fbpx
REVIEW

[Classic Review] Cocktail Audio : X30

หลังจากที่ได้รีวิว Cocktail Audio : X10 ไปแล้ว ผมก็ได้ทราบข่าวทาง Cocktail Audio เตรียมจะส่งเครื่องเล่นประเภทเดียวกับ X10 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเพราะเป็นเครื่องขนาด full size และสมรรถนะสูงกว่าในทุกด้านออกสู่ตลาด

ใหม่กว่า ใหญ่กว่าและตอบโจทย์ได้มากกว่า
เครื่องรุ่นใหม่ที่ว่านี้ใช้ชื่อรุ่นว่า X30 โดยพื้นฐานยังคงเป็นเครื่องเสียงประเภทเครื่องเล่นรวมชิ้นที่ผลิตจากโรงงานในประเทศเกาหลี สามารถเล่นเพลงจากแผ่นซีดีโดยตรงและเล่นจากไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ในฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซึ่งมีอยู่ทั้งในตัวมันเองหรือต่อพ่วงจากภายนอกผ่านพอร์ต USB ตลอดจนการเล่นไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ในมิวสิกเซิฟเวอร์ภายนอกด้วยการสตรีมผ่านระบบ network นอกจากนั้นแล้วเครื่องเล่นตัวนี้ยังมีภาคขยายเสียงในตัวทำให้สามารถต่อฟังเสียงกับลำโพงได้เลยโดยตรง

X30 แอบไปโชว์ตัวเงียบ ๆ ที่งาน ‘2013 Hong Kong High-End Audio-Visual’ มาแล้วก่อนหน้านี้และเพิ่งเปิดตัวในบ้านเราสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่วันแรกที่ได้เห็นข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องรุ่นนี้จนกระทั่งได้ลองเล่น X30 ด้วยตัวเอง ผมคิดว่าทางผู้ผลิตเขาตั้งใจทำมันออกมาเพื่อปิดจุดอ่อนต่าง ๆ ที่เคยมีใน X10 เครื่องรุ่นเล็กของเขาเลยล่ะครับ

ว่าไปตั้งแต่รูปร่างหน้าตาของมันดูจริงจังขึงขังและดูเป็นเครื่องเสียงไฮฟิเดลิตี้มากขึ้น จากรุ่นเดิมที่ตัวเครื่องส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกก็เปลี่ยนเป็นวัสดุโลหะโดยเฉพาะแผงหน้าปัดที่ทำจากแผ่นอะลูมิเนียมหนา 8 มิลลิเมตร

ขารองเครื่องที่มีการใช้วัสดุอะลูมิเนียมหล่อมาเป็นส่วนประกอบ และตัวถังเครื่องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นผลให้การระบายความร้อนของเครื่องทำได้โดยสะดวก พัดลมระบายความร้อนที่เคยมีในรุ่น X10 จึงไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไปเครื่องจึงทำงานได้เงียบลงกว่ารุ่นเดิมตลอดเวลา

ปุ่มควบคุมบนหน้าปัดเครื่องนอกจากปุ่มกดแล้วยังเพิ่มปุ่มหมุนแบบมัลติฟังก์ชันที่สั่งงานได้สะดวกกว่ามาให้ด้วย 2 ปุ่ม ปุ่มที่อยู่ด้านซ้ายมือเป็นวอลุ่มปรับความดังเสียงและกดเพื่อเงียบเสียง (mute) อีกปุ่มด้านขวามือใช้ทำหน้าที่เลื่อนตัวเลือก (scroll) กดเลือก (ok) หรือหยุดเล่นชั่วขณะ (pause)

ทางด้านเทคนิคแทบทุกอย่างที่เคยมีในรุ่น X10 ล้วนแล้วแต่ปรากฏเป็นเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมทั้งสิ้นใน X30 ตั้งแต่ส่วนประกอบภายนอกอย่างจอแสดงผลขนาด 5 นิ้วที่ใหญ่และคมชัดกว่าเดิม (800×480 pixel) ขั้วต่อสายลำโพงที่เปลี่ยนจากแบบสปริงหนีบในรุ่นเดิมมาเป็นขั้วต่อแบบไบดิ้งโพสต์ชุบทองที่ดูดีและแข็งแรงกว่ากันมาก

พอร์ต Ethernet (RJ45) ก็มีการอัปเกรดเป็นแบบไฮสปีด GigaFast Ethernet (10/100/1000Mbps) รับส่งข้อมูลได้เร็วกว่ารุ่นเดิม ช่องใส่ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) ที่ด้านหลังเครื่องที่ยังคงถอดประกอบได้ง่ายเหมือนเดิมแต่ปรับปรุงใหม่ให้สามารถใส่ HDD ได้ทั้งแบบ SATA 3.5 นิ้วและ 2.5 นิ้ว รวมถึง Solid State Drive หรือ SSD ได้ด้วยครับ

ขั้วต่อดิจิทัลเอาต์พุต (TosLink, Coaxial, AES/EBU) และดิจิทัลอินพุต (TosLink, Coaxial) ของ X30 เปิดโอกาสให้สามารถใช้มันเป็นดิจิทัลทรานสปอร์ตและ D/A Converter ได้ด้วยครับ

สเปคฯ ของขั้วต่อสัญญาณดิจิทัลเหล่านี้ไม่ได้น้อยหน้าอุปกรณ์ดิจิทัลในยุคสมัยเดียวกันเลยเพราะมันรองรับ resolution ของสัญญาณได้ตั้งแต่ 16bit/44.1kHz ซึ่งเป็นฟอร์แมตออดิโอซีดี ขึ้นไปจนถึงระดับ 24bit/192kHz ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ค่อนข้างสูงมากสำหรับสัญญาณ high resolution audio ในปัจจุบัน

ขั้วต่อ USB HOST (USB-A) ทั้ง 3 ชุด (หน้าเครื่อง 1 ชุด หลังเครื่อง 2 ชุด) ออกแบบไว้ให้ต่อกับอุปกรณ์ภายนอกเช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟหรือแฟลชไดร์ฟที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลไฟล์เพลง หรือต่อกับ WiFi USB Dongle หรือ USB Keyboard สำหรับการพิมพ์ป้อนค่าตัวอักษร

X30 ยังมาพร้อมกับภาคขยายหูฟังที่สามารถเสียบใช้งานหูฟังได้จากด้านหน้าเครื่องโดยตรง (มินิโฟน 6.3 mm) ภาคขยายเสียงระบบคลาสดีในตัวมีกำลังขับข้างละ 50 วัตต์ (อ้างอิงโหลด 8 โอห์ม) ใช้ชิพวงจรรวมของบริษัท Texas Instrument ส่วนของภาคขยายเสียงมีช่องรับสัญญาณอินพุตอะนาล็อกสเตริโอมาให้เลือกใช้งาน 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นขั้วต่อ RCA ด้านหลังเครื่อง

อีกชุดเป็นขั้วต่อมินิโฟน 3.5 mm ที่หน้าเครื่อง ในกรณีที่ใช้งาน X30 เป็นแค่ฟรอนต์เอนด์สามารถต่อสัญญาณออกจากช่อง ANALOG OUT (RCA) ออกไปเข้าภาคขยายเสียงภายนอกได้เหมือนกับฟรอนต์เอนด์ดิจิทัลทั่วไป

ขั้วต่อที่มาพร้อมกับคุณสมบัติใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในรุ่น X10 เดิมก็คือ ขั้วต่อ HDMI OUT สำหรับส่งภาพบนหน้าจอแสดงผลของ X30 ออกไปแสดงที่หน้าจอมอนิเตอร์ ทีวีหรือเครื่องฉายภายนอก ช่วยให้มองเห็นหน้าจอแสดงผลของเครื่องได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ผมว่าฟังก์ชันนี้มีประโยชน์มากสำหรับคนที่วางเครื่องเอาไว้ไกลตัวหรือหันหน้าเครื่องไปในมุมที่มองเห็นได้ยาก อีกฟังก์ชันคือขั้วต่อสายอากาศสำหรับ TUNER คลื่นวิทยุ FM ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการสตรีมผ่านระบบ Internet Radio หรือ Online Music Server ที่สามารถรับฟังจาก X30 ได้ด้วยเช่นกัน

Technical Insight
ผมมีโอกาสได้เปิดฝาครอบดูส่วนประกอบภายในเครื่อง X30 พบว่าการออกแบบวงจรแบ่งแยกออกเป็นส่วน ๆ ในลักษณะโมดูล มีการเชื่อมต่อถึงกันด้วยสายแพ สายสัญญาณ สายไฟ ระโยงระยางแลดูค่อนข้างวุ่นวาย การออกแบบลักษณะนี้อาจจะดูไม่สวยงามเป็นระเบียบนัก แต่มีข้อดีในแง่ของการแยกส่วนวงจรแต่ละส่วนไม่ให้รบกวนกัน สามารถพัฒนาหรือปรับปรุงวงจรแต่ละส่วนแยกอิสระจากกันได้ง่าย ซึ่งเหตุผลอย่างหลังนั้นผมว่าน่าสนใจสำหรับเครื่องเล่นเพลงในยุคคอมพิวเตอร์เช่นนี้

โดยพื้นฐานการออกแบบ X30 ก็เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กตัวหนึ่งเช่นเดียวกับรุ่น X10 แต่ในรุ่นใหม่นี้ได้ทำงานอัปเกรดซีพียูให้แรงขึ้นเป็น 700MHz หน่วยความจำ 4GB เทียบกันแล้วเพิ่มขึ้นจากรุ่น X10 เดิมที่ใช้ซีพียู 500MHz หน่วยความจำ 256MB ไปมากพอสมควร ด้านระบบปฏิบัติการยังคงเป็น Linux ระบบฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ใช้ในเครื่องเป็นฟอร์แมต NTFS

การออกแบบ X30 จัดวางวงจรที่เป็นส่วนของคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ด หน่วยความจำหรือ HDD เอาไว้ที่ด้านซ้ายมือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาเครื่อง) ซีดีไดร์ฟระบบ slot loading เป็นของยี่ห้อ Panasonic

ถัดมาเป็นวงจรส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาณเสียงโดยตรงทั้งวงจรภาคถอดรหัสและภาคขยายเสียง ภาคถอดรหัสใช้ชิพ DAC เบอร์ PCM1792A ของ Burr-Brown วงจร clock ใช้ TCXO Oscillator (Temperature Compensated Crystal Oscillator) เป็นต้นกำเนิดสัญญาณนาฬิกา ส่วนของวงจรดิจิทัลและอะนาล็อกใช้ไฟเลี้ยงแยกส่วนกันเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกัน

ภาคถอดรหัสของ X30 นั้นเคลมว่ารองรับสัญญาณดิจิทัลหลากหลายฟอร์แมตและรองรับสัญญาณ high resolution ด้วยครับ ข้อมูลในส่วนของ ‘Supported audio codec & format’ ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าสนับสนุนการเล่นไฟล์เสียงยอดนิยมแทบทุกฟอร์แมต (APE/CUE, MP3, HD WAV, HD FLAC, WAV, WMA, M4A, Apple Lossless, AAC, AIFF, AIF, Ogg Vorbis, PCM, Playlist(PLS, M3U))

รวมถึงไฟล์ฟอร์แมต DXD 24bit/352.8kHz ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ของงานในระดับสตูดิโอมาสเตอร์ในปัจจุบัน ผมแอบตั้งข้อสังเกตว่าฟอร์แมต DXD ใน X30 นั้นน่าจะไม่ได้เล่นแบบ native แต่เล่นโดยผ่านกระบวนการ down sample rate ลงมา เนื่องจากตามสเปคฯ แล้ว DAC เบอร์ PCM1792A นั้นรองรับ sample rate ไม่เกิน 200kHz

พูดถึงภาคจ่ายไฟใน X30 แล้วผมเห็นว่าทางผู้ผลิตเขามีความตั้งใจทำให้มันออกมาดีในระดับหนึ่งเลยล่ะครับ เพราะมีทั้งในส่วนที่เป็นภาคจ่ายไฟแบบสวิตช์โหมดและแบบลิเนียร์

ส่วนที่เป็นสวิตช์โหมดซึ่งมักจะมีสัญญาณรบกวนสูงกว่านั้นทางผู้ผลิตเขาเคลมว่าเป็นวงจรที่ออกแบบขึ้นมาใช้เองโดยเฉพาะ จ่ายกำลังไฟฟ้าได้ 150 วัตต์ มีสัญญาณรบกวนต่ำ มีความเสถียร ไม่ต้องใช้พัดลมช่วยระบายความร้อน และใช้ป้อนไฟเลี้ยงให้กับวงจรในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาณเสียงเท่านั้น

File Storage/Playback
เช่นเดียวกับรุ่นเล็กอย่าง X10 นั่นคือ X30 เป็นฟรอนต์เอนด์ที่ถูกออกแบบให้เล่นเพลงด้วยระบบเล่นจากไฟล์ข้อมูลหรือ file-based digital audio playback เป็นหลัก โดยออกแบบให้สามารถเล่นจากไฟล์ที่เก็บอยู่ในตัวเครื่องเองหรือเก็บอยู่ใน storage อื่น ๆ ภายนอก

สำหรับไฟล์ที่เก็บอยู่ในตัวเครื่องเองจะเก็บไว้ในไดร์ฟที่ใส่ได้จากด้านหลังเครื่อง กับ firmware เครื่อง X30 ณ ปัจจุบันขณะที่ผมทำการรีวิวจะรองรับฮาร์ดดิสก์ความจุสูงสุดถึง 4TB สำหรับฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟขนาด 3.5 นิ้ว, 1TB สำหรับฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟขนาด 2.5 นิ้วและ 500GB สำหรับ SSD

ในเครื่องตัวอย่างที่ส่งมารีวิวนี้ทางตัวแทนจำหน่ายได้ติดตั้ง HDD ขนาด 2TB ของ Seagate มาให้พร้อมกับไฟล์เพลงจำนวนหนึ่ง จากข้อมูลของผู้ผลิต HDD ขนาดนี้สามารถเก็บไฟล์จากแผ่นซีดีในแบบไฟล์ wav ที่ไม่มีการบีบอัดข้อมูลได้มากถึง 2,600 แผ่น ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าคุณจะเก็บไฟล์เพลงแบบ high resolution ไว้ในตัวเครื่องด้วยใส่ 4TB ไปเลยก็อาจจะเหมาะสมกว่า

การบันทึกข้อมูลเพลงเก็บลง HDD ที่อยู่ในเครื่อง นอกจากการริปแผ่นซีดีที่ผมแยกรายละเอียดเอาไว้ในกรอบแยกต่างหากแล้ว คุณยังสามารถสำเนา (copy) ไฟล์ที่ริปไว้แล้วหรือไฟล์เพลงอื่น ๆ ที่มีอยู่มาเก็บไว้ในตัวเครื่องได้ด้วย โดยการทำสำเนาผ่าน USB External Drive (HDD, Flash Memory) หรือ NAS ซึ่งกรณีหลังนี้ก็สามารถทำได้โดยสะดวกเพราะตัวเครื่องออกแบบให้รองรับการส่งผ่านไฟล์ทางระบบ network ได้ทั้งแบบ Samba server/client, FTP server

สิ่งเดียวที่แตกต่างจากในรุ่น X10 คือในรุ่นนี้ไม่มีพอร์ต USB Target ที่เสียบกับคอมพิวเตอร์แล้วมองเห็นตัวเครื่องเป็นไดร์ฟตัวหนึ่งซึ่งจะสามารถทำการสำเนาไฟล์มาเก็บไว้ได้เลยโดยตรง ทว่าวิธีอื่น ๆ ตามที่ว่ามานั้นก็ไม่ได้ถือว่ายุ่งยากอะไร

เพลงที่เก็บอยู่ในฮาร์ดไดร์ฟทั้งในตัวเครื่องเองและที่มาต่อพ่วงอยู่สามารถทำสำเนาหรือย้ายไปมาระหว่างกันได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในไฟล์ (Tag Edit) โดยอาศัยการสั่งงานผ่านตัวเครื่อง X30 ได้เลย และไฟล์เพลงเหล่านั้นสามารถกำหนดให้เข้าไปอยู่ในระบบฐานข้อมูลเพลง (Music Data Base) ของ X30 เพื่อให้การเล่นกลับ (playback) มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

ระบบฐานข้อมูลเพลงใน X30 นั้นแทบจะเรียกได้ว่าโคลนนิ่งมาจากรุ่น X10 การแสดงผลเลือกได้ทั้งแบบแสดงภาพปกแผ่น แสดงรายชื่อแบบเรียงลำดับชื่อศิลปิน, ชื่ออัลบั้ม หรือข้อมูลอื่น ๆ ดังเช่นระบบฐานข้อมูลเพลงทั่วไป เพลงที่อยู่ในฐานข้อมูลสามารถเข้าถึงและกดเล่นเพลงได้เลยโดยตรงจากทั้งปุ่มกดที่หน้าเครื่อง สะดวกขึ้นมาอีกนิดก็ใช้รีโมตคอนโทรล หรือการควบคุมตัวเครื่องผ่านระบบ web browser control ก็ได้

กรณีหลังนี้ผมลองเล่นแล้วไม่ค่อยโดนใจนักเพราะ GUI ซึ่งใช้แบบเดียวกันรุ่นเดิม X10 เป๊ะ แม้แต่ชื่อในหน้า web browser control ก็ยังเป็นรุ่น X10 เหมือนเดิม มันดูไม่ค่อยสวย การจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ค่อนข้างรก ถ้าสั่งงานผ่านคอมพิวเตอร์จอใหญ่ ๆ ก็ยังพอให้อภัย แต่ถ้าเป็นแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนผมว่ามันดูไม่ค่อยน่าใช้เอาซะเลย ไม่สมกับตัวเครื่อง X30 ที่ดูดีเลยสักนิด ข้อดีของมันตอนนี้เท่าที่ผมรู้สึกได้คือ มันฟรี และสามารถ edit tag ที่เป็นภาษาไทยได้

แต่ความน่าใช้ยังเป็นรองแอปฯ ที่สนับสนุน Universal UPnP อย่าง PlugPlayer อยู่หลายขุม ที่จริงผมได้รับข้อมูลจากทางตัวแทนจำหน่ายเรื่องแอปฯ ที่สามารถทำหน้าที่นี้ได้เหมือนกันอยู่หลายตัว แต่เท่าที่ผมได้ลองแอปฯ จำนวนหนึ่งบนระบบปฏิบัติการ iOS ผมคิดว่า PlugPlayer เป็น Universal UPnP Application ที่ใช้งานกับ X30 ได้ราบรื่นและปัญหาน้อยที่สุดแล้วล่ะครับ

ดังนั้นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในการทดสอบการเล่นไฟล์เพลงของเครื่องเล่นตัวนี้ผมจึงพึ่งพาการสั่งเล่นเพลงด้วยแอปฯ PlugPlayer ซึ่งติดตั้งอยู่ใน iPad เป็นหลัก โดยใช้มันทำหน้าที่เป็น UPnP Media Controller (รีโมตสั่งเล่นเพลง) และใช้ X30 ทั้งในโหมด UPnP Media Server (เซิฟเวอร์เก็บไฟล์เพลง) และ UPnP Media Renderer (ตัวถอดรหัสไฟล์เสียงที่เล่น)

เสริมด้วย UPnP Media Server ที่ผมสร้างขึ้นจาก Apple Mac mini + External HDD รุ่น DriveStation Quadra ขนาด 2TB ของยี่ห้อ Buffalo เชื่อมต่อกันด้วยสาย Firewire800 รุ่น Carbon ของ Audioquest ทำหน้าที่เป็น NAS และติดตั้งแอปฯ MinimServer เพื่อให้รองรับฟังก์ชัน UPnP Media Server การเชื่อมต่อ network ในส่วนของ Server และ Renderer เป็นแบบใช้สายทั้งหมด โดยใช้สาย Ethernet ของ Audioquest รุ่น Diamond ทั้งหมด เราต์เตอร์เป็นแบบ GigaBit LAN ของ Buffalo เชื่อมต่อกับ iPad 4th Gen ทาง WiFi

ก่อนจะแสดงความเห็นในส่วนของคุณภาพเสียง เรื่องหนึ่งที่เครื่องเล่นตัวนี้ทำให้ผมรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษก็คือ การทำงานรวดเร็วทันใจขึ้นมากเมื่อเทียบกับรุ่น X10 เดิม รวดเร็วทันใจตั้งแต่ขั้นตอนการบูสต์เครื่อง การเข้าถึงเมนูต่าง ๆ รวมถึงการควบคุมสั่งงานในภาพรวม และที่น่าประทับใจที่สุดคือความเสถียรในระหว่างการใช้งานอย่างหนักหน่วงตามประสาการทดสอบเพื่อรีวิวเครื่องของผม

บอกได้เลยว่าตั้งแต่เล่นระบบ network audio มา X30 เป็นเครื่องที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุดรุ่นหนึ่งเมื่อพิจารณากันในจุดนี้ มันไม่ยากเลยที่จะบอกว่า Cocktail Audio ได้เรียนรู้ความผิดพลาดและได้อุดรอยรั่วแก้ไข bug ต่าง ๆ จากรุ่นเดิมเพื่อพัฒนาให้เครื่องรุ่นใหม่ของพวกเขามีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

เรื่องเดียวที่ยังขัดใจคือผมคิดว่า Cocktail Audio ทำฮาร์ดแวร์ได้ดีพอที่จะมีแอปฯ ควบคุมที่เป็นกิจลักษณะของตัวเองออกมาได้แล้วอย่างน้อยก็บน iOS และ Android การควบคุมผ่าน web browser นั้นเป็นอะไรที่เชยมากแล้วใน พ.ศ.นี้

ช่วงหนึ่งในระหว่างการฟังเพื่อซึมซับคุณลักษณะต่าง ๆ ของเสียงที่ถ่ายทอดจาก X30 ผมได้ลองสตรีมไฟล์ตัวอย่างฟอร์แมต DXD 24bit/352.8kHz ของค่าย 2L (www.2l.no/hires/) จากเซิฟเวอร์ของผมมาเล่นกับ X30 ในโหมด Renderer เพื่อดูว่ามันจะเล่นได้ตามที่แจ้งไว้ในสเปคฯ หรือไม่ ผลปรากฏว่ามันเล่นได้ครับ เล่นได้อย่างราบรื่นและเสียงดีเสียด้วยครับ อย่างน้อยมันทำให้ผมพอจะลืม ๆ ข้อสงสัยที่ว่าภาคถอดรหัสของ X30 คงไม่ได้ถอดรหัส DXD แบบ native ไปได้บ้างเหมือนกัน

CD Playback, Ripping, Tag Edit
เช่นเดียวกับในรุ่น X10 นะครับ เครื่องเสียงที่ทำอะไรได้หลายอย่างในเครื่องเดียวแบบ all in one อย่างนี้แน่นอนว่าตอบโจทย์เรื่องความคุ้มค่า แต่อาจจะสร้างความรู้สึกประหม่าในการใช้งานให้กับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับระบบต่าง ๆ ของมันได้

ส่วนตัวแล้วผมเองค่อนข้างคุ้นเคยกับการใช้งาน X10 ดีพอสมควร เมื่อต้องมาลองใช้งาน X30 จึงไม่มีความรู้สึกเป็นเรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด อย่างน้อยการที่ X30 ยังเล่นแผ่นซีดีได้โดยตรงก็ทำให้ความคุ้นเคยเดิม ๆ ของคนเล่นเครื่องเสียงที่ต่อเนื่องมาจากยุคฟอร์แมตซีดีไม่ถูกหักหาญความรู้สึกกันในทันทีทันใด ไดร์ฟซีดีแบบ slot loading (สอดแผ่นเสียบเข้าไปในเครื่อง) ใน X30 ยังใช้ทำหน้าที่ rip หรือดึงข้อมูลจากแผ่นซีดีออกมาเก็บเป็นไฟล์เสียงได้ด้วย

ในภาคการเล่นแผ่นซีดีโดยตรงทุกครั้งที่โหลดแผ่นซีดีเข้าไปในเครื่อง ระบบของเครื่องจะหาข้อมูลแผ่นจากฐานข้อมูลของ FreeDB แล้วนำมาแสดงบนหน้าจอ ฟังก์ชันนี้สามารถทำได้ทั้งเวลาที่เครื่องออนไลน์อินเตอร์เน็ตหรือออฟไลน์ไว้ก็ใช้งาน เพราะว่าตัวเครื่องออกแบบให้สามารถติดตั้งฐานข้อมูลของ FreeDB เอาไว้ใช้งานแบบออฟไลน์ในตัวเครื่องได้ด้วย

โดยครั้งแรกที่ซื้อมาจะมีแผ่นซีดีข้อมูลขนาดใหญ่ของ FreeDB มาให้ติดตั้งโดยตรง หลังจากนั้นแล้วก็เพียงแต่คอยอัพเดตฐานข้อมูลนี้เป็นระยะ (ติดตามได้ในเว็บไซต์ www.cocktailaudio.com/freedb.html)

สิ่งที่คุณจะทำได้หลังจากนั้นคือการเล่นแผ่นไปตามปกติเหมือนเครื่องเล่นซีดีทั่วไปหรือกดปุ่ม Menu เพื่อสั่ง rip เก็บเป็นไฟล์ ซึ่งคุณสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะ rip เป็นไฟล์คุณภาพระดับใด ฟอร์แมตใด ซึ่งผมแนะนำให้เลือกเป็น wav หรือ flac เป็นอย่างต่ำ นอกจากนั้นยังเลือกได้ด้วยว่าจะเก็บข้อมูลเอาไว้ที่ไหน (HDD ในตัวหรือข้างนอกที่เชื่อมต่ออยู่กับพอร์ต USB ด้านหลังเครื่อง)

จากการลองใช้งานผมพบว่าข้อเสียของดาต้าเบสฟรีอย่าง FreeDB นั้นนอกจากความไม่ครอบคลุมอัลบั้มมากอย่างสุดยอดดาต้าเบสของ Gracenote ที่ใช้ใน iTunes หรือเครื่องเล่นของ Weiss แล้ว งานหลายอัลบั้มยังไม่สมบูรณ์ในข้อมูลอย่างเช่น มีคำผิดหรือไม่มีภาพปก

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับ X30 เพราะเครื่องเล่นตัวนี้มีระบบ tag edit ที่ค่อนข้างดีมาก คุณสามารถเข้าไปใส่หรือแก้ไข tag หลัก ๆ ได้ เสียบคีย์บอร์ดทางยูเอสบีให้พิมพ์ง่ายก็ทำได้ด้วย รวมถึงภาพปกที่สามารถดึงไฟล์จากทั้งที่เก็บข้อมูลอย่าง HDD หรือค้นไฟล์ภาพปกจากอินเตอร์เน็ตได้ด้วยตัวของมันเองเลย เป็นอะไรที่ค่อนข้างเอาใจผู้ใช้มากพอสมควรเลยล่ะครับ

ในเรื่องตัวอักษรภาษา ผมพบว่าข้อมูลของ FreeDB ที่รองรับ text code ทั้งแบบ ISO-8859 และ UTF-8 เวลาใช้งานกับ X30 ยังมีปัญหาเรื่องภาษาท้องถิ่นอยู่บ้างเช่น ภาษาจีนบางรูปแบบ อีกข้อสังเกตคือการป้อนภาษาไทยเข้าไปในระบบ tag edit จำเป็นต้องทำผ่าน web browser control เท่านั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยรีโมตคอนโทรลอินฟราเรดหรือคีย์บอร์ด

สำหรับเรื่องของภาษาและการแสดงผลบนหน้าจอของเครื่อง เท่าที่ผมลองเล่นดูก็ไม่มีปัญหาในด้านการแสดงผลแต่อย่างใดทั้งภาษาไทยและภาษาจีน

ฟังก์ชัน Recording เป็นอีกหนึ่งเขี้ยวเล็บที่น่าสนใจของ X30 เพราะนอกจากจะใช้แปลงเสียงจาก Internet Radio มาเก็บเป็นไฟล์เสียงแล้วยังสามารถแปลงสัญญาณอะนาล็อกที่ต่อเข้ามาทางช่อง ANALOG INPUT ได้ด้วย ฟังก์ชันนี้จึงน่าจะเป็นที่สนใจไม่น้อยสำหรับคนที่ต้องการริปแผ่นเสียงเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัลคุณภาพสูง เพราะคุณสามารถทำได้เลยโดยตรงกับ X30

ในการทดสอบผมลองฟังก์ชันนี้โดยเล่นแผ่นเสียงกับเทิร์นเทเบิ้ล Well Tempered Lab : Simplex ที่ติดตั้งหัวเข็ม Shelter : 501 MkII ต่อกับโฟโนปรีแอมป์ VTL : TP2.5 Series II ผมได้ลองริปแผ่นเสียงจำนวนหนึ่งเป็นไฟล์ 24/192 แล้วพบว่ามันเสียงดีมาก แถมยังสะดวกสุด ๆ เมื่อเทียบกับคราวอื่น ๆ ที่ผมลองริปแผ่นเสียง ซึ่งต้องอาศัยการทำผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์อีกที แถม A/D Converter ของตัวฮาร์ดแวร์เองถ้าจะรองรับการแปลงสัญญาณดิจิทัลถึงระดับ 24/192 ก็ยังหาได้ยากมากจริง ๆ สำหรับในระดับราคานี้

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจนะครับถ้าผมจะบอกว่า นี่คือเครื่องเล่นดิจิทัลราคาจับต้องได้ที่น่าจะได้รับความสนใจจากคนเล่นแผ่นเสียงมากที่สุดตัวหนึ่งในเวลานี้

คุณภาพเสียงและอัปเกรดภาค DAC
ในคาบของการลองฟังเสียงก่อนอื่นต้องเรียนว่าสัญญาณจากช่อง ANALOG OUTPUT ของ X30 นั้นเด่นกว่าเอาต์พุตจากขั้วต่อลำโพงพอสมควร เอาต์พุตอย่างหลังนั้นเท่าที่ลองขับลำโพงเล็กที่ไม่กินกำลังแอมป์มากนัก Q Acoustics : Concept 20 ผมว่ามันขับออกมาได้ดีพอสมควรเลยครับ เพียงแต่น้ำเสียงโดยรวมหรือความนิ่งสุขุมในการควบคุมลำโพงยังสู้การต่อสัญญาณ ANALOG OUTPUT ออกไปให้อินทิเกรตแอมป์ Creek : Evolution 50A ทำหน้าที่ขับลำโพง Concept 20 ไม่ได้เท่านั้นเอง

ในแง่ของการทำหน้าที่เป็นเครื่องเล่นแล้วส่งสัญญาณออกไปใช้ภาคขยายเสียงข้างนอก นอกจากที่ได้ลองจับเข้าชุดกับ Evolution 50A + Concept 20 แล้ว ผมยังได้ลองเล่น X30 กับอินทิเกรตแอมป์ Roksan : Oxygene และลำโพง Living Voice : IBX-R2 ซึ่งก็ให้เสียงที่น่าพอใจมากยิ่งขึ้นไปอีกตามลำดับ

ผมทราบว่าตัวเครื่อง X30 ที่ผมรีวิวเครื่องนี้ค่อนข้างใหม่ คือแทบจะเรียกได้ว่าใหม่แกะกล่องเลยทีเดียว ทางตัวแทนจำหน่ายเพียงแค่เปิดกล่องมาติดตั้ง HDD และใส่เพลงเข้าไปเท่านั้นเอง หลังจากผ่านช่วงเวลาการเบิร์นอินในช่วงแรกไปแล้ว ผมพบว่าน้ำเสียงที่ได้จาก X30 มีความนิ่งและเนียนหูมากขึ้น เวทีเสียงแผ่กว้างขยายขอบเขตออกไปมากขึ้นโดยที่ยังคงรักษาเนื้อเสียงไม่ให้เจือจางลงไปได้ด้วย

ทั้งหมดนี้ทำให้การสตรีมไฟล์ไฮเรส 24/44.1 งานรีมาสเตอร์ boxset ในแฟลชไดร์ฟลูกแอปเปิ้ลของ The Beatles มาฟังทำให้ผมมีความสุขกับดนตรี มีความสุขกับสุ้มเสียงที่ได้ยินอย่างที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ด้วยงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากมาสเตอร์เก่าแก่อย่างนี้แน่นอนว่าย่อมมีความไม่สมบูรณ์ในคุณลักษณะของเสียงปรากฏอยู่ประปราย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาถ้าการถอดรหัสเสียงยังสามารถถ่ายทอดความเป็นดนตรีออกมาให้ได้ยินมากพอ ความสุขจากการฟังก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

เทียบเอาจากความทรงจำ ผมว่าเสียงจาก X30 มีส่วนผสมที่ดีของเครื่องเล่นระบบ network audio หลายตัวที่ผมเคยฟังมา อย่างน้อยมันก็มีความเป็นกลางเพียงพอที่จะทำให้ผมรู้สึกการฟังเพลงในแต่ละอัลบั้มมีความแตกต่างกันไปทั้งอารมณ์ของดนตรี บรรยากาศและบุคลิกของการบันทึกเสียง เสียงที่สามารถแปรเปลี่ยนไปได้โดยไม่ยึดติดกับบุคลิกอย่างใดอย่างหนึ่งจนแน่นหนาเช่นนี้มันทำให้การฟังเพลงมีความเพลิดเพลินสนุกสนานจนบางครั้งก็ฟังกันแบบต่อเนื่องยาวนานจนลืมเวล่ำเวลาไปเลยเหมือนกันครับ

ผมยินดีด้วยกับคนที่มีแผ่นซีดีเพลงเก็บสะสมเอาไว้มาก ๆ แผ่นเก่าแผ่นใหม่ที่ผมได้ลองเอามาเปิดฟังกับ X30 ทั้งใส่แผ่นเข้าไปฟังโดยตรงและริปเป็นไฟล์เอาไว้ให้เสียงออกมาดีเลยล่ะครับ ดีในระดับที่คุณไม่ต้องไปขวนขวายหาเครื่องเล่นซีดีที่เล่นแผ่นได้อย่างเดียวมาแทนมันอีก นอกเสียจากว่าพร้อมจะลงทุนจ่ายแพงกว่านี้อีกอย่างน้อยเป็นเท่าตัว และถ้าไม่เป็นการเสียเวลาผมแนะนำให้ริบเป็นไฟล์ wav (หรืออย่างน้อยก็ flac) เอาไว้ฟัง จะได้เปรียบทั้งเรื่องความสะดวกและคุณภาพเสียงที่ดีกว่า

นอกจากไฟล์ดิจิทัล 16/44.1 แล้ว X30 น่าจะเป็นเครื่องเล่นราคาจับต้องได้อีกตัวหนึ่งที่เล่นไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูงได้ดี ให้สุ้มเสียงออกมาสมกับที่เป็นไฟล์ไฮเรส ไฟล์ 24/96 แทรค ‘Down to The River to Pray’ จากอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ O Brother Where Art Tou? ที่ผมมักจะใช้ตรวจสอบการตอบสนองต่อไดนามิกคอนทราสต์ของเสียง ตรวจสอบสมดุลเสียงและความเป็นดนตรี ฟังพลิ้วผ่านฉลุยกับเครื่องเสียงตัวนี้ รวมถึงงานสมัยใหม่ในยุคไล่เลี่ยกันอย่างไฟล์ 24/88.2 ชุด Genius Loves Company ของ Ray Charles

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้ฟังงานไฮเรสชุดหนึ่งที่บอกไปเชื่อว่าหลายท่านต้องรู้จักนั่นคืออัลบั้ม Folk Singer ของ Muddy Water ล่าสุดทาง HDTracks.com เพิ่งปล่อยขายงานรีมาสเตอร์ 24/192 ออกมา ซึ่งผมเองมีไฟล์ 24/192 งานชุดเดียวกันนี้ซึ่งได้ใช้คอมพิวเตอร์ริปจากแผ่น HDAD ของสังกัด Classic Records เก็บไว้ในเซิฟเวอร์อยู่แล้ว

เมื่อลองเอามาเปรียบเทียบกันพบว่า X30 สามารถถ่ายทอดความแตกต่างของงานไฮเรสทั้งสองชุดออกมาได้อย่างชัดเจน ไฟล์ที่ริปจากแผ่น HDAD จะมีระดับเสียงโดยรวมที่ดังกว่า เกนสูงกว่า แต่ความเนียนละเมียดนั้นเป็นรองไฟล์จาก HDTracks อยู่พอสมควร

ระหว่างลองเล่นไฟล์ไฮเรส ผมนึกขึ้นได้ว่าทาง SIS ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการได้คะยั้นคะยอให้ผมช่วยลองหา DAC แยกชิ้นภายนอกมาลองใช้งานกับเอาต์พุตดิจิทัลของ X30 ดูเพื่อการเปรียบเทียบ

หลังจากพิจารณาเพียงครู่หนึ่งผมก็ตัดสินใจเพิ่ม DAC แยกชิ้นราคาระดับมิดเอนด์ค่อนมาทางระดับเริ่มต้นอย่าง Moon : 300D v.2 เข้าไปในระบบ ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจทีเดียวครับสำหรับการลงทุนเพิ่มงบอีกเป็นเท่าตัว

เพราะในเพลงที่ดนตรีมีสเกลขนาดใหญ่โตอย่างเพลง ‘Walton : Crown Imperial – finale’ ไฟล์ 24/176.4จากอัลบั้มรวมเพลงชุด HRx SAMPLER 2011 ของค่าย Reference Recording การเพิ่ม 300D v.2 เข้าไปทำให้เสียงที่ออกมามีสเกลเสียงใหญ่โตขึ้น สัมผัสได้ถึงความดุดันของพลังเสียงและให้ความรู้สึกขยับเข้าไปใกล้เคียงคำว่าไฮฟิเดลิตี้มากยิ่งขึ้น เวทีเสียงขยายใหญ่ขึ้นได้อีก เนื้อเสียงมีมวลที่เข้มข้นและชัดมากขึ้น

ช่วงหนึ่งผมยังได้ลองต่อดิจิทัลเอาต์พุต AES/EBU ของ X30 ออกไปเข้า MYTEK DIGITAL : STEREO192-DSD DAC เสียงที่ได้ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตาเช่นกัน รายละเอียดและการเน้นย้ำชัดเจนขึ้น สเกลเสียงใหญ่ขึ้น จริงจังมากขึ้น เป็นไฮฟิเดลิตี้มากขึ้น อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของแนวทางการอัปเกรด X30 โดยการเพิ่ม DAC แยกชิ้นที่ต้องลงทุนอีกพอสมควร

ขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของ X30 หดหายไปไหน เมื่อผมใช้เวลาสักพักกลับมาฟัง X30 ทำงานแบบเดี่ยว ๆ ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ภายนอก เครื่องเล่นตัวนี้ก็ยังให้ความเพลิดเพลินกับเสียงเพลงเสียงดนตรีได้ดีพอที่จะทำให้ช่วงเวลาว่างในวันทำงานหรือวันหยุดของผมได้รับการเติมเต็มด้วยเสียงเพลงที่ไพเราะเสนาะโสต เพียงแค่เอานิ้วจิ้มเลือกเพลงผ่านหน้าจอ iPad เท่านั้นเอง

ผมยอมรับนะครับว่าจากที่ได้ลองเล่นมาทั้งหมดสำหรับการฟังเพลงแบบเล่นจากไฟล์ ถ้าเทียบคุณภาพเสียงในงบประมาณใกล้เคียงกันดูเหมือนว่าการเล่นแบบใช้คอมพิวเตอร์เป็นทรานสปอร์ตเสียบกับ USB DAC โดยตรงไม่ต้องยุ่งกับระบบ Network เลย อาจจะมีภาษีดีกว่าในแง่ของคุณภาพเสียง (โดยเฉพาะในงบประมาณที่ไม่สูงมาก)

แต่ทุกครั้งที่ได้ลองเล่นระบบเสียง Network Audio ที่เสียงดีและทำงานได้อย่างราบรื่น มีความเสถียรและไม่มีปัญหาจุกจิกผมมักจะรู้สึกเพลิดเพลิน มีความสุขกับการได้ฟังเพลงด้วยปริมาณที่มากกว่าและหลากหลายกว่าทุกครั้งไป ซึ่งกรณีนี้ก็ได้เกิดขึ้นในระหว่างการทดสอบ Cocktail Audio : X30 ด้วยเช่นกันครับ

ความคุ้มค่าแบบ All In One
การรีวิว X30 ไม่มีอะไรทำให้ผมรู้สึกหนักใจเลยนอกไปจากเรื่องเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อคราวที่รีวิวรุ่น X10 นั่นคือ ความสามารถที่เยอะ หลากหลายและล้วนแล้วแต่เป็นจุดเด่นของตัวเครื่อง ที่ทำให้ผมต้องใช้เวลาศึกษาและลองเล่นนานกว่าการรีวิวเครื่องเสียงทั่วไป

อาจจะดีกว่าสักหน่อยก็ตรงที่ผมเคยเล่นรุ่น X10 มาแล้ว การต่อยอดมาเล่นรุ่น X30 ซึ่งเป็นพื้นฐานเดียวกันจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามมากเกินจำเป็น แต่สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเล่นการค่อยปะติดปะต่อทำความเข้าใจการทำงานพื้นฐานของตัวเครื่องเป็นเรื่องสำคัญนะครับ และผมคิดว่ามันไม่ได้ยากเกินความสามารถของคนทั่วไปแน่นอน เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลามากกว่าเครื่องเล่นธรรมดาทั่วไปที่คุณเคยรู้จักมาก่อนเท่านั้นเอง

หลังจากที่ได้ลองเล่น มันทำให้ผมเข้าใจการออกแบบ X30 ที่ได้พยายามทำให้คอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งดูเป็นเครื่องเสียงมากกว่าคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นหน้าปัดที่ทำด้วยอะลูมิเนียมหนา 8 มิลลิเมตร การไม่มีพัดลมในตัวเครื่อง การที่มีภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์สำหรับภาคออดิโอ ภาคถอดรหัสที่ใช้ชิพเกรดเดียวกับเครื่องเสียงไฮฟิเดลิตี้ชั้นดี ตลอดจนทุกสิ่งอย่างที่ตั้งใจปรับแต่งมาเพื่อการฟังเพลงเป็นหลัก

โดยทั่วไปแล้ว ส่วนมากสินค้ารุ่นที่แพงกว่ามักจะให้ความรู้สึกคุ้มค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกันเองในยี่ห้อเดียวกัน แต่สำหรับ X30 และ X10 ของ Cocktail Audio นั้นกลับเป็นตรงกันข้าม จอแสดงผลที่ใหญ่และชัดเจนมากขึ้นทำให้การควบคุมสั่งงานตำแหน่งฟังจริงมีปัญหาน้อยลงเมื่อเทียบกับรุ่น x10 และถ้ายังรู้สึกว่าจอยังใหญ่ไม่พอคุณยังสามารถต่อสายภาพ HDMI ออกไปที่จอมอนิเตอร์ภายนอกได้ด้วย ตินิดเดียวตรงที่การสลับจอ ตัวเครื่องจะต้องทำการบูสต์ระบบใหม่ไม่สามารถสลับไปมาได้ทันทีทันใด

ในส่วนที่เกี่ยวกับเสียงของ X30 ก็ล้วนเป็นมาตรฐานระดับสูงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบ playback ที่เล่นไฟล์ดิจิทัลได้ถึง 24bit/352.8kHz หรือระบบ recording ที่สามารถแปลงไฟล์อะนาล็อกเป็นไฟล์ไฮเรสถึงระดับ 24bit/192kHz ได้ ทำให้การริปแผ่นเสียงเป็นไฟล์ดิจิทัลคุณภาพสูงสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมกับฮาร์ดแวร์ในส่วนที่เป็น A/D Converter

ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดนี้ต่อให้คุณภาพเสียงเป็นเรื่องรอง ผมว่า X30 ก็หาคู่แข่งที่สูสียากแล้วล่ะครับ แต่เมื่อได้ลองฟังเสียงกันแล้วผมคิดว่า X30 นั้นมีความคุ้มค่าอยู่ในระดับ Best Buy ได้เลยทีเดียว ผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ครับ


เนื่องจาก Classic Review เป็นรีวิวเครื่องเสียงที่ตกรุ่นไปแล้ว หรืออาจมีการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว ทางเว็บไซต์จึงขอสงวนข้อมูลตัวแทนจำหน่ายและราคาของสินค้าเพื่อป้องกันความสับสนในข้อมูล

 

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ