[Classic Review] CHORD ELECTRONICS : Chordette QuteHD
ครั้งแรกที่เห็น Chord Electronics : Chordette QuteHD (ต่อไปผมจะเรียกอย่างย่อว่า QuteHD – คิวท์เอ็ชดี) ผมยอมรับว่ามันเป็น DAC ที่น่าสนใจมาก มันมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ ‘เข้าทาง’ ในสิ่งที่ผมกำลังให้ความสนใจศึกษาหาประสบการณ์อยู่พอดี เรียกว่ามันมาถูกที่ถูกเวลาเลยล่ะครับ ดังนั้น ความอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง ของผมระริกระรี้จึงตื่นจากหลับไหลทันทีที่ได้ทราบว่าจะมีโอกาสได้ลองเล่นมัน
แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับเมื่อได้ทราบว่า ภายใต้เปลือกนอกที่แสนน่าเอ็นดูของ QuteHD นั้นได้ถูกบรรจุเอาไว้ด้วย ‘พลัง’ ของเทคโนโลยีดิจิทัลโปรเซสเซอร์ที่พูดได้ว่าหาไม่ได้ง่าย ๆ ใน DAC ระดับเดียวกัน หรือแม้แต่ DAC ที่แพงกว่านี้ตั้งหลายเท่าก็ตาม !
32 Bit/384kHz and DSD DAC
QuteHD เป็น DAC ตัวหนึ่งใน พ.ศ.นี้ที่เปิดตัวมาได้อย่างน่าสนใจมาก ๆ เลยทีเดียว ลำพังแค่ประโยคที่พิมพ์บนกล่องว่า ‘High definition digital to analogue converter 32 bit and up to 384kHz’ ก็ว่าน่าสนใจไม่น้อยแล้ว เจอ ‘Ultra-high data rate PCM and DSD USB digital to analogue converter’ อีกประโยคหนึ่งเข้าไปยิ่งทำให้มันน่าสนใจยิ่งกว่าได้นางเอกคนดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์
หลายท่านที่ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงของคอมพิวเตอร์ไฮไฟอยู่อย่างใกล้ชิดคงไม่ตกข่าวเกี่ยวกับการมาของเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้คุณสามารถเล่นไฟล์ DSD ของฟอร์แมต Super Audio CD (SACD) โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็น transport ร่วมกับ DAC รุ่นใหม่ ๆ ที่ออกแบบมาให้สนับสนุนเทคโนโลยีที่ว่านี้ซึ่งในปัจจุบันยังมีจำนวนค่อนข้างจำกัดและราคายังค่อนข้างแพง แต่ QuteHD เป็นหนึ่งในจำนวนที่ว่านั่นครับยกเว้นแต่ว่าราคาของมันอยู่ในระดับที่สามารถจับต้องได้ไม่ยาก
QuteHD ทุกเครื่องถูกออกแบบและผลิตขึ้นโดยทีมวิศวกรของ Chord Electronics ที่โรงงานในเมือง Kent ประเทศอังกฤษ มันเป็นเครื่องเสียงขนาดเท่าฝ่ามือที่มีคุณสมบัติพื้นฐานที่ไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดโดยขนาดทางกายภาพเลย มันสามารถต่อใช้งานได้กับทั้งคอมพิวเตอร์ PC หรือ Mac, digital iPod docks, เครื่องเล่น Blu-ray หรืออุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสัญญาณดิจิทัลอื่น ๆ ได้จากการเชื่อมต่อทางอินพุตที่ให้มาทั้งแบบ S/PDIF (BNC/Optical) และ USB
การเชื่อมต่อทางช่องอินพุต S/PDIF BNC นั้นรองรับรายละเอียดสัญญาณดิจิทัลความถี่แซมเปิลตั้งแต่ 32kHz ถึง 384kHz ส่วนอินพุต Optical นั้นถูกจำกัดไว้ที่ 192kHz ด้วยแบนด์วิธของตัวระบบเอง สำหรับช่องดิจิทัลอินพุต USB ออกแบบให้ทำงานในโหมด asynchrounous transfer (low jitter)
เช่นเดียวกับ USB DAC ชั้นดีทั่วไป อินพุต USB ของ QuteHD นั้นสามารถรองรับรายละเอียดสัญญาณดิจิทัลได้ถึง 192kHz และระบุว่าสามารถอัปเกรดเป็น 384kHz ได้ในอนาคต นอกจากนั้นแล้วช่องทางนี้ยังสนับสนุนการเล่นไฟล์ DSD ที่เป็นฟอร์แมตมาตรฐานของ SACD ด้วยเมื่อใช้งานร่วมกับโปรแกรมเพลเยอร์ในคอมพิวเตอร์ที่รองรับการส่งข้อมูล DSD ทางพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์
FPGA Power
นอกจากคุณสมบัติและความสามารถพื้นฐานแล้ว DAC ตัวเล็ก ๆ ขนาดแค่ประมาณฝ่ามือตัวนี้ยังได้ถูก ‘อัดแน่น’ เอาไว้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลชนิดที่คุณไม่สามารถพบเห็นได้ใน DAC ทั่วไปกว่า 90% ในตลาด นั่นเป็นเพราะว่าทาง Chord Electronics จากประเทศอังกฤษนั้นได้นำเอาเทคโนโลยีที่พวกเขาใช้ใน DAC ราคา 4,100 ปอนด์อย่าง QBD76HD มาใช้กับ DAC ราคาต่ำกว่า 1,000 ปอนด์ตัวนี้ด้วย ! ไม่ว่าจะเป็นภาคดิจิทัลฟิลเตอร์หรือภาคแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นอะนาล็อก (DAC)
ภายใต้ตัวเครื่องที่ทำจากวัสดุอะลูมิเนียมขัดกลึงตกแต่งอย่างดีของ QuteHD เมื่อมองผ่านช่องกระจกใสวงกลมที่เปิดให้เห็นบางส่วนภายในตัวเครื่อง จะมองเห็นชิปวงจรรวมและอุปกรณ์ SMD (Surface-Mounted Device) บนแผงวงจรพิมพ์จำนวนมาก
แต่ตัวที่เด่นที่สุดและถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของ DAC ตัวนี้ก็คือชิป Xilinx Spartan ซึ่งเป็นชิปวงจรรวมประเภท FPGA หรือ Field Programmable Gate Array ภายในประกอบไปด้วยลอจิกเกต (สวิตช์ไฟฟ้าขนาดจิ๋วที่คอยรับคำสั่งทางตรรกศาสตร์ให้เปิดหรือปิด) จำนวนมากมายมหาศาลซึ่งเชื่อมต่อกันอยู่แบบเป็นโครงข่าย matrix สามารถออกแบบให้ทำหน้าที่ได้หลากหลายในวงจรดิจิทัลโดยอาศัยคำสั่งจากการเขียนโปรแกรมบันทึกเข้าไป
ชิป Xilinx Spartan ตัวนี้ทำให้การออกแบบ QuteHD แตกต่างจาก DAC ทั่วไปที่คุณเคยรู้จักโดยสิ้นเชิง พวกเขาไม่ได้ใช้ชิป DAC แบบสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไปไม่ว่าจะเป็นของทั้ง ESS, Burr-Brown, Wolfson, Analog Device, AKM หรือ Cirrus Logic แต่ Chord Electronics ได้ออกแบบวงจร DAC ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Pulse Array DAC’ ของพวกเขาขึ้นมาเองโดยอาศัยความสามารถของชิป FPGA
ซึ่งไม่เพียงแต่วงจรในส่วนของ DAC เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวงจรในส่วนของ digital receivers ของแต่ละอินพุต, วงจรสวิตช์เลือกสัญญาณอินพุต, วงจรสัญญาณนาฬิกา, วงจรกำหนดจังหวะเวลาของการส่งข้อมูลทาง Isochronous USB (isochronous transfer with asynchronous synchronization), วงจร Digital Phase Lock Loop, วงจรดิจิทัลฟิลเตอร์ WTA interpolation รวมถึงวงจรส่วนที่สนับสนุนการเล่นไฟล์ DSD ผ่านโปรโตคอล DoP (DSD over PCM) ทางพอร์ต USB
‘Pulse Array DAC’ ของ Chord นั้นออกแบบโดยโรเบิร์ต วัตตส์ (Robert Watts) วิศวกรออกแบบวงจรดิจิทัลระดับหัวกะทิผู้ก่อตั้งเครื่องเสียงยี่ห้อ dpa ของอังกฤษ ที่มาที่ไปของ ‘Pulse Array DAC’ นั้นเท่าที่ผมลองศึกษาดูคิดว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
จากข้อมูลที่เปิดเผยในเอกสารของ Chord ระบุว่าชิป DAC สำเร็จรูปที่มีขายทั่วไปนั้นนอกจากจะผลิตเป็นจำนวนมาก มีข้อจำกัดในการปรับปรุงคุณภาพแล้วบางรุ่นยังไม่ได้เน้นคุณภาพสำหรับงานไฮเอนด์ออดิโอด้วยต่างหาก และส่วนมากในชิปสำเร็จรูปเหล่านั้นจะมีลอจิกเกตอยู่เพียงแค่ประมาณ 30,000 เกต ถ้าเปรียบแต่ละลอจิกเกตเป็นก้อนอิฐสำหรับสร้างบ้าน การเลือกใช้ชิปสำเร็จรูปเหล่านั้นเปิดโอกาสให้คุณสร้างบ้าน 3 ห้องนอนได้ไม่เกิน 6-7 รูปแบบ และปรับเปลี่ยนได้แค่การตกแต่งภายในหรือพื้นที่บางส่วนภายในสวนเพียงเท่านั้น
ในขณะที่การออกแบบวงจร DAC ด้วยชิป FPGA Spartan ซึ่งมีลอจิกเกตปริมาณมากมายมหาศาลให้เลือกใช้ได้ถึง 1,250,000 เกต เปิดโอกาสให้คุณสามารถสร้าง LA mansion ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลากหลายตามแต่ใจปรารถนา เรียกว่าแตกต่างกันแบบคนละโลกเลยทีเดียว !
Fifth-generation Pulse Array DAC และ WTA Filter
โดยพื้นฐานนั้น Pulse Array DAC ก็คือ DAC แบบ Delta-Sigma เช่นเดียวกับชิป DAC ระดับไฮเอนด์ส่วนใหญ่ในยุคนี้แต่ออกแบบให้เหนือกว่าด้วยความสามารถที่เหลือเฟือของชิป FPGA ประกอบกับซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่โปรแกรมสั่งงานให้วงจรประมวลผลมีความคุณสมบัติและความสามารถเป็นไปตามที่ออกแบบไว้
สำหรับวงจร Pulse Array DAC ที่ใช้อยู่ใน QuteHD นั้นเป็นวงจรที่ผ่านการพัฒนามาแล้วเป็นลำดับที่ 5 (Fifth-generation Pulse Array DAC) และมี Pulse Array DAC ทำงานร่วมกันถึง 4 ส่วน (four-element Pulse Array DAC) ใช้วงจร noise shaping แบบ 8th order ซึ่ง Chord อ้างว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับชิป DAC สำเร็จรูปทั่วไปในเวลานี้ ทำงานร่วมกับวงจรโอเวอร์แซมปลิ้ง 2,608 เท่าและวงจร WTA interpolation filter
Pulse Array DAC รุ่นปรับปรุงล่าสุดนี้มีความเพี้ยนและสัญญาณรบกวนต่ำกว่า Delta-Sigma DAC ทั่วไปหรือแม้แต่ Pulse Array DAC รุ่นก่อนหน้า ให้รายละเอียดที่ระดับสัญญาณเบา ๆ ดีมาก, มีความไวต่อการเกิด jitter ต่ำมาก, รายละเอียดเสียงไม่ถูกกลืนไปกับ noise floor และสามารถทำงานร่วมกับวงจรภาคอะนาล็อกที่เรียบง่ายเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของสัญญาณเสียงเอาไว้มากที่สุด นอกจากนั้นยังสามารถรองรับสัญญาณ DSD ได้โดยไม่จำเป็นต้องแปลงเป็นสัญญาณ PCM ก่อน
นอกจาก Pulse Array DAC แล้ววงจรภาคดิจิทัลอีกส่วนใน QuteHD ที่ได้รับการให้ความสำคัญมาก ๆ ก็คือภาคดิจิทัลฟิลเตอร์ที่มีชื่อว่า ‘WTA interpolation filter’ คำว่า ‘WTA’ ย่อมาจาก Watts Transient Aligned เป็นชื่อที่ตั้งเพื่อให้เกียรติกับ Robert Watts ผู้ออกแบบและพัฒนาอัลกอริธึมนี้ขึ้นมาซึ่งใช้เวลากว่า 30 ปีในการวิจัยและพัฒนามาสู่รูปแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
แนวคิดของ WTA filter มาจากการสนับสนุนแนวคิดของการบันทึกเสียงที่ sample rate สูง ๆ เพื่อหวังผลในการรักษา timing transient ให้ถูกต้องมากที่สุด เนื่องจากหูของมนุษย์นั้นอาจจะมีขีดจำกัดในการรับรู้ความถี่เสียงที่จำกัด แต่หูของมนุษย์สามารถรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของเฟสและคาบเวลาของคลื่นเสียงที่แตกต่างกันได้ละเอียดมาก ๆ ถึงในหน่วยย่อยระดับหนึ่งในล้านวินาที (microsecond) ซึ่งถ้าหากอ้างอิงกันตามนี้แล้ว sample rate ที่จำเป็นต้องใช้อาจจะสูงถึงระดับ 1MHz เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี sample rate ที่ระดับ 44.1kHz ก็สามารถให้ความถูกต้องของ timing transient ได้เช่นกันถ้าวงจร Finite Impulse Response (FIR) filter มีจำนวน ‘tap length’ มากเป็นค่าอนันต์ หมายความว่าจำนวน tap ยิ่งมาก การตอบสนอง timing transient ยิ่งมีโอกาสที่จะมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่า
ซึ่งข้อมูลของ Chord ระบุว่าชิปวงจรรวมแบบสำเร็จรูปทั่วไปมี tap จำนวนมากที่สุดก็แค่เพียง 256 tap เท่านั้น การมีจำนวน tap น้อยเช่นนี้จะเป็นสาเหตุทำให้เกิด transient timing error ซึ่งส่งผลลบต่อคุณภาพเสียงออกมาให้ได้ยินแน่นอน การทดลองเพิ่มจำนวน tap มากขึ้นเป็น 8 เท่าคือ 2,048 tap ก็ทำให้เสียงดีขึ้นมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความลื่นไหลหรือความคมชัดของมิติและเวทีเสียง
แต่ WTA filter นั้นน่าสนใจมากไปกว่านั้นเมื่อมันได้ถูกอ้างว่าสามารถทำงานได้เทียบเท่าจำนวน ‘tap length’ ที่เป็นค่าอนันต์ โดยอาศัยอัลกอริธึมพิเศษ WTA 256 tap ก็ให้เสียงดีกว่า 2,048 tap แบบปกติแล้ว และเมื่อออกแบบให้เป็น WTA 2,048 tap มันก็ดียิ่งขึ้นไปอีก
วงจร WTA filter ใน QuteHD ได้รับการปรับปรุงพัฒนาเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 แล้ว มีการใช้ WTA filter ที่มีจำนวน tap มากถึง 10,240 tap โดยอาศัยความสามารถของ gate-level core 1,024 tap ที่ออกแบบขึ้นเองจากชิป DSP FPGA ต่อขนานให้ทำงานร่วมกันจำนวนทั้งหมด 10 ชุด หมายความว่า WTA filter ของ QuteHD ในปัจจุบันจะเป็นรองก็แค่เพียง WTA filter 18,432 tap ที่อยู่ใน DAC รุ่น QBD76HD ของ Chord เท่านั้น
Setup and Installation
QuteHD มีภาคจ่ายไฟส่วนหนึ่งแยกออกไปต่างหากเป็นลักษณะดีซีอะแดปเตอร์ตัวเล็ก ๆ มีอินพุตดิจิทัลให้เลือกใช้งาน 3 ช่องและเอาต์พุตอะนาล็อสเตอริโอแบบ RCA Unbalanced 1 ชุด การไม่มีเอาต์พุตแบบบาลานซ์เห็นจะเป็นจุดเดียวที่ให้ติติงได้กระมังสำหรับ DAC ที่มีดีไซน์เข้าข่ายไฮเอนด์และมีความน่าสนใจด้านเทคนิคมากขนาดนี้
QuteHD ไม่มีสวิตช์เปิด-ปิดหรือปุ่มกดสั่งงานใด ๆ การเลือกเล่นอินพุตแต่ละช่องจะเป็นการเลือกอัตโนมัติโดยให้สิทธิจองการใช้งานกับช่องอินพุต USB ก่อน และให้สิทธิช่อง Coaxial BNC และ Optical รองลงไปตามลำดับ ทาง S/PDIF (Coaxial BNC/Optical) สามารถต่อใช้งานได้ตามปกติเหมือน DAC ทั่วไปตัวหนึ่ง
การเล่นทางอินพุตนี้การจำกัด jitter เป็นหน้าที่ของวงจร Digital PLL ในขณะที่การเล่นทางช่องอินพุต USB นั้นทางเทคนิคแล้วน่าสนใจกว่าเพราะจะใช้ clock ของตัว DAC เองเป็นตัวควบคุมการส่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ทำให้มี jitter เกิดขึ้นน้อยมากจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย
ดังนั้นการทดสอบคราวนี้ผมจึงมีโอกาสได้ลองต่อใช้งานช่องอินพุตดิจิทัล S/PDIF เพื่อลองฟังเพียงคร่าว ๆ และมุ่งให้ความสำคัญกับการต่อใช้งานผ่านช่องอินพุต USB ของตัว DAC มากกว่า อย่างไรก็ดี QuteHD ก็ได้แสดงศักยภาพของวงจร Pulse Array DAC และ WTA filter เหนือเครื่องเล่นดิจิทัลเกือบทุกตัวที่ราคาต่ำกว่าครึ่งแสนบาทลงมาได้อย่างชัดเจน
เด่นชัดที่สุดคือมิติโฟกัสที่คมชัดและพื้นเสียงที่สะอาดเกลี้ยงเกลา รวมถึงความเงียบสงัดที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเสียงอย่างนี้ไม่เคยมีปรากฏในเครื่องเสียงดิจิทัลระดับเริ่มต้นถึงมิดเอนด์ เป็นความพิเศษที่ทำให้ผมนึกถึงครั้งแรกที่ฟังเสียงของเทิร์นเทเบิ้ลแล้วรู้สึก ‘โดนใจ’ เข้าอย่างจัง
สำหรับอินพุต USB ไม่ว่าคุณจะเล่นกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ OS ตระกูล Windows หรือ Macintosh สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำก่อนคือการติดตั้งไดรเวอร์ของ QuteHD เพื่อให้คอมพิวเตอร์ของคุณสามารถสื่อสารกับตัว DAC เป็นภาษาเดียวกัน ไดรเวอร์ที่ว่านี้ถ้าผมจำไม่ผิดรู้สึกว่าจะใส่มาในแผ่นดิสก์ข้อมูลที่ให้มาด้วยกับตัวเครื่อง หรือไม่ก็สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ Chord (www.chordelectronics.co.uk) ซึ่งน่าจะได้เวอร์ชั่นที่อัปเดตอยู่เสมอ
เมื่อติดตั้งไดรเวอร์เรียบร้อยแล้วคอมพิวเตอร์ของคุณจะมองเห็น QuteHD อยู่ในกลุ่มของการ์ดเสียงหรือ sound adaptor ในชื่อ ‘Chord Asych USB 44.1kHz-192kHz’ ในคอมพิวเตอร์ Windows และจะมองเห็นเป็น ‘Chord 24/192 Usb Interface’ ในคอมพิวเตอร์ Mac
ช่องกระจกใสกลม ๆ บนตัว QuteHD นอกจากจะทำให้ผมมองเห็นตัวชิป Xilinx Spartan ที่เป็นพระเอกอยู่ใน DAC ตัวนี้แล้ว ช่องกระจกใสนี้ยังทำหน้าที่เป็นไฟแสดง (จากการส่องสว่างของหลอด LED เล็ก ๆ ในเครื่อง) เพื่อแจ้งบอกความถี่ sample rate ของสัญญาณที่ตัว DAC รับเข้ามาด้วยครับโดยแยกแต่ละความถี่ sample ด้วยสีสันที่แตกต่างกัน ถือว่าเป็น DAC ที่ผมรู้จัก ตัวที่สองแล้วที่แจ้งบอกความถี่ sample ด้วยวิธีนี้
ตัวแรกก็คือเจ้าแมลงปอ Audioquest : DragonFly แตกต่างกันเพียงแค่ QuteHD ตัวนี้สนับสนุน native sample rate หลากหลายกว่าจึงมีสีสันให้ออกมาโชว์มากกว่า ช่วงแรกของการใช้งานอาจจะยังจำไม่ค่อยได้แต่ถ้าใช้จนคุ้นเคยสักพักก็จะคุ้นเคยไปเอง อีกข้อสังเกตหนึ่งที่ผมพบระหว่างการใช้งานคือ ตัวเครื่องที่ค่อนข้างร้อน ซึ่งนั่นทำให้ผมไม่แปลกใจเลยว่าเพราะเหตุใดตัวถังของ DAC รุ่นนี้ถึงต้องทำจากวัสดุอะลูมิเนียมที่สามารถระบายความร้อนได้ดีทั้งตัว
ลองเล่น PCM – Red Book และ High Resolution
ผมลองเล่น QuteHD กับทั้งคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 7 และ Mac OSX โดยเล่นไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ใน external HDD ขนาด 2TB ของ Buffalo ซึ่งเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านไฮสปีด e-SATA (Windows) และ Firewire800 (Mac) ในคอมพิวเตอร์ Windows 7 ผมใช้โปรแกรม J.River Media Center 18 ซึ่งรองรับการเล่นไฟล์ DSD เป็นหลัก ส่วนการเล่นบน Mac OSX ผมได้ลองเพียงการใช้งานในโหมด PCM playback ตามปกติผ่านโปรแกรม Decibel สำหรับตัว QuteHD เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ด้วยสาย USB รุ่น Blue Heaven ของ Nordost
ช่วงแรกของการลองใช้งานผมยอมรับว่าค่อนข้างตื่นตาตื่นใจกับการบอกความถี่ sample ด้วยไฟสีต่าง ๆ ของ QuteHD ยิ่งคุณนั่งฟังเพลงในห้องที่ไฟสลัวมันให้ความรู้สึกอย่างกับได้เห็น UFO กำลังจะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ยิ่งเป็นครั้งแรกที่ลองเล่นไฟล์ที่ความถี่ sample ต่าง ๆ มันเป็นเรื่องน่าสนุกดีที่ได้คอยลุ้นว่ามันจะมีไฟสีอะไรออกมาบ้าง
ผมสังเกตว่าสีแสงไฟของบางความถี่ sample เป็นแสงมาจากไฟ LED เพียงสีเดียว แต่ละบางความถี่ก็มาจากแสงไฟของ LED มากกว่า 1 สี ซึ่งสีที่ผมสังเกตเห็นแบ่งความถี่ sample สำหรับสัญญาณ PCM ได้ดังนี้ สีแดง (44.1kHz), สีส้ม (48kHz), สีเหลือง (88.2kHz), สีเขียว (96kHz), สีฟ้าอ่อน (176.4kHz) และ 192kHz (สีน้ำเงิน)
น่าเสียดายว่าที่ความถี่ sample สูงกว่า 192kHz ผมไม่มีโอกาสได้ลองเล่น เนื่องจากทางช่อง USB ของ QuteHD ในปัจจุบันไปได้สูงสุดแค่ 192kHz ส่วนช่องอินพุตดิจิทัล BNC ที่ไปได้เกินกว่า 192kHz ผมก็ไม่มี digital source ที่จะมาต่อเล่นกับตัว DAC ทางช่อง BNC ที่ว่านี้
มีข้อสังเกตหนึ่งที่ผมพบระหว่างการฟังเปรียบเทียบ QuteHD กับ DAC หรือ Digital Player อื่น ๆ นั่นคือเอาต์พุตของ QuteHD นั้นค่อนข้างแรงแม้ว่าจะเป็นอันบาลานซ์ซิงเกิลเอนด์ก็ตามที โดยเฉลี่ยของเครื่องทั่วไปอะนาล็อกเอาต์พุตซิงเกิลเอนด์จะอยู่ที่ราว ๆ 2.0 โวลต์ ในขณะที่ข้อมูลของ QuteHD ที่เปิดเผยในบางแหล่งข้อมูลระบุว่าเอาต์พุตอะนาล็อกของมันสูงถึง 3.0 โวลต์เลยทีเดียว ดังนั้นการเปรียบเทียบเสียงทุกครั้งสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้และมีผลกับเสียงมากพอสมควรเลยก็คือระดับเสียงที่แตกต่างกันของ DAC แต่ละตัว
ว่ากันเรื่องน้ำเสียง ผมยังคงยืนยันความเห็นที่สอดคล้องกับตอนต่อเล่นทางช่องอินพุต S/PDIF ของ QuteHD ว่ามันเป็น DAC ที่มีพื้นหลังของเสียงที่เงียบสงัดมาก ๆ แม้ว่าผมจะต่อฟังเสียงจากหูฟังแบบ IEM หรือหูฟังที่มีแบนด์วิธกว้างขวางทั้งด้านความถี่ต่ำและความถี่สูงซึ่งสามารถรับรู้ได้ถึงแบคกราวนด์น้อยส์ได้ดีที่สุด ผมก็ยังไม่ได้ยิน noise ของ DAC ตัวนี้เลย มันทำให้ผมรู้สึกว่า DAC หลายตัวเสียงสกปรกไปเลย
QuteHD ทำให้ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของผมเป็นช่วงเวลาที่ผมได้สนุกอยู่กับการไล่ฟังเพลงจากแผ่นซีดีคุ้น ๆ มากมายที่ผมจับ rip เป็นไฟล์เก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ มันทำให้ผมสนุกอยู่กับ ‘รายละเอียดบางอย่าง’ ของเสียงที่ผมไม่คิดมาก่อนว่าจะได้ฟังจาก DAC ในระดับนี้
อันที่จริงแล้วรายละเอียดบางอย่างที่ว่านั้นไม่ใช่ของใหม่หรอกครับ เดิมมันก็มีอยู่ แต่มันมีอยู่แบบที่สัมผัสได้อย่างเลือนรางบ้างก็แอบซ่อนปะปนอยู่กับเสียงอื่น ๆ ความสะอาดและความคมชัดของเสียงที่ได้จาก QuteHD ทำให้ตัวโน้ตเหล่านั้นต่างมีพื้นที่เป็นของตัวเอง ไม่ต้องคอยขี่คอกันเหมือนเคย (Brent Lewis : Monkey Hip Gumbo…And Mothball Stew)
แต่ก็มีบางเสียงในอัลบั้ม Barb Jungr : Chanson-The Space in Between [Linn Records] ที่ทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือมานึกอีกทีผมอาจจะเคยได้ยินอย่างผิวเผิน เป็นพลังงานที่บางเบาจนโสตประสาทตีความไม่ได้ว่าเป็นเสียงอะไร ไม่ว่าจะเป็นความถี่ต่ำ ๆ ในช่วงท้ายของเพลง ‘La Chanson des Vieux Amants’ ที่เดาว่าเกิดจากการขยับของวัตถุบางอย่างทำให้เกิดเสียงทุ้มลึก ๆ เล็ดลอดมาเข้าไมโครโฟนบันทึกเสียง หรือเสียงลมหายใจที่ปะปนมากับเสียงร้องที่ผมไม่เคยได้ยินมันชัดเจนอย่างนี้มาก่อน
อีกครั้งกับเสียงลมจากการผิวปากและการร้องของ Livingston Taylor จากไฟล์ hi-res 24/96 อัลบั้ม Ink ของสังกัด Chesky Records สังเกตว่าค่ายเพลงออดิโอไฟล์เหล่านี้มักจะไม่ clean เสียงให้เกลี้ยงเกลาเหมือนพวกค่ายเพลงที่เป็น commercial จ๋า ๆ เพื่อรักษาความเป็นธรรมชาติและฮาร์มอนิกของเสียงน้ำเสียงเอาไว้โดยเฉพาะเสียงที่มาจากการร้องสดหรือเครื่องดนตรีจริง บ่อยครั้งจึงมักจะมีเสียงแปลกปลอมแอบซ่อนอยู่ในเพลงของพวกเขา
เมื่อได้เล่นกับซิสเต็มที่สามารถแสดงรายละเอียดของเสียงได้ดีพอ ได้ละเอียดมากพอ สิ่งเหล่านั้นจึงปรากฏออกมาให้ได้ยินราวกับว่าเขาตั้งใจบันทึกมันเข้ามา ซึ่งบางครั้งก็เป็นความตั้งใจของซาวนด์เอนจิเนียร์จริง ๆ นั่นแหละครับ ขนาดเพลงของศิลปินไทย บันทึกโดยซาวนด์เอนจิเนียร์คนไทยอย่างชุด Sabuy Dee ของ Mellow Motif ผมยังได้ยินรายละเอียดที่ว่านั่นเลย
ไฟล์ 16/44.4 จากแผ่นซีดีชุด Yo-Yo Ma : Japanese Melodies หรือ Tan Dun : Bitter Love เป็นอะไรที่ค่อนข้างพิเศษ เมื่อได้ฟังกับ QuteHD มันมีความสด เปิด กระจ่างชัดจะแจ้ง มีความสดและมีชีวิตชีวามาก ๆ ในขณะเดียวกันน้ำเสียงโดยรวมยังให้ความรู้สึกฟังสบาย ๆ เล่นได้ดังชนิดที่รู้สึกได้ว่ามีความเพี้ยนที่รบกวนโสตประสาทปรากฏอยู่น้อยมาก ๆ ลักษณะเสียงดังกล่าวยิ่งปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อไฟล์ hi-res 24/88.2 อัลบั้ม Carmina Burana ของสังกัด Chandos ทำให้ผมไม่ได้ลุกไปไหนเลยตลอดเวลาหลายสิบนาที !
ลองเล่น DSD ทางช่อง USB
การเล่นไฟล์ DSD ของแผ่น SACD เป็นฟีเจอร์หนึ่งที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของ DAC QuteHD เลยล่ะครับ ซึ่งการเล่นไฟล์ DSD นั้นส่วนหนึ่งเป็นความสามารถของตัว DAC เอง อีกส่วนหนึ่งเป็นความสามารถของตัวโปรแกรมเล่นเพลงในคอมพิวเตอร์ซึ่ง J.River Media Center ตั้งแต่ท้าย ๆ เวอร์ชั่น 17 เป็นต้นมาถึงเวอร์ชั่น 18 นี้สนับสนุนการเล่นไฟล์เพลง DSD ทั้งในรูปแบบการสตรีมเป็น direct bitstreaming DSD และ DSD Over PCM ผ่านทางพอร์ต USB ซึ่งอย่างหลังนี้ล่ะครับที่ใช้งานร่วมกันได้กับ QuteHD
DSD Over PCM หรือ DoP นั้นถือว่าเป็นมาตรฐานหนึ่งที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างกลุ่มผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในแวดวงคอมพิวเตอร์ไฮไฟ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูล DSD สามารถถูกส่งผ่านไปทางพอร์ต USB ได้โดยส่งออกไปในรูปแบบของสัญญาณ DSD ที่แพ็คอยู่ในรูปแบบของสัญญาณ PCM ซึ่งในการเล่นผ่าน J.River Media Center 18 มีส่วนที่ต้องตั้งค่าเพิ่มเติมเล็กน้อยจากค่า default ของโปรแกรมดังนี้
– ในเมนู Tools > Options > Audio > Output mode ไปที่ ‘WASAPI – Event Style’ และเลือก Device ให้เป็น ‘Chord Asych USB 44.1kHz-192kHz’
– ในเมนู Tools > Options > Audio > Bitstreaming เลือกที่ Custom… จากนั้นให้เลือก ‘DSD over PCM (DoP)’
– ในส่วนของ ‘DSD over PCM (DoP)’ ให้เลือก marker format เป็น DoP 1.0 (0xFA/0x05)
QuteHD รองรับการเล่นไฟล์ DSD ทางพอร์ต USB ตามมาตรฐาน DoP 1.0 protocol เมื่อใช้งานร่วมกับ J.River Media Center 18 ซึ่งรองรับการไฟล์ ISO ที่ rip จากแผ่น SACD ด้วย ทำให้ผมสามารถเล่นไฟล์ที่ rip จากแผ่น SACD ได้ด้วย นอกจากการซื้อไฟล์ผ่านการดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ตเช่นจากเว็บไซต์ bluecoastrecords.com, www.channelclassics.com/dsd.html หรือ www.ps3sacd.com/dsd_downloads.html) สำหรับวิธีการ rip แผ่น SACD สามารถศึกษาได้จาก www.computeraudiophile.com/f11-software/sacd-ripping-using-your-ps3-part-2-a-7495/
เมื่อเล่นไฟล์ DSD และตัว DAC QuteHD สามารถตรวจจับข้อมูลที่ส่งเข้ามาได้ ช่องกระจกใสของ QuteHD จะแสดงผลด้วยแสงสว่างที่เกิดจาก LED แสดงผลทุกตัว (All LED Glow) มองเห็นเป็นแสงสีขาวเหลือบม่วงหรืออมชมพูแล้วแต่มุมมองของสายตา
ที่จริงแล้วการเล่นไฟล์ DSD บน J.River Media Center 18 นั้นมีอีกหนึ่งวิธีที่สามารถเล่นกับ USB DAC ทั่วไปได้ นั่นคือการใช้ DSP ของ J.River Media Center 18 ทำการ resample และแปลงสัญญาณ DSD ให้เป็น PCM ก่อนจะส่งข้อมูลออกไป
ซึ่งในรูปแบบนี้ก็สามารถลองเล่นกับ QuteHD ได้เช่นกันโดยการปิดตัวเลือกในเมนู Tools > Options > Audio > Bitstreaming ให้เป็น None และตั้งค่าใน Tools > Options > Audio > DSP & Output format ให้สอดคล้องกับ resolution ที่ตัว DAC รองรับ
เท่าที่ผมได้ลองกับ QuteHD แม้ว่าจะเลือก resample สัญญาณ PCM ที่ถูกแปลงแล้วไปที่ความถี่ 176.4kHz เสียงที่ได้ก็ไม่ดีเท่ากับการเล่นผ่านทาง DoP 1.0 protocol ซึ่งก็สอดคล้องกับเหตุผลทางเทคนิคที่เข้าใจได้ว่าการที่สัญญาณ DSD ไม่ถูกแปลงไปเป็น PCM โดยสิ้นเชิงเมื่อถูกส่งไปยังตัว QuteHD ซึ่งสามารถประมวลผลสัญญาณ DSD ที่ un-packed แล้วได้โดยตรง ทำให้สามารถรักษาความบริสุทธิ์ของสัญญาณเอาไว้ได้มากกว่า
ครั้งแรกที่ฟังเป็นอะไรที่น่าทึ่งทีเดียวครับ ผมเองมีประสบการณ์กับแผ่น SACD มาก็พอสมควร ก่อนหน้านี้มีหลายคนพยายามจะบอกว่าเสียงของ SACD นั้นเข้าใกล้แผ่นเสียงมาก ๆ ในแง่ของความลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ช่วงที่มี Format War เกิดการสัประยุทธระหว่างฟอร์แมต SACD และ DVD-Audio
หลายคนที่เล่นเครื่องเสียงก็ค่อนข้างจะมีใจเทคะแนนให้ SACD มากกว่า แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่าพวกเขาเหล่านั้นถ้าไม่เคยฟังแผ่น SACD กับเครื่องเล่นระดับแสนหรือหลายแสนบาทมาก่อนแล้วได้มาฟังการเล่นไฟล์ DSD บน DAC ตัวนี้พวกเขาจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะสิ่งที่ผมรับรู้ได้จาก QuteHD มันอาจจะทำให้ดิจิทัลออดิโอใน พ.ศ.นี้ ‘เป็นไปได้’ มากกว่านั้น
อย่างเช่นใน SACD (ISO rip) อัลบั้ม Couldn’t Stand the Weather ของ Stevie Ray Vaughan And Double Trouble ซึ่งมีเพลงที่หลายคนคุ้นหูมาจากแผ่นซีดีรวมเพลงของ Burmester ชุดปกขาวนั่นคือ Tin Pan Alley (aka Roughest Place In Town) เวอร์ชั่น DSD ที่ผมฟังอยู่นี้ให้เสียงทิ้งห่างกินขาดที่ผมเคยฟังจากแผ่นซีดีของ Burmester แบบไม่เห็นฝุ่นครับ มันห่างแบบ out class เทียบกันไม่ได้เลย
การถอดรหัสของ QuteHD สามารถแสดงให้รับรู้ได้ถึงความแตกต่างที่ห่างกันแบบสุดขั้วของทั้งสองฟอร์แมต (CD vs SACD) ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง มันทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงวันวานที่เราเคยนั่งฟังแผ่น SACD เทียบกับแผ่น CD แล้วบางครั้งดันแอบรู้สึกค้านกับเหตุและผลทางเทคนิค แต่วันนี้และวินาทีนี้มันไม่ใช่แล้วครับ !
โอเคว่าการเปรียบเทียบ DSD กับ 16/44.1 อาจจะดูไม่ค่อยยุติธรรมนัก ผมจึงลองหาคู่ชกใหม่เป็นการเทียบระหว่าง DSD และ hi-res PCM อัลบั้มเดียวกันอย่าง Come Away With Me : Norah Jones (DSD vs 24/192) และ Jazz At The Pawnshop (DSD vs 24/88.2) ผลลัพธ์ที่ได้ผมไม่แน่ใจนักว่าเป็นเพราะ ‘Pulse Array DAC’ นั้นสอดคล้องและเอื้อกับสัญญาณ DSD มากกว่าหรือเปล่า ถึงทำให้ผมรู้สึกว่า DSD ให้เสียงที่ฟังแล้วลื่นไหล เนียนละเมียดละไมมีความเป็นอะนาล็อกมากกว่า ขณะที่ hi-res PCM ฟังแล้วมีลักษณะเน้นชัดและรู้สึกได้ถึงขอบเหลี่ยมของตัวเสียงมากกว่า
จะว่าไปแล้วความแตกต่างที่พบระหว่าง DSD vs hi-res PCM ก็ถือว่าไม่ได้ทิ้งห่างกันมากเหมือน DSD vs 16/44.1 แต่สิ่งที่บ่งบอกได้เด่นชัดโดยเฉพาะในคาบการฟังที่มากขึ้นเรื่อย ๆ คือ DSD ที่ฟังผ่าน QuteHD “มีความเป็นอะนาล็อกในน้ำเสียงมากกว่า” แหม่… ผมคุ้นจังเลยครับว่าเคยให้นิยามนี้กับอะไรมาก่อน
Beauty and the Ease – สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า QuteHD
ทุกครั้งที่จะรีวิวเครื่องเสียงสักรุ่น การได้รับทราบถึงคุณสมบัติเด่นหรือ ‘จุดขาย’ ของเครื่องเสียงนั้น ๆ คือสิ่งที่ผมมักจะให้ความสำคัญก่อนสิ่งอื่นใด ไม่เช่นนั้นแล้วผมคิดว่าอคติส่วนตัวของเราอาจจะพาให้หลงทางไปได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งอคติในที่นี้เป็นไปได้ทั้งสิ่งที่สายตามองเห็น ทักษะความรู้ หรือแม้แต่ประสบการณ์
นี่เป็นการรีวิวอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกลำบากใจ ที่ลำบากใจก็เพราะเกรงว่าจะพูดถึงคุณสมบัติของมันไม่ครบถ้วน ไม่น่าเชื่อว่า DAC เล็กตัวนี้ ๆ จะมีความสามารถเกินตัวได้ถึงเพียงนี้ มันมีขนาดไล่เลี่ยกับ DAC ราคาไม่กี่พันบาท แต่ประสิทธิภาพและความสามารถทรงพลังกว่ากันมาก
โดยเฉพาะการรองรับการเล่นไฟล์ DSD ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ยังหาได้ยากเย็นใน DAC ระดับราคาใกล้เคียงกัน มันทำให้ข่าวลือที่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะมีแผ่นดิสก์ที่บันทึกไฟล์ DSD ออกมาวางจำหน่ายเป็นอีกหนึ่งทางเลือก มีแนวโน้มจะเป็นจริงมากยิ่งขึ้น ส่วนใครมีแผ่น SACD เจ๋ง ๆ อยู่อย่าเพิ่งรีบขายทิ้ง ระหว่างนี้คุณควรหาวิธี rip มันเก็บไว้เป็นไฟล์ไว้ก่อนเพราะในอนาคตคุณจะได้ฟังมันผ่าน DAC สมัยใหม่ที่รองรับ DSD แน่นอนครับ ไม่มีทางเป็นอื่นใดไปได้เลย
“สะอาด มิติตัวตนคมชัด โปร่งกระจ่างและฟังสบายหู” คือนิยามที่ผมพยายามรวบรัดเพื่อให้เข้าใจง่ายเพื่อบอกกับผู้คนที่ทราบว่าผมได้ฟังเสียงของ DAC ตัวนี้แล้วถามว่าผมรู้สึกกับมันอย่างไร ซึ่งถ้าจะให้ขยายความก็ต้องบอกว่านั่นเป็นการนิยามอย่างหลวม ๆ ที่ยังมิได้แจกแจงในรายละเอียดเลยสักนิด ผมจึงมักจะเสริมด้วยข้อความที่เป็นบทสรุปสั้น ๆ อีกประโยคที่ว่า “ผมชอบเสียงมันมากนะ มันไม่เหมือน DAC อื่น ๆ ที่ผมเคยฟังมา”
“มันไม่เหมือน DAC อื่น ๆ ที่ผมเคยฟังมา” ใช่ครับ… ผมเชื่อว่าแต่ละลำดับขั้นในการพัฒนาการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละคนจะมีช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านเข้ามาแล้วทำให้คุณรู้สึกว่า นี่แหละคือบางอย่างในใจที่คุณกำลังค้นหาอยู่ ซึ่งครั้งหนึ่งคุณอาจจะเคยคิดว่ามันไม่มีปรากฏอยู่แต่เมื่อได้พบด้วยตัวเองทีแรกคุณอาจจะไม่เชื่อหรือคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่เมื่อได้พิสูจน์ทราบซ้ำแล้วซ้ำเล่าคุณจะเชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
เนื่องจาก Classic Review เป็นรีวิวเครื่องเสียงที่ตกรุ่นไปแล้ว หรืออาจมีการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว ทางเว็บไซต์จึงขอสงวนข้อมูลตัวแทนจำหน่ายและราคาของสินค้าเพื่อป้องกันความสับสนในข้อมูล