fbpx
RECOMMENDEDREVIEW

รีวิว Bose : QuietComfort 45 “หูฟังไร้สายตัดเสียงรบกวนที่เสียงดีติดหูง่าย ฟังอะไรก็เพลิน”

Bose QuietComfort 45 (โบส ไควเอทคอมฟอร์ท โฟร์ตี้ไฟว์) เป็นหูฟังไร้สายรุ่นล่าสุดที่โบสเพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปีก่อน นี่คือหูฟังไร้สายที่ได้พัฒนาต่อยอดมาจากหูฟังตระกูล QuietComfort (QC) ของโบสที่ได้สร้างชื่อมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

โดยในรุ่นใหม่นี้โบสยังคงชูจุดเด่นในด้านการเทคโนโลยีตัดเสียงรบกวน ดีไซน์ที่เบาและกะทัดรัดสวมใส่สบาย ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาในส่วนอื่น ๆ เช่น คุณภาพของระบบไมโครโฟน, คุณภาพเสียง รวมทั้งแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นานมากขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง QC35 II (QuietComfort 35 II)

คุณสมบัติและการออกแบบ
หูฟังไร้สาย Bose QuietComfort 45 มาในตัวเลือก 2 สี คือ สีดำและสีขาว smoke white พร้อมรูปลักษณ์ที่ดูคล้ายกับหูฟังไร้สายรุ่นก่อนหน้าอย่าง QuietComfort 35 II ซึ่งเป็นดีไซน์ที่ได้รับการยอมรับมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า Bose Noise Cancelling Headphones 700 ที่ได้รับปรับเปลี่ยนให้ดูเรียบหรูและมีชิ้นส่วนของโลหะมากขึ้น

Bose QuietComfort 45 หรือ QC45 มาพร้อมกับเทคโนโลยี TriPort acoustic architecture และ Volume-optimized Active EQ ที่โบสได้พัฒนาขึ้นมาโดยมุ่งหวังเรื่อง ‘คุณภาพเสียง’ โดยเฉพาะ

เทคโนโลยี TriPort เสริมความอิ่มแน่นและความลึกของเสียง โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดของหูฟัง (ซึ่งโบสถนัดมากอยู่แล้ว) ขณะที่ Volume-optimized Active EQ คอยช่วยปรับชดเชยให้เวลาเปิดฟังเบา ๆ หรือว่าเปิดดัง ก็ยังคงให้รายละเอียดและคุณภาพเสียงที่ดีไม่แตกต่างกัน

Review Bose QC45 ANC wireless headphones
พอร์ตชาร์จไฟ USB-C ใน QC45 รองรับการชาร์จเร็วด้วย

สำหรับด้านการเชื่อมต่อไร้สายนั้นหูฟังรุ่นนี้สนับสนุนการเชื่อมต่อ Bluetooth v5.1 (SBC, AAC Codec) สามารถเชื่อมต่อไร้สายได้ในระยะห่างถึง 30 ฟุต รองรับการจับคู่ใช้งานกับอุปกรณ์ได้พร้อมกัน 2 ตัว และสามารถสลับการใช้งานระหว่าง 2 อุปกรณ์ได้อย่างไร้รอยต่อ (ไม่ต้องมากดตัดการเชื่อมต่อหรือกดเชื่อมต่อเอาเอง)

นอกจากนั้น Bose QC45 ยังรองรับเทคโนโลยี SimpleSync ของโบสที่เปิดโอกาสให้ลำโพงและหูฟังหลายรุ่นของโบสเองสามารถใช้งานร่วมกับในลักษณะของการทำ grouping เพื่อแชร์แหล่งสัญญาณเสียงร่วมกันได้ด้วย สำหรับรุ่นที่รองรับเทคโนโลยี SimpleSync สามารถตรวจสอบได้จากลิงก์นี้

ด้านระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอคทีฟหรือ Active Noise Cancellation ที่ทางแบรนด์คุยว่าได้รับการปรับปรุงมาใหม่ล่าสุด มีให้เลือกใช้งานทั้งโหมดตัดเสียงรบกวน (Quiet Mode) และโหมดฟังเสียงแวดล้อม (Aware Mode)

นอกจากนั้นหูฟังรุ่นใหม่นี้ยังได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพของไมโครโฟนและคุณภาพของเสียงในระหว่างการสนทนา โดยโบสคุยว่าหูฟัง QC45 ได้เพิ่มประสิทธิภาพของไมโครโฟนแบบบีมฟอร์มอาร์เรย์ทั้ง 4 ตัว ให้มีความสามารถในการตัดเสียงรบกวนและดูดเสียงพูดคุยสนทนาได้ดีด้วย

Review Bose QC45 ANC wireless headphones
ช่องเสียบสายหูฟังแบบ 2.5mm ที่หูฟังด้านซ้าย

สำหรับอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ QC45 ได้รับการปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุด 24 ชั่วโมงต่อการชาร์จเต็มแต่ละรอบ สามารถชาร์จไฟทางพอร์ต USB-C โดยรองรับการชาร์จเร็วที่สามารถชาร์จแบตจนเต็มได้ภายในเวลา 2.5 ชั่วโมง หรือใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที ก็สามารถใช้งานได้นานถึง 3 ชั่วโมง

นอกจากการใช้งานแบบไร้สายแล้ว Bose QC45 ยังสามารถใช้งานได้ในโหมดเสียบสาย ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งในแบบแอคทีฟและพาสสีฟ นั่นหมายความว่าในขณะที่แบตเตอรี่ไม่มีไฟแล้วก็ยังสามารถใช้งานหูฟังต่อไปได้เหมือนหูฟังธรรมดาทั่วไป

แกะกล่องลองใช้งาน
หูฟังไร้สาย Bose QuietComfort 45 หรือเรียกอย่างย่อว่า QC45 มาพร้อมกับอุปกรณ์มาตรฐานเป็นกระเป๋าสำหรับเก็บหูฟังเพื่อความเป็นระเบียบหรือความสะดวกในการพกพา สายชาร์จ USB-C (USB-A to USB-C) และสายหูฟังที่เป็นขั้วต่อ 3.5 mm to 2.5 mm

ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับแฟนหูฟังตระกูล QC ของโบส ที่ QC45 เปลี่ยนพอร์ตชาร์จไฟจากพอร์ต Micro-USB มาเป็น USB-C เสียที เพราะใช้งานสะดวกและมีประสิทธิภาพดีกว่ากันมาก

อย่างที่ได้เกริ่นไว้บ้างแล้วข้างต้นว่า QC45 ยังคงมาในดีไซน์ที่คุ้นเคย โดยปุ่มควบคุมหลัก ๆ ในหูฟังรุ่นใหม่ยังเหมือนกับรุ่นก่อนหน้า หูฟังด้านขวายังคงเป็นศูนย์รวมของปุ่มควบคุมการทำงานเกือบทั้งหมด นั่นคือ สวิตช์ POWER ที่อยู่บริเวณฝาหลังของเอียร์คัป ซึ่งนอกจากทำหน้าที่เปิด-ปิดการทำงานในโหมดแอคทีฟของหูฟังแล้ว ยังทำหน้าที่เข้าโหมดจับคู่บลูทูธได้ด้วย

Review Bose QC45 ANC wireless headphones

สำหรับปุ่มกดอีก 3 ปุ่มที่กรอบหูฟังด้านขวาก็ทำหน้าที่เพิ่ม-ลดความดังเสียง และปุ่มมัลติฟังก์ชันสำหรับสั่งเล่นเพลง หยุดเพลง ข้ามเพลง รับสาย-วางสายสนทนา ตลอดจนการเรียกใช้งานระบบ voice assistant (Siri, Google Assistant) สำหรับปุ่มกดอีก 1 ที่หูฟังด้านซ้ายหรือปุ่ม ‘Action’ ทำหน้าที่เปลี่ยนโหมด ระหว่างโหมดตัดเสียงรบกวนและโหมดฟังเสียงแวดล้อม

ขณะที่การชาร์จไฟสามารถเสียบชาร์จได้ทางพอร์ต USB-C บริเวณด้านล่างหูฟังด้านขวา โดยมีไฟ LED แสดงสถานะการณ์ชาร์จ (รวมถึงสถานะอื่น ๆ เช่น การเชื่อมต่อหรือจับคู่บลูทูธ) ขณะที่หูฟังด้านซ้ายมีช่องเสียบสายหูฟังด้านที่เป็นแจ็ค 2.5mm

สำหรับการเริ่มจับคู่เชื่อมต่อ เช่น เดียวกับหูฟังไร้สายตระกูล QuietComfort รุ่นก่อนหน้า หลังจากเลื่อนสวิตช์เปิดหูฟังแล้วให้ง้างสวิตช์เปิด-ปิดไปทางขวาค้างไว้ จนไฟแสดงสถานะกระพริบเป็นสีน้ำเงินแสดงการเข้าโหมดจับคู่

Bose QC45 สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่จับคู่กันไว้แล้วพร้อมกัน 2 ตัว และสามารถสลับใช้งานได้เลยโดยอัตโนมัติ สังเกตว่าตอนเปิดใช้งานแต่ละครั้งในตัวหูฟังจะมีเสียงแจ้งระดับพลังงานในแบตเตอรี่และอุปกรณ์ที่ตัวหูฟังกำลังเชื่อมต่ออยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้มีประโยชน์และสะดวกมาก ๆ เวลาใช้งานจริง

Review Bose QC45 ANC wireless headphones
ปุ่มควบคุมที่แสนธรรมดา แต่ใช้งานได้ง่ายดี

QC45 ยังคงเป็นหูฟังที่ Comfort สมชื่อ มันเบาและสวมใส่ได้สบายมาก กระชับแต่ไม่บีบศีรษะมากเกินไป ไม่มีปัญหากับคนที่ศีรษะโตหรือค่อนข้างโต แผ่นเอียร์แพดนุ่มนิ่ม ถ้าอากาศไม่ร้อนอบอ้าวคือสามารถสวมใส่ได้เป็นชั่วโมงสบาย ๆ เลย ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของหูฟังตระกูล QuietComfort มาหลายรุ่นแล้ว

และแม้ว่าตัวหูฟังจะเป็นพลาสติกเสียเป็นส่วนใหญ่แต่ในส่วนของก้านเฮดแบนด์หรือข้อต่อข้อพับต่าง ๆ ก็มีการเสริมความแข็งแรงด้วยโลหะ นอกจากนั้นตัวหูฟังยังสามารถพับจนแบนราบเพื่อเก็บในกระเป๋าที่ให้มาด้วยกัน จะพกพาก็คือสะดวกเลยครับ

หูฟังรุ่นนี้สามารถเชื่อมต่อใช้งานร่วมกับแอปฯ Bose Music ในสมาร์ทโฟนได้ด้วย ซึ่งในแอปฯ ก็เปิดโอกาสให้สามารถตั้งค่าต่าง ๆ ตั้งแต่ค่าพื้นฐาน หรือการตั้งค่าเพิ่มเติมได้จากการใช้งานปกติ เช่น การเลือกระดับเสียงพูดของผู้ใช้งานในระหว่างการใช้หูฟังพูดคุยสนทนา (Self Voice), การปรับแต่งเสียงด้วยอีคิว ตลอดจนการอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้ตัวหูฟัง

และถ้าหากในระบบของเรามีผลิตภัณฑ์ของโบสที่รองรับเทคโนโลยี SimpleSync ก็สามารถเลือกเชื่อมต่ออุปกรณ์เหล่านั้นเข้าหากันได้ง่าย ๆ จากในแอปฯ Bose Music ได้ด้วยเช่นกัน

คุณภาพเสียง
จากการลองใช้งานเบื้องต้น QC45 ให้เสียงชัดเจนดีในโหมดการใช้พูดคุยสนทนาหรือประชุมทางออนไลน์ สำหรับโหมดตัดเสียงรบกวน ในรุ่นนี้จะเลือกได้ระหว่างโหมดตัดเสียงรบกวนและโหมดฟังเสียงแวดล้อมเท่านั้น ไม่สามารถเลือกระดับการตัดเสียงรบกวนได้เหมือนอย่างในรุ่น Bose Noise Cancelling Headphones 700

สำหรับโหมดตัดเสียงรบกวนและโหมดฟังเสียงแวดล้อมในหูฟังรุ่นนี้ เท่าที่ลองใช้งานการตัดเสียงรบกวนถือว่าทำได้เงียบสนิทในระดับเดียวกับหูฟังตัดเสียงรบกวนรุ่นที่ดีที่สุดในตลาดเวลานี้

เวลาเปิดใช้งานเสมือนได้ตัดขาดจากโลกภายนอกไปเลย เหมือนมีฝาครอบแก้วขนาดใหญ่มาครอบตัวเราไว้ ขณะที่โหมดฟังเสียงแวดล้อมนั้นก็ปล่อยเสียงภายนอกเข้ามาได้อย่างเป็นธรรมชาติ พอดี ๆ ไม่มากไม่น้อยเกินไป

สำหรับเรื่องของคุณภาพเสียง ครั้งแรกที่ได้ฟังเสียงของหูฟังไร้สายรุ่นนี้ผมบอกได้เลยครับว่ามันสอบผ่านคำว่า ‘เสียงดี’ จนแทบไม่มีตำหนิที่เป็นแผลใหญ่ ๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าตัวหูฟังได้ผ่านการใช้งานมาบ้างแล้วพอสมควรจึงตัดปัจจัยในเรื่องการเบิร์นอินออกไปได้ อีกส่วนหนึ่งก็คงเป็นที่คุณภาพของตัวหูฟังเอง

หากเปรียบเทียบในมาตรฐานของหูฟังไร้สายในเวลานี้ ภาพรวมเสียงที่ได้จาก QC45 ยังคงเป็นแนวเสียงที่เคยได้ยินจากหูฟัง QC รุ่นก่อน ๆ นั่นคือ น้ำเสียงที่ค่อนข้างเป็นธรรมชาติและฟังง่าย รายละเอียดเสียงแปรเปลี่ยนไปตามเพลงที่เปิดฟัง

Review Bose QC45 ANC wireless headphones

ตัวหูฟังเองไม่ได้มีบุคลิกเฉพาะตัวที่เด่นชัดเจนมากเกินไป เสียงมีลักษณะค่อนข้างเปิดเผย รายละเอียดดี มิติเสียงมีความกว้างขวางเป็นไปตามลักษณะการบันทึก/มิกซ์เสียงอัลบั้มนั้น ๆ จุดที่ QC45 พัฒนาจาก QC รุ่นก่อนหน้าทั้งหมดคือ สมดุลของเสียงที่มีความเป็นกลางมากขึ้น โดยเฉพาะในย่านความถี่เสียงกลาง ขณะที่เสียงทุ้มก็ไม่ได้หนุนขึ้นมาล้ำหน้าจนเกินไป แต่ยังมีเนื้อและน้ำหนักเสียงที่ดี ทำให้ภาพรวมเสียงไม่บางเบาจนเกินไป

เสียงแบบนี้ใครที่คุ้นชินกับหูฟังแบบเปิดหลัง โดยเฉพาะหูฟังพลานาร์แมกเนติกจะบอกว่ามันมีคุณลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกันมาก (ทั้งที่ QC45 เป็นหูฟังระบบปิดหลัง) แต่อาจไม่คุ้นหูนักสำหรับคนที่ชอบหูฟังแบบปิดหลังที่จูนเสียงมาให้เน้นเสียงทุ้มเป็นหลัก ให้เสียงทุ้มลูกโต ๆ ฟังสนุกเร้าใจไว้ก่อน

เวลาฟังเพลงที่เด่นเสียงร้องของนักร้องหญิง เสียงเครื่องดนตรีอย่างไวโอลินหรือเปียโน เช่น อัลบั้ม Eternal Singing – Endless Love IV ของ Yao Si Ting (ไฟล์ uncompressed flac ริปจากแผ่นซีดี) หูฟัง QC45 จึงสามารถถ่ายทอดความงดงามของดนตรี ความไพเราะน่าฟังออกมาได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุดติดขัดในอารมณ์

เทียบเสียงที่ได้จากหูฟังในพิกัดใกล้เคียงกันอย่าง Sony WH-1000XM4 (เชื่อมต่อ Bluetooth LDAC) หูฟังไร้สายของโซนี่ให้เสียงในลักษณะคมเข้ม เนื้อเสียงและรายละเอียดต่าง ๆ มีความเข้มข้นจริงจังมากกว่าตลอดทั้งย่านความถี่เสียง ขณะที่ภาพรวมของเสียงมีลักษณะ dark กว่าเล็กน้อย ไม่ใช่ลักษณะที่โปร่ง พลิ้ว กังวาน หรือให้น้ำเสียงที่เปิดเผยหวานสดใสอย่าง QC45

เมื่อลองฟังเพลงจากสตรีมมิงทั่วไปตั้งแต่เพลงใน YouTube, Apple Music หรือ TIDAL กับเพลงหลากหลายแนว (ลูกทุ่ง, jazz, pop, hip-hop, rock, k-pop) หรือรายการทีวีที่มีการร้องเพลง ซึ่งแน่นอนว่ามีหลากหลายระดับคุณภาพเสียง เสียงที่ได้จาก QC45 คือเสียงที่ ‘ฟังได้’ จนถึง ‘ฟังดี’ บางเพลงอาจทำเสียงมาไม่ดีนัก ก็ฟังออกว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ยังฟังเอาเพลินได้หากตัวเพลงเองยังมีดีด้านอื่น ๆ มากพอ กับดนตรีสมัยใหม่ก็เปิดดังได้พอสมควรโดยที่เสียงไม่มั่วด้วยต่างหาก เช่น ตัวอย่างเพลงจาก playlist นี้

สำหรับผมเอง โดยส่วนตัวช่วงนี้ผมค่อนข้างฟังดนตรี classical มากสักหน่อย ซึ่ง QC45 ก็สามารถตอบสนองความต้องการของผมได้เป็นอย่างดี งานชุดหนึ่งที่ฟังได้เพลินเป็นพิเศษกับ QC45 เป็นเพลงบรรเลงที่ผสมผสานดนตรีสากลและดนตรีจีน นั่นคืออัลบั้ม Dream Of A Chinese Opera II ใน Apple Music (Lossless) ใครชอบดนตรีแนวนี้อยู่แล้ว เสียงจาก QC45 มันเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยเลยทีเดียว

งานอีกชุดหนึ่งที่ผมฟังกับหูฟังไร้สายอย่าง Bose QC45 ได้อย่างราบรื่น คือ งานเพลงอัลบั้ม Squid Game Music – Classical ที่สตรีมจาก TIDAL (Lossless) ซึ่งเป็นการรวมเพลงคลาสสิกที่ใช้ประกอบฉากต่าง ๆ ของซีรีส์ดังจากเกาหลีถึง 40 เพลง โดยสังกัด UMG (Universal Music Group)

Review Bose QC45 ANC wireless headphones

ด้วยความที่เพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่ค่อนข้างคุ้นหู ฟังง่ายและบันทึกเสียงมาได้ดี เมื่อฟังจาก QC45 สามารถถ่ายทอดพลังงาน ความรุกเร้า ความละเมียดละไมไหลลื่นในดนตรีเหล่านั้น ส่งตรงเข้าสู่โสตประสาทได้อย่างราบรื่นตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้าย

นั่นจึงเป็นการตอกย้ำว่าหูฟังไร้สายรุ่นนี้สามารถถ่ายทอดความเป็นดนตรีออกมาได้อย่างน่าประทับใจ เป็นหูฟังไร้สายที่ให้เสียงเปิดเผยและมีความเพี้ยนต่ำโดยเฉพาะความเพี้ยนที่เป็นมลพิษกับการฟังเพลงอย่างมีความสุข

ช่วงหนึ่งในระหว่างการรีวิว ผมมีโอกาสได้ลองใช้งานคุณสมบัติ SimpleSync เชื่อมต่อหูฟัง QC45 กับลำโพงซาวด์บาร์ Bose Smart Soundbar 900 พบว่าสามารถทำได้ง่าย ๆ และใช้งานได้ราบรื่นดีไม่มีปัญหาภาพและเสียงไม่ตรงกัน เป็นการเชื่อมโยงเสียงจากตัวลำโพงซาวด์บาร์สตรีมต่อมาที่หูฟังได้แบบไร้สาย (ปรับความดังของซาวด์บาร์และหูฟังแยกกันได้)

คุณสมบัตินี้มีประโยชน์ในกรณีที่เราต้องการฟังเสียงจากทีวีหรือกล่องสตรีมมิงที่เชื่อมต่อกับลำโพงซาวด์บาร์ของโบสได้ ในกรณีที่อุปกรณ์เหล่านั้นไม่สามารถเชื่อมต่อบลูทูธได้โดยตรง เช่น ทีวีหรือกล่องสตรีมมิงรุ่นเก่า

แต่ถ้าหากทีวีหรือกล่องสตรีมมิงเหล่านั้นสามารถเชื่อมต่อบลูทูธได้อย่างเช่น Panasonic HX750 Series, Mi TV P1, Xiaomi TV Q1E หรือ Apple TV 4K เราก็สามารถเชื่อมต่อบลูทูธจากอุปกรณ์เหล่านั้นกับหูฟัง QC45 ได้โดยตรงครับ และอุปกรณ์สมัยใหม่เหล่านี้ก็ไม่มีปัญหาเรื่องภาพและเสียงไม่ตรงกันเช่นกัน รายละเอียดตรงนี้ขออนุญาตแนะนำไว้เป็นไอเดียครับ

Bose QuietComfort 45 เหมาะกับใคร ?
ในภาพรวมนี่คือหูฟังไร้สายที่มีสมดุลที่ดีระหว่างคุณสมบัติ คุณภาพเสียง และราคา ด้านดีไซน์ภายนอกที่ใช้ดีไซน์ของรุ่นเดิมที่ออกมาแล้วหลายปี อาจจะทำให้หูฟังรุ่นนี้ดูไม่หวือหวาน่าสนใจเท่าใดนัก ทว่าดีไซน์นี้ไม่ได้มีปัญหาในเวลาใช้งานจริง แต่กลับเป็นตรงกันข้ามเพราะว่ามันใช้งานได้สะดวกคล่องตัวดี

การที่ไม่มีฟีเจอร์บางอย่างเช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับสวมใส่ หรือการเชื่อมต่อบลูทูธด้วย Codec คุณภาพสูงกว่า AAC อย่าง aptX HD หรือ LDAC อาจดูว่าน่าจะมีปัญหาเมื่อลำพังพิจารณาแค่ตัวหนังสือบนหน้าสเปคฯ ทว่าในการใช้งานจริงผมกลับไม่พบว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรคในการฟังเลยครับ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาระหว่างที่ผมกำลังรีวิวหูฟังรุ่นนี้

ด้านคุณภาพเสียงหูฟังรุ่นใหม่นี้เสียงดีกว่า สะอาดกว่า รายละเอียดดีกว่าหูฟังรุ่นก่อนหน้าอย่าง QC25, QC35 หรือ QC35 II อย่างชัดเจน และสามารถเทียบเคียงหูฟังไร้สายในพิกัดเดียวกันอย่าง Sony WH-1000XM4 หรือแม้แต่ Apple AirPods Max ได้อย่างสบาย ๆ ในขณะเดียวกันมันก็ยังคงเป็น ‘เสียงแบบโบส’ ที่ easy listening ฟังง่ายเข้ากับรสนิยมทางดนตรีของผู้คนส่วนใหญ่ได้หลากหลายเหมือนเช่นเคย ผมให้นิยามเสียงลักษณะนี้ว่าเป็น ‘เสียงในใจมหาชน’

ดังนั้น Bose QC45 จึงเป็นหูฟังที่เหมาะสำหรับการแนะนำให้คนที่ถามหาหูฟังไร้สายเสียงดี แบบที่ฟังแล้วบอกได้เลยว่า ‘ดี’ ไม่ต้องพูดเยอะ หูฟังของโบสรุ่นนี้แหละครับ ถูกใจใช่เลย !


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท เพาเวอร์ บาย จำกัด
Power Buy Call Center โทร. 0-2904-2120
ราคา 11,900 บาท

 

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ