหวออกมาให้ได้ยินเลย ตอนขับด้วยลำโพง Nola รุ่น KO ผมสามารถเร่งวอลุ่มขึ้นไปได้สูงมาก

สามารถขยับเพิ่มระดับความดังของเสียงขึ้นไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีอาการแผดกร้านหรือพุ่งล้นออกมาให้ได้ยินแม้แต่น้อย และผมกล้ายืนยันได้ว่ากำลัง 170 วัตต์ของมันสามารถสร้างสนามเสียงที่เปล่งบานเต็มไปทั้งห้องฟังขนาด 3.6×5.6 ตารางเมตรได้โดยไม่มีอาการเครียดของแอมป์ปนออกมาแม้แต่น้อย.!

ทุกครั้งที่ขยับวอลุ่มขึ้นไป ผมพบว่า ตำแหน่งของชิ้นดนตรีทั้งหมดยังคงนิ่งสนิทอยู่ตรงตำแหน่งเดิม มีก็แต่อัตราสวิงและการเน้นย้ำไดนามิกเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ซึ่งผิดกับลักษณะนิสัยของแอมป์ class A แบบดั้งเดิมทั่วไปที่มีกำลังจำกัด เมื่อเร่งเสียงให้ดังขึ้นไปถึงจุดหนึ่งจะมีอาการ “เปลี่ยนสี” คือโทนัลบาลานซ์เปลี่ยน โทนเสียงโดยรวมจะออกจ้าและเฟี๊ยวฟ๊าวขึ้นมาทันที

ในขณะที่ Devialet 170 ตัวนี้ไม่มีอาการนั้นเลย เมื่อทำการเปลี่ยนอัลบั้มจะพบว่าเกนขยายของแต่ละอัลบั้มมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะงานเพลงที่บันทึกเสียงมาก่อนปี 1960 และอัลบั้มเพลงของสังกัดออดิโอไฟล์บางสังกัดอย่างเช่น Sheffield Lab ซึ่งตัดแผ่นซีดีมาด้วยเกนสัญญาณที่ค่อนข้างต่ำ แต่วอลุ่มของ Devialet 170 ก็ยังคงมีเร้นจ์ให้ปรับเพิ่มได้มากพอจนสามารถอัดเพิ่มความดังขึ้นมาในระดับที่แน่นเต็มห้องได้

และที่ผมประทับใจสุด ๆ ก็คือว่าไม่ได้ดังขึ้นแบบเจี๊ยวจ๊าวนะครับ ทั้งความลื่นไหลและเนียนนุ่มยังคงอยู่ เลเยอร์ของซาวนด์สเตจก็ยังคงอยู่ และเมื่อฟังดัง ๆ ผมพบว่า Devialet 170 ตัวนี้ยังมีอีกคุณสมบัติที่น่าทึ่งมาก ๆ คือมันสามารถแยกแยะเลเยอร์ของเสียงได้อย่างเด็ดขาดมาก ๆ มันฟ้องให้เห็นว่าหลาย ๆ เพลงนั้นมิกซ์เสียงร้องกับเสียงดนตรีมาซ้อนทับอยู่ในตำแหน่งเดียวกันแต่แยกอยู่คนละระนาบของเวทีเสียง

อย่างเช่นเพลง Way Down Deep แทรคที่ 8 ของอัลบั้มชุด The Hunter (Jennifer Warnes) ซึ่งที่ผ่านมานั้นผมพบว่า เสียงทุ้มหนัก ๆ ในเพลงนี้ซึ่งถูกมิกซ์ซ้อนอยู่ด้านหลังของเสียงร้องมักจะเบียดแทรกขึ้นมากลบทับรายละเอียดของเสียงร้องบางส่วนในขณะที่ Jennifer Warnes เธอกำลังออกลีลาผ่อนเสียงเบา ๆ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเสมอตอนที่ผมลองฟังกับแอมป์ตัวอื่น ๆ และทำการเร่งวอลุ่มขึ้นมาดัง ๆ เพื่อให้ได้เสียงทุ้มที่แน่นหนักสะใจ

เรียกว่าได้อย่าง-เสียอย่าง คือถ้าอยากได้รายละเอียดของเสียงร้องออกมาครบ ๆ ก็ต้องหรี่วอลุ่มลงหน่อยเพื่อรักษา Low Level Resolution เอาไว้แต่ก็ต้องยอมรับกับเสียงทุ้มที่ลดความอหังกาลงไปด้วย แต่วันนี้ Devialet 170 ตัวนี้ทำให้ผมได้ทั้งพลังความหนักแน่นของเสียงทุ้มและรายละเอียดในช่วงแผ่วเบาของเสียงร้องออกมาพร้อม ๆ กัน

ทุกครั้งที่หมุนปรับวอลุ่มของ Devialet 170 ผมพบว่า ผลดัง-เบาของเสียงที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนระดับวอลุ่มมันเกิดขึ้นกับความถี่ตลอดทั้งย่านเสียงเสมอ ๆ กัน ในขณะที่ภาคเพาเวอร์ของ Devialet 170 ก็ยังสามารถจ่ายกำลังให้กับทุกความถี่ในอัตราเท่า ๆ กันจึงทำให้รายละเอียดของเสียงแต่ละความถี่ถูกเพิ่มขึ้นมา (หรือลดลงไป) ในอัตราส่วนที่เท่าเทียมกันไปตลอดเวลา

จึงทำให้ไม่เกิดผลเปลี่ยนแปลงกับ frequency response หรือลักษณะการตอบสนองความถี่ที่ได้ยินจากลำโพงแต่อย่างใด ในขณะที่แอมป์บางตัวนั้น เมื่อเร่งความดังขึ้นมามาก ๆ ความถี่ตอบสนองจะหดแคบลง

จากการทดสอบผมกล้าสรุปฟันธงว่า ทางด้านกำลังไม่มีปัญหา แต่ทางด้านคุณภาพเสียงว่าจะฟังดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของไฟล์เพลงเท่านั้นเอง ถ้าต้นทางเข้าไปดี เอาต์พุตที่ได้ออกมาก็สวรรค์ชัด ๆ เป็นคุณสมบัติที่น่าทึ่งสุด ๆ..!! ไม่อยากจะเชื่อว่าแอมป์ตัวบาง ๆ แบน ๆ จะสามารถทำได้แบบนี้..!!!

คุณชอบฟังเพลงร็อคหรือเปล่า.? คุณเคยรู้สึกมั้ยว่า เวลาเล่นเพลงร็อคกับเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ฯ แล้วมันไม่สะใจเอาซะเลย บางซิสเต็มนั้นเร่งเสียงให้ดังขึ้นมาได้เท่าที่อารมณ์ต้องการ แต่น้ำเสียงที่ออกมาถ้าไม่นุ่มนิ่มเกินไป ก็มักจะเซ็งแซ่เกินไป จนถึงกับมีเสียงบ่นกันว่า เครื่องเสียงไฮเอ็นด์ฯ ไม่เหมาะกับเพลงร็อค

หรือบางเสียงถึงกับสบประมาทว่า เพลงร็อคไม่เหมาะสมกับเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ฯ ต้องเพลงคลาสสิกหรือสแตนดาร์ดแจ๊สเท่านั้น ผมขอค้านว่าไม่จริง.!

ทุกครั้งที่คุณเร่งเสียงเพลงร็อคขึ้นมาแล้วได้ยินเสียงที่เซ็งแซ่จนแสบแก้วหู ยุ่งเหยิงโวยวายจนแยกแยะอะไรไม่ออก นั่นขอให้รู้ว่า ซิสเต็มนั้นกำลังมีปัญหาเรื่อง “กำลังขับ” ของแอมป์ สาเหตุนั้นร้อยละเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์มักจะเกิดจากแอมป์มีสมรรถนะไม่มากพอที่จะควบคุมการทำงานของลำโพง ซึ่งในสถานการณ์นั้น คุณมีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือถ้าไม่เปลี่ยนแอมป์ ก็ต้องเปลี่ยนลำโพง

และนี่คือคุณสมบัติหนึ่งของแอมป์ตัวแบน ๆ บาง ๆ ตัวนี้ที่ทำให้ผมทึ่งจนขนลุก ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามันจะสามารถปลดปล่อยพลังของวง Black Sabbath ออกมาโลดแล่นได้อย่างเต็มเหนี่ยว เต็มห้อง โดยไม่มีอาการจัดจ้านเลย อัลบั้ม Paranoid > DSD64 > Audirvana Plus > MyTek 192-DSD DAC > Devialet 170 (Analog LINE input)

และด้วยความสามารถในการตอบสนองความถี่ลงไปได้ถึง 0Hz (DC) และไปได้ไกลถึงแปดหมื่นกว่าเฮิร์ต บวกกับความสามารถในการอัดฉีดไดนามิกเร้นจ์ที่มากมายถึง 130dB โดยไม่มีสัญญาณรบกวนเข้ามาปน (S/N ratio = 130dB) และด้วยกำลังขับที่ตุนไว้มากถึง 170 วัตต์ต่อข้าง

นั่นทำให้ผมไม่รีรอที่จะรีบค้นหาเพลงคลาสสิกที่ชื่นชอบออกมาทดลองฟังกับแอมป์ตัวนี้ และผลลัพธ์ที่ได้ก็ทำให้ผมแทบจะนั่งไม่ติดเก้าอี้ อยากจะกระโดดไปหอมแก้มคุณ Pierre-Emmanuel Calmel กับคุณ Mathias Moronvalle สองผู้ก่อตั้ง Devialet สักคนละฟอด..

เพราะผมไม่เคยได้ยินเสียงของเพลงคลาสสิกที่ออกมา “เต็ม” มากขนาดนี้มาก่อน และมั่นใจว่าเป็นเพราะอิทธิพลของ Devialet 170 ตัวนี้นี่แหละที่ทำให้เพลงคลาสสิกที่ผมชื่นชอบสามารถเปล่งเสียงที่สวยสดงดงามออกมาได้เยี่ยงนี้ เริ่มด้วยเวทีเสียงที่โอ่อ่าซะเหลือเกิน ทั้งกว้าง ลึก และสูงแผ่ออกมาครบทุกมิติ แถมยังมีแอมเบี๊ยนต์หุ้มห่อเอาไว้ทั้งวง ให้ความรู้สึกที่อิ่ม ฉ่ำ และอบอุ่นเหลือคณา

เนื้อเสียงก็ออกมาเนียนนวลไปตลอดทั้งย่าน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องลม เครื่องสาย เครื่องโลหะ ทุกเสียงมีรายละเอียดที่ลงลึกไปถึง “ผิว” ของเครื่องดนตรีนั้น ๆ เลยทีเดียว เสียงเพอร์คัสชั่นหนัก ๆ ของเพลงแนวโอเวอเจ้อร์หลาย ๆ ชุดของค่าย Reference Recordings ที่แฟนเพลงแนวนี้ทราบดีว่ามันโหดกับทั้งแอมป์และลำโพงขนาดไหน แต่ Devialet 170 กับ Nola KO คู่นี้ก็สามารถประเคนมันออกมาได้อย่างเต็มเหนี่ยวโดยไม่มีอาการป้อแป้ให้เห็นเลย.. แม้แต่น้อย!

สรุป One day, everyone will own a Devialet.
ไม่ขอปิดบังหรืออ้อมค้อมนะครับ ในชีวิตของการทำอาชีพออดิโอ รีวิวเวอร์ร่วม ๆ ยี่สิบปีของผมที่ผ่านมานี้ ต้องขอบอกว่า Devialet 170 ตัวนี้คือผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ผมกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็น “innovation” ของวงการอย่างแท้จริง.!! อย่าหลงเข้าใจผิดเพียงเพราะติดอยู่กับรูปทรงที่แบนบางของมัน นี่ไม่ใช่แอมป์ดิจิตัลแฟนซีที่ดีแต่รูป

ภายใต้ตัวถังสแตนเลสที่แวววาวนั้นคือนวัตกรรมใหม่ถอดด้ามล้วน ๆ ผู้ผลิตกล้าใช้สโลแกนเรียกผลิตภัณฑ์ของเขาว่าเป็น 21th century High End Audio Technologies! ซึ่งหลังจากได้ทดลองด้วยสัมผัสทั้งห้าของผมเองแล้ว ต้องขอยอมรับว่านี่คือ “ความมหัศจรรย์ใหม่ของนวัตกรรม ออดิโอ” อย่างแท้จริง

และที่ผมแฮปปี้กับผลิตภัณฑ์ตัวนี้มาก ๆ ก็คือว่ามันไม่ได้แค่พกเอาประดิษฐกรรมใหม่ ๆ มานำเสนอให้เรารู้สึกหวือหวาอย่างเดียว หากแต่มันสามารถแอพพลายนวัตกรรมใหม่นี้ให้นำมาซึ่งคุณภาพของเพลงที่มีความเป็นดนตรีอย่างยิ่งยวดออกมาด้วย

เป็นคุณภาพเสียง+คุณภาพความเป็นดนตรีที่ถูกยกสูงขึ้นไปอีกขั้น ในระดับขีดขั้นที่ยังไม่มีแอมปลิฟายตัวไหนสามารถทำได้มาก่อน แน่นอนครับว่า วันหนึ่ง ผมจะต้องเป็นเจ้าของแอมป์ยี่ห้อนี้ให้ได้สักตัว..


นำเข้าและจัดหน่ายโดย
บริษัท DECO 2000 จำกัด
โทร. 0-2256-9700
ราคา 349,000 บาท

ธานี โหมดสง่า

นักเขียนอาวุโสมากประสบการณ์ เจ้าของวลี "เครื่องเสียงและดนตรีคือชีวิต"