fbpx
REVIEW

รีวิว Chord Electronics : Poly

ประกาศ ! “การเชื่อมต่อ” เพื่อการสื่อสารและส่งถ่ายข้อมูลระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตจะอยู่ในรูปแบบของการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีไร้สายทั้งหมด..

เอ๊ะ ! หรือว่าผมจะพูดผิด ไม่ใช่ซิ.. ต้องไม่ใช้คำว่า “อนาคต” เพราะสิ่งที่พูดถึงข้างต้นมันได้เกิดขึ้นแล้ว.. วันนี้ !

Poly + Mojo
Poly ถูกออกแบบและผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะให้ใช้กับ DAC/Headphone Amp รุ่น Mojo ของ Chord Electronics เหตุผลก็เพื่อทำให้ตัว Mojo มีความสามารถในการรองรับการเล่นไฟล์เพลงผ่านทางเทคโนโลยีไร้สายทุกประเภทนั่นเอง

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือว่า ที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าคุณจะเล่นไฟล์เพลงบนอุปกรณ์เพลเยอร์แบบไหน อาทิ เล่นบน DAP, เล่นบนสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่เล่นบนคอมพิวเตอร์

ถ้าต้องการส่งสัญญาณเสียงไปที่ตัว Mojo คุณต้องใช้สายสัญญาณในการเชื่อมต่อ ถูกต้องมั้ย.. ไม่ใช่สาย Coaxial ก็ต้องเป็นสาย Optic แบบใดแบบหนึ่ง ระบบจึงจะสมบูรณ์

นั่นคือเมื่อก่อน.. แต่ต่อจากนี้ไป เมื่อมี Poly เสียบติดอยู่กับตัว Mojo แล้ว เวลาเล่นไฟล์เพลง ไม่ว่าจะเล่นจากแหล่งไหน คุณไม่จำเป็นต้องเสียบสายต่อใด ๆ เพื่อนำส่งสัญญาณเสียงไปให้ตัว Mojo อีกแล้ว

เนื่องเพราะว่าตัว Poly มันจะทำหน้าที่เป็นด่านหน้า คอยรับสัญญาณเสียงให้กับตัว Mojo ผ่านทางการรับ/ส่งสัญญาณด้วยวิธีไร้สายนั่นเอง

Wireless Hub?
“.. Poly is our revolutionary streaming module for Mojo and is based on a condensed high-level PC, with data server, DLNA receiver, Wi-Fi hub, Bluetooth module and SD card reader/player functionality..”

ในเว็บไซต์ของ Chord Electronics บรรยายสรรพคุณของ Poly ไว้อย่างนี้ มันมีความหมายว่าอย่างไร.? เขาบอกว่า มันสมองที่ใช้ควบคุมการทำงานภายในตัว

Poly ก็คือคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่ถูกย่อส่วนเข้าไปไว้ในนั้น แม้ว่ามันจะมีขนาดเล็ก แต่ก็ดูถูกไม่ได้นะครับ เพราะในนั้นมีความสามารถหลายอย่างอัดแน่นอยู่ ได้แก่

1. Data Server
2. DLNA receiver
3. Wi-Fi hub
4. Bluetooth module
5. micro SD card reader/player

ในส่วนของ “Data Server” และ “DLNA receiver” คือฟังก์ชั่นที่ทำให้คุณสามารถสตรีมไฟล์เพลงที่อยู่บน micro SD card ที่เสียบอยู่ในช่อง micro SD card ของตัว Poly ไปเล่นบนอุปกรณ์ประเภท network player ตัวอื่นที่เชื่อมต่ออยู่ในวงเน็ทเวิร์คเดียวกันได้

ในภาพนี้ ผมทดลองใช้แอป ฯ เล่นไฟล์เพลง UPnP Media Player ที่ชื่อว่า SESAM ติดตั้งบน iPad2 เป็นตัวกลางในการสตรีมไฟล์เพลงจากแหล่งเก็บสัญญาณ หรือเซิร์ฟเวอร์ (แอป ฯ ตัวนี้เรียกว่า Source)

ซึ่งอยู่บน micro SD card ที่ผมเสียบไว้ที่ตัว Poly ออกมาเล่นแล้วส่งสัญญาณเสียงไปที่ปลายทางที่ชื่อว่า RENA-200 (ลูกศรขวามือ) ซึ่งก็คือตัวเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ของ EC Living by Electrocompaniet รุ่น RENA SA-1

ในกรณีข้างต้นนั้น เท่ากับว่าตัว Poly มีซอฟท์แวร์ที่ทำให้ตัวมันเองมีคุณสมบัติเป็น server คอยจัดการกับแหล่งเก็บไฟล์เพลงให้พร้อมที่จะส่งให้กับตัวเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ที่อยู่ปลายทาง (endpoint) เมื่อมีคำสั่งเรียกมาจากแอปลิเคชั่น UPnP ที่อยู่ในวงเน็ทเวิร์คเดียวกัน

แต่ก็ใช่ว่าแอป ฯ เล่นไฟล์เพลงบนเน็ทเวิร์คทุกตัวจะสามารถสตรีมไฟล์เพลงข้ามห้วยไป-มาระหว่างอุปกรณ์ที่เป็น server และ endpoint ได้นะครับ แม้ว่าจะเป็นแอปลิเคชั่นที่อยู่ในมาตรฐาน UPnP ก็ตาม ต้องทดลองดู บางตัวได้ บางตัวไม่ เท่าที่ผมทดลองดูตอนนี้พบว่ามีอยู่ 2 ตัวที่ทำแบบนี้ได้แน่ ๆ นั่นคือ SESAM กับ PlugPlayer (บน iPhone)

เนื่องจากตัวเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ RENA SA-1 ก็มีโปรแกรมที่ทำหน้าที่เป็น server อยู่ในตัวด้วย และผมได้เสียบ external USB-HDD ที่มีไฟล์เพลงเอาไว้ที่ช่อง USB-A ของตัว RENA SA-1

ผมจึงลองสลับข้าง ให้แอป ฯ SESAM สตรีมไฟล์เพลงที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ RENA SA-1 (ผมตั้งชื่อไว้ว่า SA-1 TEST) ไปให้ Poly ซึ่งสลับมาเป็นปลายทางบ้าง ปรากฏว่าผมก็สามารถฟังเพลงที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของ RENA SA-1 ผ่านภาค DAC/Amp บนตัว Mojo ได้ นี่ก็แสดงว่า Poly มีฟังก์ชั่น “DLNA receiver” อยู่ในตัวนั่นเอง

ที่ผู้ผลิตเคลมว่า Poly ตัวนี้มีคุณสมบัติเป็น “Wi-Fi hub” ก็เพราะว่ามันมีตัวกำเนิดสัญญาณ Wi-Fi 2.4GHz อยู่ในตัว (เรียกว่า Wi-Fi direct หรือ Wi-Fi P2P) ทำให้มันสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตัวอื่น ๆ

หรือทำให้อุปกรณ์ตัวอื่นสามารถเชื่อมต่อกับมันได้โดยตรงแบบ peer to peer โดยไม่จำเป็นต้องไปโยงผ่าน wireless access point ที่อยู่บน router อีกทอดหนึ่ง

ซึ่งแน่นอนว่า คุณสมบัตินี้มีคุณอนันต์สำหรับการใช้งานแบบพกพาออกไปนอกบ้าน เพราะทำให้ Poly สามารถรับข้อมูลเสียงจากอุปกรณ์ตัวอื่นได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่าน wireless access point

อาทิ รองรับสัญญาณเสียงจาก iPhone ผ่านทาง AirPlay เป็นต้น ซึ่งเป็นแต่ก่อน ถ้าออกไปใช้ฟังนอกสถานที่ที่สัญญาณ Wi-Fi ไปไม่ถึง ก็ต้องยอมลดระดับลงมาเป็นการรับ/ส่งสัญญาณเสียงผ่านทางเทคโนโลยี Bluetooth ที่ให้คุณภาพเสียงด้อยกว่าเทคโนโลยี Wi-Fi

มันทำได้ยังไง.? คุณอาจจะสงสัย ในกรณีที่คุณใช้อุปกรณ์พกพาที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ iOS หรือ Android คุณแค่เปิด Wi-Fi Hotspot ที่ตัวอุปกรณ์พกพาของคุณ

แล้วใส่ SSID กับพาสเวิร์ดของ Wi-Fi hotspot ของอุปกรณ์พกพาของคุณให้กับ Wi-Fi ของตัว Poly แค่นี้อุปกรณ์ iOS หรือ Android ของคุณกับ Poly ก็สามารถรับ/ส่งสัญญาณเพลงระหว่างกันได้แล้ว

อีกกรณี สมมมุติว่า อุปกรณ์พกพาของคุณสามารถเชื่อมต่อกับ Wi-Fi network ได้ แต่ตัวมันเองไม่มีฟังก์ชั่น Wi-Fi hotspot เพื่อแชร์สัญญาณ Wi-Fi ให้กับอุปกรณ์ตัวอื่น

กรณีนี้ Poly ก็ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์พกพาตัวนั้นได้ สาเหตุที่มันทำได้ก็เพราะว่า Wi-Fi ของตัว Poly มีโหมด Hotspot ที่ทำตัวมันเองให้มีคุณสมบัติเป็น wireless access point เพื่อให้คุณสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์พกพา หรือเครื่องเล่นไฟล์เพลง DAP ที่ไม่มี wi-fi hotspot ในตัวเข้ากับ Poly ได้

ได้ยินอย่างนี้แล้วเชื่อเลยว่าคุณต้องตบอกผางแล้วร้องว่า “เฮ้ย.. มันเจ๋งอ่ะ. ! !” ใช่ครับ.. มันเจ๋งจริง ๆ เป็นอุปกรณ์พกพาตัวแรกเท่าที่ผมเคยเจอมาที่ทำอย่างนี้ได้. ! ! !

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความครบเครื่องของการรับ/ส่งข้อมูลด้วยระบบไร้สายอย่างแท้จริง Poly ก็ได้ติดตั้งโมดูล Bluetooth มาให้ด้วย เป็นเวอร์ชั่น 4.1 โดยที่ Poly จัดความสำคัญของ Bluetooth ไว้เป็นอันดับแรก

สำหรับการเชื่อมต่อในกรณีที่ผู้ใช้นำเครื่องออกไปใช้นอกสถานที่และไม่ได้ทำการเชื่อมต่อ Wi-Fi ซึ่งในกรณีที่ต้องการเน้นคุณภาพเสียง ทางผู้ผลิต Poly แนะนำให้เชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi ถ้าสามารถทำได้

และสุดท้าย ในกรณีที่คุณไม่ได้เชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสัญญาณเสียงระหว่าง Poly กับอุปกรณ์ตัวอื่น ทางผู้ผลิตก็ยังเหลือทางเลือกไว้ให้ฟังเพลงอีกทาง นั่นคือ ฟังจากไฟล์เพลงที่เก็บอยู่บน micro SD card ซึ่งตัว Poly มีฟังก์ชั่น “micro SD card reader/player” อยู่ในตัว

ทำให้มันสามารถดึงไฟล์เพลงจาก micro SD card ออกมาเล่นได้ ส่วนการควบคุมการเล่นเพลงก็สามารถทำได้ผ่านแอปลิเคชั่น UPnP หรือ MPD บางตัว อย่างเช่น 8Player, SESAM, PlugPlayer บน iOS และ BubbleUPnP บน Android

หรือจะใช้แอป ฯ roon remote ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงบน micro SD card ก็ได้ เพราะในตัว Poly มีโปรแกรม roon bridge ติดตั้งไว้ด้วยแล้ว

ลักษณะโครงสร้างการเชื่อมต่อเพื่อเล่นไฟล์เพลงที่อยู่บน
micro SD card โดยอาศัยควบคุมการเล่นผ่านแอป ฯ 8Player

บนแอป ฯ 8Player จะมองเห็นมิวสิคเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่บนเน็ทเวิร์คเดียวกันและโชว์มันขึ้นมาให้คุณเลือกทั้งหมด ในภาพจะเห็นว่ามีเซิร์ฟเวอร์ของ Chord Poly ปรากฏขึ้นมาด้วย เมื่อคุณจิ้มเลือกไปที่เซิร์ฟเวอร์ของ Chord Poly จะเจาะเข้าไปที่โฟลเดอร์มาตรฐานด้วยในตามนี้…

เลือกไปที่โฟลเดอร์ Music ซึ่งในนั้นก็จะมีโฟลเดอร์ย่อย ๆ อีก 7 ตัวให้เลือก..

ถ้าต้องการให้ Playist โชว์ภาพอัลบั้มของเพลงที่เก็บอยู่บน micro SD card ขึ้นมาก็เลือกที่โฟลเดอร์ “Album”

เมื่อเจออัลบั้มที่ต้องการฟัง หลังจากจิ้มเลือกไปแล้ว บนหน้าต่างเพลย์ลิสจะเปลี่ยนมาโชว์แทรคเพลงทั้งหมดที่อยู่ในอัลบั้มนั้นขึ้นมา..

หลังจากจิ้มเลือกเพลงที่เล่น เสียงเพลงก็จะดังขึ้นมาพร้อมกับภาพบนหน้าต่างเพลย์ลิสจะเปลี่ยนมาแสดงเป็นแบบนี้..

ติดตั้ง Poly เข้ากับ Mojo
เพราะ Poly ถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับ Mojo ด้วยวิธีเสียบเข้ากับตัว Mojo มันจึงมีขนาดความกว้างกับความสูงของตัวถัง เท่ากับความกว้างและความสูงของตัว Mojo พอดี ๆ คือกว้าง 62 mm และสูง 22 mm ส่วนความยาวอยู่ที่ 50 mm

A : แท่งสลักพลาสติกที่เสียบเข้ากับช่องอินพุต Optical ของตัว Mojo
B : ขั้วต่อ micro USB สำหรับชาร์จไฟที่พ่วงไปที่ตัว Mojo
C : ขั้วต่อ micro USB สำหรับส่งสัญญาณเสียงจากตัว Poly ไปที่ตัว Mojo
D : แท่งสลักพลาสติกอีกแท่งที่เสียบเข้ากับช่องอินพุต Coax ของตัว Mojo

วัตถุประสงค์หลักของการเพิ่ม Poly เข้ากับตัว Mojo ก็เพื่อเปลี่ยนช่องทางอินพุตของ Mojo ให้เป็นระบบไร้สายทั้งหมด ทำให้ช่องอินพุต Coax กับช่อง Optical ของตัว Mojo ต้องถูกยกเลิกการใช้งานและถูกดัดแปลงใช้เป็นที่จับยึดสำหรับตัว Poly แทน

ส่วนสัญญาณเสียงจากตัว Poly ที่รับเข้ามาทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสตรีมเข้ามาทาง Wi-Fi หรือ Bluetooth รวมถึงสัญญาณเสียงที่ได้จากการเล่นไฟล์ที่อยู่ใน micro SD card ที่เสียบอยู่ที่ตัวของ Poly เอง ทั้งหมดนี้จะถูกนำส่งไปที่ตัว Mojo ผ่านทางช่องอินพุต micro USB ของตัว Mojo ช่องนี้ช่องเดียว

ก่อนเสียบตัว Poly เข้ากับตัว Mojo ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ทั้งสองตัวนี้มันจะยึดติดกันได้อย่างไร เพราะสลักพลาสติกทั้งสองแท่งที่อยู่บนตัว Poly นั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะอะไรที่พอจะใช้ยึดหรือล็อคแท่งสลักทั้งสองแท่งนั้นเข้ากับตัว Mojo ได้เลย

แต่หลังจากเล็งแท่งสลักทั้งสองให้ตรงกับช่อง coax และช่อง optical และดันตัว Poly เข้าไปแนบชิดกับตัว Mojo แล้ว ปรากฏว่ามันก็แนบติดกันได้อย่างแน่นหนา ผมลองเขย่าและสลัดแรง ๆ ก็ไม่หลุด

อาจจะเพราะความฟิตของช่อง micro USB ทั้งสองช่องมีส่วนช่วยเพิ่มความแน่นหนาก็เป็นได้ และตอนใช้งานจริง ผมได้ลองเอาใส่กระเป๋าสะพายไปเดินเที่ยวปุเลง ๆ อยู่เป็นนาน-สองนาน

ปรากฏว่าทั้งสองเครื่องก็ยังคงแนบชิดติดกันอย่างแน่นหนาเหมือนเดิม ไม่มีอาการหลวมหรือว่าทำท่าจะหลุดออกจากกันเลย แสดงว่าวางใจได้ในความแน่นหนา..

การใช้งาน

A : ช่องทางรับสัญญาณ Wi-Fi และ Bluetooth อยู่ใต้อะครีลิคขุ่นทึบนี้
B : ไฟ LED สลับสีที่ใช้แสดงสถานะการเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์ค และสถานะของแบตเตอรี่ของตัว Poly
C : ไฟ LED แสดงสถานะแบตเตอรี่ของตัว Mojo
D : ช่อง micro USB สำหรับชาร์จไฟ
E : ใช้เข็มโลหะที่ให้มาจิ้มลงไปที่รูนี้เพื่อปรับตั้งเน็ทเวิร์คของตัว Poly
F : ช่องเสียบการ์ด micro SD

ไฟแอลอีดีตรงตำแหน่ง B ในภาพถูกออกแบบมาให้แสดงสถานะของตัว Poly ในสองหน้าที่ สถานะแรกคือแสดงการเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์ค ถ้าไฟดวงนี้ติดสลับระหว่างสีฟ้ากับสีเขียว

แสดงว่าตัว Poly กำลังอยู่ในโหมด access point เพื่อเปิดโอกาสให้คุณใช้อุปกรณ์พกพาของคุณเชื่อมต่อเข้ากับ Wi-Fi ของตัว Poly เพื่อดึง Poly ให้เข้ามาเชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์ค Wi-Fi วงเดียวกันกับอุปกรณ์พกพาของคุณ

กรณีที่ไฟดวงนี้เป็นสีฟ้ากระพริบ แสดงว่ามันกำลังมองหา Wi-Fi เน็ทเวิร์คที่เคยต่อเชื่อมเอาไว้ก่อนหน้านั้น

เมื่อ Poly ทำการเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คได้แล้ว ไฟที่จุดนี้จะเปลี่ยนไปแสดงสถานะของปริมาณแบตเตอรี่ในตัว Poly ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 ระดับ คือ สีฟ้า แสดงว่ามีปริมาณแบตเตอรี่เหลืออยู่ 75-100%, ถ้าเป็นสีเขียวแสดงว่ามีปริมาณแบตเตอรี่เหลืออยู่ประมาณ 50-75%,

สีส้มแสดงว่ามีปริมาณแบตเตอรี่เหลืออยู่ประมาณ 25-50%, สีแดงแสดงว่าแบตเตอรี่ใกล้หมดแล้ว เหลืออยู่ไม่เกิน 25% เมื่อคุณเสียบสายชาร์จแบตฯ ไฟดวงนี้จะเปลี่ยนเป็นสีขาวแสดงสถานะว่ากำลังชาร์จไฟ

ครั้งแรกหลังแกะกล่อง คุณต้องทำการเชื่อมต่อ Wi-Fi ของตัว Poly เข้ากับ Wi-Fi network ที่คุณใช้เพื่อเข้าไปทำการปรับตั้งฟังก์ชั่นสำคัญ 2-3 อย่าง สำหรับเรื่องแบตเตอรี่นั้น ก่อนใช้งานตัว Poly ครั้งแรกหลังแกะกล่อง

ผู้ผลิตแนะนำให้ชาร์จไฟให้เต็มก่อน ด้วยการใช้อะแด๊ปเตอร์ชาร์จไฟที่จ่ายกระแสไฟได้ไม่ต่ำกว่า 1 แอมป์ หลังจากเสียบตัว Poly เข้ากับตัว Mojo แล้ว ช่อง micro USB ที่ใช้ชาร์จไฟจะเหลือแค่ช่องเดียว ซึ่งคุณก็ยังสามารถชาร์จไฟให้กับตัว Mojo และ Poly พร้อมกันได้ โดยที่ตัว Mojo จะถูกชาร์จก่อนจนเต็ม

จากนั้นตัว Poly จึงจะถูกชาร์จต่อ แต่ถ้าขณะชาร์จไฟคุณใช้ Poly + Mojo ฟังเพลงไปด้วย แบบนี้ถ้าจะให้ระบบการชาร์จทั้ง Poly และ Mojo ยังคงเป็นไปตามเดิม คุณต้องใช้อะแด๊ปเตอร์ที่จ่ายกระแสไฟได้มากขึ้น คืออย่างต่ำต้องจ่ายไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 แอมป์ มิฉนั้น ตัว Mojo จะถูกชาร์จแค่ตัวเดียว ส่วนตัว Poly จะไม่ถูกชาร์จ

กรณีที่ใช้อะแด๊ปเตอร์ที่จ่ายไฟตั้งแต่ 2 แอมป์ขึ้นไปในการชาร์จไฟทั้งตัว Poly และ Mojo พร้อมกัน ถ้าชาร์จโดยไม่เปิดเครื่องเล่นเพลงไปด้วย จะใช้เวลาชาร์จทั้งสองเครื่องอยู่ที่ 4 ชั่วโมง แต่ถ้าชาร์จไปด้วย เล่นเพลงไปด้วย จะใช้เวลาชาร์จนาน 8 ชั่วโมงจึงเต็ม ซึ่งหลังจากชาร์จเต็มแล้ว จะสามารถใช้ฟังเพลงติดต่อกันได้ 9 ชั่วโมง

เปิดเครื่องใช้งาน
ตัว Poly ใช้ระบบ auto-on โดยรับสัญญาณกระตุ้นมาจากสวิทช์ของตัว Mojo ฉนั้น ให้เสียบตัว Poly เข้ากับตัว Mojo ก่อน แล้วจึงค่อยกดสวิทช์ power ที่ตัว Mojo จากนั้นก็รอประมาณ 10 วินาที ไฟแอลอีดีที่ตำแหน่ง B จะติดสว่างขึ้นแสดงว่าตัว Poly พร้อมทำงาน

แต่ถ้าเลยสิบวินาทีไปแล้วตัว Poly ยังไม่ติดขึ้นมาพร้อมทำงาน ก็ให้กดปิดที่ Mojo แล้วทำการชาร์จแบตเตอรี่เฉพาะตัว Poly ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วเสียบใหม่

ทดลองฟังเสียง
ไร้สาย..? เสียงมันจะดีเหรอ.???

ถ้าคุณถามแบบนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว ผมก็คงต้องตอบว่า “เสียงไม่ดีหรอกครับ สู้แบบรับ/ส่งสัญญาณผ่านทางสายสัญญาณไม่ได้..” จบ ! แต่วันนี้ ไม่ใช่แล้วครับ เพราะเทคโนโลยีของการรับ/ส่งสัญญาณเสียงผ่านระบบไร้สาย

หรือที่เรียกกันว่า Wireless Audio Streaming Technology มันได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตอนที่มนุษย์ยอมรับว่าการเชื่อมต่อและรับ/ส่งข้อมูลโดยไม่ต้องใช้สายต่อเชื่อมเป็นวิธีการที่มนุษยชาติต้องการ

และวันนี้ เทคโนโลยีของการรับ/ส่งข้อมูลสัญญาณเสียงด้วยระบบไร้สายมันได้เดินทางผ่านพัฒนาการมาถึงจุดที่ทำให้มนุษย์ฟังเพลงอย่างพวกเรา ๆ ยอมรับได้โดยดุษฎีแล้ว ทั้งในแง่ของคุณภาพเสียงและที่สำคัญที่สุดก็คือ ในแง่ของความสะดวกสบายด้วย

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าพูดถึงการรับ/ส่งสัญญาณเสียงผ่านระบบไร้สายแล้วถามถึงคุณภาพเสียง ผมต้องขอถามกลับไปก่อนว่า ระบบไร้สายที่ใช้คือระบบอะไร.? Bluetooth หรือ Wi-Fi ถ้าเป็น Bluetooth เดี๋ยวนี้ก็เริ่มมีมาตรฐานที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ นะ

อย่างเช่นการรับ/ส่งสัญญาณเสียงที่เข้ารหัสเป็น aptX HD ซึ่งรับ/ส่งได้ถึงระดับไฮเรซฯ 24/96 ก็มีแล้ว หรือถ้าเป็นการรับ/ส่งผ่าน Wi-Fi ด้วยมาตรฐาน AirPlay ของแอปเปิ้ลก็จะได้สูงสุดแค่ 16/44.1 แต่เนื่องจากมาตรฐาน Wi-Fi ที่ระดับ 2.4 GHz มีแบนด์วิธมากพอสำหรับการรับ/ส่งสัญญาณเสียงที่มีความละเอียดสูงเกินกว่ามาตรฐานของแอปเปิ้ล AirPlay ขึ้นไปได้

ซึ่งก็เริ่มมีระบบรับ/ส่งสัญญาณเสียงบน Wi-Fi ไร้สายที่บางยี่ห้อคิดค้นขึ้นมาเอง อย่างเช่น ระบบรับ/ส่งสัญญาณเสียงผ่านระบบ Wi-Fi ไร้สายที่ Poly ตัวนี้ใช้อยู่ก็เป็นแบบที่ Chord Electronics คิดค้นขึ้นมา

เมื่อใช้งานร่วมกับโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงบางตัว อย่าง Audirvana Plus (อีกตัวที่รอคอยก็คือ Roon) บนระบบปฏิบัติการณ์ OS X ของคอมพิวเตอร์แมค คุณสามารถเล่น/ส่งสัญญาณเสียง DSD64 และ PCM ได้สูงถึงระดับ 192kHz จากคอมพิวเตอร์แมคฯ ไปให้ Poly ผ่านระบบ Wi-Fi ไร้สายได้

ลองเล่นไฟล์ไฮเรซฯ ฟอร์แม็ตต่าง ๆ ทั้ง PCM และ DSD กับโปรแกรม Audirvana Plus บนคอมพิวเตอร์ MacAir แล้วส่งให้กับ Poly + Mojo ผ่านทาง wireless Wi-Fi

ในภาพคือกำลังเล่นไฟล์ WAV 24/192 จากอัลบั้มชุด Harvest ของ Neil Young ที่ผมริปออกมาจากแผ่น DVD-Audio ปรากฏว่า สามารถเล่นได้ฉลุย… รวมทั้งไฟล์ DSF ที่ผมริปจากแผ่น SACD ออกมาเป็นไฟล์ DSD64 ด้วย !

หลังจาก Poly รับสัญญาณ DSD64 หรือสัญญาณไฮเรซฯ PCM จากคอมพิวเตอร์แมคมาแล้วจัดส่งต่อให้กับตัว Mojo เพื่อทำการแปลงให้เป็นสัญญาณอะนาลอก คุณภาพเสียงที่ได้ออกมาก็ดีเด่นไฮเรโซลูชั่นไปตามคุณภาพของไฟล์เพลงนั่นเอง

เท่าที่ผมทดลองฟังมานานร่วมเดือน ผมกล้าพูดได้ว่า Poly เป็นตัวรับสัญญาณเสียงแบบไร้สายด้วยคลื่น Wi-Fi ที่ให้เสียงดีที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังมา ! ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งของคุณภาพเสียงก็มาจากคุณภาพของไฟล์ที่เป็นฟอร์แม็ตไฮเรซฯ นั่นเอง

ส่วนกรณีฟังจาก Micro SD card ที่เสียบอยู่บนตัว Poly ไม่นับว่าเป็นการส่งสัญญาณเสียงแบบไร้สาย แม้ว่าต้องอาศัยการควบคุมการเล่นไฟล์เพลงด้วยแอป ฯ ผ่านทางระบบไร้สายก็ตามที เพราะเหตุว่าตัวไฟล์เพลงอยู่ใน Micro SD card ที่เสียบตรงอยู่กับตัว Poly นั่นเอง

ซึ่งเป็นวิธีเพลย์แบ็คที่จะทำให้คุณได้ระดับคุณภาพเสียงออกมาสูงสุดตามลักษณะของไฟล์เพลงที่คุณเล่น เพราะอินพุตนี้เล่นไฟล์ได้ตั้งแต่ระดับ MP3 ขึ้นไปจนถึงระดับ DXD และ DSD กันเลยทีเดียว (Poly รองรับความจุของ Micro SD card ได้ไม่จำกัด)

เสียงดีมาก !
ผมค้นพบความจริงข้อนึงของ digital audio นั่นคือ ไฟล์เพลงที่เสียงดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นไฟล์เพลงที่มีสเปคฯ สูงที่สุด แต่ขอให้ (1) เป็นไฟล์เพลงที่ผ่านการผลิตที่ดีในสตูดิโอ และ (2) ภาค DAC ที่ใช้เล่นไฟล์เพลงนั้นจะ “ต้อง” มีสเปคฯ สูงสุดตัวไฟล์เพลงอย่างต่ำหนึ่งเท่าตัวขึ้นไป ยิ่งสูงกว่ามาก ๆ ยิ่งดี !

นี่คือเหตุผลที่ทำให้เสียงที่ได้จาก Poly + Mojo ออกมาดีมาก เพราะภาค DAC บนตัว Mojo มันรองรับสัญญาณดิจิตัล ออดิโอได้สูงมาก น่าจะพูดได้ว่า เป็นหนึ่งใน external DAC ที่รองรับสัญญาณได้สูงที่สุดในขณะนี้ และภาค DAC ในตัว Mojo ก็ยังมีจุดเด่นกว่าภาค DAC ตัวอื่น ๆ

อีกจุดหนึ่งคือเป็นภาค DAC ที่ใช้วิธีเขียนอัลกอรึธึ่มในการแปลงสัญญาณดิจิตัล > อะนาลอกลงบนชิป FPGA ไม่ได้ใช้ชิปสำเร็จรูปเหมือน DAC ยี่ห้ออื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดทุกวันนี้

ซึ่ง Chord Electronics มองว่า ภาค DAC คือหัวใจสำคัญของอุปกรณ์ประเภทนี้ ซึ่งชิปสำเร็จมีข้อจำกัดหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคในการ “ดึง” คุณภาพเสียงออกมาจากไฟล์ ทำให้ไม่สามารถดึงรายละเอียดเสียงออกมาจากไฟล์ต้นฉบับให้หมดจดจริง ๆ ได้ นั่นคือเหตุผลที่ Rob Watt ต้องเข้ามารับหน้าที่ในการออกแบบ DAC ในตัว Mojo

ผมลองฟังตั้งแต่ไฟล์ CD 16/44.1 ที่ริปมาจากแผ่นซีดีของผมเอง ฟังไฟล์ DSF64 ที่ผมริปมาจากแผ่น SACD และที่ดาวน์โหลดมาจากอินเตอร์เน็ต ไปจนถึงไฟล์ DSD ที่มีสเปคฯ สูงกว่า DSD64

และสุดท้ายคือไฟล์ DXD ที่มีแซมปลิ้งฯ สูงถึงระดับ 352.8kHz และ 384kHz (จริง ๆ มันรับได้สูงกว่านี้ไปอีกหนึ่งเท่าตัว คือ 717.6kHz และ 768kHz แต่ผมยังไม่มีไฟล์ซุปเปอร์เทพพวกนั้น !)

ผมลองฟังเสียงของ Poly + Mojo ทั้งกับหูฟังในลักษณะการใช้งานแบบพกพา และใช้สาย mini 3.5 mm > RCAx2 ต่อเอ๊าต์พุตจากหูฟังเข้าไปที่เพาเวอร์แอมป์ Audiolab รุ่น M-PWR ขับลำโพง ATC รุ่น SCM7 สลับกับ Totem Acoustics รุ่น Element ‘Amber’ ในลักษณะของ desktop audio และบนโต๊ะทำงานและในห้องรับแขกตามแบบอย่างเครื่องเสียงบ้านทั่วไปด้วย

เสียงที่ได้จาก Poly + Mojo เป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก ผมไม่อยากจะใช้คำว่า “เสียงอะนาลอก” หรือประโยคที่ชอบพูดกันว่า “ไม่มีความเป็นดิจิตัลอยู่ในน้ำเสียง” อะไรแบบนั้น เพราะยังไงผมก็บอกไม่ได้จริง ๆ ว่า เสียงแบบไหนเป็นอะนาลอกและแบบไหนเป็นดิจิตัล

โดยเฉพาะเมื่อฟังจาก Poly + Mojo คู่นี้แล้ว เสียงที่ออกมามันก็คือ “ดนตรี” นี่เอง เป็นเสียงดนตรีที่ชักชวนให้อยากฟังมัน ผมไม่พบบุคลิกแปลกประหลาดใด ๆ จากเสียงของ Poly + Mojo คู่นี้

แต่ผมมีความรู้สึก “คลับคล้าย คลับคลา” เสียงของคู่นี้กับเสียงของดิจิตัลเพลเยอร์ยี่ห้อ dCS อยู่เหมือนกัน ผมว่ามันทั้งสองมีอะไรบางอย่างที่คล้ายกัน อาจจะเป็นความสะอาดนวลที่ฟังนานแค่ไหนก็ไม่มีอาการล้าหู ไม่รู้สึกว่ามีความหยาบกร้านใด ๆ อยู่ในน้ำเสียง โดยเฉพาะเมื่อฟังจากไฟล์ไฮเรซฯ DSD จะพบความนวลเนียนที่แตกต่างไปจากเสียงของไฟล์ไฮเรซฯ PCM ที่มีกลิ่นอายของความสดมากกว่า

แน่นอนว่า บุคลิกเสียงของหูฟังมีส่วนกับการแสดงตัวตนของ Poly + Mojo แต่เมื่อใดก็ตามที่กำลังขับของ Mojo ไม่เป็นปัญหาในการขับดันหูฟังตัวนั้น ผมก็จะได้สัมผัสกับความเนียนนวล (แต่ไม่ยวบยาบ) ของเสียงจาก Poly + Mojo ออกมาตลอด.. มันเป็นบุคลิกเสียงที่ทำให้ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ฟังแล้วรักง่าย เพลิน และไปได้ยาว ๆ

ผลหลังจากฟังมาพักใหญ่ ๆ มันทำให้ผมเกิดความคิดว่า ไฟล์ที่มีความละเอียดสูง ๆ มาก ๆ อย่าง DSD256 หรือ PCM 352.8kHz ไม่ได้มีความสำคัญมากเลยสำหรับผม เพราะแค่ไฟล์ PCM 16/44.1 จากแผ่นซีดีที่ผมริปไว้มันก็ออกมาน่าพอใจมาก ๆ แล้วกับ Poly + Mojo คู่นี้

อาจจะเป็นเพราะซิสเต็มแอมป์+ลำโพงที่ผมใช้อยู่ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตมโหฬารก็เป็นได้ แต่เท่าที่ผมจำได้และคุ้นเคยมา น้อยครั้งที่จะมีฟร้อนต์เอ็นด์ชุดไหนที่เข้ามาทำให้ผมรู้สึก “ฟิน” กับเสียงเพลงของผมได้มากขนาดนี้

นี่แสดงว่า Poly + Mojo คู่นี้ต้องมีความพิเศษมากจริง ๆ นี่กระมังที่เป็นผลจากการเขียนโปรแกรมที่ใช้แปลงสัญญาณดิจิตัล > อะนาลอกขึ้นมาเอง ซึ่งทำให้สามารถ custom เพื่อ fine tune เสียงในแต่ละจุดที่ต้องการได้อย่างใจ ที่เกิดความคิดแบบนี้

เพราะผมยิ่งฟังมากขึ้น ก็ยิ่งรู้สึกเหมือนว่า เสียงของ Poly + Mojo คู่นี้มันพอดี ๆ มาก นุ่มนวลแต่ก็ไม่ได้รู้สึกอืดอาด รายละเอียดเยอะแต่ก็ไม่ได้ฟังแล้วรก เสียงมันดึงดูดความสนใจแต่ก็ไม่ถึงกับรุกเร้าเรียกร้อง มันเป็นดิจิตัล ฟร้อนต์เอ็นด์ที่ให้ประสบการณ์ฟังที่แปลกไปจากตัวอื่น ๆ

สรุป
ฟังแล้วจะติด ! อือมม.. ผมรู้สึกแบบนั้น ช่วงที่ทดสอบ Poly + Mojo ผมก็มีอุปกรณ์เครื่องเสียงอื่น ๆ เข้ามาให้ทดสอบพร้อม ๆ กันอยู่หลายตัว ยอมรับเลยว่า พอให้เวลาอยู่กับ Poly + Mojo ติดต่อกันนานนิดนึง ผมก็จะลืมเสียงของอุปกรณ์ตัวอื่นที่ทดลองฟังไปเลย !

เสียงของ Poly + Mojo คู่นี้มีอิทธิพลมากครับ.. มันครอบงำความรู้สึกของผมมาก มันทำให้ผมรู้สึกว่าเพลงที่กำลังฟังมันมีอะไรบางอย่างที่ผมไม่เคยรับรู้มาก่อนอยู่ในนั้น ทั้ง ๆ ที่ผมฟังเพลงเหล่านั้นมาแล้วมากเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ครั้ง. ! !

Poly + Mojo เป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีความโดดเด่นเหนือกว่าอุปกรณ์เครื่องเสียงตัวอื่น ๆ ในตลาด มันมีพลังดึงดูดความสนใจอยู่ในตัวของมันเอง และผมว่า.. มันคืออุปกรณ์เครื่องเสียงที่คุณต้องหาโอกาสไปสัมผัสให้ได้สักครั้งด้วยมือ, ตา และหูของคุณเอง ! ! !


นำเข้าและจัดหน่ายโดย
บริษัท DECO 2000 จำกัด
ราคา : Poly = 22,000 บาท
           Mojo = 24,000 บาท


ตัวแทนจำหน่าย
ร้าน มั่นคง แกดเจท โทร. 0-2652-1759
ร้าน Marconi @Central Embassy โทร. 0-2160-5776

ธานี โหมดสง่า

นักเขียนอาวุโสมากประสบการณ์ เจ้าของวลี "เครื่องเสียงและดนตรีคือชีวิต"