fbpx
REVIEW

[Classic Review] Bowers & Wilkins : CM6 S2

ส่วนตัวผมเป็นแฟนลำโพง CM Series ของ Bowers & Wilkins มาตั้งแต่ที่ได้ฟังลำโพงรุ่น CM9 ของพวกเขา จุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษของลำโพงตระกูลนี้ก็คือ มันเสียงดีโดยที่ไม่ต้องพยายามอธิบายถึงเทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ ที่แลดูวิลิศมาหราเหนือจินตนาการ ตัวตู้ทรงกล่องสี่เหลี่ยมดูเรียบง่าย จูนเสียงมาได้กลมกล่อม ฟังเพลงได้อร่อยเหาะทุกแนวทั้งบู๊ทั้งบุ๋น ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ต้องถือว่าค่อนข้างคุ้มราคาล่ะครับ

อีกสิ่งหนึ่งที่ลำโพง CM Series ดำเนินรอยตามลำโพงรุ่นอื่น ๆ ของยี่ห้อนี้ก็คือมันได้รับมรดกตกทอดทางเทคโนโลยีหลายอย่างมาจากลำโพงในตระกูลที่สูงกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือทวีตเตอร์โดมอะลูมิเนียมที่ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากลำโพงรุ่นเรือธงอย่างลำโพงนอติลุสหรือลำโพง 800 Series Diamond

และมันก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อลำโพงรุ่น CM10 ซึ่งเป็นรุ่นใหญ่สุดของตระกูล CM Seriesถูกออกแบบให้เป็นลักษณะ ‘Tweeter On Top’ แยกโมดูลเสียงแหลมไปไว้ด้านบนของตัวตู้เพื่อหลีกเลี่ยงการสะท้อนของเสียงบริเวณแผงหน้าของไดรเวอร์ออกไปอย่างเด็ดขาด นับว่าเป็นครั้งแรกที่ Bowers & Wilkins ใช้เทคโนโลยีนี้กับลำโพงระดับนี้ของพวกเขา

New ‘Tweeter On Top’ CM Series
ล่าสุดได้ทราบมาว่าลำโพง CM Series ของ Bowers & Wilkins ได้รับการปรับปรุงพัฒนามาล่าสุดเป็นรุ่น Series 2 หรือ S2 แล้ว ไม่เพียงแต่ลำโพงในรุ่นเดิมเท่านั้นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาครบทั้งไลน์ แต่พวกเขายังได้เปิดตัวลำโพง CM6 S2 ลำโพงเล็กวางขาตั้งรุ่นท้อปในตระกูลนี้ที่มาพร้อมกับดีไซน์ ‘Tweeter On Top’ ทำให้มันเป็นลำโพงวางขาตั้ง CM Series รุ่นแรกและรุ่นเดียวในขณะนี้ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้

CM6 S2 เป็นลำโพงวางขาต้ัง 2 ทางระบบตู้เปิด รีเฟล็กซ์พอร์ตเทคโนโลยี ‘Flowport’ ของ Bowers & Wilkins ระบายมวลอากาศยิงออกทางด้านหลังของตู้ ไดรเวอร์เบส/มิดเรนจ์เป็นวูฟเฟอร์ขอบยาง กรวยเคฟลาร์ขนาด 165 มิลลิเมตร (6.5 นิ้ว) กรวยหรือไดอะแฟรมขึ้นรูปจากเส้นใยเคฟลาร์ถักสานแล้วเคลือบด้วยน้ำยาพิเศษให้คงรูปอยู่ได้และรักษาสภาพของเนื้อเคฟลาร์ไปในตัว

สำหรับไดรเวอร์ย่านความถี่สูงก็อย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นว่าเป็นดีไซน์แบบ ‘Tweeter On Top’ ใช้ทวีตเตอร์โดมอะลูมิเนียมขนาด 25 มิลลิเมตร (1 นิ้ว) ที่ติดตั้งอยู่ในโมดูลแยกส่วนขึ้นรูปจากโลหะแน่นหนาแข็งแรง ตัวโมดูลมีรูปทรงแบบแอโรไดนามิกดูคล้ายหัวกระสุนผ่าครึ่งตามแนวขวาง โมดูลนี้ไม่ได้ยึดติดอยู่กับด้านบนของตัวตู้แบบยึดตรึงแน่นอยู่กับที่หากแต่มันถูกยึดอยู่กับวัสดุบางอย่างที่พอจะยืดหยุ่นให้ตัวได้บ้างเพื่อป้องกันความสั่นสะเทือนส่วนจากตัวตู้ลำโพงที่อาจจะแพร่เข้ามารบกวนได้

เช่นเดียวกับในลำโพง CM10 ทวีตเตอร์ตัวที่ใช้งานอยู่ในลำโพง CM6 S2 นี้ยังคงเป็นเทคโนโลยี ‘Decoupled Double Dome’ ที่วิศวกรของ Bowers & Wilkins พยายามเอาชนะปัญหาเรื่องเรโซแนนซ์ส่วนเกินในโดมโลหะที่มักจะทำให้เกิดความเพี้ยนส่วนเกินปะปนออกมาให้ระคายหู

‘Decoupled Double Dome’ คือการออกแบบตัวไดอะแฟรมทรงโดมแบบประกบ 2 ชิ้น ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษโดนวิศวกรของ Bowers & Wilkins โดยปกติการออกแบบไดอะแฟรมทรงโดมโดยเฉพาะโดมโลหะ ถ้ารีดตัวโดมให้บางก็จะได้ไดอะแฟรมที่มีมวลน้อยลงตอบสนองสัญญาณฉับพลันได้ดี

แต่ในขณะเดียวกันความบางก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการบิดตัวจนเสียรูปของตัวโดมได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นหลักการของระบบไดอะแฟรมทรงโดมแบบประกบกัน 2 ชิ้นก็คือ การออกแบบให้ตัวไดอะแฟรมชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นไดอะแฟรมทรงโดมตามปกติถูกรีดให้มีความบางมาก ๆ และมีมวลต่ำ ขณะที่ไดอะแฟรมอีิกชิ้นหนึ่งที่วางประกบกันอยู่จะมีชิ้นส่วนเฉพาะบริเวณขอบของโดมเป็นลักษณะวงแหวนและมีความหนามากกว่าวางประกบกันเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตัวโดม

ดีไซน์นี้ทาง Bowers & Wilkins เคลมว่ามันจะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของมวลที่ต่ำและเรื่องของความแข็งแกร่งในขณะเดียวกัน ซึ่งนั่นคือผลลัพธ์ดี ๆ ทางทฤษฎีของการออกแบบลำโพงที่นักออกแบบลำโพงส่วนใหญ่ถามหากัน นอกจากนั้นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำงานร่วมกับ ‘Decoupled Double Dome’ ก็คือเทคโนโลยี ‘Nautilus Tube Loading’ ระบบห้องอากาศสลายเรโซแนนซ์ด้านหลังตัวโดมที่หยิบยืมมาจากดีไซน์ของลำโพงตระกูลนอติลุสทั้งหลาย

ไม่เพียงแค่การออกแบบยูนิตไดรเวอร์เพื่อหวังผลเลิศ ในลำโพง CM6 S2 ยังได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบในส่วนของวงจรตััดแบ่งความถี่เสียงหรือครอสโอเวอร์เน็ตเวอร์คด้วยครับ โดยวงจรที่ใช้จะเป็นวงจรแบบเรียบง่าย (simple design) ใช้อุปกรณ์น้อยชิ้นเท่าที่จำเป็นแต่เลือกใช้อุปกรณ์เกรดดีมากอย่างเช่น ตัวเก็บประจุของยี่ห้อ ‘Mundorf’ จากประเทศเยอรมัน ซึ่งมักจะพบในลำโพงที่ราคาสูงกว่านี้หลายเท่าตัว

ทางด้านข้อมูลทางเทคนิคลำโพง CM6 S2 มีช่วงความถี่ตอบสนองอยู่ที่ 50Hz – 28kHz (+/-3dB) และกว้างขึ้นเป็น 45Hz – 50kHz (-6dB) ความไว 88dB spl (2.83V, 1m) อิมพิแดนซ์เฉลี่ยอยู่ที่ 8 โอห์ม (ต่ำสุด 3.7 โอห์ม) จุดตัดแบ่งความถี่เสียงระหว่างยูนิตไดรเวอร์ทั้งสองตัวอยู่ที่ 4kHz แนะนำให้ใช้กับแอมป์ที่มีกำลังขับ 30-120 วัตต์

First Impression
แม้ว่าจะเป็นลำโพงตู้ทรงกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดาแต่ลำโพง CM6 S2 ที่ผมได้รับมานั้นตัวจริงมันสวยกว่าที่เห็นในรูปพอสมควรเลยครับ ทวีตเตอร์ที่แยกเป็นจุกไปอยู่ด้านบนของตู้ลำโพงนั้นดูโดดเด่นเป็นสง่ามาก แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษตอนยกออกจากกล่อง แม้ว่าทางผู้ผลิตเขาจะมีก้อนโฟมยางช่วยค้ำยันก่อนบรรจุลงกล่องมาให้แล้วก็ตาม แต่ในขั้นตอนการแกะกล่องก็ยังต้องย้ำเตือนให้ระมัดระวังในส่วนนี้อยู่ดีครับเพราะมีโอกาสจะแตกหักเสียหายได้ง่ายเหลือเกินถ้าไม่ทันระมัดระวัง

ลำโพง CM6 S2 คู่ที่ผมได้รับมานี้ตัวตู้เขาทำสีมาเป็นสีดำไฮกลอส (Gloss Black) หรือสีดำเงา งานผลิตต้องถือว่าทำได้เนี้ยบเข้าขั้นมาตรฐานที่สามารถคาดหวังได้จาก Bowers & Wilkins เป็นลำโพงที่ตัวจริงดูดี ดูสวยสง่ากว่าในแคตาล็อกมาก ๆ เนื้องานโดยเฉพาะการเก็บรายละเอียดและการสีเคลือบเงาไฮกลอสอยู่ในขั้นเนียนกริ๊บไร้ที่ติ น้ำหนักของตู้ลำโพงที่จัดว่าหนักเกินกว่าที่สายตาประเมินได้จากขนาดตู้ (ในสเปคฯ แจ้งไว้ที่ 8.9 กิโลกรัม) บ่งบอกถึงความแน่นหนาของตัวตู้ลำโพงที่ต้องใช้เทคนิควิธีการสร้างมากกว่าการเอาแผ่นไม้มาประกบกันเป็นทรงสี่เหลี่ยมธรรมดา

แผงหน้ากากลำโพงเป็นโครงพลาสติกขึงด้วยผ้าเนื้อโปร่งสีดำ ออกแบบให้ยึดเข้ากับหน้าตู้ลำโพงด้วยแรงแม่เหล็ก ผมสังเกตเห็นว่าแผงหน้ากากนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับลำโพงได้ทีเดียวสองรุ่นคือ CM6 S2 และ CM5 S2 ซึ่งมีตำแหน่งการจัดวางตัวไดรเวอร์แตกต่างกัน เวลาใช้งานก็ต่างกันแค่จะหมุนเอาขอบด้านใดขึ้นข้างบนเท่านั้นเอง ที่กรอบของแผงหน้ากากจะมีสัญลักษณ์บอกเอาไว้ชัดเจน

ด้านหลังตู้ลำโพงขั้วต่อสายลำโพงแบบ Bi-Wire ใช้ขั้วต่อไบดิ้งโพสต์ขนาดมาตรฐาน ผิวสัมผัสเคลือบโรเดียม ถัดขึ้นมาด้านบนเป็นท่อเปิดเบสรีเฟลกซ์แบบ Flow Port ที่เห็นกันจนคุ้นตาในลำโพงหลาย ๆ รุ่นของ Bowers & Wilkins

นอกจากความประณีตเรียบร้อยในงานผลิตแล้วผมยังชอบใจการออกแบบที่เก็บซ่อนน็อตสกรูต่าง ๆ ได้อย่างแนบเนียน ทำให้หน้าตาของมันดูเรียบร้อยสะอาดสะอ้านจนสามารถใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งห้องได้อย่่างสบาย ๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นด้วยมาก ๆ คือตะแกรงโลหะปิดครอบป้องกันตัวโดมทวีตเตอร์จากการกระทบกระทั่ง ในลำโพง CM9 รุ่นแรกจะไม่มีตะแกรงป้องกันที่ว่านี้ตอนที่ผมรีวิวเวลาจะเข้าใกล้ตัวลำโพงก็ต้องใช้ความระวัดระวังกันพอสมควรเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีทราบมาว่าในลำโพง CM9 S2 ซึ่งเป็นรุ่นอัพเดตล่าสุดเขาได้ทำตะแกรงป้องกันตัวทวีตเตอร์มาให้แล้ว

System & Setup
น้ำเสียงในสภาพแกะกล่องลำโพง CM6 S2 มีความเป็นดนตรีออกมาให้สัมผัสได้พอสมควร แม้ว่าโดยภาพรวมจะยังมีลักษณะไม่ปลดปล่อยออกมาเต็มที่ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเหตุปัจจัยหลาย ๆ ตั้งแต่การเบิร์นอินตลอดจนการแมตชิ่งกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในซิสเตม ความไว 88dB ของลำโพงไม่เป็นปัญหาเมื่อผมขับมันด้วยอินทิเกรตแอมป์ Arcam FMJ A39 ซึ่งมีกำลังขับข้างละ 120 วัตต์

สำหรับขาตั้งลำโพงที่แนะนำให้ใช้งานจะเป็นขาตั้งประเภท medium mass จนถึง high mass ในรีวิวนี้ผมใช้ TAOC HST-60HB สูง 24 นิ้ว สำหรับสายลำโพงแนะนำให้ต่อใช้งานแบบไบไวร์ไปเลยครับเพราะได้เสียงที่ดีกว่าการต่อแบบซิงเกิ้ลไวร์มากโดยเฉพาะเรื่องของไดนามิกเสียง

การถ่ายทอดเสียงโดยเฉพาะย่านความถี่สูงของ CM6 S2 ยังคงไม่แตกต่างจากลำโพงรุ่น 1-2 ปีที่ผ่านมาของ Bowers & Wilkins เอง โดยเฉพาะรุ่นพี่ใหญ่อย่าง CM10 มันเป็นลักษณะของเสียงแหลมที่ทำให้โสตประสาทรับรู้ได้ถึงความรู้สึกพลิ้วหวาน โปร่งลอย ระยิบระยับ ทอดประกายออกไปได้สุดหางเสียง ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ปรากฎเค้าลางของเสียงที่กร้าวเกร็งเคร่งเครียดแต่อย่างใด เบื้องต้นโสตประสาทของผมตีความได้ชัดเจนว่านี่คือ คุณลักษณะที่ควรจะได้ยินจากทวีตเตอร์โดมโลหะคุณภาพดี

การแยกโมดูลเสียงแหลมให้ isolate จากตัวตู้ลำโพงนั้นทางเทคนิคแล้วเป็นเรื่องดีมาก ๆ เพราะว่าตัวทวีตเตอร์เองจะทำงานได้อย่างเป็นอิสระและถูกรบกวนจากการสั่นของตัวตู้ลำโพงน้อยมาก เสียงที่ได้จะกระจ่างชัด สะอาดและฟังดูลอยเด่นเป็นอิสระอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผมพบว่าเมื่อมันต้องทำงานร่วมกับไดรเวอร์เสียงกลาง/ทุ้มอีกตัวซึ่งแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลยนอกจากได้ชื่อว่ามาจากโรงงานของ Bowers & Wilkins เหมือนกัน ทำให้ความพิถีพิถันเอาใจใส่ในขั้นตอนการเซ็ตอัพต้องถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญชนิดที่ไม่สามารถมองข้ามได้

ผมพบว่าเมื่อตำแหน่งลำโพงยังไม่ลงตัว ปัญหาที่เจอคือความกลมกลืนของเสียงจากไดรเวอร์ทั้งสองตัว จากบันทึกย่อที่ผมทำเอาไว้ระหว่างการรีวิวสรุปความได้ว่า ในระหว่างเซ็ตอัพหาตำแหน่งที่ลงตัวในห้องฟัง ผมไม่ค่อยประสบปัญหาในเรื่องของมวลเนื้อเสียงโดยเฉพาะย่านความถี่กลางต่ำลงมาสักเท่าไร ลำโพงคู่นี้จูนเสียงมาให้มีเนื้ออิ่มหนานิด ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะตกหล่นขาดเกินไปบ้างก็ยังอยู่ในวิสัยที่พอยอมรับได้

แต่เมื่อใดที่ตำแหน่งลำโพงยังผิดที่ผิดทางสิ่งที่พบเจอว่าเป็นปัญหาก็คือ รายละเอียดในย่านความถี่สูงที่แตกแถวออกมาจากย่านความถี่อื่น ๆ นั่นคือจุดไม่สมบูรณ์หลัก ๆ เพียงเรื่องเดียวที่สร้างปัญหาให้ผมในระหว่างการเซ็ตอัพลำโพงคู่นี้

สุดท้ายแล้วตำแหน่งลงตัวของลำโพง CM6 S2 ในห้องฟังคือห่างจากผนังด้านหลังลำโพง 170 เซ็นติเมตร ลำโพงข้างซ้ายและขวาห่างกัน 204 เซ็นติเมตร โทอินเข้าหากันเล็กน้อย (ประมาณ 10 องศา) เป็นลักษณะการจัดวางแบบห่างจากผนังห้องทุกด้านเพื่อให้ได้ยินเสียงที่ออกมาจากลำโพงโดยตรงเป็นหลัก

Music & Sound
เช่นเดียวกับลำโพง Bowers & Wilkins หลาย ๆ รุ่นที่ผมเคยฟังมา CM6 S2 เป็นลำโพงที่ใช้ฟังเพลงหลากหลายแนวได้ไพเราะโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวช่วยอะไรมากมาย ตั้งแต่เพลงจีนของ Teresa Teng ที่สตรีมจาก TIDAL จนถึงไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูงงานรีมาสเตอร์ของ The Eagles (24/192, HDtracks)

ส่วนตัวเวลาฟังลำโพงคู่นี้ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนกำลังรับประทานอาหารง่าย ๆ ที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่ผ่านการคัดสรรมาแล้ว ไม่เน้นรสชาติจัดจ้าน แต่ให้รสสัมผัสที่กลมกล่อมกำลังดีในเวลาที่ค่อย ๆ ละเลียดชิมทีละน้อย ในฐานะที่ฟังลำโพงขนาดเล็กมาพอสมควร ผมว่า CM6 S2 เป็นลำโพงที่มีคุณสมบัตินี้ชัดเจนมากที่สุดคู่หนึ่งโดยเฉพาะเมื่อมันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน

ช่วงหนึ่งในระหว่างการฟัง ขณะที่ผมเปลี่ยนเพลงจากเพลง ‘The Raven’ ของ Rebecca Pidgeon (24/176.4, Chesky Records) ไปเป็นเพลงจีนในแทรคแรกจากอัลบั้ม Opportunity ของ Tsai Chin (16/44.1, CD Rip) เสียงที่ผมได้ยินเนี่ยทำเอาผมขนลุกซู่และแทบจะหยุดหายใจเลยทีเดียว ในบันทึกย่อระหว่างการฟัง

ผมบันทึกไว้อย่างนั้นจริง ๆ ครับ เป็นเพราะอะไรนะหรือครับ? เป็นเพราะว่าเสียงของ Tsai Chin นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ขยับเข้ามาใกล้ผมมากขึ้นและอยู่ห่างจากตำแหน่งของ Rebecca Pidgeon แถมยังเป็นเสียงที่มี ‘ตัวตน’ ชัดเจนมาก มากจนผมแทบไม่ต้องอาศัยจินตนาการอะไรเลย

การถ่ายทอดมิติตัวตนของเสียงที่ให้ความรู้สึกน่าขนลุกเช่นนี้อาจจะไม่ใช่ประสบการณ์ใหม่สำหรับผม แต่เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับลำโพงในระดับนี้ที่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ทั้งมิติและเนื้อเสียง ทำให้มิติเสียงที่โสตประสาทรับรู้นั้นมีพลังงานส่งต่ออารมณ์และความรู้สึกได้ มิใช่แค่เพียงเสียงที่ได้ยิน ผมว่าการที่ตัวไดรเวอร์ทั้งสองใน CM6 S2 สามารถปลดปล่อยเสียงออกมาได้อย่างอิสระน่าจะมีส่วนกับคุณลักษณะดังกล่าวอยู่พอสมควร

ลำโพงคู่นี้นอกจากจะสอบผ่านเวลาใช้ฟังเพลงที่มีองค์ประกอบของดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้นอย่างอัลบั้ม Kind of Blue ของ Miles Davis (24/192 HDtracks) หรืออัลบั้ม Modern Jazz Classics ของ Art Pepper (24/88.2 HDtracks) ได้สบาย ๆ แล้ว

กับเพลงที่มีโครงสร้างของดนตรีค่อนข้างซับซ้อน อีกทั้งยังผสมผสานไปด้วยท่วงทำนองอันอ่อนหวานสลับกับความหนักแน่นดุดันอย่างอัลบั้ม The Greatest Basso Vol.1 ของ Zhao Peng (16/44.1, CD Rip) เมื่อเปิดฟังผ่านลำโพงคู่นี้มีเรื่องเดียวที่ผมคิดว่ามันเป็นรองลำโพงที่มีขนาดใหญ่กว่าโดยเฉพาะลำโพงในตระกูลเดียวกันของ Bowers & Wilkins เองอย่าง CM9 และ CM10 นั่นคือเรื่องของน้ำหนักเสียงโดยเฉพาะในย่านความถี่ต่ำ

แต่สิ่งที่ CM6 S2 คู่นี้ไม่ได้มียิ่งหย่อนไปกว่ากันสักเท่าไรเลยก็คือการสื่อสารอารมณ์ของดนตรีออกมา

ช่วงแรกของการเซ็ตอัพลำโพงคู่นี้ The Greatest Basso Vol.1 เป็นอัลบั้มหนึ่งที่ผมเลือกใช้เพราะมันทำให้ผมเข้าใจพฤติกรรมของลำโพงได้ง่ายมาก ผมสามารถฟังความแตกต่างในหลาย ๆ องค์ประกอบของเสียงได้ในเวลาเดียวกัน

หลังจากหาตำแหน่งให้ CM6 S2 ได้แล้วและได้แวะเวียนไปฟังเพลงอีกจำนวนมากทั้งที่ได้กล่าวและไม่ได้กล่าวถึงในรีวิวนี้ ผมก็ได้หยิบงานเพลงชุดนี้มาฟังกับลำโพง CM6 S2 อีกรอบ แว้บแรกที่ลำโพงบอกเล่าเรื่องราวของดนตรีออกมา มันทำเอาผมต้องหยุดให้ความสำคัญกับสิ่งใด ๆ ที่กำลังคิดอยู่ในเวลานั้นไปโดยสิ้นเชิงแล้วหันมาใช้สมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ผมยอมรับเลยว่านาน ๆ จะจมอยู่ในความพลิ้วหวานของดนตรีและเสียงของนักร้องชาย ในเพลง ‘The Moon Represents My Heart’ หรือ ‘เย่เลี่ยงไต้เปี่ยวหว่อตีซิน’ ลำโพง CM6 S2 ทำให้เพลงนี้ฟังดูมีเสน่ห์มากครับ เสียงร้องใหญ่ของ Zhao Peng ฟังดูไพเราะและมีรายละเอียดมากกว่าที่เคยฟัง เสียงลมรอดไรฟันซิบ ๆ หรือ sibilance ปรากฎชัดแต่หาได้รบกวนความไพเราะของเพลงแต่อย่างใด เสียงกีตาร์มีบอดี้อิ่มหางเสียงหวานพลิ้วกังวาน ประสานกับเสียงฟลุ้ทใส ๆ ที่เป่าลากหางเสียงหวานหยดย้อย ได้ยินแล้วแทบจะละลายเสียให้ได้

ในเพลง ‘My Grandma and Penghu Bay’ และ ‘The Ballad On a Boat’ จากอัลบั้มเดียวกันนี้ถ้าใครเคยฟังมาก่อนจะทราบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับลำโพงตัวเล็กที่จะฟังได้อารมณ์ แต่ CM6 S2 ก็ทำได้ และทำได้ดีเกินคาดเสียด้วย เสียงทุ้มจากไดรเวอร์ 6.5 นิ้วมีพลังมากพอให้เชื่อว่านั่นคือเสียงกลองที่กำลังถูกกระหน่ำตีลงไป

การเคลื่อนไหวของแต่ละชิ้นดนตรีฟังดูเป็นอิสระและยังสอดคล้องกลมกลืนอยู่ในท่วงทำนองเดียวกันอย่างไม่มีแตกแถว แม้ว่าฟังเปิดฟังดัง ๆ ตามปกติแล้วจะไม่รู้สึกว่าลำโพงยังรับได้อีกสบาย ๆ เหมือนลำโพงใหญ่ แต่เสียงทั้งหมดก็ยังอยู่ในวิสัยของการควบคุมได้และ ‘เอาอยู่’ ด้วยประสิทธิภาพของลำโพงเล็กคู่นี้และอุปกรณ์อื่น ๆ ในซิสเตมที่ช่วยสนับสนุนกันอยู่

Bottom Line
CM6 S2 เป็นลำโพงในระดับกลางสูงของ Bowers & Wilkins ที่ออกแบบมาได้ดีมีความลงตัวในหลาย ๆ ด้าน เลือกใช้ไดรเวอร์ที่ออกแบบขึ้นเองเพื่อควบคุมคุณภาพเสียงให้เป็นไปตามมาตรฐานของตัวเอง เป็นหนึ่งในเหตุผลหลาย ๆ ประการที่ทำให้ลำโพงคู่นี้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของดนตรีออกมาได้อย่างเกินค่าตัว

ลำโพง CM Series รุ่นปัจจุบันทุกรุ่นจะใช้เทคโนโลยี ‘Decoupled Double Dome’ ในไดรเวอร์ความถี่สูง แต่มีเพียง CM6 S2 และ CM10 S2 เท่านั้นที่แยกโมดูลทวีตเตอร์เอาไว้ทางด้านบนของตัวตู้ลำโพง ทำให้เรื่องของการถ่ายทอดรายละเอียดของเสียงนั้นโดดเด่นมากเป็นพิเศษ ผมคิดว่า ‘Tweeter on Top’ เป็นเทคนิคหนึ่งที่ทำให้ลำโพงคู่นี้โดดเด่นมากในแง่ของการถ่ายทอดมิติเสียง

นี่คืออีกหนึ่งพัฒนาการของ Bowers & Wilkins ที่เดินมาอย่างถูกทางโดยปราศจากข้อกังขา โดยเฉพาะในอนาคตที่ลำโพงจะต้องรองรับสัญญาณเสียงจากแหล่งโปรแกรมดิจิทัลรายละเอียดสูง


เนื่องจาก Classic Review เป็นรีวิวเครื่องเสียงที่ตกรุ่นไปแล้ว หรืออาจมีการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว ทางเว็บไซต์จึงขอสงวนข้อมูลตัวแทนจำหน่ายและราคาของสินค้าเพื่อป้องกันความสับสนในข้อมูล

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ