รีวิว Bowers & Wilkins : 684 S2
“นี่คือลำโพงในราคาจับต้องได้ที่มีสายเลือดของลำโพงไฮเอนด์อยู่”
เสียงลือเสียงเล่าอ้างนี้มิได้เกินเลยไปจากความจริงเลยสำหรับลำโพงยี่ห้อโบวเวอร์ส แอนด์ วิลกิ้นส์ ‘Bowers & Wilkins’ หรือ B&W ที่ผู้คนในวงการเครื่องเสียงไฮไฟไม่มีใครที่ไม่รู้จัก การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสินค้ารุ่นเรือธงลงมาในรุ่นรองลงไปเป็นทอด ๆ คือสิ่งที่ลำโพงยี่ห้อนี้ได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
กับลำโพง 600 Series ซึ่งเป็นลำโพงในระดับซื้อง่ายขายคล่องของยี่ห้อก็เช่นกัน ในรุ่น 684 S2 ซึ่งเป็นตัวรองท้อปรุ่นล่าสุดของซีรียส์นี้ทาง ‘โบวเวอร์ส แอนด์ วิลกิ้นส์’ ก็ได้หยิบเอา ‘ของดี’ ในลำโพงรุ่นสูงกว่ามาใช้ในหลายส่วน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของคุณภาพเสียงทั้งสิ้น ทำให้ลำโพงตั้งพื้นทรงทาวเวอร์รุ่นนี้สามารถเรียกร้องความน่าสนใจในตัวของมันได้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มฟังเสียงกันเลยทีเดียว
คุณสมบัติและการออกแบบ
Bowers & Wilkins 684 S2 เป็นลำโพงตั้งพื้นทรงทาวเวอร์ ระบบตู้ลำโพงเป็นแบบตู้เปิด 2 ทาง 3 ตัวขับเสียง ตัวไดรเวอร์เป็นพัฒนาการล่าสุดสำหรับลำโพงใน Series 600 ใช้ทวีตเตอร์ชนิดโดมอะลูมิเนียมขนาด 1 นิ้ว และมีไดรเวอร์กลาง/ทุ้มกรวยเคฟล่าร์ (เส้นใยเคฟล่าร์สาน) ขนาด 5 นิ้ว 2 ตัวทำหน้าที่ร่วมกัน จุดตัดครอสโอเวอร์อยู่ที่ 4kHz ตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 72Hz-22kHz (+/-3dB, วัดในแนวแกนอ้างอิง) สามารถขยายออกไปได้ถึง 45Hz และ 50kHz ที่ -6dB
ลำโพงรุ่นนี้มีอิมพิแดนซ์เฉลี่ย 8 โอห์ม (ต่ำสุด 4 โอห์ม) ความไว 87dB spl (อ้างอิงที่ 2.83V, 1m) จากข้อมูลเหล่านี้ดูเหมือน Bowers & Wilkins 684 S2 จะเป็นลำโพงที่หาแอมป์มาขับได้ไม่ยากเย็นนัก และเน้นไปที่ ‘วัตต์คุณภาพ’ มากกว่า ‘วัตต์ตัวเลข’ ซึ่งทางผู้ผลิตก็ให้ตัวเลขไว้เป็นแนวทางคร่าว ๆ ว่าแนะนำให้ใช้กับแอมป์ได้ตั้งแต่ 25-150 วัตต์ สำหรับขั้วต่อลำโพงเป็นแบบไบไวร์ ใช้ขั้วต่อแบบไบดิ้งโพสคุณภาพดี
Live ! แกะกล่องลำโพง Bowers & Wilkins 684 S2
Live ! แกะกล่องลำโพง Bowers & Wilkins 684 S2
Posted by GM 2000 Magazine on Monday, April 3, 2017
โดยภาพรวมลำโพงคู่นี้อาจจะไม่ได้มีความพรีเมียมทั้งในเรื่องของดีไซน์และวัสดุที่เลือกใช้ ปรากฏชัดเจนเหมือนอย่างลำโพงใน Series บน ๆ ของ Bowers & Wilkins แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงสามารถรับรู้ได้ก็คือเรื่องของมาตรฐานและคุณภาพที่ลำโพงคู่นี้ยังได้รับการถ่ายทอดมาในแบบอย่างที่เรียกได้ว่า ‘สำเนาถูกต้อง’
การเก็บรายละเอียดเหล่านี้สามารถรับรู้ได้ตั้งแต่ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่มีคำแนะนำเกี่ยวกับการ unpack ที่ถูกต้องเหมาะสม ไปจนถึงมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรฐานในระดับเดียวกันกับลำโพงรุ่นไฮเอ็นด์ของพวกเขาเลยทีเดียว
Technical Insight ล้วงลึกงานวิศวกรรม
ด้วยความที่เป็นลำโพงที่มีหุ่นเพรียวบาง สัดส่วนออกไปทางผอมและสูง บริเวณใต้ฐานลำโพงเขาจึงได้ออกแบบให้มันมีแผ่นรองใต้ฐาน (plinth) ที่มีหน้ากว้างแล้วยังมีสไปค์อยู่ด้านล่างเพื่อให้การจัดวางตัวลำโพงที่มีความมั่นคง ไม่โคลงเคลงไปมาได้ง่าย ชิ้นส่วนและระบบการยึดตรึงในส่วนนี้ทาง Bowers & Wilkins ก็ยังทำได้ดีตามมาตรฐานของตัวเองล่ะครับ
อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่ามีความแข็งแรงแน่นหนา ไม่ได้ทำกันแบบสุกเอาเผากิน Bowers & Wilkins 684 S2 ไม่ได้รูปร่างที่วิลิศมาหรา หรือมีความหนักแน่นบึกบึนหรือมีตัวตู้ที่แกร่งราวกับภูผาหินแต่อย่างใด ผมคนเดียวสามารถยกมันย้ายตำแหน่งเคลื่อนที่ไปมาภายในห้องฟังของ GM2000 ได้อย่างสบาย ๆ
ส่วนที่น่าสนใจของลำโพงรุ่นนี้คือ ส่วนของตัวไดรเวอร์ที่ทางผู้ผลิตเคลมว่าได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากลำโพงรุ่นที่สูงกว่าอย่างเช่น CM Series และ PM Series
ที่ได้เทคโนโลยีมาจากลำโพงรุ่นที่สูงกว่า
อย่างเช่นที่พบเห็นอยู่ในลำโพงรุ่นนี้ ตัวไดรเวอร์ที่ใช้จะเปลี่ยนไปจากรุ่น 684 เดิมแบบยกเซ็ท โดยเฉพาะตัวทวีตเตอร์ที่พัฒนาไปมากเพราะเป็นดีไซน์แบบ Decoupled Double Dome aluminium tweeter with Nautilus™ tube loading ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีใช้ในลำโพงรุ่นใดมาก่อนนอกจากรุ่น CM10 ซึ่งเป็นรุ่นใหญ่สุดของ CM Series ต่างกันแค่เพียง CM10 นั้นแยกทวีตเตอร์ออกมาเป็นโมดูลหัวจุก ไม่ได้ยึดเข้าที่หน้าตู้เหมือนลำโพงรุ่นนี้
อย่างไรก็ดีทวีตเตอร์ของ 684 S2 ก็ไม่ได้ตรงเข้าที่แผงหน้าตู้ลำโพงเหมือนลำโพงทั่วไป หากแต่ถูกแขวนลอยกับตัวตู้เอาไว้ด้วยวัสดุเจลที่มีความยืดหยุ่นช่วยซึมซับแรงสั่นสะเทือนจากตัวตู้ลำโพงไม่ให้แพร่เข้ามาที่ตัวทวีตเตอร์โดยตรง ถ้าหากเอานิ้วกดเบา ๆ ที่กรอบทวีตเตอร์จะพบว่ามันให้ตัวได้หน่อย ๆ เหมือนกันครับ ส่วนไดรเวอร์กลาง/ทุ้มที่มีขนาดเล็กลง แต่เปลี่ยนดีไซน์ตัว dust cap ไปเป็นแบบ Anti-Resonance Plugs ที่ทำจากเนื้อโฟมสลายแรงต้านทานที่เป็นดีไซน์เดียวกับลำโพงมินิมอเตอร์ราคาคู่ละเกือบแสนบาทอย่างลำโพงรุ่น PM1
ลำโพงมีการตอบสนองความถี่ต่ำได้อย่างเป็นธรรมชาติ
นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งชิ้นส่วนที่ถือได้ว่าเป็นลายเซ็นต์ของลำโพงยี่ห้อนี้นั่นคือ ท่อเปิดแบบปากแตรผิวหลุมแบบลูกกอล์ฟหรือที่ทาง Bowers & Wilkins เรียกว่า Flowport ตัวตู้ของ 684 S2 แม้ว่าจะมีน้ำหนักค่อนข้างเบาแต่ด้วยการออกแบบฐานตู้ที่แน่นหนามั่นคง ทำให้การจัดวางลำโพงคู่นี้หมดห่วงเรื่องที่มันจะไม่นิ่งพอได้ในระดับหนึ่ง
คุณภาพเสียง
จากการทดลองฟังลำโพงอย่าง Bowers & Wilkins 684 S2 ไปได้ดีกับอินทิเกรตแอมป์กำลังขับข้างละ 50 วัตต์ต่อข้างที่เป็นกำลังขับแบบเนื้อ ๆ อย่าง Clef Audio รุ่น Soloist 50 ผมว่าบุคลิกอย่างนี้กับเอวีรีซีฟเวอร์ระดับกลาง ๆ ที่มีกำลังขับต่อแชนเนลสัก 80 วัตต์ขึ้นไปก็น่าจะใช้ขับออกได้สบาย ๆ อย่างไม่มีปัญหา
เมื่อทราบว่าลำโพงคู่นี้ถูกนวดจากการใช้งานในซิสเตมทดสอบก่อนหน้านี้ไปบ้างพอสมควรแล้ว ผมก็เริ่มทำความรู้จักลำโพงคู่นี้ด้วยซิสเตมที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพสูง นั่นคืออินทิเกรตแอมป์ NAD C368 (กำลังขับ 80 วัตต์ต่อข้าง) ผมเปิดเพลงจากแอพฯ USB Audio Player Pro ในสมาร์ทโฟน Huawei Mate 9 เล่นไฟล์เพลง Lossless CD Quality ผ่านการเชื่อมต่อสัญญาณบลูทูธไปที่ NAD C368 เมื่อเสียงดังออกมาจากลำโพงผมแทบไม่เชื่อหูตัวเองเลย!
นี่หรือเสียงที่ผมคิดว่าจะฟังแบบขำ ๆ แค่ให้พอทำความรู้จักกันในเบื้องต้นเฉย ๆ มันไม่ใช่แล้วครับ มันเกินความคาดหมายจริง ๆ
เสียงอย่างนี้ผมว่าหลายคนพึงพอใจถึงขั้นใช้ชีวิตอยู่กับมันได้เลย เสียงของมันร่าเริงสดใส มีชีวิตชีวา มีสำเนียงหวานละมุนไพเราะน่าฟังมาก น่าฟังจนผมดอดใจไม่ไหวต้องลุกขึ้นไปถ่ายคลิปแบ่งปันเพื่อนฝูงในโซเชียลมีเดียเลยทีเดียว
อัลบั้มที่ผมเปิดฟังในวาระนี้ได้แก่ โลลิต้า หนึ่งพันราตรี และ รวมเพลงอภิรมย์๑ เท่าที่ผมฟังในเบื้องต้นนี้บุคลิกและสำเนียงแบบลำโพงยี่ห้อนี้ยังปรากฏอยู่เหมือนเช่นเคย ทั้งเสียงกลางและต่ำที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหนังของเสียงมากกว่าความคมชัดในทรวดทรงหรือเหลี่ยมมุมของเสียง เสียงแหลมที่มีความสดใสแต่ไม่ได้สว่างมากนัก เสียงกลางสูงที่ให้โทนเสียงเป็นมิตรต่อโสตประสาทไม่แนวช่างฟ้องหรือแจกแจงอย่างตรงไปตรงมาเท่าไรนัก
แต่ทั้งหมดนี้น่าสนใจที่ว่ามันมาพร้อมกับความสมดุล ไม่มากไม่น้อย ไม่ขาดไม่เกิน เป็นบุคลิกที่มีลักษณะช่วยชูรสมากกว่ามีอิทธิพลครอบงำกับเสียงทั้งหมด
ผมแนะนำให้ต่อใช้งานลำโพงคู่นี้ด้วยสายลำโพงแบบไบไวร์และถอด jumper ออกไปเก็บ เสียงเครื่องดนตรีจำพวกแตรทองเหลือง ไวโอลิน หรือเปียโนทั้งหลายนี่ฟังแล้วอิ่มอกอิ่มใจจริง ๆ ครับ นอกจากความน่าฟังแล้วยังมีความสด ความสมจริงให้สัมผัสได้ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพลงที่มีคุณค่าทางดนตรีสูง ๆ นี่ เปิดฟังวนไปมาสามสี่รอบได้สบาย ๆ และเมื่อใช้สมาธินั่งฟังเพลงที่เปิดอยู่ก็จะพบว่ารายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยเสริมคุณค่าทางดนตรีก็ยังปรากฏให้ได้ยินอยู่นะครับ มิได้ตกหล่นไปไหนเลย
เดี๋ยว ๆ ผมดึงสติตัวเอง “นี่เราจะพอใจกับแค่เสียงจากบลูทูธแค่นี้หรือ ?”… นั่นน่ะสิครับ นี่ผมแค่อยากลองทำความรู้จักลำโพงคู่นี้เฉย ๆ นี่หน่า ตำแหน่งลำโพงก็ยังไม่ได้ปรับตั้งอย่างละเอียดเลย เรื่องแมตชิ่งซิสเตมก็ยังแค่อาศัยความคุ้นเคยกับอุปกรณ์เท่านั้นเอง นี่ผมฟลุคหรือลำโพงคู่นี้เล่นง่ายกันล่ะเนี่ย? มีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 2 คำตอบล่ะครับ ว่าแล้วก็ค้นหาคำตอบกันต่อไป
ผมเปลี่ยน source ไปใช้คอมพิวเตอร์เล่นเพลงจากโปรแกรม roon และใช้ Audiolab M-One เป็นทั้ง USB DAC และแอมป์ ปรากฏว่าภาคขยายเสียงกำลังขับ 40 วัตต์ต่อข้างใน M-One สามารถขับลำโพงคู่นี้ได้อย่างน่าพอใจ ภายในห้องฟังขนาดกลาง ๆ ของเรา เสียงแกรนด์เปียโน 2 หลังในอัลบั้ม Tchaikovsky – Ballet Suites for Piano Duo (Pantatone, DSD) กระหึ่มเต็มห้องฟังได้อย่างน่าทึ่ง
เมื่อผมหลับตาลงเสียงที่ผมได้ยินมันโอ่อ่ากว่าขนาดของลำโพงที่ผมมองเห็นก่อนหน้านี้ หากต้องการฟังเพลงหลากหลายแนวแอมป์ที่มีกำลังขับมากกว่าอย่าง NAD C368 ก็ยังเป็นอะไรที่น่าลงทุนสำหรับลำโพงคู่นี้
นอกจากไปจากการแมตชิ่งซิสเตมและการเซ็ตอัพตำแหน่งวางลำโพงแล้วจุดหนึ่งที่ผมไม่อยากให้มองข้ามเลยแม้แต่น้อยก็คือ การใช้สไปค์ยึดที่ฐานตู้ลำโพง มันทำให้เสียงทุ้มของลำโพงคู่นี้เป็นตัวเป็นตนและมีรายละเอียดชัดเจนว่าการวางลำโพงไว้กับพื้นห้องโดยตรง บางทีเรื่องพื้นฐานง่าย ๆ แบบนี้แหละครับที่เราอาจจะเผลอมองข้ามไป หากกลัวว่าพื้นห้องสวย ๆ จะเป็นรอยจากความแหลมคมของสไปค์ที่เป็นโลหะ หรือพื้นห้องที่เป็นวัสดุแข็งผิวเรียบผมแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้สไปค์ที่เป็นขายางซึ่งมีแถมมาให้ด้วยแทน
อย่าวางลำโพงโดยตรงกับพื้นห้องถ้าหากไม่อยากได้เสียงทุ้มหรือเสียงกลางทุ้มที่ฟังดูคลุมเครือกว่าที่ควรจะเป็น
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
ถ้าคุณเคยฟังลำโพง Bowers & Wilkins รุ่นสูง ๆ แล้วพบว่าราคามันยังเกินงบแล้วล่ะก็ ผมอยากให้คุณลองฟัง 684 S2 ดูสักครั้ง ผมเคยฟังลำโพงรุ่นย่อมเยาของยี่ห้อนี้มาแล้วหลายรุ่น แต่น่าจะยังไม่มีรุ่นไหนเลยที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามันสามารถโคลนนิ่งเสียงของรุ่นใหญ่ ๆ โดยเฉพาะลำโพงอย่าง CM Series มาได้ใกล้เคียงอย่างลำโพงคู่นี้
ถ้าหากใครสักคนจะไม่ชอบ Bowers & Wilkins 684 S2 ผมเดาว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะต้องชอบลำโพงที่ให้เสียงดิบ ๆ ดุ ๆ และเสียงทุ้มกระแทกกระทั้นชนิดหน้าอกหน้าใจสั่นสะเทือนไปหมดเป็นแน่ เพราะในซิสเตมที่เหมาะสมลำโพงคู่นี้ให้เสียงที่น่าประทับใจไม่ว่าจะฟัง pop ง่าย ๆ อย่าง Warm Your Heart ของ Aaron Neville ไปจนถึง jazz ที่ค่อนข้างหนักหน่วงอย่าง Companion ของ Patricia Barber หรือแม้แต่ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ลำโพงคู่นี้ก็ยังไม่เกี่ยง
จะพูดว่ามันเป็นลำโพงที่ให้เสียงฟังง่าย ๆ แต่ได้สาระก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก เสียงกลางและแหลมสไตล์เป็นแบบผู้ดีอังกฤษคือมีรายละเอียด ค่อนข้างสุภาพและไม่เกรี้ยวกราดซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของลำโพงยี่ห้อนี้ ส่วนเสียงทุ้มนั้นต้องบอกว่า ‘เพียงพอ’ และกลมกลืนกับย่านความถี่อื่น ๆ ได้ดี หากขอมากกว่านี้แนะนำให้ขยับไปเล่น 683 S2 หรือเพิ่มซับวูฟเฟอร์เอาก็แล้วกัน
โดยสรุปเท่าที่ฟังลำโพงคู่นี้มา ผมว่าในงบประมาณเท่านี้นี่คืออีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่กำลังมองหาลำโพงตั้งพื้นขนาดย่อม ๆ สักคู่ไปใช้ในสเตริโอซิสเตมหรือแม้แต่ชุดโฮมเธียเตอร์ ลำโพงคู่นี้อาจจะเป็นตัวเลือกที่ทำให้คุณหยุดการค้นหาก็เป็นได้
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท มิวสิคพลัสซีนีมา จำกัด
โทร. 0-2681-7500
ราคา : 56,900 บาท/คู่